เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 21640 เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 27 ส.ค. 11, 16:41

บึงหญ้าป่าใหญ่ ยังมีขายอยู่   ซื้อได้จากทางอินเทอร์เน็ต   เข้าไปตามลิ้งค์นี้ค่ะ

http://www.matichonbook.com/index.php/youth/-555.html

ถ้าคุณอ่านลิ้งค์ลำบาก ขอบอกว่าเป็นของสนพ.มติชน   แจ้งราคาไว้ด้วย
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 27 ส.ค. 11, 18:00

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูอย่างสูงยิ่งครับ ผมเคยสั่งซื้อหนังสือจากมติชนแล้ว คงไม่ยากนักหนา ให้เขาส่งไปรษณีย์มาเลย อหา! ตื่นเต้นครับอาจารย์ ห้องสมุดหนังสือเสียง อาจได้บึงหญ้าป่าใหญ่ฉบับสมบูรณ์ ถ้าผมทำสำเร็จ แหละมติชนยังเหลือสินค้าครับ

ผมพิมพ์ข้อความตอบคุณnaitang เอาไว้ แต่ยังไม่ได้โพสต์ช่วงบ่ายสาม เหตุเพราะ ฝนตกฟ้าคะนองครับ กลัวเข้าเว็บไซต์แล้วเปรี้ยงปร้างขึ้นมา ไฟกระตุกดับวับเซฟงานไม่ทันจะพลันหาย ขออนุญาตพิมพ์ใหม่โพสต์ใหม่แล้วกันขอรับ

   พูดถึงตาเกิ้นนี่ ผมว่า ทักษะเชิงพรานแกออกจะเก่งกว่าตาคำในเพชรพระอุมานะครับ ผมเคยยำใหญ่เล่นๆในห้วงคำนึง จับล่องไพรกับเพชรพระอุมาให้มารวมกันเสีย ทั้งนี้ เพราะอยากรู้ว่า บุคคลในวรรณกรรมทั้งสองเรื่องจะสามารถเดินทางร่วมกันได้หรือไม่ เรื่องพิเรนทร์ของผม ออกมาบ๊องๆแบบนี้ครับ

   ภายหลังจบฉากสุดท้ายในเพชรพระอุมาของท่านพนมเทียน ฉากใหม่เปิดขึ้น ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เชษฐา วราฤทธิ์ ลืมตาตื่นขึ้น สายน้ำเกลือ อุปกรณ์ช่วยหายใจ และสรรพเครื่องมือช่วยชีวิตห้อยระโยงรยาง ชัยยันต์ ดาริน อนุชา นั่งเฝ้าพร้อมหน้า สืบไปสืบมา แท้จริง หม่อมราชวงศ์หนุ่มใหญ่มิได้เดินทาง เหตุการณ์ทั้งหมด เป็นเพียงความฝันยืดยาวขณะดำรงสภาพเจ้าชายนิทราเกือบปี วันที่อนุชาหนีออกจากบ้าน ประกาศว่าชาตินี้จะไม่มีใครในตระกูลวราฤทธิ์เห็นเขาอีกแล้ว เขาจะเข้าป่าไปเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมตามลำพัง เชษฐาได้สติภายหลังจากนั้นมินาน (ก่อนดารินกลับจากอังกฤษ) ก็ออกตามหา เริ่มจากเขตป่าอันเขาแหละน้องชายเคยคุ้น เคยเที่ยวล่าสัตว์ตามประสานักนิยมไพรด้วยกัน โดยตั้งสมมุติฐานว่า อนุชาอาจตั้งต้นจากจุดนั้น แล้วอดีตท่านทูตทหารบกก็บาดเจ็บสาหัสจากฤทธิ์ของสัตว์ป่า แน่หละ.... จะมือฉมัง หรือแม่นยำปานใด สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง เชษฐาถูกหามส่งโรงพยาบาลในลักษณะสิ้นสติ เมื่อดวงจิตยึดมั่นอยู่กับความเป็นห่วงน้องชาย มุ่งพะวงกับการติดตาม ดังนั้น ยามสลบหลับ ความฝันจึงดำเนินไปตามอุปาทาน (คล้ายๆคนตายแล้วฟื้น ตื่นขึ้นมาเล่าเรื่องแปลกๆฉะนั้นแหละ)

