เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 12174 เรียนเชิญทุกท่านมาเบิกบัวหลวงให้แบ่งบานครับผม
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 27 ส.ค. 11, 16:52

สมเด็จพระภัทรมหาราชคำฉันท์  ของศิวกานท์ ปทุมสูติ ได้รางวัลวรรณกรรมไทยบัวหลวง  ปี ๒๕๒๔   แต่หารายละเอียดไม่ได้  เจอแต่ตัวอย่างบทร้อยกรองจากเรื่องนี้
 
       อินทรวิเชียรฉันท์: สารถีขับรถ
       ทรงศรีวิสิฐฐา-                      นะพระราชศรีทรง
งามยิ่งพระยศยง                           สิริบงพระยิ่งงาม
       ยามยุคนิยมกาล                    กลจาร ณ ยุคยาม
ไทยรัฐจรูญนาม                            ก็เพราะรามณรัฐไทย
                                       (สมเด็จพระภัทรมหาราชคำฉันท์)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 29 ส.ค. 11, 12:05

ได้รายชื่อหนังสือกวีนิพนธ์ที่ได้รางวัลวรรณกรรมบัวหลวงมาอีก ๓ เรื่อง  ผู้แต่งคนเดียวกันคือ คุณบุญเตือน  ศรีวรพจน์
๑ “ทศชาติคำฉันท์”  พ.ศ.๒๕๔๒
๒ “มหาชนกคำฉันท์” พ.ศ.๒๕๓๙
๓ “คนแจวเรือ”  พ.ศ.๒๕๓๘
แต่ยังหาตัวอย่างงานไม่ได้ค่ะ


บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 29 ส.ค. 11, 13:04

กราบขอบพระคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากท่านอาจารย์เทาชมพูครับ สำหรับท่านอาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ ผมเคยไปกราบท่านมาแล้วเมื่อคราวไปแวะซื้อหนังสือที่สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ครับ ท่านเล่าให้ฟังว่า ทศชาติคำฉันท์นั้น สำนักวรรณกรรมฯ จัดพิมพ์แจกฟรีให้แก่สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ภายหลังจากนั้นไม่นาน มีสำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์มาขอซื้อลิขสิทธิ์ แต่แล้วก็ซื้อไปดอง (ผมจงใจระบุชื่อสำนักพิมพ์เพื่อร้องเรียนกลายๆครับ) ท่านอาจารย์สันนิษฐานว่า ที่เขาไม่พิมพ์เพราะ...
   “เขาคงเห็นมันไม่ได้กำไร ไม่คุ้มทุนหละมั้ง” สรุปก็คือ ทศชาติคำฉันท์มีอายุสิบเอ็ดปีกว่าๆ ยังไม่ได้รับการพิมพ์เป็นครั้งที่สองเลย อนาถเอ๋ย อนาคตเมืองหนังสือโลก (หุย ฮา) หนังสือล้ำค่า วรรณกรรมของแผ่นดินตนหลายเล่มยังทำตกหล่นสูญหาย หรือไม่ก็ทอดทิ้งให้เดียวดายในห้องสมุด หอสมุด ในสภาพเก่าคร่ำคร่า ผมขมขื่นจริงๆครับอาจารย์
     
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 30 ส.ค. 11, 09:29

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูและท่านสมาชิกเรือนไทยทุกท่านครับ

   อนุสนธิจากการที่ผมไปกราบท่านอาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ ดังได้กล่าวไว้ในความเห็น ๑๗ นั้น ทำให้ผมได้ทศชาติคำฉันท์มาไว้ในครอบครอง ท่านอาจารย์บุญเตือนเมตตามอบให้มาศึกษาเป็นคู่มือฉันท์ครับ เลยขออนุญาตนำบางส่วนมาเผยแพร่ในกระทู้นี้เพื่อประกาศเกียรติแห่งกวีผู้รจนา แหละฉายความงามแห่งอัญมณีของภาษาไทยให้เฉิดฉันพรรณรายครับ

   ทศชาติคำฉันท์ รวมคำฉันท์สิบเรื่องไว้ในเล่มเดียว ได้แก่
๑.   เตมียกุมารคำฉันท์
๒.   มหาชนกคำฉันท์
๓.   สุวรรณสามคำฉันท์
๔.   เนมิราชคำฉันท์
๕.   มโหสถคำฉันท์
๖.   ภูริทัตคำฉันท์
๗.   จันทกุมารคำฉันท์
๘.   นารถคำฉันท์
๙.   วิธุรคำฉันท์
๑๐.   มหาเวสสันดรคำฉันท์

