เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 32399 ประวัติศาสตร์ กับ ทรัพยากร
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 06 ก.ย. 11, 09:20

ทางฝ่ายจีน พบการใช้เครื่องแก้วได้น้อยชิ้น เนื่องจากเป็นประเทศต้นกำเนิดเครื่องปั้นดินเผาชั้นเลิศ และพยายามต่อยอดให้เนื้อดินบางใส และโปร่งแสงได้อย่างวิเศษ ส่วนเครื่องใช้ภายในราชสำนักยังเป็นเครื่องกระเบื้องที่ผลิตอย่างดี และถาดทองคำ ถาดเงิน ถาดงาช้าง แต่สำหรับเครื่องใช้เนื้อใส เขายกให้ "หยก" ไม่ว่าหยกขาว หยกเขียว เอามาทำเครื่องใช้ได้ เช่น ภาพถ้วยน้ำชาหยกขาว งามวิเศษ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 06 ก.ย. 11, 09:42

มาถึงกระจกที่ติดตามงานสถาปัตยกรรมไทยดูบ้าง

กระจกที่ประดับตกแต่งของไทย เราเรียกว่า "กระจกเกรียบ" ซึ่งมีการหุงมานานซึ่งมีแหล่งกำเนิดดังนี้

๑. กระจกเกรียบจากประเทศจีน ไทย, พม่า นำเข้ามาประดับศาสนสถาน ทั่วดินแดนล้านนา - พม่า - ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา

๒. กระจกเกรียบจากในประเทศ โดยเริ่มรู้การหุงกระจกสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

กระจกเกรียบเป็นองค์ประกอบของ กระจก + ออกไซด์ของตะกั่ว, ทองแดง, แร่ฟันม้า เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดสีสันต่างๆ แก่ตัวกระจก

เช่นนี้แล้ว พระเอกด้านทรัพยากรที่ใช้ในสมัยโบราณคือ ทราย, ตะกั่ว, ทองแดง, โคบอลท์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 09 ก.ย. 11, 21:22

ตามเข้ามาฟังค่ะ.  ค่อยๆไล่ตามมาทีละหน้า
อย่าเพิ่งจับนะคะ.  อยากฟังเรื่องทรัพยากรแต่ดั้งเดิมของไทยอีกค่ะ. 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 10 ก.ย. 11, 17:01


กระจกที่ประดับตกแต่งของไทย เราเรียกว่า "กระจกเกรียบ" ซึ่งมีการหุงมานานซึ่งมีแหล่งกำเนิดดังนี้
๑. กระจกเกรียบจากประเทศจีน ไทย, พม่า นำเข้ามาประดับศาสนสถาน ทั่วดินแดนล้านนา - พม่า - ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา
๒. กระจกเกรียบจากในประเทศ โดยเริ่มรู้การหุงกระจกสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
กระจกเกรียบเป็นองค์ประกอบของ กระจก + ออกไซด์ของตะกั่ว, ทองแดง, แร่ฟันม้า เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดสีสันต่างๆ แก่ตัวกระจก
เช่นนี้แล้ว พระเอกด้านทรัพยากรที่ใช้ในสมัยโบราณคือ ทราย, ตะกั่ว, ทองแดง, โคบอลท์

น่าสนใจมากๆนะครับ
กระจกเกรียบนำเข้ามาจากจีนในสมัยอยุธยา ก็หมายความเป็นสินค้าอีกอย่างหนึ่งที่มากับเรือในยุคริวกิว แต่มิได้มีการกล่าวถึงมากนัก
สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เริ่มรู้การหุงกระจก ซึ่งส่วนประกอบในการทำก็คือ ทราย ตะกั่ว ทองแดง และโคบอลท์
 
เรามีทรายที่มีคุณภาพพอจะนำมาใช้ทำกระจกได้อยู่ทั่วไป
 
เรามีแหล่งตะกั่วที่มีการทำมานานมาก อยู่ที่กาญจนบุรี และมีการบันทึกการส่งออกด้วย
 
ที่น่าสนใจ คือ ทองแดง ซึ่งเป็นไปได้ทั้งจากการนำเข้าจากจีนต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หรือได้มาจากการทำเหมืองในเมืองไทย ซึ่งก็มีแหล่งที่มีการทำมานานแล้วเช่นกัน (เช่น แหล่งในเขตจังหวัดเลย) หรือได้มาจากทั้งนำเข้าและทำเอง น่าสนใจตรงที่หากมีการใช้ทองแดงของไทยทำเองในยุคนี้ ก็คงต้องมีบันทึกเรื่องราวทั้งการผลิตและการขนส่งปรากฏอยู่ที่ใดสักแห่ง การนำเข้าทองแดงนั้นมีแน่นอนตามที่คุณหนุ่มสยามได้เล่ามาในความคิดเห็นที่ 9

โคบอลท์นั้น คงเป็นการนำเข้าแน่ๆ เพราะถึงแม้ว่าจะเกิดร่วมอยู่กับแร่ทองแดงได้ แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีรายงานทางวิชาการในยุคปัจจุบัน ที่รายงานว่าพบในแหล่งแร่ของไทยในปริมาณที่มีนัยสำคัญ น่าสนใจในมุมหนึ่งก็คือ เอาเข้ามาจากใหน ซึ่งมีอยู่ 2 ทาง คือจากจีน ตั้งแต่สมัยทำเครื่องเคลือบจากเตาเชลียง และจากโลกตะวันตกเมื่อการค้าที่แหลมมาลายูเจริญมั่นคงแล้ว และคงจะไม่ใช่ในลักษณะโลหะแน่ๆ คงจะเป็นออกไซด์หรือเกลือโคบอลท์ในลักษณะของก้อนหรือป่นมาแล้ว ซึ่งแม้ว่าจะเป็นของที่ใช้ในปริมาณไม่มากในการทำเครื่องเคลือบหรือกระจก แต่หากมีความสำคัญขนาดต้องใช้ในการผลิตสินค้าขาออก หรือใช้ในการผลิตชิ้นงานทางสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญ (วัด) ก็น่าจะต้องมีการบันทึกอยู่บ้างเหมือนกัน

