เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5678 จาก "เลือดสุพรรณ" ถึง "คู่กรรม"
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 02 ก.ย. 11, 15:44

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติแห่งเรือนไทยทุกท่านครับ

   เมื่อสองวันก่อน เว็ปไซต์ google พาผมเข้าสู่กระดานสนทนาของเว็ปสกุลไทยครับ ไปพบกระทู้หนึ่งเกี่ยวกับความประทับใจที่ผู้อ่านมีต่อบทประพันธ์เรื่อง “คู่กรรม” ของคุณหญิงวิมล สิริไพบูลย์ (ทมยันตี) สมาชิกท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า “คู่กรรม” มีบางส่วนคล้าย “เลือดสุพรรณ” ของท่านหลวงวิจิตรวาทการ ทำให้ผมนึกได้ถึงความหลัง เมื่อครั้งละครคู่กรรมทางช่องเจ็ดสีกำลังดัง ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งท่านฟังรายการวิทยุ ครอบจักรวาล ท่านเล่าให้ฟังว่า หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ก็เคยปรารภทำนองนี้เช่นกัน

   โดยเหตุที่ผมรู้จักกับ “เลือดสุพรรณ” น้อยอย่างยิ่ง จึงจำโครงเรื่องได้เพียงสั้นนิดเดียวครับ นั่นคือ พระเอก (ดูเหมือนชื่อมังราย) ลูกชายนายทัพพม่าคนหนึ่ง มาหลงรักสาวไทยนาม “ดวงจันทร์” สาวเจ้าเริ่มต้นชังน้ำหน้าฝ่ายหนุ่มอย่างสาหัส ในฐานะ ชนชาติศัตรูแต่ด้วยความดีของเขา ดวงจันทร์จึงปลงใจรัก กาลต่อมา มังรายตัดสินใจปล่อยครอบครัวของสาวผู้พิศวาสกับทั้งเชลยไทยหนีพ้นทัณฑ์ทรมานทารุณของพม่าชนชาติเดียวกับตนเพราะมนุษยธรรมอันมีอยู่ในดวงจิต เขาถูกประหารชีวิตตามกฎอายาศึก แม้ดวงจันทร์แทบดวงใจสลาย หาก ครั้นสำนึกถึงหน้าที่ที่พึงปฏิบัติมอบรักต่อแผ่นดินเหนือรักสิ่งอื่นใด เธอก็เข้าร่วมกับชาวสุพรรณต่อสู้ขับไล่ไพรีจนตัวตาย เท่าที่ผมพอจะนึกออกมีเพียงนี้ หากผิดพลาดประการใด ขอท่านผู้ชื่นชอบ หรือมีข้อมูลเรื่อง “เลือดสุพรรณ” โปรดเมตตาแก้ไขแต่งเติมให้ด้วยเถิดครับ

   นับแต่คู่กรรมพิมพ์ลงเป็นตอนๆในนิตยสาร และพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๒ ตราบจนปัจจุบัน ไม่มีใครปฏิเสธถึงความอำมตะ เร็วๆนี้เอง   เมื่อสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยสรุปผลสำรวจหนังสือหนึ่งร้อยเล่มในดวงใจนักเขียน/หนึ่งร้อยเล่มในดวงใจนักอ่าน “คู่กรรม” อยู่อันดับ ๙ “โกโบริ” กับ “อังสุมาลิน” ผนึกแน่นในความทรงจำของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกรุ่น ก็แล้ว “มังราย” กับ “ดวงจันทร์” เล่า เขากับเธอหายไปหนใด เด็กๆรุ่นใหม่จะเคยได้ยินนามคนทั้งคู่หรือเปล่าหนอ

   ความคำนึงทั้งหลายแหล่ของผม นำมาสู่การตั้งกระทู้นี้ขึ้นครับ ท่านคิดว่า มีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ “คู่กรรม” (ดูเหมือนจะ) ยืนยงคงทนกว่า “เลือดสุพรรณ” ขอท่านโปรดร่วมอภิปรายเพื่อแจกจ่ายวิทยาทานให้ผมคนปัญญาเขลาด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 03 ก.ย. 11, 09:48

เรียนคุณชูพงค์ที่นับถือ

สิ่งแรกที่ต้องมาอันดับแรกในยุคปัจจุบันคือ "กระแส" คือ การโฆษณาและประสัมพันธ์ให้ผู้รับไม่ว่าจะเป็น สิ่งพิพม์ทั้งหลาย, โทรทัศน์ และโฆษณา หากต้องให้ "สินค้า" นั้นตรึงใจไปนาน ๆ ก็ต้องคัดเลือก "ดาราขวัญใจ" มาทำการแสดงในบทภาพยนต์และจะได้โหมกระแสอีกทอดหนึ่ง

โครงเรื่องระหว่างเลือดสุพรรณ กับ คู่กรรม มีโครงสร้างหลักคือ "ความรักระหว่างสงคราม"

