เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 7169 หนังสือ พระปฐมสมโพธิกถา มีกี่ฉบับ กี่สำนวนครับ
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 15 ก.ค. 11, 14:00

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนสมาชิกผู้ทรงเกียรติแห่งเรือนไทยหลังงามทุกท่านครับ

   ผมขออนุญาตถือโอกาสวันอาสาฬหบูชา ตั้งกระทู้เพื่อขอความรู้เกี่ยวกับหนังสือที่ผมรักแสนรัก คารวะแสนคารวะเล่มหนึ่งครับ ผมได้ดื่มด่ำกำซาบในรสถ้อยของ “พระปฐมสมโพธิกถา” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ด้วยความประทับใจยิ่ง ขณะตนเองศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ครั้งแรก ผ่านทางรายการวิทยุชื่อ “ธรรมะเพื่อมวลชน” ซึ่งพระภิกษุรูปหนึ่ง (จำสมณฉายาท่านมิได้แล้วครับ) จากวัดหนองทะเล ท่านนำมาอ่านออกอากาศ ต่อมา จากตำราเรียน ความตราตรึงสูงสุดในร้อยแก้วอันบรรเจิดเพริศแพรวของพระองค์ท่าน ยังผลให้ด้นดั้นไปซื้อหนังสือมาเก็บไว้ ภูมิอกภูมิใจนักหนาที่ได้มาครอบครองครับ

   หลังจากนั้น มีอยู่คราหนึ่ง คุณน้าท่านพาผมไปเที่ยวงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ แวะบูทมหามกุฎราชวิทยาลัย ผมซื้อพระปฐมสมโพธิกถาจากที่นั่นมาเนื่องด้วย อยากตรวจสอบกับฉบับที่ซื้อก่อนหน้านี้ว่าจะตรงกันทั้งหมดหรือเปล่า หรือมีแห่งใดแผกกันบ้าง แล้วก็ต้องพบกับความอัศจรรย์ใจครับ เพราะพระปฐมสมโพธิกถาฉบับหลัง เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อ้าว! แสดงว่าหนังสือพุทธประวัติที่ใช้ชื่อดังกล่าว มีมากกว่าหนึ่งสำนวนล่ะซี

   เมื่อไม่นานนี้เอง ผมท่องเว็บไซต์ของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ก็พบข้อมูลอีกว่า มีพระปฐมสมโพธิกถาฉบับบาลี พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสอยู่ด้วยอีกหนึ่งสำนวน ความสงสัยเกิดทันทีครับ ตกลง

๑.   หนังสือ “พระปฐมสมโพธิกถา” มีกี่ฉบับ กี่สำนวน
๒.   “พระปฐมสมโพธิกถา” เล่มใดถูกกำหนดให้เป็นหลักสูตรมาตรฐานในการเรียนพระธรรมของพระภิกษุสงฆ์
ในเบื้องต้น ผมขอวิทยาทานจากความเมตตาของทุกท่านเท่านี้ก่อนครับ หากคิดอะไรขึ้นได้เพิ่มเติม จะใช้กระทู้นี้เรียนถามภายหลังครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 15 ก.ค. 11, 16:04

อ่านแล้วไม่เข้าใจ
สำนวนแรกที่คุณชูพงศ์ฟังจากวิทยุ แล้วไปหาซื้อมาอ่าน คุณบอกว่าเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ   ต่อมาก็ไปซื้อของสมเด็จฯมาอีก   แล้วถ้าอย่างนั้นแตกต่างกันเป็น 2 สำนวนหรือคะ

