พระองค์เจ้าอรรณพ ถูกอ้างพระนามเรื่องเป็นพระราชโอรสที่ถูก "เก็ง" ให้ขึ้นครองราชย์ แต่ไม่เป็นผล กับอีกเรื่องที่ป๊อปพอกันคือเรื่องประคำพระราชทาน
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงสิริราชสมบัติอยู่ ๒๗ ปี นับเป็นเวลาที่ยาวนานพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รอคอยที่จะสืบราชบัลลังก์ต่อไป
จนเมื่อเวลาอันเป็นที่สุดแห่งรัชกาลมาถึง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเลือกขนบธรรมเนียมเดิม คือไม่ระบุองค์รัชทายาทตรงๆ แต่กลับทรงเลือกวิธีเก่าคือ โยนหินถามทาง หยั่งเสียง และการบอกโดยนัยยะ แม้กระทั่งมีพระราชดำรัส "ตัด" พระราชวงศ์ที่อยู่ในข่ายสืบราชสมบัติออก
เบื้องต้นมีพระราชประสงค์ที่จะ "หยั่งเสียง" โดยมีพระราชโองการออกมาให้พระบรมวงศ์และขุนนางเลือกองค์รัชทายาทกันเอง คล้ายกับจะทรงฟังว่ามีมติออกมาอย่างไร แต่ครั้นทรงทวงถามถึงพระราชโองการนั้นว่ามีผลอย่างไร พระยาศรีสุริยวงศ์ก็กราบทูลเป็นการบ่ายเบี่ยงเสียว่า พระโรคนั้นยังไม่ถึงขั้นตัดรอน "ซึ่งจะยกพระวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นก็ยังไม่สมควร"
ครั้นเมื่อทรงทราบดังนี้แล้วว่ายังไม่มีการเสนอผู้ใดขึ้นมา ซึ่งย่อมหมายถึงพระราชโอรสที่ทรงต้องการให้เป็นรัชทายาทก็ย่อมไม่อยู่ใน "โผ" นั้นด้วย
จึงมีพระราชกระแสรับสั่ง "กัน" พระราชวงศ์ที่เป็น "ตัวเก็ง" ออก คือ กรมขุนเดชอดิศร ท่านว่าพระกรรณเบาเชื่อคนง่าย กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ พระสติปัญญาไม่ถึงขั้น ส่วนเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ก็ไม่พอพระทัยทำราชการ รักแต่เล่นสนุก ส่วนที่มีความเหมาะสมมากกว่าคนอื่นคือเจ้าฟ้ามงกุฎ แต่ก็รังเกียจว่าทรงครองผ้าอย่างมอญ จะเห็นได้ว่า "ข้อหา" สำหรับเจ้าฟ้ามงกุฎนั้น "เบา" และแก้ไขได้ง่ายที่สุด เห็นจะทรงปลงพระทัยแล้วหรืออย่างไร?
ส่วนพระราชโอรสที่มีพระราชประสงค์จะให้สืบต่อราชสมบัติคือพระองค์เจ้าอรรณพ ซึ่งครั้งหนึ่งมีพระราชประสงค์จะมอบ "สัญลักษณ์" แห่งการสืบราชบัลลังก์ คือพระประคำทองคำของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ แต่ก็เกิดการ "หยิบผิด" หรือ "สับเปลี่ยน" นำพระประคำองค์ปลอมไปถวาย ว่ากันว่าเป็นลางให้พระองค์เจ้าอรรณพต้องพลาดจากราชบัลลังก์ไปแต่สิ่งที่แน่นอนกว่าพระประคำทองคำองค์นั้นคือ แรงสนับสนุนจากขุนนางตระกูลบุนนาค ที่ส่งคนไปเตรียมการ "สึกพระ" ตั้งแต่ก่อนพระเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตเสียอีก ทางด้าน "ทูลกระหม่อมพระ" เองก็ทรงแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนต่างประเทศ "เปิดตัว" ไว้ล่วงหน้าเช่นกัน
พระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอยู่ค่อนข้างจะหนักและทรมาน เสวยข้าวไม่มีรสมาแล้วเป็นปี อาการพระโรคเจ็บหลัง เสียดท้องตามชายโครง เสียดถึงขั้นนอนหงายไม่ได้ พระอาการหนักอยู่จนถึงขั้นต้องออกประกาศหาแพทย์มือดีมารักษา แต่ก็ไม่สามารถจะฉุดรั้งพระอาการประชวรไว้ได้นาน ครั้น ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ เวลา ๘ นาฬิกา ๕ บาท ก็เสด็จสวรรคต ตรงกับวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔
ราชสมบัติสืบต่อไปยังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรัชกาลที่ ๔ แห่งพระราชวงศ์จักรี และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในพระราชวงศ์นี้ที่มีสร้อยพระนาม "อุภโตสุชาติ" ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่มาจาก "เจ้าฟ้า" เท่านั้น อุภโตสุชาติคือการเกิดดี ทั้งพระราชบิดาและพระราชมารดาเป็นเจ้า
พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีที่มีสร้อยพระนามอุภโตสุชาตินั้นมี ๔ พระองค์ คือ รัชกาลที่ ๔, ๕, ๖, ๗
จากบทความเรื่อง ผลัดแผ่นดิน กรุงรัตนโกสินทร์ โดย ปรามินทร์ เครือทอง จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๘