แร่ฟันม้า หรือหินฟันม้าก็น่าสนใจ แร่ชนิดนี้มี 3 ชนิด คือ แร่ที่มีโซเดียมเป็นหลัก (์Na feldspar) แร่ที่มีโปแตสเซียมเป็นหลัก (K feldspar) และแร่ที่มีแคลเซียมเป็นหลัก (Ca feldspar) ที่ใช้ในในการทำเครื่องเคลือบดินเผานั้น ใช้ชนิดโซเดียมในส่วนที่ทำเนื้อ และใช้ชนิดโปแตสเซียมในส่วนการเคลือบให้มันเป็นแก้ว ส่วนชนิดแคลเซียมนั้นไม่นิยมใช้กัน ทั้งโซเดียม โปแตสเซียม และแคลเซียมนี้เกิดอยู่รวมกันได้ในแร่ก้อนเดียวกันหรือในแหล่งแร่เดียวกัน แต่มักจะมีมากไปในทางใดทางหนึ่ง ประเด็นอยู่ที่ว่า เราก็พบแร่หินฟันม้าได้ทั่วไป แต่ชนิดโปแตสเซียมนั้นพบเฉพาะบางแห่ง เช่นตามทิวเขาชายแดนไทยด้านตะวันตก จังหวัดตาก ลำปาง เป็นต้น ทั้งนี้แร่ฟันม้าที่นำมาใช้จะต้องมีคุณภาพดีมากและค่อนข้างจะบริสุทธิ์ เนื่องจากหากมี Impurities อื่นๆเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้ผิวเคลือบนั้นไม่ขาวใสเป็นแก้ว ดังนั้น จึงเป็นไปได้ทั้งจากการนำเข้า หรือทำเอง หากนำเข้าก็คงจะได้ของดี เพราะจีนมีความสันทัดในการคัดเลือกมานาน และหากทำเองก็คงจะต้องมีบันทึกอยู่บ้างในชนบทที่มีการทำ รวมทั้งร่องรอยและมรดกตกทอดของเทคนิคต่างๆ ไม่ทราบว่าจะคิดทางใหนดี แต่เชื่อว่าน่าจะทำเองมากกว่า ไม่เช่นนั้นแหล่งผลิตที่ศรีสัชนาลัยคงจะไม่สามารถผลิตได้มากในปริมาณที่ส่งออกได้ขนาดนั้น และโด่งดังไปทั่วโลก แน่นอนว่าที่ศรีสัชนาลัยนั้นมีแหล่งดินที่ดีมากๆ เป็นดินจากตะกอนลำน้ำที่มีการล้าง Impurities ออกไปจนเกือบหมด เนื้อละเอียด มีขนาดของเม็ดตะกอนเท่าๆกัน เป็นดินเหนียว (ฺBall clay) ทีมีแร่ดิน (Clay minerals) ผสมผสานอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะพอดี จนสามารถขึ้นรูปได้ง่าย เนื้อบาง คงรูปเมื่อนำไปเผาแล้ว เครื่องปั้นที่เผาแล้วมีเนื้อเนียนและไม่ออกสีแดง สามารถวาดลายและเคลือบผิวได้
 
ผมพักไว้เพียงเท่านี้ก่อน คงจะเล่าต่อในความเห็นเกี่ยวกับที่ตั้งเมืองและนครรัฐ ในช่วงต่อๆไป ครับ
       
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 10 ก.ย. 11, 20:03

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับรายงานจากหัวเมืองนครราชสีมาว่า ค้นพบแหล่งแร่ทองแดงที่อำเภอจันทึก ซึ่งมีอยู่ปริมาณมาก ซึ่งรัชกาลที่ ๓ ทรงได้นำแร่ทองแดงนี้มาหล่อเป็นพระประธาน ๓ องค์และพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ อีกมากมาย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 11 ก.ย. 11, 19:39

จากข้อมูลต่างๆในกระทู้นี้ ก็อาจจะนำมาประมวลเป็นมุมมองทางด้านทรัพยากรที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ได้ พอสมควร

ข้อเท็จจริงประการแรก คือ สภาพที่ตั้งของเมืองหรือนครรัฐต่างๆในอดีตในประวัติศาสตร์ไทยนั้น ส่วนมากจะกล่าวกันแต่เพียงว่า เป็นที่ราบ น้ำดี ดินดี เป็นชัยภูมิที่ดีเนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบ ทำให้ข้าศึกเข้ามายาก แต่แท้จริงแล้วหากดูไปถึงสภาพทางธรณ๊วิทยา ในพื้นที่ภาคเหนือนั้น จะเห็นว่าล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ล้อมรอบไปด้วยลักษณะทางธรณีวิทยาจำเพาะที่เอื้ออำนวยให้เป็นแหล่งกำเนิดของทรัพยากรธรณีชนิดต่างๆ ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นแอ่งที่มีลำน้ำใหลผ่านตลอดทั้งปี เป็นแอ่งที่มีการสะสมของตะกอนดินทรายที่ผุพังมาจากลักษณะธรณีวิทยาจำเพาะเหล่านี้ จึงทำให้พื้นที่ราบในแอ่งมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุเหมาะแก่การเพาะปลูกและดำรงชีวิต การเลือกสถานที่ตั้งของเมืองหรือนครรัฐในลักษณะนี้มีตลอดมาจนสิ้นยุคสุโขทัย
 
