เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 6895 2012 ... คือกึ่งพุทธกาลที่แท้จริง?
benzcadet64
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 29 มิ.ย. 11, 15:52

2012 … คือ ‘กึ่งพุทธกาล’ ที่แท้จริง?
 
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา มาจากท่าน ‘กัปตันถิติวิมล ศิริปัญโญ’ ที่ได้กรุณาเขียนเรื่องนี้ไว้ในคอลัมน์ ‘เล่าเรื่องไทยๆ’ ของหนังสือที่คอประวัติศาสตร์รู้จักกันดีนั่นก็คือ ‘ต่วย’ตูน พิเศษ’ ฉบับที่ 436 ประจำเดือนมิถุนายน 2554
 
แต่ก็ด้วยความที่บทความของท่านนั้นเต็มไปด้วยตัวเลข  ทั้งยังหยิบยกเอา ‘ปีก่อนคริสตศักราช’ หรือ ‘B.C.’ มาเล่าเรื่อง  พอเห็นตัวเลขเยอะผสมกับเป็นปีที่เราต้องนับย้อนกลับไป อย่างเช่นว่าถ้าเขียนว่า ‘ปี 35 B.C.’ นี่เราต้องรับรู้ทันทีว่ามาก่อน ‘34 B.C.’ อย่างนี้แล้ว มันสมองระดับนักเรียนนายร้อยตำรวจอย่างผมที่ร้างคณิตศาสตร์มานานแสนนาน ก็เป็นอันต้องปวดเศียรเวียนเกล้า กว่าจะอ่านได้จบก็เล่นเอาปวดหัวจี๊ด
 
แต่ก็นับว่าท่านได้ถ่ายทอดมุมมองที่แปลกประหลาด จนผมต้องพยายามทั้งอ่านทั้งจดบันทึก เรียกว่าเป็นครั้งแรกเลยที่ผมอ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียนแล้วต้องโน้ตเอาไว้เพื่อสรุปเนื้อหา
 
หลายท่านคงสงสัยว่านี่มันเรื่องอะไรกัน ทำไมต้องให้ความสำคัญขนาดนี้
 
ก็ต้องบอกว่าบทความนี้ต้องตั้งใจอ่านให้ดี และคิดตามให้ทัน ผมจะเอาข้อมูลที่ได้มาจากต้นฉบับ มาต่อยอดให้ท่านผู้อ่านได้ฮือฮากันตามสมควรแก่ปัญญาของผมครับ
 


ท่านผู้อ่านเคยสงสัยกันมั้ยครับว่า ‘พุทธศักราช’ ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
 
จริงอยู่ครับ เป็นที่ทราบกันดีว่า เราเริ่มนับ ‘พุทธศักราช’ กันทันทีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน
 
ฉะนั้นแล้ว ณ ปัจจุบันนี้ พระพุทธองค์ก็ปรินิพพานมาแล้วถึง 2554 ปี
 
แสดงว่า ในปี พ.ศ.2555 ที่กำลังจะถึงนี้ จะเป็นปีที่พระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นมาบนโลกครบ 2600 ปีแล้ว
 
จริงมั้ยครับ …
 
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้เมื่อพระชนมพรรษา 35 ปี และทรงใช้เวลาประกาศพระศาสนาอีกถึง 45 ปีจึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ฉะนั้นถ้าเราจะนับอายุของพระศาสนากันจริงๆ เราก็ต้องเริ่มนับตั้งแต่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้
 
และถ้าเราเอาเลข '45' มาบวกกับปี ‘พ.ศ.2555’ ที่กำลังจะมาถึง ผลที่ได้มันก็จะเท่ากับ ‘2600 ปี’ พอดีเด๊ะ … ซึ่งจะว่าไปแล้วก็น่าจะฉลองกันให้ครึกโครม
 
…แต่เดี๋ยวก่อนครับ…
 
กาลเวลาผ่านมา 2,000 กว่าปี มนุษย์ในยุคปัจจุบันก็ไม่มีใครเกิดทันพระพุทธเจ้า ไม่เคยเห็นแม้แต่พระเจ้าอโศกมหาราช อย่ากระนั้นเลย แค่พระเจ้าตากสินหน้าตาเป็นยังไงก็เถียงกันไปไม่มีข้อยุติแล้ว
 
อย่างนั้นเราจะเชื่อได้ยังไงครับว่า 'ปี พ.ศ.' ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น เป็นปีที่บอกระยะเวลานับแต่พุทธปรินิพพานจริงๆ…?
 