๑. สงครามระหว่างสยาม-พม่า ในบทบาทของผู้รุกราน เข่นฆ่า และผู้พ่ายแพ้ ต่อต้าน
๒. สงครามมหาเอเซียบูรพา ไทย - ญี่ปุ่น ผู้รุกรานในฐานะการให้เป็นแผ่นดินทางผ่าน และการต่อต้าน
๓. ความรักที่เกิดขึ้นในเลือดสุพรรณ คือ การเสียสละเพื่อคนรัก แต่ในเรื่องคู่กรรม ความรักคือ การเห็นอกเห็นใจและเข้าถึงความเป็นแม่ลูกอ่อนที่สูญเสียผู้นำไป ซึ่งให้เกิดคำถามว่า ลูกน้อยและแม่จะดำเนินชีวิตออกมาอย่างไรในภายหน้า
๔. เรื่องคู่กรรม และ เลือดสุพรรณ มีการเกลียดชังกัน งอนง้อกัน แต่คู่กรรมขัดเกลาตัวละครได้นุ่นนวลกว่า โดยให้ทั้งคู่ค่อย ๆ ต่อยอดความสัมพันธ์ระหว่างกัน มีการแต่งงาน และการลาจากกัน
๕. สงครามทำให้พรากทั้งคู่ออกจากกันเหมือนกัน แต่ เลือดสุพรรณเกิดจากน้ำมือของฝ่ายเดียวกันคือกฎเกณฑ์ แต่คู่กรรมนั้นพรากกันด้วยโดนระเบิดจากบุคคลที่สามกระทำ ทำให้เนื้อหาดูไม่โหดร้ายเกินไปที่ทั้งคู่จะมาฆ่ากันเอง หรือหากไม่ตายด้วยระเบิดก็ต้องกระทำการเอามีดคว้านท้องตนเองซึ่งเป็นธรรมเนียมการแพ้สงครามของญี่ปุ่น
๖. สงครามสยาม-พม่าเมื่อคราวเสียกรุง กับ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ระเบิดลงที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย ความรู้สึกว่าเหตุการณ์ที่สองจะใกล้ตัวคนไทยมากกว่า เรื่องเหตุการณ์สถานที่อยู่ในความทรงจำไม่มากก็น้อย ไม่เหมือนสงครามเมื่อพม่าบุกเข้ามา มโนภาพสถานที่ไม่ใคร่ออก ทำให้แรงจูงใจด้อยลง
๗. ความโรแมนติคของคู่กรรม มีมากกว่า เลือดสุพรรณ เช่น พระเอกกล่าวถึงเรื่องหิ่งห้อย ว่าเป็นวิญญาณที่กลับมาเกิดอีก และเมื่อตนตายแล้วจะไปรอนางเองที่ทางช้างเผือก ช่างโรแมนติกมาก
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 03 ก.ย. 11, 11:05

ในความเห็นของหนูดีดี นะคะ  ยิงฟันยิ้ม
ปัจจัยที่ทำให้ “คู่กรรม” ได้รับความนิยม มากกว่า “เลือดสุพรรณ”
- คู่กรรม มีความร่วมสมัยมากกว่า เลือดสุพรรณ ค่ะ เลือดสุพรรณ ย้อนยุคไปมาก ผู้คนเลยไม่ "อิน" เท่าคู่กรรม
- บทพูด ในเรื่องคู่กรรม เข้าใจง่าย สมจริงและเป็นธรรมชาติมากกว่า บทพูดในเรื่องเลือดสุพรรณ
- การนำบทประพันธ์มาทำเป็น หนัง ละคร ผู้แสดงมีส่วนอย่างมาก ในการทำให้ผู้คนสนใจติดตามชม
คู่กรรม มีผู้แสดงในระดับโด่งดัง เช่น ป๋าเบิร์ด-ธงชัย ซึ่งผู้คนรู้จักเป็นที่สนใจของแฟนนานุแฟนทุกระดับ แม้ว่า น้องกวาง-กมลชนก จะเป็นนักแสดงหน้าใหม่ แต่แสดงได้ สมบทบาทมากๆ ประทับใจคนดู (โดยเฉพาะหนูดีดี...)
- การสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ซึ่งเข้าถึงผู้ชมได้ ทุกบ้านเรือน ทุกระดับ ทุกชนชั้น คู่กรรม ได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์มากครั้งกว่า เลือดสุพรรณ
- เลือดสุพรรณ มีความตั้งอกตั้งใจ(ยัดเยียด)ที่จะปลุกใจให้รักชาติมากเกินไป (ตามความตั้งใจของจอมพลป. พิบูลสงคราม ที่ให้ หลวงวิจิตรวาทการ ประพันธ์เรื่องนี้ขึ้นมา)  ในขณะที่ คู่กรรม ค่อยๆ สอดแทรก ปูพื้น สร้างเรื่องราวได้หลากหลายอารมณ์ มากกว่า


