เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 16
  พิมพ์  
อ่าน: 93318 วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
rin51
อสุรผัด
*
ตอบ: 19



ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 04 ต.ค. 11, 14:28

ติดตามอ่านอยู่เหมือนกัน ครับ
จินตนาการตามที่เล่าเรื่อง    ขอสดุดีทหารเรือไทยที่เข้าร่วมใน ยุทธนาวี ครั้งนี้ ครับ
 
บันทึกการเข้า

คำว่า"เพื่อน"ไม่เคยจางหาย ไม่ว่าจะเนิ่นนานเพียงใด
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 04 ต.ค. 11, 15:03

๐๗๔๘ เมื่อเรือโดนระเบิดจากเครื่องบิน ทหารในป้อมปืนท้ายรู้สึกเหมือนป้อมถูกยกลอยขึ้นจากเรือ ไฟฟ้าดับ กลไกที่ใช้บังคับการยิงทั้งหมดใช้การไม่ได้ ทุกคนระร้าระรังอยู่ชั่วครู่พวกพรรคกลินก็แก้ไขให้ไฟฟ้าติดขึ้นอีก ระบบไฮโดรลิกเริ่มกลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง ป้อมปืนพร้อมก็ทำการยิงแลกหมัดกับฝรั่งเศสต่อไป สักพักเห็นว่าเรือลามอตต์ปิเกต์ตีวงกลับ ทำท่าจะเข้าบังเกาะอีก ขณะนั้นเรือทั้งสองเข้าแนวขนาน ปืนซ้ายที่จ.ท.เฟี้ยมประจำการอยู่ก็ลั่นไก ป้อมท้ายนั้นส่วนใหญ่จะยิงได้เฉพาะปืนซ้าย เพราะปืนขวาเล็งไม่ค่อยจะได้เพราะควันปืนซ้ายรบกวนอยู่ และจะยิงทีต้องระวังพวกเดียวกันที่ทำงานบังคับเครื่องถือท้ายสำรองด้วย กระนั้นก็ดี พลฯอัมพรซึ่งโผล่ขึ้นมาในขณะที่ป้อมท้ายทำการยิง ได้ถูกแรงอัดอากาศกระแทกตกลงไปในห้องโดยไม่รู้ตัว หูข้างหนึ่งดับไปตั้งแต่บัดนั้น

นายป้อมใช้กล้องหันส่องดูเรือเรือลามอตต์ปิเกต์ขณะกลับลำ เห็นชัดเจนว่าเสาท้ายตอนบนหักห้อยลงมา จึงสั่งให้ยิงเร็วก่อนที่เรือจะเข้ากำบังเกาะ ยิงไปตับหนึ่งตกหน้าเป้าประมาณ๒๐๐เมตร จึงสั่งเพิ่มศูนย์ แต่ตับนี้ไม่ได้ทำการยิงเพราะท้ายเรือมีทหารมาวิ่งกันพลุกพล่าน พอดีกับเรือลามอตต์ปิเกต์เข้ากำบังเกาะเสียแล้ว นายป้อมสั่งให้ปืนกระดกตามศูนย์ไว้ ขณะนั้นกระสุนบรรจุพร้อมอยู่ทั้งสองลำกล้อง นายป้อมพยายามหันป้อมเลี้ยงมุมไว้ที่หัวเกาะไม้ซี้ กะว่าเรือลามอตต์ปิเกต์โผล่มาเมื่อไหร่จะยิงทันที

๐๗๕๐ น.อ.เบรังเยร์ นึกขึ้นมาได้ว่าไทยมีฐานทัพอากาศอยู่แถวนั้น นี่ใช้เวลาไปนานพอสมควร ถึงร.ล.ธนบุรียังไม่ยอมแพ้ก็ช่างมันแล้วกัน รีบหนีเอาตัวรอดจะดีกว่า จึงเปิดหวูดสัญญาณ สั่งให้เรือสรุปถอนตัวออกจากการรบ และเรือช่วยรบอีกสองลำแล่นตามไป

