เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 21639 เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 25 ส.ค. 11, 16:47

เรียน ท่านอาจารย์เทาชมพูและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติแห่งเรือนไทยทุกท่านครับ

   เมื่อ คุณ Harn_bing ตั้งกระทู้เกี่ยวกับอาถรรพ์ป่าขึ้นนั้น ผมอยากเข้าร่วมเป็นที่สุด แต่...นึกลักษณะของสิ่งลี้ลับในไพรพงไม่ออกสักที ถามตัวเองว่าเพราะอะไร คำตอบที่ได้ คือมัวไปนึกถึงป่าใหญ่กว้าง โดยมิได้จัดระเบียบความคิดเสียก่อน ปัญหาต่อไปคือ ผมควรจะจัดระเบียบความคิดอย่างไรเล่า คำตอบได้แก่ นึกให้ออกว่าเคยอ่านวรรณกรรมผจญภัยในป่าเรื่องอะไรบ้าง แล้วอาถรรพ์ทั้งหลายแหล่จะผุดขึ้นมา กระทู้นี้ จึงขอเชิญชวนทุกท่านกรุณาสละเวลามาร่วมสนุก ถ่ายทอดความบันเทิงจากวรรณกรรมป่าๆที่ทุกท่านเคยอ่าน เพื่อความหฤหรรษ์ แหละเพื่อบันทึกไว้สำหรับการสอบค้น ศึกษาสืบไปครับ

   พูดถึงวรรณกรรมผจญภัยในดงลึก แม้เพชรพระอุมาจะเป็นเอกอะคร้าว แต่ผมต้องขอคำนับครูมาลัย ชูพินิจ เป็นปฐมครับ เพราะท่าน บรรณพิภพไทยจึงมี “ล่องไพร” ตอนแรกสุดของนวนิยายชุดนี้ มีชื่อว่า “ไอ้เก” ศักดิ์ สุริยัน กับร้อยเอกเรือง ยุทธนา พบกันครั้งแรกก็ตอนนี้เอง

   ไอ้เก... กระทิงฝาแฝดซึ่งใครๆต่างเชื่อว่ามันเป็น กระทิงผีสิง เนื่องจากโหดร้ายใจฉกรรจ์นัก พรานคนไหนๆปราบมันไม่ลงสักคน มิหนำ กลับถูกมันขยี้ยับคนแล้วคนเล่า ถึงคราวเคราะห์ เพื่อนสนิทของร้อยเอกเรือง (หากผมจำไม่ผิด รู้สึกจะชื่อชาตรีกระมังครับ ยศอะไรลืมไปเสียแล้ว) ถูกเจ้ากระทิงมฤตยูสังหาร ประจวบกับเรืองได้ข่าวว่าศักดิ์ สุริยัน ท่องเที่ยวล่าสัตว์อยู่ในอาณาบริเวณใกล้เคียง เขาจึงไปขอความช่วยเหลือ ศักดิ์ตกลงช่วยด้วยความเต็มใจ เมื่อนั้น การเดินทางตามล่าอันเข้มข้น พร้อมๆมิตรภาพอันข้นเข้มก็อุบัติ บุกบั่นฟันฝ่า เผชิญหน้ากับเสือกินคน, โป่งค่าง, โขลงช้าง ไฟป่า (ขนาดย่อมๆ ไม่มหึมาน่ากลัวอย่างกลางทุ่งแฝกในเพชรพระอุมา) ฝนกระหน่ำ ท้ายสุดก็...ไอ้เก

