เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6
  พิมพ์  
อ่าน: 50002 อาณาจักรริวกิว
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 24 ส.ค. 11, 22:24

ผมไปอ่านเรื่องกระทู้ปอร์ตุเกสเข้าเมืองแล้ว ขอบพระคุณครับ ได้รับความรู้และรายละเอียดอีกมากมาย ข้อมูลเหล่านั้น สำหรับผมแล้วกว่าจะหาอ่านได้ครบก็คงต้องใช้เวลาอีกนาน

ใช่ครับ เราห่างจากเรื่องของริวกิวมามากแล้วครับ
อันที่จริงผมได้นึกถึงว่าจะตั้งกระทู้เกี่ยวกับเรื่องราวทางประวัติศาตร์ที่มีมูลเหตุมาจากเรื่องของทรัพยากร ตั้งแต่ที่เล่าเรื่องตะกั่วแล้วครับ มะลักกาก็กี่ยวกับเรื่องพวกนี้ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าจะเริ่มต้นและไปทางใหนดี 

เรื่องราวเกี่ยวกับริวกิว (ส่วนที่มิใช่ด้านการปกครองและสังคมของเขา) ได้ให้ภาพของเส้นทางการติดต่อและเชื่อมโยงทางการเมือง เศรษฐกิจและการค้าขายของชาติต่างๆตลอดเส้นทางทางทะเลที่สำคัญในทะเลจีนตอนใต้นี้ ตั้งแต่ก่อนจะเกิดมีอาณาจักรริวกิวจนกระทั่งการล่มสลายของริวกิวและหลังจากนั้น ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีชีวิตชีวาอย่างมากในอดีตจนกระทั่งในปัจจุบัน เป็นเส้นทางที่ดูเหมือนจะไม่มีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ ไม่มีชาติใดพยายามจะยึดถือครองแสดงตนเป็นเจ้าของ จีนซึ่งใหญ่ ญี่ปุ่นซึ่งก็ใหญ่และเป็นศัตรูคู่ฟัดกันมานานตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษ ต่างก็ไม่แสดงอำนาจยึดครอง รวมทั้งเวียดนามและชาติตะวันตกในช่วงหลังด้วย ที่แปลกใจอยู่นิดหนึ่ง ก็คือ เกาหลีซึ่งก็ใหญ่ในสมัยนั้นและเป็นคู่ฟัดของจีนกับญี่ปุ่นด้วย ก็ไม่ปรากฎว่ามีสัมพันธ์ใดๆกับเส้นทางนี้จนถึงขนาดต้องมีบันทึกอย่างเป็นเรื่องราว หรือผมไม่เคยอ่านพบ
คงไม่ต้องสงสัยว่า ตลอดเส้นทางนี้มีการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม แต่ก็แปลกที่ดูเหมือนว่าการถ่ายทอดและการผสมผสานจะมีอยู่ในวงจำกัด คือจำกัดอยู่ในเฉพาะวงของคนที่ไปมาตั้งรกรากถิ่นฐานเท่านั้น แสดงถึงบางสิ่งบางหรือเปล่า ฮืม

ฟักทองในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า กัมปูเจีย ก็คงไปจากยุคริวกิวนี้แหละครับ           
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 24 ส.ค. 11, 22:54

^
แค่คุณตั้งเกริ่นให้ฟังก็น่าสนุกแล้ว   ทั้งเรื่องตะกั่วในมะละกา  และเรื่องเส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้

อ้างถึง
เป็นเส้นทางที่มีชีวิตชีวาอย่างมากในอดีตจนกระทั่งในปัจจุบัน เป็นเส้นทางที่ดูเหมือนจะไม่มีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ ไม่มีชาติใดพยายามจะยึดถือครองแสดงตนเป็นเจ้าของ จีนซึ่งใหญ่ ญี่ปุ่นซึ่งก็ใหญ่และเป็นศัตรูคู่ฟัดกันมานานตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษ ต่างก็ไม่แสดงอำนาจยึดครอง รวมทั้งเวียดนามและชาติตะวันตกในช่วงหลังด้วย ที่แปลกใจอยู่นิดหนึ่ง ก็คือ เกาหลีซึ่งก็ใหญ่ในสมัยนั้นและเป็นคู่ฟัดของจีนกับญี่ปุ่นด้วย ก็ไม่ปรากฎว่ามีสัมพันธ์ใดๆกับเส้นทางนี้จนถึงขนาดต้องมีบันทึกอย่างเป็นเรื่องราว หรือผมไม่เคยอ่านพบ
คงไม่ต้องสงสัยว่า ตลอดเส้นทางนี้มีการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม แต่ก็แปลกที่ดูเหมือนว่าการถ่ายทอดและการผสมผสานจะมีอยู่ในวงจำกัด คือจำกัดอยู่ในเฉพาะวงของคนที่ไปมาตั้งรกรากถิ่นฐานเท่านั้น


