เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 16944 คำว่า "ขอบคุณ"
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


 เมื่อ 17 ก.ย. 11, 13:47

สะดุดใจกับคำว่า "ขอบคุณ" ค่ะ  ยิงฟันยิ้ม
เป็นคำที่ใช้กันบ่อย สั้นๆ เรียบง่าย แต่แทนความหมายที่ยิ่งใหญ่ลึกซึ้ง
สื่อความในใจของผู้พูด ก่อให้เกิดความรู้สึกดีๆ แก่ผู้รับ

แต่!!! หนูดีดี หาประวัติ ที่มา ของคำนี้ทางอินทรเนตร ไม่เจอค่ะ
คำว่า "คุณ" ก็พอจะเข้าใจ แต่คำว่า"ขอบ" มาเกี่ยวกันได้อย่างไร ฮืม

เลยอยากเรียนถามท่านผู้รู้ทั้งหลาย ให้ช่วยกันอธิบายขยายความเกี่ยวกับคำว่า "ขอบคุณ"
เพื่อเป็นความรู้แก่คนทั่วไปที่อาจจะมีความสงสัยอย่างเดียวกับหนูดีดี นะคะ

ขอบคุณค่ะ  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 18 ก.ย. 11, 21:29

รอยอินท่านอธิบายไว้ดังนี้

ขอบ ๑  น. ริมรอบ เช่น ขอบโต๊ะ, ริมที่ยกให้สูงขึ้นโดยรอบ เช่น ขอบสระ ขอบถนน.

ขอบ ๒ ก. ทดแทน, ตอบ, รับ, เช่น ขอบแต่ขอมสักตั้ง. (ตะเลงพ่าย), ภายในสองนางขอบ, ธขอบคําความมนตรี. (ลอ).
 
ขอบคุณ, ขอบพระคุณ  คํากล่าวแสดงความรู้สึกบุญคุณ (เป็นคําที่ใช้แก่บุคคลที่เสมอกัน หรือผู้น้อยใช้แก่ผู้ใหญ่).

ขอบใจ  คํากล่าวแสดงความรู้สึกพอใจในความดีที่ผู้อื่นได้มีต่อตน (เป็นคําที่ผู้ใหญ่ใช้แก่ผู้น้อย).

จากคำอธิบายความหมายที่ ๒ ของคำว่า "ขอบ" คุณดีดีคงพอเข้าใจได้ว่า  "ขอบ" เข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร

คุณ = บุญคุณ

ใจ =  ความพอใจ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 18 ก.ย. 11, 22:29

ขอบพระคุณ คุณเพ็ญชมพู ที่ช่วยอธิบายอย่างชัดเจนค่ะ... ยิงฟันยิ้ม
หนูดีดี ยังสงสัยต่อค่ะ ว่า ....

คำว่า ขอบคุณ มีใช้กันมาตั้งแต่สมัยใด..
ใครเป็นผู้บัญญัติ...

อย่างคำว่า สวัสดี พระยาอุปกิตศิลปสาร ท่านเป็นผู้บัญญัติขึ้น
ในปีพ.ศ. 2486 ในสมัยของจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม นี่เองค่ะ

แล้วคำว่า ขอบคุณ มีใช้กัน ก่อน หน้านี้แล้วหรือเปล่า
มีหลักฐานปรากฏเก่าสุด เมื่อไร ท่านใดพอจะทราบบ้างคะ.... ฮืม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 19 ก.ย. 11, 08:36

ยังหาคำว่า "ขอบคุณ" ในหนังสือโบราณมิได้

ขอบ ๒ ก. ทดแทน, ตอบ, รับ, เช่น ขอบแต่ขอมสักตั้ง. (ตะเลงพ่าย), ภายในสองนางขอบ, ธขอบคําความมนตรี. (ลอ).

