เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 32321 ประวัติศาสตร์ กับ ทรัพยากร
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 13 ก.ย. 11, 09:05

คัดจากเล่ม ๕ แผ่น ๓๓ วัน อาทิตย ที่ ๑ เดือน มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ราคาแผ่นละ ๓๒ อัฐ

เรื่องธาตุวิไสย

ทอง

ทองที่เขาทำรูปภัณฑ์เครื่องประดับต่าง ๆ  คือ แหวน กำไล เปนต้น  แลทองนี้ คนทั้งปวงทุก ๆ ประเทศ เขา
ชอบใจนับถือหยากได้นัก  ไม่ว่าผู้ดีหรือคนยาก ผู้ใหญ่ เด็กชนิดไร  เหนเข้าแล้วก็มีความรักหยากได้  เพราะ
ว่าทองนี้เปนธาตุบริสุทธอย่างหนึ่ง  เขานับถือว่าเปนของงาม ของสอาด แลขายซื้อกันราคาแพงนัก  ด้วย
เปนของหายาก  ในแดนเมืองเรานี้  มีบ่อเกิดอยู่สองแห่ง  คือที่เมืองกำเนิดนพคุณแห่งหนึ่ง  เมืองกระบิน
บินทรบุรี แห่งหนึ่ง  สีของทองมีเปนหลายชนิด  สีเหลืองอย่างหนึ่ง  สีขาวอย่างหนึ่ง  แต่สีเหลืองนั้น จัดออก
เปนสามอย่างตามกำหนดน้ำหนัก  คือสีเหลืองสุกมากเรียกว่า ทองเนื้อแปด  ที่เนื้ออ่อน ๆ ลงมาก็เรียกว่า
เนื้อเจ็ด  เนื้อหก  เนื้อสี่  ทองสีขาว เรียกว่า ทองคำขาวทองเปนธาตุอย่างหนึ่ง  เกิดขึ้นด้วยกำลังแร่ที่เกิด
ในแผ่นดิน  แร่ทองคำที่เกิดในแผ่นดินนั้น  ทำให้แผ่นดินคุมกันแขงเปนก้อนคล้ายหิน  คนพวกที่เขา
รู้วิธีถลุงแร่  เขาขุดดินแร่มาให้มาก ๆ  โขลกด้วยครกเหล็กแล้วสุมไฟ  เนื้อทองที่เกิดอยู่กับแร่  ก็
ละลายออกมาเปนเนื้อทอง  ที่บางแห่งก็เกิดขึ้นเปนเนื้อทองก่อนเท่าเมล็ดทรายบ้าง  เท่าเมล็ดงาบ้าง  เท่า
เมล็ดเข้าเม่าบ้าง  พวกช่างร่อนเขาร่อนมาคุมให้เปนก้อนมากแล้ว  ขายซื้อกันตามราคาพิกัดน้ำหนัก

ทองมีคุณอาจจะให้เปนประโยชน์  ใช้การได้มากนัก  คนเราได้ใช้ทองคำ  เปนเครื่องประดับตัวเราให้ดูงาม
ขึ้น  แลทองคำนั้นช่างเขาแผ่เปนทองคำเปลว  ใช้ปิดตามห้องตึก บานประตู บานน่าต่าง  หรือตู้โต๊ะ เปนต้น 
ก็ดูงามดี  เพราะว่าทองคำเปนแร่สอาดกว่าแร่อย่างอื่น ๆ


 

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 13 ก.ย. 11, 09:07

เงิน

เงินเปนธาตุแร่บริสุทธิอย่างหนึ่ง  คู่กันกับธาตุแร่ทองคำ  แลเปนของวิเศษ คนเราทุกประเทศนับถือใช้
สอยเงินด้วยกันทั้งนั้น  คนที่มีเงินเขาเก็บเงินไว้ได้มากแล้ว  เขาจะคิดซื้อหาก่อสร้าง  หรือทำการ
อะไร ๆ ก็ได้ดังใจ  คนที่ไม่มีเงินแล้ว  ถึงจะคิดทำอะไรก็ไม่ได้สมดังความคิด  เพราะฉนั้น  คนมีปัญญา
เขาจึ่งหาเงินเก็บเงินไว้  ถ้ามีเงินแล้วจะต้องการทอง  เอาเงินไปแลกเปลี่ยนเขามาก็ได้

เงินมีธาตุเปนสองชนิด เรียกว่า เงินน้ำหกชนิดหนึ่ง  เรียกว่า เงินน้ำแปดชนิดหนึ่ง  เงินน้ำหกนั้น 
เมื่อจะทุบ จะตีเนื้อแขงกระด้างกว่าเงินน้ำแปด  เงินน้ำแปดนั้นสีขาวผองงามดี  เมื่อจะทุบตีทำเปนรูปภัณฑ์
สิ่งใดก็อ่อนนิ่มไม่แขงกระด้าง

ที่เกิดของเงินเปนธาตุแร่  เกิดในแผ่นดินเหมือนกันกับทองคำ  พวกช่างร่อนเขาเก็บเอาก้อนแร่นั้น
มาสุมไฟละลายออกเปนเนื้อเงินแล้ว  หลอมทำให้เปนก้อนเปนลิ่มต่าง ๆ

รูปเงินที่คนเราได้ใช้สอยกันมีสองอย่าง  คือช่างเขาคิดทำเปนรูปหลายชนิด  เงินที่ใช้กันมาแต่ก่อน
นั้น  รูปกลม ๆ กำหนดหนักเพียงบาทหนึ่ง  สลึงหนึ่ง  เฟื้องหนึ่ง  เปนสามอย่าง  ครั้นมาเดี๋ยวนี้เงินที่ใช้สอย
นั้น  ทำเปนรูปแบบเหมือนอีแปะ  เรียกว่า เงินเหรียญ แต่กำหนดหนักบาทหนึ่ง  สลึงหนึ่ง เฟื้องหนึ่งเหมือนกัน