ดิฉันไม่รู้จักเส้นทางนี้ แต่เดาว่าเป็นเส้นทางที่ไทยจีนค้าขายติดต่อกัน    เป็นเส้นทางที่เคยรองรับคนสำคัญในอดีตที่เชื่อมความสัมพันธ์ของไทย-จีนมาตั้งแต่สุโขทัย   ทูตสุโขทัย  ทูตอยุธยา เชิญพระราชสาส์นโต้คลื่นไปจีนก็ทางนี้    จีนจับกังอพยพกันมาระลอกใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ ก็เส้นทางนี้    ตันส่วงอู๋(ถ้าใครเคยอ่าน "จดหมายจากเมืองไทย"ของโบตั๋น) ก็ออกจากหมู่บ้านโผวเล้งมาตายเอาดาบหน้า นั่งเรือมาตามเส้นทางนี้เช่นกัน  สู่ประเทศไทย

เป็นเส้นทางที่น่าสนใจมาก ไม่แพ้เส้นทางสายไหม

ถ้าคุณตั้งจะเล่าในกระทู้ใหม่   ก็จะยกเก้าอี้มานั่งฟังแถวหน้า  เดี๋ยวก็คงมีคุณ siamese มากางแผนที่ให้ชมกันค่ะ
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 24 ส.ค. 11, 23:14

       หลังจากรัชกาลพระบรมราชธิราชที่ 1    อยุธยาได้ส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีเพื่อค้าขายกับจีน นับว่าบ่อยเอาการ คือประมาณ 130 ครั้ง ในระยะเวลาเกือบ 400 ปี   ระหว่าง พ.ศ. 1914 ถึง พ.ศ. 2309
       ส่วนจีนในสมัยราชวงศ์หมิง   ต่อมาคือราชวงศ์ชิง ได้ส่งทูตมายังกรุงศรีอยุธยาประมาณ 17 ครั้งด้วยกัน ในสมัยราชวงศ์หมิง จักรพรรดิหย่งเล่อได้ส่งกองเรือนำโดยนายพลเรือเจิ้งเหอ (นามเดิมหม่าซานเปา หรือที่คนไทยเรียก ซำเปากง) นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ของจีน ให้เดินทางมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้    แวะที่กรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 1951   
        สัมพันธภาพระหว่างจีนกับไทยในสมัยอยุธยานี้ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น   มีชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยามากขึ้น  และรับราชการอยู่กับฝ่ายไทย ยิ่งไปกว่านั้น การค้าสำเภาระหว่างไทยกับจีน ทำให้กรุงศรีอยุธยามั่งคั่ง    และกลายเป็นศูนย์กลางของการค้าระหว่างประเทศทางตะวันตกคือยุโรป กับประเทศทางตะวันออกคือจีนอีกด้วย

ตามบันทึกแล้ว เจิ้งซานเป่า ไม่ได้มาเมืองไทยครับ แต่เป็นบุคคลในคณะของเขามาครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 28 ส.ค. 11, 10:27

ลองอ่านบทความนี้ดูค่ะ  น่าสนใจที่จะวิเคราะห์เหมือนกัน
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=109694
เจิ้งเหอ ขันทีผู้เปลี่ยนราชบัลลังก์สยาม

เจิ้งเหอ หรือ “ พระซำปอกง ” เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนจีนในเมืองไทย ท่านเป็นคนจีนมุสลิม เกิดในมณฑูลยูนนาน เป็นนายพลเรือในสมัยของจักรพรรดิ์หยงเล่อแห่งราชวงศ์หมิง เมื่ออายุได้ 10 ขวบ ถูกจับมาตอนเป็นขันทีก่อนจะเข้ารับราชการในราชสำนัก

วีรกรรมของ เจิ้งเหอ คือการนำทัพเรือออกเดินทางตระเวนไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ตามพระราชประสงค์ของพระจักรพรรดิ์ เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ทุกชาติส่งเครื่องบรรณาการมาจีนอย่าได้ขาด เนื่องจากในช่วงนั้น จักรพรรดิ์หยงเล่อเพิ่งจะขึ้นครองราช จึงต้องสำแดงฤทธานุภาพให้ทุกชาติได้ประจักษ์

อีกจุดประสงค์หนึ่งก็คือ พระองค์ต้องการแผ่แสนยานุภาพให้กว้างไกลออกไป ให้ทั่วโลกได้รู้ถึงความยิ่งใหญ่ของจีน และต้องการบุกเบิกเส้นทางการเดินเรือ อีกทั้งยังหวังประโยชน์จากการค้าขายกับชาติเหล่านั้นอีกด้วย

ทัพเรือของเจิ้งเหอเป็นทัพใหญ่มหึมา มีเรือทั้งหมด 62 ลำ แต่ละลำบรรทุกคนประมาณ 500 คน รวมจำนวนแล้วบางเที่ยวมีคนเกือบ 40,000 คน คิดดูก็แล้วกันครับว่ามันมากมายมหาศาลขนาดไหน คน 40,000 คน ล่องไปบนท้องทะเลพร้อมๆกันเมื่อ 600 ปีที่แล้ว

