เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3456 พระจันทร์หน้าฝน
tongtham
มัจฉานุ
**
ตอบ: 50


 เมื่อ 01 ก.ค. 11, 11:56

                                                พระจันทร์หน้าฝน
      สำหรับคนทั่วไปแล้ว  พระจันทร์ให้อารมณ์ความรู้สึกท้งสุขและเศร้า  แต่สำหรับฝนหรือฤดูฝน  คนทั่วไปจะอารมณ์ความร้สึกกับฝนหรือฤดูฝนน้อยกว่ารูปโฉมของพระจันทร์   
         แต่ท่านเคยเห็นพระจันทร์ร่ำไห้หรือไม่ ?
         ก็พระจันทร์ในคืนฝนพรำนั่นไง.....
           ยามเมื่อผมยังเด็ก  ดวงเดือนทำให้เกิดอารมณ์เศร้ามากในคืนฝนตก   จนเคยเขียนกลอนไว้  แน่นอนว่าเนื้อหาต้องเกี่ยวกับความรัก  ย้อนกลับมาอ่านแล้วนึกสนุก  ก็เลยหยิบเอาเพลงยาวของ “เจ้าฟ้ากุ้ง”  เกี่ยวกับเรื่องกระต่ายหลงจันทร์  และเพลงยาวของ “เจ้าฟ้าจีด” (นามปากกาของรัชกาลที่ ๑)  มาเชื่อมร้อยให้เป็นบทกวีขนาดยาวดังต่อไปนี้   
๐ คืนนี้จะพบเธอในความฝัน                                คืนฝนผันผ่านมาอีกคราหนึ่ง
สายลมเงียบเชียบไปใจรำพึง                                 ใครคิดถึงฉันบ้างระหว่างนี้
รู้ฤาไม่ว่าฉันนั้นอ้างว้าง                                        บนฟ้ากว้างไร้ดาวสกาวศรี
มีแต่เดือนดวงเดียวเปลี่ยวฤดี                                ประดับที่ฟากฟ้าสุราลัย
เดือนดวงเดียวคงเปลี่ยวเหงาเหมือนฉัน               ใจตรงกัน ฤ จันทร์อันสดใส
เราคนเปลี่ยวเที่ยวท่องครรลองไป                         จรดลในมรรคาเดนอารมณ์
คืนนี้เธออยู่ไกลถึงไหนแน่                                    อาจเพียงแค่เอื้อมถึง...จึงขื่นขม
ด้วยจับต้องเธอไม่ได้ในสายลม                             จึงตรอมตรม...โอ้จันทร์ฉันฝันไป
“จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า  ขอข้าวขอแกง                      ขอแหวนทองแดง  ให้น้องข้าใส่”
ใครเขาขอจันทร์เจ้าเจ้าก็ให้                                    ขอหัวใจคืนฉันเถิดจันทร ฯ 
                                                                              ( “โชติช่วง นาดอน  พ.ศ ๒๕๑๓)
                                                                            ๐ ปางพี่มาดสมานสุมาลย์สมร
ดั่งหมายดวงหมายเดือนดารากร                          อันลอยพื้นอัมพรโพยมพราย
แม้นพี่เหินเดินได้ในเวหาส                                 ถึงจะมาดก็ไม่เสียซึ่งแรงหมาย
มิได้ชมก็พอได้ดำเนินชาย                                   เมียงหมายรัศมีพิมานมอง
นี่สุดหมายที่จะมาดสุมาลย์สมาน                        สุดหาญที่จะเหินเวหาสห้อง
สุดคิดที่จะเข้าเคียงประคอง                                 สุดสนองใจสนิทเสน่ห์กัน
………………….
แสนวิตกเหมือนกระต่ายที่ใฝ่ฝัน                         แสงพระจันทร์งามจรเวหาสห้อง
พระจันทร์อยู่สำราญวิมานทอง                            ฤาจะปองใจหมายกระต่ายดง
สงสารอกกระต่ายป่าปักษาชาติ                            จะวายชีวาตม์ดับชีวิตด้วยพิศวง
แสนคะนึงถึงเสน่ห์ที่จำนง                                    ก็เหมือนอกกระต่ายดงที่หลงเดือน    ฯ
                             (เพลงยาว  พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)
๐ โอ้กระไรใจหลงจันทร์กระจ่าง                          ทุกเพ็ญพร่างคลั่งหาน้ำตาเคลื่อน
คืนฝนพรำน้ำตาต้องมาเยือน                                 จันทร์เจ้าเตือนตอกย้ำช้ำใจจริง ฯ
                                                                              (โชติช่วง  นาดอน  พ.ศ ๒๕๕๔)

๐ เวลาค่ำเคียงใกล้เคยได้กลิ่น                                  หอมประทินสุคนธ์ทองของน้องหญิง
จะทำอะไรพี่แลตามช่างงามพริ้ง                              จนชั้นทิ้งปูนพลูก็ดูดี
เจ้าเคยกรองดอกพิกุลเป็นกระเช้า                            ระคนเข้ากับบุหงามาให้พี่
จะต้องชวดอดเปล่าแล้วคราวนี้                                จะวางที่ที่นอนใครก็ไม่รู้
แม้นไม่มีกีดขวางเหมือนอย่างว่า                             จะออกหน้าร่วมเรียงไว้เคียงคู่
จะคลึงเคล้าเย้ายวนชวนชมชู                                    ยังขัดอยู่จึงต้องปิดคิดยากเย็น
อยากจะแจ้งเป็นไฉนน้ำใจหล่อน                            รักจะค่อนอยู่ข้างไหนใคร่จะเห็น
อันจะสิ้นรักใคร่เห็นไม่เป็น                                     คงจะเอ็นดูพี่ที่คุ้นเคย
อันพี่นี้น้องอย่าถามเลยความรัก                              สุดจะหักสุดจะครองแล้วน้องเอ๋ย
แม้นชาตินี้มิได้อยู่เป็นคู่เชย                                     ต้องทำเฉยเลยพรากจากกันไป
เกิดชาติหน้าให้ได้พบประสบน้อง                          มาร่วมห้องเคียงชิดพิสมัย
อย่าให้มีขุ่นข้องหมองฤทัย                                     สำราญใจไปจนม้วยลงด้วยกัน
พี่บอกความตามที่พี่ได้แจ้ง                                    ใช่จะแกล้งแต่งคารมให้คมสัน
เป็นคำงามความจริงทุกสิ่งอัน                                ขอเชิญขวัญเนตรดำริตรีตรองดู
คงเห็นงามตามจริงของพี่บ้าง                                อย่าระคางเคืองคำรำคาญหู
จงชั่งใจให้เห็นเช่นตราชู                                       หล่อนก็รู้อยู่ทุกสิ่งจริง ๆ เอย ๐
                เพลงยาวเจ้าฟ้าจีด (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 01 ก.ค. 11, 15:45

สนใจเรื่องนามปากกาของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ   ไม่ทราบมาก่อนว่าสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีการใช้นามแฝงด้วย
ดิฉันรู้จักแต่เจ้าฟ้าจีดสมัยปลายอยุธยา  ที่ถูกเจ้าพระยาพิษณุโลกจับถ่วงน้ำไป
กรุณาขยายความหน่อยได้ไหมคะ
บันทึกการเข้า
tongtham
มัจฉานุ
**
ตอบ: 50


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 02 ก.ค. 11, 06:34

*กระผมเขียนจากความทรงจำ  ยังไม่ได้กลับไปตรวจ"รวมเพลงยาวสำนวนเก่า"  อาจจะสับสนจำผิด
คิือเพลงยาวเรื่อง "รบพม่าท่าดินแดง" ในต้นฉบับตัวเขียนเก่า  ใช้ชื่อผู้เขียนว่า....เจ้าฟ้าจีด (หรืออะไรสักชื่อหนึ่ง
ขอเวลาไปเปิดหาหนังสือก่อนครับ)  ตอนรวมเล่มพิมพ์ครั้งแรก (พ.ศ ๒๔๖๐) ยังคงนามผู้เขียนนามเก่า
 แล้วต่อมาจึงตัดสินจากเนื้อเรื่องว่า  นั่นเป็นพระราชนิพนธ์ของ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแน่นอน (ตอนไปทัพรบพม่าที่ท่าดินแดง)
* ใช้คำว่า "นามปากกา" ไปด้วยความคะนอง    อันที่จริงควรใช้ "นามแฝง" รือคำอะไรที่เก่ากว่า คำว่า "นามปากกา" ครับ
บันทึกการเข้า
tongtham
มัจฉานุ
**
ตอบ: 50


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 02 ก.ค. 11, 07:12

* สรุปว่า  การใช้คำว่า "นามแฝง" ก็ไม่ถูกครับ    ควรเขียนว่า  บทกวีสับสนปนเปกัน    มีคนเข้าใจผิดว่า
พระราชนิพนธ์เพลงยาวเรื่องนี้ ของ ร.๑ เป็นบทกวีของ "เจ้าฟ้าจีด"
สมเด็จกรมดำรงฯ อธิบายไว้ในเรื่อง "อธิบายเรื่องพระราชนิพนธ์ นิราศฯท่ากินแดง"ว่า
"พระราชนิพนธ์เรื่องนี้มีผู้พิมพ์ไว้กับเพลงยาวเรื่องอื่น  แล้วพิมพ์ต่อกันมาอีกหลายครั้ง  แต่ที่พิมพ์กันนั้น
มักวิปลาสคลาดเคลื่อนมาก   ซ้ำหลงกันไปว่าเป็นเพลงยาวของเจ้าฟ้าจีดครั้งกรุงศรีอยุธยา  ด้วยฉบับซึ่งได้ชำระถูกต้องดี
มีแต่ที่ในหอพระสมุดวชิรญาณ   เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่าสมควรจะพิมพ์ออกเฉพาะเรื่องให้ได้อ่านกันแพร่หลาย  แลรักษาพระรา่ชนิพนธ์ไว้อย่าให้สูญเสีย"
ในหนังสือ "เพลงยาวคารมเก่า" ฉบับโรงพิมพ์ไทย จัดพิมพ์ พ.ศ ๒๔๖๐ นั้น   ไม่ระบุชื่อเพลงยาว  และลงท้ายชื่อผู้เขียนว่า "เจ้าฟ้าจีด" ครับ
นี่เป็นจุดเริ่มต้นความเข้าใจผิด    ต่อมากรมฯดำรงจึงทรงพิมพ์ฉบับที่ชำระถูกต้องว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของ ร.๑ ขึ้น
ส่วนเรื่องว่า  เพลงยาว "เจ้าฟ้าจีด" ที่มีหลายเพลงนั้น   มีเพลงใดเป็นพระราชนิพนธ์ ร.๑ อีกบ้างหรือไม่   ก็ควรจะศึกษาวิเคระาห์กันบ้างนะครับ
เมื่อกี้  พยายามไปหาต้นฉบับซีรอกส์ที่เคยมีอยู่  ก็หาไม่เจอเสียแล้ว  ขอเวลาอีกสักพักครับ  หาเจอแล้วจะเสนอข้อคิดต่อไป   

บันทึกการเข้า
tongtham
มัจฉานุ
**
ตอบ: 50


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 02 ก.ค. 11, 08:48

ขอบพระคุณอาจารย์ที่ "ติง" มา   
เพลงยาวที่ใส่นาม "เจ้าฟ้าจีด" นั้น  ยังมีอีกบทหนึ่ง    ที่ดูจากสำนวนแล้ว   ถ้าไม่ใช่บุคคลที่เป็นเจ้าแผ่นดินคงไม่เขียนอย่างนั้น
แต่ผมยังหาต้นฉบับไม่เจอครับ
ขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้ง  เพราะกำลังคิดหาเรื่องเขียนลงหนังสือ "วิทยาจารย์" พอดี  อาจารย์ติงมา  จึงได้เรื่องเขียนพอดี
ขอส่งเรื่องให้อาจารย์ตรวจก่อนครับ
ทองแถม


                                                เพลงยาวนิราศรบพม่าท่าดินแดง
          ทุกวันนี้ทราบกันถูกต้องชัดเจนว่า   “เพลงยาวนิราศรบพม่าท่าดินแดง” เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก    ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ ๒๓๒๙ ในคราวทำศึกกับพระเจ้าปดุง (ปีนั้นเป็นปีเกิดของ “สุนทรภู่”)
          แต่สมัยก่อนก็มีความเข้าใจผิดกันอยู่มากทีเดียว
        ต้นตอของปัญหาเริ่มจากหนังสือ “เพลงยาวคารมเก่า”  พิมพ์โดยโรงพิมพ์ไทย เมื่อ พ.ศ ๒๔๖๐   รวบรวมเอาเพลงยาวเก่า ๆ ตั้งแต่ครั้ง “เจ้าฟ้ากุ้ง”  “หม่อมภิมเสน”  “เจ้าฟ้าจีด”  สมัยอยุธยา   ลงมาจนถึงเพลงยาวยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์มารวมเล่มไว้     ยุคนั้นไม่มีการใส่ชื่อของเพลงยาว  มีแต่ใส่นามผู้ประพันธ์และความยาวกี่คำกลอนไว้เท่านั้น
          เพลงยาวฉบับปัญหานี้   ใส่นามชื่อผู้ประพันธ์ว่า “เจ้าฟ้าจีด”
          จึงเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเพลงยาวสมัยอยุธยา    เจ้าฟ้าจีด เป็นบุตร “พระองค์เจ้าดำ” กับ “เจ้าฟ้าเทพ”พระองค์เจ้าดำนั้นต้องสำเร็จโทษครั้งเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศ ทำศึกชิงราชบัลลังก์กับพระมหาอุปราช (คือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)   ส่วนเจ้าฟ้าเทพนั้นเป็นพระราชธิดาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแผ่นดินทรงปลา และเป็นเจ้าพี่ของเจ้าฟ้านิ่มเจ้าฟ้าสังวาล ซึ่งเป็นโทษครั้งกรมพระราชวังบวรธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
   ขอกล่าวถึงเรื่องการศึกชิงราชสมบัติระหว่างพระมหาอุปราชกับเจ้าฟ้าอภัยไว้สักเล็กน้อยดังนี้   
         ความขัดแย้งระหว่างพระมหาอุปราช (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)กับเจ้าฟ้าอภัยนั้น   เริ่มต้นจากเรื่องของ “เจ้าฟ้านเรนทร์”
         เจ้าฟ้านเรนทร์  กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์  เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ  และเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ   ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงโปรดปรานรักใคร่มาก   
         เจ้าฟ้าฯกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุ    เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงพระประชวรหนักจึงโปรดฯมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอภัย   พระราชโอรสอีกองค์หนึ่ง  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชไม่พอพระทัย        จึงได้รบพุ่งแย่งราชสมบัติกันขึ้น
         เจ้าฟ้าอภัยพ่ายแพ้ พระมหาอุปราชทรงได้ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าอยู่หัวบรมโกศ    ส่วนเจ้าฟ้าฯกรมขุนสุเรนพิทักษ์คงประทับอยู่ในวัดยอดเกาะ มิได้ลาผนวช   ครั้งนั้นพระองค์เจ้าดำก็ถูกโทษประหารไปด้วย
การเมืองในราชสำนักอยุธยาก่อนกรุงแตกนั้นร้อนแรงนัก    “เจ้าฟ้าจีด” ต้องโทษจำอยู่ในพระราชวัง     ระหว่างที่พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา   ใกล้กรุงแตกนั้น    “หลวงเกษา” ทหารของเจ้าพระยาพิษณุโลกคิดจะตั้งตัวเป็นใหญ่โดยอาศัยยุทธวิธีการเชิดชูเจ้านาย
          หลวงโกษาผู้ซึ่งคุมกองทัพเมืองพิษณุโลกกองหนึ่งอยู่ค่ายวัดภูเขาทอง  จึงสินบนเจ้านายผู้คุมในพระนครผ่านทางออกญาเมี้ยนเพื่อให้เจ้าฟ้าจีดต้องโทษจำอยู่ในพระราชวังออกจากโทษ   แล้วจะยกเจ้าฟ้าจีดขึ้นไว้ให้ตัวเองเป็นใหญ่ในกองทัพ
        มหาดเล็กในวังหลวงลอบพาเอาเจ้าฟ้าจีดออกจากที่จำขังตอนสองยาม แล้วลงเรือทางคลองฉไกรท้ายพระราชวัง ล่องออกแม่น้ำทางด้านใต้ แล้วพายทวนขึ้นทางเหนือจนเข้าคลองมหานาคไปถึงค่ายเมืองพิษณุโลกที่ภูเขาทอง    จากนั้นหลวงโกษาจึงนำไพร่พลเมืองพิษณุโลกที่เป็นกองของตน   ยกออกจากค่ายวัดภูเขาทองขึ้นไปทางเหนือจนถึงโพธิ์สามต้นก็ลงเรือที่เตรียมไว้ แล้วถ่อพายสุดแรงทวนน้ำโพธิ์สามต้นไปออกแม่น้ำใหญ่เมืองอ่างทอง ขึ้นไปเมืองนครสวรรค์ เมืองพิจิตร จนถึงเมืองพิษณุโลก
       ครั้นทางวังหลวงรู้ว่าเจ้าฟ้าจีดหนีโทษจำออกไปได้   ให้ไพร่พลคุมกันออกตามไปที่ค่ายวัดภูเขาทอง แต่ตามไม่ทันก็กลับเข้าเมือง
        ขณะนั้นเจ้าพระยาพิษณุโลกไม่อยู่เมือง เพราะยกไปรับพวกอังวะที่มาตีด่านทางเมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย   เจ้าฟ้าจีดสั่งให้หลวงโกษาปล้นเมืองยึดพิษณุโลกไว้
        ภริยาเจ้าพระยาพิษณุโลกชื่อเชียง กับบ่าวไพร่พวกหนึ่งหนีลงเรือน้อยออกจากเมืองพิษณุโลก  แล้วขึ้นบกเดินเกวียนไปทางเมืองสุโขทัยแจ้งความแก่เจ้าพระยาพิษณุโลก
          เจ้าพระยาพิษณุโลกจัดทัพกองหนึ่งไปรบไล่พวกเจ้าฟ้าจีด   จับตัวไว้ได้ให้จำใส่กรงลงเรือไปส่งพระนครศรีอยุธยา   แต่มีทัพพม่ากองหนึ่งตั้งสะกัดอยู่เมืองนครสวรรค์จะลงไปพยู่ระนครไม่ได้ เจ้าพระยาพิษณุโลกเลยให้ไพร่พลช่วยกันจับเจ้าฟ้าจีดถ่วงน้ำ   ว่ากันว่าจับถ่วงน้ำเสียตรงเกยชัยที่น้ำน่านสบกับน้ำยม
            “เจ้าฟ้าจีด” จึงเป็นบุคคลที่ราชสำนักสมัยรัชกาลที่หนึ่งน่าจะรู้จักดี
             ในหนังสือ “เพลงยาวคารมเก่า” ฉบับ พ.ศ ๒๔๖๐ รวมเพลงยาวที่มีชื่อผู้ประพันธ์ว่า “เจ้าฟ้าจีด” ไว้หลายเพลง
             มีเพลงหนึ่งที่เข้าใจกันผิด ๆ   คือใส่นามผู้ประพันธ์ว่า “เจ้าฟ้าจีด”  แต่มีเนื้อหา    เล่าถึงการรบกับพม่าที่ท่าดินแดน เมืองกาญจนบุรี    เนื้อความชัดเจนว่าเป็นเรื่องเกิดขึ้นในรัชกาลที่หนึ่ง
             และจากการตรวจสอบก็เป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่หนึ่งจริง ๆ    ไม่อย่างนั้นคงไม่เขียนถึงขนาดว่า
   ๐ ตั้งใจจะอุประถัมภก                              ยอยกพระพุทธสาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา                            รักษาประชาชนแลมนตรี
จะบำรุงทั้งฝูงสุรางค์รัก                              ให้อัคเรศเปนศุขจำเริญศรี       
ครั้นเสร็จการผลาญราชไพรี                         ก็ให้กรีธาทัพกลับมา ๐
(สำนวนฉบับงาน “ฉลองสุพรรณบัฏท่านเจ้าพระยารามราฆพฯ” พ.ศ ๒๔๖๔ และสำนวน “ประชุมเพลงยาว” ฉบับหอสมุดแห่งชาติ พ.ศ ๒๕๐๗)
         เพลงยาวเพลงนี้  มาใส่ชื่อภายหลังว่า  “เพลงยาวนิราศรบพม่าท่าดินแดง”  มีทั้งสิ้น ๖ สำนวน     ดังนี้
๑.สำนวน “เพลงยาวคารมเก่า” สำนักพิมพ์ไทย พ.ศ ๒๔๖๐
๒.  สำนวน “ฉลองสุพรรณบัฏท่านเจ้าพระยารามราฆพ” พ.ศ ๒๔๖๔ 
๓. สำนวน “ประชุมเพลงยาว ฉบับหอสมุดห่งชาติ”  สำนักพิมพ์คลังวิทยา ” พ.ศ ๒๕๐๗
  ๓.สำนวน “ชุมนุมเพลงยาวสมัยโบราณ” พิมพ์โดยศึกษานุมิตรสมาคม พ.ศ ๒๕๐๔
๔.สำนวน “เพลงยาวคารมเก่า” งานพระราชเพลิงศพหลวงอรรถกมลยบุตยาวัตร (สง่า กมลยะบุตร)
๕.สำนวน “ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง : พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม”  โดย มหาวิทาลัยศิลปากร  ปรานี วงษ์เทศ บรรณาธิการ  พ.ศ ๒๕๓๖
๖. สำนวน “เพลงยาวเก่า”  ซีรอกส์จากสำนักงานวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ไม่ระบุปีที่พิมพ์  คาดว่าพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ห้า
อ้างอิง
๑.   หนังสือ “มองเส้นทางวสรรณคดี  มีประวัติศาสตร์”  ทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการ  สโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากลจัดพิมพ์  พ.ศ ๒๕๔๙
๒.   เรื่อง “กรุงแตก ยศล่มแล้ว” ตอน ๘๔ หนีกลับพิษณุโลก  โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ   มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๓
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 19 คำสั่ง