น่าสังเกตุว่า เมืองเหล่านั้นตั้งอยู่บนสายน้ำที่สามารถเดินทางติดต่อเชื่อมโยงกันได้ และดูเหมือนจะไม่มีการทำสงครามระหว่างกันอย่างเป็นกิจลักษณะ ในลักษณะรบกันไปรบกันมา ซึ่งน่าจะแสดงว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกันจึงยอมกันได้ง่าย การยึดเมืองต่างๆเิ่ริ่มแรกจากการขยายจากเหนือลงใต้ ซึ่งลงมาไม่มากนัก น่าจะแสดงว่าเป็นการเพิ่มที่ราบเพื่อขยายที่ทำกิน เนื่องจากว่าเมืองต่างๆในภาคเหนือนั้นมีแหล่งแร่และทรัพยากรสำหรับทำโลหะกรรมมากพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปหาเพิ่มเติมอีก สาเหตุอื่นๆก็คงจะเป็นเรื่องทางการเมืองและสังคม เพื่อไปหาที่ที่สงบสุขอยู่ พอถึงสมัยสุโขทัยการยึดเมืองต่างๆก็ยึดจากใต้ขึ้นเหนือ เนื่องจากว่ามีแต่ที่ราบที่ทำกิน มีแหล่งดินดีสำหรับทำสินค้าเครื่องปั้นดินเผาชั้นดี แต่ขาดแหล่งแร่และทรัพยากรสำคัญสำหรับโลหะกรรม ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่ง ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่พม่ากำลังระรานอยู่ทางภาคเหนือและตะวันตกอีกด้วย

เราได้พูดถึงเรื่องทองแดง ดีบุก ตะกั่ว โคบอลท์ แร่ฟันม้า ทั้งหมดนี้ใช้ในงานทางศิลปกรรม แม้จะใช้ทำอาวุธก็เป็นส่วนน้อย คือใช้ในการตบแต่งเสียมากกว่า โลหะที่ใช้ทำอาวุธจริงๆ คือ เหล็ก ซึ่งเทคโนโลยีในสมัยนั้นคงไม่ทราบว่าจะต้องผสมแมงกานีส หรือผสมพลวง หรืออื่นๆ เพื่อใ้ห้ได้เหล็กที่มีคุณภาพตามต้องการ (เช่น เหนียว แข็ง หรือคมคงทน) ส่วนการชุบแข็งด้วยน้ำหรือน้ำมันนั้นมีอยู่แล้วแน่นอน ดังนั้นแหล่งแร่เหล็กจึงควรจะเป็นแหล่งที่มีธาตุโลหะอื่นผสมอยู่ในระดับที่พอเหมาะแล้ว 

ผมก็เลยคิดว่า ในช่วงยุคล้านนานั้น เอาเหล็กมาจากใหนกัน คงจะไม่ผิดหากจะมีการค้าและนำมาจากจีนลงมาทางยูนนาน หรือไม่ก็จากลาว จึงน่าจะสอดคล้องกับเรื่องการขยายเขตอาณาเริ่มจากเหนือลงใต้ เนื่องด้วยคนที่อยู่ทางเหนือจะมีโอกาศหาได้ง่ายมากกว่า จึงมีอาวุธในปริมาณที่มากพอเพียงจะทำการรบพุ่งที่เหนือกว่าได้ หากจะเอามาจากแหล่งในไทย ในยุคนั้นก็คงจะต้องเอามาจากแหล่งแถวเลย อุตรดิตถ์ ลพบุรี สุโขทัย และกาญจนบุรี ซึ่งหมายความว่าน่าจะมีหลักฐานทางเอกสารหรือประวัติศาสตร์อยู่บ้าง
แล้วก็ที่พม่าสามารถตีเชียงใหม่และมีอิทธิพลในล้านนาเมื่อยุคหนึ่งนั้น ผมก็คิดว่าเพราะพม่ามีแหล่งเหล็กใหญ่อยู่แถวๆเมืองตองอูนั่นเอง สามารถทำอาวุธได้มากมาย
ในขณะที่เมืองในล้านนามีอาวุธจำกัด   

เมื่อถึงสมัยสุโขทัย เราคงใช้เหล็กจากแหล่งในย่านสุโขทัยส่วนหนึ่ง จากลพบุรีส่วนหนึ่ง และจากอุตรดิตถ์ส่วนหนึ่ง สะสมทำอาวุธจนมีมากพอที่จะขยายเขตปกครองขึ้นไปทางเหนือ และสู้กับพม่า เหล็กของไทยน่าจะมีแมงกานีสผสมอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ผมเดาจากคำพูดที่ว่าสะบัดดาบ เพราะเหล็กผสมแมงกานีสนี้จะมีคุณสมบัติดีดเป็นสปริงได้ ก็คงจะเป็นเรื่องของแหล่งแร่เหล็กกระมัง ที่ไทยในอดีตต้องให้ความสำคัญในการครองพื้นที่ในย่านอุตรดิตถ์-พิษณุโลกตลอดมา       