   ดารินบินกลับจากอังกฤษทันทีที่รู้ข่าวป่วยขั้นโคม่าของพี่ชาย วังวราฤทธิ์วุ่นวายโกลาหลยิ่ง ทุกบาท ทุกสตางค์ ท่านพ่อทรงทุ่มรักษา หาก ลูกชายใหญ่ก็ยังไม่ฟื้นตื่นขึ้นสักที อนุชาทราบข่าวก็พลันสิ้นทิฐิ เรื่องอื่นเอาไว้ก่อน เขาต้องกู้ชีวิตพี่ชายคนเดียวให้ได้ คุณชายกลางหวนคืนวัง เข้ากราบขอขมาท่านพ่อ พูดในทำนอง ผมมีส่วนผิด เพราะผม พี่ใหญ่จึงประสบอันตราย จากนั้น อนุชา ชัยยันต์ ดาริน ก็ผลัดกันเฝ้าเชษฐา บางทีก็มาพร้อมๆกัน หวัง หวัง แหละก็หวัง ว่าสักวัน คนไข้หนักจะลืมตา

   แล้ววันนั้นก็มาถึง เชษฐาคืนสมประดี พร้อมๆกับนิยายในความฝันอันโลดโผน ทั้งน้องทั้งเพื่อนอ้าปากค้าง ฟังเขาเล่าอย่างตื่นเต้นระทึกขวัญ

   ข่าวฟื้นของอดีตท่านทูตทหารบกรู้กันทั่ว เพื่อนฝูงมากมายต่างมาเยี่ยม หนึ่งในนั้นคือ เรือง ยุทธนา เขาผู้นี้สนิทกับชัยยันต์เพราะเป็นเพื่อนทหารรุ่นพี่ เรืองมากับศักดิ์ สุริยัน มิตรแท้ผู้ร่วมผจญภัยในป่ากับเขามาเนิ่นนาน ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง พรานไพรชื่อก้องคนหนึ่งก็กำลังนอนหยอดน้ำข้าวต้มอยู่ อันเนื่องมาจากกระทิงขวิด เขาคือรพินทร์ ไพรวัลย์

   ไม่ต้องสงสัยเลย ในเมื่อชื่อเสียงของรพินทร์เกริกก้อง ศักดิ์ สุริยัน ตลอดจนใครก็ตามที่ชอบบุกดงย่อมรู้จักเขา เชษฐาแม้ไม่เคยเห็นตัวจริงของพรานผู้นี้ แต่จากการติดต่อกับนายอำพนสม่ำเสมอ ย่อมต้องเคยยินกิตติศัพท์บ้าง และเมื่อฝันวกวน ก็เอารพินทร์เข้าไปกวนกับความฝันนั่นด้วย

   ช่างบังเอิญอย่างเหลือเชื่อ ที่ความฝันเรื่อง “เทือกเขาพระศิวะ” ของเชษฐา มิใช่เรื่องเลื่อนลอย ภายหลังจากศักดิ์พาพี่น้องตระกูลวราฤทธิ์เข้าเยี่ยมรพินทร์จอมพรานผู้ทระนง ต่างจึงรู้จากปากคำของรพินทร์ว่าเขามีลายแทงอันจะมุ่งหน้าไปเทือกเขาพระศิวะจริงๆ นักนิยมไพรหรือจะไม่อยากทดลอง มันท้าทายหยอกไปเสียเมื่อไหร่เล่า หากผลลัพธ์ปรากฏว่า ดินแดนแห่งความฝันในแผ่นภาพมโนวิถี หรือภวังคจิตของเชษฐากลายเป็นเรื่องจริงจังขึ้นมา

   อาการเชษฐาดีวันดีคืน พอเขาหาย ลูกผู้ชายเลือดข้นทั้งหมด บวกลูกผู้หญิงเลือดเข้มอีกหนึ่ง (คือดาริน) ก็ตกลงจะพิสูจน์ให้รู้ดำรู้แดงกันไปเลย การเดินทางจึงถูกตระเตรียม แหละเริ่มต้นในเวลาต่อมา คณะของเชษฐา อันมีรพินทร์เป็นมัคคุเทศก์ กับคณะของศักดิ์ สุริยัน อันประกอบด้วยร้อยเอกเรือง ยุทธนา แหละตาเกิ้น (เป็นหลัก) รวมกันเป็นคณะใหญ่คณะเดียว

   ตั้งแต่ผมเห็นหลายๆท่านเล่นเพชรพระอุมาภาคอลเวงในเว็บพันทิพย์ก็เกิดอยากเล่นบ้างครับ แต่เว็บดังกล่าวไม่เอื้อต่อการเข้าถึงสำหรับคนตาบอด ผมจึงขออนุญาตนำจินตนาการเลอะเทอะของตัวเองมาเปิดเผยที่นี่ครับ ผิดพลาดหรือมีสิ่งมิบังควรฉันใด ขอน้อมกราบแทบเท้าท่านครูมาลัย ชูพินิจ ท่านพนมเทียน อีกทั้งทุกๆท่านที่ชื่นชอบล่องไพร เพชรพระอุมา ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
 

