เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 75794 คุณท้าวศรีสัจจา หรือเจ้าคุณประตูดิน
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 31 ส.ค. 11, 22:03

ในช่วงเวลาเช้าตรู่ของทุกวันนี้ ผมมีภาระกิจพิเศษถือเสมือนหนึ่งหน้าที่ที่จะต้องถวายกตเวฑิตา ในช่วงที่มีพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล พระราชทานพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท นอกจากวันใดมีเรื่องจำเป็นอย่างอื่น หรือต้องออกต่างจังหวัดเท่านั้น ผมจึงจะงด

การเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยมีโอกาสกระทำมาก่อน แม้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทนั้น เคยเข้าไปหลายครั้งแล้วต่างกรรมต่างวาระ แต่ก็ไม่ใช่ในส่วนที่ผมได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในคราวนี้
ในวันแรกนั้น เจ้าหน้าที่ได้เดินนำผมขึ้นไปทางมุขกระสันอันเป็นอาคารเชื่อมต่อพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านทิศใต้กับพระที่นั่งพิมานรัตยา เมื่อเข้าไปในห้องโถงก็สะดุดตากับรูปปั้นนูนต่ำของสตรีต่างศักดิ์สามคนที่ผนังอยู่ใต้ซุ้มบันไดสำคํญ  หลังจากผ่านห้องนั้นเข้าไปสู่องค์พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว จึงทราบว่าบันใดดังกล่าวเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปยังพระบัญชรบุษบกมาลา ซึ่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นที่เสด็จออกให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเข้าเฝ้า

ความสนใจของผมจึงข้องอยู่กับรูปปั้นดังกล่าว รูปสตรีที่นั่งอยู่บนตั่งนั้น ดูจากเครื่องทองที่ตั้งประดับยศฐาบรรดาศักดิ์ตรงหน้าย่อมเข้าใจว่าไม่ใช่ธรรมดา ส่วนหญิงอีกสองนางนั่งกับพื้นเป็นบ่าวคอยรับใช้ แต่กว่าจะได้เอ่ยปากถามก็อีกสองสามวันต่อมา จึงได้ทราบว่าสตรีผู้สูงศักดิ์นั้นชื่อคุณท้าวศรีสัจจา หรือเจ้าคุณประตูดิน ซึ่งผมฟังดูคุ้นๆหูอยู่ แต่เรื่องราวความเป็นมาของท่านนั้น เอาไว้ให้ผู้รู้ท่านอื่นๆเขียนเล่าจะดีกว่า ผมเพียงแต่เอารูปของท่านมาให้ดูกันชัดๆ เพราะรูปที่ค้นได้จากทางอินทรเนตรนั้นมืดมัวเต็มที


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 31 ส.ค. 11, 22:04

จากหนังสือ “พระบรมมหาราชวัง”

เป็นภาพที่ถ่ายด้านตรงๆ ส่วนภาพที่แล้วผมถ่ายในมุมเฉียง จึงออกจะเบี้ยวนิดหน่อย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 31 ส.ค. 11, 22:07

เหตุที่ผมถ่ายภาพตรงๆไม่ได้เพราะเมื่อคิดจะถ่ายและเอากล้องไปนั้น เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้เอาโต๊ะทีวีมาตั้งไว้ข้างหน้ารูปปั้นเสียแล้ว และคงจะอยู่อย่างนั้นตลอดงานพระศพ ผมเลยจำเป็นต้องถ่ายไว้ในมุมเฉียงดีกว่าจะไม่ได้ถ่ายมาเลย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 31 ส.ค. 11, 22:09

เพื่อความเข้าใจอันดี

ในภาพแสดงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งพิมานรัตยาที่เชื่อมต่อกันด้วยอาคารมุขกระสัน

พระที่นั่งพิมานรัตยานี้คุณวิกี้อรรถาธิบายไว้ว่า

พระที่นั่งพิมานรัตยา เคยเป็นพระวิมานที่บรรทมของพระมหากษัตริย์ในโอกาสที่เสด็จมาประทับยังหมู่มหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับเป็นเวลา 1 ปี ในคราวบูรณะหมู่พระมหามณเฑียร

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นที่ชุมนุมมหาสมาคมสำหรับ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบริพารฝ่ายในเข้ารับพระราชทานอิสริยยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และยังเป็นที่สรงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ก็โปรดเกล้าฯให้สรงพระบรมศพ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยานี้ ในรัชกาลปัจจุบัน ยังได้ใช้เป็นที่สรงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และล่าสุดได้ใช้สรงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 31 ส.ค. 11, 22:11

ภาพจากหนังสือพระบรมมหาราชวัง

พระที่นั่งพิมานรัตยา(หลัง)และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท(หน้า) ที่เชื่อมต่อกันด้วยอาคารที่เห็นบันไดขึ้น เรียกว่ามุขกระสัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 31 ส.ค. 11, 22:12

ประตูเข้าสู่ห้องโถงของมุขกระสัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 31 ส.ค. 11, 22:13

ภายในห้องโถง  ประตูภายในด้านขวาของกระไดขึ้นสู่พระบัญชรบุษบกมาลา จะเปิดเมื่อมีการเสด็จพระราชดำเนิน ประตูด้านซ้ายเปิดให้ผู้อื่นเข้าสู่องค์พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 31 ส.ค. 11, 22:14

ภาพจากหนังสือพระบรมมหาราชวัง

พระบัญชรบุษบกมาลาในมุขด้านทิศใต้ของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ใช้เป็นที่เสด็จออกให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเข้าเฝ้าในครั้งรัชกาลที่๔


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 31 ส.ค. 11, 22:26

ขอบพระคุณครับ อ.NAVARAT.C  ที่กรุณานำภาพท้าวศรีสัจจา (มี) มาฝาก รูปปั้นปูนนูนต่ำงามมากครับ สีสวยสดดี

แต่ลักษณะการปั้นปูนแบบนูนต่ำมีมาแต่สมัยใดหนอ ? ทำไมไม่ใช้แกะสลัก แกะหิน แต่ใช้การปั้นปูน

ขอแนบภาพที่ผมมีอยู่แบบงาม ๆ ให้แทนคำขอบคุณครับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 31 ส.ค. 11, 22:27

คุณท้าวศรีสัจจา หรือเจ้าคุณประตูดินคือใคร มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมจึงมีรูปปั้นของท่านไว้ในพระราชฐานภายในอันสำคัญเช่นนี้ คงจะมีท่านผู้รู้มาร่วมเผื่อแผ่ข้อมูลของท่านกันต่อไป

ในช่วงนี้ผมขอจบด้วยภาพประตูดินในพระบรมมหาราชวัง

สตรีที่นั่งร้อยพวงมาลัยอยู่หน้าประตู คงจะเป็นทวารบาลในยุคนี้ เธอทำหน้าดุน่าดูในขณะที่ห้ามผมถ่ายรูปเข้าไปข้างใน ผมจึงต้องออกมาถ่ายในระยะไกล
สงสัยจะนึกว่าผมเป็นพวกเจ้าชู้ประตูดิน มาส่องกล้องเลียบๆมองๆใครแถวนั้น


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 31 ส.ค. 11, 22:32

ตำแหน่งวงกลม คือ บริเวณรอยต่อระหว่างพระที่นั่งที่ตั้งของภาพนูนต่ำ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 31 ส.ค. 11, 22:36

คลังภาพของคุณหนุ่มสยามวิเศษยอดเยี่ยม แถมเรียกปุ๊บมาปั๊บ

คำถามของคุณถ้าถามผม ก็ขอสารภาพว่าไม่ทราบ ขอให้ท่านอื่นตอบ

ส่วนผมขอถามบ้าง
บ่าวของคุณท้าว กำลังส่งอะไรให้คุณท้าว ดูเป็นท่อนไม้หรือม้วนกระดาษอย่างใดอย่างหนึ่ง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 31 ส.ค. 11, 22:45

ต้องรบกวนขอภาพชัด ๆ บริเวณวัตถุนั้นอีกครั้งนะครับผม

จากสิ่งที่สังเกตุได้หลายอย่างคือ

๑. พบอาการสูงวัย หย่อนคล้อย แสดงว่ามีอายุพอสมควร

๒. การนุ่งผ้าจีบโจง (หลังเท้าเป็นแพผ้าสวยงาม)

๓. ท่านนั่งบนตั่งไม้ที่ปูลายผ้าอย่างสวยงาม

๔. ทรงผม เรียบร้อยอย่างที่สุด

๕. สตรีอวบอ้วน หน้าอิ่มเอิบมาก

๖. ลักษณะการวาดภาพผ้าม่านย้อย และห่วงห้อย แบบลักษณะอย่างจีน พบในจิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ ๓ - ๔
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 31 ส.ค. 11, 22:52

คุณท้าวศรีสัจจา หรือเจ้าคุณประตูดินคือใคร มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมจึงมีรูปปั้นของท่านไว้ในพระราชฐานภายในอันสำคัญเช่นนี้ คงจะมีท่านผู้รู้มาร่วมเผื่อแผ่ข้อมูลของท่านกันต่อไป

จุลลดา ภักดีภูมินทร์เล่าไว้ในนิตยสารสกุลไทย

ท้าวศรีสัจจา (มิ) ประวัติค่อนข้างเลือนราง ด้วยท่านผู้นี้มิได้เป็นเจ้าจอมหรือเจ้าจอมมารดามาก่อน

ทว่าเป็นที่รู้และเล่ากันว่า ท้าวศรีสัจจา (มิ) ผู้นี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดปรานและไว้วางพระราชหฤทัยมาก ฝ่ายท้าวศรีสัจจาก็ถวายความจงรักภักดีในพระองค์ ไม่ว่าจะเสด็จบรรทมพระวิมานพระที่นั่งองค์ใด ท้าวศรีสัจจาจะต้องไปนอนเฝ้าอยู่หน้าพระทวาร พร้อมด้วยโขลนอีกสองคน โดยเฉพาะเมื่อเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นที่ทราบกันทั่วๆไปถึงความรักความภักดีนี้

เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดฯให้ปั้นรูปท้าวศรีสัจจา (มิ) กับโขลนสองนางเป็นอนุสรณ์ไว้ใต้ซุ้มริมผนังมุขกระสันด้านเหนือระหว่างบันไดที่ขึ้นสู่พระที่นั่งดุสิตด้านใต้ เป็นอนุสรณ์ถึงท้าวศรีสัจจา ผู้นี้

สันนิษฐานกันว่า ท้าวศรีสัจจา (มิ) เห็นจะเป็นคนเดียวกันกับท้าวศรีสัจจา (ลิ้ม) ที่ปรากฏชื่ออยู่ในราชินิกุล รัชกาลที่ ๓

ด้วยเหตุผลว่า ได้เป็นท้าวศรีสัจจาในรัชกาลที่ ๓ ประการหนึ่ง และผู้ที่จะใกล้ชิดพระองค์จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง น่าจะเป็นพระญาติพระวงศ์มากกว่าคนอื่นๆ ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่งอันเป็นประการสำคัญ คือท้าวศรีสัจจาซี่งในหนังสือราชินิกุล ร.๓ จดไว้ว่าชื่อ ‘ลิ้ม’ นั้น เป็นบุตรีของพระนมรอด พระนมรอดเป็นน้องสาวสุดท้องของ พระชนนีเพ็ง พูดง่ายๆว่าเป็นน้าของสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระพันปีหลวงของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เมื่อสมเด็จพระศรีสุลาลัย ประสูติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พระนมรอด แม้จะมีศักดิ์เป็นยายน้อยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทว่าคงจะยังสาว จึงเพิ่งคลอดบุตรีคนที่ ๒ คือ ท้าวศรีสัจจา (ลิ้ม) พระนมรอดจึงได้เป็นพระนมถวายน้ำนมแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯด้วย ท้าวศรีสัจจา (ลิ้ม) จึงเป็นทั้งพระญาติ และเป็นทั้งผู้ดื่มนมร่วมเต้าในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ

ทั้งหมดนี้ดูสมเหตุสมผลเสียเหลือเกิน ที่ท้าวศรีสัจจาที่ว่าชื่อเดิม ‘มิ’ นั้น แท้จริงก็คือท้าวศรีสัจจาคนเดียวกันกับที่หนังสือราชินิกุล ร.๓ จดไว้ว่า ‘ลิ้ม’ นั่นเอง

เรื่องชื่อผิดชื่อเพี้ยนของคนโบราณ ซึ่งผู้ฟังผู้จด เล่ากันจดกันต่อๆมานั้นมีอยู่เสมอ โดยเฉพาะหนังสือราชินิกุล ร.๓ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ ผู้ทรงรวบรวบและทรงพระนิพนธ์ ก็ทรงรับว่าอาจมีคลาดเคลื่อนบ้าง  เพราะทรงฟังจากคำบอกเล่าของคนเก่าๆสืบต่อๆกันมา

แต่ตามความเห็นส่วนตัวของผู้เล่า เห็นว่า ‘มิ’ น่าจะถูกต้องกว่า ‘ลิ้ม’ เพราะพระนมรอด ท่านเป็นลูกสาวแขก (พระยาราชวังสัน) ส่วนสามีของท่านคือพระยาศรีสรราช ก็ไม่ปรากฏว่ามีเชื้อสายจีน ‘ลิ้ม’ ฟังดูเป็นจีนๆ ชื่อ ‘มิ’ น่าจะสมกับเทือกเถาเหล่ากอของพระนมรอดมากกว่า

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 01 ก.ย. 11, 04:56

ท้าวศรีสัจจา (มิ) มีฉายาเรียกกันว่า "เจ้าคุณประตูดิน"  เพราะที่นั่งเป็นประจำของท่านคือ  ตรงประตูดินข้างภายใน คอยดูแลคนเข้าออก เป็นที่เกรงขามของบรรดานางใน

มีเนื้อร้องเพลงเต่าเห่เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ เอ่ยถึงท้าวศรีสัจจา (มิ) ว่า

เย็นเอยเย็นย่ำ
จะค่ำลงแล้วอยู่รอนรอน
สาวน้อยเจ้าค่อยเดินจร
ไปเก็บดอกแก้วเล่นเย็นเย็น

ที่เกยเราเคยเห็น
เป็นพวงเป็นพู่ดูน่าชม

บ้างเก็บได้บ้างทัดหู
บ้างเชิดบ้างชูบ้างเชยบ้างชม

บ้างเก็บได้ใส่ผ้าห่ม
บ้างเดินบ้างชมเล่นเย็นเย็นใจ

โขลนคนหนึ่งจึงร้องห้าม
ที่พวงงามงามอย่าเด็ดเอาไป

ว่าแล้วหาฟังไม่
จะไปเรียนเจ้าคุณประตูดิน


 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.045 วินาที กับ 19 คำสั่ง