เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 12173 เรียนเชิญทุกท่านมาเบิกบัวหลวงให้แบ่งบานครับผม
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 19 ส.ค. 11, 16:46

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู และท่านสมาชิกเรือนไทยที่เคารพทุกท่านครับ

   ผมเกิดแรงบันดาลใจในการตั้งกระทู้นี้ขึ้น เมื่อไปรื้อกรุหนังสือเสียงมาฟังครับ หยิบ “ลิลิตภควตี” ของท่านอาจารย์วันเพ็ญ เซ็นตระกูล มาสัมผัสอีกครั้ง หนังสือดังกล่าว ได้รับ “รางวัลวรรณกรรมไทยบัวหลวง” จากธนาคารกรุงเทพ ผมรู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่รางวัลดีๆแบบนี้ยกเลิกไปแล้ว เลยมาขออนุญาตบ่นสักเล็กน้อยในตอนต้น แหละเชิญชวนทุกท่านในตอนท้ายครับ

   เท่าที่ผมพอรู้มาบ้าง (อย่างรัวๆรางๆเต็มที) หนังสือที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมไทยบัวหลวงมีหลายเล่ม ล้วนแต่เป็นผลงานอันทรงคุณค่า ธำรงไว้ซึ่งขนบการประพันธ์แม่แบบให้อนุชนได้ศึกษา แต่อนิจจา  อนาถหนอ มิทราบว่าเหตุใด หนังสือประทับตราบัวหลวงจึงถูกจัดพิมพ์ใหม่น้อยเล่มแหละน้อยหนนัก สมัยเมื่อละครฟ้าใหม่ทางช่องเจ็ดสีกำลังบูม สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งก็จัดพิมพ์ฟ้าใหม่ ของท่านศุภร บุนนาค ออกมาเล่มเบ้อเริ่ม ผมแอบหวังในใจว่า อีกมินานคงจะได้อ่าน “ผืนไผทนี้ล้ำ แหล่งคุณ” งานกวีนิพนธ์ที่ท่านศุภรได้รับรางวัลวรรณกรรมไทยบัวหลวง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ และแล้วผมก็กินแห้วอกหักครับ เพราะจนป่านนี้ก็ยังไม่พบหนังสือเล่มนั้นเลย

   ผมตามหา “ไตรภาคีคำฉันท์” ของท่านอาจารย์วิทยา ชูพันธุ์ เท่าไรก็ไม่ปะ เฉกเช่นเดียวกับเพียรแสวงงานกวีของท่านอาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ อย่าง “ลิลิตพระปฐมสมโพธิกถา”, “คนแจวเรือ”, “มหาชนกคำฉันท์” ซึ่งล้วนได้รับรางวัลบัวหลวงทั้งสิ้นก็มิสมอารมณ์หมาย นี่แหละครับที่ขอบ่น ทำไมนะ หนังสือสวยๆด้วยวรรณศิลป์จึงได้รับความสนใจจากสำนักพิมพ์ หยิบมาปัดฝุ่นน้อยเหลือเกิน นับว่ายังดีอยู่หรอกครับ ที่หนังสือสองเล่มของท่านอาจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูติ อันได้รางวัลบัวหลวงชั้นที่หนึ่ง
คือ “สมเด็จพระภัทรมหาราชคำฉันท์” กับ “เพื่อนแก้วคำกาพย์” ผมตามไล่ซื้อทัน  มิทราบว่าปัจจุบันหายากหรือเปล่าก็ไม่รู้ซีครับ

   ผมเคยเข้าเว็บไซต์ของธนาคารกรุงเทพ มุ่งหวังค้นคว้าเรื่องวรรณกรรมไทยบัวหลวงโดยเฉพาะ หากก็มิเจอลิงค์ใดๆให้เข้าถึงข้อมูลต้องประสงค์ (บางที อาจเนื่องด้วยความเขลาในการท่องเว็บของผมก็ได้ครับ) จึงมาขอความกรุณาทุกๆท่านในย่อหน้าท้ายครับ ท่านใดพอจะทราบว่า หนังสือเล่มไหนได้รับรางวัลวรรณกรรมไทยบัวหลวง โปรดสละเวลานำมาโพสต์ไว้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 19 ส.ค. 11, 17:51