ยกตัวอย่างที่ท่านรอยอินอ้างมา ในเรื่องลิลิตพระลอ

โคลง ๔

หาโหรหาถ้วนมิ่ง         มนตรี
หาปู่สิทธิไชยลี-         ลาศเต้า
แถลงคำแก่นกษัตรีย์    ทุกสิ่ง แลนา
โหรว่าจักห้ามเจ้า        แผ่นหล้าฤๅฟัง  

สิทธิไชยทูลแด่เจ้า      จอมกษัตริย์
แม้นเทพมาทัดทัด       บ่ได้
มนตรีว่าเห็นขัด          ทุกสิ่ง แลนา
จักส่งสารถึงไท้          สืบสร้องกลความ

โคลง ๓    

ธขอบคำความมนตรี     กลกล่าวดีชอบแท้
แก้อื่นบได้แก้            ดั่งนี้เห็นควร

"ขอบคำความ" จะมีความหมายใกล้เคียงกับ "ขอบคุณ" หรือไม่

 ฮืม

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 19 ก.ย. 11, 09:10

ในเรื่องเดียวกัน พบแต่คำว่า "ขอบใจ"

โคลง ๔    

ทุกเมืองมีลูกท้าว           นับมี มากนา
บเปรียบสองกษัตรีย์       พี่น้อง
พระแพงแม่มีศรี            สวัสดิ์ยิ่ง คณนา
พระเพื่อนโฉมยงหย้อง     อยู่เพี้ยงดวงเดือน  

โฉมสองเหมือนหยาดฟ้า    ลงดิน
งามเงื่อนอัปสรอินทร์        สู่หล้า
อย่าคิดอย่าควรถวิล         ถึงยาก แลนา
ชมยะแย้มทั่วหน้า           หน่อท้าวมีบุญ
 
หมื่นขุนถ้วนหน้าส่ำ         หัวเมือง ก็ดี
อย่าใคร่อย่าคิดเคือง       สวาทไหม้
สมภารส่งสองเรือง          สองรุ่ง มานา
สองราชควรท้าวไท้         ธิราชผู้มีบุญ  

โคลง ๒      

ยอยศสองอ่อนท้าว         ฦๅทั่วทุกแดนด้าว
ลอราชได้ฟังสาร
   
ฟังตระการอยู่เกล้า         ให้เร่งเบิกเขาเข้า
มาสู่โรงธาร                 ท่านแล

ฟังสารสองหนุ่มหน้า        จอมราชควรคิดอ้า
อกร้าวหัวใจ                 ท่านนา
 
มลักนึกในคแคล้ว          ผิพี่มีบุญแก้ว
พี่เพี้ยงไปสม               เจ้านา  

ร่าย

ชมข่าวสองพี่น้อง ต้องหฤทัยจอมราช พระบาทให้รางวัล ปันเสื้อผ้าสนอบ ขอบใจสูเอาข่าว มากล่าวต้องติดใจ บารนี

แสดงว่า "ขอบใจ" มีมานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยอยุธยา

ในภาษาลาว ก็มีแต่ "ขอบใจ" ไม่มี "ขอบคุณ"

คำว่า "ขอบคุณ" จะเก่าเท่าคำว่า "ขอบใจ" หรือไม่

ไม่แน่ใจ

 ฮืม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 19 ก.ย. 11, 11:32

การใช้ราชาศัพท์สำหรับคำว่า ขอบใจ

ขอบใจ-ขอบพระทัย-ทรงขอบใจ-ทรงขอบพระทัย โดยคุณสุดสงวน จากนิตยสารสกุลไทย  

เรื่องการใช้ราชาศัพท์สำหรับคำ “ขอบใจ”- “ขอบคุณ” มีคนเข้าใจสับสนพอควร

ส่วนมากเข้าใจว่า ถ้าเป็นราชาศัพท์แล้วก็ใช้ “พระทัย” แทน “ใจ” ได้ เพราะ “พระทัย” เป็นคำราชาศัพท์ของ “ใจ”