เงินนี้เปนของชอบใจกันนัก  ทั้งเด็กแลผู้ใหญ่  เหมือนเด็กๆ ถ้ามีเงินอยู่กับตัวแล้วก็คิดว่า  เงินเปน
ของดีมาก  เราจะซื้อบุหรี่สูบหรือขนมกินก็ได้  เพราะฉนั้น  คนเราต้องคิดหาอุบายวิชาความรู้  เพื่อจะก่อ
สร้างหาเงินมาไว้สำหรับตัว  ด้วยวิชาความรู้อุบายของตัว  จึ่งจะมีความสบาย

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 13 ก.ย. 11, 09:09

ทองแดง

ธาตุแร่ทองแดงเขาเอามาใช้ทำการได้ต่าง ๆ  คือ  เขาแผ่แผ่นบางทำเปนรูปหม้อหุงเข้า  หรือหม้อต้มน้ำ
ร้อนกินก็ได้  เขาทำเปนแผ่นบางมาหุ้มเรือกำปั่นใหญ่ ๆ ก็ได้  ที่เขาทำแผ่นสี่เหลี่ยมสำหรับห่อแกน
ตะกรุดก็มี  เขาทำรูปภัณฑ์ได้หลายอย่างมากนัก

ทองแดงเขาทำเปนรูปแบนกลม ตีตราทั้งสองข้างเหมือนเงินเหรียญใหญ่บ้างเล็กบ้าง  ตั้งอัตราใช้กันตาม
ใหญ่ ตามเล็ก  คือใช้สองอันเปนเฟื้อง  สี่อันเปนเฟื้อง แปดอันเปนเฟื้อง  สิบหกอันเปนเฟื้อง  ใช้ซื้อขนม
เข้าแกงกินก็ได้ ถ้าเราจะไปเที่ยวเล่นไม่มีเงินเหรียญ  เรามีแต่อัฏทองแดงไปก็ใช้ซื้ออะไร ๆ ได้ต่างเงิน
เหรียญเหมือนกัน

คนที่เขาเปนช่างทำรูปภัณฑ์  เขาเอาเนื้อทองแดงมาหลอมขับไล่ให้เนื้อบริสุทธดีแล้ว  จึ่งเอาธาตุแร่
ทองคำมาประสมกัน  หลอมเลียงให้เนื้อกินกันสนิท  เรียกว่า  นาก  เพราะธาตุแร่ทั้งสองเจือประสมกัน  แล
เขาทำเปนเครื่องรูปภัณฑ์ของใช้  คือ หีบหมาก แลกาน้ำเย็น เปนต้น  ด้วยธาตุแร่ทองแดงเขาไล่ฟอกเนื้อ
 

บริสุทธแล้ว  ไม่ใคร่จะมีสนิมมาก  แลเจือธาตุแร่ทองคำลงอีกห้ามสนิมไม่ให้มีขึ้นได้ดูเนื้อก็สุกงามดี
ที่เกิดของทองแดงเปนธาตุแร่อย่างหนึ่ง  เกิดในแผ่นดินเหมือนกันกับเงินแลทองคำ  เหมือนห้วยหรือ
ลำบึง บ่อ  ถ้ามีธาตุแร่ทองแดงเกิดขึ้นแล้ว  น้ำในลำบึง บ่อ นั้น ก็มักจะดุร้าย  คนเราจะลงไปอาบหรือ
ลูบตัว ๆ ก็คันเปนผื่นไป   ถ้าตักมาดื่มกินรสน้ำ นั้น ก็เปรี้ยวขม เปนไปต่าง ๆ  เพราะธาตุแร่ทองแดง
มีสนิมคาวมาก

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 13 ก.ย. 11, 09:10

ทองเหลือง

รูปของเครื่องใช้ที่เขาทำด้วยทองเหลือง   คนเราได้ใช้สอยมีอยู่หลายอย่างมากนัก  คือเขาทำเปนรูป  กระ
โถน  ขันน้ำ  กาน้ำ  เปนต้น  ทองเหลืองเขาแผ่ให้บาง  ใช้เลี่ยมกา  หรือถ้วยเครื่องลายครามก็ได้  ถึงรูปฆ้อง
หรือระฆังใหญ่  ที่เขาหล่อทำไว้สำหรับตีสัญญาในการต่าง ๆ ก็ต้องใช้ทำด้วยทองเหลือง เพราะทองเหลือง
มีเสียงเพราะกว่าทองแดง  ด้วยทองเหลืองเปนทองเขาประสมธาตุแร่สามอย่าง  รวมกันเสียงจึ่งเปนกระ
แสดีกว่าทองแดง

แรกที่จะเกิดเปนทองเหลืองขึ้นนั้น  คนเปนช่างเขาได้ศึกษาวิธีส่วนประสมธาตุ  เมื่อจะทำให้เปนทอง
เหลือง  เขาคิดเอาธาตุแร่ทองแดง  แร่สังกะสี  แร่ตะกั่ว เกรียบมาประสมกันหลอมเลียงให้กินกันแล้ว ธาตุ
ทองแดงได้ระอายเชื้อสังกะสี ตะกั่วเกรียบ  ก็กลายสีเปนเหลืองไป  จึ่งจัดชื่อเรียกกันว่า ทองเหลือง

คนทั้งปวงเขาชอบใช้ทองเหลือง  ทำเปนสิ่งเครื่องใช้รูปขัน พานโตก ถาดทั้งปวง  เพราะทองเหลืองเปน
สีงามขึ้นกว่าทองแดงที่ปรกติอยู่ตามธาตุเดิม  ถึงว่าเราจะทิ้งไว้นานของเครื่องใช้นั้น เปนสนิมมัว  หมองไป 
เวลาที่จะใช้สอยเราขัดสีเสียแล้ว  ของเหล่านั้นผ่องใส สุกปลั่งงามดี
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 13 ก.ย. 11, 09:11

ตะกั่ว

ธาตุแร่ตะกั่วเปนธาตุแร่อ่อนไฟ  หลอมด้วยไฟแต่พอร้อนจัด  ก็ละลายเหลวเปนน้ำออกง่าย  แล
คนที่เปนช่าง  เขาเอามาทำเปนรูปของเครื่องใช้ก็ได้  รูปของเครื่องใช้  ที่เขาทำนั้น ก็หลายอย่างมากนัก  คือ
เขาทำเปนถ้ำชาแลกาน้ำร้อนน้ำเย็น  เปนต้น หรือที่เขาทำเปนห่วงลูกแห หรือลูกปืนก็ได้  แลขายซื้อกัน
ตามน้ำหนักพิกัดราคาของตะกั่ว

ธาตุแร่ตะกั่วมีเปนหลายชนิด  ตามที่เขาได้กำหนด เรียกกัน  คือเรียกว่าตะกั่วเกรียบอย่างหนึ่ง  ตะกั่ว
นมอย่างหนึ่ง  ตะกั่วดำอย่างหนึ่ง  ตะกั่วเกรียบนั้น เนื้อแขงกระด้างกว่าตะกั่วนม ตะกั่วดำ  สีก็ขาวมาก 
แลหลอมละลายเร็วกว่าตะกั่วทั้งสอง

ที่เกิดของตะกั่วก็เกิดขึ้นแต่ธาตุดิน  คือธาตุดินเดิมเกิดขึ้นเปนก้อนแร่ก่อน  คนช่างร่อนเขาขุดขน
มาสุมไฟจับเนื้อเปนตะกั่ว  แร่ตะกั่วนี้เปนธาตุอย่างหนึ่ง  ต่ำเนื้อเลวกว่าทองแดง  เพราะมีสนิมมาก
นัก  แต่ชนิดตะกั่วนมอย่างหนึ่ง  ตะกั่วดำที่เขาเรียกว่าชินนั้นอย่างหนึ่ง  ชั่งได้น้ำหนักมากเสมอธาตุทอง
คำ  ธาตุแร่ตะกั่วมีประโยชน์  คนเราใช้สอยทำสิ่งของใช้ได้ต่าง ๆ 

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 13 ก.ย. 11, 09:16

สนใจเรื่องการถลุงเหล็กและโลหะอย่างอื่นค่ะ.   สมัยโบราณเขาทำกันอย่างไร.   เครื่องไม้เครื่องมือเป็นแบบไหน

การถลุงเหล็ก

การที่ถลุงแร่เหล็กนี้ก็ใช้ทุบโขลกให้ตัวแร่แตกแต่ชั้นนอก หรือแตกละเอียดไปหมดทั้งนั้นก็ตาม
แล้วจึ่งรวมลงในเบ้ายกขึ้นตั้งบนเตาสูปไป การที่ปั้นเบ้าสำหรับหลอมแร่ที่ถลุงแล้วนี้ ก็ทำเหมือนเบ้าที่
หลอมทอง แต่ทำให้ใหญ่ สูงประมาณศอกหนึ่งปากกว้างประมาณคืบหนึ่ง ตัวเบ้าหนาประมาณนิ้วหนึ่ง
มีสัณฐานเหมือนเบ้าหลอมทอง ทำด้วยดินเหนียวผสมด้วยแกลบเผาเหมือนทำเบ้าหลอมทอง การที่
 ตั้งเตาก็ทำเหมือนเตาตีเหล็ก เมื่อเขายกเบ้าขึ้นตั้งบนเตาไฟแล้วก็ตั้งสูบไป เสียงสูบดังสนั่นไปตามที่ๆ
เขาตั้งเตาหลอมเหล็ก ด้วยในตำบลที่เขาตั้งเตาหลอมเหล็กนั้น มีโรงหลายโรงตั้งอยู่เปนหมู่ ๆ ราย
กันทั่วไป คราวที่เขาหลอมเหล็กเปนเวลาเช้าตอนหนึ่งเวลาเย็นตอนหนึ่ง ครั้นจะทำในเวลากลางวันก็เปน
เวลาร้อนมาก ในชั่ววันหนึ่ง ๆ เขาลงมือทำตั้งแต่เวลาตีสิบเอ็ดทุ่มจนถึงเช้าสองโมงหยุด ตั้งแต่เวลาบ่าย
๔ โมงแล้วไปลงมือทำจนถึงเวลา ๒ทุ่มหยุด

การที่หลอมแร่เหล็กนี้เขาสูบไปพักนึ่ง ประมาณชั่วโมงเศษจึ่งเทออกจากเบ้าเดิมเปลี่ยนเบ้าใหม่ ตั้งสูบไปอีกกว่า
จะได้ที่ ในคราวที่สูบพักหนึ่ง ๆ ต้องเปลี่ยนคนสูบเสมอ ๒ คนหรือ ๓ คนจึ่งจะได้ ถ้าจะตั้งสูบไปแต่ผู้เดียว
ในชั่วพักหนึ่งนั้นสูบไปไม่ไหว เพราะสูบที่เขาใช้ในการหลอมแร่เหล็กนี้ เปนสูบใหญ่กว่าสูบที่เขาใช้ตี
เหล็กในสยามนี้ การที่หลอมคราวแรกเขามักหลอมพร้อมกันสองเบ้าในเตาอันเดียว ด้วยประสงค์ว่าถ้า
แร่เหล็กในเบ้าทั้งสองนั้นละลายแล้ว ถึงจะยังไม่สิ้นโทษคือมูลเหล็กก็ตาม เมื่อสูบเต็มที่ในพักหนึ่งแล้ว
จะได้เทรวมลงในเบ้าใหม่เบ้าเดียวพอดี ครั้นเมื่อเขาสูบลอมละลายชั่วพักหนึ่งแล้ว ก็เทรวมเข้าเบ้าใหม่


คราวที่ ๒ ตั้งสูบไปประมาณชั่วเวลาเท่าพักคราวแรกแล้วก็เทออกจากเบ้าที่สองไปเข้าเบ้าที่สาม แล้วยกขึ้นตั้ง
บนเตาไฟสูบไฟอีก ในคราวที่ ๓ นี้เปนคราวที่แร่เหล็กที่หลอมจะสิ้นโทษ แลดูที่ในเบ้าเมื่อกำลังละลายคว้าง
อยู่นั้นประหนึ่งว่าทองคำที่เนื้อสุก เขาเห็นว่าสิ้นโทษคือมูลเหล็กที่พาให้เปราะ แลที่ปนด้วยกรวดทราย
ต่าง ๆ แล้ว ก็เทออกจากเบ้าที่สามลงในรางดิน

