เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 74297 บทพระราชนิพนธ์เรื่อง อิเหนา
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 11:59


ขอใส่ใจนิดนึง คงไม่เป็นการรบกวนนะขอรับ เพราะว่าเป็นภาษาไทย
อ่านตามสำเนียงชวา หากทราบถึงที่มา แล้วจะได้อรรถรส เพิ่มขึ้น

ประไหมสุหรี  = มเหสีเอก = พระบรมราชินี

มะเดหวี = มเหสีองค์ที่สอง รองจากประไหมสุหรี

มะโต = มเหสีองค์ที่สาม

ลิกู = มเหสีองค์ที่สี่

เหมาลาหงี = มเหสีองค์ที่สี่ (ในเรื่องอิเหนา ไม่มีตำแหน่งนี้
พบตำแหน่งเหมาลาหงี ได้จากเรื่องดาหลัง กษัตริย์แห่งวงศ์เทวัญ)


ในเรื่องอิเหนา  เหมาหลาหงี  ไม่มีบทบาท  ท่านจึงไม่กล่าวไว้
ตำแหน่งอัครชายาทั้ง ๕ ตำแหน่งนี้  ตั้งได้เฉพาะ ๔ เมือง
ที่เป็นวงศ์อสัญแดหวาเท่านั้น คือ กุเรปัน  ดาหา กาหลัง และสิงหัดส่าหรี

เมืองอื่นมีได้แต่อัครชายาที่ตำแหน่ง ประไหมสุหรี เท่านั้น

ประไหมสุหรี  คำนี้น่าจะกลายมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า
ปรเมศวรี  ปรม+อิศวรี  เดิมหมายถึง  พระอุมา  ชายาพระอิศวร
คำว่าประไหมสุหรีนี้  ยังคงใช้อยู่มาจนปัจจุบัน
ไม่ว่าจะเป็นที่มาเลเซีย  บรูไน  ชวา  และไทย

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชินีนาถ เมื่อเสด็จฯ ไปภาคใต้
ที่ชาวมุสลิมอยู่มาก  ชาวมุสลิมเรียกสมเด็จฯ ว่า ประไหมสุหรี

ส่วนมะเดหวี  คงกลายมาจาก มหาเทวี

ส่วนมะโต ลิกู  และเหมาหลาหงี  น่าจะเป็นคำชวามลายูแท้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 12:01

รอยอินท่านอธิบายคำว่า เพรียง ไว้อีกเยอะ

เพรียง ๑ [เพฺรียง] น. ส่วนร่างกายที่นูนอยู่หลังหู, มักใช้ว่า เพรียงหู; เรียก
 ผิวหนังที่ขรุขระอย่างหน้าออกฝีว่ามีลักษณะเป็นเพรียง. ว. พร้อม,
 มักใช้คู่กันว่า พร้อมเพรียง.
 
 
เพรียง ๒ [เพฺรียง] น. ชื่อสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังประเภทสัตว์ขาปล้อง
 มีหลายชนิดในอันดับ Thoracica เปลือกหุ้มตัวมี ๖ แผ่น เรียงซ้อน
 กัน รูปร่างของเปลือกมีหลายแบบ เช่น รูปกรวยควํ่า มีปากเปิดด้าน
 บน เปลือกบริเวณปากบางและคม เกาะอยู่ตามหินและวัสดุอื่น ๆ
 ที่นํ้าท่วมถึง เช่น ชนิด Balanus amphitrite ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง
 ที่ฐานประมาณ ๑ เซนติเมตร.
 
 
เพรียง ๓ [เพฺรียง] น. ชื่อหอยทะเลกาบคู่ในวงศ์ Teredinidae ลําตัวยาวอ่อนนุ่ม
 เปลือกเล็กมากคลุมเฉพาะด้านหัว เจาะกินเนื้อไม้ มีหลายชนิด เช่น
 ชนิด Lyrodus pedicellatus.

