เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5381 ภาษาเทียม(Artificial Language) ในข้างหลังภาพของศรีบูรพา
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 17 เม.ย. 01, 00:01

อ่านพบไมเคิล ไรท์ พูดถึงภาพยนตร์ข้างหลังภาพในมติชนฉบับวันนี้  มีข้อหนี่งที่เขาโยงไปถึงภาษาในเรื่อง ว่าา
"ตัวบทเจรจาฟังแข็งทื่อไม่เหมือนภาษาที่คนปกติธรรมดาใช้กันในชีวิตประจำวัน    พระเอกนางเอกต่างปราศรัยซึ่งกันและกัน เสมือนกำลังอ่านจากตำราอย่างเช่น "สมบัติของผู้ดี" ของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี  เวลานพพรพูดกับคุณหญิงกีรติก็ลงท้ายด้วย "ขอรับกระผม"ทุกที  ทำให้รำคาญและไม่เชื่อหู
.................................
บทเจรจานี้นำมาจากหนังสือของศรีบูรพาทั้งนั้น    แล้วจะโทษศรีบูรพาได้ไหม  ก็เป็นไปไม่ได้  เพราะหนังสือของท่านสะท้อนวิถีชีวิตและลีลาการพูดของชนชั้นนั้นในยุคสมัยนั้น  
มันน่าจะเป็นวิธีการพูดจาของชาววังซึ่งหลัง ๒๔๗๕  สามัญชนที่อยากเป็น " ผู้ดี" นำมาให้เพื่อยกฐานะของตน  และกดคนที่อยู่ข้างล่าง  
มันคือ ภาษาเทียม(Artificial  Language)ที่ใช้ประโยชน์ในการแบ่งชนชั้น
ทั้งนี้ทำให้นึกชมจอมพลแปลก  ที่พยายามปฏิรูปภาษาให้เรียบง่าย   และแสดงความเสมอภาค    แต่ทำไม่สำเร็จเพราะภาษาเป็นพฤติกรรมมนุษย์ (วัฒนธรรม) ที่บังคับกันไม่ได้
...................
หนังสือของศรีบูรพา ชื่อ "ข้างหลังภาพ" ชั้นหนึ่งเป็นโศกนาฏกรรมเรื่องความรักต้องห้าม    อีกชั้นหนึ่งเป็นเรื่องสังคมที่ใช้ประเพณี (และภาษา) ให้คนอยู่ในกรอบตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ

คัดและลอกเอามาเสียยาว  เพื่อจะบอกว่าอ่านแล้วดิฉันนอกจากไม่เห็นด้วยกับไมเคิล ไรท์ ทุกประเด็นแล้ว  ยังคิดว่าเขาพูดผิดอีกด้วย
แต่ยังไม่ไขคำตอบละค่ะ  อยากฟังความเห็นของคนอื่นๆมากกว่า
ว่าแต่...มีใครเคยอ่าน "ข้างหลังภาพ" บ้างคะ?
บันทึกการเข้า
ทวยเทพ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 02 เม.ย. 01, 20:20

ไมเคิล ไรท์ ก็ยังเป็นไมเคิล ไรท์ ผมว่าเค้าอาจจะมองในมุมที่เค้าใช้สายตาของชาวตะวันตกถึงแม้ว่าจะอยู่เมืองไทยมานานจนชื่อ เมฆ มณีวาจา  แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่กล่าวว่าสามัญชนใช้พูดเพื่อเป็นการยกระดับฐานะตนเองและกดคนชั้นล่าง
และการแสดงออกทางภาษาของเราก็เป็นส่วนหนึ่งทางวัฒนธรรมที่ได้ถ่ายทอดจนเกิดเป็นขนบที่ มีการแบ่งแยกระดับในการใช้ ซึ่งมีควมต่างจากโลกฝากตะวันตก
สำหรับการที่เค้ายกตัวอย่างเรื่องจอมพลแปลก ผมว่ามันเป็นอีกประเด็นที่ไม่น่าเกี่ยวข้องกันการที่จอมพล ป. ทำเช่นนั้นเป็นการทำเพื่อต้องการสลายระบบชนชั้นของความเป็นเจ้าลงให้เท่ากับสามัญชน เพื่อการดำรงตนในอำนาจให้มีความชอบธรรมหรือพูดง่ายๆคือการทำเพื่อผลประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง และเหตุที่ทำไม่สำเร็จก็น่าจะเป็นเพราะความสำนึกของชนชั้นล่างอย่างเรามากกว่าที่เห็นว่สิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร
ลุงไมเคิล ไรท์ กลับมาค้นคว้เรื่องทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ให้พวกเราอ่านดีกว่าครับ เรื่องทางด้านการวิจารณ์แบบนี้รู้สึกว่าลุงแปร่งๆไปมากเลย
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 02 เม.ย. 01, 22:58