๐๗๕๘ น.อ.เบรังเยร์อ้างว่ากลัวใบจักรเรือจะติดน้ำตื้น ไม่คุ้มที่จะติดตามยิงร.ล.ธนบุรี ขณะกลับลำเรือเป็นช่วงที่นายป้อมท้ายส่องกล้องเห็นเสากระโดงหลังของเรือลามอตต์ปิเกต์หักห้อยอยู่ดังที่ผมเขียนไปก่อนหน้านั้น ได้ยิงตอร์ปิโด๓ลูกมายังร.ล.ธนบุรี ตั้งลึกที่๒.๕๐เมตรก่อนจะเข้ากำบังเกาะไม้ซี้ แต่ตอร์ปิโดตับนี้วืดเป้าไม่รู้ว่าไปทางไหน มีผู้เขียนว่า ตอร์ปิโดหลุดทางหัวเรือร.ล.ธนบุรี๑ลูก ท้ายเรือ๑ลูก ลอดท้องเรือ๑ลูก แต่เรื่องนี้ผมไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ในที่อื่นๆ

๐๘๐๐ น.อ.เบรังเยร์ออกคำสั่งหยุดยิง เรือลามอตต์ปิเกต์เลี้ยวขวาแล่นเข็ม ๒๓๐ องศา ส่งสัญญาณให้เรืออีก ๔ ลำแล่นเข้ากระบวน และเมื่อผ่านเกาะใบดั้งแล้วจึงสั่งเข็ม ๒๗๐ องศา แล่นออกกลางทะเลไป

ร.ล.ธนบุรียังไม่ทราบว่ากองเรือฝรั่งเศสถอนตัวไปแล้ว นายป้อมท้ายพยายามหันป้อมไปทางที่หมายไว้ สักครู่รู้สึกว่าป้อมไม่ยอมหันตาม เข้าใจว่าเครื่องไฮโดรลิกขัดข้องแต่ไม่ทราบว่าทหารพรรคกลินที่รักษาหน้าที่ดูแลเครื่องไฮโดรลิกได้เสียชีวิตพร้อมคนอื่นหมดแล้วในห้องเครื่องจักรช่วย นายป้อมจึงสั่งการให้เปลี่ยนไปใช้เครื่องหันป้อมและเครื่องกระดกปืนด้วยมือหมุนแทนทันที แต่ต้องทำการปลดครัชก่อน ครัชนี้อยู่ในห้องส่งกระสุนซึ่งมีควันคลุ้งไปหมดมองไม่เห็น นายป้อมตะโกนลงไปว่าถ้าไม่เห็นก็ให้ใช้มือคลำเอา ในที่สุดก็หันป้อมและกระดกปืนด้วยแรงคนได้ พร้อมที่จะทำการยิงให้ถึงที่สุด ไม่ข้าศึกไม่หนีไป ก็เมื่อทุกคนตายอยู่กับป้อม

รออยู่นานสองนาน เรือข้าศึกไม่ปรากฏให้เห็นอีก และแล้วก็ได้ยินเสียงตะโกนจากภายนอกป้อมว่า “ต้นปืนให้หันปืนเข้าแนวลำเรือ”  ข้าศึกหนีไปแล้วหรือ? นายป้อมลุกขึ้นบอกทหารว่า “เราได้ทำหน้าที่ของเราสมบูรณ์แล้ว” และไชโยขึ้น ทหารทุกคนไชโยตามสนั่นหวั่นไหว


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 04 ต.ค. 11, 15:44

คุณ"แด่น้อง" ได้โพสต์ไว้ที่ห้องหว้ากอของพันทิป  ผมขออนุญาตยกมาลงที่นี่ด้วย


อ่านไป ก็ต้องเสียน้ำตาให้ลูกประดู่ไทย แม้จะเป็นน้อยครั้งมากที่เราได้ทำยุทธนาวีกับข้าศึก

ถึงแม้ลูกนาวีของเราไม่ได้มีชื่อเสียงในการรบทางทะเล แต่เมื่อทหารไทยต้องทำการรบกับอริราชศัตรู หน้าที่และวินัยของเหล่าท่าน ได้ทำให้คนรุ่นหลังอย่างผมคนหนึ่งบังเกิดความประทับใจและซาบซึ้งในวีรกรรมของเหล่าท่านจนสุดจะบรรยาย ถ้าทัพเรือไทยมิได้เข้าต่อตีทำการรบอย่างกล้าหาญกับข้าศึกที่เหนือกว่าในทุกๆด้านเยี่ยงยุทธนาวีที่เกาะช้างแล้ว บ้านเมืองชายฝั่งของเราคงถูกเรือข้าศึกระดมยิงจนย่อยยับเป็นแน่

