เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7]
  พิมพ์  
อ่าน: 32398 ประวัติศาสตร์ กับ ทรัพยากร
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 04 ต.ค. 11, 21:01

ขอแก้ไขคำผิดในบรรทัดที่สามจากล่างของที่ผมเขียนไปว่า เส้นแวงที่ 11น. เป็นเส้นรุ้งที่ 11น.ครับ

ขอต่อเรื่องของเส้นรุ้งนี้เพื่อเป็นกระสัยเล็กน้อยครับ

ท่านทั้งหลายคงทราบว่ามีกองบินอยู่ที่ประจวบฯ คือ กองบินที่ 5
กองบินนี้ตั้งขึ้นแต่ พ.ศ.2465 ในรัชสมัย ร.6 ในยุคแรกๆที่กองทัพไทยมีเครื่องบิน เรียกว่ากองบินใหญ่ที่ 1 ประจวบคีรีขันธ์ (กองบินใหญ่ที่ 2 ดอนเมือง และกองบินใหญ่ที่ 3 นครราชสีมา) น่าสนใจนะครับ ว่าทำไมต้องเป็นที่ประจวบคีรีขันธ์ แถมยังเป็นกองบินอันดับแรกอีกด้วย

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 04 ต.ค. 11, 22:40

จากประจวบคีรีขันธ์ ถ้าลากเส้นตามแนวเส้นรุ้งที่ ๑๑ องศาเหนือไปทางทิศตะวันออกจะพบแผ่นดินอีกแห่งหนึ่งนามว่า ปัจจันตคิรีเขตร

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการเมื่อวันอังคาร เดือน ๘ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีเถาะ สัปตศก (พ.ศ. ๒๓๙๘)  ความว่า

“...ขุนสารประเสริฐรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า เมืองบางนางรมย์นั้นโปรดเกล้าฯให้เรียกเมืองประจวบคีรีขันธ์ กับที่เกาะกงนั้น โปรดเกล้าฯให้เรียกว่า เมืองปัจจันตคิรีเขตร ให้กรมวัง หมายไปยังกรมพระกลาโหม กรมท่า กรมพระศุภรัต สัสดีซ้ายขวา ให้เรียกชื่อเมืองทั้ง ๒ ให้ถูกต้องตามรับสั่ง”

เมืองปัจจันตคิรีเขตรหรือเกาะกงนี้ในสมัยนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้และของป่า อาทิ ยางต้นรงค์ทอง และแก่นไม้กฤษณา โดยเฉพาะยางต้นรงค์ทอง นับเป็นสินค้าออกที่ทำรายได้ให้กับไทยอย่างมาก จนถึงขนาดมีตำแหน่ง “นายกองส่วยรงค์”

เป็นเมืองของไทยแท้ ๆ ที่ฝรั่งเศสยึดไปและไม่คืน

 เศร้า

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 05 ต.ค. 11, 12:34

สองเมืองบนเส้นรุ้งเดียวกัน



 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 05 ต.ค. 11, 21:29

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติตลอดช่วงประวัติศาสตร์และต่อเนื่องมาถึงในยุคปัจจุบัน ที่ประเทศใดจะห้ามการเป็นเจ้าของและการทำธุรกิจบางอย่าง
แต่เมื่อ ร.6 ทรงมีนโยบายไม่ให้เกินเส้นรุ้งที่ 11น. แถมยังทรงให้ตั้งกองบินที่บริเวณเส้นรุ้งนี้ ที่ริมทะเลที่อ่าวมะนาวอีกด้วย เป็นกองบินลำดับแรก อยู่ไกลมากจากเมืองหลวงมาก และการส่งกำลังบำรุงก็เรียกได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ลำบาก ทำให้ผมเห็นว่าเรื่องนี้ก็ต้องมีนัยสำคัญอื่นๆผนวกอยู่ด้วย