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 28 ส.ค. 11, 14:13

สนุกดีค่ะ สำหรับเพชรพระอุมาภาคพิเศษ     ถ้าศักดิ์ สุริยัน รวมกับรพินทร์ ไพรวัลย์ได้  จะมีการผจญภัยอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านิทรานคร  โลกล้านปี และมรกตนคร ยังนึกไม่ออก
ขอแนะนำผลงานของนักเขียนเรื่องป่า วัธนา บุญยัง
เขาเขียนเรื่องป่าไว้ประมาณ ๒๐ กว่าเล่ม  ส่วนที่นำมาลงให้อ่าน เป็นบทความที่หาเจอผ่านอินทรเนตรนี้เอง
ชื่อ รอยเท้าในราวไพร
ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ 42  ฉบับที่ 11  เดือนมิถุนายน 2545

ผมมีโอกาสได้สัมผัสป่าตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบ เป็นการตามญาติผู้ใหญ่เข้าไปตัดหวายออกมาขาย เหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านมากว่าสี่สิบปีแล้ว ป่าดงดิบทึบทะมึนแห่งนั้น บัดนี้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ มีแต่โรงงานเต็มไปหมดขับรถผ่านทีไร แม้แต่ซาก คือไม้ใหญ่สักต้นก็ไม่มีให้เห็น

ผลจากการได้เข้าป่าเป็นครั้งแรก ป่าที่เคยได้ยินกิตติศัพท์ ฟังแต่คำบอกเล่าของคนรุ่นเก่ามานับครั้งไม่ถ้วน มันมืดครึ้ม ลึกลับ น่าสะพรึงกลัวจริงสมดังคำเล่าขาน ทุกย่างก้าวเต็มไปด้วยอันตราย ไม่ว่าจากสัตว์ใหญ่อย่างเสือ หมี หรือช้าง ลงมาถึงสัตว์ขนาดเล็กอย่างงู เห็บ และทาก หนทางที่ไปก็แสนยากลำบาก เกวียนเทียมควายสามเล่มที่บรรทุกเสบียงเข้าไปต้องช่วยกันลากบ้าง เข็นบ้าง ตัดกิ่งไม้รกขวางทาง ตัดทางใหม่ อ้อมต้นไม้ล้ม ข้ามห้วย ขึ้นเนินไม่รู้กี่ครั้งกว่าจะถึงที่หมาย

แต่ป่าหามีแต่ความน่ากลัวอย่างเดียวไม่ ตรงกันข้ามมันยังมีความสงบ ร่มรื่น และสวยงามน่าพิศวงอย่างยากที่จะหาที่ใดเสมอเหมือน ไม้ใหญ่แต่ละต้นสูงจนต้องแหงนมองกันเมื่อยคอ ลำต้นใหญ่หลายคนโอบ มีเถาวัลย์และบันไดลิงพันเกี่ยวระโยงระยาง ไม้ผลมีให้เก็บกินหลายชนิด มะไฟป่า ระกำ มะม่วง มะกอก ฯลฯ

ดอกไม้ป่าบานอยู่ดาษดื่น เข็มป่าสีส้ม เครือออนสีชมพูอมม่วงคลุมอยู่บนยอดไม้ ตะแบกประดู่ ยิ่งกล้วยไม้ประเภทช้างกระและกุหลาบม่วง บานส่งกลิ่นหอมเย็นมาเป็นระยะ

ตลอดทางที่ผ่านไป สัตว์ป่าสวยงามอย่างลิง ค่าง บ่าง ชะนี กระรอก กระแต มีให้เห็นและส่งเสียงให้ได้ยินตลอดเวลา โดยเฉพาะนกนานาชนิต ตั้งแต่ขนาดใหญ่อย่างนกเงือกกรามช้าง เหยี่ยวรุ้ง ลงมาถึงนกแก้ว ขุนทอง เขาเปล้า และกางเขนดง

ตลอดทางที่ผ่านไป สัตว์ป่าสวยงามอย่างลิง ค่าง บ่าง ชะนี กระรอก กระแต มีให้เห็นและส่งเสียงให้ได้ยินตลอดเวลา โดยเฉพาะนกนานาชนิต ตั้งแต่ขนาดใหญ่อย่างนกเงือกกรามช้าง เหยี่ยวรุ้ง ลงมาถึงนกแก้ว ขุนทอง เขาเปล้า และกางเขนดง

สัตว์บกก็มีให้เห็นกลางวันแสก ๆ โดยเฉพาะเก้ง วิ่งตัดหน้าขบวนในระยะใกล้หลายครั้ง ไม่ต้องพูดถึงรอยเท้าบนพื้นดิน ตามริมห้วยเต็มไปด้วยรอยหมู เรื่อยขึ้นไปถึงกระทิงและช้าง