ทหารเรือเป็นเหล่าทหารที่เหมือนจะอาภัพในกองทัพไทย คนทั่วไปไม่ค่อยเห็นความสำคัญ แต่เมื่อภัยมาเยือน ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันทางบกก็ล้วนเป็นมิตรยากที่จะเป็นภัยคุกคามกับเรา ในทางกลับกัน ภัยจากประเทศห่างไกลย่อมมาจากทางทะเลเท่านั้น ทรัพยากรผลประโยชน์เส้นทางเดินเรือ การส่งออกนำเข้าของเราเกือบทั้งหมดล้วนมาจากทางทะเลแทบทั้งสิ้น......ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลจะกลับมาให้ความสำคัญกับทัพเรือบ้าง อย่างเช่น กองเรือดำน้ำ ที่ทัพเรือไทยควรจะมีซักที....เมื่อความจำเป็นมาถึงอย่าให้ทัพเรือต้องโดนข้าศึกถล่มจนย่อยยับอีกเลย วิญญาณของวีรชนทหารเรือในอดีตที่ท่านสละชีพปกป้องอธิปไตยของชาติเราจะได้เป็นสุขและพักผ่อนอย่างสุขสงบ เมื่อรับทราบได้ว่าจะไม่มีใครมาข่มเหงรังแก กองทัพเรือของท่านได้อีกต่อไป....

ขอสดุดีวีรชนที่สละชีพทุกท่าน.....



ผมก็เขียนไป น้ำตากลบนัยตาไปเหมือนกัน

ทำไมคนหมู่น้อยจึงได้เสียสละให้คนหมู่มากได้ถึงเพียงนี้ น้ำใจของพวกทหารเรือ ช่างหล่อหลอมกันมาแข็งแกร่งเหมือนเหล็กกล้าแท่งเดียวกัน
ไม่ผิดเพี้ยนไปจากบรรพบุรุษไทยที่ปกป้องรักษาแผ่นดินนี้ไว้ด้วยชีวิตเลือดเนื้อ เพื่อลูกหลานเหลนโหลน ....เช่นพวกเรา

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 04 ต.ค. 11, 16:56

๐๘.๓๐ ร.ล.ธนบุรีพยายามวิ่งเข้าหาฝั่งทางทางแหลมน้ำ ทหารที่ประจำหน้าที่อยู่ใต้ท้องเรือทยอยกันพาตนเองและเพื่อนที่บาดเจ็บออกมาหาที่สูดอากาศให้เต็มปอด ดีใจแค่ชั่ววินาทีพอเห็นสภาพเรือ ไฟลุกทั่วไปในช่องทางเดินและห้องหับต่างๆ ก็วิ่งพล่านไปช่วยกันดับ แม้จะพยายามเท่าไรก็ไร้ผล  เรือแล่นใกล้ที่ตื้นของแหลมน้ำ ท้ายเรือแปร้น้ำลงทุกทีและเอียงทางกราบขวาเล็กน้อย ต้นเรือ(เรือเอก ทองอยู่ สว่างเนตร) จึงสั่งปรับหางเสือ ให้เรือบ่ายหน้าไปทางแหลมงอบ แต่ยิ่งแล่น ลมยิ่งโหมไฟยิ่งลุก ดูเหมือนว่าชีวิตจะสิ้นหวังเสียแล้ว
ขณะนั้นมีคนเห็นเรือลำหนึ่งแล่นเต็มฝีจักรมาจากหัวเกาะช้างด้านใต้  คนมีกล้องส่องทางไกลก็ยกกล้องขึ้นส่องดู พอจำได้ว่าเป็นร.ล.ช้าง ทุกคนเลยเฮโลสาระพา มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับพระเพลิงต่อไปให้หนักมือขึ้นอีก
 