นายพลเรือเจิ้งเหอออกเดินเรือทั้งหมด 7 ครั้ง แต่ละครั้งมีจุดประสงค์แตกต่างกัน แต่รวมๆแล้วเส้นทางครอบคลุมไปทั่วโลกกว่า 30 ประเทศ รอนแรมผ่านทางทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย ไปถึงประเทศอินเดีย ทวีปแอฟริกา และในการเดินเรือครั้งที่ 6 ปี ค . ศ .1421 ทัพเรือของเจิ้งเหอ ได้ไปค้นพบทวีปอเมริกา

เป็นการพบก่อนหน้าโคลัมบัสถึง 70 ปี !!

ในการเดินเรือทั้ง 7 ครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยอย่างลึกซึ้ง คือครั้งที่ 2 เนื่องจากในครั้งนั้น นายพลเรือผู้เกรียงไกรเสด็จมาเยือนกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของ “ สมเด็จพระรามราชาธิราช ” กษัตริย์แห่งราชวงศ์อู่ทอง

ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า ในสมัยนั้น ราชบัลลังก์สยามมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และขั้วอำนาจที่เข้มแข็งและเป็นไม้เบื่อไม้เมากับราชวงศ์อู่ทองก็คือราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งเคยครองราชบัลลังก์มาแต่เดิม

ก่อนที่ เจิ้งเหอ จะมาเยือนไทยนั้น ทั้งอู่ทองและสุพรรณภูมิ ต่างแก่งแย่งชิงอำนาจกันอย่างถึงพริกถึงขิง โดย 2 เจ้าอาณาจักร คือ สมเด็จพระรามราชาฯแห่งอู่ทอง และเจ้านครอินทร์แห่งสุพรรณภูมิ ถือเป็นคู่แค้นสายโลหิตอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากพี่ใหญ่จีนมากกว่าก็คือ เจ้านครอินทร์ เนื่องจากราชวงศ์สุพรรณภูมิมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับราชวงศ์หมิงมาแต่เดิม โดยเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีฯยังครองราชอยู่นั้น ความสัมพันธ์ไทย - จีนอยู่ในขั้นดีเยี่ยม ก่อนที่สุพรรณภูมิจะเสียบัลลังก์ให้กับอู่ทองไป

อีกทั้งตัวเจ้านครอินทร์เอง ทรงเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ด้วย และเคยเสด็จไปเมืองจีนมาแล้วถึง 3 ครั้ง ดังนั้น ราชสำนักจีนจึงเป็นกองหนุนอย่างดีของสุพรรณภูมิ เพราะอยากให้เจ้านครอินทร์ ซึ่งเป็น Good Boy ของตัวเองขึ้นครองราชแทนสมเด็จพระรามราชาฯ

เมื่อ เจิ้งเหอ นำพระราชสาสน์จากจักรพรรดิ์จีนมาถึงเมืองไทย แทนที่จะตรงมาเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระรามราชาฯที่กรุงศรีอยุธยา กลับแวะไปอินทรบุรีเยี่ยมเจ้านครอินทร์ก่อน และต้อนรับขับสู้กันอย่างสนิทชิดเชื้อ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวกมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระรามราชาฯที่กรุงศรีอยุธยา เจิ้งเหอ กลับแสดงอาการเย็นชาใส่พระองค์ ทั้งๆที่ได้รับพระราชทานการต้อนรับอย่างเอิกเกริก

สิ่งนี้เอง เปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้ความอดทนของกษัตริย์แห่งราชวงศ์อู่ทองสิ้นสุดลง เมื่อ เจิ้งเหอ กลับไป สมเด็จพระรามราชาฯ จึง “ สั่งลุย ” ทันที ด้วยการสั่งจับกุมทหารและพรรคพวกของเจ้านครอินทร์ทั้งหมด ทำให้เจ้านครอินทร์อดรนทนอยู่ไม่ไหว จำต้องยกทัพจากเมืองอินทร์มาบุกกรุงศรีอยุธยา

ผลปรากฏว่า ทัพของผู้มาเยือนเป็นฝ่ายมีชัยและยึดกรุงศรีฯได้ เจ้านครอินทร์จึงปราบดาตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า “ สมเด็จพระนครินทราธิราช ” หรือ “ พระอินทราชา ” และฟื้นฟูราชวงศ์สุพรรณภูมิกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับการสิ้นสุดลงของราชวงศ์อู่ทอง ความสัมพันธ์ไทย - จีนจึงกลับมาแน่นแฟ้นนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

จะเห็นได้ว่า จีนมีอิทธิพลอย่างมากต่อการกำหนดอนาคตของไทย ไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อม แม้ราชบัลลังก์ของไทย จีนก็ยังมีส่วนร่วมชี้ชะตา สำหรับตัวท่าน เจิ้งเหอ นั้น ทุกวันนี้ยังเป็นที่กราบไหว้กันของคนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งคนไทย โดยรู้จักกันดีในนามของ “ พระซำปอกง ”

ส่วนพวกฝรั่งตาน้ำข้าวจะยอมเขียนประวัติศาสตร์การค้นพบอเมริกาใหม่หรือไม่นั้นคงไม่สำคัญ เพราะจีนมีหลักฐานการเดินเรือที่ชัดเจนเพียงพออยู่แล้ว ความแตกต่างอยู่ที่ว่า คนจีนไม่ได้ไปไล่ฆ่าฟันแย่งยึดแผ่นดินใครเขาก็เท่านั้นเอง !!

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
artvirus@hotmail.com
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 28 ส.ค. 11, 10:28

        สมเด็จพระจักรพรรดิหมิงเฉิงตี้ แห่งราชวงศ์หมิงเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๙๔๖ ทรงใช้ปีประจำรัชกาลว่า หย่งเล่อ จึงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า สมเด็จพระจักรพรรดิหย่งเล่อ ในปีหย่งเล่อที่ ๑ โปรดฯให้ต่อเรือเดินสมุทร ๑๑๘๐ ลำ ลำใหญ่ ๖๒ ลำ ลำใหญ่สุดยาว ๖๐๐ ฟุต แล้วโปรดฯให้ เจิ้งเหอมหาขันทีเป็นนายพลเรือมีลูกเรือทั้งสิ้น ๒๗,๐๐๐ คน ประกอบด้วยคนหลากหลายอาชีพ เพื่อไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆแถบทะเลจีนใต้
        นายพลเจิ้งเหอ ( 郑和 ) เดิม เป็นชาวมุสลิมอาศัยอยู่ที่ยูนนานแซ่หม่า เมื่อกองทัพราชวงศ์หมิงกวาดล้างพวกมองโกลและกวดต้อนผู้คนไปเป็นเชลย หม่าเหออายุ ๑๑ปีพลอยติดไปด้วยและถูกนำไปเป็นขันทีในวังของจู่ตี้อ๋อง หม่าเหอเป็นคนฉลาดหลักแหลมเก่งทั้งฝ่ายบู๊และบุ๋น เป็นคู่พระทัยจู่ตี้อ๋อง พระองค์โปรดฯให้เปลี่ยนจากแซ่หม่าเป็นแซ่เจิ้ง เป็นเจิ้งเหอ ส่วนชื่อแบบฉบับเฉพาะตนใช้ว่า ซานเปา เมื่อจู่ตี้อ๋องเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระจักรพรรดิหย่งเล่อแล้ว เจิ้งเหอ มีบรรดาศักดิ์เป็น ขันทีซานเปากง พระองค์จึงโปรดฯให้เจิ้งเหอเดินทางออกทะเลไปเจริญสัมพันธไมตรี เขาเดินทางรวม ๗ ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. ๑๙๔๘ - ๑๙๕๐ ครั้งที่สอง พ.ศ. ๑๙๕๐ - ๑๙๕๒ ครั้งที่สาม พ.ศ. ๑๙๕๓ - ๑๙๕๔ ครั้งที่สี่ พ.ศ. ๑๙๕๖ – ๑๙๕๘ ครั้งที่ห้า พ.ศ. ๑๙๖๐ - ๑๙๖๒ ครั้งที่หก ๑๙๖๔ - ๑๙๖๕ ครั้งที่เจ็ดสุดท้าย พ.ศ. ๑๙๗๕ - ๑๙๗๖
        เจิ้งเหอได้เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาสี่ครั้งจากเจ็ดครั้ง ครั้งแรกและครั้งที่สองอยู่ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง ครั้งที่สามอยู่ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาพุทธางกูร และครั้งที่สี่อยู่ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์สมัยแรก การเดินทางของเจิ้งเหอก่อนออกเดินทางเขาได้ทำการบวงสรวงเทพยดาฟ้าดินและองค์เจ้าแม่มาจู่หรือเจ้าแม่ทับทิม เมื่อเดินทางไปถึงท่าเรือเมืองใด เขาจะสร้างที่เคารพสักการะเจ้าแม่มาจู่ด้วย พร้อมกับให้ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามศาสนาต่างๆ

       http://www.somboon.info/wizContent.asp?wizConID=201&txtmMenu_ID=7
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 30 ส.ค. 11, 08:50

ฟักทองในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า กัมปูเจีย ก็คงไปจากยุคริวกิวนี้แหละครับ           

ญี่ปุ่นเรียกฟักทองว่า Kabocha カボチャ

คุณวิกกี้ เขาอธิบายที่มาของคำนี้ว่ามาปรากฏในภาษาญี่ปุ่นได้อย่างไร ไว้ดังนี้

The kabocha, however, was introduced to Japan by Portuguese sailors in 1541, who brought it with them from Cambodia. The Portuguese name for the squash, Cambodia abóbora (カンボジャ・アボボラ), was shortened by the Japanese to kabocha. Certain regions of Japan use an alternate abbreviation, shortening the second half of the name instead to "bobora".

