เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 10431 ภาษาไทยวิบัติ
ลุงแก่
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 18 ก.ย. 00, 12:00

เรื่อง"ยุคไม่ขำ..วัธนธัมไทย" ของเทาชมพู ลุงแก่ได้บทความหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยน
แปลงการเขียนภาษาไทยในยุคนั้น อันทำให้เราเรียกยุคนั้นว่าเป็นยุค"ภาษาวิบัติ" มานำเสนอ
ให้ทราบดังนี้

.   " ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลในสมัย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยขึ้นคณะหนึ่ง
เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยมี
๑.   ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นประธานกรรมการ
๒.   นายยง อนุมานราชธน (พระยาอนุมานราชธน) เป็นรองประธานกรรมการที่ ๑
๓.   นายเพียร ราชธรรมนิเทศ (พระราชธรรมนิเทศ) เป็นรองประธานกรรมการที่ ๒
๔.   พระนางเธอลักษมีลาวัณ เป็นกรรมการที่ปรึกษา
๕.   หม่อมกอบแก้ว อาภากร เป็นกรรมการที่ปรึกษา
๖.   ท่านผู้หญิงพิบูลสงคราม เป็นกรรมการที่ปรึกษา
๗.  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (พลตรี พรเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่น
นราธิปพงศ์ประพันธ์ )เป็นกรรมการที่ปรึกษา
๘.  นายพันเอกประยูร ภมรมนตรี (ต่อมาเป็นพลโท )เป็นกรรมการที่ปรึกษา
๙.  นายวิจิตร วิจิตรวาทการ (หลวงวิจิตรวาทการ )เป็นกรรมการที่ปรึกษา
๑๐. นายเถียร วิชียรแพทยาคม (หลวงวิเชียรแพทยาคม) เป็นกรรมการ
๑๑. นาย ต. สารประเสริฐ (พระสารประเสริฐ) เป็นกรรมการ
๑๒. นายเช็ง ศิวศริยานนท์ (พระวรเวทย์พิศิษฐ์)  เป็นกรรมการ
๑๓. นายพันเอก น. สารานุประพันธ์ (หลวงสารานุปรพันธ์) เป็นกรรมการ
๑๔. นายอรุณ บุณยมานพ (หลวงบุณยมานพพาณิชย์ เจ้าของนามปากกา "แสงทอง")
เป็นกรรมการ
๑๕. นายสนิท ศตะกูรมะ เป็นกรรมการ
๑๖. นายสังข์ พัฒโนทัย เป็นกรรมการ
๑๗. นายเปลื้อง ณ นคร เป็นกรรมการ
๑๘. นางนิล คงศักดิ์ เป็นกรรมการ
๑๙. นางสาวสงวน เฟื่องเพ็ชรเป็นกรรมการ
๒๐. นายร้อยตรีสมจิตร ศิกษมัต เป็นกรรมการ
๒๑. นายบุญธรรม ตราโมช เป็นกรรมการ
๒๒. นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เป็นกรรมการ
๒๓. นายทองสืบ ศุภะมาร์ค เป็นกรรมการ
๒๔. นายทวี ทวีวรรธนะ เป็นกรรมการ
๒๕. นายกี อยู่โพธิ์ (ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) เป็นกรรมการและเลขานุการ
๒๖. นางสาวสุดา จันทนศิริ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

.     และต่อมาได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมกรรมการอีกหลายท่าน เช่น
ขุนวิจิตรมาตรา นายวงศ์ เชาวนะกวี เป็นต้น กรรมการดังกล่าวนี้ มีหลายท่านยังมีชีวิต
อยู่และเป็นกรรมการชำระปทานุกรมแห่งราชบัณฑิตยสถานด้วย

       หลักการซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้ถือปฎิบัติในการปรับปรุงภาษาไทยนั้น ตือ
๑.  ภาษาไทยที่ใช้อยู่มีที่มาจากภาษาต่างๆ สมควรพิจารณาวางหลักเกณฑ์ให้ชัดว่า ถือหลัก
ภาษาอะไรเป็นรากฐานของศัพท์ภาษาไทยทั้งปวง
๒.  เมื่อยึดภาษาใดเป็นต้นศัพท์แน่แล้ว ควรวางเกณฑ์ที่จะแปลงศัพท์นั้นมาใช้เป็นภาษาไทย
ไม่ใช่นำมาทั้งเต็มรูปศัพท์ นอกจากนั้นในการทำปทานุกรม ศัพท์ใดที่มาจากต้นศัพท์ภาษาอื่น
ต่างกัน แต่มาเป็นภาษาไทยพ้องกัน เสียงเดียวกัน ก็เห็นควรระงับเสียบ้าง เลือกใช้แต่
เฉพาะภาษาเดียว
๓.  ศัพท์บางคำที่ใม่ได้ใช้กันในสาธารณะทั่วไป แต่ใช้สำหรับกวีโวหารการประพันธ์หรือภาษา
วิทยาการโดยเฉพาะ ก็เห็นควรแยกเสีย หมายเหตุไว้ให้ทราบว่าคำนั้นป็นภาษาใดใช้ในโอกาสไหน

.     ในที่สุดก็ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการปรับปรุงตัวอักษรไทย ลงวันที่ ๒๙
พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ให้คงมีพยัญชนะเหลือเพียง "ก ข ค ง จ ฉ ช ซ ญ ด ต ถ ท น บ ป
ผ ฝ พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ส ห อ ฮ" รวม ๓๑ ตัว และตัด ใ (ไม้ม้วน) และ"ฤ ฤาฦ ฦา" ออก
ตัว "ทร" ก็ใช้ "ซ" แทน ตัว "ญ" ตัดเชิงล่างออก เป็นต้น
.     การปรับปรุงภาษาไทยครั้งนี้ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาก โดยเฉพาะคำที่มาจาก
ภาษาบาลี เช่น "สงฆ์" ซึ่งแปลว่า "หมู่" เมื่อตัดตัว ฆ ออก ก็ต้องเขียนว่า "สงค์" แปลว่า
"ข้องอยู่" หรือ "วัฒน" แปลว่า "ผู้เจริญ" เมื่อเขียนเป็น "วัธน" ก็แปลว่า "ฆ่า" เป็นต้น
.     ตัวอย่างหนังสือสมัย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่น เรื่อง "กำเหนิดกฏหมาย
อาญาและกำเหนิดการลงอาญาแก่ผู้กระทำผิด" ของ ส. วินิจฉัยกุล จากหนังสือ
"ราชบัณฑิตสาร" สำนักธรรมศาสตร์และการเมืองแห่งราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑ เล่มที่ ๒
พฤษจิกายน ๒๔๘๗ มีข้อความว่า
.     "คำว่า อาญากัม ตามความหมายอย่างกว้างอธิบายได้ว่า เป็นกัมอันสังคมกะทำตอบด้วย
อาญา อาญากัมและอาญาจึงเป็นปรากตการน์แห่งสังคมอันหยู่ในบังคับแห่งกดของสังคม
สาตร และผันแปรไปตามความเปลี่ยนแปลงอันเกิดแก่สังคม เช่น ความเปลี่ยนแปลงในทาง
เสถกิจ ทางความเชื่อถือ และระดับแห่งวัธนธัมตามยุคตามสมัยของชนแต่ละชาติ แต่แม้ว่า
จะมีการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มากะทบกะเทือนก็ดี หลักอันว่าด้วยอาญากัมและอาญายังคงอยู่
ในบังคับแห่งหลักสำคัญอันเป็นรากถานบางประการ ซึ่งปรากดขึ้นตามยุคตามสมัย นับตั้งแต่
สมัยดึกดำบรรพ์ มาจนกระทั่งถึงหมู่ชนซึ่งบันลุถึงขีดอารยะธัมอันสูง ทั้งนี้ก็เพราะเป็นเรื่อง
อันเกี่ยวกับธัมชาติมนุสและจิตไจของมนุส"
.     กรรมการท่านหนึ่ง คือ อาจารย์วงศ์ เชาวนะกวี ในคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรม
ภาษาไทยชุดนี้ เป็นคนแรกที่ได้เล่าถึงสาเหตุที่รัฐบาลของ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ต้องปรับปรุงแก้ไขอักษรไทยใหม่อย่างกะทันหันในครั้งนั้นว่า เป็นเพราะญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาตั้ง
ฐานทัพอยู่ในประเทศไทย เพื่อทำสงครามมหาเอเซียบูรพานั้น ได้มาแจ้งให้นายกรัฐมนตรี
ทราบว่า ภาษาไทยเรียนยากเพราะมีพยัญชนะและสระมากมายเหลือเกิน จึงเห็นว่าควรใช้ภาษา
ญี่ปุ่นเป็นภาษาราชการแทน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ตอบว่า ไทยเรามีตัวหนังสือเป็น๒ ชุด
ชุดหนึ่งใช้ในราชการ ซึ่งเรียนยากหน่อย ส่วนชุดที่เรียนง่ายมีอีกชุดหนึ่งสำหรับสามัญชน
ทั่วๆไป ญี่ปุ่นต้องการที่ง่าย ซึ่งความจริงขณะนั้นมีชุดเดียว ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจึงได้
เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องนี้ มิฉะนั้น เราจะต้อง
กลายเป็นเมืองขึ้นญี่ปุ่นไป ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ได้ลงมติแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริม
วัฒนธรรมไทยดังกล่าวขึ้น และได้จัดให้มีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้อย่างรีบด่วน ได้มีการ
ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้เพียง ๒ ครั้งเท่านั้น คือ ประชุมครั้งแรกเมื่อ
วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ และครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
พอถึงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ก็มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการปรับปรุง
ตัวอักษรไทยออกมาแล้ว นับว่าเป็นการทำงานแข่งกับเวลา และแข่งกับความอยู่รอดของ
เมืองไทยและวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง

.     การเขียนหนังสือไทยแบบ "สมัย จอมพล ป." นี้ มีอายุยืนยาวอยู่ ๒ ปีเศษ เมื่อเปลี่ยน
คณะรัฐบาลใหม่ในคราวต่อมา รัฐบาลใหม่ก็ยกเลิกกลับไปใช้การเขียนภาษาไทยอย่างเดิมอีก
และก็ใช้เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้"

(จำนงค์ ทองประเสริฐ : ภาษาของเรา)

น่าจะต้องขอบคุณในความดีของท่านจอมพล ป. ในเรื่องนี้ มิฉะนั้นในปัจจุบันเราคงจะ
ต้องทักกันว่า "โอฮ้าโย่ โกซัยมัส" หรือ "คนนิจิวะ" กันแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 12 ก.ย. 00, 00:00

ขอบคุณค่ะคุณลุงแก่
สำหรับหลักฐานข้อมูลที่ให้มา
ว่างๆ ขอความกรุณาคุณลุงช่วยนำความรู้เรื่องภาษาและเรื่องในอดีตมาเล่าให้หลานๆฟังอีกนะคะ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ
บันทึกการเข้า
แก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 12 ก.ย. 00, 00:00

พูดถึงเรื่องภาษาไทย ได้ยินว่าเดี๋ยวนี้เด็กบ้านเรามีการใช้คำใหม่ๆเพื่อท่องจำอักษรสูงกลางต่ำ ซึ่งต่างจากสมัยที่เคยเรียน เช่น อักษรกลางเคยท่องว่า ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง เดี๋ยวนี้เค้าท่องกันอย่างไรไม่ทราบ คุณเทาชมพูคงทราบดี
บันทึกการเข้า
ลุงแก่
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 12 ก.ย. 00, 00:00

แสดงว่าภาษาไทยยังไม่เป็นภาษาที่ตายแล้วเหมือนกับภาษาบาลี-สันสกฤต
เพราะยังมีการเกิดของคำใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ
ภาษาฝรั่งเศษสู้ภาษาอังกฤษไม่ได้ก็ตรงนี้แหละ เพราะภาษาฝรั่งเศษก็จะเป็น
ภาษาที่ใกล้จะตาย ในขณะที่ภาษาอังกฤษงอกออกไปเรื่อยๆ
สมัยก่อนการบัญญัติกฏหมายของไทยจะต้องร่างเป็นภาษาฝรั่งเศษก่อน
แล้วจึงแปลกลับมาเป็นภาษาไทย เพื่อให้ความหมายดิ้นไม่ได้
ไม่ทราบว่าปัจจุบันยังใช้วิธีนี้อยู่หรือเปล่า
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 12 ก.ย. 00, 00:00

ตอบคุณแก้ว- เด็กไทยยังท่องไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง
มีเพิ่ม
อักษรต่ำเดี่ยว   " งูใหญ่นอนอยู่หน้าวัดโมฬีโลก"
อักษรสูง -(จำได้ครึ่งเดียว) ฉันเห็นผีขายขวด