๐๙.๕๐ ร.ล.ธนบุรีหยุดแล่นให้ร.ล.ช้างได้เข้ามาเทียบ ทหารโห่ร้องแสดงความยินดีต่อกัน ร.ล.ช้างเข้าทางเทียบกราบขวาเพื่อช่วยดับไฟ แต่สายสูบของเรือทั้งสองต่อเข้ากันไม่ได้เพราะหัวคนละชนิด ร.ล.ช้างจึงดับไฟได้แต่ดาดฟ้าชั้นบน ตามรูปที่คุณหนุ่มเอามาลงไว้ล่วงหน้าแล้วนั้น  สายสูบของเป็นร.ล.ช้างก็สั้นไปเสียอีก ไม่สามารถลากลงไปดับไฟใต้ท้องเรือ หรือส่วนบนของเรือตามช่องทางเดินและห้องบัญชาการได้

๑๐.๐๐ ร.ล.เทียวอุทก และร.ล.หนองสาหร่ายมาถึง ผมเคยเขียนเผลอไปว่าเป็นเรือลำเลียง แต่แท้จริงเป็นเรือกวาดทุ่นระเบิด ทำให้ไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือเพราะเกรงว่าหากร.ล.ธนบุรีระเบิดขึ้น ทุ่นระเบิดในเรือที่มีอยู่เพียบจะระเบิดตาม เรือจะจมตายกันหมดทั้งสามลำ ดังนั้นจึงเปลี่ยนไปรับทหารของร.ล.ชลบุรี และร.ล.สงขลา ที่แหลมเทียนอ่าวสลักเพชรแทน ส่วนเรือลำเลียง ร.ล.เทียวอุทกเข้าเทียบทางกราบขวา ช่วยร.ล.ช้างลากจูงร.ล.ธนบุรีไป
ร.ล.ธนบุรียังคงตกอยู่ในกองเพลิง เรือเอียงขวามากจนกราบตักน้ำ ขณะนั้นคนเจ็บถูกลำเลียงลงร.ล.ช้างหมดแล้ว เมื่อเห็นไฟโหมหนัก น่ากลัวว่าหากมีอะไรยังหลงเหลืออยู่แล้วเรือระเบิดขึ้น ทหารจะพากันบาดเจ็บล้มตายไปเปล่าๆปลี้ๆ ต้นเรือ กระทำหน้าที่ผู้บังคับการเรือจึงสั่งสละเรือ ให้ทหารลงจากเรือหมดไม่มีตกค้างแล้ว ร.ล.ช้างก็สั่งตัดเชือกพ่วง ถอยออกไปลอยลำอยู่ ต่อมาเปลี่ยนความคิด ให้ร.ล.ช้างจูงไปเกยตื้นไว้บริเวณแหลมงอบแทนที่จะปล่อยไว้กลางทะเล

๑๐.๕๐ ร.ล.ช้างจูง ร.ล.ธนบุรีมาจนถึงหน้าแหลมงอบ ใกล้ติดท้องทรายตรงแนวน้ำลึก๖เมตร

๑๑.๐๐ คำสั่งสละเรืออีกครั้ง ให้ปล่อยร.ล.ธนบุรีไว้ ณ ที่นั้น

๑๗๔๐ ร.ล.ธนบุรีตะแคงลำลงเอากราบขวานอนดิน พอระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดในคืนนั้น ร.ล.ธนบุรีก็พลิกคว่ำ หงายท้องชี้ฟ้า


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 04 ต.ค. 11, 17:48

ขยายภาพจาก # ๑๒๑

แผนที่ ยุทธนาวีเกาะช้าง ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ตามการสรุปของ พล.ร.ท. พัน รักษ์แก้ว



ที่มา: ภาพต้นฉบับจากหนังสือ เมื่อธนบุรีรบ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พล.ร.อ. จิตต์ สังขดุลย์ ดัดแปลงและลงสีเพิ่มเติมโดย สุทธิพงษ์ พื้นแสน

ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 04 ต.ค. 11, 17:54

ขอบคุณครับ นี่ของฝรั่งเศสแบบชัดๆ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 04 ต.ค. 11, 19:57

พลประจำเรือ ร.ล.ธนบุรีเข้าทำการรบจำนวน๒๓๔นาย เสียชีวิตครั้งนั้น๒๐นาย
ด้วยความเคารพ ขอจารึกชื่อไว้ดังนี้