Another name for kabocha is 南瓜 (southern melon) or occasionally 南京瓜 (Nanking melon), which may suggest that the vegetable arrived in Japan by way of China.

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 30 ส.ค. 11, 14:18


ญี่ปุ่นเรียกฟักทองว่า Kabocha カボチャ

 ยิงฟันยิ้ม

[/quote]

ขอบพระคุณครับที่แก้ไขให้ถูกต้อง

ผมฟังไม่ชัดเองครับ เคยถามคนญี่ปุ่นเขาก็ออกเสียงให้ฟังหลายครั้งก็ฟังเป็นอย่างนั้น การออกเสียงที่ถูกต้อง ต้องอ่านภาษาเขียนของเขาได้
ญี่ปุ่นเอาคำไปจากต่างชาติหลายคำ เทมปุระก็ใช่ ถามไปก็ได้ความว่ามาจากคำว่า Temporary ก็คือ ทุกวันศุกร์พวกคริสโรมันแคทอลิคจะไม่ทานเนื้อสัตว์ กินแต่ผัก ผมไม่แน่ใจนักว่าแท้จริงแล้วเขางดเนื้อสัตว์ทั้งหมด หรือเว้นเฉพาะสัตว์ใหญ่ เพราะที่พบในออสเตรียเขาไม่กินเนื้อสัตว์ใหญ่แต่จะกินเนื้อปลา
ญี่ปุ่นชอบตัดคำให้สั้นลงTemporary ก็สั้นลงกลายเป็น Tempura แต่เอาไปชุบแป้งคลุกขนมปังทอดนั้น ไม่ทราบว่ามาจากใหน ก็น่าจะมาจากฝรั่งอีกนั่นเอง
แล้วก็แปลกอีกที่คนญี่ปุ่นแต่เดิมนั้นไม่นิยมกินอาหารที่ทำจากข้าวสาลี เพิ่งจะมาถูกบังคับให้ต้องกินก็เพราะขาดอาหารเมื่อสงครามเลิกใหม่ๆนี้เอง (ความช่วยเหลือต่างๆที่ให้มาเป็นข้าวสาลี) คนแก่ของญี่ปุ่นเล่าให้ฟังครับ ว่ามันไม่อร่อยเอาเสียเลย ทำนองเป็นของกินชั้นเลว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ขนมเค็กได้กลายเป็นที่นิยมไปแล้ว
เรื่องที่ต้องไปกินข้าวสาลีหลังสงครามนี้ คนญี่ปุ่นรับไม่ได้และกลัวว่าข้าวญี่ปุ่นจะถูกเบียนจนหมดไป รัฐบาลญี่ปุ่นทุกสมัยจึงมีนโบายป้องกันไม่ให้ข้าวของญี่ปุ่นหายไปในเกือบจะทุกรูปแบบดังที่ทราบกันอยู่ ซึ่งนโยบายอันนี้ก็เป็นจุดอ่อนของญี่ปุ่นในการเจรจาทางการค้าตลอดมา โดยเฉพาะจะถูกรุมจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (G-77 and China) ในเกือบจะทุกครั้งในการประชุม WTO ก็เป็นเรื่องน่าสนใจมากๆทั้งในเชิงของการเจรจาความเมืองในเวทีต่างๆ และวิธีการเอาตัวรอดและการบริหารจัดการของญี่ปุ่น
ผมก็พาห่างออกมาจากริวกิวอีกจนได้ครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 30 ส.ค. 11, 21:41

คนญี่ปุ่นรับไม่ได้และกลัวว่าข้าวญี่ปุ่นจะถูกเบียนจนหมดไป รัฐบาลญี่ปุ่นทุกสมัยจึงมีนโบายป้องกันไม่ให้ข้าวของญี่ปุ่นหายไปในเกือบจะทุกรูปแบบดังที่ทราบกันอยู่ ซึ่งนโยบายอันนี้ก็เป็นจุดอ่อนของญี่ปุ่นในการเจรจาทางการค้าตลอดมา โดยเฉพาะจะถูกรุมจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (G-77 and China) ในเกือบจะทุกครั้งในการประชุม WTO ก็เป็นเรื่องน่าสนใจมากๆทั้งในเชิงของการเจรจาความเมืองในเวทีต่างๆ และวิธีการเอาตัวรอดและการบริหารจัดการของญี่ปุ่น

ที่ญี่ปุ่น ใคร ๆ ก็อยากเป็นชาวนา   ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 31 ส.ค. 11, 09:07

ญี่ปุ่นชอบตัดคำให้สั้นลงTemporary ก็สั้นลงกลายเป็น Tempura แต่เอาไปชุบแป้งคลุกขนมปังทอดนั้น ไม่ทราบว่ามาจากใหน ก็น่าจะมาจากฝรั่งอีกนั่นเอง

คุณวิกกี้ อธิบายไว้อีกทางหนึ่ง

The word "tempura", or the technique of dipping fish and vegetables into a batter and frying them, comes from the word "tempora", a Latin word meaning "times", "time period" used by both Spanish and Portuguese missionaries to refer to the Lenten period or Ember Days (ad tempora quadragesimae), Fridays, and other Christian holy days. Ember Days or quattuor tempora refer to holy days when Catholics avoid meat and instead eat fish or vegetables.

