ไปเจอบทความ เกี่ยวกับชื่อของเพลงนี้มาค่ะ

จากคอลัมน์เวิ้งวิภาษ
หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2553
อติภพ ภัทรเดชไพศาล
"เพลงค้างคาวกินกล้วยที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้เป็นเพลงไทย ครั้งแรกที่มีการนำเพลงนี้มาบันทึกเสียงให้ได้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายน่าจะเป็นในช่วงที่เพลงรำวงกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเพลงของวงสุนทราภรณ์ที่ชื่อว่าเพลง “รำวงรื่นเริงสำราญ” แต่งเนื้อร้องโดยสุรัฐ พุกกะเวส (ขออภัยที่เวลาสืบค้นข้อมูลมีจำกัดและไม่สามารถระบุปีที่เผยแพร่เพลงนี้ได้) มีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า (ร้องคู่ชาย-หญิง) “รื่นเริง สำราญ สบาย / ทั้งใจ และกาย สนุกสุขศานติ์ / หนุ่มสาว ถึงคราว สราญ / ทุกคน ชื่นบาน สำราญฤทัย”
แต่คำบรรยายที่ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทวิจิตรศิลป์ สาขาดุริยางคกรรมของ อ. ชนก สาคริกบอกว่าทำนองเพลงนี้ที่เรารู้จักกันอยู่ในทุกวันนี้นั้น แต่แรกเริ่มแล้วไม่ได้ชื่อว่าเพลงค้างคาวกินกล้วย และเพลงค้างคาวกินกล้วยนั้นเป็นอีกเพลงหนึ่งต่างหาก โดยยกเนื้อเพลงและโน้ตเพลง “ค้างคาว” ของคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ซึ่งเป็นเพลงสำหรับสอนเด็กทางวิทยุโรงเรียนขึ้นมาเปรียบและพบว่าเป็นทำนองคนละทำนองกับที่เราได้ยินกันอยู่ในทุกวันนี้
จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย ได้ความว่าเพลงค้างคาวกินกล้วยที่เราได้คุ้นเคยกันอยู่ทุกวันนี้ที่จริงแล้วมีชื่อว่าเพลงลิงถอกกระดอเสือ ปรากฏอยู่ในเพลงเรื่องเขมรใหญ่ (เพลงเรื่องคือชุดเพลงที่ประกอบด้วยเพลงย่อยๆ หลายเพลงเล่นต่อๆ กัน) โดยมีเพลงเร็วคือเพลงค้างคาวกินกล้วย (ที่ปรากฏในโน้ตเพลงของคุณหญิงชิ้น) เป็นเพลงเปิดชุด ส่วนเพลงลิงถอกกระดอเสือนั้นเป็นเพลงที่อยู่ในลำดับถัดๆ ลงไป แต่ด้วยความที่คนดนตรีมักจะเรียกชื่อเพลงรวมๆ โดยอาศัยชื่อเพลงแรกที่เปิดชุดเป็นหลัก
ดังนั้น เพลงลิงถอกกระดอเสือจึงถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเพลงค้างคาวกินกล้วยไปก็ด้วยเหตุนี้ชื่อเพลงจริงๆ ที่ฟังดูตลกขบขันนี้สัมพันธ์กับบุคลิกของตัวดนตรีที่รื่นเริงและฉับไวด้วย ท่วงทำนองแบบนี้เอื้อให้นักดนตรีไทยที่มักติดตลกโปกฮาอยู่แล้วแต่งเนื้อเพลงในทำนองสนุกสนานเฮฮาลงไปด้วย ดังที่สุจิตต์ วงษ์เทศได้รื้อฟื้นเนื้อร้องเพลงนี้บางส่วนไว้อย่างกำกวมในงานเพลงชุด ดินหญ้าฟ้าแถน (พ.ศ. 2546) โดยเพลงค้างคาวกินกล้วยที่แต่งโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ มีเนื้อร้องท่อนสุดท้ายว่า “เสือสะอิ้งลิงสะดุ้ง ลิงกระดุกกระดิกเสือ ลิงถอดเขี้ยวเสือ เสือถอดกางเกงลิง” (ฟังเพลงนี้ได้ที่
http://www.sujitwongthes.com/2009/08/ดินหญ้าฟ้าแถน-2546/)
การทำเพลงๆ นี้ในภาคบรรเลงย่อมทำให้เนื้อร้องเดิมๆ เลือนความหมายไป ยิ่งมีการเปลี่ยนชื่อเพลงด้วยแล้ว ความหมายเดิมที่หยาบคายก็ถูกทำให้สลายลงทีละน้อย ผมคิดว่างานชิ้นสำคัญที่มีบทบาทปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเพลงๆ นี้ก็คืองานของวงเยื่อไม้ในราวทศวรรษที่ 2530 คือเพลงค้างคาวกินกล้วย (สีไวโอลินโดยนพ โสตถิพันธ์) ที่กลายเป็นเพลงยอดนิยมไปทั่วประเทศในขณะนั้นและส่งผลให้เกิดการนำเพลงๆ นี้ไปดัดแปลงในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น (ฟังเพลงนี้ได้ที่
)"
สรุปว่า มีเพลงค้างคาวกินกล้วย 2 เพลงค่ะ
- เพลงในลำดับที่ 8
http://www.klothailand.com/song-thaitraditional.htm?8 เป็นของเดิม
- เพลงในลำดับที่ 29
http://www.klothailand.com/song-thaitraditional.htm?29 เดิมชื่อว่าเพลงลิง.??.เสือ(ทำไมต้องตั้งชื่อซะ..ขนาดนั้นนะคะ)..
แต่ปัจจุบันเวลาพูดถึงเพลงค้างคาวกินกล้วย ทุกคนมักจะนึกถึง เพลงลิง.??.เสือ ในลำดับที่ 29 ค่ะ