แต่ที่ทำให้ทุกคนหนาว ๆ ร้อน ๆ โดยเฉพาะเด็กอย่างผม คือรอยกลมใหญ่เกินฝ่ามือกาง ที่ลุงคนนำทางชี้ให้ดูแล้วบอกว่ารอยเสือ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 28 ส.ค. 11, 14:14

ได้ยินคำว่าเสือ แทบจะทุกคนก็เกิดอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาวราวกับเป็นไข้ รู้สึกว่าป่ามันเย็นยะเยือกขึ้นมาทันทีทั้งที่เดินกันมาร้อนจนเหงื่อหยด
และทั้งหมดนั่นเอง คือเสน่ห์ที่ทำให้ผมหลงใหลกลายเป็นคนชอบเที่ยวป่ามาจนกระทั่งบัดนี้

แม้จะติดใจจนอยากเข้าไปอีกหลาย ๆ ครั้ง แต่ป่าก็เหมือนห่างไกลเกินไขว่คว้า เพราะการเข้าป่าแต่ละครั้งเป็นเรื่องใหญ่ที่เด็กอย่างผมไม่มีทางจะไปได้เอง

ความโชคดีที่แม้ไม่มีโอกาสได้เข้าป่าอีก แต่ยังมีหนังสือเกี่ยวกับป่าให้อ่าน ผมตามอ่านหนังสือเรื่องป่าทุกเล่มเท่าที่หาได้ในยุคนั้น ยิ่งอ่านก็ยิ่งเกิดภาพพจน์และจินตนาการเพราะทั้งฉากและบรรยากาศ ตัวเองก็ได้รู้ ได้เห็น และสัมผัสมาไม่ใช่น้อย สิ่งใดที่ยังไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น ก็อยากรู้ อยากเห็น กลายเป็นแรงกระตุ้นให้รักป่า อยากเที่ยวป่ามากขึ้นเป็นทวีคูณ

แล้วเมื่อมีโอกาสเข้าป่าได้ด้วยตัวเอง เริ่มจากป่าทางเหนือเมื่อเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่นั่น เชียงใหม่เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้วยังมีป่าเหลืออยู่มากพอสมควร โดยเฉพาะเส้นทางลูกรังจากเชียงดาวไปฝาง ฮอดไปแม่สะเรียง หรือแม่ริมผ่านโป่งแยงไปสะเมิง สมัยที่ยังไม่มีรถโดยสารวิ่ง ถนนคือทางเกวียนในหน้าแล้งและกลายเป็นลำห้วยในหน้าน้ำ สองข้างทางคือป่ารกทึบ ถ้าเดินไม่ถึงหมู่บ้านก็มีสิทธิ์อดข้าวตายกลางทาง

เมื่อป่ายังมีมากขนาดนั้น สัตว์ป่าจึงมีให้เห็นแทบจะตลอดทาง ที่ประทับใจมากที่สุด คือทางหลวงจากแม่สะเรียงไปแม่ฮ่องสอน เลยจากตัวอำเภอไปไม่ถึงกิโลเมตร บนต้นสักสองข้างถนนก็มีห้างดักยิงหมูป่าขัดไว้เป็นระยะ แสดงถึงความชุกชุมของหมูป่า ที่เดินข้ามถนนกันโดยไม่ต้องอาศัยทางม้าลาย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 28 ส.ค. 11, 14:15

ในระหว่างเรียนก็เที่ยวป่าทางเหนือ พอปิดเทอมผมมีโอกาสกลับมาเที่ยวป่าตะวันออกบ้านเกิดอีกครั้ง ป่าตะวันออกทางด้านเขาอ่างฤาไนเมื่อเกือบสี่สิบปีที่แล้ว ยังมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล กินอาณาเขตครอบคลุมไปหลายจังหวัดและติดต่อข้ามไปถึงฝั่งประเทศเขมร

ความประทับใจจากการเข้าป่าครั้งแรกในวัยเด็กยังมีต่อเนื่องมาถึงวัยหนุ่ม แม้ป่าจะลดพื้นที่ลงไปไม่น้อย ป่าวังเย็นที่ผมเคยเข้าไปตัดหวายกับพ่อแม่กลายเป็นไร่มันสำปะหลังไปหมดแล้ว แต่เลยจากนั้นป่ายังเขียวครึ้ม แมกไม้สูงใหญ่ยืนทะมึนหนาแน่น บริษัททำไม้เพิ่งจะเริ่มกรุยทางเข้าไป ไม้ตะเคียน แดง มะค่า และยาง ที่ถูกโค่นและชักลากมารวมหมอนที่ลาดกระทิงกองเป็นภูเขาเลากา ยางแต่ละต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว่าสองเมตร ไม้ซุงแถวนี้ที่ลากมาวางนอนไว้เวลายืนอยู่คนละด้านต้องตะโกนคุยกัน เพราะสูงเลยหัวทั้งนั้น