อาหารโปรตุเกสซึ่งเป็นที่มาของเทมปุระชื่อว่า Peixinhos da horta



 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 31 ส.ค. 11, 13:20

ขอบพระคุณครับ ได้ทราบที่มาที่แท้จริงของคำอีกคำหนึ่ง
คำอธิบายที่ผมว่านั้นมาจากคนญี่ปุ่นครับ ซึ่งคงจะเข้าใจผิด ผมคิดว่าคำอธิบายของคุณวิกกี้ถูกต้องที่สุด เพราะอาหารประเภททอดน้ำมันมากๆ (Deep fried) ของญี่ปุ่นนั้น ผมว่าผมไม่เคยเห็นนะ มีแต่ปิ้ง ย่าง ต้ม หมกและอบยังไม่มีเลย
แสดงว่าอิทธิพลของปอร์ตุเกตุในภูมิภาคนี้มีอยู่มากทีเดียว สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆที่ในภาษาต่างๆในภูมิภาคนี้คงมีเป็นจำนวนมากที่เรียกชื่อเพี้ยนมาจากภาษาปอร์ตุเกตุ
รวมทั้งการทำอาหารหลายๆชนิดด้วย แต่ก็แปลกดีนะครับที่คนเอเซียต่างก็เลือกรับเฉพาะบางเรื่อง และดูเหมือนจะไม่รับทางด้านวัฒนธรรมเลย
ข้าวผัดก็น่าจะใช่นะครับ เหมือน Paella ทีเดียว ต่างกันที่อบกับผัดเท่านั้น
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 02 ก.ย. 11, 23:03

       สมเด็จพระจักรพรรดิหมิงเฉิงตี้ แห่งราชวงศ์หมิงเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๙๔๖ ทรงใช้ปีประจำรัชกาลว่า หย่งเล่อ จึงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า สมเด็จพระจักรพรรดิหย่งเล่อ ในปีหย่งเล่อที่ ๑ โปรดฯให้ต่อเรือเดินสมุทร ๑๑๘๐ ลำ ลำใหญ่ ๖๒ ลำ ลำใหญ่สุดยาว ๖๐๐ ฟุต แล้วโปรดฯให้ เจิ้งเหอมหาขันทีเป็นนายพลเรือมีลูกเรือทั้งสิ้น ๒๗,๐๐๐ คน ประกอบด้วยคนหลากหลายอาชีพ เพื่อไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆแถบทะเลจีนใต้
        นายพลเจิ้งเหอ ( 郑和 ) เดิม เป็นชาวมุสลิมอาศัยอยู่ที่ยูนนานแซ่หม่า เมื่อกองทัพราชวงศ์หมิงกวาดล้างพวกมองโกลและกวดต้อนผู้คนไปเป็นเชลย หม่าเหออายุ ๑๑ปีพลอยติดไปด้วยและถูกนำไปเป็นขันทีในวังของจู่ตี้อ๋อง หม่าเหอเป็นคนฉลาดหลักแหลมเก่งทั้งฝ่ายบู๊และบุ๋น เป็นคู่พระทัยจู่ตี้อ๋อง พระองค์โปรดฯให้เปลี่ยนจากแซ่หม่าเป็นแซ่เจิ้ง เป็นเจิ้งเหอ ส่วนชื่อแบบฉบับเฉพาะตนใช้ว่า ซานเปา เมื่อจู่ตี้อ๋องเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระจักรพรรดิหย่งเล่อแล้ว เจิ้งเหอ มีบรรดาศักดิ์เป็น ขันทีซานเปากง พระองค์จึงโปรดฯให้เจิ้งเหอเดินทางออกทะเลไปเจริญสัมพันธไมตรี เขาเดินทางรวม ๗ ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. ๑๙๔๘ - ๑๙๕๐ ครั้งที่สอง พ.ศ. ๑๙๕๐ - ๑๙๕๒ ครั้งที่สาม พ.ศ. ๑๙๕๓ - ๑๙๕๔ ครั้งที่สี่ พ.ศ. ๑๙๕๖ – ๑๙๕๘ ครั้งที่ห้า พ.ศ. ๑๙๖๐ - ๑๙๖๒ ครั้งที่หก ๑๙๖๔ - ๑๙๖๕ ครั้งที่เจ็ดสุดท้าย พ.ศ. ๑๙๗๕ - ๑๙๗๖
        เจิ้งเหอได้เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาสี่ครั้งจากเจ็ดครั้ง ครั้งแรกและครั้งที่สองอยู่ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง ครั้งที่สามอยู่ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาพุทธางกูร และครั้งที่สี่อยู่ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์สมัยแรก การเดินทางของเจิ้งเหอก่อนออกเดินทางเขาได้ทำการบวงสรวงเทพยดาฟ้าดินและองค์เจ้าแม่มาจู่หรือเจ้าแม่ทับทิม เมื่อเดินทางไปถึงท่าเรือเมืองใด เขาจะสร้างที่เคารพสักการะเจ้าแม่มาจู่ด้วย พร้อมกับให้ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามศาสนาต่างๆ

