เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8
  พิมพ์  
อ่าน: 56708 ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 12 ก.ค. 11, 15:46

^ ให้เวลา ๒๐ ชั่วยาม  หากหาไม่ได้ จะเอาตัวเป็นโทษ
ระวางโทษ ๓ สถาน  เอาตัวลงสักส่งข้าวปลาโรงละครรำ สถาน ๑
ริบละครรำ สถาน ๑  ฟันคอริบคณะละครรำ สถาน ๑


คงยากสักหน่อย ด้วยโรงละครรำ ปลูกด้วยเครื่องเรือนผูก กว่าจะมาจับตัว ก็เหลือแต่ผืนดินว่างเปล่า ...ไม่ดีกว่า...เหลือกระโถนน้ำหมากลายคราม กลิ้งตะแคงไว้ ๑ ใบ  แลบลิ้น

ไม่ต้องห่วง  เราส่งสายลับไปสะกดรอยตามและเก็บข้อมูลไว้แล้ว
หนีได้หนีไป  จับได้เมื่อไรจะให้รำกันทั้งวันทั้งคืนสัก ๓ เดือน เจ๋ง

เห็นแต่ข่าวรับช้างสำคัญ ให้ท่านเสด็จนั่งรถไฟหลวงมาลงสถานีจิตรลดา ตั้งตุ่มนางเลิ้งใส่น้ำไว้เพียบให้ท่านได้เล่นสนุกสนาน

การที่นำช้างใส่แพ นั้นคงจะหมายถึง "ช้างล้ม" ถูกต้องไหม ?
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 12 ก.ค. 11, 16:03

อ่านพบแต่เรื่อง แพช้างเผือกสมัยรัชกาลที่ ๔ ของ ส. พลายน้อย

เมื่อเดือน ๘ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธรบอกลงมาว่า่ได้คล้องช้างเผือกได้ที่ป่าฉมาตฉะบา แขวงท่าลัดฟากแม่น้ำโขง ตั้งแต่วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๕  บัดนี้ฝึกหัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะได้นำลงมาถวาย

แพช้างเผือกได้ล่องมาถึงกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีการสมโภชในพระบรมมหาราชวัง ที่ชาลาหน้าโรงช้าง ขึ้นระวางเป็น พระวิมลรัตนกรณีสุทธิศรีสรรพางคพิเศษฯ เป็นช้างเผือกเชือกแรกที่ได้ในรัชกาลที่ ๔

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 12 ก.ค. 11, 16:06

^ ยังไม่ต้องรีบตอบหรอกขุนหนุ่มสยาม
เพราะข้อมูลไม่ได้หากันง่ายเพียงชั่วลัดมือเดียว
ไปประพาสบัวแถวๆ รังสิต โชคดีอาจจะเจอหนุ่มเลี้ยงนกยักษื
เขาอาจจะช่วยคุณได้บ้างสเล็กสน่อย

ช้างใส่แพ  ในที่ถามนี่  หมายถึง  พาช้างสำคัญมายังพระนคร
เพราะถ้าเดินบก  ช้างจะฟกจะบอบเสียก่อนขึ้นระวาง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 12 ก.ค. 11, 16:09

วันที่ ๑ กันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๙

ได้ใบบอกจากอยุธยา ว่าพบช้างสำคัญ เข้าเกณฑ์ช้างเผือก จึงทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนำเรือกลไฟไปจูงแพช้างสำคัญ ล่องมาจากรุงเก่า

เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ร.ศ. ๑๐๙ พักอยู่ที่หน้าวัดลมุด พระยานนทบุรีกรมการ ได้มีละครสมโภช จนเวลาบ่าย ๓ โมง แพช้างได้ล่องมาถึงกรุงเทพ เทียบที่ท่าพระ

เวลาย่ำค่ำพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องยศทหาร ประดับเครื่องขัตติยราชอิศริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคล นพรัตนราชวราภรณ์ ประทับพระราชยานงา ออกทางประตูพิมานไชยศรี พร้อมด้วยกระบวนทหาร ตำรวจมหาดเล็กแห่นำเสด็จ แต่งตัวเต็มยศไปประทับพลับพลาที่ท่าพระ

โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนำช้างพัง ซึ่งเป็นช้างนำและจูงไปรับช้างพลายสำคัญที่แพเดินขึ้นมาตามตะพานฉนวน หยุดยืนที่หน้าพลับพลา แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ ประทับในโรงช้างพลายสำคัญ

(หลังจากนั้นก็เป็นพิธีรับช้างสำคัญ และขึ้นระวางและรางวัล อีกหลายวัน)

ทรงพระราชทานช้างสำคัญขึ้นระวางว่า "พระเศวตรวรนาเคนทร์ คเชนทรศักดิสมบูรณ กมุทตระกูล ทุตยเศวตร ทวัยเนตรสุทธนฤมล อาโรหะสกล มงคลลักษณ์ อรรคพาหนะนารถ บรมราชาธิราชธำรง พรหมพงษพิเศษ พหลเดชคชคุณ อดุลยประเสริฐเลิศฟ้า" เมื่อขณะพระราชทานน้ำพระมหาสังข์และพระราชทานอ้อย
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 12 ก.ค. 11, 16:24

พระวิมลรัตนกิริณีล้ม

พระวิมลรัตนกิริณีเป็นช้างสำคัญในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นพระเศวต ชั้นประทุมหัตถี เผือกโท ได้มาจากเมืองยโสธร และได้ล้มเมื่อ ปีชวด วันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๒๔ ล้มเวลาบ่าย ๔ โมง บ่าย ๕ โมงเศษขาดใจตาย

ครั้นวันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง เจ้าพนักงานกรม ๔ ตำรวจได้ชักลากตะเฆ่รองศพ ออกประตูเสศไชยศรี ไปลงท่าริมตพานเซี่ยว มีคู่น่าแห่ ๑๐๐ หลัง ๕๐ กลองชนะ ๔๐ จ่าปี่จ่ากลอง แตรสังข ๒๒ เครื่องสูงสำหรับหนึ่ง ๒๐ บังสูริยพัดโบก กรดกำมะลอ แลกระบวนธงมังกรตามธรรเนียม

ชักศพพระวิมลรัตนกิริณีลงเรือขนานมีเพดาน มีราชวัตรแลมีเรือดั้ง ตั้งกลองชนะแตรสังข คู่ ๑ เรือแห่ ๒๐ แห่ศพไปฝังปากลัดโพ แขวงเมืองเขื่อนนันธตามธรรมเนียมแต่ก่อนมา
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 12 ก.ค. 11, 17:42

เอาภาพโป๊ะ...เอ๊ย..ไม่ใช่ๆๆ  ภาพแพดอกบวบ เลือกลำไม้ไผ่ขนาดใหญ่ชั้นดี มาผูกมัดไว้ด้วยกัน ด้านในมีอากาศ ลอยน้ำได้และภาพนี้เป็นภาพแพลงสรงในสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

ด้วยสมเด็จวังบูรพา อันเป็นที่หลานรักยิ่ง ทรงเป็นแม่กองก่อสร้างแพให้สมพระเกียรติยศ เชิดชูวงศ์ตระกูล ดำริว่าเป็นแพที่มีความงามสุดขีด เมื่อเสร็จงานแล้วรื้อทิ้งก็เสียดาย จึงโปรดให้จำลองไว้ด้วยแผ่นเงินแท้บริสุทธิ์ ให้ชาวสยามได้เห็นความงดงาม เห็นทีไรต้องก้มกราบงาม ๆ ด้วยความงามสุดขีด

-ขุนหนุ่มสยาม เคยเห็นแพรับช้างเผือก ที่ทำจำลองไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือไม่
ถ้าเคยเห็นอยากทราบว่าใครทำ  และมีประวัติความเป็นมาอย่างไร เดี่ยวนี้อยู่ที่ไหน

เห็นกำลังเล่นกันอย่างสนุก เลยเข้าคลุกวงในเสาวนาบ้าง

อันแพรับช้างเผือกที่ใต้เท้ากล่าวถึงนั้นกระผมหาได้พบพานไม่ เพราะช่วงชีวิตเกิดมา ช้างเผือกก็ไม่ได้ส่งลงแพมาจากกรุงเก่าแล้ว
แต่มีข้อมูลที่ใต้เท้าถามออกขุน (หรือหลวง ฮืม) หนุ่มสยามไว้ ดังนี้

"เมื่อพระยาช้างเผือก พระเศวตอุดมวารณ์มาจากเมืองนครลำปาง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ระยะนั้นไม่มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีหลายปี
จนไม่มีตัวกรมการที่จะจำแบบอย่างทำแพรับช้างเผือกได้ แบบแผนแพช้างเผือกหาที่ในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ ต้องถึงปรึกษากันใน
กระทรวงมหาดไทยว่าจะทำอย่างไร ไปนึกขึ้นได้ถึงพระยาทวาราวดีภิบาล (แจ่ม โรจนวิภาต) ซึ่งเป็นผู้เคยทำเหลืออยู่คน ๑
ต้องเรียกตัวขึ้นมาจากมณฑลนครศรีธรรมราช ขอแรงให้เป็นนายงานทำแพช้างเผือก แล้วให้ต่อตัวอย่างตั้งรักษาแบบไว้ในกระทรวง
มหาดไทย
ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้"

แต่ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงนิพนธ์ว่า "ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้" นั้น ก็เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙
จนป่านนี้ก็เป็นเวลา ๙๕ ปี แล้ว มิรู้ว่าแพช้างเผือกจำลองของเจ้าคุณทวาราวดีภิบาล จะยังอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยหรือไม่ ฮืม
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 12 ก.ค. 11, 18:02

^
กว่าจะมาได้ คงนั่งระแทะมาไกลจากแขวงเมืองปะทุม   ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 12 ก.ค. 11, 18:29

เกร็ดประวัติเล็กน้อยของ พระยาทวาราวดีภิบาล (แจ่ม โรจนวิภาต)

เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๑ อันเป็นปีจัดงานสมโภชพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนพระยาสมบัติภิรมย์ เป็น พระยาทวารวดีภิบาล จางวางกรุงเก่า

เหตุที่พระราชทานสัญญาบัตรครั้งหลังนี้ ด้วยทรงพระราชปรารภมาเนือง ๆ ตั้งแต่พระยาทวาราวดีภิบาล รับราชกาลอยู่มณฑลนครศรีธรรมราช เสด็จออกไปประพาสคราวใด ทอดพระเนตรเห็นพระยาทวาราวดีภิบาล มักรับสั่งว่า "หน้าแกมันไม่ช่างสมกับมณฑลนครศรีธรรมราชเสียจริง ๆ ตั้งแต่เห็นมาก็เห็นเปนชาวกรุงเก่า เงากรุงเก่ายังติดตัวอยู่ไม่หาย"

จนเมื่อพระราชพิธีรัชมงคล ทอดพระเนตรเห็น รับสั่งว่า "คราวนี้มาอยู่ถูกที่แล้ว คืนชื่ให้เขาเสียเถิด" จึงได้พระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระยาทวาราวดีภิบาล ตำแหน่งจางวางกรุงเก่า
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 12 ก.ค. 11, 18:55


(กระซิบช้าง)  ไม่ใช่จ้ะ  

ลงพระราชอาญาตามว่าไว้            พระจึงให้ตั้งกฤษฎีกา
ว่าตั้งแต่วันนี้สืบต่อไป              หน้าที่ของผู้ใดให้รักษา
ถ้าประมาทราชการไม่นำพา        ปล่อยให้ใครเข้ามาในล้อมวง
ระวางโทษเบ็ดเสร็จเจ็ดสถาน       ถึงประหารชีวิตเป็นผุยผง
ตามกฤษฎีการักษาพระองค์        แล้วลงจากพระที่นั่งเข้าวังใน

หมายความว่า  ให้กำหนดบทลงโทษไว้ ๗ ขั้นไล่จากเบาที่สุด ไปจนถึงหนักที่สุด
เบาสุดน่าจะเป็นทำทัณฑ์บน  หรือภาคทัณฑ์  หนักสุด คือฟันคอริบเรือน
ส่วนจะฟันคอ ๗ ชัวโคตร ๕ ชั่วโคตร  ๓ ชัวโคตร  หรือโดนเดี่ยว ดูที่เจตนาผู้ผิด
ระวางโทษ ๗ สถานนี้  ควรดูจากพระอัยการขบถศึกประกอบด้วย

ที่คุณวันดีตอบมานั้น  นั่นเป็นจารีตนครบาลในการสอบปากคำผู้ร้ายปากแข็ง
ถ้าจำไม่ผิด มี ๒๑ ประการ


พบหลักฐานใหม่ ขยิบตา

พระอัยการกระบดศึก ไม่มีโทษ ๗ สถาน มีแต่
"สถานหนึ่งให้ริบราชบาทฆ่าเสียให้สิ้นทังโคต" "สถานหนึ่งให้ริบราชบาทฆ่าเสีย ๗ ชั่วโคต"
ฉะนี้  ยิงฟันยิ้ม

แต่ในพระอัยการอาญาหลวง
มีโทษหลายสถาน ทั้ง ๗ สถาน ๘ สถาน ตามความหนักเบาของคดีความ เช่น

มาตราหนึ่ง ผู้บังอาจลอบลักพระราชทรัพย์ในพระคลังหลวงนอกพระคลังหลวงก็ดี ท่านให้ลงโทษ ๘ สถาน
-ให้ฆ่าเสีย
-ให้ประจาน
-ให้ทวนด้วยลวดหนังไม้หวาย ๒๕ ที
-ให้ถอดเสียเอาตัวลงเปนไพร่
-ให้ไหมตรีคูณ
-ให่ไหมทวีคูณ
-ให้ไหมลาหนึ่ง
-ให้อุเบกสาไว้

และอาจจะมีการลงโทษแบบอื่นอีก ตามรูปคดี เช่น

-ให้เอามะพร้าวห้าวยัดปาก สำหรับ "ผู้ใด...ถ้อยคำมิควรเจรจาเอามาเจรจาเข้าในระวางราชาสับท"
-ให้เอาตัดปากตัดหูตัดมือตัดตีนเสีย สำหรับ "ผู้ใด...เจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัว ประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติและพระบันทูลพระโองการ"
ฉะนี้ เป็นต้น ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 12 ก.ค. 11, 22:41

พระไอยการอาญาหลวง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พุทธศักราช 1895 ได้กำหนดบทลงโทษ ข้าราชการที่กระทำการทุจริตประพฤติมิชอบไว้ 10 สถาน
จากโทษหนักที่สุดไปสู่โทษเบาที่สุด ดังนี้

1. ฟันคอ ริบเรือน ริบราชบาทว์ เอาลูกเมียข้าคนเป็นราชบาทว์ ยึดทรัพย์สินสิ่งของเข้าพระคลัง
2. ตัดมือ ตัดเท้า จองจำใส่ตรุ โดยยถากรรม
3. ทวนด้วยลวดหนัง หรือไม้หวาย 1 ยก 2 ยก 3 ยก แล้วประจานจำใส่ตรุไว้ 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน (ทวน 1 ยก หมายถึง การเฆี่ยน จำนวน 12 ที)
4. ปรับไหม 4 เท่าของค่าเสียหาย เข้าเป็นพินัยหลวง แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง (ใส่ตระกร้อแล้วให้ช้างเตะ)
5. ปรับไหม 3 เท่า แล้วให้ออกจากราชการ
6. ปรับไหม 2 เท่า แล้วให้ประจานทั่วเมือง 3 วัน 7 วัน จึงพ้นโทษ
7. ปรับไหมหนึ่งลา แล้วชดใช้ข้าวของคืนแก่ผู้เสียหาย
8. ตัดปากแหวะปาก เอามะพร้าวห้าวยัดปาก
9. ภาคทัณฑ์
10. กดอุเบกษาไว้ (เรียกประกันทัณฑ์บน)
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 12 ก.ค. 11, 23:01

เกร็ดประวัติเล็กน้อยของ พระยาทวาราวดีภิบาล (แจ่ม โรจนวิภาต)

เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๑ อันเป็นปีจัดงานสมโภชพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนพระยาสมบัติภิรมย์ เป็น พระยาทวารวดีภิบาล จางวางกรุงเก่า

เหตุที่พระราชทานสัญญาบัตรครั้งหลังนี้ ด้วยทรงพระราชปรารภมาเนือง ๆ ตั้งแต่พระยาทวาราวดีภิบาล รับราชกาลอยู่มณฑลนครศรีธรรมราช เสด็จออกไปประพาสคราวใด ทอดพระเนตรเห็นพระยาทวาราวดีภิบาล มักรับสั่งว่า "หน้าแกมันไม่ช่างสมกับมณฑลนครศรีธรรมราชเสียจริง ๆ ตั้งแต่เห็นมาก็เห็นเปนชาวกรุงเก่า เงากรุงเก่ายังติดตัวอยู่ไม่หาย"

จนเมื่อพระราชพิธีรัชมงคล ทอดพระเนตรเห็น รับสั่งว่า "คราวนี้มาอยู่ถูกที่แล้ว คืนชื่ให้เขาเสียเถิด" จึงได้พระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระยาทวาราวดีภิบาล ตำแหน่งจางวางกรุงเก่า


ฤๅจะเอาข้อมูลมาจากแหล่งเดียวกันนะพี่ขุนหนุ่ม แลบลิ้น
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 12 ก.ค. 11, 23:34


         พร้อมกันแล้วทั้งชุมนุม   ติดอาวุธเพียบ  ด้วยบารมี ความอยากประลองยุทธปัญญามหาศาล



คุณพระเศวต ฯ ทปษ ส่วนตัวของดิฉัน    ติดต่อพ่นลม  มาเมื่อหัวค่ำ  ถามเรื่องแพรับช้างเผือก  ท่านก็อู้อี้อึดอัดอกเอย


ดิฉันไปอ่านมาตอนบ่ายว่า ลักษณะของแพที่แห่ช้างเผือกลงมา


       ภายในแพกว้างขนาด ๓ ห้อง  เรียกว่าแพประธาน   มีเฉลียงรอบและมีประตูด้านหน้า ๑ ประตู   มีบังสาด ๑(ปัจจุบันคือ กันสาด)

เป็นฝาปิดค้ำสำหรับกั้นพื้นรอบแพได้รอบโรง        ฝาบังสาดด้านนอกกรุผ้าแดง   ด้านในบุผ้าขาว  ประดับลายฉลุทองน้ำตะโก

หลังคาแพดาดด้วยผ้าแดง   ประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์  ลงรักปิดทองน้ำตะโก       ตรงมุมแพประดับราชวัติห้าชั้นสีขาวลายพิมพ์


ในโรง(แพ)  มีแท่นกับหลักหมอ  และเสาตะลุงเบญจพาดซึ่งตัวเสาล้วนหุ้มด้วยผ้าขาว   ส่วนยอดเสาทาสีทอง    ที่แพด้านตรงศรีษะช้าง  

กั้นเป็นเพดานด้วยผ้าขาวแขวนลอย


เพดานนี้เขียนยันต์ด้วยเส้นทอง   และแขวนพวงใบไม้สำหรับปัดรางควาน ๕ ชนิด  คือ ใบเงิน  ใบไทร  ใบโพธิ์  ใบมะเดื่อและใบเลียบ

โดยมัดรวมเป็นพวงเดียวกัน      ก้านใบไม้นั้นหุ้มผ้าขาว


ที่เสาเฉลียงในแพตรงหน้าช้างผูกพระกรรภิรมย์   พร้อมตั้งโต๊ะหมู่เครื่องบูชา    ซึ่งอัญเชิญพระชัยหลังช้างมาตั้งเป็นประธาน

แลมีกรงวานรเผือกตั้งตรงเฉลียงในแพด้านหลังตรงท้ายช้าง



ขณะที่ช้างจะขึ้นจากแพประธาน  จะเดินผ่านมายังแพลูกบวบ   สะพานเชือกที่ทอดจากฝั่งมายังแพประธาน   สองข้างจะกั้นฉนวนบังตา

ด้านในสะด้วยใบไม้สด   ทั้งนี้เพื่อมิให้ช้างสำคัญตื่นเพราะแปลกที่  และขึ้นจากแพได้ง่าย



ท่านผู้ใดรู้จักใบเลียบ  กรุณาเล่าให้ฟังหน่อยนะคะ    

สงสัยเรื่องไม้ระงับเพื่อการปัดรังควานมานานปีแล้ว    นางนพมาศก่อนจะเข้าวังก็นั่งบนตั่งเหยียบไม้ระงับนี้

บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 13 ก.ค. 11, 00:43

ต้นเลียบ ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นปิปผลิ” หรือ “ต้นปิลกฺโข” (พระคัมภีร์อภิธานนัปปทีปิกา)
ไม้เลียบเป็นพืชที่จัดอยู่ในสกุล Ficus lacor วงศ์ Moraceae
มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย คือ ไกร (กรุงเทพฯ), ผักเลือด, เลียบ (ภาคกลาง), ผักฮี, ผักเฮือก, ผักเฮือด (ภาคเหนือ), ผักเฮียด (ภาคอีสาน) ส่วนทางเพชรบุรี เรียกว่า ผักไฮ, ประจวบคีรีขันธ์ เรียกว่า ไทรเลียบ และนครราชสีมา เรียกว่า โพไทร เป็นต้น

ใบเลียบเป็นไม้มงคล ถือเป็นใบไม้กันภัย ได้แก่ ใบเลียบ ใบเงิน ใบทอง ใบหญ้าพันงู  ใบรัก ใบมะเดื่อ ใบไทร ใบมะม่วง ใบทองกวาว ใบตะขบ ใบมะตูม


บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 13 ก.ค. 11, 02:18

ตอนแรกก็แปลบทร้อยกรอง
ต่อมาย้ายไปเครื่องอานพานพระศรี
โยกอีกทีไปออกประพาสเล่นบัว
สุดท้ายเข้าเรื่องช้างเผือก

รู้สึกหลุดวงโคจรไปแล้วเนี่ยะ
(หลุดไปไกลด้วย หลุดจนออกนอกแพ.. เอ้ย!!! ทางช้างเผือกแล้ว)
 ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

ไหนๆ ก็หลุดไปไกลแล้ว เลยมีคำถามในใจ
เป็นปุจฉาให้ท่านผู้รู้ทั้งปวงวิสัจชนาด้วยขอรับ

1. "แลมีกรงวานรเผือกตั้งตรงเฉลียงในแพด้านหลังตรงท้ายช้าง" เคยได้ยินว่ามันมีเหตุผลบางประการเกี่ยวกับเรื่อง "สัตว์เผือก" นี้ ประมาณว่าเป็นสิ่งสิริมงคลหรืออะไรทำนองนี้ใช่ไหมขอรับ

2. "ท่าช้าง" (วังหลวง) ที่ใช้ชื่อนี้ เพราะ 2.1 เป็นท่าที่ช้างหลวงอาบน้ำเป็นประจำ หรือ 2.2 เป็นท่าที่ให้ช้างเผือกจากกรุงเก่าขึ้นบก

3. ช้างเผือก รวมถึงช้างสำคัญ มีสรรพนามในการเรียกว่าอย่างไรขอรับ เชือก หรือองค์ หรือช้าง

คืนนี้สงสัยแค่นี้ขอรับ พอเป็นกะษัยยา ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 13 ก.ค. 11, 05:54

หลุดไปไม่ไกลเท่าใดดอก  ไปถึงเพียงแพช้างเผือกของคุณหลวงอันเนื่องมาจากปริศนา "ตำหนักน้ำ" นั่นแล

ตอบคำถาม

2. "ท่าช้าง" (วังหลวง) ที่ใช้ชื่อนี้ เพราะ 2.1 เป็นท่าที่ช้างหลวงอาบน้ำเป็นประจำ หรือ 2.2 เป็นท่าที่ให้ช้างเผือกจากกรุงเก่าขึ้นบก

ประตูนี้เป็นประตูเพื่อใช้สำหรับนำช้างจากโรงช้างในพระบรมมหาราชวังลงไปอาบน้ำ จึงเรียกว่า ท่าช้าง และท่าพระก็เป็นอีกนามหนึ่ง ซึ่งต้องรื้อประตูออก เนื่องจากพระมีความใหญ่ และสุงกว่าประตูพระนคร จึงต้องรื้อประตูนี้ทิ้ง และเมื่อรื้อทิ้งแล้วก็ไม่ได้มีการสร้างประตูกลับที่เดิม คงเหลือแต่ชื่อเรียกปรากฎไว้

แนวกำแพงพระนครและประตูท่าพระ ตามจุดไข่ปลา



3. ช้างเผือก รวมถึงช้างสำคัญ มีสรรพนามในการเรียกว่าอย่างไรขอรับ เชือก หรือองค์ หรือช้าง

คุณอาร์ตคงหมายถึง "ลักษณนาม" มากว่า "สรรพนาม"

ช้าง เป็นสัตว์ซึ่งมีขนาดตัวใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์บกทั้งหลาย ช้างสามารถรับคำสอนให้ทำตามคำสั่งของคนได้ สามารถฝึกให้ทำงานต่าง ๆ ได้หลายอย่าง และในสมัยก่อนมีการฝึกช้างให้เป็นพาหนะในการทำสงคราม ช้างจึงเป็นสัตว์ที่ถือว่าพิเศษกว่าสัตว์อื่น ๆ จนถึงให้มีตำแหน่ง มียศ มีราชทินนาม.

ความพิเศษของช้างนั้น ปรากฏในภาษาที่ใช้สำหรับช้างด้วย คือ ช้างป่า ใช้ลักษณนามว่า ตัว เช่นเดียวกับสัตว์อื่น ๆ เช่น ช้างโขลงนั้นมีมากกว่า ๒๐ ตัว.

ช้างที่นำมาฝึกให้ทำงานให้คนและเป็นสัตว์เลี้ยงของคน ใช้ลักษณนามว่า เชือก เช่น เขากำลังฝึกช้างหลายเชือกให้เล่นฟุตบอล.

ส่วนช้างที่ขึ้นระวางเป็นช้างหลวง ใช้ลักษณนามว่า ช้าง เช่น ในโรงช้างหลวงมีช้างขึ้นระวางอยู่ ๕ ช้าง.

ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.237 วินาที กับ 19 คำสั่ง