ผมไม่คิดว่ากุหลาบ สายประดิษฐ์ จะสามารถไปเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำในการกดชนชั้นสามัญ หรือแม้แต่ชนชั้นสามัญนอกวัง กดชนชั้นล่าง
เท่าที่อ่าน "ศรีบูรพา" มาบ้าง คิดว่าแนวความคิดของท่านเสรีนิยมเกินกว่าที่จะเป็นอย่างนั้น ถ้าท่านจะใช้ภาษาเช่นนี้ก็น่าจะเป็นเพราะว่าความเป็นจริงยุคนั้นที่ท่านเห็น ท่านรับรู้มา คนในกลุ่มสังคมหนึ่งพูดอย่างนั้นจริงๆ มากกว่า ตามที่คุณไมเคิล ไรท์ เขียนไว้เองแล้วนั่นแหละว่า หนังสือของศรีบูรพาสะท้อนสังคมและวิถีชีวิตจริงๆ ของคนยุคนั้น (ไม่ว่าคนไทยหรือฝรั่งยุคต่อมาจะฟังขัดหูหรือไม่ก็ตาม) ถ้าสะท้อนความจริงจริงๆ แล้วจะเป็นภาษาเทียมไปได้อย่างไร ผมก็ยังงงๆ เหมือนกัน
นอกจากนั้น จะถือว่าเจ้าคุณอธิการบดีและคุณหญิง (คือ มรว. กีรติ) เป็นสามัญชนนอกวังที่อยากจะถีบตัวขึ้นไปเหนือคนธรรมดาและใช้ภาษากดชนชั้นล่างได้หรือ? ในเมื่อทั้งเจ้าคุณและคุณหญิงเป็นชนชั้นสูงอยู่แล้ว เอาล่ะครับ นพพรอาจเป็นชนชั้นกลางหรือสามัญชน แต่ก็น่าจะตระหนักหรือับรู้ขนบเก่าและความคาดหวังของชนชั้นสูงเหล่านี้พอที่จะพูดกับคนชั้นสูงได้อย่างถูกต้องตามระเบียบสังคมเก่า (เช่นรับคำคุณหญิงว่า ขอรับกระผม) ซึ่งระเบียบสังคมนี้จะพังทลายไปหลัง 2475 หรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็นหรือไม่ตรงประเด็นของคุณไรท์ เพราะตัวละครที่ใช้ภาษา (ที่คุณไรท์เรียกว่าภาษาเทียม) สามตัวนี้ ไม่มีชนชั้นล่างอยู่ด้วย แสดงกันอยู่ด้วยกันเองระหว่างชนชั้นสูงกับชั้นกลาง แล้วจะไปเป็นการแสดงของชนชั้นกลางเพื่อเหยียดชนชั้นล่างยังไง ก็ยังนึกไม่ออก แล้วไปเกี่ยวกับเรื่องหลัง 2475 อย่างไรก็นึกไม่ออกเหมือนกัน
"ภาษาเทียม"  ในความหมายของคุณไรท์ ที่ใช้ระหว่างชนชั้นเพื่อแบ่งแยกชั้นจริงๆ ที่ผมนึกออกก็คือ ระบบราชาศัพท์ แต่การลงท้ายว่าขอรับกระผม หรือสำนวนที่ฟังแปร่งหูใน ข้างหลังภาพ นี่ผมยังไม่จัดเป็น "ภาษาเทียม" ในความหมายนี้ครับ

ส่วนภาษาของจอมพล ป. นั้น ถึงแม้ว่าจะโต้แย้งไว้ว่าเป็นการล้มระบบของพวกเจ้าลง ให้เป็นฉันเป็นท่านเสมอกันหมด ก็ไม่แน่นักว่าเสมอกันจริง ประการแรก ผมไม่คิดว่ารัฐนิยมเรื่องฉัน/ท่าน/ จ้ะ/ ไม่ นี่ กินไปถึงราชาศัพท์ด้วย คือถ้ามีอะไรที่จอมพล ป. จะต้องกราบทูลเจ้านายก็คงจะยังใช้ราชาศัพท์อยู่ดี แกคงไม่ไปฉันยังงั้นนะจ๊ะท่านอย่างนี้จ้ะ กับเจ้านาย (แต่อาจจะสะกดราชาศัพท์ด้วยอักขรวิบัติอย่างสมัยนั้น) ประการที่สองในบรรดาคนเสมอๆ กันที่ไม่ใช่เจ้านาย คือไม่ใช่ข้าพระพุทธเจ้าเกล้ากระหม่อมใต้ฝ่าพระบาท เป็นคนที่เป็นฉันกับท่านด้วยกันนั้นก็ยังไม่เสมอกันอยู่ดี มี "ท่านผู้นำ" อยู่คนหนึ่งที่ "ท่านผู้นำไปทางไหนฉันก็จะไปด้วย..." ไม่เสมอภาคแน่ครับ
บันทึกการเข้า
เพื่อนเก่า
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 02 เม.ย. 01, 23:20

ได้อ่านบทความนี้เช่นกันค่ะ  ไม่มีความสามารถมากพอที่จะวิพากษ์ ได้ละเอียดว่า ถือเป็นภาษาเทียมได้หรือไม่ เพราะเกิดไม่ทัน เลยไม่ทราบว่า ภาษาจริงในสมัยนั้นใช้กันอย่างไร

แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับไมเคิลไรท์   และอดไม่ได้ที่จะคิดว่า ชาวตะวันตก  ต่อให้อยู่เมืองไทยนานแค่ไหน ก็ไม่น่าที่จะเข้าใจ ภาษาไทยได้อย่างลึกซึ้ง

เพราะ ได้เห็นกะตาว่า คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบปริญญาตรีสดๆร้อนๆ ได้อ่าน ข้างหลังภาพ และเป็นผู้ชายแท้ๆ
ยังน้ำตาซึมกับ เรื่องราวที่ปรากฎอยู่ในข้างหลังภาพ
แล้วยังงี้  จะเรียกว่าภาษาเทียมได้อย่างไรคะ  

ภาษาไทยที่ไพเราะ ต่างหากคะ.. ฝรั่งมังค่า จะมาเข้าใจความรู้สึก ความอ่อนน้อมถ่อมตน แบบไทยๆได้อย่างไรกันคะ เมื่อไม่เข้าใจวัฒนธรรมที่งดงามของไทย
แล้วจะซึ้งกับภาษาในข้างหลังภาพได้อย่างไร

นอกจากนี้ การนำเสนอในภาพยนตร์ ก็ยังมีผลต่อความรู้สึกได้ ... ทั้งบทภาพยนตร์.. การตัดต่อ ..ฝีมือนักแสดงอีกล่ะคะ
ฝรั่งจะมาด่วนสรุปว่า เป็นภาษาเทียม  ขอค้านว่าไม่เห็นด้วยค่ะ

ออกความเห็นตามประสาชาวบ้านที่ ไม่ได้แตกฉานในภาษาไทยนักค่ะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 03 เม.ย. 01, 08:51

ผมไม่ได้อ่านตวจริง แต่จากที่คุณเทาชมพูคัดมาให้ขอสรุปประเด็นที่คุณเมฆเขียนไว้ดังนี้ครับ
1.ภาษาที่ใช้ในข้างหลังภาพเป็นภาษาที่ใช้กันในสมัยนั้น
2.คุณเมฆมองว่าภาษาสมัยนั้นที่ปรากฎในหนังสือไม่ใช่ภาษาของสามัญชน แต่เป็นของชนชั้นสูง
3.คุณเมฆมอง(อีกแล้ว)ว่าการแบ่งระดับภาษาพูดเป็นการแบ่งชนชั้น
4.คุณเมฆมอง(ในที่สุด)ว่าการแบ่งระดับภาษานั้นเป็นความจงใจเพื่อกดขี่

ทีนี้ถึงความคิดของนายขี้เมฆบ้าง(ผมเอง)
ผมเห็นด้วยนะกับทุกประเด็นที่ไมค์เขียนไว้ ทั้งนี้เราคงต้องแบ่งแยกเรื่องความสวยงามทางภาษาที่ปรากฎอยู่ในบทประพันธ์และการแบ่งแยกชนชั้นนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเพียงสิ่งเลวร้ายที่มนุษย์ทำกับมนุษย์ด้วยกัน(ตามแนวคิดแบบมาร์กซ์) แต่เป็นเครื่องมืออันหนึ่งซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาของสังคม ซึ่งก็แน่นอนว่าอาจจะหมดไปเมื่อหมดความจำเป็นที่จะต้องใช้ต่อไปครับ

เชิญต่อครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 03 เม.ย. 01, 11:12

ความเห็นของดิฉัน
ดิฉันว่าคุณไมเคิล ไรท์ผิดตั้งแต่ตั้งสมมุติฐานแล้วค่ะคือเข้าใจว่าภาษาที่ใช้ในข้างหลังภาพเป็นภาษาที่ใช้กันในสมัยนั้น
ความจริงไม่ใช่
ภาษาในข้างหลังภาพ เป็นภาษาของคุณหญิงกีรติและนพพรโดยเฉพาะ  
ไม่ใช่ภาษาที่ผู้คนเขาพูดกันโดยทั่วไป    
 ถ้าจะมีคนพูดกันจริงๆก็ต้องเป็นคนที่มีวิธีการพูดเฉพาะตัว ไม่ซ้ำแบบคนอื่น จะมาเหมารวมว่าเป็นภาษาของคนสมัยนั้นไม่ได้

ทำไมถึงว่าเช่นนั้น?

ก็เพราะการสอบเทียบกับหนังสืออื่นๆทั้งนิยาย บันทึก รายงาน บทความในหนังสือพิมพ์ ต่างๆร่วมสมัยเดียวกันกับ "ข้างหลังภาพ" จะเห็นได้ว่าไม่มีใครเขาพูดกันอย่างประณีตบรรจง  รำพึงรำพันกันยาวเหยียดอย่างในเรื่องนี้

เราคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า   นิยายของศรีบูรพานั้นมีหลายแบบ  ไม่ใช่แบบเดียว   นิยายสมจริงก็มี นิยายโรแมนติกเชิงอุดมคติก็มี
ข้างหลังภาพ เป็นนิยายรักเชิงอุดมคติที่เขียนด้วยภาษาด้วยความตั้งใจจะออกมาให้วิจิตรบรรจง เพื่อถ่ายทอดอุดมคติในความรัก  
ผู้สร้างสรรค์ความรักที่งดงามอย่างคุณหญิงกีรติ ก็ต้องผ่านภาษาที่งดงาม  เพราะในเรื่องเกือบไม่มี action ความรักตรงไหนเลย  มีการกล่าวชี้ชวนรำพึงรำพันกันเป็นส่วนใหญ่
ภาษาที่ถ่ายทอดย่อมไม่เหมาะที่จะนำภาษาในชีวิตประจำวันโดยทั่วไปมาใช้    
ผู้หญิงชั้นสูงที่ไม่ใช่คนช่างฝันและช่างร้อยกรองคำพูดได้อย่างคุณหญิงกีรติก็ไม่พูดอย่างเธอ
จะมีความจริงบ้างก็คงสรรพนามและคำรับ

ผู้หญิงผู้ดีมีตระกูลจริงๆพูดกันแบบไหน  ไปอ่านได้จากนิยายของดอกไม้สด  ซึ่งถือกำเนิดมาในวังของเจ้าพระยาเทเวศร์  เป็นชนชั้นสูงโดยกำเนิดและอยู่อย่างนั้นมาตลอดชีวิต
นิยายของดอกไม้สด อย่างความผิดครั้งแรก แม้เป็นนิยายเชิงครอบครัว (Domestic novel)จำกัดวงแคบในชนกลุ่มเดียว
 แต่ก็เป็นนิยายเน้นความสมจริง  การใช้คำพูดที่สมจริงตรงตามที่คนยุคนั้นพูดกันจริงๆ

ถ้าไม่เชื่อนิยาย ลองหาอ่านบันทึกของหม่อมเจ้าหญิงมารยาทกัญญาและหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุลดูก็ได้   ท่านเขียนด้วยภาษาพูด  ถอดคำพูดออกมาอย่างตรงตามจริง  ทำให้รู้ว่าคนชั้นสูงเขาพูดกันแบบไหน
 
ในเมื่อสมมุติฐานของคุณไมเคิลผิดเสียแล้ว   การโยงกันเข้าไปถึงจอมพล ป. ดิฉันก็เลยเห็นว่าล้มระเนนระนาดไปลงหมดแบบตัวโดมิโน

ถ้าจะมาวิจารณ์ จอมพล ป. ต้องวิจารณ์แยกออกไปในประเด็นอื่นค่ะ
ว่าการปฏิวัติภาษาในระบบ "วัธนธัม" ที่คุณไมเคิลชมจอมพลแปลก ว่าพยายามปฏิรูปภาษาให้เรียบง่าย และแสดงความเสมอภาค นั้นจริงหรือไม่  
หรือว่าจอมพลท่านไม่ได้คิดอย่างนี้สักหน่อย
ท่านย้ำว่าเป็นการทำให้ประเทศไทยเจริญเท่ามหาอำนาจต่างหาก  เช่นเดียวกับการสวมหมวกและไม่นุ่งโจงกระเบน

หลักฐานก็มีอยู่ว่าในยุคที่กำหนดให้คนไทยพูด ฉัน ท่าน จ้ะ เสมอภาคกันไม่มีผู้ใหญ่ผู้น้อย คนแก่คนเฒ่าหรือหนุ่มสาวก็ต้องฉันท่านเท่ากัน
ท่านผู้นำของเราก็ดำริให้มียศ สมเด็จเจ้าพระยาหญิง ขึ้นมามอบให้สตรีหมายเลขหนึ่ง  แต่สภาไม่เห็นด้วยเสียก่อน
มันไม่สอดคล้องกับแนวคิดความเสมอภาคผ่านทางการกำหนดคำบางคำในภาษาเลยนี่คะ
บันทึกการเข้า
ย่อหน้าใหม่
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 03 เม.ย. 01, 17:41

ขอจับประเด็นเรื่อง ภาษา อย่างนี้
........
การกำเนิดของชนชั้นกลาง หรือสามัญชน
มันเป็นแบบ ไร้ราก
..........
คือ เจ้าก็ไม่ใช่ ไพร่ก็ไม่ได้
ก็เลยไม่มี ภาษา ของตัวเอง
.........
ดังนั้นภาษาประเภท คำสุภาพ จึงเกิดขึ้น
คือพูดให้เพราะ ไม่ใช่ราชาศัพท์ ไม่ใช่หยาบอย่างไพร่
........
นี่อาจจะเป็นความหมาย
"สามัญชนที่อยากเป็น ผู้ดี" ของไมเคิล ไรท์
........
สามัญชนมาจากไหน ก็มาจากไพร่เดิมที่ร่ำรวย
และมีการศึกษามากขึ้น
........
คำ "yes sir" หรือ "ขอรับกระผม"
ก็เป็นคำตอบรับ "อย่างสุภาพ"
หรืออย่างผู้ดี(ที่ไม่ใช่เจ้า) เลือกที่จะใช้
..............
แน่นอนว่า เมื่อมีคำสุภาพเกิดขึ้น
มันก็คือการแบ่งชั้นของสังคมออกไปอีก ซับซ้อนขึ้นไปอีก
..........
ถามง่ายๆ ว่าทำไมต้องสอนให้พูดเพราะ
ก็เพื่อแสดงตนว่ามีการศึกษา จะใช้ภาษาอย่างหยาบไม่ได้อีก
.........
สรุปก็คือภาษา เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นนั่นแหละ
นี่คือ ภาษาเทียม หรือเปล่า ต้องถามไมเคิล ไรท์
.......
ทีนี้ทำไมจอมพล ป. ต้องสร้างภาษาใหม่ขึ้นมา
..........
มีคำตอบว่า เพื่อให้เรียนง่ายจะได้สู้กับต่างชาติได้
อาจจะใช่ แต่ไม่เชื่อ
.......
จอมพลสร้างทุกอย่าง ที่เป็น "สัญลักษณ์ใหม่"
ของสังคม ทั้งวัฒนธรรม ตึกรามบ้านช่อง วิธีคิด
ทุกอย่างเป็นแบบเฉพาะของจอมพลหมด ทำไมจะมีภาษาอีกอย่างไม่ได้?
...........
ศรีบูรพาจะเจตนา เรื่องภาษา ในข้างหลังภาพหรือเปล่าไม่มีใครรู้
........
เรื่องนี้ศรีบูรพาแต่งก็เพราะเขียนเรื่องการเมืองไม่ได้ เผ่นไปอยู่ญี่ปุ่น
แต่แนวคิดเรื่องการสะท้อนสังคมยังเต็มเปี่ยม
.........
โครตเง่าของคุณหญิงกีรติ คือเจ้าถึงคราว "ตก"
ศรีบูรพาก็ยังสะท้อนภาพลบของสังคมเจ้าไว้อย่างชัดเจน
........
จนกระทั่งมี "สี่แผ่นดิน" นี่แหละที่พื้นฟู "เจ้า" ขึ้นมาใหม่
..........
นี่คือ สังคม ชนชั้น และภาษา ในข้างหลังภาพ
......
ส่วนภาษาจะขัดหูไมเคิล ไรท์ ไปบ้างนั้น
ลุงแกอาจจะจริงจังเกินไป
เราชอบไอเดีย ภาษาเทียม ของคุณลุง
........
แต่เชื่อว่ามันไม่เทียม เพราะคิดว่า
มันใช้ในยุคนั้นจริง ไม่ได้เป็นเพียงภาษาเขียน
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 10 เม.ย. 01, 01:59

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศื เขียนเล่าไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับล่าสุดนี้ ว่าภาษาที่ท่านเรียกว่า ภาษากำแพง ที่ชนชั้นหนึ่งสร้างขึ้นมาสื่อสารกันเองในพวกตัวไม่ให้ชนชั้นอื่นรู้เรื่องนั้น ในอเมริกาเดี๋ยวนี้ ชนชั้นสูงอเมริกันกลุ่มหนึ่งกำลังเลือกใช้ ภาษาไทย ครับ

น่าสนใจมาก ผมไม่ทราบว่าจริงเท็จเป็นอย่างไรที่อาจารย์เล่าไว้ ใครอยู่สหรัฐฯ ขอเชิญแจมครับ สำหรับผมเองเห็นว่าวงวัฏจักรหมุนมาเต็มรอบพอดี เพราะเมื่อหลายสิบปีก่อน ชนชั้นสูงที่มีการศึกษาในเมืองไทยกลุ่มหนึ่งเวลาจะพูดอะไรไม่ให้คนไทยอื่นๆ รู้เรื่อง จะใช้ภาษาอังกฤษพูดกัน (สมัยนั้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษยังไม่แพร่หลายมากนัก)
บันทึกการเข้า
ทวยเทพ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 10 เม.ย. 01, 02:31

ผมก้เพิ่งอ่านเสร็จ อ่านแล้วก็นึกสงสัยสาเหตุแท้จริงเกิดจากอะไร ในความคิดของคนอเมริกา
บันทึกการเข้า
สวิริญช์
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 10 เม.ย. 01, 17:31

สนุกจังค่ะ ที่ว่าภาษาไทยกลายเป็นภาษาที่ชนชั้นสูงเอามาใช้เพื่อไม่ต้องการให้ใครทราบว่าพูดถึงอะไร

รู้สึกว่าหนังฮอลลีวู้ดเรื่องนึงที่มีโรเบิรต เดอนีโร แสดงเป็นพ่อตา
ที่หวงลูกสาวก็ใช้ภาษาไทยในเรื่องในการสร้างเซอร์ไพร์สให้กับ
ลูกสาวและว่าที่ลูกเขยด้วยเช่นกัน เผอิญดิฉันจำชื่อหนังไม่ได้ค่ะ และก็ไม่ได้ดูด้วย
เห็นว่าในหนังเองตอนที่เดอนีโรพูดภาษาไทยในหนังก็ไม่มีซับ-ไตเติล
อธิบายความด้วยนะคะ

น่าสนใจค่ะอยากรู้เช่นกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับฝาหรั่งเค้าค่ะ
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 11 เม.ย. 01, 06:27

ผมได้ดูหนังเรื่องนั้น คือเรื่อง Meet the parents แปลกใจเหมือนกัน ที่ว่าในหนังใช้ภาษาไทย โดยไม่มี sub title แล้วแถม ว่าที่ลูกเขยยังรู้ด้วยว่า เดอนีโรพูดไทยได้
คงแปลก ๆ อย่างที่คุณ นกข. ว่า ถ้าฝรั่งเมกันจะใช้ภาษาไทยเป็นภาษาสูงสำหรับไม่ให้คนอื่นฟังรู้เรื่อง ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยครับ
บันทึกการเข้า
ศิริพร สว่างดวงพัตรา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 17 เม.ย. 01, 12:01

เคยอ่านเรื่องข้างหลังภาพมาบ้างเหมือนกันที่อ่านเพราะเนื้อเรื่องดูน่าสนใจดีอีกอย่างก็เพราะว่าคุณพ่อแนะนำให้อ่านด้วย คิดว่าข้าวหลังภาพเป็นเรื่องที่เยี่ยมมากๆๆๆเลยเป็นนิยายที่ชอบที่สุดเลยค่ะ   พอได้ดูหนังครั้งนี่แล้วก็รู้สึกชอบขึ้นอีก แต่จะเรียกว่าเป็นภาษาเทียมหรือไม่นั้นมิอาจรู้ได้เพราะเกิดไม่ทันปีเปลี่ยนการปกครองค่ะ  แต่ที่บ้านก้ยังใช้ภาษานี้อยู่บ้างก็เลยไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกแถมยังเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายไม่เห็นจะยากตรงไหนอีกทั้งยังเป็นภาษาที่ไพเราะอีกต่างหาก  วันที่ไปดูหนังมาก้ได่ยินเหมือนกันคนข้างหลังเขาพูดว่าใช้ภาษาอะไรก็ไม่รู้ไม่เห็นรู้เรื่องเลย  จริงๆแล้วเขาเป็นคนที่ไม่มีศิลปะในหัวใจต่างหากนะค่ะดิฉันว่า
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.041 วินาที กับ 19 คำสั่ง