ดิฉันเคยอ่านพระนิพนธ์สมัยเรียน   แล้วไม่ได้อ่านอีกหลายสิบปีแล้ว   รู้แต่ว่ามีปฐมสมโพธิกถาฉบับของเก่าที่สมเด็จฯทรงชำระ แต่งเติมขยายความบางตอน และเพิ่มบทขึ้นด้วย  จนเป็นปฐมสมโพธิกถาที่เรารู้จักแพร่หลายกันอยู่นี้
มีทั้งฉบับบาลี และฉบับไทย   ส่วนคำถามว่าทั้งหมดมีกี่สำนวนในประเทศไทย  มีใครแต่งก่อนหน้าและหลังอีกหรือเปล่า  ไม่ทราบ  รอถามผู้รู้ในเว็บนี้ดีกว่า
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 15 ก.ค. 11, 17:06

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูที่เคารพยิ่งครับ

   พระปฐมสมโพธิกถาที่ผมฟังจากวิทยุ เป็นสำนวนพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสครับ ผมชื่นชอบมาก จึงไปตามหาพระปฐมฯ สำนวนนี้มาอ่าน ซื้อได้ที่สวนจตุจักรครับ ต่อมา ไปเที่ยวงานสัปดาห์หนังสือกับคุณน้า เดินผ่านบูทมหามกุฎราชวิทยาลัย คุณน้าท่านบอก “นี่ไง มีพระปฐมสมโพธิกถาด้วย แต่ปกคนละแบบกับที่หนูมี” ผมอยากรู้ทันทีว่า มหามกุฎราชวิทยาลัย พิมพ์พระปฐมสมโพธิกถา ความสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสขึ้นใหม่ใช่ไหม ถ้าเป็นเช่นนั้น มีอะไรแตกต่างจากหนังสือพระปฐมสมโพธิกถารูปเล่มเก่าซึ่งผมถือครองอยู่บ้าง เคยได้รับรู้มาว่า การพิมพ์ชำระหนังสือเล่มใดขึ้นใหม่ บางทีก็มีการตรวจสอบ หรือแก้ไขฉบับพิมพ์ครั้งก่อนอันอาจมีบางจุดคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับ เพราะความอยากรู้ทำให้ซื้อพระปฐมสมโพธิกถาจากมหามกุฎมาครับ แต่ครั้นมาถึงบ้าน คุณน้าท่านอ่านให้ฟังว่า เป็นพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผมยังไม่รู้ประสีประสาอะไร ในตอนนั้นอุทานกับตัวเอง เอ๊ะ คนละพระองค์กับสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสนี่นา เปิดอ่านบางตอนสำนวนก็ต่างกัน ก็เลยสงสัยใคร่รู้ครับผม
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 15 ก.ค. 11, 17:18

ขอโทษที  ตาลายอ่านพระนามสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สองพระองค์เป็นพระองค์เดียวกัน

ตัวอย่างปฐมสมโพธิกถา ฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส

สมัยนั้น ต้นรังทั้งคู่ก็เผล็ดดอกในอันใช่ฤดูกาล เบิกบานโดยรอบพฤกษมณฑล ตั้งแต่มูลรากเบื้องต้นตลอดยอด ก็ดาดาษด้วยดอกเป็นอันเดียว ล้วนเบิกบานควรเป็นอัศจรรย์ิิ   และดอกสาลพฤกษ์ทั้งหลายนั้น หล่นลงยังพระสรีระเพื่อจะบูชาพระตถาคตเจ้า. ทั้งดอกมณฑารพเป็นของทิพย์มีในเมืองสวรรค์ และจุรณ์แห่งจันทน์สุคนธชาติของทิพย์ ก็ตกลงอากาศยังสรีระแห่งพระตถาคตเจ้า ทั้งดนตรีทิพย์เทพเจ้าก็บันลือประโคมในอากาศ ทั้งสังคีตเสียงขับของทิพย์ก็เป็นไปในอากาศ เป็นมหานฤนาทโกลาหล เพื่อจะบูชาสมเด็จพระตถาคตทศพลในอวสานกาล. อถ โข ภควา ลำดับนั้น
สมเด็จพระผู้มีพระภาคผู้วิเศษในทิพยจักษุโสตญาณ ตรัสเรียกพระอานนท์ ทรงแสดงทิพยาบูชาสักการะพิเศษแก่พระอานนท์แล้ว จะทรงแสดงซึ่งความที่พระตถาคตเจ้า ไม่เป็นอันบริษัทสักการบูชาด้วยอามิสแม้มากเพียงเท่านั้น จึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า น จ อานนฺท เอตฺตาวตา ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตเจ้าไม่เป็นอันบริษัท สักการะนบนอบนับถือบูชาคำนับ ด้วยสักการะพิเศษเพียงเท่านี้ โย โข อานนฺท ดูก่อนอานนท์
ภิกษุ หรือ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาก็ดี ผู้ใดแล มาเป็นผู้ปฏิบัติซึ่งธรรมไปตามสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติซึ่งธรรมะไปตาม
ควรแก่โลกุตรธรรมไซร้ โส ตถาคต สกฺกโรติ ผู้นั้นมาสักการะเคารพนอบนบนับถือซึ่งพระตถาคตเจ้าด้วยบูชาอย่างยิ่ง.
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 15:04

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูครับ สำหรับตัวอย่างสำนวนพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผมเข้ามาอ่านด้วยความซาบซึ้ง พลัน ก็หวนไปนึกถึงเรื่องเก่าๆที่เคยคุยกับคนตาบอดรุ่นพี่ขึ้นมาได้ครับ

   พี่เอกชัย เจริญชัยมงคล ซึ่งพวกเราเรียก พี่โบว์ นิสิตปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยคุยเรื่องหนังสือหนังหาที่ใช้ศึกษาสมัยอยู่จุฬาให้ผมฟังหลายเล่มครับ (พี่เขาเอ็นทรานส์ได้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ ครับอาจารย์) ผมถามเขาว่า เรียนพระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสไหม เขาบอก เรียนนิดหน่อย คลับคล้ายคลับคลาว่าอาจารย์จะให้เรียนตอนที่ส่งอิทธิพลถึงเรื่องกามนิตหรืออะไรนี่แหละ ผมประมวลจากคำตอบของพี่เขา คาดเดาเอาเองในเบื้องต้นว่า คงจะเป็นตอนอันเกี่ยวเนื่องด้วยพุทธมหาปรินิพพานกระมัง เพราะในหนังสือกามนิตวาสิตถี (ภาคสวรรค์) พบข้อความในบท “มหาปรินิพพานสูตร” (ถ้าผมจำผิด กราบขออภัยอาจารย์ด้วยครับ) มีข้อความตรงกันกับพระปฐมสมโพธิกถา ความพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส อยู่สองแห่ง แห่งหนึ่ง เป็นข้อความที่เศรษฐีนีเล่าให้ภิกษุณีวาสิตถีฟัง เรื่องพระพุทธองค์ใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน อีกแห่งคือตอนสุดท้ายของบท ซึ่งขึ้นต้นว่า “ในขณะนั้น อันว่าปฐวีกัมปนาการก็บังเกิดปรากฏพิลึกพึงกลัวทั่วโลกธาตุทั้งปวง ฯลฯ”

   เขียนมาเสียยืดยาว ก็เพื่อจะขออนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์เทาชมพูในย่อหน้าท้ายนี่เองครับ สมัยอาจารย์กำลังศึกษาอยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ได้เรียนพระปฐมสมโพธิกถา ความพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ตอนไหนครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

 
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 15:17

พระปฐมสมโพธิกถาฉบับภาษาไทย มีหลายสำนวน
สำนวนแรกสุดเลย  ต้องสำนวนล้านนา 
อ.บำเพ็ญ  บัวระวิน ถอดเป็นตัวอักษรไทยปัจจุบันพิมพ์เป็นหนังสือนานแล้ว

สำนวนต่อมา  คือสำนวนพระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
ฉบับนี้ความพิสดารที่สุด มีคำศัพท์สมาสสนธิยาวๆ ยากๆ  หลายคำ

สำนวนต่อมา  เป็นสำนวนเทศน์  ที่สมเด็จพระสังราช สา  ทรงพระนิพนธ์
ไว้สำหรับเทศน์  สำนวนนี้มหามกุฏพิมพ์ใช้เป็นคู่มือเรียนนักธรรม
สำนวนอื่นๆ ก็มีสำนวนย่อของสมเด็จพระสังฆราช สา  อีกเหมือนกัน
กับสำนวนที่พระราชาคณะหลายรูปช่วยกันแต่งถวายรัชกาลที่ ๕

สำนวนที่แต่งสมัยรัชกาลที่ ๕  ๓ สำนวนนั้น 
สำหรับใช้เทศน์ในพระราชพิธีวิสาขบูชา
โดยเก็บเอาความสังเขปที่สำคัญมาแสดงให้พอเหมาะแก่เวลา

ส่วนพระปฐมสมโพธิกถาฉบับภาษาบาลีนั้น
ทราบว่ามีอยู่ ๓๐ กัณฑ์ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงพระนิพนธ์
ปัจจุบันมีผู้ศึกษาและปริวรรตและแปลไว้แล้ว
มีพิมพ์ออกเป็นหนังสือแล้วก็มี  ที่ยังไม่พิมพ์ก็เยอะ
และมีผู้เอาไปศึกษาเปรียบเทียบปฐมสมโพธิกถากับลลิตวิสตระ
มหาวัสตุ มหากาพย์พุทธจริต และคัมภีร์อื่นๆ ที่ว่าด้วยพุทธประวัติด้วย
ผู้ใดสนใจ  คงหาอ่านยากสักหน่อยนะครับ  เพราะอยู่กระจัดกระจาย
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 15:26

ถ้าคุณชูพงศ์สนใจ  ลองหาหนังสือของ ผศ.ดร.เสาวณิต  วิงวอน
เรื่อง วิเคราะห์พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
มาอ่านนะครับ

หรือไม่ก็เป็นหนังสือวิวัฒนาการวรรณคดีบาลีสายพระสุตตันตปิฎกที่แต่งในประเทศไทย
ของแม่ชีสุภาพรรณ  ณ บางช้าง   นี่ก็ดี

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 16:48

โอ้ คุณหลวงเล็กผู้หลวงหลายด้วยวิทยา กรุณามาเยือนถึงกระทู้นี้ ถือเป็นเกียรติแก่ผมยิ่งครับ

   เรียนคุณหลวงตามตรงครับว่า ลำพัง พระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ผมยังแปลศัพท์มิออกตั้งเยอะครับ  ค้นหาหวังพึ่งท่านรอยอินก็หาปะนิยามของศัพท์อันสนเท่ห์หลายคำนั้นไม่ มาตรแม้คุณหลวงกรุณาแนะนำพจนานุกรมบาลี/ไทย ที่ยังพอหาได้ให้ผมบ้าง พระคุณนี้จะจารึกผนึกไว้ไม่ลืมเลือนขอรับ
 
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 11:14

โอ้ คุณหลวงเล็กผู้หลวงหลายด้วยวิทยา กรุณามาเยือนถึงกระทู้นี้ ถือเป็นเกียรติแก่ผมยิ่งครับ

   เรียนคุณหลวงตามตรงครับว่า ลำพัง พระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ผมยังแปลศัพท์มิออกตั้งเยอะครับ  ค้นหาหวังพึ่งท่านรอยอินก็หาปะนิยามของศัพท์อันสนเท่ห์หลายคำนั้นไม่ มาตรแม้คุณหลวงกรุณาแนะนำพจนานุกรมบาลี/ไทย ที่ยังพอหาได้ให้ผมบ้าง พระคุณนี้จะจารึกผนึกไว้ไม่ลืมเลือนขอรับ
 


คุณชูพงศ์  ลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านนะครับ  อาจารย์ของผมท่านทำไว้
ใช้อ่านประกอบพระปฐมสมโพธิกถาดีเหลือหลาย

อัตถาธิบายและวิเคราะห์ศัพท์ในปฐมสมโพธิกถา
เรียบเรียง โดย  รองศาสตราจารย์เสมอ บุญมา
พิมพ์ที่ นครปฐม  คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี 2525

ส่วนพจนานุกรมภาษาบาลี-ไทย มีมากมายหลายเล่ม
ยกตัวอย่างเช่น

พจานานุกรมบาลี-ไทย ของมูลนิธิภูมิพโลภิกขุ
ซึ่งแปลมาจากดิกชันนารีบาลี-อิงลิช  ของ ริด เดวิด
ลองไปถามหาที่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุที่วัดสระเกศนะครับ
ราคาไม่แพงหรอกครับ

หรือไม่เช่นนั้น  ลองไปที่ร้านหนังสือมหามกุฏฯ ตรงข้ามกับวัดบวรนิเวศ
ที่นั่นพจนานุกรมภาษาบาลีไทยมีให้เลือกเยอะ

หรือถ้ายังไม่จุใจ ก็แนะนำให้ไปต่อที่ร้านมหาจุฬาบรรณาคาร
อยู่ตรงวัดมหาธาตุ  ท่าพระจันทร์  ที่นี่ก็มีเยอะ

หรือยังไม่พอใจอีก  ให้เดินต่อไปอีกหน่อย  จะเจอร้านเรืองปัญญา
เขาว่ากันว่า  จะหาหนังสืออะไร  หาไม่เจอ ไปร้านนี้รับรองได้แน่
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 13:27

กราบขอบพระคุณคุณหลวงครับ สำหรับบรรณนิธิที่กรุณาแนะนำ งานนี้ เห็นทีได้ฤกษ์ย่ำเท้าผจญภัย เอ๊ย เที่ยวท่องเสาะหาขุมทรัพย์ทางปัญญาอีกแล้ว นับเป็นกิจกรรมหฤหรรษ์สำหรับผมยิ่งนัก ใช้ปากถามจุดหมายปลายทางใครต่อใครรายทางไปทั่ว ได้พูดคุยกับผู้คนหลายวัย ผมชอบครับ
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 18 ก.ค. 11, 09:17

อ้างถึง
เขียนมาเสียยืดยาว ก็เพื่อจะขออนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์เทาชมพูในย่อหน้าท้ายนี่เองครับ สมัยอาจารย์กำลังศึกษาอยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ได้เรียนพระปฐมสมโพธิกถา ความพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ตอนไหนครับ

อ่านทั้งเล่มค่ะ 
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 18 ก.ค. 11, 14:06

ผมรู้สึกตกใจเล็กน้อยครับ เมื่ออ่านคำตอบของท่านอาจารย์เทาชมพู แต่ก็อดดีใจแทนนักเรียน นิสิต นักศึกษา สมัยก่อนมิได้ ที่มีโอกาสสัมผัสกับวรรณคดีแบบข้นเข้มเต็มเปี่ยม ล่วงมาถึงปัจจุบัน ผู้ใหญ่หลายท่านต่างปลงสังเวชกับตำราเรียนของนักเรียน นิสิต นักศึกษายุคนี้ไปตามๆกัน ผมอ่านเจอจากหลายเว็บแล้ว พลอยหดหู่ด้วยอีกคนครับ
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 18 ก.ค. 11, 19:32

สมัยเรียนที่คณะอักษรศาสตร์  ไม่มีการตัดตอน เรียนกันเป็นเล่มๆ  หลายวิชาก็หลายเล่ม     นึกไม่ออกว่ามีวิชาไหนตัดตอนวรรณคดีมาให้เรียนเฉพาะบางบท
วรรณคดีสำคัญบางเล่ม หนักกว่านี้ คืออาจารย์กำหนดให้อ่านเป็นหนังสือนอกเวลา คือไม่สอนในชั้น  ให้นิสิตไปอ่านเองแล้วปลายเทอมก็สอบ อย่างขุนช้างขุนแผน และรามเกียรติ์ ก็ไปอ่านเอาเอง  แต่ลิลิตพระลอ เรียนในชั้นเรียน
จำได้ว่าเรียน Macbeth เล่มเต็มของเชคสเปียร์ ตอนอยู่ปี 1 หรือ ปี 2 จำไม่ได้แล้ว   ผู้สอนคือศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล  ท่านสอนละเอียดยิบทุกคำ
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 19 ก.ค. 11, 11:15

เรียนถามคุณชูพงค์ ว่า โปรแกรมอ่านอักษรบนจอภาพที่คุณชูพงค์ใช้อยู่นี้ สามารถอ่านหนังสืออิเลคทรอนิคส์ที่เก็บในแบบ pdf file ได้หรือไม่ครับ

และปัจจุบันนี้คุณชูพงค์ยังคงมาทำงานที่สมาคมเฉพาะวันพุธวันเดียวเหมือนเมื่อก่อน หรือมาหลายวันในสัปดาห์

ถ้าอ่านหนังสืออิเลคทรอนิคส์ในโปรแกรม pdf ได้ ผมคงมีหนังสือไปมอบให้คุณชูพงค์หลายเล่ม ให้อ่านให้จุใจ


เรียนถามอาจารย์เทาชมพู ว่า คุณมนันยา เรียนรุ่นเดียวกับอาจารย์หรือเปล่าครับ



บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 19 ก.ค. 11, 11:53

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   สำหรับ ขุนช้างขุนแผน รุ่นพี่ตาบอดที่จบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรก็เคยได้รับคำสั่งจากอาจารย์ให้อ่านทั้งเล่มครับ เวลาสอบ มีกลอนมาสองวรรค แล้วให้เขียนต่อ จะกี่วรรค หรือกี่บทนั้น แล้วแต่อาจารย์กำหนดในข้อสอบ พี่เขาบอก เล่นเอามึนไปเลย

   ส่วนรามเกียรติ์นี่ ถ้าอาจารย์หมายถึงฉบับพระราชนิพนธ์รัชการที่ ๑ หละก็ โอ้โฮ... ถึงแม้จะสนุก แต่เล่มหนาๆตั้งสี่เล่ม ถือว่าหนักหาน้อยไม่เลยขอรับ

   เรียนคุณลุงไก่ครับ

   ขอบพระคุณในความกรุณาของคุณลุงเป็นอย่างยิ่งครับ ทว่า โปรแกรมอ่านจอภาพที่คนตาบอดใช้อยู่ ยังไม่พัฒนาจนถึงขั้นอ่านไฟล์สกุลพีดีเอฟ หรือไฟล์ภาพรูปแบบใดๆได้ทั้งสิ้น ถ้ามันเจอไฟล์ประเภทนี้ เวลาเลื่อนลูกศร ขึ้น ลง ซ้าย ขวา มันจะร้องคำเดียวว่า “blank” ครับ เพราะฉะนั้น เวลาพวกเราเจอไฟล์พีดีเอฟ อันดับแรกที่จะทำ คือพยายามหลีกเลี่ยงให้ไกลห่าง ยกเว้นจำเป็นจริงๆก็ต้องรบกวนคนตาดีอ่านให้ฟัง ซึ่งจะทำได้ในกรณีที่เนื้อหาของไฟล์ไม่ยาวนัก ยาวมากไป รบกวนผู้อื่นเปล่าๆ เกรงใจเหลือเกินครับ ทางออกอันถือว่าดีที่สุดในการเข้าถึงหนังสือเป็นเล่มๆสำหรับคนตาบอด จึงยังคงเป็น “หนังสือเสียง” ครับผม

   ปัจจุบัน ผมมาทำงานที่สมาคม วันจันทร์ถึงพุธครับคุณลุง
 
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.084 วินาที กับ 20 คำสั่ง