ตอบคุณลุงแก่ ไม่เคยทราบเรื่องนี้เลยค่ะ   คิดว่าฝรั่งเศสก็น่าจะมีคำใหม่ๆงอกขึ้นมาได้นะคะ
ส่วนการร่างกฎหมาย-น่าจะร่างเป็นภาษาไทยแล้วละค่ะ
 
บันทึกการเข้า
แก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 13 ก.ย. 00, 00:00

อักษรสูงversionที่เคยเรียนเป็นคนละอย่างกับของคุณเทาชมพู
รู้สึกว่าจะเป็น"ผีฝากถุงข้าวสารให้ฉัน"
 
บันทึกการเข้า
ทิด
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 13 ก.ย. 00, 00:00

สงสัยข้าวสารถุงนั้นฉันคงไม่กล้ากินหรอกครับ หึหึ
บันทึกการเข้า
นายผี
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 14 ก.ย. 00, 00:00

โห อย่างนี้จำจนวันตายเลยครับคุณแก้ว
"ผีฝากถุงข้าวสารให้ฉัน " เหอๆๆๆ

พระท่านไม่ฉันหรอก พระท่านได้วิ่งหนีเตลิดเปิดเปิง
อยู่ๆมีผีมาฝากถุงข้าวสารให้ฉัน
บันทึกการเข้า
แก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 14 ก.ย. 00, 00:00

ปรกติพระท่านก็ไม่ฉันข้าวสารอยู่แล้วจ้ะ ใครเอาข้าวสารไปให้พระฉันล่ะบาปตายเลย
บันทึกการเข้า
yu
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 14 ก.ย. 00, 00:00

ท่าทางคุณลุงแก่จะเก่งภาษาหลายอย่าง
นะคะนี่เท่าท่ีอ่านมา นอกจากภาษาไทย
จะเก่งทางด้านคำประพันธ์แล้ว
รู้ภาษาโ คบานวะโอยาสุมินาซัย และ
อังกฤษ ฝรั่งเศษอีก นับถือมากๆเลยเพราะ
แต่ละภาษานี่ก็ยากออก

ฝรั่งเศษนี่ยากออก แม้ว่าบางคนจะบอกว่า
ฝรั่งเศษ โรแมนติกกว่าเยอรมันก็ตาม
แต่เยอรมันก็คล้ายอังกฤษมากๆ
คนอังกฤษ ก็เลยเรียนเยอรมันกันไม่
ลำบากนัก เท่าไหร่
แต่เท่าท่ีรู้มาภาษาบาลีนี่คือรากฐานของ
ภาษาอังกฤษ อิตาลี ไม่แน่ใจเยอรมัน
มั๊ยแต่น่าจะใช่เพราะ อังกฤษและเยอรมันค่อนข้าง
ใกล้กันมากๆ สเปนอีกตัวท่ีก็ใกล้
กับอังกฤษ ท่าผิดใครรู้ช่วยแก้ให้ด้วย
นะคะ เท่าท่ีรู้ก็คือญภาษา Japanese
นี่ใกล้จีน กับเกาหลีมากๆเลย คนเกาหลี
ก็เลยเรียนภาษา๒ตัวสบายเลย

ได้ยินมาจากรุ่นน้องว่าภาษาของชาว
เผ่าในภาคเหนือนี่คล้ายกับ
(เผ่า A-Kaพอดีน้องเค้าไปเข้าค่าย
สอนเด็กชาวเขาเผ่านี้มา พวกนี้พูด
ไทยไม่ได้อีกต่างหากพวกคนแก่พ่อแม่
เด็กๆ เหมือนภาษาไทยเป็นภาษาท่ี ๒)
บาลีและญี่ปุ่นมากๆตรงท่ี
คำกริยาอยู่ลงท้ายของประโยค

น่าสนใจมากๆ
เลยค่ะภาษาทุกอย่าง แต่ภาษาไทย
ก็สวยท่ีสุดและมีความหมายมากๆ
ค่ะ อิอิ




 
บันทึกการเข้า
yu
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 14 ก.ย. 00, 00:00

มีข้อผิดมาแก้ ไม่ใช่บาลี
ท่ีเป็นรากฐานของอังกฤษ อิตาเลียน
แต่เป็นละตินต่างหาก ภาษาของ
ชาวอาคา ไม่รู้สะกดถูกมั๊ยก็
คล้ายละตินตรงคำลงท้ายท่ี
เอากริยาลง ไม่ใช่คล้ายบาลีค่ะ

ข้อผิดพลาด
บันทึกการเข้า
Caeruleus
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 14 ก.ย. 00, 00:00

ตอบคุณแก้ว(ความเห็นที่๒)
เท่าที่จำได้(ตั้งนานมาแล้วเนี่ยแหละ) ...
อักษรกลาง - ไก่จิกเด็กฯ นั่นล่ะค่ะ
ส่วนอักษรสูง - ไข่ ขวด ฉิ่ง ฐาน ถุง ผึ้ง ฝา สาม ส (ศ ษ ส) ห หีบ
บันทึกการเข้า
ปอ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 15 ก.ย. 00, 00:00

ขอเสริมเรื่องภาษาละตินสักหน่อย
คือความจริงกริยาในภาษาละตินไม่จำเป็นจะต้องอยู่ท้ายประโยคเสมอไป เราสามารเรียงคำเพื่อประกอบเป็นประโยคในภาษาละตินได้หลายวิธี อย่างเช่นประโยคว่า "หมากินข้าว" เราจะเรียงเป็น "หมาข้าวกิน" ก็ได้ หรือ "กินข้าวหมา" ก็ได้เพียงแต่เราต้องเปลี่ยนรูปคำนามให้ถูกต้อง เพื่อที่จะให้รู้ว่าคำว่า "หมา" ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค และ"ข้าว"เป็นกรรมของประโยค แต่การวางกริยาไว้ท้ายประโยคเป็นที่นิยมมากที่สุด
 
บันทึกการเข้า
ปอ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 16 ก.ย. 00, 00:00

ผมขออนุญาตมีความเห็นแตกต่างจากคุณลุงแก่หน่อยนะครับ คือผมเห็นว่าเราไม่ควรขอบคุณจอมพลแปลก พิบูลสงครามท่ีทำให้เราใช้ภาษาไทยทุกวันนี้ เพียงเพราะเราเปลี่ยนอักขระวิธีทำให้ญี่ปุ่นยอมรับ เพราะถึงอย่างไรญี่ปุ่นก็แพ้สงครามในพ.ศ.๒๔๘๘ อิทธิพลของญี่ปุ่นก็หมดไป ญี่ปุ่นก็ไม่มีอำนาจบังคับให้ไทยใช้ภาษาญี่ปุ่นอีกต่อไป ถึงแม้เราจะใช้ภาษาญี่ปุ่นตลอดระยะเวลา ๓ ปี ระหว่างพ.ศ.๒๔๘๕ กับ พ.ศ.๒๔๘๘ ก็ไม่พอเปลี่ยนภาษาประจำชาติของเราได้ เวลา ๓ ปีไม่พอที่จะทำให้คนไทยลืมภาษาไทยหรอกครับ  
บันทึกการเข้า
หนอนอ้วน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 16 ก.ย. 00, 00:00

คิดว่าถ้าไม่มีการแก้ไขในช่วงจอมพลแปลก ชาวญี่ปุ่นจะบังคับให้ไทยใช้ภาษาญี่ปุ่น เป็นภาษาราชการ เหมือนคนฝรั่งเศสบังคับคนลาว กัมพูชาให้พูดฝรั่งเศส นั่นแหละ
และในขณะนั้น เรายังไม่รู้เลยว่าญี่ปุ่นจะแพ้สงคราม ตอนนั้นญี่ปุ่นทำสงครามขยายไปเรื่อยๆ ชนะสงครามตลอด ไม่มีวี่แววว่าจะแพ้สงคราม ทางการไทยก็ต้องหาวิธีที่จะทำให้คนไทย ยังมีความเป็นไทย ไม่ต้องถูกบังคับไปใช้ภาษาอื่นถูกแล้ว
แล้วอีกอย่างเรื่องสงคราม ญึ่ปุ่นคงไม่แพ้สงครามถ้าอเมริกาไม่มาทิ้งระเบิดปรมานูที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ ทำให้ญี่ปุ่นเห็นแก่ประชาชนของตนในประเทศที่ไม่ได้ไปรบแต่กลับต้องมาโดนทำร้ายเพราะสงคราม จึงยอมแพ้ต่างหาก
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 19 คำสั่ง