นายนาวาเอก หลวงพร้อมวีรพันธุ์ (พร้อม วีระพันธุ์)
นายนาวาเอก อัชฌา พัฒนวิบูลย์
นายเรือโท เทียน เหมือนสุวรรณ
นายเรือโท ทองมี เสตะจันทร์
นายเรือโท สว่าง สุวรรณเปี่ยม
นายเรือตรี ทองปอนด์ ชำนาญแพทย์
นายเรือโท ขัน วงศ์กนก
นายเรือตรี พรม รักษ์กิจ
นายเรือตรี สมัย จำปาสุต
พันจ่าเอก เฟื่อง ยาประดิษฐ์
พันจ่าเอก สาคร ฉันบุญช่วย
พันจ่าเอก มูล พึ่งมา
พันจ่าเอก ยก นรธด
พันจ่าเอก สม จันมะณี
พันจ่าเอก ปิ่น แซ่ลิ้ม
พันจ่าเอก เอี๋ยว อึ้งหลี
พันจ่าเอก ลบ นุดนา
พันจ่าเอก นวล เสี่ยงบุญ
พันจ่าเอก ลำดวน ทัพพะเกตุ
พันจ่าเอก ยู่เล้ง อาจสาคร


ทหารประจำเรือหลวงธนบุรี ๑๔ นาย ได้รับเหรียญหล้าหาญจากการรบ

นายนาวาเอก หลวงพร้อมวีรพันธุ์ (พร้อม วีระพันธุ์)
นายเรือเอก เฉลิม สถิระถาวร
นายเรือโท ขัน วงศ์กนก
นายเรือตรี พรม รักษ์กิจ
นายเรือตรี สมัย จัมปาสุต
พันจ่าเอก ทองอยู่ เงี้ยวพ่าย
พันจ่าเอก เอี้ยว อึ้งหลี
พันจ่าเอก นวล เสียงบุญ
พันจ่าเอก ลบ นุดนา
พันจ่าเอก ลำดวน ทัพพะเกตุ
พันจ่าเอก ยู่เล้ง อาจสาคร
พันจ่าเอก เพื่อน สุดสงวน
พันจ่าเอก ชุน แซ่ฉั่ว
พันจ่าเอก เอ่ง แซ่ลิ้ม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 04 ต.ค. 11, 20:00

คุณ navarat เล่าจนเห็นได้ชัดเจน ราวกับเป็นภาพเคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้า  
จับใจในวีรกรรมของทหารเรือไทยในยุทธนาวีครั้งนี้   ทุกคนสู้สมเป็นชายชาติทหารจริงๆค่ะ
นอกจากไม่พึ่งโชคใดๆทั้งสิ้น  ก็ยังไม่ระย่อต่อเคราะห์ที่กระหน่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า




 


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 04 ต.ค. 11, 22:01

.


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 04 ต.ค. 11, 22:09

การรบที่เกาะช้างนั้นมิได้มีเฉพาะยุทธนาวี กองทัพอากาศไทยก็มีบทบาทในการรบกับกองเรือรบของฝรั่งเศสด้วย ก่อนจะเล่าการสับประยุทธระหว่างเครื่องบินรบของไทยกับเรือลามอตต์ ปิเกต์ ผมขอปูพื้นเสียหน่อยจะดีกว่า

เมื่อใกล้จะเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยและอินโดจีนฝรั่งเศส กองทัพอากาศได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้มารีบดำเนินการจัดตั้งฐานบินขึ้นที่เนินพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เพื่อปกป้องน่านฟ้าไทยในอาณาบริเวณชายแดนด้านทิศตะวันออกที่ติดกับฝั่งทะเล โดยย้ายฝูงบินขับไล่จากฐานทัพอากาศโคกกระเทียมมาจัดตั้งฝูงบินอิสระเมื่อวันที่๒๖ กันยายน ๒๔๘๓ ใช้เครื่องบินฮอว์ก แบบ ๑๗ (Curtiss Hawk III) ที่ทันสมัยสุดๆ(ของเรา)เพราะสามารถพับล้อเก็บได้ จนมีฉายาเก๋ไก๋ว่าฮอว์กพับฐาน จำนวน๙เครื่อง แม้ฐานบินจะมีลักษณะชั่วคราว อาคารทั้งหมดเป็นเรือนไม้มุงหลังคาจาก แต่ทหารนักบินก็อยู่อย่างสะดวกสบาย ความเป็นอยู่ดีมีแฟนคลับของทหารอากาศขาดรักเช่ารถจากตัวเมือง เอาอาหารการกินผลหมากรากไม้มาส่งส่วยมิได้ขาด ในเล้าไก่ก็มีชาวบ้านคอยเอามาเติมให้ แม้กระทั่งรถยนต์นั่งก็มีผู้มีจิตศรัทธานำมาให้ผู้ฝูงใช้ถึง๒คัน