ความเข้าใจเช่นนั้นอาจมีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่ขึ้นอยู่กับว่าใช้ในบริบทอย่างไร

ทุกวันนี้คนไทยแทบจะใช้ “ขอบใจ” ไม่เป็น มีแต่ “ขอบคุณ” และ “ขอบพระคุณ” แม้ผู้ใหญ่พูดกับเด็กๆ ก็ยังใช้ “ขอบคุณ”

แท้จริงนั้น ถ้าผู้ใหญ่พูดกับเด็ก หรือคนเท่ากันพูดกันเอง (เช่นเพื่อนกับเพื่อนที่สนิทกัน) ท่านให้ใช้ “ขอบใจ”

ผู้น้อยพูดกับผู้ใหญ่กว่า ให้ใช้ “ขอบคุณ” ถ้าผู้ใหญ่กว่ามาก ๆ ให้ใช้ “ขอบพระคุณ” นี่คือธรรมเนียมดั้งเดิม

ส่วนคำว่า “ขอบพระทัย” นั้น ท่านผู้รู้จริง ไม่ใช่รู้แบบงู ๆ ปลา ๆ ท่านสอนว่า เป็นคำที่เจ้านายในราชสกุล โดยผู้มีฐานันดรศักดิ์สูงกว่า หรือผู้มีฐานันดรศักดิ์เสมอกัน ท่านใช้แทนคำ “ขอบใจ” (ในคนธรรมดา) เช่น พระองค์เจ้ารับสั่งกับหม่อมเจ้า หรือหม่อมเจ้าที่มีวัยหรือศักดิ์สูงกว่ารับสั่งกับหม่อมเจ้าที่มีวัยหรือศักดิ์ต่ำกว่าหรือเสมอกัน

(โดยเวลารับสั่งจริง ๆ มักจะได้ยินเพียงว่า “ขอบ ‘ทัย”)

แต่คนทั่วไปมักเข้าใจว่า “ขอบพระทัย” นี้ คนธรรมดาใช้กับเจ้านาย แทนคำ “ขอบคุณ” หรือ “ขอบพระคุณ” ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด แต่ก็มีคนใช้กันมาก แม้เจ้านายบางพระองค์ (สมัยใหม่) ก็เข้าพระทัยเช่นนั้นก็มี

คำว่า “ทรงขอบใจ” ใช้เวลาเอ่ยถึงว่า เจ้านาย พระราชวงศ์ “ทรงขอบใจ” ประชาชนทั่วไป ดังประโยคว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงขอบใจข้าราชการและประชาชนที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา”

แต่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงมีพระราชเสาวนีย์ว่า “ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรี และขอบพระคุณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตลอดมา” นั่นเป็นการเฉพาะพระองค์ที่ทรงยกย่อง พระราชทานเกียรติยศแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ไม่เกี่ยวกับเรื่องการใช้ราชาศัพท์ตามที่ผู้เขียนกล่าวมานี้ ส่วนมากถ้าเป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเป็นในทำนองนี้ “ข้าพเจ้าขอขอบพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์ และขอขอบใจท่านนายกรัฐมนตรี ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนที่มาอวยพรในวันนี้”

จึงสรุปเฉพาะ “ขอบพระทัย” ว่า เป็นคำที่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีฐานันดรศักดิ์สูง กล่าวแก่พระราชวงศ์ที่ทรงมีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่าหรือเสมอกัน

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นบุคคลที่สามเอ่ยถึงเรื่องนั้น ก็จะใช้ “ขอบพระทัย” ได้ เช่น บทรายงานว่า “เนื่องในวโรกาสนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงขอบพระทัย พระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จมาเฝ้าถวายชัยมงคล ทั้งทรงขอบใจคณะรัฐมนตรี และประชาชนทั้งปวงที่มาเฝ้าถวายชัยมงคลในวันนั้น” ดั่งนี้เป็นต้น

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.062 วินาที กับ 20 คำสั่ง