       http://www.somboon.info/wizContent.asp?wizConID=201&txtmMenu_ID=7

เท่าที่ผมค้นหาข้อมูลของ กองเรือมหาสมบัติของเจิ้งเหอได้ ข้อมูลตรงกันข้ามเลยนะครับ

http://orias.berkeley.edu/pallop/timeline.html

http://asianhistory.about.com/od/china/a/Timeline-Zheng-He-And-The-Treasure-Fleet.htm

คือเจิ้งเหอไม่เคยมาสยามจริง ๆ สักครั้งเลย
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 02 ก.ย. 11, 23:13

http://en.wikipedia.org/wiki/Zheng_He#Sailing_charts

ถ้าดูจากตารางในของ wiki จะเห็นว่าตารางการเดินเรือของ กองเรือมหาสมบัติ ในครั้งที่สองมีแนวทางมายังสยาม แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า เจิ้งเหอ ไม่ได้มาด้วยครับ เป็นคณะของเขานำเรือมาแทน ตัวเจิ้งเหอเอง เป็นผู้นำกองเรือในการเดินเรือครั้งแรก ครั้งที่ สี่ ห้า หก  ครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 31 ต.ค. 19, 08:00

อาณาจักรริวกิวนั้น คือ เกาะโอกินาวา ตัวราชวังนั้น ตั้งอยู่ตอนกลางๆของเกาะ ค่อนไปทางทิศเหนือ ไม่ใช่ราชวังขนาดใหญ่โต กินเนื้อที่คงประมาณสัก 50 ไร่ ผมจำชื่อเมืองในปัจจุบันไม่ได้ สถานที่นี้ถูกญี่ปุ่นใช้เป็นฐานบัญชาการในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และถูกทิ้งระเบิดโดยพันธมิตรจนราบ ปัจจุบันนี้ได้มีการฟื้นฟูสร้างขึ้นมาใหม่ ขนาดของอาคารราชวังหลักยังดูจะเล็กกว่าพระราชวังของจีนในเมืองต้องห้าม

พระราชวังที่ว่านี้คือปราสาทชูริ (首里城) ในวันนี้ (๓๑ตุลาคม ๒๕๖๒) เวลา ๐๒.๔๑ น.ตามเวลาท้องถิ่น เกิดเหตุเพลิงไหม้ปราสาทชูริซึ่งเป็นมรดกโลกที่ตั้งอยู่ในเมืองนาฮะ จังหวัดโอกินาวา ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้บอกว่า เกิดไฟไหม้ขึ้นท้องพระโรงหลัก และลุกลามไปยังท้องพระโรงฝั่งเหนือและท้องพระโรงทิศใต้อย่างรวดเร็ว จึงต้องใช้รถดับเพลิงมากกว่า ๒๐ คัน ตัวพระราชวังถูกเพลิงไหม้เสียหายแทบจะทั้งหมด ในตอนนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดเพลิงไหม้ ในเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ



ปราสาทชูริถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งโอกินาวา สร้างขึ้นครั้งแรกช่วงปลายทศวรรษ ๑๓๐๐ และเคยถูกทำลายเมื่อปี ๑๙๔๕ จากนั้นได้รับการบูรณะขึ้นมาในปี ๑๙๙๒ และเมื่อปี ๒๐๐๐ ปราสาทชูริได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกองค์กรยูเนสโก

https://www.marumura.com/fire-at-shuri-castle/


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 31 ต.ค. 19, 09:25

เสียใจด้วยค่ะ
แต่เชื่อฝีมือว่าจะสร้างขึ้นใหม่ให้สวยงามเหมือนเดิมได้ค่ะ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 31 ต.ค. 19, 11:00

ปราสาทชูริกับสยาม

เช้าวันนี้มีข่าวร้าย ปราสาทชูริ (Shuri Castle) ที่เมืองนาฮะ จังหวัดโอกินาวะเกิดเพลิงไหม้ ตัวปราสาทน่าจะวอดวายจนหมด

ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี ๑๙๙๒ หลังจากถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลองในสมรภูมิโอกินาวะช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ดังนั้นปราสาทแห่งนี้จึงเกิดแล้วตายมาแล้ว ๒ หน และการเกิดใหม่มีอายุไม่ถึง ๓๐ ปีนี่เอง

