เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 8
  พิมพ์  
อ่าน: 74444 บทพระราชนิพนธ์เรื่อง อิเหนา
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 10:40

บานพับ  คือ พาหุรัด


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้ทรงกล่าวไว้ในหนังสือวินัยมุข (จำไม่ได้ว่า เล่ม ๑ หรือ ๒ หรือ ๓)
อย่างเดียวกับที่คุณวันดีอ้างมา
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 11:05


วิหยาสะกำ  ได้รูปบุษบาแต่เต็มยศ   สลบบนหลังม้าเลยค่ะ


คลี่ดูเห็นรูปเยาวเรศ                                  ดังแว่นทองส่องเนตรเสียวกระสัน

สุดแสนปฎิพัทธ์ผูกพัน                                ป่วนปั่นหฤทัยไปมา


          นักวาดรูปเหมือนชวาคนหนึ่ง  ที่มาอยู่เมืองไทยนาน   วาดรูปหญิงไทยสวยค่ะ

แต่ดูจะสวยเหมือน ๆ กัน   คือใช้ผ้าบาง ๆ พันทรง        ดูไปดูมาก็ดูทรวดทรงผู้หญิงกันมากกว่า
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 11:29

ตกลง  ยังไม่มีใครอธิบายคำว่า ท้องช้ำ ได้
(ไม่ต้องมาถามผม  ผมไม่รู้เหมือนกัน  แต่สังเกตว่า
ผ้ายกทอง ต้องมาคู่กับคำว่า ท้องช้ำ เสมอ)

กลับไปที่จรกา  ซึ่งเฝ้าแต่ชมรูปวาดระเด่นจินดาส่าหรี ไม่เป็นอันทำงานการ
ถึงตรงนี้  สุนทรภู่ได้ยืมเอาบุคลิกของจรกาไปสร้างเป็นตัวละครตัวใหม่
ในเรื่องพระอภัยมณี  คือ  เจ้าละมาน  ซึ่งหลงรูปวาดนางละเวงจนตัวตาย

อีกด้าน ที่เมืองดาหา  ซึ่งศิลปินเอกของจรกาไปซุ่มโป่งอยู่ในราชอุทยาน
รอเวลาระเด่นบุษบามาประพาสสวนหลวง  ก็รออยู่หลายเพลา
หมดบะหมี่ไปหลายซอง

วันหนึ่ง  มะเดหวีเห็นว่านางบุษบา  (มะเดหวีปกติทำหน้าที่เป็นแม่เลี้ยง
และทปษ.ของนางบุษบา) ไม่ค่อยเสบยเบิกบานมานานร่วมปี
(แน่แหละ  พระราชบิดาเล่นมาโทษว่า นางเป็นเหตุให้อิเหนาตัดตุนาหงันนี่)
จึงชักชวนนางบุษบาเสด็จไปประพาสราชอุทยานเสียหน่อย
ว่าแล้ว  มะเดหวีก็ชวนบุษบาไปสรงน้ำแต่งองค์ทรงเครื่อง
นางบุษบาไม่ยอมผัดหน้า เพราะกำลังอยู่ในโหมดเศร้าหมอง
เครื่องแต่งกายอื่นๆ ไม่มีอะไรแปลก ขอข้ามมาขึ้นวอพระประเทียบเลยละกัน
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 11:39

เมื่อวอพระประเทียบมาถึงราชอุทยานก็เสด็จลงจากวอ

ศิลปินเอกที่ซุ่มโป่งในสวนก็เริ่มทำงานทันที
แต่อารามตกตะลึงชื่นชมความงามนางบุษบา
เลยลืมวาดรูป  คิดแล้วเจ็บใจ นี่ถ้ามากล้องดิจิทัล
ก็เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว

ไม่เป็นโอกาสของศิลปินยังไม่หมด  
นางบุษากับมะเดหวีพร้อมนางกำนัลไปที่แท่นศิลากลางราชอุทยาน
มะเดหวีโอ้โลมปฏิโลมสารพัดชวนให้บุษบาย่างเยื้องไปชมต้นไม้
นางก็ไม่ไป  ยังคงทำหน้าไว้ทุกข์อยู่  ปล่อยให้นางกำนัลไปเที่ยวเล่น
จะมีบ้างก็พวกอยากเอาใจนาย

"บ้างพลอยทุกข์ด้วยเจ้าจะเอาหน้า
ทำเกศาตกแสกแหวกสยาย"

เด็กสมัยใหม่อาจจะไม่เข้าใจคำว่า ตกแสก ช่วยกันอธิบายหน่อยนะ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 11:48

นางบุษบาอมทุกข์จนหลับไป  มะเดหวีก็ไล่พวกนางกำนัลลงน้ำ
นางบุษบาบรรทมเต็มอิ่ม ก็ตื่นขึ้นมา  จังหวะดีที่ศิลปินเราแอบรอเวลา
รีบวาดรูปนางบุษบาเพิ่งตื่นนอน  หน้าไม่ผัดแป้ง แต่ก็ยังงาม
(ถ้าเป็นหญิงอื่น  ช่างเขียนคงตกใจ  วาดผิดวาดถูก)

แล้วมะเดหวีก็ชวนนางบุษบาไปสรงน้ำล้างหน้าแต่งองค์ใหม่ที่ตำหนัก
ที่อยู่ในสวนหลวงนั้น   พอแต่งเครื่องแล้วก็เสด็จมาเตรียมจะกลับวัง
ก็เป็นเวลาดีที่จิตรกรเอกจะได้วาดรูปอีกรูป วาดเสร็จก็ม้วนใส่ผ้าโพก
พันไว้กับศีรษะ  แล้วก็รีบจรลีกลับเมืองจรกาไปรับค่าวาดรูป


แต่ระหว่างทาง  จิตรกรเราเดินทางเหนื่อย 
เพราะดาหาอยู่ไกลกับเมืองจรกา
ช่างวาดเลยขอนอนพักแรมตรงสามแยกไฟฉาย 
เอ๊ย ไม่ใช่  สามแยกไปเมืองกะหมังกุหนิงกับไปเมืองจรกา

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 12:45

องค์ปะตาระกาหลาเกิด
"อาสน์อ่อนเร่าร้อนคือไฟกัลป์  เทวัญเล็งทิพเนตรดู"
ก็เพิ่งรู้ว่า อิเหนา นัดดาเกิดไปหลงรักหญิงต่างเมืองอันต่ำศักดิ์
และจะให้นางบุษบาไปได้คู่ครองเป็นระตูต่างเมือง ดูประหนึ่งไม่เคารพต้นวงศ์
จึงได้คิดแกล้งอิเหนาให้สาหัส  แล้วก็เหาะมาที่จิตรกรที่นอนหลับกลางสามแยก
ในกลางคืนนั้น

เมื่อร่อนมาถึง ก็แก้ผ้าโพกหัวของช่างวาด
จิ๊กเอาภาพนางบุษบาทรงเครื่องไปแล้วเหาะกลับแมนชั่น

ช่างเขียนตื่นนอนตอนเช้า  ก็รับไปยังเมืองจรกาทันที
เข้าเฝ้าเอารูปวาดถวายจรกา

จรกาก็ต่อว่าช่างวาดว่า  ช่างวาดไปหลบลี้หนีไปกกกอดสาวนอน
อยู่ตรงไหนในเมืองดาหา  ปล่อยให้เรารอมาตั้ง ๕ เดือนเศษ
เหมือนกับเจ้าจงใจแกล้งประวิงเวลาให้เนิ่นช้าเสียการ


ช่างวาดก็แก้ไขว่า  เปล่าเลย  ข้าไปสืบข่าวกว่าจะรู้ว่า
อิเหนาเขาตัดสวาทขาดตุนาหงันกับบุษบาแล้ว  ก็นานนัก
และไหน ชาวเมืองดาหาจะโศกเศร้าเสียดายที่ไม่ได้จัดงานใหญ่
พระธิดาท้าวดาหาก็ไม่ได้เสด็จออกมาเยี่ยมสวนหลวง
ข้าก็รออยู่จนถึง ๕ เดือนเศา จึงได้สบโอกาสที่เสด็จลงสวน
วาดรูปมาจนได้  เอ้านี่ เอาไปทอดพระเนตร

จรกาได้ดูรูปนางบุษบาเมื่อไม่ได้ทรงเครื่องเต็มยศ
ก็ตกตะลึงขาดใจตาย เอ๊ย ไม่ใช่ เป็นลมสลบ เสนาอำมาตย์เห็นดังนั้น
ก็รีบปฐมพยาบาลกันยกใหญ่จนจรกาฟื้น 
พอฟื้นก็สั่งเสนาให้เตรียมเดินทางไปเมืองล่าสำทันที
แล้วเสด็จขึ้นห้องพินิจรูปวาดนางบุษบาต่อจนรุ่งเช้า

พอเช้าก็อาบน้ำแต่งตัวขี่ช้างไปเมืองล่าสำ
เมื่อถึงเมืองล่าสำ  จรกาก็เข้าเฝ้าท้าวล่าสำผู้เป็นพี่
เอาภาพวาดนางบุษบาให้พี่ดู  แล้วก็ว่า  เค้าอยากได้ๆ จัดให้หน่อยสิ

ท้าวล่าสำเป็นพี่ชายใจดี  ก็จัดการให้ตามที่น้องชายขอ
สั่งให้ตำมะหงงแต่งสารไปถึงท้าวดาหา
จัดเครื่องบรรณาการของดีไปถวายพร้อมกัน
แล้วให้ดะหมังกับยาสาเป็นทูต(เฒ่าแก่)
ไปเจรจาความเมืองสู่ขอนางบุษบา
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 12:51

เด็กสมัยใหม่อาจจะไม่เข้าใจคำว่า ตกแสก ช่วยกันอธิบายหน่อยนะ

ตกแสก ว. ที่หวีแหวกกลางศีรษะ (ใช้แก่ผม).

 ยิงฟันยิ้ม
 
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 12:55

ดะหมังยาสาได้รับคำสั่งก็มาจัดเครื่องบรรณาการที่ศาลาลูกขุนใน

เอา ศาลาลูกขุนใน นี่เขามีไว้ทำอะไร  ช่วยกันอธิบายหน่อยเร้ว

"สั่งให้ชักไพร่หลวงสมกำลัง   เสบียงคนละถังทุกตัวไพร่"
กลอน ๒ วรรค นี้หมายความว่าอะไร  ช่วยอธิบายหน่อย



พอคณะทูตเมืองล่าสำเดินทางมาถึงด่านเมืองดาหา  
ก็หยุดให้เขาเรียกส่วย เอ๊ย ไม่ใช่  ให้เขาซักถามจนพอใจ
แล้วนายด่านก็ควบม้าเร็วฝีเท้าดีเคยแข่งกรังซ์ปรีมาก่อน
เข้าไปเมืองดาหา เอาความไปแจ้งแก่ท่านผู้ใหญ่ทั้งสี่

ท่านผู้ใหญ่ทั้ง ๔ นี้ หมายถึงใคร  จงอธิบายให้ฟังหน่อย

ฝ่ายปาเตะได้ฟังก็รีบไปเข้าเฝ้าท้าวดาหา
ท้าวดาหาทราบก็สั่งให้กรมวังจัดการรับแขกตามประเพณี
เขาทำอะไรในการเตรียมการรับแขกเมืองบ้าน
ให้คุณวันดีสาธยายให้ฟังดีกว่า

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 12:57

เด็กสมัยใหม่อาจจะไม่เข้าใจคำว่า ตกแสก ช่วยกันอธิบายหน่อยนะ

ตกแสก ว. ที่หวีแหวกกลางศีรษะ (ใช้แก่ผม).

 ยิงฟันยิ้ม
 


เออ นั่นสิ  แล้วหวีแหวกผมกลางศีรษะมันเกี่ยวข้องอะไรกับความโศกเศร้า
คุณเพ็ญฯ ช่วยอธิบายให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจหน่อย  มีภาพประกอบด้วยจะดีมาก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 13:20

จะมีบ้างก็พวกอยากเอาใจนาย

"บ้างพลอยทุกข์ด้วยเจ้าจะเอาหน้า
ทำเกศาตกแสกแหวกสยาย"

คิดว่าคำสำคัญซึ่งแสดงความโศกเศร้าน่าจะเป็นคำว่า "สยาย"

สยาย [สะหฺยาย] ก. คลี่หรือคลายสิ่งที่มุ่นหรือเป็นกลุ่มก้อนอยู่ให้แผ่กระจายออก เช่น สยายผม. ว. ที่คลี่หรือคลายสิ่งที่มุ่นหรือเป็นกลุ่มก้อนอยู่ให้แผ่กระจายออก เช่น ผมสยาย.

หากคุณหลวงเคยดูหนังแขก พอถึงบทโศก ผู้หญิงแขกจะร้องไห้คร่ำครวญพร้อมกับสยายผมลงกับพื้นทีเดียว

จาก จันทกุมารชาดก

[๘๑๑] หญิงสาว ๗๐๐ คน ผู้เป็นชายาของจันทกุมาร ต่างสยายผมแล้วร้องไห้ ดำเนินไปตามทาง  ส่วนพวกหญิงอื่น ๆ ออกแล้วด้วยความเศร้าโศกเหมือนเทวดาในนันทวัน ต่างก็สยายผมร้องไห้ไปตามทาง.

 ร้องไห้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 13:35

การสยายผมเป็นธรรมเนียมแสดงถึงการไว้ทุกข์ด้วย

คิดว่า  สุนทรภู่คงเห็นจากพราหมณ์ที่กรุงเทพฯ นี่แหละครับ  เพราะธรรมเนียมพราหมณ์เมื่อได้บวชเป็นพราหมณ์โดยพิธีอุปนยายะแล้ว (จำไม่ได้ว่ามีหนังสืออะไรสักเล่ม บอกว่า พราหมณ์ไม่ได้บวชโดยพิธีอุปนยายะ แต่เป็นพิธีอย่างอื่น)  พราหมณ์นั้นจะไม่ตัดผมอีกเลย  พราหมณ์ที่เทวสถานโบสถ์ก็ยังถือธรรมเนียมเช่นนี้อยู่   พราหมณ์จึงมีผมยาวแต่ไม่ได้ปล่อยผมสยาย คงมุ่นผมเป็นมวยเอาไว้  จะปล่อยสยายก็ต่อเมื่อพราหมณ์ต้องเข้าร่วมเดินในกระบวนแห่พระศพหรือพระบรมศพเท่านั้น นัยว่าเป็นธรรมเนียมการไว้ทุกข์ของพราหมณ์มาแต่โบราณ   (ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  พราหมณ์ที่ร่วมเดินในกระบวนแห่พระโกศพระศพมาที่พระเมรุท้องสนามหลวง ก็สยายผมไว้ทุกข์เช่นกัน)  การที่พราหมณ์ไว้ผมยาวและมุ่นเป็นมวยไว้เช่นนี้  คงเป็นธรรมเนียมพราหมณ์มาแต่อินเดีย และได้ถ่ายทอดมาถึงไทยและดินแดนข้างเคียง  ซึ่งก็มีหลักฐานเป็นภาพสลักภาพวาดพราหมณ์มุ่นมวยผม

 ร้องไห้
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 14:28

ดะหมังยาสาได้รับคำสั่งก็มาจัดเครื่องบรรณาการที่ศาลาลูกขุนใน

เอา ศาลาลูกขุนใน นี่เขามีไว้ทำอะไร  ช่วยกันอธิบายหน่อยเร้ว

"สั่งให้ชักไพร่หลวงสมกำลัง   เสบียงคนละถังทุกตัวไพร่"
กลอน ๒ วรรค นี้หมายความว่าอะไร  ช่วยอธิบายหน่อย




ลูกขุน” ที่กล่าวถึงใน “บุญบรรพ์” เป็นเรื่องของ “ลูกขุน” ในสมัยโบราณ อันเป็นประเพณีการปกครองมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ซึ่งคำว่า “ลูกขุน” มิได้หมายถึงแต่เฉพาะข้าราชการด้านศาล หรือแผนกตุลาการเท่านั้น ทว่าหมายถึง บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งคำโบราณเรียกรวมกันว่า “ลูกขุน”

ในสมัยโบราณจนถึงรัชกาลที่ ๕ วิธีบังคับบัญชาข้าราชการในกระทรวงต่าง ๆนั้นเสนาบดีตั้งจวนอยู่ที่ไหนก็ว่าราชการกระทรวงของตนที่นั่น ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ หรือผู้มีกิจธุระในกระทรวงใด ต้องไปทำการและประกอบกิจธุระที่จวนเสนาบดีกระทรวงนั้น

แต่บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งคำโบราณเรียกว่า “ลูกขุน” ต้องมาประชุมกันที่พระราชวังทุกวัน

จึงมีศาลาที่ประชุมเรียกว่า “ศาลาลูกขุน” ๓ หลัง

หลังหนึ่ง ตั้งอยู่ภายนอกพระราชวังจึงเรียกว่า “ศาลาลูกขุนนอก” ในกรุงเทพฯ แต่เดิมศาลาลูกขุนนอกตั้งอยู่ริมหลักเมือง เป็นที่ประชุมข้าราชการอันมีตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาชั้นสูงปรึกษาอรรถคดี ศาลานี้จึงได้นามอีกอย่างหนึ่งว่า “ศาลหลวง” (Supreme Court) คณะข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งนั่งศาลาลูกขุนนอกจึงเรียกกันว่า “ลูกขุน ณ ศาลหลวง”

อีกสองหลัง ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังจึงได้เรียกกันว่า “ศาลาลูกขุนใน” ฝ่ายซ้ายเป็นที่ประชุมข้าราชการพลเรือน ขึ้นอยู่กับมหาดไทย (สมุหนายก) ฝ่ายขวาเป็นที่ประชุมข้าราชการฝ่ายทหาร ขึ้นอยู่กับกลาโหม (สมุหกลาโหม)
ที่เรียกว่าฝ่ายซ้ายขวา เพราะแต่โบราณมา เมื่อเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าแผ่นดิน พลเรือนอยู่ฝ่ายขวาของพระเจ้าแผ่นดิน ทหารอยู่ฝ่ายซ้ายของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งถ้านับจากผู้เข้าเฝ้าฯ ก็เป็นพลเรือนฝ่ายซ้าย ทหารอยู่ฝ่ายขวา จึงนับกันมาว่าทหารเป็นฝ่ายขวา พลเรือนเป็นฝ่ายซ้าย

ดังนั้น บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งนั่งประชุมศาลาลูกขุนทั้ง ๒ แห่ง จึงได้นามรวมเรียกกันว่า “ลูกขุน ณ ศาลา”

ทั้ง “ลูกขุน ณ ศาลหลวง” และ “ลูกขุน ณ ศาลา” ๓ ศาลานี้ ประชุมปรึกษา และบัญชาข้าราชการที่อยู่ในวงอำนาจหน้าที่ทั้ง ๓ แห่ง

เมื่อเสร็จแล้วต่างจึงเข้าไปเฝ้าฯ เป็นการประชุมพร้อมกันที่ในท้องพระโรง โดยพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกประทับ เป็นประธานนำข้าราชการขึ้นกราบบังคมทูล ทรงปรึกษาและบังคับบัญชาราชการเป็นชั้นชี้ขาดด้วยพระบรมราชโองการ

สำหรับศาลาลูกขุนใน ในพระบรมมหาราชวัง ในสมัยรัชกาลที่ ๔ คือ

ศาลาลูกขุนในของเดิมเปน ๒ หลัง โปรดให้สร้างโรงใหญ่ที่ระหว่างศาลาลูกขุนนั้นหลัง ๑ เปนที่เก็บรักษาปืนใหญ่สำหรับเฉลิมพระ เกียรติยศ คือปืนพระยาตานีเปนต้น ที่สระน้ำน่าศาลาลูกขุนฝ่าย ขวาก็โปรดให้ลงเขื่อนแลสร้างเก๋งขึ้นเปนเครื่องประดับ ( โรงปืนแลสระรื้อแลถมเสียในรัชกาลที่ ๕ เมื่อสร้างศาลาลูกขุนรวมเปนหลังเดียวกัน )
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 14:35


ขุนนางผู้ใหญ่ในกรุงดาหา  ก็ตำแหน่งเดียวกับกรุงกุเรปัน  กาหลัง และ สิงหัดส่าหรี

คือ ปาเตะ   ตำมะหงง   ดะหมัง และ ยาสา

ประเพณีรับแขกเมืองนั้นน่าศึกษาอยู่   คือระหว่างที่คณะทูตคอยอยู่ที่เมืองหน้าด่านนั้น

ทางกรุงก็ดูแลในเรื่องการกินอยู่ทุกประการ      ในเรื่องการอยู่ก็จัดสถานที่ให้  ส่งที่นอน  หมอน  มุ้ง  กระทั่งหมอนข้างก็มีให้

อาหารก็ส่งทุกประการเช่นเนื้อสัตว์ต่างๆทั้งดิบ สุก และกึ่งดิบกึ่งสุก    ผัก   ผลไม้  ขนม  ส่งทุกวัน

ข้าวสารส่งทุกสามวัน ดั่งนี้เป็นต้น

ทูตฝรั่งสมัยรัตนโกสินทร์ชิมขนมไทยแล้วชอบกันมาก          ไม่ทราบว่าทันหน้าเงาะและมังคุดหรือไม่

เวียงวังคลังนารับผิดชอบไป    ตุ่มน้ำก็เบิกไปให้   ข้าวสาร   น้ำนมโค  ฟืนกี่ท่อนก็ส่ง(นายด่านเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านรวยขึ้นเล็กน้อย)

นอกจากนี้ยังมีของทักทูตอีก  คือเจ้าคุณคลังส่งคนไปเยี่ยมก็นำผลไม้รสเลิศไปให้ทั้งคณะ      เจ้าคุณท่านอื่นก็ส่งบ้าง   บางท่านก็ไม่ต้องควักเนื้อ

เพราะพ่อค้านั่งประจำอยู่ที่จวน    จะทำอะไรพ่อค้าเจ้าภาษีก็ยินดี(ถึงไม่ยินดีก็ต้องทำยินดีแหละ)ช่วยราชการ  ไม่อย่างนั้นการประมูลคราวหน้าก็ปิ๋ว

(แปลว่าไม่ได้)

ทางเมืองหลวงก็จัดการให้บ้านเมืองสะอาด      ทาสี  ถมดินโรยทราย(เรื่องนี้ก็ตกหล่นไปบ้างเพราะการปรับทรายนั้นราชการมีกฎว่าต้องสูงเท่านี้เท่านั้น)

เสื้อผ้าของทหารก็ต้องตรวจกันว่ามีพอไหม  แมงกินตัวไปบ้างไหม  ซื้อใหม่เย็บใหม่อีกหน่อยเถิดน่า  แขกเมืองมาทั้งที

อาวุธประจำกายตำรวจทหารก็ตรวจดู  ล้างบ้าง  ซ่อมบ้าง

เศรษฐกิจในเมืองดาหาสะพัดมากตอนนั้น
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 14:54



เมื่อจัดแจงบ้านเมืองแล้ว  ก็แจ้งไปให้ทูตมาเฝ่าได้

ทูตถวายสาร (ตามหลักการเรื่องธุระของทูตนั้นต้องแจ้งขุนนางผู้ใหญ่มาก่อนแล้ว)

ตำมะหงงอ่าน   สุรปว่า   

           ขอพระธิดานารี   ไปเป็นศรีนครจรกา

พระราชสารก็ถ่อมตัวมากมายว่าวงศ์ระตูนั้นเปรียบเหมือนจอมปลวก   ท้าวดาหาเหมือนภูเขาทอง

ไกลกันมาก  ว่าอย่างนั้นเถอะ


       ท้าวดาหาผู้แค้นอิเหนามาก  ตกลง

แล้วได้ปราศรัยทักทูตสามคำ   ที่จริงจะต้องทักก่อน   คือ

ระตูทั้งสองสบายดีหรือ 

บ้านเมืองปกติดีหรือ

ทูตเดินป่ามานาน  ทหารสบายดีอยู่หรือไม่


       เจ้านายเล็กๆของเราในรัชกาลที่ ๕   เมื่อมีฝรั่งมังค่ามา  ก็เสด็จออกงานและทักทูตเช่นนี้ด้วย    เสด็จอาก็แปลให้

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 18:50


        ท้าวดาหาผู้แค้นอิเหนามาก  ตกลง

แล้วได้ปราศรัยทักทูตสามคำ   ที่จริงจะต้องทักก่อน   คือ

ระตูทั้งสองสบายดีหรือ 

บ้านเมืองปกติดีหรือ

ทูตเดินป่ามานาน  ทหารสบายดีอยู่หรือไม่


       เจ้านายเล็กๆของเราในรัชกาลที่ ๕   เมื่อมีฝรั่งมังค่ามา  ก็เสด็จออกงานและทักทูตเช่นนี้ด้วย    เสด็จอาก็แปลให้



สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องพระราชปฏิสันถารกับทูตต่างประเทศไว้ในเรื่อง อธิบายเรื่องราชทูตไทยไปยุโรป

ลักษณพระราชปฏิสัณฐารทูตก็มีแบบโบราณว่าทรงปฏิสัณฐาร ๓ นัดเปนธรรมเนียม แลเปนธรรมเนียมลงไปจนถึงข้อความของพระราชปฏิสัณฐาร คือดำรัสถามว่า พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายโน้น กับทั้งพระราชวงศ์ทรงสบายดีอยู่หรือนัด ๑ ว่าทูตานุทูตเดินทางมาสดวกดีอยู่หรือเดินทางมาช้านานเท่าใดจึงมาถึงนัด ๑ ว่าประเทศโน้นฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองมีความสุขสมบูรณ์ ไพร่บ้านพลเมืองมีความสุขอยู่หรือนัด ๑ แบบพระราชปฏิสัณฐารอย่างนี้เข้าใจกันซึมทราบมาแต่ก่อนจนอาจจะแต่งลงเปนบทเสภา เมื่อสมเด็จพระพันวะษาเสด็จออกรับทูตล้านช้างได้ดังนี้

 ๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดช      ชำเลืองพระเนตรผายผัน 
เห็นราชทูตมาถวายบังคมคัล       กับทั้งเครื่องสุวรรณบรรณา 
จึงตรัสประภาษปราไส             มาในป่าไม้ใบหนา 
กี่วันจึงถึงพระภารา                มรรคายากง่ายประการใด 
อนึ่งกรุงนาคบุรี                    เข้ากล้านาดีหรือไฉน 
หรือฝนแล้งเข้าแพงมีภัย           ศึกเสือเหนือใต้สงบดี 
ทั้งองค์พระเจ้าเวียงจันท์           ทรงธรรม์เปนสุขเกษมศรี 
ไม่มีโรคายายี                     อยู่ดีหรืออย่างไรในเวียงจันท์ ฯ

                 
แบบแผนทางเมืองพม่ายิ่งหนักมือไป ถึงพระเจ้าแผ่นดินไม่ต้องมีรับสั่งว่ากะไร เพียงพยักพระพักตร์เท่านั้น ผู้สนองพระโอฐก็รับสั่งมาแจ้งพระราชปฏิสัณฐารแก่ทูตตามข้อความที่กล่าวมา

เมื่อมีพระราชปฏิสัณฐารนัด ๑ โกษาธิบดีก็รับพระราชโองการมาบอกแก่กรมท่าขวาหรือซ้าย อันเปนเจ้าหน้าที่ ๆ บอกล่าม ๆ แปลบอกทูต ทูตจะกราบทูลว่ากะไรก็ต้องย้อนกลับโดยนัยอันเดียวกัน แล้วมีพระราชปฏิสัณฐารนัดที่ ๒ ที่ ๓ ต่อไป ครั้นมีพระราชปฏิสัณฐารแล้ว เจ้าพนักงานจึงยกพานหมากกับเสื้อผ้ามาตั้งพระราชทานทูตานุทูต เปนสัญญาว่าเสร็จการเฝ้า พอตั้งพานหมากแล้วไม่ช้าก็ปิดบานพระบัญชรเสด็จขึ้นมีประโคม แลข้าราชการกับทูตานุทูตถวายบังคมอิก ๓ ครั้งแล้วทูตจึงออกจากท้องพระโรง เมื่อทูตออกมาจากเฝ้าแล้ว เจ้าพนักงานพาไปดูสิ่งสำคัญในพระราชวัง คือพระยาช้างเผือกเปนต้น ปรากฎเหมือนกันทั้งคราวราชทูตฝรั่งเศสแลราชทูตลังกา แล้วจึงพาทูตกลับไปพัก เมืองพม่าก็เหมือนกันอย่างนี้


 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.075 วินาที กับ 19 คำสั่ง