เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 20844 ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล : พระนิพนธ์บางเรื่อง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 24 ส.ค. 11, 15:43


      หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหม่อมเฉื่อย ดิศกุล สกุลเดิม ยมาภัย
      ประสูติเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๘ ที่วังสามยอด เชิงสะพานดำรงสถิตย์  ทรงศึกษาภาษาไทยชั้นต้นกับคุณหญิงวิทยาปรีชามาตย์ (อ่อง) และข้าราชการผู้ทรงคุณวุฒิอีกบางท่าน    ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสกับครูสตรีชาวต่างประเทศเจ้าของภาษานั้น ๆ นอกจากทรงศึกษาความรู้รอบตัวจากพระบิดา และจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์แล้ว ยังทรงศึกษาวิชาสำหรับกุลสตรีจากสมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดลอีกด้วย

       หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ไทย และพระพุทธศาสนาจนทรงรอบรู้แตกฉาน พระนิพนธ์ชิ้นแรกซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายคือ หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่อง ศาสนคุณ ที่ทรงแต่งประกวดในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา พ.ศ. ๒๔๗๒ และได้รับพระราชทานรางวัลชั้นที่ ๑
       พระนิพนธ์เรื่องอื่นๆ ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น ชีวิตและงานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประเพณีไทย สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ฯลฯ และสารคดีอีกหลายเรื่อง นอกจากนี้ยังมีพระนิพนธ์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกด้วย
       หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบำเพ็ญกรณียกิจในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตลอดมาเป็นระยะเวลานานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

       ผลงานสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล คือ ได้ทรงร่วมก่อตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) และทรงดำรงตำแหน่งประธานขององค์การนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๗ กิจการขององค์การ พ.ส.ล. ให้ตั้งสำนักงานใหญ่เป็นการถาวรอยู่ในประเทศไทย
        มหาวิทยาลัยค็องกุ๊ด กรุงโซล ประเทศเกาหลี ได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางปรัชญา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์เพื่อศานติของมวลมนุษยชาติ และได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๒

        หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล สิ้นชีพิตักษัย เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๓
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 24 ส.ค. 11, 15:50

  เรื่องที่เก็บความมาเล่าในกระทู้นี้่เป็นพระนิพนธ์บทความสั้นๆ   ที่มีสาระน่าอ่าน   ในเมื่อลงตีพิมพ์ในวารสารหลายแห่ง ก็คงจะหาอ่านยากอยู่บ้าง    จึงรวบรวมมาเท่าที่เจอ   เก็บความมาเล่าสู่กันฟัง
  แต่ถ้าร่วมวงคุยกันได้ยาว ก็อาจขยายไปถึงพระนิพนธ์เรื่องยาวก็ได้   แล้วแต่ความสนใจของสมาชิกค่ะ

   เรื่องแรกที่จะเล่า คือเมื่อเสด็จไปสหรัฐอเมริกา เมื่อพ.ศ. ๒๔๙๖  ทรงได้รับเชิญเป็นแขกพิเศษที่ Fellowship Church เมืองซานฟรานซิสโก     ที่ว่าเป็นแขกพิเศษคือเจ้าภาพทูลเชิญไปเสวยอาหารกลางวัน และต้องทรงกล่าวปาฐกถาให้แขกที่มาร่วมงานฟังด้วย
เจ้าภาพทูลเชิญไปเล่าเรื่องประเทศไทยและพุทธศาสนา
   โบสถ์แห่งนี้เป็นโบสถ์มีชื่อเสียงในยุคนั้น  เพราะมีนักเทศน์ชื่อ Dr.Thurman  มาเทศน์ที่นี่   เป็นคนมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่อมใสของชาวเมืองมาก  และเป็นกรรมการของวิทยาลัยตะวันออกที่ม.จ.พูนพิศมัยทรงสอนอยู่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 24 ส.ค. 11, 16:19

ไปค้นเพิ่มเติม ได้ความว่า โบสถ์นี้มีชื่อเต็มว่า Church for the Fellowship of All Peoples


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 24 ส.ค. 11, 16:22

ส่วน Dr.Thurman ที่ทรงเอ่ยถึง คือ Howard Thurman (1899-1981) เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงและผู้นำทางศาสนาที่โด่งดังแถวหน้าของอเมริกาในศตวรรษที่ 20   เป็นที่ปรึกษาของผู้นำทางศาสนาในยุคหลัง คือดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 25 ส.ค. 11, 10:18

ม.จ.พูนพิศมัย เสด็จไปถึงตอน ๑๐ โมงเช้า   เข้าไปในห้องจัดงานซึ่งแน่นมาก   พิธีเริ่มต้นด้วยการสวดมนตร์ฟังเทศน์ รับพรจากพระ คล้ายๆพิธีพุทธ
จากนั้นเจ้าภาพก็เชิญไปเสวย  มีโต๊ะตั้งเป็นรูปตัว E ตะแคง     และมีโต๊ะโดยรอบอีก ๒-๓ โต๊ะ     ตัวท่านประทับข้างนายก ตรงกลางตัว E พอดี
เสวยเสร็จ ถึงของหวาน  นายกสมาคมก็ลุกขึ้นแนะนำ   จากนั้นก็ถึงเวลาทรงบรรยาย

ท่านเล่าต่อว่า เสร็จการบรรยายแล้วก็มีคนซักถาม     ในจำนวนนั้น มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินเข้ามาหา ทูลถามว่า

"ท่านก็มีศีล "ปาณาติปาเวรฯ"  ฉันก็มีศีล Thou shall not kill" ซึ่งเป็นข้อห้ามอย่างเดียวกัน     ฉะนั้นถ้าเขาเกณฑ์เราไปรบ  เราไม่ยอมไปเพราะผิดศีล  จะผิดหรือไม่"

คำถามข้อนี้สำคัญมาก  เป็นคำถามที่ค้างคาใจชาวพุทธหลายคนมาแล้ว     โดยเฉพาะผู้ที่ถือศีล ๕ แต่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ปราบปราม    ว่าเขาจะต้องละเมิดศีลข้อ ๑  ไม่มีวันรักษาศีลได้ครบ   ไม่มีทางแก้ไขหรือเปล่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 ส.ค. 11, 21:16

ทรงตอบว่า

"ในทางพุทธศาสนาของฉันนั้น   โลกกับธรรมเดินกันคนละทาง   เราพึ่งพาอาศัยกัน  แต่ปนกันไม่ได้   พระพุทธเจ้าทรงละทิ้งการเมือง   เสด็จออกบรรพชาเพื่อทางธรรม  ทรงละการเมืองไว้ให้เป็นหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดิน     ดังจะเห็นได้ตามข้อถามในเวลาบวชข้อหนึ่งว่า "ท่านได้รับพระราชานุญาตแล้วหรือ" (ที่จะออกบวช)  ฉะนั้น การเมืองจึงไม่เกี่ยวข้องกับการศาสนา"
" พูดตามทางโลก    ถ้าท่านไม่ไปตามเกณฑ์   ท่านก็ผิดในหน้าที่พลเมืองดีที่จะต้องรักษาบ้านเมืองของท่าน     อีกประการหนึ่ง  การที่ท่านไปสงครามนั้น ก็ไม่ได้ตั้งใจจะไปฆ่าใคร    ถ้าจำเป็นต้องฆ่าก็เพราะต้องต่อสู้    ท่านอาจไม่มีโอกาสได้ฆ่าใครจนกลับมาบ้านก็เป็นได้     จึงสมควรจะเรียกว่าไปทำหน้าที่ต่อบ้านเมืองของท่านจะถูกกว่า    ไม่เกี่ยวแก่ศาสนา "

ทรงเล่าต่อไปว่า ผู้ที่มาล้อมวงฟังอยู่นิ่งไปตามๆกัน    พ่อหนุ่มคนถามก็จูงมือสาวคู่รัก ก้มหัวคำนับแล้วลาไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 29 ส.ค. 11, 11:43

เรื่องที่ ๒ ที่จะเล่าคือ เมื่อม.จ.พูนพิศมัยเสด็จไปทอดพระเนตรละคร The King and I ที่นิวยอร์ค
ทรงเรียงลำดับให้เห็นทีละฉาก

ฉากที่ ๑ เป็นตอนแอนนาอยู่ในเรือ ที่เดินทางมาถึงบางกอก  พอถึงที่หมายก็รอคนมารับ  แอนนากับกัปตันเรือสนทนากันว่าผู้คนในบางกอกมีความแปลกประหลาดเกินกว่าคนตะวันตกจะเข้าใจได้
สักครู่  กลาโหมก็มาถึง คือมารับแอนนาถึงในเรือ  มีข้าทาสวิ่งตัวเปล่าโดดลงมายืนกอดอกอยู่ ๔ คน  กลาโหมนุ่งกระโปรงยาวถึงข้อเท้า ไม่สวมเสื้อ มาถึง   ข้าทาสก็หมอบลงแบบโก้งโค้ง   เจรจากันสักครู่ก็จบฉาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 30 ส.ค. 11, 10:15

ทรงบรรยายต่อไปว่า

"king Mongkul ทรงฉลองพระองค์เปิดทรวง และทรงพระภูษา  ทรงตุ้มพระกรรณข้างเดียว! ทรงพระอัธยาศัยฉุนเฉียวแต่เต็มไปด้วยพระสติปัญญาสามารถ    และทรงรักชาติของพระองค์อย่างยิ่งยวด
ส่วนการปรุงแต่งทั้งเรื่อง   ทั้งฉาก ทั้งดนตรีและเครื่องแต่งตัว   เป็นไทยอยู่ราวๆ ๗ %  นอกจากนั้นปนแขก ปนเจ๊ก ปนเขมร  และในที่สุด  ก็ดีสำหรับรสนิยมของชาวตะวันตกโดยแท้"


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 ก.ย. 11, 17:16 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 26 ก.ย. 11, 17:26

ตัวแสดงที่ม.จ.พูนพิศมัยโปรดมากก็คือนักแสดงเล็กๆที่เล่นบทพระราชโอรสธิดา    ทุกคนแต่งตัวอย่างในพระรูปคือมีพวงมาลัยรอบจุก   เสื้อแขนกระบอก แต่สวมครุยทับจนดูรุ่มร่ามเกินเด็ก   มีเครื่องประดับข้อมือข้อเท้าครบ  ทรงเห็นว่าน่าเอ็นดู   มีฉากที่วิ่งเข้าไปกอดพระราชบิดา  โดยลืมว่าเป็นเจ้าชีวิต


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 26 ก.ย. 11, 17:29

ส่วนการละเล่นและการแสดงนาฏศิลป์ในเรื่อง   ทรงวิจารณ์ว่าปนกันยุ่งจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร    โขนก็เต้นออกมากราวๆ  นางเอกก็ออกมาเอียงอายม้วนต้วน    ทำท่ารำแบบ "ควักกะปิ" ต่างๆ   แล้วก็มีทั้งแห่หนังตะลุงและเชิดสิงโตจีน   ทำให้ทรงวิงเวียนไปหมด
คงจะทรงหมายถึงฉากนี้
ในเรื่องบอกว่าเป็น Uncle Tom's Cabin  เวอร์ชั่นสยาม

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 26 ก.ย. 11, 18:24

ท่านหญิง ทรงวิจารณ์ต่อไปว่า  ถ้าดูตามนัยน์ตาไทยๆแล้วก็ไม่เข้าใจว่าละครเรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายอะไร   แต่จะตำหนิว่าเลวก็ไม่ได้ เพราะมีส่วนที่ดี   แต่จะว่าดีก็ไม่ได้ เพราะมีส่วนที่บ้า
ผู้ที่เชิญเสด็จไป  ถามความเห็นว่า "ว่ายังไง?"  ทรงตอบว่า "ไม่ใช่ไทย!"

จากนั้นทรงพบยูล บรินเนอร์  โดยได้รับคำแนะนำว่า ทรงเป็นพระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  ก็รับสั่งกับพระเอกในเรื่องว่า
" Mr.Brenner   ฉันจะบอกให้ท่านรู้ว่า King องค์นี้ละที่รักษาเอกราชของเมืองไทยเอาไว้ได้    ท่านต้องระวังอย่าเปลี่ยนพงศาวดารของเรานะ"

เมื่อเสด็จถึงกรุงวอชิงตัน  ทรงพบมากาเร็ต แลนดอน อดีตมิชชันนารีในสยามซึ่งเป็นผู้เขียนนิยายเรื่อง Anna and the King of Siam ที่ดัดแปลงเป็นละคร The King and I   
ทรงรับเชิญไปที่บ้านของเธอ   หลังจากชมห้องสมุดและเครื่องสัมฤทธิ์ เครื่องถม เครื่องเขิน จากสยามแล้ว   ก็ทรงถามเจ้าของบ้านตรงๆว่า
"คนอยากรู้ว่าแหม่มมีเรื่องโกรธเคืองเมืองไทยเรื่องอะไร   จึงเขียนหนังสือชนิดนี้ขึ้น"

อ่านมาถึงตรงนี้ ดิฉันก็สนใจขึ้นมาว่าเจอคำถามแบบตีแสกหน้าขนาดนี้   แหม่มมากาเร็ตตอบว่าอะไร   อ่านคำตอบแล้วก็รู้สึกว่าเธอใจเย็นเอาการ   และคงจะเคยเจอคำถามทำนองนี้มาแล้วก็เป็นได้   จึงตอบโดยไม่มีอาการละล่ำละลัก หรือแก้ตัวเป็นพัลวัน  ว่า
" ความเห็นของฝรั่งและไทยไม่ตรงกันในข้อนี้     ทางฝรั่งเขาเห็นเป็นการเชิดชูพระเกียรติ    เพราะมีคนดูหลายคนที่บอกว่า ไม่นึกว่าเมืองไทยจะมีพระเจ้าแผ่นดินที่ดีถึงเพียงนี้"

ก็นับว่าแหม่มเอาตัวรอดไปได้

ตอนท้ายบทความ  ทรงสรุปว่า
"คนเขียนหนังสือก็เหมือนคนจำพวกอื่นๆ   คือมีคนชอบเขียนเรื่องต่างๆกันตามอัธยาศัย     พวกชอบนิทาน ก็เอานิทานมายกย่องให้เป็นจริง     พวกชอบแคะไค้ใส่ร้าย   ก็ชอบยกเอาข้อวามอันสกปรกขึ้นมาเชิดชู     พวกรักเหตุและผลก็ตามแต่เหตุและผล    ฉะนั้นผู้อ่านจะได้รู้จักผู้เขียนดีก็ตามที่กล่าวมานี้ดอกกระมัง"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 18:34

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ทรงเล่ามีอยู่มากมายหลายสิบเรื่อง    หลายเรื่อง สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าประทานพระธิดา     ดิฉันขอตัดตอนมาเฉพาะบางเรื่อง
เช่นเรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี

ทรงเล่าว่าเพลงสรรเสริญพระบารมี  มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔   เมื่อร้อยเอกอิมเปย์และร้อยเอกน็อกซ์เข้ามาเป็นครูฝึกทหารวังหน้า    ในเมื่อสองคนเป็นชาวอังกฤษ   คำที่ใช้ฝึกทหารก็ออกมาเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด  รวมทั้งเพลงสรรเสริญพระบารมีก็ใช้เพลงอังกฤษในสมัยนั้น คือเพลงสรรเสริญพระบารมีควีนวิกตอเรีย
เพลงสรรเสริญพระบารมีของฝรั่งใช้กันอยู่ในสยามมาจนถึงรัชกาลที่ ๕   เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จประพาสเกาะชวา   ทรงจ้างนักดนตรีชาวโปรตุเกสชื่อ  Mr. Heutsen  มาเป็นครูแตร   และโปรดให้คิดแต่งเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบไทยขึ้นมา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 18:37

ฝ่ายไทย มีพระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก) ซึ่งเป็นคนสมัยรัชกาลที่ ๓  เป็นผู้แต่งทำนอง    ส่วนเนื้อร้องแต่งโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร)
เดิมเป็นโคลงกระทู้   ว่า
    ความ     สุขสมบัติทั้ง                 บริวาร
เจริญ         พละปฏิภาณ                 ผ่องแผ้ว
จง            เจริญพระชนมาน            นับรอบ  ร้อยแฮ
มี             พระเกียรติเพริศแล้ว         เล่ห์เพี้ยงเพ็ญจันทร์

   ทำนองเพลงเอาทำนองแตรงอนที่ใช้ประโคม ในเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออก ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นหลัก

   ก็ใช้กันมาจนกระทั่งถึงงานลงสรงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ    จึงโปรดเกล้าฯให้มีมโหรีแบบคอนเสิร์ท     ตอนนั้นจึงมีเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบใหม่    พระนิพนธ์ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์   อย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้
   แต่เพลงสรรเสริญพระบารมีในครั้งนั้น  เนื้อร้องลงท้ายด้วย ฉะนี้    มาเปลี่ยนเป็น ชโย  ในรัชกาลที่ ๖
บันทึกการเข้า
นางมารน้อย
พาลี
****
ตอบ: 306


ทำงานแล้วค่ะ


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 02 ต.ค. 11, 20:47

ตามมาอ่านค่ะ
บันทึกการเข้า

สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
smallhands
อสุรผัด
*
ตอบ: 14


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 02 ต.ค. 11, 21:03

พระนิพนธ์บางเรื่องยังไม่ได้อ่านค่ะ อ่านแต่ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น อ่านอยู่หลายรอบจนกระทั่งข้องใจเต็มทีว่า จุด จุด จุด เป็นใคร ในที่สุด ทนความอยากรู้ไม่ไหว เลยอ่านสองเล่มเทียบเคียงกัน คือเกิดวังปารุสก์ กับ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ในที่สุด เลยถึงบางอ้อเกี่ยวกับ จุด จุด จุดค่ะ

แต่ท่านหญิงทรงเปรียบเทียบเรื่องการทำหน้าที่ที่แยกจากกันของทางโลกและทางธรรมได้กระจ่างดีค่ะ หวังว่าหนุ่มน้อยคนนั้นคงจะหายสงสัยไปได้บ้างนะคะ

บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.127 วินาที กับ 19 คำสั่ง