ความพินาศของปราสาทชูริและสุสานหลวงกษัตริย์ริวกิวช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปี ๑๙๔๕ น่าสลดใจมากกว่า เพราะทรัพย์สมบัติ บันทึกโบราณถูกทำลายจนหมดสิ้น ที่เราเห็นอยู่คือของใหม่ที่พอจะสร้างเลียนแบบได้ ส่วนที่ถูกทำลายไปอย่างไม่มีวันกลับก็เช่นภาพเหมือนกษัตริย์ริวกิว และต้นฉบับบันทึกเฮคิไดโฮอันว่าด้วยความสัมพันธ์ของริวกิบกับนานาประเทศ รวมถึงอยุธยาและปัตตานี

ความสัมพันธ์ริวกิว-อยุธยาแนบแน่นขนาดที่เมื่อเรือสินค้าริวกิวเกิดเพลิงไหม้ที่ชายฝั่งสยาม อยุธยาก็จัดเรือมาส่งพวกริวกิวถึงบ้าน นับว่าไม่ธรรมดาเพราะระยะทางนั้นห่างไกลมาก

โอกินาวะนั้นเคยเป็นรัฐอิสระชื่อว่าริวกิว มีความสนิมชิดเชื้อกับสยามเป็นอันมาก แม้ริวกิวจะสิ้นอิสระภาพในศตวรรษที่ ๑๗ หลังถูกแคว้นซัตสึมะผนวกเป็นรัฐอารักขา แต่ชาวสยามก็ยังจำริวกิวได้ ดังปรากฎชื่อชาวริวกิวในจารึกหมวดโคลงภาพคนต่างภาษาที่วัดโพธิ์

ไทยยังจำได้ว่าชาวริวกิว (ลิ่วขิ่ว) นั้น "ไว้ผมมุ่นมวยเขิน คือจุก เด็กนา" เพราะชาวริวกิวไว้ผมมวยแบบชาวต้าหมิง แต่ต่างตรงที่ "พันโพกเกล้าแต่งตาม เพศพ้อง" คือโพกผ้ามัดผมไว้เหมือนการโพกผ้าของชาวมลายู  และ "พรรค์เพศผิวเนื้อคล้าย เคลือบคราม" เพราะอยู่ในเกาะทะเลใต้ผิวจึงออกคล้ำไม่เหมือนคนญี่ปุ่นทั่วไป

ไทยยังจำได้ว่า "เขาย่อมจรจิ้มก้อง กับจีน" เพราะเวลาไทยไปจิ้มก้องจีนต้องไปพร้อมริวกิว ด้วยจัดอยู่ในหมวดประเทศกลุ่มเดียวกัน นี่ความสนิทสนมของทั้ง ๒ แผ่นดิน

ชาวริวกิวก็จำอยุธยาได้ เพราะของดีของริวกิวอย่างหนึ่งคือสุราขาวที่กลั่นแบบอยุธยา เรียกว่าอาวาโมริ แต่โบราณเรียกว่าเหล่าริวกิว (ริวกิวชู) พวกต้าหมิงและเกาะใหญ่ญี่ปุ่นเรียกว่า "เหล้าของคนต่าวด้าวแดนใต้" (นัมบังชู หรือนัมบังสาเก) นัมบังนั้นหมายถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และฝรั่งในมะนิลากับมาเก๊า แต่ในกรณีนี้คือสยามดังที่บันทึกต้าหมิงระบุไว้ชัด

ที่ปราสาทชูริ พบเครื่องเคลือบสยามจำนวนหนึ่งจากเตาแม่น้ำน้อย อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี บันทึกเฮคิไดโฮอันของริวกิวระบุว่าไหไทยจากเตาแม่น้ำน้อยนั้นเอาไว้ใส่เหล้ากลั่นจากอยุธยา ดังนั้นเหล้าไทยจึงน่าจะมีสถานะสูงในราชสำนักริวกิว และต่อมามันแพร่ไปถึงเกาะใหญ่ญี่ปุ่น ทุกวันนี้ถือเป็นสุราชั้นดีมีราคาแพงมาก แต่รสชาติของมันคือเหล้าโรงดี ๆ นี่เอง

นี่คือสายใยของปราสาทชูริกับสยาม

ริวกิวนั้นยังเป็นดินแดนต้นกำเนิดของคาราเต้ มีบางทฤษฎีเชื่อว่าคาราเต้น่าจะได้รับอิทธิพลจากมวยไทยหรือไม่ก็สีลัตของปัตตานีด้วย แต่เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานชี้ชัด

ภาพนี้คือการฝึกคาราเต้ที่ลานหน้าพระที่นั่งใหญ่ปราสาทชูริ เมื่อปี ๑๙๓๘ ก่อนที่จะถูกทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ จากหนังสือ 空手道大観

จาก FB คุณกรกิจ ดิษฐาน


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.089 วินาที กับ 20 คำสั่ง