น่าสังเกตุว่า ดูเหมือนจะมีกลุ่มคนอยู่ 4 กลุ่มตั้งรกรากอยู่ในไทย ซึ่งก็น่าจะเป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน คือ กลุ่มคนทางอิสาณซึ่งดูจะรักสงบมากๆ กลุ่มคนในภาคเหนือซึ่งยอมคนภาคกลาง กลุ่มคนในภาคกลางซึ่งแต่เดิมก็อาจจะเป็นพวกที่มาตั้งรกรากกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และกลุ่มคนในภาคใต้ ความแตกต่างทางมนุษย์วิทยาก็คงมีการศึกษาและมีข้อมูลมากแล้ว ผมขอเิติมความเห็นเกี่ยวกับความแตกต่างอีก เช่น ในเรื่องของอาหาร อาหารทางภาคเหนือมีการใช้เครื่องเทศบางอย่างเป็นเฉพาะของตนเอง ไม่เหมือนจีนและก็ไม่เหมือนอินเดีย อาหารอิสาณเืกือบจะไม่มีการช้เครื่องเทศใดๆเลยทั้งจากอิทธิพลของจีนและอินเดีย  อาหารใต้มีการใช้เครื่องเทศแบบอินเดียแต่ย่อส่วน (เลือกใช้) อาหารภาคกลางเกือบทั้งหมดจะเป็นอาหารที่แปลงมาจากทุกแหล่งกำเนิด ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะแสดงระดับของการเลือกรับอิทธิพลบางประการของกลุ่มคนไทยเหล่านี้ หรือแสดงการความกระท่อนกระแท่นของอิทธิพลจากจีนและอินเดียในแผ่นดินแหลมทองนี้ หรือคนไทยอยู่แยกกระจัดกระจายกันมากจนอิทธิพลเหล่านี้เข้าไม่ถึง ยกเว้นเฉพาะส่วนที่เป็นเมืองหลวง แสดงว่าคนในแผ่นดินนี้รักอิสระ แต่เมื่อต้องสู้ก็จะมารวมกัน 
               
ผิดถูกประการใดวิจารณ์ได้ครับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 12 ก.ย. 11, 10:35

เหล็ก จากแผนที่แหล่งแร่ในประเทศไทยพบแหล่งแร่เหล็กมากบริเวณภาคเหนือ เลย และทางใต้ ซึ่งกระจุกตัวกันเป็นกลุ่ม ๆ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 12 ก.ย. 11, 14:26

ถูกต้องแล้วครับ
แร่ต่างๆนั้น แท้จริงแล้วพบได้ทั่วๆไปในสภาพทางธรณีวิทยาที่เอื้ออำนวย ในภาษาวิชาการเรียกว่า Occurrence คือ จุดที่พบว่ามีแร่นั้นๆ แต่มิได้หมายความว่าจะเป็นแหล่งแร่ (Deposit) ที่มีปริมาณมากพอที่จะขุดออกมาใช้เพื่อทำประโยชน์ แผนที่ดังกล่าวนี้เป็นเพียงบอกว่ามีการพบว่ามีแร่ชนิดนั้นๆ ณ.จุดนั้นๆ และในจำนวนเหล่านั้นก็มีไม่มากจุดนักที่เสามารถขุดนำมาใช้ได้ เปิดทำเหมืองได้ ลักษณะของจุดที่พบแร่ที่แสดงอยู่ในแผนที่นี้ ส่วนมากจะเป็นเพียงเส้นหรือแถบบางๆ อยู่ตามรอยแตกรอยแยก อาจจะหนาเพียง 5 ซม. ยาวเพียง 1 - 2 เมตร หรือไม่ก็เป็นก้อนเล็กๆประติดอยู่ในเนื้อหิน และในรูปแบบอื่นๆเช่นปนอยู่ในเนื้อหินซึ่งทราบได้จาการวิเคราะห์ทางเคมีหรือส่องกล้องดู ขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของแร่ แผนที่นี้ทำขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการแสดงว่า ณ.บริเวณดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่จะพบแหล่งแร่ในเชิงพาณิช ซึ่งจะต้องสำรวจ ขุด หรือเจาะหาจุดที่เป็นแหล่งแร่จริงๆต่อไป ซึ่งหากจะมีก็มักจะพบอยู่ลึกลงไปใต้ดิน

สภาพทางธรณีวิทยาที่เอื้ออำนวยต่อการกำเนิดแร่ลักษณะหนึ่งก็คือบริเวณที่มีหินอัคนีวางตัวสัมผัสกับหินปูน ซึ่งในพื้นที่เหล่านี้เกือบทั้งหมดก็เป็นที่ตั้งของเมืองเก่าเกือบทั้งนั้น หากเมืองนั้นตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ ก็ดูจะมีความเจริญและอำนาจมากกว่าที่ตั้งอยู่ในแ่อ่งที่เล็กกว่าอีกด้วย
ลักษณะทางธรณีวิทยาอีกอย่างหนึ่งที่อำนวยต่อการเกิดแร่ก็คือบริเวณที่หินได้แปรเปลี่ยนคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีไปเนื่องจากแรงอัดมหาศาล เมืองเก่าที่ตั้งอยู่ในธรณีวิทยาลักษณะนี้ ก็เช่น เชียงแสน และร่องเขามัณฑะเลย์ -Dali (จีน) ลักษณะนี้ให้แร่พวกที่นำมาทำพลอยสวยงาม ซึ่งในพม่าพบหยกชั้นดีอีกด้วย

ชวนให้คิดว่าที่กองทัพมองโกลลุยเข้าพม่าและไม่มาไทยนั้น ก็คงเดินทัพตามร่องเขานี้ และก็อาจเป็นเพราะต้องการครอบครองแหล่งหยกแถมเหล็กหรือเปล่า

ชวนให้คิดต่อไปว่า เชียงแสนน่าจะเป็นเมืองของคนรักสงบและมีอารมณ์ศิลป์ จำได้ว่าเคยเห็นพระทำจากแก้ว (หินควอร์ทซ์, Quartz) และเชียงใหม่ก็คงไม่ต่างจากเชียงแสนนัก แต่ไม่แน่ใจว่ามีพระทำจากหินสีหรือพลอยอ่อน (แร่ฟลูออไรท์, Fluorite) หรือไม่ หินสีพบมากที่บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน

แล้วก็ชวนให้ผมคิดว่ายุคลำพูนนั้น สิ่งของส่วนมากจะทำมาจากดินเผา มีโลหะอยู่น้อยมาก แสดงว่าลำพูนนั้นค่อนข้างจะเป็นอิสระและเอกเทศ เกือบจะตัดขาดจากภายนอก จึงมีอิทธิพลของการใช้โลหะน้อย ทั้งๆที่เป็นเมืองเก่าไม่นานก่อนเชียงใหม่       