ถ้าหารายชื่อก็พอหาจากกูเกิ้ลได้   แต่เนื้อหา ถ้านำมาลงทั้งหมด   เกรงว่าจะมีปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ค่ะ
นอกเสียจากว่า มีลงอยู่ในเว็บอื่นแล้วโดยเจ้าของวรรณกรรมอนุญาต    อย่างนั้นก็นำลงได้
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 20 ส.ค. 11, 07:36

กราบขอบพระคุณในคำแนะนำของท่านอาจารย์เทาชมพูครับ ขั้นตอนต่อไปที่ผมจะต้องกระทำ คือ พึ่งคุณ google รวบรวมรายชื่อหนังสือวรรณกรรมไทยบัวหลวงเท่าที่ได้แล้วตระเวนสำเนาเอกสารตามหอสมุดต่างๆครับผม

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 22 ส.ค. 11, 17:38

ดิฉันหาหนังสือที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมบัวหลวงมาให้คุณชูพงศ์     ไม่ได้เรียงลำดับปี หรือประเภทของวรรณกรรม
เรียกว่าเจอเล่มไหนก็เอามาลงให้อ่านกัน  เผื่อคุณชูพงศ์จะไปหาอ่านได้ง่ายขึ้น

คำอ้าย  นวนิยายรางวัลวรรณกรรมบัวหลวง ประจำปี 2532  ผู้แต่ง ยงค์ ยโสธร  หรือประยงค์ มูลสาร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เป็นชีวิตของชาวอีสาน แสดงให้เห็นผ่านเด็กชายคำอ้าย  ลูกชายคนโตของครอบครัวชาวนายากจน ต้องรับภาระช่วยพ่อแม่ทำงานตั้งแต่ยังเด็กและเด็กหญิงจันจ้อย เพื่อนบ้าน
ถ้าคุณชูพงศ์ชอบชีวิตท้องไร่ท้องนา กลิ่นไอของท้องทุ่ง และวัฒนธรรมธรรมแบบอีสาน  เช่นประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีลงข่วง ผู้สาวเข็นฝ้าย ผู้ชายเป่าแคน
ก็คงจะชอบเรื่องนี้

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 23 ส.ค. 11, 15:34

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   คุณพ่อผมท่านเป็นคนจังหวัดอุดรธานีครับอาจารย์ ผมขึ้นไปอุดร เพื่อกราบคุณพ่อคุณแม่ เยี่ยมพี่ๆน้องๆเป็นครั้งคราว แต่ก็ขลุกอยู่ในอำเภอเมืองเสียส่วนใหญ่ ไม่มีโอกาสไปเรียนรู้ประเพณีวิถีชีวิตคนอีสาน เนื่องจากช่วงนั้นยังเด็ก มัวระเริงอยู่กับการเล่น พี่เลี้ยงคนอำเภอบ้านผือ (ซึ่งปัจจุบันแต่งงานไปแล้ว) เล่าอะไรๆให้ฟังตั้งหลายอย่างก็มิได้สนใจจำ ผมเพิ่งจะมาเพลิดเพลินม่วนซื่นกับวัฒนธรรมแห่งที่ราบสูงครั้งแรกก็จากนวนิยาย “ลูกอีสาน” ของท่านคำพูน บุญทวี ครับ ฉะนั้น การอ่าน “คำอ้าย” ดังที่ท่านอาจารย์กรุณาแนะนำ จึงเป็นวิธีต่อยอดความรู้ให้งอกเงยแหละงอกงาม อันเป็นสิ่งชื่นชอบของผมในเวลานี้ยิ่งยวดครับ
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 23 ส.ค. 11, 15:55

เจออีกเล่มหนึ่ง   ชื่อ "หนึ่งทรายมณี" ของศิวกานท์ ปทุมสูติ  ได้รับรางวัลวรรณกรรมบัวหลวงประเภทกวีนิพนธ์ พ.ศ. 2540
ได้ตัวอย่างบทกวีในโอเคเนชั่น จึงนำมาลงให้คุณชูพงศ์อ่านค่ะ

                                 ขาย...