   เท่าที่ยังเหลือมาในความทรงจำของผม ศักดิ์ สุริยันยิงไอ้เกถูก แต่มิใช่ผู้ยื่นมรณะให้มัน จุดจบจริงๆของกระทิงฝาแฝดคู่นี้ มันขวิดกันเองแล้วตกเหวหรือหน้าผาลงไปตายครับ สมดังคำทำนายของพระธุดงค์ ซึ่งกล่าวว่า หากไอ้เกยังไม่ถึงฆาต ใคร หรืออะไรก็ฆ่ามันมิได้ ต่อเมื่อถึงเวลาของมันนั่นแหละ มันจะทำลายล้างกันเอง ไอ้เกฝาแฝด มีอดีตชาติเป็นมนุษย์สองพี่น้อง ทว่า ผมลืมเรื่องอดีตกาลแหละอดีตกรรมของสองคนนั่นไปแล้วครับ ท่านใดพอจะนึกออก โปรดการุณย์ฟื้นความจำให้ผมด้วยเถิดครับ และถ้าท่านมีวรรณกรรมผจญภัยในพงพีเล่มใดยังประทับตราตรึงจิตอยู่ เชิญมาร่วมเปิดบันทึกกันเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 25 ส.ค. 11, 21:54

ยินดีเข้าร่วมวงสนทนาด้วยครับ ตั้งใจจะเข้ากระทู้เรื่องแบบนี้อยู่แล้ว แต่ยังไม่สบช่อง เวลาและโอกาส และก็ไม่มีโอกาสค้นดูกระทู้เก่าของคุณ Harn_bing ด้วยครับ มัวแต่ไปดูกระทู้อื่นๆทั้งๆที่ตนเองก็สนใจและมีประสบการณ์ในเรื่องนี้อยู่บ้างจากชีวิตการทำงานในป่า

ผมอ่านวรรณกรรมประเภทนี้น้อยมาก เรียกว่าแทบไม่ได้อ่านเลย แต่คิดว่าพอจะสนทนาในเรื่องเหล่านี้ได้บ้างครับ

ผมได้มีโอกาสพบบุคคลหนึ่ง และได้เยี่ยมเยียนสนทนากันตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2514 ไปอีกหลายปี หากจะเอ่ยนามคงไม่ผิดกติกานะครับ ท่านชื่อ สนั่น พงษ์โชติ ช่วงนั้นท่านก็มีอายุประมาณ 60 ปีแล้ว ท่านเป็นแพทย์ประจำตำบลหรือสัตว์แพทย์ประจำตำบลผมจำได้ไม่แน่ชัดแล้ว บ้านก็อยู่ที่ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
ท่านเล่าว่า คุณมาลัย ชูพินิจ ได้เคยพบกับท่านและสนทนากันเรื่องป่าดงพงไพร การสนทนาเป็นไปอย่างถูกคอมาก คุณสนั่น ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับป่าและสัตว์ต่างๆตามประสบการณ์และความเป็นจริงที่ท่านเคยประสบ โดยเฉพาะป่าในเขต อ.ศรีสวัสดิ์ และ อ.บ่อพลอย ถึงขนาดไม่ได้หลับนอนจุดตะเกียงคุยกันทั้งคืน คุณมาลัย ก็สอบถามและจดบันทึกข้อมูลสำคัญเอาไว้ และเพียงคืนเดียวนั้นเอง หลังจากนั้นคุณมาลัยก็ไปเขียนหนังสือเรื่อง "ล่องไพร" ในนามปากกาว่า น้อย อินทนนท์ จำจากคำบอกเล่าได้ว่า หลังจากนั้นก็มีการพบปะกันระหว่างบุคคลทั้งสองนี้บ้าง แต่ละครั้งก็ออกไปสัมผัสกับในสนามด้วยกัน เช่น เกี่ยวกับเรื่องของนกที่ขุดรูอยู่บริเวณตลิ่งของแม่น้ำแควใหญ่เป็นต้น

คิดว่าความจำของผมคงไม่ผิดเรื่องผิดคนครับ

เอาเป็นว่า ผมเชื่อว่าเรื่องทั้งหลายในวรรณกรรมชิ้นนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานตามประสบการณ์จริงที่ผู้เล่าได้พบมา ผมก็พบด้วยตนเองในหลายเรื่องและก็ได้สนทนากับ หมอหนั่นคนนี้แหละครับ ด้วยความสนใจในประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