ผมวิเคราะห์เอาเองด้วยสภาพการณ์ต่างๆ ประกอบกับพระอัจฉริยภาพความสามารถของ ร.6 ซึ่งประมวลได้ดังนี้
    เมื่อสมัย ร.4 ฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลเหนือเวียดนามบางส่วน แล้วเริ่มอ้างสิทธิเหนือดินแดนลาวและเขมร เริ่มเจรจากับไทยเรื่องเขตแดนไทยกับเวียดนาม
    เมื่อเข้าสมัย ร.5 ฝรั่งเศสสามารถครอบครองเวียดนามได้อย่างสิ้นเชิงและอ้างสิทธิเหนือเขมรอย่างเต็มที่ ซึ่งในที่สุดไทยก็เสียดินแดนเขมร รวมทั้งเกาะกง แต่สุดท้ายเกาะกูดก็ยังเป็นของไทย
    เส้นขนานนี้ เมื่อลากไปทางตะวันออกก็จะตัดผ่านอ่าวไทย ผ่านแผ่นดินบริเวณเกาะกูดและเกาะกง (เมืองที่ ร.4 ทรงโปรดให้นามใหม่ว่าเมืองปัจจันตคีรีเขตร ตามที่คุณเพ็ญชมพูได้กรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติม)
    เส้นรุ้งนี้ปิดอ่าวไทยตอนบนทั้งอ่าว (เรียกลักษณะนี้ว่าเป็นน่านน้ำภายในตามกฏหมายทะเลในปัจจุบัน แต่รู้สึกว่าจะลดพื้นที่ลงเป็นเฉพาะในหัว ก.ไก่) ซึ่ง ร.6 ได้ทรงทำให้ไปไกลได้มากที่สุดระหว่างแผ่นดินถึงแผ่นดินในเขตอาณา ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศว่าทะเลส่วนนี้อยู่ในความครองครองของไทย เป็นเขตอาณาของไทย (ส่วนเรื่องของทะเลอาณาเขตหรือ Territorial water นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือพื้นน้ำในครอบครองห่างจากฝั่งออกไป ) ซึ่งผมเห็นว่า ยุทธนาวีที่เกาะช้างตามที่คุณ NAVARAT. C ได้ตั้งกระทู้นั้น จึงได้เกิดขึ้น ณ.บริเวณนั้น ซึ่งเราสามารถอ้างความชอบธรรมในทุกกรณีได้อย่างเต็มที่ 
    อาณาเขตของประเทศไทยบนแผ่นดินบริเวณเส้นรุ้งนี้ เป็นส่วนที่แคบที่สุดและติดกับพม่าซึ่งอังกฤษครอบครอง ซึ่งมีช่องทางเดินแต่โบราณ (ด่านสิงขร) เชื่อมระหว่างฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน ไปยังเมืองท่ามะริด ที่ปากแม่น้ำตะนาวศร๊ในเขตของพม่า การยาตราทัพเข้าเขตไทยทำได้ง่ายมากและสามารถตัดขาดประเทศ ไทยได้ง่ายอีกด้วย
   ทะเลที่ประจวบนี้มีลักษณะกายภาพและสมุทรศาสตร์ที่จำเพาะ ทั้งในเชิงของ Landmark กระแสน้ำ และน้ำขึ้นน้ำลง เป็นบริเวณจุดแปรเปลี่ยนของมวลกระแสน้ำในอ่าวไทย (Gyre) ซึ่งหมุนไปมาสอดคล้องกับทิศทางของลมมรสุม (มรสุมตะวันออกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ) ถ้าจำไม่ผิด ทะเลบริเวณนี้มีน้ำขึ้นน้ำลงน้อยมาก (น้ำตาย) จึงเป็นที่ตั้งของจุดวัดระดับน้ำทะเลอ้างอิง (Mean sea level) ที่เกาะหลัก ซึ่งใช้เป็นระดับอ้างอิงฐานของระดับความสูงของพื้นแผ่นดินทั้งประเทศไทย (Elevation above sea level) เรื่องทางสมุทรศาสตร์นี้ผมไม่แม่นนักนะครับ ลืมไปมากแล้ว