         เพียงขอให้กูขาย                 กำไรหลายแล้วกูเอา

          ฉิบหายอันใดเล่า                 กูไม่รู้กูไม่เห็น

          ขายสิทธิ์ทุกทิศที่                ที่ชอกช้ำที่ลำเค็ญ

          ตกทุกข์แล้วขุกเข็ญ             เพราะเหตุขายมาหลายครั้ง

          ขายเกียรติอุดมการณ์            ขายวิญญาณทั้งชีพยัง

          รับซองรับใบสั่ง                  คอยรับใช้นายเหนือหัว

          นายเงินมันบังคับ               มันบัญชาเช่นควายงัว

          หุ่นยนต์ทุกตนตัว               ก็ไม่ต่างในสภา

          ปลอมสายสะพายพาด         ขายเครื่องราชล่วงอาชญา

          เสี่ยงบุญวาสนา                 ชะตาอับอยู่สับสน

          ขายอาวุธสงคราม              ย้อนสงครามมาฆ่าคน

          ขายชาติประชาชน            อย่างเลวชาติอนาถใจ


          ขายแดนแผ่นดินอยู่           ให้ศัตรูสู่อาศัย

         จักพอกจักพูนภัย                แก่แผ่นดินมิใยดี

         ขายทั่วทุกหัวระแหง            ขายตำแหน่งขายเก้าอี้

         สังคมโสมมทวี                   ก็ช่างสังคมปะไร

         ขายลายสือลายเซ็น            โดยเส้นสนแห่งกลใน

         เส้นตรงเส้นโค้งใคร            ไหนจะเด่นเท่าเส้นคด

         ขายจรรยาบรรณบิด             ความถูกผิดที่ปรากฏ

         ขายปณิธานพจน์                 ที่เคยพร่ำจะบำเพ็ญ

         ขายกันทุกโอกาส               เมื่อโอกาสอำนวยเห็น

         ทุกกิจทุกการเป็น                เส้นทางค้าในธานี

        เพียงขอให้กูรวย                   ด้วยการขายในวันนี้

        กูไทยใจอัปรีย์                     มีหรือที่จะไม่ขายฯ

                                           
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 23 ส.ค. 11, 16:09

สุดแสบ...สุดสะใจครับอาจารย์ บทกวีของท่านศิวกานท์ ปทุมสูติ บทนี้ ยังใช้การได้จริงๆ เพี่ยง... ขอให้พวกชอบขายทั้งหลายทั้งปวงจงได้อ่านกันถ้วนหน้าเทอญ
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 24 ส.ค. 11, 08:44

"อสีติมหาสาวก" โดย อาจารย์บรรจบ บรรณรุจิ  ได้รับรางวัลชนะเลิศวรรณกรรมบัวหลวง พ.ศ. ๒๕๓๗

เป็นเรื่องย้อนไปสมัยพุทธกาล  กล่าวถึงชายหนุ่มสองคน เกิดในตระกูลพราหมณ์แห่งเมืองนาลันทา คนหนึ่งชื่อ "อุปติสสะ" อีกคนชื่อ "โกลิตะ" ทั้งคู่มีอายุคราวเดียวกัน   ตระกูลทั้งสองคบหากันมานานถึงเจ็ดชั่วอายุคน   ทั้งสองหนุ่มจึงเป็นเพื่อนรักกันตั้งแต่เด็ก เรียนหนังสือก็เรียนด้วยกัน มีอาจารย์คนเดียวกัน จะไปเที่ยวไปไหนมาไหนก็ไปด้วยกันพร้อมกับบริวาร

วันหนึ่ง ในเมืองราชคฤห์มีงานประจำปีอยู่อย่างหนึ่งคือการแสดงมหรสพบนยอดเขา  มีทั้งการเล่นละครและการแสดงอื่นๆ แต่ละปีจะมีผู้คนจำนวนมากทั้งในเมืองและต่างเมืองเดินทางมาชมการละเล่น   ขณะที่นั่งดูมหรสพนั้น อุปติสสะและโกลิตะก็เหมือนกับคนดูอื่นๆ ที่มีความรู้สึกคล้อยตามบทบาทของตัวละคร ถึงตอนสนุกสนานก็หัวเราะครึกครื้น ถึงตอนที่เศร้าโศกก็รู้สึกหดหู่เสียใจ ถึงตอนให้รางวัลก็จะตบรางวัลแก่ผู้แสดง

แต่มาในปีนี้ทั้งสองกลับไม่มีอาการเช่นนั้น ความรู้สึกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ถึงเวลาที่ผู้คนหัวเราะ ก็ไม่ได้มีอารมณ์หัวเราะสนุกสนาน เมื่อถึงเวลาที่ผู้คนร้องไห้ก็ไม่มีอาการเศร้าโศกเสียใจไปกับเขา

ความรู้สึกในใจของท่านทั้งสองต่างคิดว่า...ไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจ ตัวละครที่กำลังแสดงอยู่นี้   อยู่ได้ไม่ถึงร้อยปี ก็ต้องตาย
มีตัวละครใหม่มาแทน เป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า   ตัวเราเองมาหลงดูอยู่ทำไม    ไฉนจึงไม่แสวงหาทางที่จะพ้นจากสิ่งเหล่านี้

ความเบื่อหน่ายในการดูละครส่งผลให้เกิดเบื่อหน่ายในชีวิตความเป็นฆราวาส   เมื่อละครเลิกทั้งสองพร้อมด้วยบริวารจึงออกบวชในสำนักสัญชัยปริพาชก   ต่อมาภายหลังเมื่ออุปติสสะได้พบพระอัสสชิและได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว   จึงชวนกันมาบวชในสำนักพระพุทธเจ้า ได้รับเอหิภิกขุอุปสัมปทา  คือพระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง
อุปติสสะได้นามว่าพระสารีบุตร ส่วนโกลิตะก็คือพระโมคคัลลานะ  ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาและซ้าย
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 24 ส.ค. 11, 11:02

สาธุ สาธุ สาธุ แค่ได้อ่านเรื่องย่อที่ท่านอาจารย์เทาชมพูนำมาลงก็ถือเป็นบุญของผมแล้วครับ เพราะสดับด้วยใจคารวะยิ่ง ผมมีความภูมิใจเล็กๆประการหนึ่ง ขออนุญาตเรียนอาจารย์ครับ นั่นคือ แม้ผมยังมิอาจเข้าถึงพระธรรมอย่างลึกซึ้ง แต่ก็ได้สัมผัสพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านธรรมนิยายบางเรื่อง งานเขียนธรรมประยุกต์บางชิ้น อย่างน้อยๆ ก็ไม่เสียทีที่เกิดมาประสบร่มเงาแห่งพระบวรพุทธศาสนาครับผม

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 24 ส.ค. 11, 15:12

ดิฉันพยายามหารายชื่อวรรณกรรมบัวหลวง แต่ไม่เจอเว็บไหนเลยที่รวบรวมเอาไว้เป็นหมวดหมู่    เจอแต่รายชื่อในเว็บห้องสมุดบ้าง  ในประวัติของนักเขียนบ้าง 
และไม่มีคำวิจารณ์ผลงาน มากกว่านี้
หาเจอรายชื่อหนังสือกวีนิพนธ์อีกเล่ม คือ วรรณกรรมไทยบัวหลวง เรื่อง โมกขวรรณนา ของ อรอนงค์ ตั้งก่อเกียรติ  แต่ไม่เจอตัวอย่างในหนังสือ

อ่านพบในประวัตินักเขียนว่าอัศศิริ ธรรมโชติและประภัสสร เสวิกุล ได้รางวัลวรรณกรรมบัวหลวงทั้งสองคน   แต่ไม่ทราบว่าเรื่องอะไร
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 24 ส.ค. 11, 15:58

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   เหตุบันดาลใจที่ผมตั้งกระทู้ ก็เพราะ รู้สึกว่ารางวัลวรรณกรรมไทยบัวหลวงนี้อาภัพ (กว่าซีไรต์ หรือรางวัลอื่นๆ) ทั้งๆเป็นรางวัลคุณภาพ ที่น่าขำแกมขื่นก็คือ แม้เว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพเองก็มิได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ต่อไป หนังสือดีมิสูญหายไปทีละเล่ม ทีละเล่มหรือไร ผมเสียดายครับอาจารย์