คำคำหนึ่งมีความหมายได้หลายสิ่ง

 ยิ้มเท่ห์
 
 
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 12:03


ลองนึกถึงเพรียงที่เกาะตามท้องเรือซิครับ หรือไม่ เพรียงตามโขดหิน คงจะเละเทะแบบนั้นหรือ  ฮืม

ขอดูรูปด้วยดิ   ว่าปากเปล่า  เด็กไม่เข้าใจ  บางคนไม่เคยไปทะเล
ไม่เคยไปหงายท้องเรือหงายก้อนหิน ดูจะรู้จักเพรียงไหม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 12:06

^
^



ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 12:15

ตำแหน่งอัครชายาทั้ง ๕ ในเรื่องอิเหนา
ถ้าเทียบตามธรรมเนียมไทยเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น
ขอให้อ่านพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕
เรื่อง ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม ประกอบด้วย
หรือไม่ก็อ่านกฎมณเฑียรบาลข้อที่ว่าด้วยตำแหน่งพระภรรยาเจ้า

ในกฎมณเฑียรบาล มีตำแหน่งพระภรรยาเจ้า  ๓ ตำแหน่ง
คือ  พระมเหสี ๑  พระอัครชายา ๑  และแม่อยั่วเจ้าเมือง หรือแม่อยั่วเมือง ๑

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีตำแหน่งพระภรรยาเจ้าและพระสนมหลายชั้น

มี ๑ สมเด็จพระบรมราชินี/สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
   ๒ สมเด็จพระบรมราชเทวี
   ๓ พระอัครราชเทวี
   ๔ พระอัครชายา/พระราชชายา
   ๕ เจ้าจอมมารดา
   ๖ เจ้าจอม

การแบ่งชั้นลำดับยศพระภรรยาเจ้าและพระสนมเช่นนี้
ย่อมมีผลต่อลำดับตำแหน่งยศของพระราชโอรส
ที่ประสูติจากพระภรรยาเจ้าและพระสนมแต่ละชั้นด้วย
ลักษณะนี้เป็นอย่างเดียวกับตำแหน่งอัครชายาทั้ง ๕ ในเรื่องอิเหนา
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 12:24

เพรียงที่คุณเพ็ญชมพูเอารูปมาแสดงนั้น  ยังไม่ตะปุ่มตะป่ำขรุขระเท่าที่ควรครับ
ขอรูปที่ขรุขระมากกว่านี้   รูปที่แสดงมานั้น ยังเรียบอยู่  
ยิ่งถ้าได้ข้อมูลว่า เพรียงมีกี่ชนิด แต่ละชนิดมีหน้าตาอย่างไร จะดีมาก
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 12:51


ลองนึกถึงเพรียงที่เกาะตามท้องเรือซิครับ หรือไม่ เพรียงตามโขดหิน คงจะเละเทะแบบนั้นหรือ  ฮืม

ขอดูรูปด้วยดิ   ว่าปากเปล่า  เด็กไม่เข้าใจ  บางคนไม่เคยไปทะเล
ไม่เคยไปหงายท้องเรือหงายก้อนหิน ดูจะรู้จักเพรียงไหม



บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 12:52

คำบรรยายรูปของจรกา ปรากฏอีกครั้งตอนจรกาเข้าเฝ้าท้าวดาหา
กล่าวคือ  ระตูจรกากับพี่ชายยกทัพจะไปช่วยเมืองดาหารบกับทัพท้าวกะหมังกุหนิง
แต่ว่าสงสัยม้าใช้จะไปแอบนอนหลับที่ไหนสักแห่ง  เลยไปแจ้งข่าวช้า
ทำให้ระตูจรกาและพี่ชายจัดทัพเดินทางมาไม่ทันช่วยรบ (เขารบกันเสร็จไปแล้ว)
แต่ก็ได้เข้าเฝ้าท้าวดาหา  ในการเข้าเฝ้าครั้งนั้น
พวกสนมนางในเฒ่าแก่ชะแม่ต่างวิพากาวิจารณ์รูปร่างจรกาสนุกปากทีเดียว
จึงคัดมาให้อ่านดังนี้

"           บัดนั้น                  ฝุงสนมนารีศรีใส
ทั้งเถ้าแก่ชะแม่กำนัลใน          ต่างไปชิงช่องมองเมียง
ครั้นเห็นจรกาเข้ามาเฝ้า          บรรดาเหล่าชะแม่แซ่เสียง
บ้างตำหนิติว่าหน้าเพรียง        ดูดำดังเหนี่ยงน่าชังนัก
ไม่มีซวดทรงองค์เอวอ้วน       พิศไหนเลวล้วนอัปลักษณ์
ใส่ชฎาก็ไม่รับกับพักตร์           งามบาดตานักขี้คร้านดู
บ้างว่าเสียงเพราะเสนาะเหลือ   แหบเครือเบื่อฟังรำคาญหู
รูปร่างอย่างไพร่ใช่ระตู            ไม่ควรเคียงคู่พระบุตรี
กระนี้ฤาช่างมาตุนาหงัน          เห็นเกินหน้าไกลกันทั้งศักดิ์ศรี
ดังเอาปัดขี้ร้ายราคี                ปนมณีจินดาค่าควรเมือง
ลางคนว่าระตูจะคู่ครอง           ดั่งเพชรผูกเรืองรองด้วยทองเหลือง
เหมือนทองคำธรรมชาติรุ่งเรือง   มารู่กับกระเบื้องไม่ควรกัน
ลางนางบ้างโกรธแล้วพาที       เสียดายพระบุตรีสาวสวรรคื
ถ้าได้กับอิเหนากุเรปัน             น่าชมสมกันข้าชอบใจ
อันระตูผู้นี้บัดสีนัก                  จะร่วมเรียงเคียงพักตร์หาควรไม่
บ้างห้ามว่าอย่าอื้ออึงไป          บ้างบ่นพิไรไปมา"

อ่านแล้วรู้ทันทีว่า จรกามีรูปร่างอย่างไร
พวกนางในนี่ก็กระไร  ปากคอเราะรายนักเชียว มีทั้งเสียดสี
ประชดประชัน เหน็บแนม  กระทบกระเทียบเปรียบเปรย สารพัด

มีท้ายกลอนวรรคหนึ่ง ลงด้วยคำว่า อัปลักษณ์
คำนี้  ต้องอ่านออกเสียงว่า อับ-ปะ-หลัก
จึงจะไม่ผิดเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคของกลอน
ถ้าอ่านว่า อับ-ปะ-ลัก จะผิดเสียงท้ายวรรคทันที

เหมือนกับกลอนตอนหนึ่ง  ในบทลครเรื่องเวนิชวาณิช
พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ ที่ว่า

  "อันชนใดไม่มีดนตรีกาล         ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ       เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
ฤาอุบายมุ่งร้ายฉมังนัก               มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี
และดวงใจย่อมดำสกปรก            ราวนรกเช่นกล่าวมานี้
ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้             เราควรมาฟังดนตรีเถิดชื่นใจ..."

ก็ต้องอ่านว่าอับ-ปะ-หลัก เช่นกัน  

ในกลอนวรรณคดีเก่าๆ หลายเรื่องก็มีอย่างนี้  ถ้าไม่เข้าใจวิธีอ่าน
ก็เข้าใจว่าคนโบราณแต่งพลาด  



บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 13:29

อิเหนาฉบับใครเป็นใคร

ประสันตา     พี่เลี้ยงอันดับสี่ของราชกุมารเมืองกุเรปัน
                เป็นลูกของยาสา(ตำแหน่งอำมาตย์นะคะ  ไม่ใช่ชื่อบุคคล)
                นิสัยร่าเริง  หยอกล้ออิเหนาได้
                ต่อนกเป็น
                เชิดหนังได้
                เล่นไม้ดัดด้วย

               พระพี่เลี้ยงตำแหน่งอื่นๆมี   ยะรุเดะ        ปูนตา      กะระตาหลา


ระเด่นดาหยัน     ไม่ค่อยเกี่ยวหรือมีบทบาทอะไร   นำมาลงดักหน้าการออกข้อสอบแบบดาวกระจาย
                เป็นเชื้อวงศ์เมืองหมันหยา      ยายของอิเหนาส่งมาพร้อมพี่เลี้ยงชายหนึ่งร้อยคนและนางนมหนึ่งร้อยคน
                เมื่อตอนอิเหนาเกิด      
                กุเรปันจัดนางนมจัดภรรยาของเสนีไว้ให้แล้ว  แต่ไม่ได้บอกจำนวน
                คุณสมบัติของแม่นมนั้นในอิเหนาบอกว่ามี ๖๔ ข้อ    คือไม่สูงไม่เตี้ย ไม่มีกลิ่นตัว  น้ำนมหวานมันไม่เปรี้ยว
                เป็นผู้มีสกุล  คือรู้จักการที่ควรหรือไม่ควรประพฤติ

                พระนมนี่ในวรรณคดีบางเรื่องได้ดีเพราะเจ้าชายมีกตัญญู    เรื่องจริงในรัตนโกสินทร์ก็มีจ้ะ   ลูกพระนมได้รับราชการเป็นเจ้าพระยา

บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 13:37


                พระนมนี่ในวรรณคดีบางเรื่องได้ดีเพราะเจ้าชายมีกตัญญู    เรื่องจริงในรัตนโกสินทร์ก็มีจ้ะ   ลูกพระนมได้รับราชการเป็นเจ้าพระยา


คุณวันดีต้องบอกให้ครบ

พี่สาวเป็นคุณท้าว
พี่ชายเป็นเจ้าพระยา
น้องชายเป็นพระยา
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 13:54


                พระนมนี่ในวรรณคดีบางเรื่องได้ดีเพราะเจ้าชายมีกตัญญู    เรื่องจริงในรัตนโกสินทร์ก็มีจ้ะ   ลูกพระนมได้รับราชการเป็นเจ้าพระยา


คุณวันดีต้องบอกให้ครบ

พี่สาวเป็นคุณท้าว
พี่ชายเป็นเจ้าพระยา
น้องชายเป็นพระยา

บอกให้หมดไปเลยซิ พ่อนมปักษา....ปลูกบ้านอยู่กลางเมือง ฟูเฟื่องโกธิคผสมนา แก่เฒ่าชายชรา ขายบ้านให้รัฐบาลไป เอย..
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 14:08

อิเหนาฉบับใครเป็นใคร   และอะไรเป็นอะไร(สงสัยจะยาวแฮะเรื่องนี้)


สังคามาระตา       น้องชายนางสการะวาตี  ลูกท้าวปักมาหงัน
                      ลุงของสังคามาระตา ชื่อ ท้าวปันจะรากัน  มีลูกสาวชื่อ มาหยารัศมี
                      ปันจะรากัน และ ปักมาหงัน  ไม่กล้าสู้อิเหนาที่สังหารระตูบุศสิหนาน้องชายตาย
                      จึงยกลูกสาวให้  แถมลูกชายอืกคน
                      อิเหนาเลี้ยงดูสังคามาระตาเท่ากับน้องชาย   ที่จริงศักดิ์ศรีไม่เท่ากัน

                      เล่าที่มาที่ไปไว้ก่อน


เพลงทวน           ตำราเพลงทวนเมืองไทยหายไปแล้ว   เห็นชื่อเพลงทวนสามสี่ท่าเมื่ออิเหนารบกับระตูบุศสิหนา
                      จึงเอามาใส่ไว้เพื่อกันหาย         สหายน้อยปัญญาไวผู้ใดค้นต่อได้ติดต่อมารับรางวัลได้
                      ถ้าเป็นสหายอาวุโส   จะกำนัลกลอนครูแจ้งที่หายากนักหนา 

ผ่าหมาก            เพลงทวนจ้ะ  ไม่ใช่แม่ไม้มวยไทย

นาคเกี้ยว           สงสัยจะม้วนสะบัดปลายทวนแทงกัน

ปลอกช้าง

หงส์สองคอ



ประวัติเมืองหมันหยา        เรื่องประวัติศาสตร์นั้น  เมื่อนำมาเล่าแล้ว  ท่านผู้อ่านโปรดอ่านแล้วเก็บไว้ให้ได้
                      ไม่ได้กินที่กินทางแต่อย่างใด      พระมารดาของนางมาหยารัศมีและพระมารดาของนางสการะวาตี เล่า
                      ให้ลูกสาวฟังว่า   เมืองหมันหยาที่เจริญและร่ำรวยมาก เกิดมีพระขรรค์และธงผุดขึ้นในพระลาน
                      เกิดข้าวแพงหมากแพงและสินค้าอื่นๆก็แพง   บ้านเมือง  ในที่นี้คือประชาชนก็เดือดร้อน  จึงมีการป่าวประกาศ
                      หาคนมาช่วย

                      ประไหมสุหรีทั้งสององค์นี้เล่าผิดไปว่า  หมันหยามีธิดาสี่องค์        ท่านผู้อ่านนึกเถิดว่าข้าพเจ้าต้องพลิกหาคำตอบขนาดไหน

                      เทวดาสี่องค์พี่น้องก็ลงมาช่วยถอนพระขรรค์และธงออก    รับพระธิดาไปสององค์   องค์เล็กพระมารดาไม่ให้
                      ในเรื่องไม่ได้บอกว่าสวยกว่าพี่สาว  


คุณหลวงเล็กที่นับถือ  ออกคำสั่งผู้บริหาร ว่า  ให้ยืดไปสี่ห้ากระทู้   กระทู้ละประมาณ ๕๐ ข้อ  
รับทราบและไม่เถียง

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 14:16




คุณอาร์ท47  และคุณหนุ่มสยาม aka (as known as) ดอนราชประสงค์


          ข้าพเจ้ามีหนังสืออนุสรณ์คุณท้าวด้วย     เดินทองระยับ   เก็บไว้ไหนก็ลืมไปแล้ว

เห็นคนเดินผ่านตู้หนังสือร้องอุทานเบาๆ(อาจจะดังก็ได้แต่ข้าพเจ้า hard of hearing)

เลยเก็บออกจากสายตาซะ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 14:22




คุณอาร์ท47  และคุณหนุ่มสยาม aka (as known as) ดอนราชประสงค์


          ข้าพเจ้ามีหนังสืออนุสรณ์คุณท้าวด้วย     เดินทองระยับ   เก็บไว้ไหนก็ลืมไปแล้ว

เห็นคนเดินผ่านตู้หนังสือร้องอุทานเบาๆ(อาจจะดังก็ได้แต่ข้าพเจ้า hard of hearing)

เลยเก็บออกจากสายตาซะ

รีบค้นหาให้เจอไว ๆ นะขอครับ

นำข้อมูลเนื้อเรื่องอย่างย่อกระชับที่สุดจากเวปวิชาการมาให้อ่านกัน จะได้ปูบันไดทอดยาว อ่านแล้วจะได้ทำความเข้าใจที่มาที่ไปได้ว่า อิเหนา เป็นใคร, ทำไมเกิดศึกกะหมังกุหนิง

ในชวาสมัยโบราณ มีกษัตริย์ปกครองเมืองใหญ่เมืองน้อย กษัตริย์วงศ์เทวาซึ่งถือว่าเป็นชาติตระกูลสูงสุด ด้วยสืบเชื้อสายมาจากเทวดา ใช้คำนำหน้าพระนามว่า ระเด่น ส่วนกษัตริย์นอกวงศ์นั้น ใช้คำว่า ระตู เริ่มต้นบทละครเรื่องนี้ กล่าวถึงกษัตริย์วงศ์ 4 องค์ ต่างเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา ทรงพระนามว่าท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา ท้าวกาหลัง ท้าวสิงหัดส่าหรี ครองเมือง 4 เมือง ซึ่งมีชื่อเช่นเดียวกับพระนามกษัตริย์ ทุกพระองค์ต่างก็มีมเหสี 5 องค์ ตามประเพณี เรียงลำดับศักดิ์ คือ ประไหมสุหรี มะเดหวี มะโต ลิกู และเหมาหลาหงี ประไหมสุหรีของท้าวกุเรปันและท้าวดาหานั้น เป็นธิดาของกษัตริย์หมันหยาเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่ง จึงทำให้เมืองหมันหยามีความเกี่ยวดองกับกษัตริย์วงศ์เทวามากขึ้น ท้าวกุเรปันมีโอรสกับลิกูองค์หนึ่งทรงพระนามว่า กระหรัดตะปาตี ซึ่งได้หมั้นไว้กับบุษบารากา ธิดาของท้าวกาหลังซึ่งเกิดจากลิกู

ต่อมาพระองค์ปรารถนาจะให้ประไหมสุหรีมีโอรสบ้าง จึงได้ทำพิธีบวงสรวง ก่อนประไหมสุหรีทรงครรภ์ก็ได้สุบินว่าพระอาทิตย์ทรงกลดลอยมาตกตรงหน้า และนางรับไว้ได้ เมือประสูติก็เกิดอัศจรรย์ต่าง ๆ เป็นนิมิตดี องค์ปะตาระกาหลาซึ่งเป็นเทวดาต้นวงศ์บนสวรรค์ เหาะนำกริชมาประทานให้ พร้อมทั้งจารึกนามโอรสด้วยว่า อิเหนา ต่อมาประไหมสุหรีได้ธิดาอีกหนึ่งองค์ พระนามว่า วิยะดา ฝ่ายท้าวดาหา ประไหมสุหรีก็ประสูติธิดา ได้พระนามว่า บุษบา ขณะประสูติก็เกิดอัศจรรย์ก็มี กลิ่นหอมตลบทั่วเมือง หลังจากประสูติบุษบาแล้ว ประไหมสุหรีก็ประสูติโอรสอีก พระนามสียะตรา
ท้าวกาหลังมีธิดา พระนามสะการะหนึ่งหรัด ท้าวสิงหัดส่าหรีมีโอรส พระนามสุหรานากง และธิดาพระนาม จินดาส่าหรี

กษัตริย์ในวงศ์เทวาจึงได้จัดให้มีการตุนาหงันกันขึ้น ระหว่างโอรสและธิดาในวงศ์เดียวกันโดยให้ อิเหนาหมั้นไว้กับบุษบา กระหรัดตะปาตีกับบุษบารากา สียะตรากับวิยะดา สุหรานากงกับสะการะหนึ่งหรัด แต่ก่อนจะมีการแต่งงาน ความยุ่งยากก็เกิดขึ้น

จุดเริ่มต้นที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้ตัวละครประกอบความยุ่งยาก และเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายอันเป็นการดำเนินเรื่อง
ของบทละครเรื่องนี้ เกิดจากอัยยิกาของอิเหนาที่เมืองหมันหยาสิ้นพระชนม์ อิเหนาจึงเสด็จไปในงานพระเมรุแทนท้าวกุเรปัน แต่เสร็จพิธีแล้วอิเหนาไม่ยอมกลับ เพราะหลงรักนาง จินตะหรา ธิดาท้าวหมันหยา จนท้าวกุเรปันต้องมีสารไปเตือน เมื่อกลับมากรุงกุเรปันแล้วและใกล้เวลาอภิเษกกับบุษบา อิเหนาก็ไม่ใคร่เต็มใจ จึงออกอุบายทูลลาพระบิดาไปประพาสป่า แล้วปลอมองค์เป็น ปันหยีหรือโจรป่า นามว่ามิสาระปันหยี คุมไพร่พลรุกรานเมืองต่าง ๆ เมื่อเสด็จไปถึงเมืองใดก็ได้เมืองนั้นเป็นเมืองขึ้น ระตูหลายเมืองได้ถวายโอรสและธิดาให้ ที่สำคัญคือระตูปันจะรากันและระตูปักมาหงัน ได้ถวายธิดาคือมาหยารัศมีและสะการวาตี ซึ่งต่อมาได้เป็นชายาของอิเหนา และถวายโอรสคือสังคามาระตา ซึ่งอิเหนายกย่องให้เป็นน้องและเป็นทหารคู่ใจ กองทัพของปันหยีรอนแรมไปจนถึงเมืองหมันหยา ท้าวหมันหยาไม่กล้าต่อสู้และยอมยกธิดาให้ แต่พอรู้ว่าเป็นอิเหนา ท้าวหมันหยาไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญา อิเหนาจึงลอบเข้าหานางจินตะหราและได้เสียกัน ท้าวหมันหยาก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้


พอถึงกำหนดการอภิเษก ท้าวดาหาก็มีสารถึงท้าวกุเรปันให้เตรียมพิธีอภิเษก แต่อิเหนาบอกปัด ทำให้ท้าวดาหาโกรธมาก จึงประกาศจะยกบุษบาให้กับใครก็ได้ที่มาขอ เพราะฉะนั้นเมื่อระตูจรกา กษัตริย์รูปชั่วตัวดำ ให้พี่ชายคือระตูล่าสำไปสู่ขอบุษบาให้ตน ท้าวดาหาก็ยอมยกให้ ต่อมา ท้าวกระหมังกุหนิง ส่งทูตมาสู่ขอบุษบาให้วิหยาสะกำซึ่งเป็นโอรส แต่ท้าวดาหาปฏิเสธเพราะได้ยกให้ระตูจรกาไปแล้ว เป็นเหตุให้ท้าวกะหมังกุหนิงโกรธและยกกองทัพมาล้อมเมืองดาหา ท้าว ดาหาจึงขอกำลังจากพระเชษฐาและพระอนุชา ท้าวกุเรปันมีคำสั่งให้อิเหนาไปช่วยรบ อิเหนาจึงจำใจต้องจากนางจินตะหราและยกกองทัพไปช่วยรบ การศึกครั้งนี้ อิเหนามีชัยชนะ ท้าวกะหมังกุหนิงถูกอิเหนาฆ่าตายและโอรสคือวิหยาสะกำถูกสังคามาระตาฆ่าตาย กองทัพที่ล้อมเมืองดาหาก็แตกพ่ายไป เมื่อชนะศึกแล้ว อิเหนาก็ได้เข้าเฝ้าท้าวดาหาและได้พบกับบุษบา อิเหนาได้เห็นความงามของบุษบาก็หลงรักและเสียดาย พยายามหาอุบายอยู่ในเมืองดาหาต่อไป และพยายามหาโอกาสใกล้ชิดบุษบา โดยอาศัยสียะตราเป็นสื่อรัก อิเหนาพยายามหาวิธีการทุกทางเพื่อจะได้บุษบาเป็นของตน เช่นตอนที่ท้าว
ดาหาไปใช้บนที่เขาวิลิศมาหรา อิเหนาได้แอบสลักสารบนกลีบดอกปะหนัน (ลำเจียก) ให้นาง แอบเข้าไปในวิหารพระปฏิมา ตรัสตอบคำถามแทนพระปฏิมา ต้อนค้างคาวมาดับไฟแล้วแอบมากอดนาง ตลอดจนคาดคั้นมะเดหวีให้ช่วยเหลือตน เป็นต้น และเมื่อท้าวดาหาจะจัดพิธีอภิเษกระหว่างบุษบากับระตูจรกา อิเหนาก็ใช้วิธีการสุดท้ายโดยการทำอุบายเผาเมือง แล้วลอบพานางบุษบาหนีออกจากเมืองไปซ่อนในถ้ำที่เตรียมไว้ และได้นางเป็นมเหสี


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 14:40

ก่อนที่จะพากันพายเรือออกไปปัตตาเวีย

ขอกลับมาจับเรื่องที่จรกาต่อไปว่า

ตำมะหงง เมืองจรกา  ทูลระตูจรกาว่า

ที่รับสั่งถามว่า ยังมีธิดาเมืองใดที่ลอดหูลอดตาไป
ยังไม่ได้นำขึ้นมาใต้เท้าทรงพิจารณานั้น
เห็นจะเหลืออยู่ ๒ นาง คือ ระเด่นจินดาส่าหรี
ธิดาเมืองสิงหัดส่าหรี  กับระเด่นบุษบา แห่งเมืองดาหา
ระเด่นจินดาส่าหรีนั้น เท่าที่ทราบข่าววงในมา
ยังหามีคู่ชู้ชื่นมาหมั้นหมายไว้ไม่  แต่นางก็งามยิ่งนัก

ฟากระเด่นบุษบา  ทราบมาว่าได้พระราชบิดาทำตุนาหงัน
กับอิเหนาแห่งเมืองกุเรปัน  แต่อิเหนาก็ไปมีชายาอื่นเป็นธิดาท้าวหมันหยา
ครั้นท้าวดาหาต้องการจะให้รีบทำอภิเษกกับนางบุษา
ก็ทำหนังสือบอกปัดตุนาหงัน  ทำให้ท้าวดาหาขัดเคืองถึงกับรับสั่งตัดขาดกัน


จรกาได้ฟังก็ยินเห็นช่องทางเหมาะ ก็ว่า
จะช้าอยุ่ไย  จงรีบให้หาจิตรกรเอกประจำเมืองมา ๒ คนด่วน
แล้วให้เดินทางไปสเก็ตรูปนางทั้งสองเอามาให้ยลสักหน่อยซิ

จิตรกรทั้งสองได้รับคำสั่งก็มายืนเกี่ยงกันอยู่ที่หน้าวังว่า
ฉันจะไปดาหา  แกไปสิงหัดส่าหรี  อยู่อย่างนี้
จนต้องจับไม้สั้นไม้ยาวกัน  จึงออกเดินทางได้

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.047 วินาที กับ 20 คำสั่ง