ด้วยพระปรีชาสามารถของ ร.6 ทำให้ทรงได้อ่านขาดว่า จ.ประจวบคีรีขันธ์นั้นเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งอีกจุดหนึ่งของไทย ทั้งในด้านความมั่นคง ด้านการทหาร ด้านการปกป้องเศรษฐกิจ และด้านการปกป้องทรัพยากรของประเทศทั้งบนแผ่นดินและในทะเล เรียกว่าเป็นทั้งกุศโลบายและวิเทโศบายที่ลึกซึ้งมาก ได้ผลประโยชน์ในทุกๆด้านจริงๆ
เรื่องที่สามารถพิสูจน์ได้ ก็คือ หากไม่เป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีสำคัญจริงๆ ทำไมญี่ปุ่นจึงเลือกที่จะยกพลขึ้นฝั่งที่บริเวณนี้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (เพื่อเข้าพม่า) ทั้งๆที่มีอ่าวอีกมากมายตลอดชายฝั่งของไทยที่ไม่มีหรือเกือบจะไม่มีกองทหารต่อต้าน ทำไมจะต้องเลือกยกพลขึ้นมาในบริเวณที่ต้องมีการสู้รบทำให้เกิดความสูญเสีย

   
   
     
           
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 06 ต.ค. 11, 00:01

แผนที่สังเขป  แสดงการยกพลขึ้นบกของกองทัพที่ ๑๕   ของญี่ปุ่น
ขึ้นบกที่  ประจวบคีรีขันธ์    ชุมพร    สุราษฏร์ธานี   และนครศรีธรรมราช

การขึ้นบกที่ประจวบคีรีขันธ์ มีกำลัง  ๑  กรมทหารราบ   และ  ๑  กองพันทหารช่าง   โดยเรือลำเลียง Johoru Maru  ไม่มีเรือคุ้มกัน
แบ่งกำลังเป็น  ๓  ส่วน    เข้ายึดที่หมายต่างๆ  คือ

       ส่วนที่  ๑    ใช้กำลัง  ๑  กองร้อย (+)    ยกพลขึ้นบกทางตอนเหนือ  เข้ายึดศาลากลางจังหวัด   และศูนย์การสื่อสาร และคมนาคมที่เข้าสู่ตัวเมือง

       ส่วนที่  ๒    ใช้กำลัง  ๑  กองร้อย (+)    ยกพลขึ้นบกบริเวณอ่าวประจวบ    ทางด้านเหนือของกองบินน้อยที่  ๕

       ส่วนที่  ๓    ใช้กำลัง  ๑  กองร้อย (+)    ยกพลขึ้นบกบริเวณอ่าวมะนาว     ทางด้านใต้ของกองบินน้อยที่  ๕

๓๓ ชั่วโมง แห่งการสู้รบ ฝ่ายไทยสูญเสียวีรชน ๓๒ คน ในขณะที่ฝ่ายผู้รุกรานสูญเสีย ๒๑๗ คน ...

"๗ นาฬิกาของวันที่ ๘ ธันวาคม จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้เดินทางถึงยังที่ประชุมและรับฟังรายงานเหตุการณ์จากทุกฝ่าย นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอให้พิจารณาทางได้ทางเสีย จึงได้ข้อสรุปว่าเราคงไม่มีทางต่อสู้แต่อย่างใด นายกรัฐมนตรีจึงประกาศว่า ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะต้าน หลังจากหารือรัฐบาลไทยจึงได้ลงนาม ในสัญญายินยอมให้ญี่ปุ่นผ่านแดน โดยตกลงรับเงื่อนไขที่กองทัพญี่ปุ่นเสนอ หนึ่งในสามข้อคือ ยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทย เพื่อไปโจมตีทหารอังกฤษในพม่าและมลายู"

 ๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔  วันวีรไทย มีคนไทยกี่คนที่รู้ถึงความหมาย ... เศร้า  



บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 06 ต.ค. 11, 21:09

คุณดีดีได้กรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ขอบพระคุณครับ

น่าสนใจนะครับ ที่ญี่ปุ่นเลือกยกพลขึ้นบกบริเวณที่เป็นเมือง แล้วก็ไม่สูงเกินเส้นขนานที่ 11น. ผมคิดว่าในเชิงของการทหารแล้ว ท่านเสธฯทหารทั้งหลายคงเข้าใจและทราบดีถึงเหตุผลต่างๆ ตัวผมเองไม่ทราบ แต่คิดและเดาเอาว่าด้วยพื้นฐานของความเป็นมิตรกันมายาวนาน ญี่ปุ่นคงเห็นว่าไม่อยากจะสร้างปัญหาให้รุงรังมากขึ้น จึงเพียงพยายามตัดขาดส่วนด้ามขวานของไทย เพื่อให้เป็นเขตอิสระอย่างเต็มที่ในการใช้เป็นพื้นที่ระดมพล เป็นฐานรุกเข้ายึดมะลายูและฐานเข้ายึดพม่าตอนล่าง