สำหรับแหล่งแร่เหล็กที่คนโบราณทำกันในโลกนั้น เกือบทั้งหมดจะเป็นลักษณะการเกิดที่เรียกว่า Banded iron formation คือเกิดเป็นชั้นหนาสลับอยู่กับชั้นหิน ส่วนมากจะพบอยู่เหนือผิวดินหรือตามเชิงเขา จึงทำง่าย เช่น ทีพบในพม่าแถวตองอูและแถวโมกุก ในจีนทั่วไป และในลาว สำหรับของไทยนั้น ที่โผล่ให้เห็นและทำได้ง่ายตามเทคโนโลยีสมัยนั้น พบที่เลย อุตรดิตถ์ ลพบุรี กาญจนบุรี และสุโขทัย และใม่ใช่การเกิดแบบ Banded iron formation

ผมสังเกตลักษณะของมีดดาบของไทย รูปร่างลักษณะของเราดูค่อนข้างจะต่างกับจีนมาก แต่มีความคล้ายของพม่า ของจีนดูเป็นแบบสันหนาและมีความกว้างเกือบจะเท่ากันตลอดจากด้ามถึงปลาย เป็นลักษณะของดาบแข็งสะบัดดปลายไม่ได้ ซึ่งแสดงว่าใช้เหล็กที่มีคุณภาพต่างจากของเราและชุบแข็งตลอดทั้งเล่ม ในขณะที่ดาบไทย ความกว้างของดาบที่โคนด้ามจะเล็กว่าปลายดาบ สะบัดปลายดาบได้ แสดงว่าน่าจะใช้เหล็กอีกคุณภาพหนึ่ง และชุบแข็งที่ส่วยปลาย การชุบแข็งในลักษณะนี้ยังคงมีอยู่ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเอกลักษณ์ของมีดไทย เห็นได้จากมีดเหน็บที่ทำกันในปัจจุบันซึ่งเป็นของเก็บของสะสมอย่างหนึ่งของนักสะสมมีดชาวต่างชาติ             
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 12 ก.ย. 11, 15:01

ชวนให้คิดต่อไปว่า เชียงแสนน่าจะเป็นเมืองของคนรักสงบและมีอารมณ์ศิลป์ จำได้ว่าเคยเห็นพระทำจากแก้ว (หินควอร์ทซ์, Quartz) และเชียงใหม่ก็คงไม่ต่างจากเชียงแสนนัก แต่ไม่แน่ใจว่ามีพระทำจากหินสีหรือพลอยอ่อน (แร่ฟลูออไรท์, Fluorite) หรือไม่ หินสีพบมากที่บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน


+++


หินสีที่นำมาแกะสลักพระ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางภาคเหนือ เขาเรียกหินสีเหล่านี้ว่า "หินจุ้ยเจีย หรือ จุยเจีย" พบด้วยกันหลายสี เช่น เขียวตองอ่อน เหลืองทอง แดงชมพู มีน้ำหนักตึง ๆ มือเมื่อหยั่งน้ำหนัก ยิ่งสีเขียวตองอ่อนยิ่งงามมากครับ การค้นพบกรุพระแกะสลักนี้ เมื่อครั้งก่อสร้างเขื่อภูมิพล จ.ตาก พื้นที่วัดโบราณที่ถูกน้ำท่วมถึง กรมศิลปากรรีบดำเนินการขุดค้นโบราณวัตถุได้หินแกะสลัก บริเวณอำเภอฮอด อย่างมากมายครับ

แต่จะว่าไปแล้วการหล่อพระโลหะของดินแดนภาคเหนือ ก็มีนะครับ เช่น พระสกุลเชียงแสน พระสกุลล้านช้าง และย่อยไปยังศิลปะฝาง ศิลปะเชียงรุ้ง ศิลปะน่าน ศิลปะไชยปราการ ได้อีกมากมาย และยังพบพระพุทธรูปสลักไม้อีก เป็นอันว่าทรัพยากรภาคเหนือนั้น มี โลหะ - หินมีค่า - ป่าไม้


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 12 ก.ย. 11, 15:08

สำหรับเรื่องดาบ ไม่ค่อยถนัดเท่าไร แต่อย่าลืมนะครับว่า ทรัพยากรเรื่องการตีโลหะให้เป็นอาวุธ นอกจากดาบไทยแล้ว อย่าลืมว่าทางแหลมมลายู และอินโดนิเซีย ก็มีธรรมเนียมตีเหล็กได้แกร่งมากครับ แถมยังลงอาคม กฤตยาคม เช่นเดียวกันคือ "กริช"

เรื่องความคมนั้นเป็นลักษณะที่สามารถทำให้เกิดได้ด้วยการฝน ลับ ให้คม แต่เหล็กย่อมเป็นเหล็ก ย่อมมีสนิมแต่เนื้อในตน กัดกร่อนตนเอง ทำให้ย้อนไปยังดาบจีนอีกครั้งหนึ่ง เคยได้เห็นเขาพบดาบจีนโบราณ พบที่สุสานฮ่องเต้โบราณ อายุเป็นพัน ๆ ปี เนื้อโลหะออกไปทางสนิมเขียว (คงมีส่วนผสมทองแดงมาก) แต่ความคมยังอยู่ครบ แสดงว่าไม่เกิดสนิมกินเนื้อตน เขาเอามากรีดโชว์ให้ดู คมเหมือนคัตเตอร์เลยครับผม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 12 ก.ย. 11, 15:43

แหล่งแร่เหล็กที่สำคัญในสมัยโบราณ ซึ่งนำแร่เหล็กมาทำเป็นอาวุธเห็นจะเป็นที่นี่

บ่อเหล็กน้ำพี้ เป็นแหล่งสินแร่เหล็กตามธรรมชาติ ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำพี้ หมู่ ๑ ตำบลน้ำพี้ อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ ห่างจากตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ประมาณ ๕๖ กิโลเมตร โดยเป็นบ่อเหล็กกล้า  มีอยู่ด้วยกันหลายบ่อ และปรากฏเตาถลุงเหล็กโบราณนับพัน ๆ แห่งในพื้นที่หลายตารางกิโลเมตร แต่บ่อที่สำคัญและสงวนใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ มีอยู่ ๒ บ่อ คือ บ่อพระแสง และ บ่อพระขรรค์ มีการนำแร่เหล็กจากบ่อเหล็กน้ำพี้ไปถลุงทำอาวุธเพื่อใช้ในการศึกสงครามมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาตร์มากมายถึงความสำคัญของเหล็กน้ำพี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความเชื่อมาแต่โบราณว่าเหล็กจากแหล่งแร่เหล็กน้ำพี้มีความแข็งแกร่ง ความศักดิ์สิทธิ์และอาถรรพ์ในตัว

ขุนแผนก็ใช้เหล็กที่นี่ในการตีดาบฟ้าฟื้น

จะจัดแจงตีดาบไว้ปราบศึก  
ตรองตรึกหาเหล็กไว้หนักหนา
ได้เสร็จสมอารมณ์ตามตำรา  
ท่านวางไว้ในมหาศาสตราคม
 
เอาเหล็กยอดพระเจดีย์มหาธาตุ  
ยอดปราสาททวารามาประสม
เหล็กขนันผีพรายตายทั้งกลม  
เหล็กตรึงโลงตรึงปั้นลมสลักเพชร
 
หอกสัมฤทธิ์กริชทองแดงพระแสงหัก  
เหล็กปฏักสลักประตูตะปูเห็ด
พร้อมเหล็กเบญจพรรณกัลเม็ด  
เหล็กบ้านพร้อมเสร็จทุกสิ่งแแท้
 
เอาเหล็กไหลหล่อบ่อพระแสง  
เหล็กกำแพงน้ำพี้ทั้งเหล็กแร่

ทองคำสัมฤทธิ์นากอแจ  
เงินที่แท้ชาติเหล็กทองแดงดง

เอามาสุมคุมควบเข้าเป็นแท่ง  
เผาให้แดงตีแผ่แช่ยาผง
ไว้สามวันซัดเหล็กนั้นเล็กลง  
ยังคงแต่พองามตามตำรา

ซัดเหล็กครบเสร็จถึงเจ็ดครั้ง  
พอกระทั่งฤกษ์เข้าเสาร์สิบห้า
ก็ตัดไม้ปลูกศาลขึ้นเพียงตา  
แล้วจัดหาสารพัดเครื่องบัตรพลี

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 12 ก.ย. 11, 15:48

มีดอรัญญิกด้วยค่ะ.  คุณตั้ง เขาได้เหล็กมาจากไหนคะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 12 ก.ย. 11, 20:24

กรณีมีดอรัญญิกนั้น
ผมขอเล่าความเห็นในลักษณะเป็นเรื่องต่อเนื่อง ดังนี้

หากเราพิจารณาดูสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์แล้ว จะเห็นว่าการเลือกที่ตั้งเมืองตั้งอยู่บนฐานของยุทธศาสตร์การทำสงครามเป็นหลัก คือ ตั้งรับได้และถอย (หนี) ได้ โดยลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อกรุงจะแตกก็ได้มีคนล่องเรือลงมาตามเจ้าพระยาเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมเห็นว่าแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ พวกเชื้อสายมอญ และพวกเชื่อสายไทย ผมคิดว่าพวกเชื้อสายมอญที่คิดว่ากองทัพพม่า (ที่ประกอบไปด้วยคนม่านและมอญ) คงจะไม่ทำร้ายพวกเชื้อชาติเดียวกัน ก็จะลงมาไม่ไกลจากอยุทธยามากนัก ในปัจจุบันจึงพบชุมชนตั้งแต่สามโคกลงมาจนถึงปากเกร็ด อีกพวกหนึ่งคงไม่แน่ใจในความปลอดภัยจึงลงมาไกลถึงพระประแดง ส่วนคนเชื้อสายไทยซึ่งอาจจะรู้สึกว่าจะมีอันตรายมากกว่านั้น เลือกที่จะหลบเข้าไปอยู่ตามคลองเช่น ในคลองบางซื่อ ซึ่งทะลุไปถึงแถววัดลาดพร้าว คนปากคลองบางซื่อและย่านวัดลาดพร้าวจึงมีความเป็นญาติกันพอสมควร หรือในคลองบางกรวย ฯลฯ

คนอยุธยาอยู่ในทุ่งราบทีมีความอุดมสมบูรณ์มาก ไม่มีทรัพยากรธรณีอื่นใด มีแต่ที่ราบที่สามารถทำนาได้ผลผลิตดี (Swamp area) ตั้งอยุ่ในที่ราบน้ำท่วมถึง (Flood plain) ของแม่น้ำสายใหญ่ (เจ้าพระยา) สามารถตั้งบ้านเรื่อนและปลูกต้นไม้พืชผลได้โดยไม่จมโคลนจมน้ำ ยกเว้นเฉพาะช่วงน้ำเอ่อหลายผ่าน (อยุธยาตั้งอยู่บนสันคันคลองธรรมชาติ, Natural levee) มีพื้นที่ดอนและเป็นป่าละเมาะซึ่งมีสัตว์ประเภทกวางอาศัยอยู่มาก ซึ่งหนังสัตว์เหล่านี้เป็นที่ต้องการอย่างมากและค้าขายได้อย่างดี ใช้ทำเกราะ และสนับแข้งแขนขาต่างๆของทหารและนักรบ จะว่าไปคนอยุธยาสมัยนั้นเป็นคนพื้นที่ราบ มีหัวทางการค้าขายมาก เมื่อคิดจะตั้งเมืองก็เลือกยุทธภูมิที่ค่อนข้างดีสำหรับกรณีพื้นที่ราบ

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ย่อมคงเห็นว่าตนเองเป็นชุมชนใหญ่ มีคนต่างชาติมาติดต่อและพร้อมจะค้าขายด้วย แต่จะอยู่ได้ก็ต้องมีกองทัพ มีอาวุธ และก็คงจะได้เห็นใน 2 ประเด็น คือ ความสัมพันธ์กับสุโขทัยก็มีอยู่ และทำไมไม่ย้ายจากศูนย์กลางจากสุโขทัยมาอยู่อยุธยาซึ่งมีความสมบูรณ์มากกว่า ในเขตอาณาของสุโขทัยมีนักรบ มีแหล่งแร่สำหรับทำอาวุธและงานโลหะกรรม มีแหล่งดินสำหรับการทำสังคโลกค้าขายได้ มีช่างฝีมือและศิลปกรรมที่งดงาม ฯลฯ ก็เลยยึดหรือรวมสุโขทัยเข้ามาเป็นของตน

ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าแหล่งเหล็กในช่วงแรกๆของอยุธยานั้น คือแหล่งเดียวกับสุโขทัย

เส้นทางการเดินทัพของพม่าในระยะแรกๆ คือ เข้าทางภาคเหนือ ต่อมาก็ใช้เส้นทางผ่าน อ.แม่สอด ห้วยแม่ละเมา เข้าตาก ต่อมาจึงลงมาใช้เส้นทางทางใต้ผ่านเจดีย์สามองค์ เข้ากาญจนบุรี สุพรรณบุรี เข้าอยุธยา และเส้นทางราชบุรี ผ่านบ้องตี้และด่านมะขามเตี้ย ผมคิดว่าอยุธยาคงเดาออก จึงมีการสำรวจตรวจตราเส้นทางด้านทิศใต้อยู่พอสมควร จึงได้พบแหล่งแร่เหล็กที่เขาอึมครึม ในเขตบ้านหนองรี อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ที่อึมครึมนี้คงจะเป็นแหล่งเหล็กสำหรับอยุธยาในยุคหลัง (ร่วมกับแหล่งอื่นๆที่พบแล้วในสมัยสุโขทัย) แหล่งนี้มีสินแร่เหล็กที่ดีกว่า และใกล้อยุธยาด้วย (พบตะกรันจากการถลุงในย่านหนองรีอยู่พอสมควร) การตั้งหลักแหล่งทำเหมืองก็ง่าย เพราะมีน้ำลำอีซูอยู่ใกล้ๆ พื้นที่ราบทำกินก็มีเยอะ ผมเดานะครับ เพราะเห็นมีชื่อที่สื่อถึงเส้นทางการเดินเชื่อมกับอยุธยา เช่น หนองรี หนองปรือ ด่านช้าง เลาขวัญ ฯลฯ

ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าแหล่งเหล็กสำหรับอยุธยาในช่วงหลังๆก็น่าจะเป็นแถวกาญจนบุรีนี้เอง

และแหล่งนี้ก็อาจจะสำคัญมากจนเป็นเหตุให้ไทยต้องปกป้องพื้นที่ในย่านนี้อย่างเต็มที่ การยุทธหัตถีก็อยู่ในย่านนี้ สงครามเก้าทัพก็อยู่ในย่านนี้ พม่าก็น่าจะรู้ดีจึงพยายามยกทัพมาตามเส้นทางนี้ ไม่ว่าจะมาทางด่านบ้องตี้ ด่านมะขามเตี้ย ด่านเจดีย์สามองค์ จะไปยุธยาก็ต้องผ่านทางนี้

       
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 13 ก.ย. 11, 03:43

สนใจเรื่องการถลุงเหล็กและโลหะอย่างอื่นค่ะ.   สมัยโบราณเขาทำกันอย่างไร.   เครื่องไม้เครื่องมือเป็นแบบไหน
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 13 ก.ย. 11, 09:00

สนใจเรื่องการถลุงเหล็กและโลหะอย่างอื่นค่ะ.   สมัยโบราณเขาทำกันอย่างไร.   เครื่องไม้เครื่องมือเป็นแบบไหน

คัดจากวชิรญาณวิเศษ เล่ม ๘  แผ่นที่ ๒๕  วันพฤหัศบดีที่ ๓๐  เดือน  มีนาคม  รัตนโกสินทร์ศก๒๕ ๑๑๑  ราคาแผ่นละ  ๓๒  อัฐ

วิชาถลุงแร่ดีบุก

พวกถลุงแร่นี้อยู่ข้างจะเหนื่อยมาก    เพราะต้องทำการทั้งกลางคืนกลางวันไม่ได้หยุด   ถลุงไปจนหมดแร่   จึ่งจะได้หยุดพักครั้ง  ๑   แต่รอดตัวที่ได้ผลัดเปลี่ยนปันเปนเวรกันยามละ  ๒  คน  เปลี่ยนเวียนไปวันหนึ่งคงทำการคนละชั่วโมงเท่านั้น   

แต่เมื่อแรกจะลงมือถลุงนั้นต้องมีสูบแลตั้งเตาลงก่อน   เตานั้นทำต่อด้วยไม้รูปคล้ายถังใบใหญ่ๆ   ข้างในปั้นดินรองหนาประมาณ ๔ นิ้ว   ปากเตากว้างศอกเศษสูง  ๓  ศอก   ตั้งลงบนกะทะใหญ่อีกที  ๑  กะทะมีเหล็กเรียง  ๓  ขา  รับอยู่เบื้องล่าง  เตานั้นเจาะช่องสองข้างๆ  หนึ่งสำหรับให้ดีบุกไหลออกทางนั้น   ข้างหนึ่งสำหรับสวมหลอดให้ลมเดินแต่สูบถึงเตา   แต่สูบนั้นใช้สูบนอนทำด้วยไม้ทั้งต้นยาวประมาณ  ๒  วาเศษเมื่อมีสูบแลทำเตาเสร็จแล้ว   จะถลุงแร่เวลาใดก็เทถ่านลงในเตาประมาณเพียงส่วน  ๑   แล้วเทแร่ลงบนถ่านประมาณส่วน  ๑  แลเทถ่านทับแร่ลงอีกส่วน  ๑  เต็มเสมอปากพอดี   

แล้วติดไฟสูบไปจนแร่ละลายไหลออกมาจากเตา   ถ้าเห็นว่าหมดแร่เตาที่  ๑  แล้ว  จะถลุงเตาที่ ๒  ที่ ๓  ที่ ๔  ที่ ๕  ก็ทำเช่นนั้นอีกร่ำไป   แต่เนื้อแร่ดีบุกที่ไหลออกมาจากเตาที่  ๑  ที่  ๒  ที่  ๓  ที่  ๔  ที่  ๕  นั้น  ยังไม่สู้จะได้เนื้อดีบุกมาก   เพราะธรรมดาแร่ดีบุกมักกล้าไฟ   ถูกไฟแต่ครั้งหนึ่งสองครั้งสามครั้งเช่นนี้   ยังกระดากไฟอยู่ไม่ไหลละลายเปนเนื้อดีบุกทีเดียว   มักกลับเปนขี้แร่จับแขงเปนก้อนๆ  เสียแหละโดยมาก   ต่อถลุงไปหลายๆ  ครั้ง   แร่รู้ตัวหนักเขาจึ่งจะละลายเปนเนื้อดีบุกได้มากๆ   เพราะฉนั้นเมื่อถลุงหมดเตาที่  ๑

จะถลุงเตาที่  ๒  ต่อไป   เขาก็เก็บกวาดขี้แร่เตาที่  ๑  นั้นมาเทลงในครกตำป่นให้ลเอียดแล้ว  ร่อนกรวดทรายออกเสีย   คงเหลือแต่เนื้อแร่ทั้งนั้น   เขาก็เอามาประสมลงในเตาที่  ๒  ถลุงต่อไป   เมื่อถลุงเตาที่  ๒  หมดแร่แล้วจะถลุงเตาที่  ๓  มีขี้แร่อีกก็ทำเช่นนั้นเหมือนกัน   ทำเช่นนี้ร่ำมาจนเตาที่  ๖ ที่  ๗   จึ่งจะออกเปนเนื้อดีบุกมาก   แต่ที่สำหรับรองเนื้อดีบุกที่ไหลออกมาจากเตานั้น   เขาขุดพื้นแผ่นดินตรงปากท่อที่เนื้อดีบุกไหลนั้นเอง   ทำเปนบ่อรูปคล้ายกะทะหุงเข้า   

เมื่อดีบุกไหลลงมาเต็มบ่อนั้นแล้วเขาก็จัดเตรียมทำพื้นแผ่นดินริมๆ  นั้น   ขุดให้เปนบ่อกว้างยาวเปนสี่เหลี่ยมแต่ไม่สู้ลึกนัก   เอาทรายอย่างลเอียดมาเกลี่ยให้เต็มบ่อ   สำหรับที่จะได้หล่อเนื้อดีบุกให้เปนปึก   เมื่อเกลี่ยทรายเสมอกันดีแล้วทีนี้เขาเอาพิมพ์ไม้ที่ทำเปนรูปปึกดีบุก   มากดทรายให้เปนรูปปึกดีบุกเปนระยะกันจนเต็มบ่อ   เมื่อกดพิมพ์เต็มบ่อแล้ว   ก็ตักเนื้อดีบุกมาหยอดลงในเบ้าพิมพ์นั้นจนเต็มทุกเบ้า   แล้วก็ทิ้งไว้ให้เนื้อดีบุกเย็นจึ่งจะขนขึ้นมาครั้ง  ๑   แล้วก็ทำอย่างนี้ร่ำไป   เมื่อเก็บดีบุกไว้มากๆ   จะจำหน่ายเวลาใด   ก็ตีตราแลเสีย

ภาษีดีบุกเสียก่อนจึ่งจะจำหน่ายซื้อขายกันได้   อนึ่งราคาที่ซื้อขายกันตามเหมืองนั้น   ว่าตามเคยเขาขาย
กันภาราละ  ๓๕  บาท  บ้าง  ๓๗  บาท  บ้าง  ๔๐ บาท  บ้างดูตามเนื้อดีบุกดีแลเลว   แลเวลาที่จะรับส่งดีบุกไปจำหน่ายตามหนทางที่ไกลๆ   ไปจากโรงกงสีหรือจะส่งไปบรรทุกเรือเมล์นั้น   ถ้าเปนทางไกลใช่ทางสำหรับคนเดินเช่นบุกป่าผ่าดงฉนี้   เขาใช้บรรทุกหลังช้างให้ช้างขนไปตัวหนึ่งคราวละ  ๕  ปึก  ๖  ปึก  ดูพอควรแก่กำลังของมันจะนำไปได้   ถ้าทางไกลบรรทุกได้น้อยปึกทางใกล้บรรทุกได้มากปึก   ช้างที่สำหรับบรรทุกนี้ต้องจ้างเขา   ตามพวกที่ตั้งการรับจ้างหากินทางนี้
ราคาก็แพงกว่าบรรทุกด้วยพาหนะอย่างอื่นๆ   ถ้ายิ่งทางไกลจนถึงค้างวันแรมคืน   ก็ยิ่งแพงมากขึ้นไป


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.058 วินาที กับ 20 คำสั่ง