โชคดีมหาศาลของผมที่มีคนพาไปรู้จักพรานเก่าแก่ของป่านี้ และฝากฝังให้พาผมเที่ยวป่าให้ทั่ว นั่นเองจึงเป็นที่มาของประสบการณ์อันมีค่า ที่ผมนำออกมาเล่าขานและเขียนถึงอย่างไม่รู้จบ

ป่าใหญ่กับวัยหนุ่มของผมมีพรานเจนป่าเป็นผู้พาบุกเข้าไปในดงลึก นอนกลางดิน กินกลางทราย ใช้ชีวิตแบบพรานพื้นบ้านสมัยก่อนแท้ ๆ อาวุธคือปืนแก๊ปกระบอกเดียว อาหารมีเพียงพริก เกลือ และข้าวสารถุงเล็ก ๆ เอาไปมากก็แบกไม่ไหว อยู่ในป่าได้สองวันข้าวก็หมดแล้ว แต่ก็ไม่เคยอดอยากหิวโหย เพราะฝีมือของพรานบวกกับป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ อาหารมีอยู่รอบตัวถ้ารู้จักหามากิน ทั้งพืชผักผลไม้ป่าและสัตว์บก สัตว์ปีก รวมไปถึงกุ้ง หอย ปู ปลาในลำห้วย จนผมเชื่อสนิทในคำพูดของพรานเฒ่า ที่ว่าป่าคือแหล่งอาหารอันยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์

ตกมาถึงยุคปัจจุบันนี้ ชักจะเริ่มไม่แน่ใจเสียแล้วว่าคำพูดนั้นจะยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า เมื่อป่าไม่เป็นป่าอย่างแต่ก่อนอีกต่อไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 28 ส.ค. 11, 14:17

ในช่วงหลายสิบปีของการเดินป่าที่ผมหลงไหล ไม่ได้หมายความว่าทุกครั้งเต็มไปด้วยความสะดวกสบายราบรื่นไปเสียทั้งหมด ตรงกันข้าม ส่วนใหญ่เป็นการผจญภัยที่บางครั้งแทบจะเอาชีวิตไม่รอด ทั้งจากภัยธรรมชาติประเภทน้ำป่าที่พัดตึงลงมาอย่างไม่รู้ตัว แค่ตะเกียกตะกายเอาตัวรอดมาได้ก็บุญนักหนาแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเต็นท์และเสบียงที่หาซากไม่พบ

หรือบางทีก็โดนไฟป่าล้อมจนผิวเกรียมเนื้อแทบสุกถ้าไม่ใช้ไหวพริบและความรวดเร็วแก้สถานการณ์ไว้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีสภาพเหมือนเต่าภูเขาที่นอนตายให้เห็นเป็นระยะหรือไม่

นอกจากการเดินแบกเสบียงขึ้นเขาลงห้วยสุดแสนทรหด บางเวลาร้อนและกระหายน้ำจนคอแห้งเป็นผง แต่หาน้ำกินไม่ได้ เจอเถาวัลย์น้ำสักต้นเปรียบเหมือนเห็นพระมาโปรด รีบฟันลงมากรอกใส่ปาก ได้น้ำคนละห้าหยดสิบหยดพอรอดตาย

แต่บางครั้งก็เจอฝนกระหน่ำหนัก เสื้อผ้าข้าวของเปียกชุ่มโชก หาฟืนมาก่อไฟไม่ได้ ต้องนั่งสัปหงกหลับนกกันอยู่ตามโคนไม้ ข้าวปลาอาหารหุงไม่ได้ อดเกือบตายอีกเหมือนกัน

มีบ้างเหมือนกันที่ไม่ต้องเดิน อาศัยเส้นทางลากไม้เก่า ใช้รถจี๊ปรุ่นโบราณบุกเข้าไปให้ลึกที่สุดเท่าที่จะไปได้ ทั้งติดหล่ม ชนตอไม้ ยางแตก ติดอกตกร่องลึก ต้องขุดดิน ทั้งเข็น ทั้งลากจนหมดแรง บางครั้งติดค้างวันค้างคืน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 28 ส.ค. 11, 14:19

ถ้าจะถามว่าแล้วเข้าไปทำไมให้ลำบาก คงจะตอบยากอยู่เหมือนกัน รู้แต่ว่าใจมันอยากจะเข้าไปสัมผัสสรรหาความแปลกใหม่ ความตื่นเต้น กับเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ เป็นรสชาติของชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง

เหนือสิ่งอื่นใด คืออยากพบกับความสงบและงดงามของธรรมชาติที่ยังไม่เคยถูกรบกวนโดยมนุษย์คนใดมาก่อน

ปัจจุบันบรรยากาศและธรรมชาติของป่าดั้งเดิมหมดสิ้นไปแล้ว แต่ผมก็ยังไม่เลิก หรือเบื่อเที่ยวป่า และถ้าให้เลือกก็อยากเลือกเที่ยวป่าแบบเดินบุกเข้าไปมากกว่าใช้รถ แม้ว่าสังขารร่างกายจะอ่อนล้าไม่แข็งแรงเหมือนวัยหนุ่มแล้วก็ตาม

เที่ยวป่าแบบเดิน สามารถซอกซอนเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติของป่าได้อย่างลึกซึ้ง ได้เห็นได้ยินสรรพสำเนียงทุกอย่างชัดเจน ไม่ว่าเสียงนก แมลง แม้กระทั่งสายลมที่พัดผ่านยอดไม้และซอกเขา เดินป่ายิ่งน้อยคนยิ่งได้บรรยากาศ ได้ซึมซับความละเอียดอ่อนของธรรมชาติเต็ม ๆ

ที่สำคัญคือ การเดินเป็นการเบียดเบียนป่าน้อยที่สุด
จริงอยู่ การเดินต้องเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า บางครั้งเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยว บางครั้งน่ากลัว แต่นั่นก็เป็นการฝึกใจให้เป็นสมาธิได้อย่างหนึ่ง ได้อยู่คนเดียวเงียบ ๆ กลางป่า มีเวลาใคร่ครวญถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมา อยู่กับความสงบสงัด ร่มรื่น และสวยงามของธรรมชาติ แล้วอาจจะพบสัจธรรมได้ไม่ยากว่าอะไรคือสิ่งที่เราปารถนาอย่างแท้จริง อาจเป็นแรงผลักดันช่วยให้ช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ดำเนินไปอย่างมั่นคงและมีคุณค่ามากขึ้นก็เป็นได้

ขอฝากไว้สักนิด ถ้าไม่เคยลำบากเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ไฉนจะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของความสบาย จริงไหมครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 28 ส.ค. 11, 14:29

     "ป่าไม่ได้ให้ข้าพเจ้าแค่ความรู้สึกร้อนหนาว สนุกสนาน ตื่นเต้นเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า หรืออิ่มเอมกับความสดชื่นสวยงามของภาพที่ผ่านตาป่าในความรู้สึกของข้าพเจ้า ไม่ได้มีแค่ต้นไม้และสัตว์ แต่ป่ามีอะไรให้ข้าพเจ้าได้มากว่านั้น ในช่วงชีวิตที่ได้มีโอกาสตระเวนไปในป่าโปร่งและดงดิบด้วยความรัก และประทับใจในความงามและสงบสงัดของป่าเขาลำเนาไพร      มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นในป่า แม้บัดนี้กาลเวลาจะล่วงเลยมานานแล้ว   แต่เหตุการณ์เหล่านี้นั้นยังคงแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำมิรู้ลืม "

      ใบไม้ร่วงในป่าใหญ่ ถือได้ว่าเป็นนวนิยายแนวป่าชิ้นสำคัญอีกเล่มหนึ่งของเมืองไทย ที่ปลุกเร้าผู้อ่านให้เกิดความรักในธรรมชาติ หวงแหนป่าดงดิบ รักในสรรพสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยป่าซึ่งเป็นบ้านหลังสุดท้ายของมัน ที่มนุษย์กำลังบุกรุงเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งป่าผืนแล้วผืนเล่าหายไปจากแผนที่ของประเทศไทย....

      จาก ใบไม้ร่วงในป่าใหญ่ ของวัธนา บุญยัง
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 28 ส.ค. 11, 17:17

ผมละเลียดอ่านข้อความทั้งหมดที่ท่านอาจารย์เทาชมพูกรุณานำมาลงไว้ทีละบรรทัดอย่างซาบซึ้งในเสน่ห์แห่งป่าครับ กราบขอบพระคุณอาจารย์อย่างอเนกอนันต์ครับที่เมตตาแนะนำให้ผมรู้จักวรรณกรรมล้ำค่าอีกเล่มหนึ่ง “ใบไม้ร่วงในป่าใหญ่” น่าสนใจยิ่งครับ