วกเข้าเรื่องต่อนะครับ

ผมเห็นว่า การดำเนินการของ ร.6 นี้เป็นปรัชญาล้ำยุคของการยุทธการโดยทั่วไป ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะต้องดำเนินการ คือ การประเมินศักยภาพความคุ้มค่าของทรัพยากรที่จะลงทุนครอบครองหรือละเลิกไม่สนใจ
ตัวอย่าง ก็คือ กรณีเมื่อสหรัฐฯคิดจะถอนออกจากลาว ก็ได้มีการเร่งสำรวจประเมินศักยภาพของแหล่งทรัพยากรก่อนการตัดสินใจถอน และอีกกรณีหนึ่ง เมื่อเขมรล่ม ลาวล่ม และเวียดนามเข้าไปมีอิิทธิพลเหนือสองประเทศนี้ สิ่งแรกๆที่กระทำก็คือ การตะลุยสำรวจทำแผนที่ธรณีวิทยาและแหล่งแร่ต่างๆในลาวและเขมรตามหลังแนวรบ (ผมได้มีโอกาสสนทนาสั้นๆกับบุคคลที่เป็นหัวหน้าทีมสำรวจซึ่งต่อมาได้เป็นผู้นำสูงสุด และบุคคลในทีมซึ่งต่อมาได้เป็นระดับรัฐมนตรี)
 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 06 ต.ค. 11, 23:02

และอีกกรณีหนึ่ง เมื่อเขมรล่ม ลาวล่ม และเวียดนามเข้าไปมีอิิทธิพลเหนือสองประเทศนี้ สิ่งแรกๆที่กระทำก็คือ การตะลุยสำรวจทำแผนที่ธรณีวิทยาและแหล่งแร่ต่างๆในลาวและเขมรตามหลังแนวรบ (ผมได้มีโอกาสสนทนาสั้นๆกับบุคคลที่เป็นหัวหน้าทีมสำรวจซึ่งต่อมาได้เป็นผู้นำสูงสุด และบุคคลในทีมซึ่งต่อมาได้เป็นระดับรัฐมนตรี)

สมัยฝรั่งเศสเมาเป็นเจ้าเขาครองสองประเทศนี้ เห็นบ่นอยู่ว่าขาดทุนย่อยยับ

เมื่อฝรั่งเศสได้ญวนเป็นอาณานิคมแล้ว ก็ข่มขู่ว่าลาวและเขมรเป็นเมืองขึ้นของญวน หาเรื่องเข้ายึดดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงทั้งหมดที่สยามครอบครองอยู่เดิม อ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของลาวและเขมรด้วย ผมคงไม่ต้องย้อนเรื่องไปถึงนะครับ ฝรั่งเศสเรียกประเทศใหม่ที่ยึดมาเป็นอาณานิคมของตนรวมกันว่าอินโดจีน แบ่งการปกครองออกโดยนิตินัยเป็นลาว เขมรและญวนดังเดิมที่ยังยอมให้มีกษัตริย์เก่าเป็นพระประมุขแบบหุ่นเชิด แต่โดยพฤตินัยแล้วฝรั่งเศสจะสั่งเอาอย่างไรก็ย่อมได้ ในอาณานิคมนี้ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยจะมีทรัพยากรให้กอบโกยมากนัก ฝรั่งเศสจึงใช้เป็นที่เนรเทศข้าราชการที่ไม่พึงปรารถนามาทำงาน เหมือนเมืองไทยสมัยก่อนที่เอะอะก็สั่งย้ายคนที่ควรจะไล่ออกไปอยู่แม่ฮ่องสอน คนพวกนี้ถ้าไม่อยู่ไปวันๆก็เป็นนักฉวยโอกาส หาทางกอบโกยให้ตุงกระเป๋าก่อนจะหมดเทอมแล้วย้ายกลับบ้าน ดังนั้นการได้อาณานิคมนี้มา รัฐบาลฝรั่งเศสดีดยี่ต็อกแล้วไม่ค่อยจะคุ้มเท่าไร เงินที่ลงทุนไปกับการก่อสร้างอาคารสถานที่ราชการต่างๆก็หมดไปเยอะ และยังต้องจ่ายงบประมาณประจำปีเป็นค่าบริหารจัดการกับเงินเดือนข้าราชการที่ว่าห่วยๆนั้นอีก ไม่สมดุลย์กับรายรับ ปิดงบทีไรติดลบทุกปี ไม่เหมือนกับอังกฤษที่ได้สินแร่ดีบุกมหาศาลในมลายู สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำ สิงคโปร์ก็เป็นทำเลเหมาะสำหรับการเป็นเมืองท่าสำคัญของภูมิภาค พม่ามีไม้สัก ข้าวและทับทิม แม้ในญวนแม้จะยังค่อยยังชั่วหน่อยเพราะผลิตข้าวได้มาก แต่ในเขมรและลาว ฝรั่งเศสขาดทุนย่อยยับ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 07 ต.ค. 11, 21:37

ตามที่คุณเพ็ญชมพู ได้อ้างจากคุณ NAVARAT.C นั้น

ผมกลับคิดว่า ฝรั่งเศสไม่ใช่ไม่รู้หรอกครับว่ามีทรัพยากรอะไรบ้างมากมายอยู่ในเขมรและลาว ฝรั่งเศสได้ทำการสำรวจมากมายด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากๆในขณะนั้น แล้วก็ยังมีการทำประโยชน์ (Exploit) อีกด้วย ผมเคยเห็นแผนที่ทรัพยากรแหล่งแร่ของเวียดนามและลาวที่ทำการสำรวจโดยฝรั่งเศสเมื่อครั้งไปประชุมที่เวียดนาม ซึ่งระบุเลยว่าดำเนินการโดยฝรั่งเศส ผมยังตกใจเลยว่าใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าจริงๆ
ผมคิดว่าคนฝรั่งเศสมีลักษณะนิสัยพื้นฐานเป็นพวก White collar, Footloose, Supremacy และ Racism ไม่นิยมงานสกปรก เอาแต่รูปแบบ นิยมการสั่งการ จึงไม่ค่อยจะได้ใจของคนท้องถิ่น ทำให้การดำเนินการใดๆไม่ต่อยจะประสบความสำเร็จในเชิงของการค้าและในเชิงของผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลก     
ในลาว ฝรั่งเศสพบและทำเหมืองแร่ดีบุกที่บริเวณปากเซ ในเวียดนาม ฝรั่งเศสพบแหล่งถ่านหินใหญ่ระดับโลกที่ฮาลองเบย์ และพบแหล่งแร่มีค่า (หายาก) มากมายบริเวณตอนกลางของประเทศ ในอัฟริกา เช่น Burkina Faso และ Ivory Coast ทั้งสองประเทศในเขตอาณาของฝรั่งเศสนี้ มีทรัพยากรที่มีค่ายิ่งสารพัด แต่ฝรั่งเศสไม่ดำเนินการแสวงประโยชน์อย่างเอาจริงเอาจัง 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 09 ต.ค. 11, 17:43

ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งครับ เรื่องตำแหน่งเส้นรุ้งที่ 11น. ที่ผมเขียนว่าผ่าน จ.ประจวบฯ นั้น

วันนี้ได้ตรวจสอบดูแล้ว ปรากฎว่าเส้นรุ้งที่ 11น. พาดผ่านบริเวณ อ.บางสะพานน้อย ใต้ลงไปอีกมากเลยครับ ส่วนเส้นรุ้งที่พาดผ่านบริเวณ จ.ประจวบฯ นั้น คือเส้นรุ้งที่ 12น. ครับ
ผมได้อ่านพบจริงๆ และจำได้แม่นว่า ไม่อนุญาตให้ต่างชาติทำเหมืองแร่เหนือ จ.ประจวบฯ หรือเส้นรุ้งที่ 11น. ก็เลยอ้างอิงตำแหน่งเส้นรุ้งนี้มาตลอด

เดาเอาว่าน่าจะเป็นการพิมพ์ตัวเลขผิดในเอกสารที่ผมอ่าน

ยอมรับความผิดพลาดครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 09 ต.ค. 11, 19:20

ขอย้อนกลับไปสักหน่อยหนึ่งว่า ในสมัย ร.3 นั้น ไทยได้ส่งออกตะกั่วค่อนข้างมาก แต่ผมยังค้นหาหนังสือศิปวัฒนธรรมที่เล่าเรื่องนี้ยังไม่พบ จึงขอยกเรื่องนี้ไปก่อนครับ

แล้วก็ขอย้อนไปในสมัย ร.5

เมื่อ พ.ศ. 2425 ฝรั่งเศสได้ขอขุดคอคอดกระ แต่ ร.5 ทรงบ่ายเบี่ยง ก็เป็นเรื่องน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งในเชิงของประวัติศาสตร์กับทรัพยากร
 
สมัยนั้นอังกฤษครองและควบคุมเส้นทางการเดินเรือช่องแคบมะลักกา ฝรั่งเศสและอังกฤษไม่ถูกกันอยู่แล้ว ฝรั่งเศสเองก็คงไม่อยากจะใช้อะไรที่อยู่ในครอบครองของอังกฤษ ประกอบกับก่อนหน้านั้น เมื่อ พ.ศ.2336 ฝรั่งเศสได้บันทายมาศ (พื้นที่ส่วนปลายของแหลมญวน) ไปจากไทย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2410 ฝรั่งเศสก็ได้เขมรและอีก 6 เกาะไปจากไทยอีก (ในแผนของฝรั่งเศสคงต้องจะการยึดดินแดนไทยฝั่งขวาของลำน้ำโขงทั้งหมด) จึงไม่น่าแปลกใจว่าฝรั่งเศสจะขอขุดคอคอดกระ เพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงทรัพยากรจากดินแดนที่ฝรั่งเศสยึดครองในฝั่งอ่าวไทยตัดข้ามไปยังฝั่งอันดามัน เป็นการหลีกเลี่ยงความบาดหมางระหว่างมหาอำนาจ และทำให้เส้นทางลำเลียงทรัพยากรของตนไม่ถูกขัดขวางเมื่อมีเหตุอันไม่พึงปราถนา นอกจากนั้นแล้วยังทำให้สามารถมีอิทธิพลอย่างเด็ดขาดเหนือเส้นทางลำเลียงทรัพยากรของตน

ผมเห็นว่าการที่ฝรั่งเศสไม่สามารถดำเนินการเรื่องของการขุดคอคอดกระต่อไปได้นี้ เป็นส่วนหนึ่งของความไม่พอใจอย่างยิ่งที่ฝังอยู่ลึกๆในจิตใจของฝรั่งเศส เนื่องจากไปขัดขวางและเป็นอุปสรรคกับแผนที่ฝรั่งเศสวางไว้อยู่เบื้องหลัง และเป็นส่วนเร่งให้ฝรั่งเศสดำเนินการแกล้งและตีรวนประเทศไทยเพื่อให้ได้มาซึ่งดินแดนซึ่งลาวและอื่นๆ ยกแผง....พ.ศ.2431 เสียเมืองไลและเชียงค้อ..พ.ศ.2436 เสียลาว..พ.ศ.2446 เสียดินแดนฝั่งขวาของลำน้ำโขง และ พ.ศ.2449 เสียเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ

หากคิดในทางที่ไม่เป็นบวก การขุคคอคอดกระก็เหมือนกับการตัดประเทศไทยออกเป็นสองส่วน ส่วนล่างใต้คลองนั้น หากอังกฤษอยากจะเข้าครองก็เอาไป ส่วนเหนือนั้นหากโอกาสเป็นไปได้ ฝรั่งเศสก็จะเข้าครองครอง ดีที่ว่าอังกฤษกับฝรั่งเศสได้ตกลงกันในปี พ.ศ.2438 เห็นพ้องให้ไทยเป็นรัฐขั้นกลางระหว่างสองมหาอำนาจ

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง