Wandee
|
จากหนังสืออนุสรณ์ บุญยิ่ง พัฒน์พงศ์พานิช ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๒
เนื่องจากได้แยกหนังสืออนุสรณ์ของนักประพันธ์ไปลงกล่องพลาสติคมีล้อ เพราะไม่ที่จะวางในตู้แล้ว
ยังแยกหนังสือตำรากับข้าวโบราณไปลงเกวียนอีกเล่มหนึ่ง ชีวิตก็เป็นสุขมาได้ชั่วขณะ
เมื่อวานได้สนทนากับคุณพระเฉียบเรียงเรียบ ผู้เก็บหนังสืออนุสรณ์จำนวนมหาศาล ได้สนทนาว่าครอบครัวใดมีชื่อเสียง
ในการปรุงอาหารเป็นที่นับถือทั่วไป ได้เห็นตรงกันว่า หม่อมหลวงต่อ กฤดากร ทำอาหารเลื่องชื่อลือชามาช้านาน
นึกถึงอาหารไทยที่เคยไปชิมที่รังต่อหลายครั้ง นึกถึงพระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์(ม.ร.ว. ถัด ชุมสาย)หลานตาของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิท บุตรของหม่อมเจ้า ประวิช ชุมสาย และ หม่อมเจ้าหญิงสารภี สนิทวงศ์
ที่เขียนหนังสือประวัติของท่านชวนติดตามเป็นที่ยิ่ง นักอ่านไม่ควรพลาดจะได้ปูพื้นฐานความเข้าใจในชีวิตสมัยนั้นได้ง่ายขึ้น
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 08 ก.ย. 11, 11:30
|
|
ประวัติของ คุณ บุญยิ่ง พัฒน์พงศ์พานิช ป.ภ.ม ต.ม. (๒๓ สิงหาคม ๒๔๕๘ - ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒)
คุณบุญยิ่ง เกิดที่บ้านสะพานสว่าง ปัจจุบันตั้งอยู่ใกล้เคียงกับที่ตั้งของคริสต์จักร นายเทียนลั่ง ถนนมหานคร
เป็นธิดาคนที่ ๓ ของ หลวงพัฒน์พงศ์พานิช) และ นางเพีี้ยน พัฒน์พงศ์พานิช
ก่อนคุณบุญยิ่งเกิด คุณแม่ฝันว่า เห็นว่าวสีสวยอยู่บนท้องฟ้า ที่ปีกว่าวมีจุดสีดำ แม่คลอดออกมามีปานสีดำบริเวณหลังด้านบนใต้หัวไหล่
จึงตั้งชื่อว่า บุญยิ่ง
พี่น้องเรียงลำดับมี(พี่ ๒ น้อง ๔)
นางพร
นายทองอยู่
นายอุดม
นายสมบัติ
นายวิจิตร
นางสมถวิล อมาตยกุล
คุณบุญยิ่งเรียนหนังสือที่โรงเรียนเยนเฮส์ เมเโมเรียลจนอายุ ๑๕ ปี จึงลาออกมาสมรสกับ คุณ สุธรรม ลืออำรุง
แล้วย้ายไปอยู่บ้านคุณก๋ง บริบูรณ์ ลืออำรุง และ คุณ ปาน ลืออำรุง
คุณสุธรรมเป็นบุตรชายคนโต มีน้องชายอีก ๖ คน คุณบุญยิ่ง สะใภ้คนโตจึงดูแลบ้านช่องและผู้คนตั้งแต่อายุยังน้อย
ลูก ๓ คน คือ
นางสาวเนื้อทิพย์ ลืออำรุง
นายเสรี ลืออำรุง
นายณรงค์ ลืออำรุง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 2 เมื่อ 08 ก.ย. 11, 11:43
|
|
คุณบุญยิ่งสนใจในการศึกษาหาความรู้รอบตัว ได้เรียนภาษาอังกฤษจนสามารถพูดคุยได้คล่อง
ตัดสินใจเร็วและทำงานเร็ว มีความจำแม่นยำเป็นเลิศ งานอดิเรกคือการสะสมเครื่องกระเบื้องของจีนและเฟอร์นิเจอร์ประดับมุก
ท่านมีอายุยืนเกือบ ๙๔ ปี และได้ทำบุญตามปรารถนา และร่วมทำงานการกุศลต่างๆที่สมาคมสตรีไทยในพระบรมราชินูปถ้มภ์
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทำบุญบริจาคทรัพย์สินให้แก่โรงพยาบาลต่างๆมากมาย
เมื่อได้ความรู้จากหนังสืออนุสรณ์ของท่าน จะละเว้นไม่กล่าวถึงประวัติของท่านมิได้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 08 ก.ย. 11, 15:39
|
|
หมี่กรอบ
เส้นหมี่แห้ง พรมน้ำเย็นทีละน้อยให้เส้นนุ่ม เช่นเดียวกับพรมผ้าที่จะรีด คือทั่วเสมอกัน
ทอดในน้ำมันมาก ๆที่ร้อนจัดพอสีเหลืองสวย ตักขึ้นวางบนตะแกรงโปร่งผึ่งให้เย็น
ถ้ายังไม่รับประทานทันทีควรเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิด
ส่วนประกอบ หมูกุ้งไก่หรือรวมกันทั้งสามอย่างหั่นเล็ก ๆ ๒ ถ้วย เต้าหู้เหลืองหั่นเล็ก ๆ ๑ ถ้วย เต้าเจี้ยวขาวตำละเอียด ๑/๒ ถ้วย หอมเล็ก กระเทียม สับรวมกัน ๑ ถ้วย ไข่ ๘ ฟอง น้ำส้มประมาณ ๑/๔ ถ้วย น้ำตาลประมาณ ๓/๔ ถ้วย น้ำปลา เกลือ พริกขี้หนูคั่วป่น ๑ ช้อนชา - ๑ ช้อนโต๊ะ น้ำมันพืช ๑ ถ้วย
วิธีทำ เจียวหอมกระเทียมในน้ำมันพอหอม ใส่เนื้อสัตว์ คนให้สุกทั่ว
ใส่เต้าเจี้ยว เต้าหู้ ใส่ไข่ลงทีละฟอง ผัดไปด้วยกันจนแห้ง
ให้น้ำระเหยเหลือแต่น้ำมันอยู่ก้นกระทะ เติมน้ำตาล น้ำส้ม ชิมรส ถ้ายังไม่เค็มเติมเกลือหรือน้ำปลา ฯลฯ
ดูให้น้ำส้มระเหยหมดและเครื่องแห้ง เครื่องที่ผัดนี้เก็บไว้ในตู้เย็นได้หลายวัน แบ่งทีละน้อยใช้ได้ตามต้องการ
จะรับประทานเมื่อใด จึงผัดเครื่องในกระทะให้ร้อนจัด ใส่เส้นที่ทอดไว้ผัดไปด้วยกันจนร้อนจัดและกรอบทั่ว
อย่าใช้ไฟแรง
ชิมรสอีกครั้งหนึ่ง ถ้าใช่เครื่องหมี่ ๑ ถ้วย ควรใช้เส้นประมาณ ๕๐๐ กรัม
เมื่อจัดลงจาน โรยหน้าตามยาวด้วยกระเทียมดองซอย ส้มซ่าหั่นสี่เหลี่ยมเล็ก ผักชี พริกชี้ฟ้าแดงหั่นขวาง
การปรึกษาหารือระหว่างสหาย
วันดี ส้มซ่าหายากค่ะ ไม่มีก็ไม่อร่อย คุณพระเฉียบเรียงเรียบ อือ... บ้านผมก็ตายไปต้นหนึ่ง วันดี เดี๋ยวปลูกเลย คุณพระเฉียบ ฯ ปลูกยาก ไม่ค่อยขึ้นหรอก วันดี ปลูกทีละ ๑๐ ต้น ใส่กระถาง ลงดิน ที่ลุ่ม ที่แห้งสลับกัน คุณพระ(ปากบางถนัดเชือดเฉือน) จะคอยดู ฮ่ะ ๆ ๆ วันดี ปลูกเดือนละ ๑๐ ต้นก็ได้ค่ะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 4 เมื่อ 08 ก.ย. 11, 15:52
|
|
ปลาทูทอด ตำราหม่อมหลวงต่อ
ส่วนประกอบ ปลาทูนึ่ง ๖ ตัว หักหัวออก แกะเป็นสองซีก แกะก้างทิ้ง หมูบด ๑ ถ้วย รากผักชี พริกไทย กระเทียม ตำด้วยกัน ๑ ช้อนโต๊ะ ขึ้นไฉ่ทั้งก้านทั้งใบ
ผสมหมูกับ กระเทียมรากผักชีพริกไทย ทาลงด้านในปลาทูที่แกะก้างไว้
ขึ้นไฉ่ตัดตรงต้นอ่อนยาวเท่าชิ้นปลาทู วางทับลงบนหมู
ชุบแป้งทอดให้เหลืองทั่วทั้งสองด้านและหมูสุก
แป้งสำหรับชุบทอด
แป้งสาลี ๑ ถ้วย แป้งข้าวเจ้า ๒ ช้อนโตีะ ผงฟู ๑ ช้อนชา น้ำมัน ๒ ช้อนโต๊ะ น้ำ ๑ ถ้วย เกลือ น้ำตาลนิดหน่อย ผสมด้วยกันคนเร็ว ๆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 5 เมื่อ 09 ก.ย. 11, 13:15
|
|
เลือกรายการอาหารที่เห็นว่าแปลกและอ่านดูว่าทำง่ายและคงน่าดูเมื่อจัดสำรับ
ยังเป็นรายการอาหารของหม่อมหลวงต่ออยู่ค่ะ
ดอกไข่
ส่วนประกอบ และวิธีทำ ไข่นกกระทาต้มแข็งปอกเปลือก แตงกวาลูกเล็กใช้แต่ท้าย ผ่าเป็นสี่กลีบ
ตักไส้ออก ตัดกลีบให้แหลมเช่นขั้วดอกไม้ แช่ในน้ำส้มผสมเกลือน้ำตาลประมาณ ๑๐ นาที
ผัดรากผักชีกระเทียมพริกไทยในน้ำมันนิดหน่อย ใส่ซีอิ๊วขาวดำ น้ำตาล
ใส่ไข่นกกระทาที่ต้มแข็งแล้วลงไปผัดด้วยกัน เติมน้ำพอท่วมไข่ คอยคนให้สีสวยเสมอกัน
จะใช้เมื่อไรก็เสียบไม้จิ้มฟันทะลุทางแตงที่ทำเป็นขั้วไว้ให้พอดี เสียบไข่ให้มิดไม้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 6 เมื่อ 09 ก.ย. 11, 13:28
|
|
ดอกกุ้ง
ส่วนประกอบ ขนมปังแซนวิชที่หั่นแล้ว ๑ แถว กุ้งน้ำเค็มหรือกุ้งน้ำจืด ๑ กิโลกรัม
รากผักชี กระเทียม พริกไทย ตำละเอียด ๒ ชัอนโต๊ะ มันหมูแข็งหั่นเล็ก ๑/๔ ถ้วย
แป้งมัน ๑ ช้อนชา ไข่ ๑ ฟอง งาดำคั่ว เกลือ
วิธีทำ กดขนมปังเป็นรูปกลมหรือกลีบดอกไม้ ใหญ่เล็กพองาม
ปอกกุ้งเด็ดหัวชักไส้ บดรวมกับมันหมู ผสมเครื่องตำ แป้ง ไข่ และเกลือ
ทาบนขนมปัง โรยงาดำข้างบนนิดหน่อย นึ่งพอสุก
ทอดพอเหลืองสวย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
siamese
|
ความคิดเห็นที่ 7 เมื่อ 09 ก.ย. 11, 13:42
|
|
อ่านแล้วน้ำลายไหลย้อย 
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 8 เมื่อ 09 ก.ย. 11, 13:52
|
|
ข้าวผัดเต้าหู้ยี้ของหม่อมหลวงต่อนั้น ท่านใช้เนื้อสัตว์จะเป็นไก่ กุ้ง หรือหมู ๑ ถ้วย ต่อข้าวสุกเย็นแล้ว ๖ ถ้วย
ท่านใส่ขิงหั่นฝอย ๑/๒ ถ้วย พริกชี้ฟ้าแดงเขียวหั่นฝอย ๑/๒ ถ้วย กระเทียมน้ำมันนั้นคงไม่จำเป็นต้องเอ่ยนะคะ
เต้าหู้ยี้ ๑/๒ ถ้วย
ข้าวผัดพริกขิงน่าอร่อยเหลือเกิน จึงต้องนำตำรามาลงอย่างละเอียด เพราะตำราของท่านหายากเหลือเกิน และไม่มีโอกาสไปสมัครเรียนทำอาหารที่ "รังต่อ"
เนื้อหมู ไก่ กุ้ง หรือสามอย่างรวมกัน ๑ ถ้วย
ข้าวสุกหุงสวยๆ ๖ ถ้วย
ถั่วฝักยาวลวก หั่นท่อนสั้น ๑ นิ้ว ๑ ถ้วย
น้ำปลาน้ำตาล
เครื่องน้ำพริก หอม กระเทียม ตะไคร้หั่นบางอย่างละ ๑/๔ ถ้วย ข่า ฝานบาง ๆ ๔ - ๕ แว่น พริกไทย ๑/๒ ชช. เกลือ ๑/๒ ชต. รากผักชีหั่นละเอียด ๑/๒ ชต. ผิวมะกรูด ๑/๒ ชช. พริกแห้งแกะเม็ดออก ๕ - ๑๐ เม็ด น้ำมันพืช ๑/๒ ถ้วย
ตำเครื่อง ไม่ต้องแหลกมาก ผัดให้หอม
ใส่เนื้อสัตว์ พอสุกใส่ข้าว ผัดจนเข้ากันดี เติมน้ำตาล น้ำปลาให้ถูกปาก
ใส่ถั่วลวก ยกลง
รับประทานกับแตงกวาดอง ขิงดอง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 9 เมื่อ 09 ก.ย. 11, 14:10
|
|
อาหารอร่อยถึงลือนั้น ต้องจัดพอสวยงาม ด้วยใบไม้ดอกไม้ที่กินได้ ไม่มีพิษ นำเสนอเข้ากันกับอาหารจานอื่น ๆ
การเก็บจาน หรือถอนจานจากโต๊ะนั้น คุณต่อท่านได้ฝึกหัดนักเรียนไทยในญี่ปุ่นไปหลายราย
ท่านกำชับไม่ให้ซ้อนจานกันค่ะ เพราะจะทำให้จานอาหารลื่นสกปรกทั้งสองด้าน
จะหยิบจับไปล้างก็ไม่สดวก อาจทำตกแตกได้ง่าย
กิริยามารยาทของหญิงไทยนั้นเจริญตาน่าชมค่ะ
ไข่เค็มนั้น ท่านมีตำราทั้งนึ่งเป็นถาดแล้วตัดด้วยเครื่องตัดคุ้กกี้ หรือทอดเป็นไข่ดาวฟองเล็ก ๆ
ไข่ขาวตอนตีขึ้นฟูก่อนทอดนั้นท่านใส่แป้งสาลีนิดหนึ่ง
ต่อมาอีกหลายสิบปีก็เห็นอาหารไทยตามโรงแรมทำตามเป็นแถว ๆ
ม.ล.เติบ ชุมสาย น้องสาวของท่านนั้น มีจินตนาการที่เหมาะสมค่ะ ในตำราสายปัญญาเล่าไว้ยืดยาว
ว่าเธอทำฝอยทองเป็นไหมน้อย เมื่อไปทำอาหารไทยในต่างประเทศ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 10 เมื่อ 09 ก.ย. 11, 14:37
|
|
รายการสุดท้ายที่ตั้งใจนำมาฝาก
แกงและเครื่องแกงมัสหมั่น
ส่วนประกอบ น้ำพริกแกงมัสหมั่น ๑ ส่วน เนื้อวัวสันนอก หรือน่อง หั่นตามใจชอบ ๑ กก. หอมหัวใหญ่ หัวเล็ก ปอกเปลือก ๑/๒ กก. มะพร้าวขูด คั้นกะทิให้ได้ ๔ - ๕ ถ้วย ๑ ๑/๒ กก. น้ำส้มมะขามประมาณ ๑/๒ ถ้วย น้ำตาลมะพร้าว ๒ - ๓ ชต. เกลือ หรือ น้ำปลา
หอม กระเทียม ตะไคร้ เผาพอสุกอย่างละ ๑/๒ ถ้วย ข่าเผา และรากผักชีหั่นละเอียดอย่างละ ๑ ชต. ผิวมะกรูด ๑ ชต. พริกไทย ๑ ชช. พริกแห้งแกะเม็ดออกเผา ๑๐ - ๒๐ เม็ด เกลือ ๑ ชต. ลูกผักชีคั่วป่น ๑ ชต. ลูกยี่หร่าคั่วป่น ๑ ชช. ลูกจันทน์ ดอกจันทร์ อบเชย กานพลูคั่วป่นอย่างละ ๑/๒ ชช. กะปิเผา ๒ ชต. ลูกกระวานคั่วป่น ๒ - ๓ ลูก
ตำเครื่องให้ละเอียด
วิธีทำ
ทอดเนื้อ มัน หอมใหญ่ทีละอย่าง ไม่จำเป็นต้องสุกถึงข้างใน
ผัดเครื่องแกงให้หอม ใส่กะปิ น้ำส้มมะขาม น้ำตาล เกลือหรือน้ำปลารวมทั้งเนื้อที่ทอดไว้ เคี่ยวไปด้วยกัน กะพอเนื้อเปื่อย ใส่มัน หอมใหญ่ แต่งรสให้มีเค็ม เปรี้ยว หวาน
ผักอื่นที่จะใส่ด้วยกันได้คือ หัวผักกาดขาว ลูกบัว สับปะรส ถั่วลิสง ลูกกระวาน ใบกระวาน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 11 เมื่อ 09 ก.ย. 11, 16:04
|
|
พระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์(ม.ร.ว. ถัด สนิทวงศ์) เขียนไว้ว่า ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปไทรโยค และได้ไปในขบวนเรือเครื่องต้น
ซึ่งหม่อมเจ้าอำพัน สนิทวงศ์ น้าของท่านเป็นผู้บัญชาการ การเชิญเครื่องต้นไปส่งที่เรือพระที่นั่งนั้น หม่อมเจ้าหญิงอำพัน ฯ เชิญไปเอง
ถ้าวันไหนไม่ไปก็ให้คุณถัดเชิญไปบ้าง คุณถัดชอบศึกษาวิชาเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ เมื่อไปส่งเครื่องต้นก็มักรอฟังกระแสพระราชวิจารณ์เรื่อง
เครื่องต้นเสมอ เพราะพระองค์ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในศิลปการปรุงอาหารเป็นอย่างดี เมื่อเชิญไปถึง
พอทรงทราบนามเครื่องต้นว่าเป็นอะไร ก็ทรงพระราชวิจารณ์ว่า สิ่งนี้กินร้อนสิ่งนั้นกินเย็นได้ รสอะไรขึ้นหน้าและตามหลังจึงอร่อย
เมื่อคุณถัดเป็นเด็ก หม่อมแย้ม สนิทวงศ์คุณยายทำเครื่องต้นส่งเข้าไปในพระราชวังเสมอ ท่านเคยได้ยินพระราชวิจารณ์บ่อย ๆ ว่า
หม่อมแย้มทำอ้ายนั่นอร่อย อ้ายนี่อร่อย ที่ทราบว่าโปรดมากที่สุดคือด้วงโสนผัดกับกุ้งและหมู( ประวัติพระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์
สำนักพิมพ์บรรณกิจ ๒๕๒๕ เล่มละ ๑๔ บาท หน้า ๒๒ - ๒๓)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 12 เมื่อ 09 ก.ย. 11, 16:23
|
|
คุณหญิงสีหศักดิ์สนิทวงศ์(ติ๊) นั้นเป็นธิดาของ ขุนโภคาสมบัติ(เอม) และ นางโภคาสมบัติ(จั่น)
พี่สาวคนโตคือ นางสุนทรภักดี(ทรัพย์ ธนโกเศส)
เมื่อรดน้ำแต่งงานนั้น เจ้านายผู้ใหญ่ที่คุณถัดได้ไปกราบทูลเชิญเสด็จ คือเสด็จ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กรมพระสมมฤตอมรพันธ์
กรมขุนพิทยลาภพฤติธาดา กรมพระจันทบุรีนฤนาถ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
ต่อมาได้ปลูกบ้านที่ของคุณติ๊ที่หลังวัดสังเวช
ท่านทั้งสองมีลูกชายหญิง ๗ คน
คุณต่อเป็นลูกคนที่ ๕
คุณติ๊นั้นเป็นลูกรักของมารดา หนังสือไทยอ่านออกเขียนได้ แต่ได้รับการอบรมหนักทางการเรือน
ต่อมาคุณติ๊ก็สนใจเอาใจใส่ในการปรุงอาหารคาวหวานจนชำนาญ ธิดาของท่านก็ทำกับข้าวเก่งแทบทุกคน
มีผู้ร่วมสมัยเล่าให้ดิฉันฟังอย่างปลาบปลื้มว่า หลานยายของคุณติ๊คนหนึ่ง ละเลงขนมเบื้องชิ้นน้อยๆอร่อยเหลือใจ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
changnoi
อสุรผัด

ตอบ: 16
|
ความคิดเห็นที่ 13 เมื่อ 17 ส.ค. 12, 17:28
|
|
สูตรมัสมั่น น่าทำมากกก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Baitoeyhom
อสุรผัด

ตอบ: 2
|
ความคิดเห็นที่ 14 เมื่อ 17 ส.ค. 12, 23:08
|
|
สวัสดีค่ะ หนูห่างเรือนไทยไปนาน ทำวิทยานิพนธ์จนหัวฟู พอกลับเข้ามาอีกที ลิมกุญแจเข้าเรือนซะแล้ว
หนูเคยทานแกงมัสหมั่นที่ปีนัง รสชาติเหมือนเมืองไทยจนแยกไม่ออก เพื่อนแขกอินตะละเดียก็เคยทำให้ทานค่ะ แต่คงหนักมือไปหน่อย ฉุนเครื่องเทศมาก แต่แกงแขกหน้าตาและรสชาติเหมือนไทยทีเดียว
ไม่ทราบว่าน้ำพริกแกงมัสหมั่น และพะเเนง อันเดียวกันหรือเปล่าคะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|