   ขออนุญาตเรียนถามเพื่อรับความรู้จากอาจารย์ครับ เพื่อนๆเขาบอกว่า นวนิยายเรื่อง “ร้อยป่า” ก็ฟังสนุก พระเอกรู้สึกจะชื่อ เสือ กลิ่นศักดิ์ หรืออะไรนี่แหละครับ ผมไม่เคยลิ้มลอง หรือแม้แต่รู้เรื่องย่อ จึงไม่ยืมมาฟังครับ เพราะกลัวจะผิดหวัง อาจารย์เคยอ่านหนังสือเล่มนี้บ้างไหมครับ ขอความเห็นอาจารย์สักเล็กน้อยครับผม
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 28 ส.ค. 11, 18:02

"ร้อยป่า" เป็นนิยายเกี่ยวกับป่าไม้  ผู้แต่งคือ "อรชร(ศรี ชัยพฤกษ์)" และ "พันธุ์ บางกอก(สมพันธ์ ปานะถึก)"  เป็นนิยายเก่าแก่อายุไม่ต่ำกว่า 50 ปีแล้ว
เรื่องย่อ
 เสือ กลิ่นสัก เป็นเด็กกำพร้าจากบ้านป่าภาคเหนือ เป็นเด็กวัดที่เข้ากรุง เรียนจบจากแม่โจ้  แล้วก็กลับสู่ป่าในฐานะพนักงานป่าไม้ผู้รักษาป่าไม้ของชาติ
การทำหน้าที่ของเขาต้องต่อสู้อุปสรรคและความอยุติธรรม การดูถูกเหยียดหยาม การแบ่งชั้นวรรณะทางสังคม ทว่าคำสอนที่หลวงตาพร่ำบอกให้รักษาความดี ให้ยึดมั่นในการทำความดี และความรักระหว่างเพื่อน ที่เรียกว่า เพื่อนแท้ นำพาเขาก้าวผ่านอุปสรรคนานา

เสือ กลิ่นสัก...พนักงานป่าไม้ที่ซื่อสัตย์ ทั้งเก่ง ทั้งดี และสามารถชนะใจสาวด้วยความดี เสือ ยึดมั่น และบูชา ความรักของเขา แก่ธนิษฐา ลูกสาวคุณหลวงคหบดี แต่ธนิษฐา นั้นโชคร้ายมีโรคประจำตัว และต้องตอบแทนครอบครัว โดยรับหมั้นกับ อนิรุทธิ์ บุรษรูปงามแต่หลายหลากน้ำใจ ลูกชายพระยาฯ คหบดีใหญ่
วงจรชีวิต ให้ทั้งหมดพบกันตั้งแต่เด็ก จนกระทั่ง เวียนมาเป็นคู่รักคู่แค้นกัน ทั้งในหน้าที่ปกป้องพิทักษ์ป่าไม้ และคุ้มครองคนรัก

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 28 ส.ค. 11, 18:03

เสือเฝ้าปกป้อง ธนิษฐา หญิงสาวที่ตนบูชา แม้รู้ว่า ตนนั้นต่ำต้อยเพียงธุลีดิน   เสือมีหญิงสาวผ่านเข้ามาหลายคน   ล้วนแต่หลงรักเสือ แต่เสือไม่รักใครนอกจากธนิษฐา และ แสงทอง" แต่เมื่อถึงเวลาเลือกหนึ่งเดียว เสือก็เลือกธนิษฐา"

เสือ กลิ่นสักเป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้เข้มแข็ง ไม่เคยทรยศต่อหน้าที่การงาน และประเทศชาติ เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหลายๆ คน ในสมัยนั้น อยากจะเป็นพนักงานป่าไม้ และเป็นนักอนุรักษ์ป่า ที่ดี

 การผจญภัยของเสือมีทั้งต่อสู้่กับการลักลอบตัดไม้ การสวมรอยโค่นป่า และต้องต่อสู้กับอิทธิพลของเจ้าพ่อ   แต่เสือเป็นคนจริง ฉลาดรอบคอบ และมีคุณธรรมจึงผ่านปัญหามาได้ทุกครั้ง
ชีวิตต่อสู้นำเสือไปพบเสือเทิ้ม โจรร้าย ที่ตอนหลังกลายมาเป็นผู้ช่วยพระเอกปราบอธรรม

ภาคแรกได้รับความนิยม จึงมีร้อยป่า ภาคสมบูรณ์ตามมา   มีเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 28 ส.ค. 11, 18:07