นักบินทั้งหมดในฝูงมีดังนี้

นาวาอากาศตรี ม.ล.ประวาศ ชุมสาย ผู้บังคับฝูงบิน
เรืออากาศเอก บุญนำ สังขภูติ รองผู้บังคับฝูงบิน
เรืออากาศตรี ประสงค์ คุณะดิลก ผู้บังคับหมวดบิน
พันจ่าอากาศตรี อนันต์ พุทธจริยวงศ์ นักบิน
จ่าอากาศเอก อุทัย สังเนตร นักบิน
จ่าอากาศโท เอื้อน เอมปาน นักบิน
จ่าอากาศโท หิรัญ ศิริพรรค นักบิน
จ่าอากาศโท บุศยะ น่วมในชาติ นักบิน
จ่าอากาศโท มาลา วีระพันธ์ นักบิน
จ่าอากาศโท ม.ร.ว. ปรียะ จักรพันธ์ นักบิน



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 04 ต.ค. 11, 22:12

ต่อมาในวันที่๖ มกราคม ๒๔๘๔ ได้มีคำสั่งย้ายฝูงบินตรวจการณ์ทิ้งระเบิด แบบ ๒๓ (Vought Corsair) ที่มีฉายาว่าคอร์แซร์หัวถาด(V-93S) จำนวน ๙ เครื่อง รุ่นนี้ทันสมัยกว่ารุ่นเก่าที่มีฉายาว่าคอร์แซร์หัวโอ่ง(V-93) มาอยู่ในฐานบินเดียวกัน

นักบินทั้งหมดในฝูงมีดังนี้

เรืออากาศเอก ถนอม ปิณฑแพทย์ ผู้บังคับฝูงบิน
เรืออากาศตรี สวน จิตรไพบูลย์ ผู้บังคับหมวดบิน
พันจ่าอากาศโท จิต ทองเพชร์ นักบิน
พันจ่าอากาศตรี อรรจถ์ สุริโยธิน นักบิน
จ่าอากาศโท ศิริ กลันนานนท์ นักบิน
จ่าอากาศโท จำรัส ม่วงประเสริฐ นักบิน
จ่าอากาศโท โต๊ะ บุญยมาลิก นักบิน
จ่าอากาศโท ชุ่ม ใช้ญาณ นักบิน
จ่าอากาศโท โฉมยง ถนอมทอง นักบิน




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 05 ต.ค. 11, 08:27

ฝูงบินทั้งสองเป็นฝูงบินอิสระ แปลความว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครในฐานทัพเดียวกัน ฟังแต่คำสั่งของหน่วยเหนือเท่านั้น บังเอิญผบ.ฝูง ม.ล.ประวาศ ชุมสาย กับผบ.ฝูง ถนอม ปิณฑแพทย์เป็นนายทหารรุ่นเดียวกัน รักใคร่นับถือว่าอะไรว่าตามกันอยู่แล้ว ทหารจึงอยู่กันเรียบร้อย แบ่งปันความสุขที่ชาวจันทบุรีนำมามอบให้อย่างถ้วนทั่ว

ผบ.ฝูง ม.ล.ประวาศ ชุมสายเพิ่งจะได้เลื่อนยศแซงหน้าก่อนที่เพื่อนจะย้ายมาไม่กี่วันเอง เพราะได้บินไปทิ้งระเบิดเรือฝรั่งเศสที่นำทหารมายกพลขึ้นบกที่แหลมสารพัดพิษ ชายแดนตราด ถึงจะไม่โดนจังๆแต่เรือข้าศึกก็เสียหายมาก เมื่อสถานีวิทยุกระจายเสียงไซ่ง่อนภาคภาษาไทย ออกข่าวหลังเหตุการณ์ว่า รัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสได้มอบเหรียญตราให้กับนายเรือเอกคนหนึ่งที่ต่อสู้กับเครื่องบินข้าศึก จนสามารถนำเรือกลับไปได้อย่างปลอดภัย วันรุ่งขึ้น บก.ทหารสูงสุดจึงอนุมัติให้เลื่อนยศนักบินผู้ปฏิบัติการในวันนั้นคนละ๒ขั้นเป็นบำเหน็จ เลยได้ติดยศใหม่เป็นนาวาตรีสดๆร้อนๆ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 05 ต.ค. 11, 21:03

ขอปาดกลับไปที่ข้อข้องใจหน่อยค่ะ   เรื่องเครื่องบินทิ้งระเบิดเรือร.ล. ธนบุรี
ร.ล.ธนบุรี โดนระเบิดจากเครื่องบินไทยด้วยกัน  ที่ดูผิดว่าเรือไทยเป็นเรือฝรั่งเศสใช่ไหมคะ
เป็นความเคราะห์ร้ายครั้งที่เท่าไรล่ะนี่?

แต่ถ้ากระทู้วิ่งเลยเรื่องนี้ไปไกลแล้ว  เก็บคำถามไว้ท้ายกระทู้ก็ได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 05 ต.ค. 11, 21:15

ครับ และนี่คือที่มาของชื่อเรื่องด้วย

ปกติเมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ ผู้ที่มีใจเป็นกลางคงจะอุทานว่า "เวรกรรม"

ฉะนั้น ในวีรกรรมของทหารเรือครั้งสำคัญ มันเลยมีวีรเวรอยู่ด้วย

 คคห๑๑๓

๐๗.๐๕ เครื่องบินขับไล่ฮอร์กพับฐานติดระเบิดขนาด๕๐ก.ก.ของกองทัพอากาศไทยที่ฐานบินเนินพลอยแหวน มีพันจ่าอากาศตรีอนันต์ พุทธจริยวงศ์ นักบินเวรเตรียมพร้อม เป็นผู้ได้รับคำสังให้นำเครื่องขึ้นไปดูว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น และโจมตีได้ถ้าจำเป็น

เมื่อมีเสียงปืนใหญ่ดังพรึมๆขึ้นตอนฟ้าสางนั้น  ฐานบินรออยู่ว่ากองทัพเรือจะขอความช่วยเหลือมาหรือไม่ แต่ไม่ได้รับการติดต่อ ในขณะที่เรื่องเดียวกันนี้ ฐานทัพเรือที่สัตหีบรายงานว่าพยายามติดต่อแล้วแต่ติดต่อไม่ได้ ครั้นเสียงปืนดังต่อเนื่องเนิ่นนานเกิน ทหารอากาศก็ไม่สมควรจะนิ่งเฉย
พ.อ.ต.อนันต์ พุทธจริยวงศ์ เมื่อไต่ระดับขึ้นได้ก็มุ่งตรงไปหมู่เกาะช้างที่เมื่อวาน นักบินลาดตระเวนรายงานว่าเห็นหมู่เรือของไทยจอดรวมกันอยู่๖ลำ ที่อ่าวสลักเพชรบริเวณเกาะง่าม

ถ้าทราบสถานการณ์แน่ชัดถูกต้อง ฐานบินคงจะส่งเครื่องบินที่ประจำการอยู่ทั้ง๙เครื่องขึ้นไปโจมตี แทนที่จะส่งไปลำเดียว การที่จะเข้าไปทิ้งระเบิดเรือรบที่มีป.ต.อ.กระสุนแตกอากาศระดมยิงขึ้นมา เครื่องบินสมัยนั้นไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปในระยะหวังผลได้เลย ยิ่งไปลำเดียวแล้วคงไม่ได้กลับฐานแน่ ต้องใช้แบบหมาหมู่รุมเสือ จึงอาจจะมีโอกาสชนะเสือได้  ถ้าเหตุการณ์ได้เป็นไปอย่างที่ควรแล้ว ประวัติศาสตร์คงจะไม่ได้จารึกเช่นนี้

ไม่ว่าใครผิดใครถูก เรื่องนี้ผมถือว่าเป็นโชคเป็นของฝรั่งเศส ซวยเป็นของไทยครั้งที่๔



ผมกำลังจะดำเนินเรื่องเข้าไปขยายเนื้อความตอนนี้แล้วละครับ รับรองเป็นประวัติศาสตร์ แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครอยากพูดถึง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 05 ต.ค. 11, 21:18

ฐานบินจันทบุรีอยู่ค่อนข้างจะโดดเดี่ยวจากหน่วยทหารอื่นๆ วิธีสื่อสารนั้น ใช้การได้ดีเพียงวิทยุติดต่อกับกองทัพอากาศสนามที่ดอนเมือง ใช้พูดแบบธรรมดาๆบ้าง พูดเป็นระหัสลับบ้าง ส่วนการติดต่อกับฐานทัพเรือที่สัตหีบที่ใกล้กว่านั้นกลับทำไม่ค่อยจะได้ ทั้งๆที่ผู้ใหญ่บอกไว้ว่า ไปอยู่ที่นั่นนั้น “กองทัพอากาศเป็นแม่ตัว กองทัพเรือเป็นแม่เลี้ยง” กับกองเรือรบก็ไม่เคยติดต่อสื่อสารกัน ระหว่างเครื่องบินกับเรือรบจึงไม่ต้องพูดถึง เครื่องบินกับเครื่องบินในหมู่เดียวกันยังคุยกันไม่ได้เลย ทั้งๆที่ตอนซื้อเขามา อเมริกันก็ติดวิทยุให้ในห้องนักบินด้วย แต่ไม่ทราบอย่างไรจึงไม่ใช้กัน เล่นวิธีการที่เรียกเสียให้โก้ว่า“ทรรศนสัญญาน” เช่นชูกำปั้นขึ้น แปลว่าให้โจมตี โบกมือแปลว่าห้าม โคลงปีก แปลว่าพวกเดียวกัน ชักธงเขียวแปลว่าพร้อมแล้วลงได้ ชักธงแดงแปลว่าสนามบินยังไม่พร้อม ปูผ้าขาวแปลว่าให้รีบลงไวๆ เป็นต้น
 
หากพิจารณาจำนวนเครื่องบินที่ซื้อมาประจำการแล้ว ตอนนั้นกองทัพอากาศยังไม่พร้อมถึงระดับที่ควรจะเป็น ผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพตลอดจนนักบินมือดีต่างโดนหางเลขจากคดีกบฐบวรเดช ต้องติดคุกหรือถูกให้ออกจากราชการฐานมีมลทินกันครึ่งกองทัพ นายทหารรุ่นใหม่ๆเป็นเด็กหนุ่มยังทำอะไรไม่ค่อยจะเป็นเพราะขาดผู้บังคับบัญชาระดับกลางที่มีประสพการณ์ การฝึกการสอนไม่มี มีแต่สั่ง ผู้ใหญ่สั่งให้เอาเครื่องบินมาก็มา ผู้ใหญ่สั่งให้ซ้อมทิ้งระเบิด ก็ทิ้งไป โดยไม่มีวัตถุประสงค์กำกับว่าเป้าหมายที่กำหนดจะทำลายนั้นเป็นประเภทใด เป็นอาคารที่อยู่นิ่งๆ หรือเคลื่อนที่เช่นเรือรบที่มีปืนสวนขึ้นมาได้ด้วย หรือผู้ใหญ่สั่งให้หมั่นซ้อมยิงก็ยิง ยิงแล้วไปโดนใบพัดเกือบขาดบ่อยๆ แต่ทุกครั้งก็โทษกันเอง ไม่กล้าโทษผู้ใหญ่ เวลาออกไปรบจะยิงข้าศึกสักทีก็คิดแล้วคิดอีก กลัวจะเป็นการยิงตัวตาย

นี่ผมเขียนเล่ามาถึงตรงนี้ต้องขอเบรคสักนิด ขอดักคอบางท่านก่อนว่า ผมไม่ได้โม้ และไม่ได้มั่ว ไม่มีเจตนาจะทับถมใคร ข้อมูลเหล่านี้มาจากรายงานและบทสัมภาษณ์ของทหารนักบินผ่านศึกในสงครามครั้งนั้นเอง กองทัพอากาศเป็นผู้รวบรวมและจัดพิมพ์ขึ้น ตอนทำหนังสืองานศพคุณลุง นายทหารเรือที่ช่วยเหลือผมอยู่ได้ประสานไปยังกองประวัติศาสตร์ของกองทัพอากาศตามที่ผมขอ ต้องการไปค้นข้อมูลเลยได้รับอนุเคราะห์หนังสือเล่มนี้มากับมือตนเอง  เล่มหนามาก อ่านสนุกจริงๆขอบอก


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 16
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.044 วินาที กับ 19 คำสั่ง