 
 
ท่านผู้อ่านครับ หวังว่าคงไม่ลืมว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงปรินิพพานในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 หรือก็คือ วันวิสาขบูชา
 
ผมต้องขอรบกวนให้ท่านผู้อ่านหันไปดูปฏิทินข้างกายสักหน่อยครับว่าประเทศไทยของเรา 'เถลิงศก' หรือ 'เปลี่ยน พ.ศ.' กันวันที่เท่าไหร่
 
เราเปลี่ยน พ.ศ. กันวันที่ 1 มกราคม เฉยเลย!!!!
 
พระพุทธเจ้าปรินิพพานวันไหน? พ.ศ.เกิดขึ้นตามระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานมิใช่หรือ?
 
แล้วมาเปลี่ยน พ.ศ. อะไรกันวันที่ 1 มกราคม
 
ท่านผู้อ่านครับ รู้แล้วจะสลดใจ … จริงๆแล้วปี พ.ศ.2483 นั้น ประเทศไทยของเรามีแค่ 9 เดือน!!
 
แต่ก่อนแต่ไรประเทศเราใช้ ‘ร.ศ.’ หรือ ‘รัตนโกสินทร์ศก’ เป็นศักราชบอกเวลา แต่ติดปัญหาตรงที่ว่ามันเป็นศักราชที่ใหม่เกินไป เพราะเริ่มใช้ตอนที่กรุงเทพมหานครเริ่มเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ.2325 นี่เอง … ครั้นจะเล่าเรื่องราวก่อนหน้า ก็ยากลำบาก ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร
 
พอ ร.ศ.131 หรือตรงกับปี พ.ศ. 2455 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ท่านก็ทรงพระกรุณาให้เปลี่ยนจากการใช้ ‘ร.ศ.’ มาเป็น ‘พ.ศ.’ หรือพุทธศักราช ตามอย่างประเทศพุทธอื่นๆ และก็ทรงกำหนดให้วันที่ ‘1 เมษายน’ ซึ่งเป็น ‘วันขึ้นปีใหม่ไทย’ เป็นวันเถลิงศกหรือวันเปลี่ยน พ.ศ. 
 
เห็นมั้ยครับว่าตั้งแต่เราเริ่มใช้ ‘พ.ศ.’ กันครั้งแรก … เราก็ไม่ได้เปลี่ยน พ.ศ. กันใน ‘วันวิสาขบูชา’ แล้ว
 
ยังครับ … ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น
 
ในอีกเพียง 28 ปีต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่านเห็นว่าการเปลี่ยน พ.ศ.กันในวันที่ 1 เมษายนนั้น  มันเหลื่อมกับของ ‘คริสตศักราช’ เพียง 3 เดือน ฉะนั้นเพื่อความสะดวกเข้าใจง่ายและทัดเทียมอารยประเทศ ก็ให้ประเทศเราเปลี่ยนศักราชกันในวันที่ ‘1 มกราคม’ ซะเลย … ง่ายดี
 
คิดกันง่ายๆเถอะครับว่าแค่ไม่ถึง 100 ปีที่เราใช้ พ.ศ.กันมา ก็มีเหตุให้มันต้องคลาดเคลื่อนถึง 2 ครั้งใหญ่ๆ ...
 