ตัวอย่างแรก ผมนำวิชชุมมาลาฉันท์ ๘ มาเสนอก่อนครับ

   ฟ้าสางรางรุ่ง
ทิวรุ้งรำไพ
อบอุ่นเอื้อไอ
อาทิตย์อาทร
แสงเงินแสงทอง
เรืองรองอัมพร
ปักษินบินจร
มุ่งหน้าหากิน

   คุ่มเขาเว้าวอน
จับคอนขันคู
ลิงค่างร้างคู่
เกริ่นกู่ชู้ชิน
ผัวโหวยโหยเห็น
เยือกเย็นยามยิน
แจ้วแจ้วอาจิณ
วังเวงเพลงไพร

   ร่ำไรไห้หวน
สำนวนสำเหนียก
กาเหว่าเร้าเรียก
พร่ำเพรียกหาใคร
อาลัยอาวรณ์
จักจรหนใด
หวามวับจับใจ
จำเรียงเสียงหวาน

   ฟ้าแจ่มแช่มชื่น
ตนตื่นต่างเตือน
อย่าช้าแชเชือน
เร่งเร้าเอางาน
กลางไพรไก่แก้ว
ขันแว่วกังวาน
โก่งคอขับขาน
ซาบซึ้งทรวงใน

   มาลีหลากหลาย
กำจายกำจร
โกสุมเกสร
หอมรื่นชื่นใจ
นางฟื้นตื่นตา
หวั่นว้าอาลัย
ลำเค็ญเป็นไป
ที่ในอารัญ

   กรุ่นกลิ่นบุปผา
ลมพารำเพย
สอดสีคลี่เผย
ทุกพุ่มพฤกษ์พรรณ
น้ำค้างค้างหญ้า
น้ำตาตื้นตัน
เคว้งคว้างเสียขวัญ
แรมร้างวังเวียง

   สองข้างยางยูง
ป่าสูงสาขา
กร่างไกรหวายหว้า
แคคางขึ้นเคียง
สีเสียดสนสัก
รังรักรายเรียง
ดำเนินเมิลเมียง
ไร้เพื่อนรำพัน

   ไม้โศกโยกกิ่ง
โศกยิ่งอกเอย
โศกใดใครเลย
โศกเท่าเทียมทัน
โศกสุดโศกเศร้า
โศกเหงาเงียบงัน
โศกใจจาบัลย์
โศกซ้ำจำไกล

   จากไกวไหวก้าน
จากบ้านจากเมือง
จากร้าวคราวเคือง
จากร้อนราวไฟ
จากเน้นเห็นจาก
จากพรากกลางไพร
จากฉัตรเวียงชัย
จากด้าวแดนเดิม

   จันลูกสุกงอม
จันทน์หอมหวนหา
จันทร์ลับร้างฟ้า
อกรุ่มสุมเสริม
จันผลหล่นร่วง
จันทน์จวงเคยเจิม
จันทน์หอมตรอมเติม
ไร้จันทน์รัญจวน

   เต่าร้างร้างถิ่น
ร้างสิ้นยศศักดิ์
ร้างญาติขาดรัก
ร้างเริดฤาควร
อ้างว้างร้างแรก
ร้างแปลกแปรปรวน
ร้างห้องไห้หวน
ร้างชื่นขื่นขม

   อุ้มท้องเดินทาง
มากลางแถวเถื่อน
เป็นม่ายใครเหมือน
สิ้นสุขทุกข์ตรม
เดือดร้อนร่อนเร่
ซัดเซซานซม
อ่อนล้าปรารมภ์
อิดโรยแรงตน ฯลฯ
   (มหาชนกคำฉันท์ นิพนธ์โดย ท่านอาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์)

   ฝีมือชั้นครูเยี่ยงนี้ ควรหรือจะพิมพ์แค่ครั้งเดียว?


 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 30 ส.ค. 11, 09:43

อาจารย์บุญเตือนเขียนได้ไพเราะมาก   อ่านบทแรก ถ้าครูเอื้อ สุนทรสนานยังมีชีวิตอยู่คงจะใส่ทำนองเพลงให้แล้ว
น่าเสียดายว่าในปัจจุบัน คนมีใจรักกวีนิพนธ์พอจะติดตามอ่านเป็นเล่มได้ มีจำนวนน้อยลงทุกที  จนหนังสือประเภทร้อยกรองในยุคปัจจุบัน แทบหาไม่พบตามชั้นหนังสือ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 30 ส.ค. 11, 10:44

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   ฉันท์ที่นำมาลง ผมพิมพ์จากสมุดข้างหมอนครับ คุณน้าท่านกรุณาบอกจด ผมนั่งคลำ นั่งจำ แล้วก็ยังซาบซึ้งมิหาย หนังสือคำฉันท์อีกหลายเล่ม ผมพยายามตามหา แต่ก็คงทำได้อย่างดีแค่เข้าหอสมุดแล้วสำเนาเอกสาร อยากมีรูปเล่มสวยๆไว้ให้ปลื้มจิตบ้างก็ช่างยากเย็นเต็มทีครับอาจารย์

   อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ เป็นฉันท์ที่กวีไทยนิยมใช้มาก ทั้งในโบราณกาลแหละในงานนิพนธ์ร่วมสมัย ลองมาสัมผัสฝีมือท่านอาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์บ้างครับ

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

   สองราชตระบัดไข
หฤทัยอุภัยพูน
รักแก้ววรางกูร
ชนม์สุขเฉลิมศรี

   อ้าพ่อเจริญพรต
มละยศมิยินดี
อ้าพ่อมิปรานี
บิตุเรศเพราะเหตุใด

   อ้าพ่อสกุลเชษ-
ฐพิเศษกษัตริย์ชัย
อ้าพ่อมิรักใน
ชนนีกำเนิดมา

   อ้าเชิญอำรุงรัฐ
บุริฉัตรและอาณา
อ้าเชิญผดุงกา-
สิกด้าวบดินทร์แดน

   อ้าพ่อจะเนาพง
พนคงจะขาดแคลน
แฝกฟากลำบากแสน
บริโภคผลาหาร

   อ้าพ่อผิผ่านภพ
นิธิครบศฤงคาร
พร้อมภาชน์สุพรรณพาน
รสลิ้มละมุนมี

   อ้าพ่อผนวชถือ
ตบะคือพระโยคี
รกเรื้อและเสือสี-
หฉกาจจะกัดกิน

   อ้าพ่อบุรีเรา
นุชเยาวโฉมฉิน
ชื่นฉอเลาะนาริน
ตละรู้บำเรองาน

   อ้าพ่อพนมเปลี่ยว
ฤจะเดี่ยว ณ ดงดาล
อ้าพ่อวิกาลกาล
สรหริ่งและลองไน

   อ้าพ่อนิเวศวัง
ดุริย์สังข์ประสมใส
ค่ำคืนอนงค์ไข
พิเราะขับสะคราญเคียง

   อ้าพ่อบุรีวัล-
ลพล้วนจะล้อมเรียง
ใฝ่ภักดิพร้อมเพรียง
พลรักษ์ระวังภัย

   อ้าพ่อพนาสณ-
ฑสถลสถานไกล
อ้าพ่อจะอยู่ไย
นะอเนจอนาถหนอ

   อ้าพ่อประชาสา-
ธุสวามิภักดิ์รอ
อ้าพ่อบิดาขอ
ดนุเจ้าประเทืองใจ

   อ้าพ่อมิฟังพ่อ
พจน์พ้อดนัยไป
อ้าพ่อจะวอนไย
ผิวค่ำฤข้ามคืน

   อ้าพ่อมิฟังแม่
ขณะแม้จะกลั้นกลืน
โศกสุดเพราะสุดฝืน
ชลเนตรประเนืองนอง
   (เตมียกุมารคำฉันท์)










บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 30 ส.ค. 11, 13:25

วสันตดิลก เป็นฉันท์อีกชนิดหนึ่งซึ่งทรงความไพเราะเสนาะโสตยิ่งเมื่ออ่านออกเสียง ตัวอย่างต่อไปนี้ คือบทเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านบทสดุดีพระเนมิราช กษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา
มาชมฝีมือระดับแม่ไม้มือฉันท์ของท่านอาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ กันครับ

วสันตดิลกฉันท์ ๑๔

   โลกเลื่องพระเดชคุณอดุล-
ยพสุนธราดาล
ดลสุขเกษมหิตพิศาล
ชนต่างกตัญญู

   ใต้ร่มละอองยุคลบาท
นรชาติเชิดชู
ต่างภักดิพร้อมมนสบู-
ชิตราชเฉลิมพร

   ทวยราษฎร์สราญรมยสุข
นิรทุกข์มิอาทร
โครงการประทานคณะนิกร
ผิจะนับอนันต์เนือง

   สร้างสรรค์เกษตรกษิกษัตริย์
ทะนุรัฐภิรมย์เรือง
ปลิดเข็ญประเด็นทุรประเทือง
รฐพ้นสภาพภัย

   ภูพงพนมพนประเทศ
ระยะเขตนิคมไกล
กันดารเสด็จพิริยะไข
ชลทิพย์สุหร่ายริน

   ชื่นชุ่มชอุ่มปณิธิผล
สุขดล ณ แดนดิน
บันดาลอุดมประดุจจิน-
ตนราชมิแรมรา

   เสโท ธ ต่างอุทกสรง
นิจคงบคลาดคลา
เหนื่อยยากฤพร่องพิพิธภา-
ระบเว้นทิวาวาร

   ทั่วแดนวิเทห์รฐอุดม
อนุกรมคุณาการ
มิ่งเมืองประโมทย์กิจประมาณ
นยเยี่ยมนโยบาย

   ฝนแล้งพิลาปพิรุณร้าง
ชลห่างและเหือดหาย
ฝนหลวงก็หลั่งดลระบาย
กสิสร้างเกษมสม

   ข้าวกล้าระบัดระบุสุคัน-
ธนิรันดร์อำรุงรมย์
รวงงามอร่ามพิศอุดม
ทิพลาภละลานตา

   ท้องทุ่งระเรืองระยะระรอง
ดุจทองลออทา
พื้นภาคพิภพสุขเพราะบา-
รมิทิพย์เสถียรธรรม

   ก่อเกิดประเสริฐสิริสวัส-
ดิพิพัฒนานำ
เกื้อกูลประมูลดุจสดัม-
ภสถาปน์สถาผล

   อำนวยนรานิกรราษ-
ฎรทั่วสุมณฑล
ผาสุกก็ถ้วนทิศถกล
กิจก้าวนุกูลไกล

   อดกลั้นมิเผยพจนะพ้อ
ธมิท้อพระทัยไท
สร้างสรรค์สมิทธิ์นิมิตไพ-
บุลหล้านิราดูร

   ยิ่งรามมล้างอสุระแผ้ว
หริแกล้วนรางกูร
แบ่งภาคพิศิษฏ์พิพิธพูน
สุรภาพผจญบร

   โจมจู่วิจุณวิจลทุกข์
ดลสุขสถาวร
นานาพิบัติทุรก็จร
เพราะพระบาทยุบลบุญ

   เหล่าราษฎร์ระลึกกรุณราช
วรโพธิครองคุณ
อบอุ่นศิรางคนิจสุน-
ทรกิจศุภากร
   (เนมิราชคำฉันท์)

   ฝีมือท่านอาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ เพราเพริศเฉิดฉันปานฉะนี้ กระทรวงศึกษาธิการควรประกาศให้ทศชาติคำฉันท์เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาประเภทกวีนิพนธ์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเสียที เพื่อให้หนังสือได้รับการจัดพิมพ์จำหน่ายกว้างขวางขึ้น คนตัวเล็กๆน้อยๆอย่างกระผมก็ทำได้เพียงเขียนเสนอไว้ในกระทู้เท่านั้นแหละครับ อนาคตวงการกวีนิพนธ์บ้านเรา ผมถอนใจแล้วถอนใจเล่า เป็นทุกข์ ห่วงใย หาก ทำสิ่งใดหาได้ไม่นอกจากบ่นระบาย อึดอัดหัวอกเหลือเกินครับ
 
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 30 ส.ค. 11, 14:29

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู และท่านสมาชิกเรือนไทยทุกท่านครับ

   พูดถึงวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเล่มที่ผมหาตัวอย่างคำประพันธ์ไม่พบครับ หนังสือชื่อ “ปิ่นจักรี” ผู้แต่ง คือท่านอาจารย์วาสนา บุญสม ได้รับรางวัลวรรณกรรมไทยบัวหลวง อินทรเนตรสังเกตค้น พบแต่เพียงว่า สำนักพิมพ์ต้นอ้อเคยพิมพ์จำหน่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑ สั้นๆ แค่นี้จริงๆครับ
เฮ่อ....! บรรณพิภพเมืองไทย
 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.058 วินาที กับ 19 คำสั่ง