 
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 ส.ค. 11, 08:41

บทชมธรรมชาติในเสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน
 
… พระสุริยาร่อนเรื่อยลงริมดง      เลี้ยวลงเกือบลับพระเมรุใหญ่
สกุณาร่าร้องระงมไพร      เรไรหริ่งรอบลำดวนดัง
เจ้าพลายแก้วแว่วหวาดชะนีโหย      วิเวกโวยหวี่หวีประหวั่นหวัง
ลูกน้อยเหนี่ยวนิ่งบนกิ่งรัง      เหมือนพิมพี่เจ้าสั่งแต่แรกมา
เห็นค่างเคียงนางอยู่ข้างคู่     พิศดูเตือนใจอาลัยหา
เหมือนพิมน้อยแนบนั่งฟังเจรจา     เจ้าแก้วตาป่านฉะนี้จะอย่างไร...
 
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 ส.ค. 11, 10:21

ขอบพระคุณคุณ naitang เป็นอย่างยิ่งครับที่กรุณาแบ่งปันประสบการณ์
 รวมถึงกลอนเพราะๆจากคุณหนุ่มสยามด้วยครับ

   ในชีวิตผม เคยเที่ยวป่าไม่กี่ครั้งเองครับ และก็ย่ำอยู่แถวๆชายดงเท่านั้น หนล่าสุด ประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๐ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยซึ่งผมทำงานอยู่ จัดอบรมเจ้าหน้าที่ ณ ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ผมดึงดันจะเข้าเขตป่าลึกให้ได้ แต่ก็ไม่สมประสงค์ครับ เพราะกิจกรรมสัมผัสป่าจัดขึ้นแค่วันเดียว พวกเราก็เลยได้คลำต้นไม้ไม่กี่ต้น ไอ้ที่หวังจะเจอสัตว์ป่าก็มิได้เจอ ขนาดวิหคไพรอันผมคาดว่าคงจะยินเสียงซ้อแซ้เซ็งแซ่ก็กลับสงัด เจ้าหน้าที่นำชมวนอุทยานอธิบายว่า “แค่ได้ยินเสียงฝีเท้าคน สัตว์เขาก็หลบหน้ากันแล้วหละครับ” เอาเถอะน่า... อย่างน้อยๆ ผมก็ได้คลำรอยเท้าช้างหละครับ

   พูดถึงครูมาลัย ชูพินิจ นอกจาก “ล่องไพร” แล้ว ท่านยังเขียน “ลูกไพร” ขึ้นอีกเล่ม เป็นนวนิยายผจญภัยในป่าที่มีเด็กเป็นตัวละครเอก ตาเกิ้นโด่งดังคู่บารมีล่องไพร เขิ่ง ก็สร้างชื่อเสียง วีรกรรมของพรานรุ่นเยาว์ได้น่าทึ่งไม่แพ้กัน สารคดีชุด “ทุ่งโล่งและดงทึบ” ของครูมาลัยก็น่าอ่าน เสียดายครับ เล่มนี้ยังไม่ได้รับการผลิตเป็นหนังสือเสียง ผมเลยมิมีโอกาสฟัง

   ผมรู้มาเลาๆว่า “ล่องไพร” เคยสร้างเป็นละครทางโทรทัศน์ด้วย มีท่านใดเคยชมบ้างไหมครับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 ส.ค. 11, 10:52

สิ่งหนึ่งที่คุณชูพงค์รับรู้ถึงป่าไม้ บรรยากาศเป็นอย่างไรครับ ช่วยเล่าให้ฟังสักหน่อย

พลังแห่งป่า นั้นที่กล่าวว่าลึกลับนั้นเกิดจากพลังแห่งธรรมชาติ ทั้งป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ซึ่งหากเดินเข้าป่านั้น สิ่งที่เราต้องพบเจอคือ การต่อสู้ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ทางร่างกาย และทางจิตใจ