เรียกว่ารางดินนั้นคือ เขาขุดแผ่นดินให้เปนรูปเหมือนที่เททอง หรือจะให้เปนรูปอย่างไรก็ตาม แล้วแต่ความประ
สงค์ของเขา แต่ที่รางนั้นต้องขุดไว้ในที่ไม่สู้ไกลนัก แต่เตาเหล็กไปประมาณ ๓ ศอก ครั้นไกลนักก็จะเปนที่ลำบาก
ในคราวที่เอาคีมคีบเบ้าจะไปเท เบ้าที่หลอมแร่เหล็กนี้ที่ปากเบ้ามีลิ้นอยู่ข้างปากที่จะเอียงเทเนื้อเหล็กออก ลิ้นปากเบ้า
นั้นสำหรับจะได้กันเอาฝ้ามูลเหล็กที่ลอยอยู่บนเนื้อเหล็ก ไม่ให้ ไหลปนลงกันเนื้อเหล็กได้ ปากเบ้าข้างที่มีลิ้นนั้นทำให้เพล่
ไว้ แลเจาะให้เปนช่องใต้ลิ้นนั้นประมาณเท่าสองนิ้วเหมือนรูปกรวยตรงออกไปตามปากเบ้าที่ทำเพล่ไว้นั้น เนื้อเหล็ก
ที่เขาเทลงไว้ที่รางดิน นั้นย่อมไหม้ดินควันพลุ่งอยู่นานประมาณเกือบ ๒ ชั่วโมงจึ่งเย็น เมื่อเย็นแล้วเขาก็เก็บรวมกอง
ไว้ตั้งหลอมใหม่ต่อไปกว่าจะสิ้นคราว ในคราวหนึ่ง ๆเตาหนึ่งย่อมได้เนื้อเหล็กเสมอ ๑๐๐ ก้อนขึ้นไป

การที่ขายเนื้อเหล็กที่หลอมแล้วนี้    เขาก็ขายแก่คนที่อยู่ในบ้านเมืองเดียวกันนั้นบ้าง
ขายไปแก่คนที่อยู่ในประเทศที่ใกล้เคียงกัน   เปนต้นว่าเมืองยโสธร         หรือเมืองอุบลราชธานี      ประเทศ
เหล่านี้เปนต้น         ย่อมใช้เหล็กเมืองสุวรรณภูมิทั้งสิ้นผู้ที่ซื้อเอาเนื้อเหล็กไปทั้งก้อน ๆ นั้น        เขาก็เอาไปตีแผ่
ออกทำเปนมีด, พร้า, จอบ, เสียม, ดาบ,ขวาน, เปนต้นสำหรับจะได้ซื้อขายแก่ผู้ที่มีความต้องการ    แลเปนส่วน
ที่จะหาประโยชน์กำไร        ของพวกช่างเหล็กทั้งปวงด้วยแลเหล็กบ่อเมืองสุวรรณภูมินี้       เปนเหล็กไม่สู้ดีทีเดียว
เมื่อทำเปนอาวุธมีมีดเปนต้น         ใช้ไม่สู้ดีเหมือนเหล็กประเทศจีนแลประเทศฝรั่งทั้งปวง          เหล็กบ่อเมือง
สุวรรณภูมินั้น             
เปนเนื้อเหล็กอยู่ข้างจะอ่อนมากเพราะฉนั้นเมื่อช่างเหล็กเขาเอามาตีเปนอาวุธมีมีดเปนต้น
จึงไม่สู้คมถึงคมก็ไม่ทนได้นาน      ต้องอาไศรยชุบบ่อย ๆจึ่งจะเปนการดีได้           ด้วยเหตุนี้เนื้อเหล็กที่บ่อเมือง
สุวรรณภูมิ    จึ่งไม่ค่อยแพร่หลายไป  ในประเทศต่าง ๆผู้ที่ถลุงแร่เหล็กแลหลอมเนื้อเหล็ก            ในปีหนึ่ง ๆ
คราวหนึ่ง ๆ จึ่งมีประโยชน์แต่น้อย        ไม่สมควรแก่ความเหนื่อย   ถึงอย่างนั้นในทุกปีที่ล่วงแล้วมาจนเดี๋ยวนี้
ราษฏรในประเทศนั้น    ก็ยังประกอบการถลุงแร่หลอมเนื้อเหล็กเสมอมาทุกปีมิได้ขาด        ด้วยเปนสิ่งหาผล
ประโยชน์ของเขาส่วนหนึ่ง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 13 ก.ย. 11, 09:35

คัดจากวชิรญาณวิเศษ เล่ม ๘  แผ่นที่ ๒๕  วันพฤหัศบดีที่ ๓๐  เดือน  มีนาคม  รัตนโกสินทร์ศก๒๕ ๑๑๑  ราคาแผ่นละ  ๓๒  อัฐ

เรื่องทำเหมืองดีบุก ต่อแผ่นที่  ๒๔   น่า  ๒๘๑

คัดจากเล่ม ๕ แผ่น ๓๓ วัน อาทิตย ที่ ๑ เดือน มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ราคาแผ่นละ ๓๒ อัฐ
เรื่องธาตุวิไสย

เรื่อง ธาตุวิไสย ขุนประสาสน์อักษรการ กรมศึกษาธิการ แต่งถวายสภานายก

สนใจเรื่องการถลุงเหล็กและโลหะอย่างอื่นค่ะ.   สมัยโบราณเขาทำกันอย่างไร.   เครื่องไม้เครื่องมือเป็นแบบไหน
การถลุงเหล็ก

การทำแร่เหล็ก ต่อแผ่นที่ ๑๑ น่า ๑๒๒
วชิรญาณวิเศษ เล่ม  ๗  แผ่นที่ ๑๒ วันพฤหัศบดีที่ ๗ เดือนมกราคม รัตนโกสินทร์ศก๒๔ ๑๑๐


วชิรญาณวิเศษ เล่ม  ๗  แผ่นที่ ๑๓ วันพฤหัศบดีที่ ๑๔ เดือนมกราคม รัตนโกสินทร์ศก๒๔ ๑๑๐

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 13 ก.ย. 11, 11:27

........เหล็กบ่อเมืองสุวรรณภูมินี้ เปนเหล็กไม่สู้ดีทีเดียว เมื่อทำเปนอาวุธมีมีดเปนต้น  ใช้ไม่สู้ดีเหมือนเหล็กประเทศจีนแลประเทศฝรั่งทั้งปวง เหล็กบ่อเมือง
สุวรรณภูมินั้น......