: ภาพประกอบ
ภาพบนเป็นโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง คู่กรรม นำแสดงโดย ธงชัย แมคอินไตย์ และ กมลชนก โกมลฐิติ
ภาพล่างเป็นโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง เลือดสุพรรณ นำแสดงโดย ไพโรจน์ สังวริบุตร และลลนา สุลาวัลย์



บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 03 ก.ย. 11, 13:31

ขอบพระคุณคุณหนุ่มสยามและคุณดีดีเป็นอย่างยิ่งครับ สำหรับทัศนะอันมีค่า

   ผมยอมรับด้วยความนับถือครับ ว่า ทุกอักขระใน “คู่กรรม” นั้น ละเมียดละไมจริงๆ รายละเอียดต่างๆอันสอดร้อยเกี่ยวประสานกัน ท่านผู้ประพันธ์อธิบายชัด ชัดแม้แต่ความรู้สึกขัดแย้ง อารมณ์ผวนผันของตัวละครแต่ละตัว ทุกวันนี้ ผมก็ยังใช้คู่กรรมเป็นหนึ่งในแบบเรียนเรื่องการประกอบสร้างงานด้านวรรณศิลป์ (นวนิยาย) ครับ

   จะเป็นไปได้ไหมครับว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ “เลือดสุพรรณ” ดูด้อยรัศมีกว่า “คู่กรรม” เพราะผลลัพธ์ของสงครามสองยุคที่แตกต่างกัน ครั้งพม่าบุกไทยหนโน้น เขาเผากรุงศรีอยุธยาของเราเสียปี้ป่น ความเจ็บนี้ยังตราตรึงใจคนไทยส่วนมากมิรู้วาย ฉะนั้น ถึงอาจสงสารมังรายบ้าง ก็มิอาจหักกลบลบหนี้ความพยาบาทอันยังกรุ่นๆแฝงฝังคั่งจิตได้ง่ายๆ ในขณะสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นปราชัย คนไทยหลายคนยังทันเห็นภาพฝ่ายสัมพันธมิตรกระทำทารุณต่อญี่ปุ่นในฐานะผู้แพ้ โดยพื้นฐานจิตใจคนไทยมักให้อภัยเสมอ (ถ้าหากเหตุการณ์ หรือบุคคลในเหตุการณ์นั้นมิสร้างความชอกช้ำขีดสุดจริงๆ) จึงถือว่ากรณีญี่ปุ่นนั่น หยวนๆน่ะ ผมเสนอเพิ่มเติมดั่งนี้ หากไม่เข้าท่าประการใดต้องกราบขออภัยทุกท่านไว้ด้วยครับ
 
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 03 ก.ย. 11, 13:44

เรียนคุณชูพงค์


อีกประการหนึ่งคือ ความละเมียดละมัยของการงอนกันระหว่างฝ่ายชาย และ หญิง ในเรื่องคู่กรรม จากการชิงชังค่อย ๆ ก่อเป็นความรักและความเห็นใจ ซึ่งเมื่อแต่งงานกันแล้วสถานภาพของนางเอกนั้น จะอยู่ในบทบาทใดระหว่างความรัก ประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทย เพื่อนฝ่ายใต้ดิน เหล่านี้ล้วนช่วยผลักดันให้โครงเรื่องมีอรรถรสกว่า แถมยังเริ่มตั้งครรภ์อีกด้วย ทำให้เรื่องราวมีหลายแบบครับ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 03 ก.ย. 11, 17:35

ยกมือเห็นด้วยกับคุณหนุ่มสยามครับ ตอนผมอ่านคู่กรรม ก็จับได้ถึงการกดข่มอารมณ์ของอังสุมาลินอย่างหนักหน่วง ตอนหญิงสาวตัดสินใจพุ่งตัวลงจากบันไดเรือนหวังกำจัดลูกในท้องเพื่อทำลายหัวใจโกโบริ ผมหละกลัวใจเธอจริงๆ ทำไปได้

   เอาเถอะน่า ถึง “เลือดสุพรรณ” อาจไม่จับใจคนเท่า “คู่กรรม” แต่คุณหลวงวิจิตรวาทการก็สามารถสร้างสำนวนทำนอง “เลือดสุพรรณต้องมาด้วยกัน ไปด้วยกัน” หรือ “เรามันเลือดสุพรรณ มาด้วยกันไปด้วยกันอยู่แล้ว” ได้สำเร็จผ่านบทเพลงอันดังสนั่นบันลือ ว่าแต่ว่า “เลือดสุพรรณ” คุณหลวงท่านเขียนเป็นนวนิยายก่อนแล้วแปลงเป็นบทละครทีหลัง หรือทำเป็นบทละครทีเดียวเลยครับ ปัจจุบันยังพอหาลายลักษณ์อักษรเป็นองค์พยานของงานชิ้นนี้ได้หรือไม่ ผมขอความรู้จากทุกๆท่านด้วยครับ
 
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.036 วินาที กับ 19 คำสั่ง