ทางร่างกายได้แก่เหล่าสัตว์มีพิษ แมลง ทากดูเลือด และหนทางที่รก ต้องลุยเข้าป่า ส่วนการต่อสู้ทางจิตใจนั้นก็ออกมาวาดลวดลายตามวรรณกรรม ทั้งสิ่งเร้นรับแห่งป่า ความน่ากลัวแฝงพลังที่มนุษย์หาคำตอบไม่ได้ทำให้เห็นว่า มนุษย์นั้นเล็กน้อยเพียงใดเมื่อเดินมุ่งหน้าเข้าป่าดิบอันน่าอันตรายทุกประการครับ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 ส.ค. 11, 15:24

เรียนคุณหนุ่มสยามและทุกท่านครับ

   ก่อนวันเที่ยวป่าห้วยขาแข้ง (แบบผิวเผินเหลือเกิน)ห นึ่งวัน ผมตื่นเต้นมาก ตั้งหวังไว้สูงจะขอลิ้มรสชาติตามที่เคยอ่านมาจากงานวรรณกรรม พอวันจริงมาถึง หัวใจมันโลดลอยตั้งแต่ตรู่ ทุกนาที มีแต่รพินทร์ ไพรวัลย์ อยู่ในสมอง เบื้องแรกที่เท้าสัมผัสพื้นป่า มันเหมือนหัวใจพองคับอกครับ เราเริ่มย่ำกันตั้งแต่บ่ายโมง บรรยากาศค่อนข้างอ้าวอับ ยังดีอยู่หรอกที่ดวงตะวันปรานี ไม่ส่งเปลวแรงร้อนมารอนกำลัง ต้นไม้มีให้ลูบคลำจับต้องมากมาย น่าเสียดายครับ เมื่อเวลาล่วงถึงบัดนี้ ผมจำไม่ได้เสียแล้วว่าต้นอะไรมีรูปร่างแบบไหน ยามกระทบกับมือ ให้ความรู้สึกเช่นไรบ้าง

   อุปสรรคขนาดเล็กๆซึ่งได้เผชิญ มีอยู่จังหวะหนึ่ง ทุกคนต้องก้าวข้ามขอนไม้สูงเทียมหัวเข่าเพราะเป็นเส้นทางผ่าน นั่นประการหนึ่งหละ กับอีกประการหนึ่งนั้น นี่คือกิจกรรมแฝงนัยให้พวกเรารู้จัก “ก้าวข้าม” สิ่งกีดขวาง ผลลัพธ์สำหรับผมคือ หกล้มครับ (ฮา) น้องผู้หญิงตัวเล็กในฐานะเพื่อนร่วมงานต้องยื่นมือพยุง พลางละล่ำละลัก “พี่ชู ขอโทษขอโทษ เจ็บตรงไหนหรือเปล่า”
   “เปล่า” คำปฏิเสธของผมออกมาจากใจจริงครับ “สนุกดีออก เดินต่อเถอะ” เวลาผ่านไป ผ่านไป แหละผ่านไป ป่ายังคงสภาพดุจไร้ชีวิต
   “อยากเจอโขลงช้างจัง” ผมเปรยอย่างคะนองปาก
   “โอ๊ย” เพื่อนร่วมงานอีกคนร้อง “ถ้าเจอได้วิ่งกันป่าราบ”
   “เราไม่มีทางเจอสัตว์ใหญ่บ้างหรือครับ” ผมไม่หมดหวังง่ายๆ ตั้งกระทู้แก่ผู้นำทาง ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ประจำวนอุทยานนั่นเอง
   “ตั้งแต่ก้าวแรกที่เราเหยียบย่างเข้ามา เขาก็หลบกันแล้วครับ” เขาให้ความรู้ “ตามปกติ สัตว์ป่ามักจะหลีกคน”
   “ว้า...” ผมออกอุทานแสนเสียดาย “งั้น ไอ้ที่เคยอ่านในหนังสือก็อดเจอหมด”
   “ไอ้ที่คุณอยากเจอน่ะ มันอันตรายทั้งนั้นนะครับ” หางเสียงมัคคุเทศก์กลั้วหัวเราะน้อยๆ ทำเอาผมเงียบ จริงสิ... คนตาบอด หากจ๊ะเอ๋กับโพยภัยจังหน้าเข้า จะเอาตัวรอดอย่างไร

   ประมาณเกือบบ่ายสามโมง เมฆฉอุ่มคลุ้มครึ้มเริ่มตั้งเค้า
   “ฝนจะตกแล้ว” ใครอีกคนในประดาพวกเราปรารภ ขณะนั้น เจ้าหน้าที่พาเราเดินทะลุดงเพื่อจะกลับมายังหนทางเก่า สำหรับหลายๆคน ต้องการออกจากป่าก่อนฝนตก ตรงกันข้ามกับผม อยากผจญฝนหนักสักที ใคร่รู้นัก จะน่ากลัวอย่างในงานวรรณกรรมไหม ถ้ามีฟ้าคำรณกระหึ่มปานผืนโพยมจะแยก หรือพายุหวีดหวิวประหนึ่งจะพลิกไพรให้คว่ำหละก็..... อหา! น่าระทึกใจนัก

   เราได้รับน้ำมนต์พระพิรุณก่อนออกพ้นทางเข้าป่าเมื่อขามาครับ เพื่อนๆบ่นกันกระปอดกระแปด ขณะนายชูพงค์ปรบมือร่าเริง ขึ้นรถตู้กลับบ้านพักในลักษณะเปียกโซกทั้งกาย ทว่าฉ่ำชื่นใจเกินพรรณนา ครับผม
   
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 ส.ค. 11, 15:59

เรียนชูพงค์ที่นับถือ

เรื่องเหล่าสรรพสัตว์ใหญ่ที่ท่านต้องการพบเห็น เป็นจินตนาการที่ทุก ๆ คนก็อยากสัมผัส ได้เห็นว่าสัตว์ป่าเหล่านี้ล้วนอยู่ในธรรมชาติตามวิถีแห่งโลก แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นสิ่งที่น่ากลัวและอันตรายตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวไว้ทุกประการ สรรพสัตว์ใหญ่นั้นมีวงจรชีวิตของมัน บ้างหากินเช้า กลางคืน ค่ำ ต่างแวะเวียนออกมาหากิน หากแต่ประสาทสัมผัสที่วิเศษเหนือกว่าเราคือ จมูก หู และตา โดยลมนั้นจะพากลิ่นมนุษย์ล่องลอยไปยังจมูก เสียงเหยีบใบไม้แค่กร๊อบเดียว ก็ทำให้สัตว์พวกนี้หยุดการกระทำ และระวังตัวทุกขณะ

ต่อเมื่อคุณชูพงค์อยากเจอะช้างแบบประจันหน้า ช้างจะหวงอาณาเขตที่อยู่รอบ ๆ มาก ถึงขนาดวิ่งเข้าพร้อมเอางวงพาดได้ทุกเมื่อ แต่สัตว์ที่แฝงในป่าใหญ่ที่น่ากลัวไม่แพ้กันคือ งู และ แมงมุม พวกนี้จะอยู่นิ่ง ๆ ไม่ขยับรอให้เหยื่อเข้าใกล้แล้วจึงกัด น่ากลัวกว่ามากครับ

สำหรับพวกนายพรานที่เข้าป่าล่าสัตว์ เขาจะทำที่พักไว้บนต้นไม้ครับ (เรียกว่า ร้าน) และต้องอยู่ใต้ลม ไม่ให้กลิ่นมนุษย์ไปถึงจมูกสัตว์ได้ แถมยังห้ามสูบบุหรี่อีก เพราะมีทั้งกลิ่น ทั้งแสงไฟ และร้านที่อยู่ต้องอยู่บริเวณ "โป่งดิน" เป็นบริเวณดินที่แร่ธาตุพวกเกลือแร่อยู่มาก สัตว์ป่าจะเดินมากินดินเหล่านี้ เพื่อเพิ่มแร่ธาตุให้กับร่างกาย นายพรานก็อาศัยโป่งดินนี้คอยซุ่มจับสัตว์ครับ

และการคลำต้นไม้ของคุณชูพงค์นั้น มัวแต่ตื่นเต้นตั้งแต่เช้า ไม่ทราบว่าได้ยินเสียงเหล่าแมงในป่าบ้างไหมครับ เสียงแมลงร้องเซ็งแซ่นี้ก็เป็นโลกแห่งป่าเช่นกันนะครับ
ลองฟังเสียงป่ากุยบรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ครับ

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 ส.ค. 11, 16:13

เสียงป่าดิบ ได้ยินพวกนกร้อง และแมลงร้อง บางช่วงเสียงย่ำใบไม้ กรอบ ๆ และกิ่งไม้หัก

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 26 ส.ค. 11, 16:38

ข้าพเจ้าเคยออกค่ายไปทำกิจกรรมในป่าเขาเขียว จ.ชลบุรี เขาจัดไว้เป็นสวนสัตว์เปิดให้ทำกิจกรรมตอนกลางคืน คือ ดูสัตว์ป่าตอนกลางคืนครับ อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่า สัตว์บางประเภทจะหากินตอนกลางคืนและปลอดภัยจากผู้ล่า เจ้าหน้าที่ได้ให้ความรู้ไว้ว่า เมื่อเราส่องไฟฉายไปที่สัตว์ป่าต่าง ๆ ดวงตาจะสะท้อนแสงออกมาให้เราเห็นได้ชัดเจน

สัตว์ที่กินพืชทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์ หากโดนไฟส่องแล้ว ดวงตาจะเป็นลูกแก้วแดงฉาน ส่วนสัตว์กินเนื้อเมื่อไฟต้องดวงตาจะเห็นสีเหลืองหรือเขียว ก็ให้เผ่นได้เลยครับ

อธิบายเสียเกินขอบเขตกระทู้ ขอจบด้วยกลอนแห่งกวี สุนทรภู่ บรรยายป่าชายเลนให้ครับ

"จนออกช่องคลองบางตะบูนใหญ่  ล้วนป่าไม้ตีนเป็ดเสม็ดแสม

นกกะลางยางกรอกกระรอกกระแต    เสียงซ้อแซ้สองข้างทางกันดารฯ"

              (นิราศเมืองเพชร   บทประพันธ์ของสุนทรภู่)

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 26 ส.ค. 11, 21:00

     ตอนนี้นึกออกแต่เขาใหญ่ เพราะไปปากช่องบ่อย    แต่ในเมื่อไปทางรถยนต์ ไม่ได้เดินเข้าไปไปในตัวป่าจริงๆ ก็เหมือนไม่ได้ไปป่าอยู่นั่นเองละค่ะ
     ตอนไปค้างที่สถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศบนยอดเขาเขียว  นอกจากเจอ "วันเพ็ญ"  ที่เคยเอามาโชว์ในกระทู้สัตว์ประหลาดตอนกลางคืนเขาพาส่องสัตว์   นึกว่าจะเจอเสือเจอหมีบ้างก็ไม่เจอ  เจอแต่กวางซึ่งคงจะเป็นดาราชินกับแสงไฟส่อง  พวกนี้ก็เลยหมอบบ้าง ยืนบ้าง ด้วยท่าทางเฉยๆ ไม่ค่อยไยดีกับรถของมนุษย์ที่แล่นตามกันไป พร้อมสปอตไลท์จ้าบนหลังคา   
อ้อ เจออีกอย่างคือลิงที่วิ่งข้ามถนนมายั้วเยี้ยกันอยู่กลางถนน  คอยรับกล้วยและผลไม้อื่นๆที่โยนลงไปให้จากรถ    ไม่เกี่ยงด้วยค่ะถ้าเป็นขนมหรือคุกกี้

     ไม่ทราบว่าคุณชูพงศ์เคยอ่าน บึงหญ้าป่าใหญ่ ของคุณเทพศิริ สุขโสภาหรือไม่  ใช้อินทรเนตรสอดส่องดูก็พบว่ามีผู้เขียนถึงตัวละครในเรื่องนี้เอาไว้น่ารักมาก  เลยขอลอกมาให้อ่านกันค่ะ
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 26 ส.ค. 11, 21:01

     "โทน" พระเอกแห่งบึงหญ้าใหญ่
     โทนเป็นเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่   ไม่ได้กำพร้านะ แต่เหมือนพ่อกับแม่เขาเดินทางไปที่อื่นแล้วยังไม่กลับมาเขาเลยอยู่คนเดียว อยู่บ้านบนต้นไม้ท้ายวัด เอากับเขาสิ ข้าวปลาอาหารรึ โทนก็หาเอาจากในบึงหญ้าใหญ่นั่นแหละ แล้วก็ยังมีแก่ใจเอามาแจกเพื่อน ๆ คนอื่น ที่พ่อแม่ยากจนอีกด้วย ใช่ ... โทนเป็นคนมีน้ำใจ แม้ว่าเขาจะอ่านหนังสือได้ไม่เก่ง แต่เขาก็มี "ผม" อยู่ใกล้ ๆ คอยอ่าน คอยเขียนอะไรให้เขาเสมอ ในขณะที่โทนก็จะคอยปกป้องเวลาเด็กโตกว่ามาแกล้ง "ผม" ซึ่งในเรื่อง เป็นเด็กชายที่ร้องไห้เก่ง พูดจาจ๊ะจ๋าน่ารัก ความสัมพันธ์ของเด็กชายทั้งสองดูจะมีความลึกซึ้งมากกว่ากับเพื่อนคนอื่น ๆ

      ...เขานี่แหละ ที่ทำให้หมู่บ้านของเรากลายเป็นมุมหนึ่งอันงดงามแห่งโลก เขาควรจะเติบโตไปเป็นผู้ถ่ายทอดสิ่งที่มีเสน่ห์มาชูใจคน ความคิดฝันของเขาพิเศษสุดเท่าที่เด็กคนหนึ่งจะเคยมี แผ่นดินทองของไทยนี่แหละที่หล่อหลอมเขา...
      ...เรื่องของเขาเหลวไหลใครว่า เขาทำให้เรารู้จักสายน้ำลำแคว รู้รักแม้หมู่ไม้สายลม เราเข้าใจฟ้าฝนโคลนเหลว ก็เพราะเขาด้วยมิใช่หรือ เราเป็นหนึ่งเดียวเกี่ยวพัน เราเอนอิงกันอยู่ เราเรียนรู้จากกันและกัน...
      บึงหญ้าป่าใหญ่ เป็นเรื่องราวของเด็กชายสองคน ( ผม และ โทน ) ที่รักและผูกพันกัน มีชีวิตในชนบทเมื่อหลายสิบปีก่อน เป็นเพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้อง ที่ช่วยเหลือเกิ้อกูลกัน เวลาผ่านไปเด็กคนหนึ่งมีโอกาสได้ไปเรียนต่อที่อื่น ต้องจากบ้านไป ขณะที่เด็กอีกคนซึ่งโตกว่า  และคอยปกป้องเพื่อนมาตลอด ไม่มีโอกาสจะเรียน ไม่มีโอกาสสัมผัสกับความเจริญใด ๆ คงมีชีวิตอยู่ กับป่า กับบึงเช่นเดิม และยังคงมีความอ่อนโยนในหัวใจ มีมุมมองไม่ต่างจากวัยเยาว์ในขณะที่คนที่จากไปใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ลืมเลือนความคิดเหล่านั้นไปแล้ว
         บึงหญ้าป่าใหญ่ เป็นเรื่องเล่าผ่านประสบการณ์ของ "ผม" เรื่องราวเริ่มต้นในวันที่โลกของ "ผม" กว้างขึ้นกว่าคำว่าบ้าน วันที่ "ผม"เดินไปโรงเรียนในวันแรก จนกระทั่ง "ผม" เดินทางมาเมืองใหญ่ และกลับไปเยือน                     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 26 ส.ค. 11, 21:03

     เรื่องเล่าในบึงหญ้าป่าใหญ่ เป็นเรื่องเล่า ถึงเรื่องราวใหม่ๆ ที่ "ผม" พบเจอ เล่าถึงครู เพื่อนเด็กเรียน เพื่อนเด็กเกเร เพื่อนเด็กโข่ง เรื่องเล่าของผมค่อยๆขยายใหญ่ขึ้น เหมือนกับโลกของเขาค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นตามวัย จากแค่รอบบ้าน รอบโรงเรียน จนถึงบึงหญ้าใหญ่ ไปจบที่เมืองกรุง
    ฉากหลังของเรื่องเล่าทั้งหมด คือภาพหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ แม่น้ำ บึง สัตย์น้อยใหญ่ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันทั้งหมดนี้คือ ทรัพยากรสำหรับการเลี้ยงชีพของคนในหมู่บ้าน และมันคือ ทรัพยากร เพื่อการเรียนรู้ของเด็กๆ  ฉากหลังที่อาจจะดูเป็นอดีต และค้นหาไม่เจอในปัจจุบัน
     เป็นหนังสือเด็กที่คนอายุรุ่นเราก็อ่านได้อย่างสนุก ต้องบอกว่าอ่านแล้ว หลงรัก โทน ในวัยเด็กนั่นเลยหล่ะ 555
       
     http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=7552.0
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 26 ส.ค. 11, 22:01

ขอแทรกนิดนึงครับ
ลืมบอกไปว่า ตาเกิ้นในล่องไพรนั้น ก็คือ หมอหนั่นคนที่ผมกล่าวถึงนั่นเองครับ ล้อเล่นกับท่านบ่อยๆแต่ท่านก็ไม่เคยปฏิเสธ
บันทึกการเข้า
kui045
มัจฉานุ
**
ตอบ: 94


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 27 ส.ค. 11, 07:57

เท่าทีอ่านซึมซับและประทับใจ ก็เรื่อง

ขุนช้าง-ขุนแผน
ลิลิตรพะลอ
กาพย์เห่เรือ
ลิลิตตะเลงพ่าย

เพชรพระอุมา
ล่องไพร
บึงหญ้าป่าใหญ่
บ้านเล็กในป่าใหญ่
ใบไม้ร่วงในป่าใหญ่

อื่นๆ
ซึมซับประทัีบใจ
ในภาษาในการบรรยาย (ขณะอ่าน ณ ตอนนั้น แต่ตอนนี้ลืมหมดแล้ว)

ส่วนเรื่องท่องไพรนั้น
ก็ได้ไปบ้างตามอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า
ไปสัมผัสธรรมชาติแท้ๆที่ยังไม่ผ่านการปรุงแต่ง ตามวิถีเมือง
ถึงได้รู้ว่าคนเรานั้นถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 27 ส.ค. 11, 15:23

ขอขอบพระคุณความรู้ดีๆ ประสบการณ์สนุกๆของคุณหนุ่มสยามครับ ฟังเสียงป่าแล้วอยากเที่ยวขึ้นมาทันใด เคยคิดเล่นๆครับว่า ถ้าผมเกิดบ้าระห่ำเข้าวนอุทยานคนเดียว แล้วขอร้องให้เจ้าหน้าที่นำชม เขาจะยินยอมไหม หรือจะปฏิเสธโดยเห็นเป็นภาระหนักอึ้ง แถมนึกค่อนในใจ “ตาบอดแล้วยังดันอยากเสี่ยงอีก เฮ่อ” มันน่าลองพิสูจน์ดูสักครั้งนะครับ (อิอิ)

   เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   “บึงหญ้าป่าใหญ่” คือหนังสือที่ผมปรารถนาจะฟังอย่างยิ่ง แต่ผิดหวังครับ เพราะแถบเสียงในห้องสมุดสมาคมคนตาบอดมีแบบขาดๆ เดี๋ยวม้วนนั้นหาย เดี๋ยวม้วนนี้ชำรุด ผมฟังได้ม้วนเดียวก็จำเป็นต้องส่งคืน ตั้งใจจะหาหนังสือเพื่อให้ห้องสมุดผลิตเป็นหนังสือเสียงใส่ซีดีเพื่อความเสถียรก็ยังหาไม่พบครับอาจารย์

   
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 19 คำสั่ง