เมืองสุวรรณภูมิอยู่ที่ใหนครับ ใช่ อ.สุวรรณภูมิของ จ.ร้อยเอ็ด หรือไม่ครับ

แร่เหล็กที่นำมาถลุงเป็นเหล็กได้นั้น มีหลายชนิด ได้แก่ Magnetite, Hematite, Bog ore และ Limonite
แร่เหล็กชั้นดีและเป็นแหล่งใหญ่ ที่ใช้กันอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์ คือ Magnetite เป็นพวกที่เกิดแบบ Banded iron formation พบทั่วไปในยุโรป (สวีเดน เยอรมัน ฯลฯ) พบในอเมริกาเหนือและใต้ จีน อินเดีย ออสเตรเลีย
ไทยเราไม่มีแหล่งแร่เหล็กลักษณะนี้ เรามีแต่แร่ Hematite ซึ่งเป็นแร่ที่มีคุณภาพดีสู้ Magnetite ไม่ได้ เรามีแร่ Limonite ซึ่งคือแร่เหล็กที่มีน้ำอยู่ในเนื้อ (สนิมเหล็ก) เกิดร่วมกับแร่ Hematite และมีแร่ Limonite ที่เข้าไปแทนที่แร่ Pyrite กลายเป็นข้าวตอกพระร่วง

จึงถูกต้องแล้วครับที่บันทึกกล่าวไว้เช่นนั้น

ผมเรียนมาในสาขาวิชาที่มีปรัชญาในการแสวงหาคำอธิบายเรื่องราวในอดีตต่างๆอย่างมีเหตุมีผลว่า "Present is the key to the past" และ "Uniformitarianism" ซึ่งก็คือ เราย้อนรอยอดีตได้ก็ด้วยองค์ความรอบรู้ในปัจจุบัน ซึ่งมิได้หมายความว่าจะต้องมีความถูกต้อง เพียงแต่มีเหตุและผลที่ยอมรับได้ ณ เวลานั้นๆ  ข้อมูลในเรือนไทยทั้งหมด สำหรับผมแล้ว จึงมีความหมายต่อการย้อนอดีตมากๆ ครับ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 14 ก.ย. 11, 19:39

ได้อ่านเรื่องการถลุงแร่ ผนวกกับแหล่งที่มาของแร่แล้ว ทำให้เห็นภาพความอดทนของคนเพื่อให้ได้มาซึ่งโลหะที่ต้องการ

ในเรื่องของการถลุงนั้น ผมเคยเห็นแต่เบ้าถลุงแร่ตะกั่วโบราณ ไม่ทราบอายุ แต่คิดว่าน่าจะเป็นของช่วงอยุธยาต่อเนื่องมาถึงรัตนโกสินทร์ (ได้เคยเล่าไว้ในกระทู้อาณาจักรริวกิว) ได้เห็นแบบพิมพ์ ได้เห็นหลุมเทตะกรัน และได้เห็นท่อ / ปล่องเตาหลอม ในแหล่งที่มีการทำในอดีต เสียดายที่ไม่มีรูปแสดงครับ

เบ้านี้สูงประมาณ 45 ซม. เป็นรูปถ้วยทรงรี ส่วนกว้างของปากเบ้าประมาณ 40 x 30 ซม. ส่วนก้นสอบลง ความหนาของเนื้อเบ้าประมาณ 5 ซม. ทำด้วยดินปั้นขึ้นรูป ท่ออากาศของเตามีรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 5 - 8 ซม. เนื้อหนาประมาณ 5 ซม. เป็นลักษณะของการทำด้วยการเอาดินมาพอกรอบๆลำไม้ไผ่ ส่วนแบบพิมพ์นั้น เอาหินดินดานที่มีหน้าค่อนข้างเรียบมาแล้วเอาสันมีดคว้านจนเป็นเบ้ารูปทรงหมวกกุยเล้ย หินก้อนหนึ่งจะมี 6 - 9 เบ้า เป็นคู่กันสวยงาม มิใช่สักแต่ว่าทำ ตะกรันในหลุมเทนั้นมีรอยพิมพ์ของไม้ที่ใช้เผา ซึ่งก็คือไม้ไผ่ซึ่งให้ความร้อนสูงเพียงพอสำหรับการถลุงแร่ตะกั่ว

ที่เล่ามา ประเด็นอยู่ที่ว่า
เบ้าถลุงเหล็กตามทีี่มีบันทึกไว้นี้ ทำจากดินเหนียวผสมแกลบเผา ซึ่งเมื่อร้อนสุกแล้วก็คืออิฐเผาอย่างหนึ่งนั่นเอง ในขณะที่การถลุงตะกั่วที่เล่ามาแต่แรกนั้น เบ้าทำมาจากดิน (ในบริเวณนั้น) ซึ่งผุพังมาจากหินปูน (Calcium carbonate) ซึ่งมีแมกนีเซียมผสมอยู่ด้วย (Magnesium Carbonate) ซึ่งจะทนความร้อนที่อุณหภูมิสูงได้มากกว่า (การถลุงเอาโลหะตะกั่วนั้นใช้อุณหภูมิตำ่กว่ามาก)
 
แสดงว่า...


     

 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 15 ก.ย. 11, 21:11

ดาบฟ้าฟื้นของขุนแผนนอกจากจะมีส่วนผสมของเหล็กน้ำพี้จากอุตรดิตถ์แล้วยังมีเหล็กของบ่อเมืองกำแพงเพชรเป็นส่วนประกอบด้วย

เอาเหล็กไหลหล่อบ่อพระแสง  
เหล็กกำแพงน้ำพี้ทั้งเหล็กแร่

ทองคำสัมฤทธิ์นากอแจ  
เงินที่แท้ชาติเหล็กทองแดงดง

ข้อมูลจากหนังสือ Description du royaume de Siam, &c, เล่มที่ ๑ โดย de La Loubère กล่าวถึงบ่อแร่เหล็กเมืองกำแพงเพชรไว้ดังนี้


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 15 ก.ย. 11, 21:23

คุณสันต์ ท. โกมลบุตร แปลไว้ว่า

ข้าพเจ้าได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า เมืองกำแพงเพชรนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีบ่อแร่เหล็กกล้าชั้นดี ชาวเมืองนั้นขุดเอามาถลุงทำสาตราวุธตามความนิยมของพวกเขา เช่นดาบ, มีดพก และมีดพร้า ส่วมมีดที่เขาเรียกว่า เหน็บ (Pen) * นั้น ใช้กันทั้งบ้านทั้งเมืองและไม่ถือว่าเป็นสาตราวุธ แม้จะใช้เป็นอาวุธได้เมื่อคราวจำเป็น ใบมีดนั้นกว้าง ๓ หรือ ๔ นิ้ว ยาวราว ๑ ฟุต. พระมหากษัตริย์พระราชทานดาบและมีดพกให้แก่ขุนนาง ขุนนางสยามเหน็บมีดพกไว้ที่เอวเบื้องซ้าย คล้อยมาข้างหน้าเล็กน้อย. ชาวปอรตุเกศเรียกมีดชนิดนี้ว่า คริสต์ (Christ) เป็นคำที่เลือนมาจาก กริช (Crid) ซึ่งชาวสยามใช้พกนั่นเอง.  คำ ๆ นี้ยืมมาจากภาษามลายา เป็นที่นิยมกันตลอดทั่วภาคบูรพทิศ และกริชที่ทำมาจากเมืองอะแจ (Achem) ในเกาะสุมาตรานั้น นับว่าเป็นเยี่ยมกว่าที่อื่่น ๆ.  สำหรับดาบนั้น ตามปกติแล้วทาสผู้หนึ่งจะเชิญนำหน้าเจ้านายของตนไป โดยแบกไว้บนไหล่ขวา ทำนองเดียวกับที่(ทหารของ)เราแบกปืนเล็กยาวไว้บนไหล่ซ้ายฉะนั้น.

* ในต้นฉบับพิมพ์ไว้ว่า Pen ดังนี้ ซึ่งออกเสียงได้ว่าเป็น เพน ผู้แปลได้พยายามค้นหาชื่อมีดที่ใกล้เคียงกับเสียงนี้แล้ว ไม่พบ จึงสงสัยว่าน่าจะเขียนผิดโดยสลับอักษรกลับหน้ากลับหลังกันไป ที่จริงควรจะเป็น Nep มากกว่า เพราะได้สำเนียงตรงกับคำว่า "เหน็บ" เราจะพบคำ ๆ เดียวกันนี้อีกในภาคที่สองของจดหมายเหตุนี้.
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 16 ก.ย. 11, 09:49

"เหน็บ" คงจะเป็นคำที่ถูกต้องแล้วครับ ตามคำบรรยายเกี่ยวกับขนาดของมีด ตรงกับมีดที่นิยมใช้เหน็บพุงที่เราเรียกว่า อีเหน็บ หรือ มีดเหน็บ

คำว่าอีเหน็บเป็นชื่อที่ฝรั่งนักนิยมสะสมมีดในปัจจุบันเรียกชื่อทับศัพท์ไปเลยว่า E -nep แถมยังบรรยายสรรพคุณว่า เป็นลักษณะเฉพาะของมีดที่ไม่เหมือนใคร คือ ตัวมีดมีลักษณะโค้งนิดหน่อย ส่วนหััวใหญ่กว่าโคน ปลายเรียวแหลม ใช้ได้ค่อนข้างจะดีมากกับทุกลักษณะการใช้งาน เช่น ใช้เจาะรูก็ได้ ใช้ฟันก็ได้เพราะมีน้ำหนักที่ส่วนหัวมาก (เหมือนขวาน) ใช้แล่เนื้อก็ได้ ใช้ในการเหลาตอกจักสานก็ได้ ฯลฯ ส่วนคุณลักษณะสำคัญพิเศษ คือ การชุบแข็งนั้น ทำเฉพาะคมมีดด้านหัว ส่วนด้านโคนนั้นไม่ชุบใ้ห้แข็งมากนัก ทำให้มีมีความเป็นสปริงยืดหยุ่นได้ รองรับแรงกระแทกได้ดีเมื่อฟันใช้ฟันของแข็ง

มีดเหน็บนี้ ผมคิดว่าเป็นของคนไทยในภาคกลางโดยเฉพาะ ไม่แน่ใจว่านิยมใช้กันในอีสาณมากน้อยเพียงใด แต่ที่โคราชนั้นนิยมใช้แน่ๆ คนในภาคเหนือจะนิยมใช้มีดรูปทรงอีกลักษณะหนึ่ง คือหัวป้าน ใส่ปลอกหวายแล้วเหน็บเอวด้านหลัง เป็นลักษณะของมีดเพื่อใช้ฟันไม้โดยเฉพาะ

เคยคุยกับกะเหรี่ยงซึ่งเป็นคนเลี้ยงช้าง ควาญช้าง ใช้มีดทรงมีดเหน็บเป็นมีดประจำตัว และเหน็บเอวด้านหลัง ได้ทราบว่า ลักษณะของมีดเหน็บนี้เหมาะมาก เมื่อจะขึ้นคอช้าง ก็จะเอามีดออกมาคาบไว้ เขาบอกว่า หากช้างสะบัดหรือตกจากคอช้าง ก็สามารถจับมีดออกจากปากได้ทันทียกตั้งไว้เพื่อกันช้างเหยียบ ในขณะเดียวกันก็จะปลายแหลมช่วยในการบังคับช้าง (จิกหรือฟันทีหัว) เมื่อช้างพยศ มีดนี้ยังเหมาะสำหรับตัดเถาวัลย์และกิ่งไม้ที่ระรานเมื่อนั่งอยู่บนคอช้างอีกด้วย

น่าสนใจนะครับเกี่ยวกับมีดเหน็บนี้

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 16 ก.ย. 11, 10:03

สำหรับกรณีที่ว่า เมืองกำแพงเพชรมีบ่อเหล็กกล้าชั้นดีนั้น

เดาไม่ออกเลยว่าควรจะอยู่ที่จุดใหน หากจะเดาก็น่าจะมีอยู่บนเส้นทางพรานกระต่าย-สุโขทัย หรือไม่ก็บริเวณเขาหลวงในเขต จ.สุโขทัยในปัจจุบัน ในดานหินศิลาแลงบนเส้นทางพรานกระต่าย-สุโขทัยนั้น อาจจะพบบางบริเวณเป็นจุดที่มีแร่เหล็กปนอยู่ในเนื้อหินมากพอที่จะนำมาถลุงแยกเอาเหล็กออกมาได้ในปริมาณพอควร

ด้านตะวันตกของกำแพงเพ็ชร เส้นทางเดินก็คงไม่หนีไปจากตามคลองสวนหมาก ไปทางน้ำตกคลองลาน จะต่อไปได้ไกลที่สุดก็ถึงเขามอโกจูซึ่งข้ามไปก็จะเป็น อ.อุ้มผาง สภาพเมื่อ พ.ศ. 2513 ยังคงเป็นป่าใหญ่ ป่าดิบทึบ (แต่หลังจากมีนาคม 2513 ก็กลายเป็นป่าโปร่งไปทันทีเนื่องจากการทำไม้) สภาพทางธรณีวิทยาไม่อำนวยให้มีแร่เหล็ก จึงไม่น่าจะมีการทำแร่ใดๆด้านตะวันตกของกำแพงเพชร 
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 16 ก.ย. 11, 10:08

คัดลอกข้อความของ "สันติ อภัยราช" เกี่ยวกับบ่อเหล็ก ที่กำแพงเพชรดังนี้

อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร นอกจากจะมีหินอ่อน ที่ทรงคุณค่า เป็นอุตสาหกรรมและสินค้าสำคัญ ระดับโลกแล้ว อำเภอพรานกระต่าย ยังเป็นแหล่งสำคัญของแร่เหล็กจำนวนมหาศาล อย่างที่คนพรานกระต่าย หรือกำแพงเพชร จำนวนมากที่ไม่เคยเห็นบ่อเหล็ก ที่มีนับร้อยบ่อ ในเนื้อที่ หลายไร่... นอกจากที่เขาแก้วและเขายอดเหล็กแล้ว เราได้พบ บ่อเหล็กในสมัยโบราณ มีการนำเหล็ก จากบ่อเหล็กนี้มาถลุง ตั้งแต่สมัยสุโขทัย นับเป็นภูมิปัญญาที่ยิ่งใหญ่ของอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร
่          ในสมัยที่เราเรียนวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ขุนแผนพระเอกของเรื่องได้หาของวิเศษ 3 สิ่ง คือ ดาบฟ้าฟื้น ม้าสีหมอก และกุมารทอง และได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ดาบฟ้าฟื้นนั้น ได้นำเหล็กจากเมืองกำแพงเพชร ไปตีดาบฟ้าฟื้น ซึ่งเป็นดาบวิเศษ มีอานุภาพมากมาย ..
          ดังนั้นจากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน จึงเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า เหล็กในเมืองกำแพงเพชร จึงเป็นเหล็กที่มีชื่อเสียงมานาน ในเรื่องของเหล็กที่มีคุณภาพ....นำไปสร้างแม้ดาบวิเศษ ...อย่างดาบฟ้าฟื้น
          วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม 2548 นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ถ้ำกระต่ายทอง นายณรงค์ ปักธงชัย ผู้มีอัธยาศัย ที่ดีงาม พร้อมกับคณะของท่าน คือกำนันไกรทอง บดีรัฐ กำนันตำบล ถ้ำกระต่ายทอง นายเสวย ชูศักดิ์ รองนายกองค์การ นายจวน ศรีคเรศ ประธานสภาอบต. นายชอุ่ม ขันศรี รองประธานสภาอบต. และสมาชิกสภาอบต. อีก 4 ท่าน คือนายเสมอ แซ่โค้ว นายนิรันดร์ บดีรัฐ นายวิสุทธิ์ ถาวร นายสนม จันแดง ผู้นำทางในการสำรวจ คือ นายสมนึก พลอาชา ได้ นัดหมายกับ คณะของเรา รายการโทรทัศน์วัฒนธรรม ในการที่จะพาไปชมบ่อเหล็ก สถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร
          นายณรงค์ ปักธงชัย ได้เล่าให้ฟังว่า... แหล่งแร่เหล็ก หรือบ่อเหล็ก ที่หมู่ 8 บ้านขอนทองคำ ตำบลถ้ำกระต่ายทอง ห่างจากอำเภอพรานกระต่ายราว 3 กิโลเมตร ใกล้กับ บ้านทุ่งหนองแดง บ้านชีโกง ริมถนนพระร่วง บ่อเหล็กนี้มีเนื้อที่หลายไร่ ถูกขุดค้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย นำมาสร้างอาวุธและเครื่องมือประกอบมาชีพทางการเกษตร เป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม เลยทีเดียว
          ท่านพาเราลัดเลาะและผ่านป่าละเมาะ เข้าไป ผ่านพืชไร่ที่ชาวบ้านปลูกไว้ ถนนแคบๆที่รถวิ่งได้ทางเดียว หญ้าปกคลุม 2 ข้างทาง บางตอนรถเกือบผ่านไม่ได้ เมื่อไปถึงบ่อเหล็ก เราถึงกับตะลึงที่มีบ่อเหล็ก ขนาดใหญ่จำนวนมาก ขุดติดต่อเรียงรายกันเต็มพื้นที่ บางบ่อกว้างถึง 10 เมตร บางบ่อเป็นบ่อกลม กว้างราว 1 เมตร สภาพเศษเหล็กที่ขุดขึ้นมาจาก บ่อเหล็ก เมื่อนำมากระทบกัน มีเสียงกังวาน แสดงว่ามีเนื้อเหล็กอยู่อย่างมากมายเพียงแต่ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงมาสำรวจเท่านั้น นับว่าน่าเสียดายยิ่ง....
          นายณรงค์ ปักธงชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำกระต่ายทอง ทำพิธี ขมาและขอสำรวจ บ่อเหล็ก จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อเป็นสิริมงคล และไม่เป็นอุปสรรค ในการสำรวจ แต่ละบ่อแต่ละจุดที่ท่านนำไปชมล้วนตื่นตาตื่นใจ ในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเรา ที่ค้นหาแหล่งแร่เหล็กที่ บริเวณบ่อเหล็กและนำไปถลุงได้ อย่างมีคุณภาพ เราลัดเลาะปากบ่อเหล็กลึกเข้าไปประมาณ เกือบ 1000 เมตร พบ บ่อเหล็ก น้อยใหญ่จำนวนมาก พบแร่เหล็กที่ขุดขึ้นมายังมิได้ทำการถลุง อีกจำนวนหนึ่ง มีการนำเหล็กที่ขุดขึ้นมาจากบ่อเหล็ก มาถลุงที่ บ้านเตาแร่ หรือหนองเตาแร่ ซึ่งเสียงเลื่อนและเพี้ยนตามสำเนียงพรานกระต่าย มาเป็นหนองตอแหล.... คุ้มเกินคุ้มสำหรับการเดินทางมาสำรวจบ่อเหล็กในครั้งนี้
          สิ่งที่ควรจะฟื้นฟูได้ ในบริเวณ บ่อเหล็ก นี้คือ ทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของตำบลถ้ำกระต่ายทอง ถ้าจัดภูมิทัศน์ใหม่ จัดให้มีการ สาธิตการขุดแร่เหล็ก มีเตาถลุงเหล็กมีการตีมีด การทำเครื่องมือการเกษตร ในบริเวณที่พบ บ่อเหล็ก จัดเป็นฉาก เชื่อมั่นว่า บริเวณบ่อเหล็กจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าประทับใจมาก และจะเป็น อันซีน กำแพงเพชร ที่ผู้คนหลั่งไหลไปชมไม่แพ้ บ่อน้ำพุร้อนพระร่วงเลยทีเดียว...
          ขอบคุณนายณรงค์ ปักธงชัยและคณะที่พาเราไปชม สถานที่..ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญา อย่าง บ่อเหล็ก นี้ อีกไม่นานเราคงเห็น บ่อเหล็ก ที่ตำบลถ้ำกระต่ายทอง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ....ในกำแพงเพชรเมืองมรดกโลกของเรา......
http://sunti-apairach.com/02/02O.htm
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 16 ก.ย. 11, 12:41

ดาบฟ้าฟื้น อาวุธประจำกายของขุนแผน มีส่วนประสมได้แก่ แร่เหล็กฮีมาไทต์  (Fe2O3)  แมกนีไทต์  (Fe2O4)  เหล็กไหล  เหล็กนำพี้  เหล็กกำแพง  นำมาหลอมรวมกัน  ปรุงน้ำเหล็กด้วยองค์ประกอบของแร่ชนิดต่าง  ๆ  การเร่งไฟและลดไฟตามจังหวะของการตีขึ้นรูป  การชุบแข็ง  การอบอ่อน  การบ่มยืนไฟที่พอเหมาะ  กับการแช่ยาผงไปพร้อม  ๆ  กัน  ทิ้งไว้ในสภาพนี้  ๓  วัน  จึงนำมาตีปรับรูปทรงตามต้องการ  และถูกต้องตามตำรา

เหล็กน้ำพี้  เป็นเหล็กกล้าที่มีคุณภาพสูง  เป็นความนิยมมงคลลักษณ์มาแต่โบราณบ่อแร่เหล็กน้ำพี้อยู่ตำบลน้ำพี้  ทางตะวันออกของเมืองอุตรดิตถ์  และมีหลายบ่อในตำบลนี้  ส่วนบ่อพระแสงเป็นบ่อแร่ที่มีเนื้อแร่เหล็กดีกว่าบ่ออื่น  ทั้งยังพบธาตุเจือชนิด  สทรอนเชียน (Sr) รูบิเดียม (Rd) และโคบอลต์ (Co) ซึ่งทำให้เนื้อเหล็กน้ำพี้มีคุณภาพแข็งเหนียวไม่เปราะ  แถมมีสปริงดี  จึงห้ามมิให้ผู้อื่นขุดแร่บ่อนี้ใช้  ได้แต่สำหรับทำพระแสงของพระราชาธิบดีในครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

เหล็กกำแพง เป็นเหล็กกล้าที่มีคุณภาพสูงเช่นกัน  ชื่อเหล็กกำแพงนั้นเป็นชื่อของผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตขึ้นที่จังหวัดกำแพงเพชร  มีคุณภาพเป็นที่เชื่อถือในความคม  แข็ง  เหนียว  จากการตรวจสอบพบว่าวัตถุดิบคือแร่เหล็กฮีมาไทต์  (Fe2O3) แมงกานีส (Mn) นิกเกิล (Ni) ไทเทเนียม (Ti) ซิลิคอน (Si) ทองแดง (Cu) ฟอสฟอรัส (P)  และอะลูมิเนียม (Al)  จากธาตุประกอบเหล่านี้ก็จะเป็นตัวเสริมให้เนื้อเหล็กมีคุณภาพสูง  และมีน้ำหนักเบากว่าโลหะเหล็กทั่วไป  แหล่งแร่เหล็กที่ใช้เป็นวัตถุดิบอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร  เช่นที่เขาแก้ว  เขายอดเหล็ก  ที่อำเภอพรานกระต่าย  

ที่มา :  เอกสารประกอบการอบรม   ธรณีวิทยาสู่ครูวิทยาศาสตร์   กรมทรัพยากรธรณี  กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.125 วินาที กับ 20 คำสั่ง