   งานของท่านอัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติที่ได้รับรางวัลบัวหลวงผมเองก็ขาดข้อมูลเช่นกันครับ ส่วนของอาจารย์ประภัสสร เสวิกุลที่ได้รับรางวัลนี้ (รางวัลชมเชย) ดูเหมือน.... ดูเหมือน จะเป็นนวนิยายเรื่อง “ชี้ค” หรืออย่างไรนี่แหละครับ ผมเคยแว่วๆมาว่าอย่างนั้น แต่ก็ไม่มั่นใจเสียเลยครับ นวนิยายของอาจารย์ประภัสสรที่ผมฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำเล่าก็ซ้ำแล้วโดยไม่เบื่อ คือ “อำนาจ” กับ “ชี้ค” ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 24 ส.ค. 11, 16:04

กลับไปค้นหาผลงานของคุณอัศศิริที่ได้รางวัลวรรณกรรมบัวหลวงอีกครั้ง     
เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ ขอทาน แมว และคนเมา
มีคำอธิบายจากสำนักพิมพ์ไว้ว่า
" รวมเรื่องสั้นรางวัลวรรณกรรมบัวหลวงของอัศศิริ ธรรมโชติ จะพิมพ์ภาพที่พักรอรถเมล์ เด็กเร่ร่อน และความละอายต่อสำนึกภายในของตนไว้ในใจนักอ่านหลายคน ด้วยฉากธรรมดาของโลกที่เปี่ยมด้วยสีสัน อารมณ์ เนื้อหากระชับ คมคาย สัมผัสเหตุการณ์เจนตาผ่านสายตาคมลึกและจิตนาการที่อาจน้อมนำจิตใจท่านสู่ห้วงความคิดลึกซึ้งและมีความหวัง เนื้อหาจากปลายปากกาของนักเขียนผู้นี้ยังเข้มข้นและสร้างสรรค์"
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 25 ส.ค. 11, 17:09

เรียน ท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   ผลงานวรรณกรรมรวมเรื่องสั้นของท่านอัศศิริ ธรรมโชติ ที่ผมเคยสัมผัส มีเพียงสองเล่มเท่านั้น (อายจัง) คือ “ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” กับ “เหมือนทะเลมีเจ้าของ” ครับ ห้องสมุดหนังสือเสียงยังมี “ทะเลร่ำลมโศก” “มหกรรมในท้องทุ่ง” และอาจมีเรื่องอื่นๆของท่านอีก ผมต้องหาโอกาสฟังเพิ่มให้ได้ครับ

   นึกถึงวรรณกรรมไทยบัวหลวง รางวัลชมเชยได้อีกหนึ่งเล่มครับอาจารย์ เล่มโปรดของผมเสียด้วย “อาทิตย์ถึงจันทร์” ของท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ผมอ่านงานกวีนิพนธ์ร่วมสมัยแล้วร้องห่มร้องไห้ก็เรื่องนี้แหละครับ
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 26 ส.ค. 11, 20:47

ตัวอย่าง อาทิตย์ถึงจันทร์  รางวัลชมเชย วรรณกรรมบัวหลวง พ.ศ. ๒๕๑๖
        ศรีสิทธิพิเศษสิทธิ์  จตุริทธิบาท   อวยอำนาจอำนรรฆ   ผลักแผ่นผาเป็นผง  ปลงแผ่นดินเป็นด้าว  น้าวแผ่นน้ำมาน้อม
ห้อมเวหาให้เหิน  เชิญเมืองฟ้ามาฝัน  เกลื่อนกันดารเมืองดิน   สยามินทร์แมนสรวง  ปวงประชาหน้าชื่น  ทิวารื่นรมณีย์
ราตรีเริงรมยา  กรุงเทพมหานคร  อมรรัตนโกสินทร์   เลิศระบิลระเบง  ลือละเวงว่อนหล้า  ต่างมาค้ามาขาย  ตวงตังวายเวียงตน  จนประชาหน้าชืด  มืดหม่นมัวทั่วเมือง   ระเคืองระคายคัน  อันตรายากาศ  พินาศผ่านอรรณพ    พิภพพิราลัย  หายหทัยไทยขาดด้าว  ร้าวร้าวระริกรัว  ความกลัวเข้าครอบกรุง  อำรุงอุรารัฐ   อัตคัดอุราราษฎร์   อำนาจอำนวยเนือง  กินเมืองกันหมักหมม  สะสมอภิสิทธิ์   ไพร่ผิดติดตะราง  ขุนนางกินตำแหน่ง  ผิดแต่งตั้งเป็นถูก   ลูกเมียเข้าเนียนัว  ครอบครัวเข้าครอบครอง จองผูกขาดราชกิจ
ทำผิดให้เด็กเห็น  เด็กเป็นว่าเด็กปลอม  เด็กผอมว่าเด็กพี   เด็กดีกลับดุด่า  เด็กซื่อว่าเด็กซน  จนเกิดเหตุหฤโหด   ผีโขมดเข้ามาเมือง  ฟ้าเหลืองตะวันเลือด  เดือนเดือดดาวดิ่งดับ    ไทยขับไทยเข่นฆ่า  ป่าช้าประชาชน  จลาจลประจัญบาน   จักจารจดแค้นคั้น  โคลงดั้นบาทกุญชร  เชิงประกาศ   ยาตรบาทย่างย้ำไว้  อย่าวาย
          ๑  สยามินทร์เมืองมาศตั้ง                                  แต่บูรพ์
ละเอียดละออลาย                                        ดิลกหล้า
พระศาสน์พิสุทธิ์พูน                                      ไพโรจน์
ยศพระยอแย้มฟ้า                                        เฟื่องฝัน

๒  ประมวลปราโมทย์ไว้                          ทุกวาร
ดิเรกดุริยบรรณ                                       ระเบียบร้อย
ระบือเลบงการ                                       กวีเวทย์
เกลียวกระหนกน้อยช้อย                         ชดหาว

๓  ไพศาลพิเศษสร้าง                                พุทธศิลป์
คือสื่อพระสัจจ์สกาว                                   เก็จแก้ว
สะอาดสงบริน                                            รำงับ
ไสวสว่างพร่างพร้อยแพร้ว                         สะพรั่งใจ

๔  วังวัดวาววับแก้ว                                     ผกายกรอง
ผ่องปภัทร์ศรัทธาไทย                                    ท่วมด้าว
ทุ่งทิพย์ลิบลิ่วทอง                                      เปลวทาบ
นาเจิ่งน้ำโน้มน้าว                                        หนักรวง

๕  รวงหนึ่งระนาบนี้                                     หนักนัก
คุณแม่มาปูนปวง                                        ปากป้อน
คุณแม่ขอบคุณสัก                                      แสนส่วน
ฤๅครึ่งคำเสี้ยวช้อน                                      ชักถึง

๖  มาแม่อย่าด่วนด้วน                                     แผ่นดิน
มาแม่ฟังกรรดึง                                           กล่อมด้าว
ใจแม่หล่อใจริน                                           ใจราษฎร์
ราษฎร์แหล่งเมืองฟ้าน้าว                                  นี่หนอ

๗  เกิดแล้วสิบชาติตั้ง                                    เป็นตน
ขอเกิดขอตายขอ                                         ครบถ้วน
คู่แผ่นพระพุทธพล                                       โพสพ
ทองประกายแก้วล้วน                                  เลิศลอย

๘  เขียวขาบตะขบเข้ม                                   เต็มเขียว
แสงพระขับข่มพลอย                                     เพชรแท้
ประหวัดระบัดเรียว                                        รวงอ่อน
ขจีขจิตเนื้อแท้                                           ถ่องธรรม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 27 ส.ค. 11, 16:46

หามาได้อีกเล่มหนึ่งคือ  หนังสือรวมเรื่องสั้น “รถไฟสังกะสีขบวนสอง”  ของ วัฒน์ วรรลยางกูร  ได้รางวัลชมเชย ของวรรณกรรมไทยบัวหลวง  ประจำปี พ. ศ. 2533 
แต่หารายละเอียดไม่พบเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.112 วินาที กับ 19 คำสั่ง