คุณชูพงศ์คงเคยได้ยินเพลง ป่าลั่น  เอาคลิปมาให้ฟังค่ะ

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 29 ส.ค. 11, 11:02

ผมอ่านเรื่องย่อของ “ร้อยป่า” ที่ท่านอาจารย์เทาชมพูกรุณามอบความรู้จบแล้ว กราบขอบพระคุณอย่างสูงยิ่งครับ ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า ถ้าผมจะยืมร้อยป่ามาฟัง ก็คงจะฟังจำเพาะภาคที่ไม่เกี่ยวข้องกับอิทธิปาฏิหาริย์เท่านั้นพอครับ

   เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ นายชูพงค์สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ของขวัญที่ได้รับจากคุณพ่อคุณแม่ตลอดจนพี่น้อง คือหนังสือหนึ่งชุด ชุดนี้มีสามเล่ม ได้แก่ “สมิงไพร”, “ไพรมัจจุราช”, “ไพรพยัคฆ์” ผลงานของท่านชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ครับ ก่อนหน้านั้น ตอนเรียนมัธยมปลาย คุณน้าท่านเห็นหลานกำลังติดเพชรพระอุมาขนาดหนัก ท่านเลยซื้อ “ไพรผาดำ” ของท่านชาลีอีกเช่นกัน มาให้ลองสัมผัสดู สิ่งที่ผมขอสารภาพแก่ท่านผู้อ่านกระทู้ทุกๆท่านคือ หนังสืออันได้กล่าวนามมาทั้งหมด ผมเคยฟังเพียง “ไพรพยัคฆ์” เล่มเดียวเท่านั้น เหตุเพราะ มีเป็นหนังสือแถบเสียงอยู่แล้ว เล่มที่เหลือคงต้องรอต่อไปครับ

   ผมค้นข้อมูลจากอินทรเนตร (ขออนุญาตใช้คำนี้ตามท่านอาจารย์เทาชมพูขอรับ ชอบจัง) พบว่า ท่านชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ เป็นนักเขียนนิยายป่าผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่ง งานประพันธ์มีมากมายหลายเล่ม ผมสะดุดกึกเอากับชื่อหนึ่งเข้า คือ “ไพรมหากาฬ” ครับ เพราะไปเหมือนกับชื่อตอนแรกของเพชรพระอุมาภาค ๑ จากข้อมูลที่ค้นได้ “ไพรมหากาฬ” ของท่านชาลีเขียนก่อนเพชรพระอุมาแน่ๆ ในเว็บไซต์wikipedia ระบุว่า เรื่องนี้ ละครวิทยุคณะเสนีย์ บุษปะเกศ นำไปเล่นออกอากาศ พ.ศ. ๒๕๐๐ ก่อนการถือกำเนิดของเพชรพระอุมาถึง ๗ ปี ผมชักอยากอ่าน “ไพรมหากาฬ” ของท่านชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ เปรียบเทียบกับ “ไพรมหากาฬ” ของท่านพนมเทียนขึ้นมาแล้วซีครับ

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 29 ส.ค. 11, 13:49

เรียนคุณชูพงค์ที่นับถือ

เข้าไปหาข้อมูลเรื่องไพรมหากาฬ มาให้เปิดฟังได้เลยครับ ที่ลิงค์นี้เลย http://www.4shared.com/audio/37AmIWod/__3.html

ผมฟังแล้วตื่นเต้นดีครับ


ส่วนเพชรพระอุมา (หนังสือเสียง โหลดฟังได้ฟรีเช่นกันครับ) http://biftkagird.blogspot.com/2010/08/blog-post.html
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 29 ส.ค. 11, 14:14

เรียนคุณหนุ่มสยามที่รับถือยิ่งครับ

   เพชรพระอุมา ผมยังไม่เบื่อในการเสพครับ  ที่บ้านมีซีดีให้นั่งฟังนอนฟังอยู่เนืองนิตย์ นอกจากความสนุกตื่นเต้นแล้ว ผมยังฟังเพื่อศึกษากระบวนวรรณศิลป์อย่างเพลิดเพลินยิ่ง ท่านพนมเทียนสลักเสลาอักษรเสียจนคนตาบอดหลังคลอดสามเดือนอย่างผมเห็นภาพในหัว ได้ยินเสียงขณะเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดจนสรรพสำเนียงของป่า พวกเราคนตาบอดมีความเห็นพ้องต้องกันครับ ว่า เพชรพระอุมา เป็นวรรณกรรมที่เข้าถึงคนตาบอด หมายถึง สามารถทำให้คนตาบอดมองเห็นในจินตนาการได้กระจ่าง ฉะนั้น หนังสือยอดนิยมของห้องสมุดหนังสือเสียงสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย  จะประจำหนึ่งเดือน สามเดือน หกเดือน หรือสิบสองเดือนก็ตาม เพชรพระอุมา (ตอนใดตอนหนึ่ง หรือมากกว่านั้น) ไม่เคยตกครับ
     
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง