เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 19229 อาถรรพ์ป่า - ที่มาของความเชื่อ และภาพในวรรณคดีไทย
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



 เมื่อ 25 ก.ค. 11, 11:11

เรียนสมาชิกเรือนไทยทราบ

หลังจากข่าวเสียชีวิตของเหล่าทหารซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในป่า ก็มีข่าวเกี่ยวกับอาถรรพ์ของป่าแก่งกระจานไปทั่วตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ

ทั้งนี้ ข้าพเจ้าเลยนึกๆดูว่า แนวความคิดของคนไทยเกี่ยวกับอาถรรพ์ป่ามีมานานเท่าไรแล้ว คงต้องอาศัยความคิดแบบคติชนวิทยามาอธิบาย

ข้าพเจ้าก็ตอบไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ ท่านใด พอจะทราบ และมาเล่าสู่กันฟังคงจะดีไม่น้อย ถึงที่มาและการปรากฏครั้งแรกของความเชื่อเหล่านี่้ (ว่าเก่าที่สุดปรากฏอยู่ในยุคใด)

อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้จะอธิบายแนวคิดที่เชื่อเกี่ยวกับอาถรรพ์ของป่าไม่ได้ แต่ก็น่าจะพูดถึงเรื่องอาถรรพ์ของป่าผ่านวรรณกรรมไทยได้ เพราะว่ามักปรากฏอยู่ในวรรคดีหลายเรื่อง

เช่น พระลอ หรือในโองการแช่งน้ำเป็นต้น กระทั่งกาพย์ขับไม้ใช้กล่อมช้างยังมี

นิยายน่าจะมีเยอะ อาทิเพชรพระอุมา (แต่ไม่เคยอ่าน) ภาพยนต์ที่ดังๆเมื่อหลายปีก่อนก็เคยพูดเกี่ยวกับอาถรรพ์ของป่าคำชะโนด

แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ใช่นักวรรณคดีที่เชี่ยวชาญ เลยขอมาถามผู้รู้ทั้งหลายว่า มีเรื่องอื่นๆอีกหรือไม่ หากใครว่าพอจะยกตัวอย่างข้อความให้ดูได้ไหม

บังเอิญตอนนี้หนังสือวรรณคดีไทยทั้งหมด คุณแม่ย้ายไปเก็บไว้ที่อยุธยา เลยไม่มีความสามารถมาลงพิมพ์ตอนนี้ได้

สวัสดี

อนึ่ง ย้ำว่าไม่ได้ชวนให้เล่าเรื่องผีอะไร แต่ถามถึงที่มาของความเชื่อ และการปรากฎความเชื่อเรื่องดังกล่าวเก่าที่่สุดยุคใด รวมไปถึงการปรากฏของแนวคิดดังกล่าวในวรรณกรรมต่างๆ ขออย่างเข้าใจผิด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 25 ก.ค. 11, 13:26

ถ้าพูดถึงภูตผีปีศาจที่ปรากฏอยู่ในป่า    นึกออกตอนนี้คือลิลิตพระลอ  พูดถึงป่าที่นางรื่นนางโรยเดินทางไปพบปู่เจ้าสมิงพรายเพื่อทำเสน่ห์พระลอ
พูดถึงสัตว์ตามธรรมชาติ คือจระเข้   และสัตว์เหนือธรรมชาติ มีช้างน้ำ และเงือก

เอ็นดูสองนางตกใจกลัว  ระรัวหัวอกสั่น  ลั่นทะทึกทะทาว สราวตามหมอผะผ้ำ เห็นแนวน้ำบางบึง  ชรทึงธารห้วยหนอง  จระเข้มองแฝงฝั่ง  สระพรั่งหัวขึ้นขวักไขว่  ช้างน้ำไล่แทงเงา  เงือกเอาคนใต้น้ำ กระล่ำตากระเลือก กระเกลือกกลอกตากลม  ผมกระหวัดจำตาย

ช้างน้ำที่ไล่แทงเงาตัวเองเป็นสปีชี่ส์ไหนไม่ทราบ  ยังนึกหน้าตาไม่ออก ต้องถามคุณเพ็ญชมพู
ส่วนเงือกในที่นี้เป็นผีน้ำชนิดหนึ่ง ตาเหลือกกลอกไปมา  ผมยาว   เอาผมพันรัดคนที่ลงไปเล่นน้ำแล้วฉุดลงไปจนจมน้ำตาย
บันทึกการเข้า
kui045
มัจฉานุ
**
ตอบ: 94


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 25 ก.ค. 11, 13:44

เรื่องอาถรรพ์ของป่าผ่านวรรณกรรมไทย

อ่านมาหลายเรื่องแต่ยอมรับว่า จำไม่ค่อยได้

แต่นำแนวความคิดเรื่องคติชนวิทยามาอธิบายก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร

วรรณกรรมไทยเท่าที่เคยอ่านและมีเรื่องอาถรรพ์ป่านั้น เท่าที่พอจำได้ ก็เรื่อง

เพชรพระอุมา
ชุด ล่องไพร
ใบไม้ร่วงในป่าใหญ่
บันทึกการเข้า
kui045
มัจฉานุ
**
ตอบ: 94


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 25 ก.ค. 11, 13:51

ความคิดส่วนตัว

แนวความคิดเรื่องอาถรรพ์มีอยู่คู่กับคนมาช้านานแล้ว(ไม่ว่าชาติไหน)
เนื่องจากก่อนที่กลุ่มคนจะพัฒนามาเป็นเมืองก็มาจากป่านั่นแหละ
ยิ่งเมื่อก่อนไม่มีความรู้ด้านวิทยาศาตร์ ก็พี่งเรื่องความเชื่อ-สิ่งเหนือธรรมชาติมาอธิบายปรากฏการต่างๆ

เนื่องจากความไม่รู้นั่นเอง (อาจเรียกว่าความลี้ลับก็ได้)

เช่น ฝนตกลงมาเป็นกบ
เป็นการเชื่อมโยงปรากฎการณ์จากการสังเกตุเห็น
ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้น จาก อะไร โดยไม่รู้กระบวนการที่เกิดมาอย่างไร
บันทึกการเข้า
kui045
มัจฉานุ
**
ตอบ: 94


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 25 ก.ค. 11, 14:07

โดยส่วนตัวแล้ว ชอบท่องเที่ยวธรรมชาติ เดินป่า
แล้วก็เคยเดินหลงป่า

ก็อยากอธิบายว่า
สภาพภายในป่านั้นเป็นสิ่งที่เราคนเมืองไม่คุ้นเคย

การเข้าไปสัมผัสจึงถือว่าเป็นการแปลกใหม่
ปราศจากการคุ้นเคยแบบเดิมๆ
จึงแยกอะไรไม่ค่อยออก
ต้นไม้ก็เหมือนๆกัน

จากเดินทางที่ทำให้สภาพร่างกายและจิดใจอ่อนแอท้อถอย
ทำให้สภาพการรับรู้ต่างไปจากเดิม
จึงเกิดภาพและเสียงหลอนต่างๆ

ประกอบกับสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดภัย
เช่นต้นไม้มีพิษ สภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ

จึงเกิดอาถรรพ์ต่างๆ

บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 25 ก.ค. 11, 20:15

ร่าย
ปล้ำเงี้ยวรอนราญรงค์ ผีดงผีหมื่นถ้ำ ล้ำหมื่นผา มาหนน้ำหนบก ตกนอกขอกฟ้าแมน แดนฟ้าตั้งฟ้าต่อ ล่อหลวงเต้า ทั้งเหง้าภูติพนัสบดี ศรีพรหมรักษ์ยักษ์กุมาร หลายบ้านหลายเท่า ล้วนผีห่าผีเหว เร็วยิ่งลมบ้า หน้าเท่าแผง แรงไกยเอาขวัญ ครั้นมาถึงถับเสียงเยียชระแรงชระแรง แฝงข่าวยินเยียรชระรางชระราง

อันนี้มาจากลิลิตโองการแช่งน้ำ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 25 ก.ค. 11, 22:14

ช้างน้ำที่ไล่แทงเงาตัวเองเป็นสปีชี่ส์ไหนไม่ทราบ  ยังนึกหน้าตาไม่ออก ต้องถามคุณเพ็ญชมพู

ช้างน้ำไม่ได้ไล่แทงเงาตัวเองดอก แต่มันแทงเงาผู้รุกราน

ตามตำนานล้านนากล่าวถึงผีจ๊างน้ำลำห้วย ไว้ว่า
 
ผู้คนเล่าขานตำนานจ๊างน้ำ(ช้างน้ำ) มากมายหลายส่ำสายผู้คนล้านนาต่างก็มีเรื่องจ๊างน้ำที่แทงเงาคนที่ไปป่นปี้ทำลายกระแสลำห้วย ด้วยว่าจ๊างน้ำเป็นสัตว์เลี้ยงของผีเสื้อห้วยที่ช่วยกันรักษาป่า รักษาลำห้วยให้มีน้ำหลากไหลบริสุทธิ์สดใสให้ผู้คนได้ดื่ม สัตว์ได้กินเลี้ยงชีวิต

อันว่าจ๊างน้ำมันเป็นวิญญาณสัตว์ตัวเล็กเท่า ๆ หนูปุ๊ก(พุก)ที่แอบซ่อนอยู่ตามเงิบเงื้อมหินผา เทือกไม้ริมน้ำลำห้วย พวกมันอยู่กันเป็นฝูง หากวันใดเป็นวันเดือนเป็ง (เพ็ญ) พวกมันพากันออกมาหล้นเล่นตามหาดทรายในลำห้วย เสียงเล่นน้ำของพวกมันดังจุ๋มจ๋าม....จุ่มจ๋าม...ร้องดังแผ้...แผ้.......แต่ก็แปลก ไม่เห็นตัวมัน  ผีจ๊างน้ำมันมีงาที่พิษร้ายหากงามันแก่จัดมันต้องถอดงาด้วยการแทงต้นกล้วยริมลำห้วยแล้วฝังงาคาไว้ ผู้คนที่มีบุญญาธิการมากนัก  เมื่อไปเที่ยวเตียวแอ่วป่าก็จะเห็นงาช้างน้ำฝังคาต้นกล้วยอยู่  หากอยากได้ต้องอธิษฐานว่า " ถ้าผู้ข้าเป๋นคนมีบุญขอจักถอดงาวิเศษนี้ได้จิ่มเตอ๊ะ "  แล้วทำการถอดงาออกมาจากต้นกล้วย  แต่ถ้าไม่มีบุญก็ไม่สามารถถอดงาออกมาได้ผู้คนก็ต้องสุมา ขออภัยในการที่ล่วงล้ำก้ำเกินผีจ๊างน้ำ

ด้วยเหตุที่จ๊างน้ำมักถอดงาไว้ตามต้นกล้วยนี้เอง  หากผู้คนอยากจับช้างน้ำหรืออยากได้งาช้างน้ำพวกเขาจะตัดต้นกล้วยไปขวางลำห้วยไว้ตอนใกล้วันเดือนเป็ง โดยหวังว่าจ๊างน้ำจะโกรธเพราะถูกขวางทางมันจะแทงให้งาถอดคาต้นกล้วยไว้   ผู้คนจะรอตอนกลางวันก็จะเข้าไปเก็บงาจ๊างน้ำมาไว้เป็นเครื่องรางของขลังนัยว่า มันป้องกันอาถรรพ์หรือขึ้ด  ป้องกันเภทผีร้ายได้แม่นแต๊ดีหลี

หากว่าใครไปทำลายป่าไม้ลำห้วยพวกมันจะพากันแทงเงาของผู้คนแล้วปล่อยพิษเรียกกันว่า  "ปิ๊ดเลาะ " ใส่ผู้คนพิษจะไล่เลาะไปตามกระดูกกระเดี้ยวเจ็บปวดตายในทันทีทันใดสะใจของของพวกผีจ๊างน้ำแต๊ ๆ

ด้วยศักดาวิเศษของพิษงาจ๊างน้ำพ่อหมอผีทั้งหลายจึงคิดคำภาษาอัญเชิญวิญญาณผีช้างน้ำเข้าสิงงาช้างหรือมีดหมอเพื่อใช้เป็นอาวุธในการปราบไล่บรรดาผีร้ายซะป๊ะผี เรียกกันว่า "คาถาจ๊างน้ำ" มีคำขึ้นต้นว่า "โอม......จ๊างน้ำหน้อยงาแดง  จ๊างน้ำแม่นแกว่นแตงเงา.........." ที่ละว่าง.....ไว้เพราะเป็นข้อห้ามของพ่อครูห้ามไว้มิให้ใครเรียนโดยไม่มีการยกครูจะผิดผีครู ทำให้ผู้ทรยศต่อคำสอนมักมีอันเป็นไปเรียกกันว่า " ผิดผีครู" เกิดอาการดั่งบ้า

http://www.gotoknow.org/blog/nhanphromma/150343

หน้าตาช้างน้ำประมาณนี้กระมัง

 ยิงฟันยิ้ม



บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 25 ก.ค. 11, 22:26

นิราศพระประธม ของท่านสุนทรภู่ .... ยิงฟันยิ้ม

..สงัดเงียบเยียบเย็นทุกเส้นหญ้า
แต่สัตว์ป่าปีบร้องก้องกระหึ่ม
ไม่เป็นหนต้นไม้พระไทรครึ้ม
เสียงงึมงึมเงาไม้พระไทรคะนอง

ทั้งเปรตผีปี่แก้วแว่วแว่วหวีด
จังหรีดกรีดกรีดเกรียวเสียวสยอง
เสียงหริ่งหริ่งไทรเรไรร้อง
แม่ม่ายลองไนเพราะเสนาะใน...

นิราศเมืองแกลง ของท่านสุนทรภู่ .... ยิงฟันยิ้ม

..ถึงหย่อมย่านบ้านระกาดก็ลงถ่อ
ค่อยลอบรอเรียงลำตามน้ำไหล
จนล่วงเข้าหัวป่าพนาลัย
ล้วนเงาไม้มืดคล้ำในลำคลอง
ระวังตัวกลัวตอตะเคียนขวาง
เป็นเยี่ยงอย่างผู้เฒ่าเล่าสนอง
ว่าผีสางสิงนางตะเคียนทอง
ใครถูกต้องแตกตายลงหลายลำ
พอบอกกันยังมิทันจะขาดปาก
เห็นเรือจากแจวตรงลงถลำ
กระทบผางตอนางตะเคียนตำ
ก็โคลงคว่ำล่มลงในคงคา..

เป็นความเชื่อ เกี่ยวกับอาถรรพ์ป่า จากวรรณคดี....
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 26 ก.ค. 11, 16:43

๑    จำได้ว่าช้างน้ำตัวเล็กๆเคยออกทีวีให้ดูกัน   ดูเหมือนเนื้อหนังจะเหมือนเรซิ่นราวกับแกะ  ยิงฟันยิ้ม 
๒    กลอนบทที่คุณ DD ยกมาข้างบนนี้   มีคำว่า เปรตผี
      กลอนวรรคนี้ พบอีกหนใน ขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายงาม  สุนทรภู่เขียนว่า

     ทั้งเป็ดผีปี่แก้วแว่วแว่วหวีด
     เสียงจังหรีดกรีดแซ่ดังแตรสังข์
     
      ขุนช้างขุนแผนบางฉบับพิมพ์สะกดผิดเป็นเปรตผี  อาจเป็นเพราะผู้ตรวจพิสูจน์อักษรไม่รู้จักคำว่า เป็ดผี     แต่ในฉบับที่ดิฉันเคยเรียน สะกดว่า เป็ดผี    ในนิราศฉบับนี้ก็คงสะกดผิดเหมือนกัน  คำที่ถูกต้องคือเป็ดผี  เป็นแมลงชนิดหนึ่ง  สุนทรภู่บรรยายไว้เข้ากับบรรยากาศ
      รอยอินให้คำอธิบายว่า เป็ดผีเป็นตั๊กแตนหนวดยาวพวกหนึ่งในวงศ์ Tettigoniidae ทําเสียงดังหวีดหวิวในเวลากลางคืนโดยใช้ปีกกรีดกัน มีทั้งชนิดที่มีปีกยาวคลุมลําตัว ลักษณะปีกเหมือนใบไม้ เวลาเกาะเหมือนเอาใบไม้ ๒ ใบมาประกบกัน เช่น ชนิด Holochlora siamensis และชนิดปีกสั้นซึ่งไม่สามารถหุ้มลําตัวได้ เช่น ชนิด Eleandrus titan.
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 26 ก.ค. 11, 16:57

อ้าว...หนูนึกว่า เปรต...กลายเป็นเป็ด... ยิงฟันยิ้ม
ขอโทษนะคะ ไม่รู้จัก แมลงเป็ดผี รู้จักแต่นกเป็ดผี ...

ถ้างั้น กลอนนิราศพระประธม ที่เอามา ก็เป็นบทพรรณาความวังเวงในป่าเฉยๆ ค่ะ ไม่มีบทความเชื่อ อาถรรพ์... อายจัง
แต่ นิราศเมืองแกลง เป็นเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับนางตะเคียนค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 26 ก.ค. 11, 16:59

พาเป็ดผีมาแนะนำกับคุณ DD ค่ะ


บันทึกการเข้า
wat
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 06 ต.ค. 11, 15:04

พาเป็ดผีมาแนะนำกับคุณ DD ค่ะ

 ยิงฟันยิ้ม  ตัวนี้ที่ลาวเค้าเรียก...แมงจรวด...คับ เคยเห็นตัวโตสุดก็ร่วมๆฝ่ามือผู้ชาย  ถ้าตัวเมียมีใข่ด้วย...ยิ่งเด็ด...ผมเคยเจอตัวจริงๆตอนแรกก็ตกใจ แต่คนแถวนั้นจับมาให้ดู ดูเสร็จเค้าก็เอายัดเข้าใต้เตาไฟ...  ลังเล  ...ไม่นานกลิ่นโชยออกมา...กลิ่นกุ้งเผาดีๆนี่เอง...ย่างไปสักพัก เค้าเอามาให้ชิม... ถ้าไม่เห็นตัวนะ บอกได้เลยว่ากุ้งเผาดีๆนี่เอง...นิยมกันมากที่โน่นคับ   เจ๋ง
บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 06 ต.ค. 11, 15:59

ท่านใดมีความรู้เกี่ยวกับเรไรบ้างครับ
ผมไม่มีเอกสารชั้นต้นภาษาไทยเก่าๆ ที่พูดถึงเรไร ว่ามีลักษณะอย่างไร
เอกสารที่มีอยู่เป็น secondary มีชว่งหลังๆ แล้วครับ
เคยได้ยินมากขึ้นหลังยุคหมอบุญส่งหรือหลังปี 2500 แล้ว
ท่านใดเคยผ่านตา กรุณาแจ้งให้ทราบจะเป็นพระคุณยิ่งครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 06 ต.ค. 11, 17:40

ข้อมูลจาก :จารุจินต์ นภีตะภัฏ : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย http://www.tistr.or.th/t/publication/page_area_show_bc.asp?i1=44&i2=44&noshow=1

เรไร (imperial cicadas) เป็นแมลงกลุ่มหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์จักจั่น (Cicadidae) เช่นเดียวกับจักจั่นแม่ม่ายลองไน แมลงอื๋ ฯลฯ
เป็นแมลงที่มีปากดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นไม้ และมีปีกใส มีเส้นปีกเป็นโครงร่างมากมาย ทั้งปีกคู่หน้าและปีกคู่หลัง จึงจัดอยู่ในอันดับโฮมอพเทอรา (Homoptera) ส่วนใหญ่จัดอยู่ในสกุล Pomponia ส่วนน้อยที่เหลืออยู่ในสกุล Tosena, Cryptotympana และ Platylomia ชนิดที่พบบ่อยๆ ในประเทศไทย มีชนิด Pomponia intermedia, P. fusca และ P. lactea

เรไรมีลำตัวยาว 35-65 มิลลิเมตร และปีกทั้งสองแผ่ออกกว้างถึง 80-176 มิลลิเมตร จึงมีลักษณะที่เด่นต่างออกมาจากจักจั่นสกุลอื่นๆ ที่พบในประเทศไทย สีลำตัวส่วนใหญ่ เป็นสีน้ำตาลอมเขียว หัวกว้างไล่เลี่ยกับส่วนอก ตาเดี่ยว (ocelli) อยู่รวมกันเป็นกระจุก 3 ตา ตรงกลางหน้าผาก ด้านหลังของอกปล้องแรก มีขอบด้านข้างแบนยื่นออกไป ส่วนท้องมี 6 ปล้อง ซึ่งส่วนท้องของ ตัวผู้ยาวกว่าความยาวของหัวรวมส่วนอก เฉพาะตัวผู้เท่านั้นที่มีอวัยวะสำหรับทำเสียงและมีแผ่นปิดอวัยวะนี้ ลักษณะสั้นและวางตัวตามแนวขวาง ปากดูดเวลาไม่ใช้งานจะสอดเข้าไปใต้ส่วนหัว โดยมีปลายปากยาว เลยโคนขาคู่ที่สามออกไป โคนขาคู่หน้ามักพองโตออกและมีหนาม ขนาดใหญ่อยู่ข้างใต้

เรไรมีเสียงร้องที่ดังกว่าจักจั่นชนิดอื่นๆ มาก เมื่อฟังดูจะคล้ายกับเสียงเลื่อยวงเดือนกำลังเลื่อยไม้ เสียงดัง ว้าง-ว้าง-ว้าง เป็นจังหวะ ไปเรื่อยๆ นานประมาณ 30-45 วินาทีจึงหยุด ประมาณ 10-20 วินาที จึงเริ่มต้นส่งเสียงอีกครั้งหนึ่ง เวลาที่เรไรส่งเสียงคือตอนพลบค่ำเวลา 17.00-18.00 นาฬิกา แต่ต้องไม่มีฝนตกในช่วงเวลานี้ และอากาศไม่หนาวเย็นจนเกินไป ส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มร้องเวลา 17.30 นาฬิกา จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “แมงง่วง” เพราะได้เวลาเลิกงาน เตรียมตัวกลับบ้านได้แล้ว
ในบริเวณป่าดิบภาคใต้ เรไรในสกุล Tosena และ Pomponia มักมีชื่อเรียกว่า "สามลูกควน" หรือ "สาวลูกครวญ" เพราะมีเสียง ร้องได้ยินไปไกลถึงสามลูกภูเขา (ควน) หรือร้องเพลงกล่อมลูกอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากมีลูกที่ร้องกวนใจ



 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 07 ต.ค. 11, 03:58

ขอบคุณมากครับคุณเพ็ญชมพู
ข้อมูลด้านบนนี้แหละที่ผมเรียกว่า secondary คือพอเถียงกันในที่ประชุมเอาเข้าจริงๆ
ไม่เคยมีคนเห็นคำว่าเรไรในเอกสารภาษาไทยอย่างเช่นในโคลง หรือวรรณคดีต่างๆ
อาจเป็นเพราะเป็นนักวิทยาศาสตร์กันเสียส่วนใหญ่ แม้ว่าหลายท่านจะมีอายุสูงเกือบ 80 ปีแล้วก็ตาม
เลยไม่แน่ใจว่าอยู่ในเอกสารไทยฉบับใดบ้าง ค้นสัตวาภิธานของพระศรีสุนทรโวหารก็ไม่พบ
ตอนนี้เลยกำหนดว่าเรไรเป็นจิ้งหรีดชนิดหนึ่ง (อันดับ Orthoptera)
ซึ่งถ้าเทียบกับเอกสารที่คุณเพ็ญชมพูหามาเรไรเป็นจักจั่น (อันดับ Homoptera)
เสียงของทั้งสองต่างกันมากโขนะครับ
ผมคนรุ่นใหม่ อายุยังไม่มาก เกิดเกือบฉลองกรุง 200 ปี
ขณะที่หลายๆ ท่านเกษียณไปนานแล้วแต่ยังคงทำงานอยู่ เกิดในสมัยปลายรัชกาลที่ 7
ถามว่าท่านเคยได้ยินเสียงเรไรไหม ท่านบอกว่าไม่เคย
แต่ผมรู้สึกว่าเรไรไม่ใช่จิ้งหรีด แต่จะเป็นอะไรนั้นก็ไม่ทราบแน่ชัด
เสียดายมากครับ ต่อไปก็จะมีการระบุแน่ชัดในรอยอินว่าเป็นจิ้งหรีด
คิดแล้วยังคาใจอยู่ไม่หายจนถึงทุกวันนี้ คงทำหน้าที่ได้เท่านี้ครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.05 วินาที กับ 19 คำสั่ง