ฉะนั้นแล้วระยะเวลา 2,500 กว่าปี ก็แทบเชื่อไม่ได้เลยว่า แท้ที่จริงแล้วเราเริ่มนับศักราชกันเมื่อไหร่ นับและเปลี่ยนกันยังไง
 
และก็ด้วยความสงสัยส่วนตัวอีกแหล่ะครับ ผมก็เลยต้องไปตามหาต้นตอของมันในฐานข้อมูลของชาวพุทธ
 
ไม่ใช่อะไรที่ไหน … พระไตรปิฎก … นั่นแหล่ะ
 
แต่ก็มีคนเตือนอีกว่า พระไตรปิฎกใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ไม่ได้ เนื่องจากมีการสังคายนา หรือแก้ไขต้นฉบับกันหลายต่อหลายครั้ง เฉพาะในอินเดียเองนับตั้งแต่พุทธปรินิพพานแค่ไม่ถึง 300 ปี ก็มีการสังคายนากันถึง 3 ครั้ง
 
ผมก็เลยต้องเข้าไปค้นคว้าในฐานข้อมูลมาตรฐานอย่างเว็บไซต์วิกิพีเดีย … แล้วก็เจอเข้ากับข้อมูลที่น่าตกใจ
 
ฝรั่งเขาเขียนไว้ชัดเจนว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเมื่อ 487 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งถ้าคำนวณกันเป็นปี พ.ศ. ด้วยการเอา 543 เข้าไปบวก มันก็จะเท่ากับ พ.ศ.56
 
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆก็หมายความว่า ที่เรานั่งนับ พ.ศ.กันมานั้น เราเริ่มนับกันตั้งแต่ที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมพรรษา 24 พรรษา ไม่ใช่ตอนปรินิพพาน
เอ๊ะ! มันยังไงกัน
 
ผมก็ต้องถามว่าตอนที่พระองค์อายุ 24 มีอะไรพิเศษให้เราต้องเริ่มนับ พ.ศ. ?…ก็ไม่มี
 
อ้าวแล้วแบบนี้ตกลงเราจะเชื่อใคร...
 
ท้ายที่สุดแห่งความเป็นชาวพุทธเถรวาท ที่ชื่อนิกายของเราถอดเป็นคำตามบาลีได้ว่า ‘เถระ + วาทะ’ ซึ่งแปลว่า ‘พระเถระ + คำพูด’ หรือ ‘คำพูดของพระเถระ’
 
เราก็ต้องกลับไปค้นคว้าหา 'คำพูดของพระเถระ' ว่าแท้จริงแล้ว มันเป็นยังไงกัน
 
'พระไตรปิฎก' ระบุไว้ชัดเจนว่าพระเจ้าอโศกมหาราชขึ้นครองราชย์เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงไปแล้ว 218 ปี
 
อันนี้น่าเชื่อมากน้อยเพียงใด ... ก็ต้องตั้งประเด็นที่ว่า ห่างจากยุคพุทธกาล 2,000 กว่าปีอย่างฝรั่ง กับ 200 กว่าปีอย่างพระเจ้าอโศก ... แบบไหน 'สด' กว่ากัน
 
ถ้าตีความตามตัวบทเราก็จะได้ว่าพระเจ้าอโศกมหาราชขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ.218 ซึ่งถ้าตีเป็นปี ค.ศ. แบบฝรั่งคือราวๆ 325 ปีก่อนคริสตศักราช
 
แต่ตรงจุดนี้หลักฐานทางโบราณคดีของฝรั่งกลับบอกว่า พระเจ้าอโศกมหาราชทรงครองราชย์เมื่อ 269 ปีก่อนคริสตศักราช ช้ากว่าที่พระไตรปิฎกบอกถึง 56 ปี
 
56 อีกแล้ว …
 
หนำซ้ำว่ากันว่าครองราชย์แล้ว 4 ปีจึงค่อยทำพิธีราชาภิเษก ตรงนี้เป็นจุดที่ให้งุนงงสงสัยว่า ที่พระไตรปิฎกบอกว่า 218 ปีหลังพุทธปรินิพพานนั้น เป็น การครองราชย์ หรือ  การราชาภิเษก กันแน่ 
 
ถ้าปีที่ 218 หลังพุทธปรินิพพานเป็นปีครองราชย์ แสดงว่า ปี 222 เป็นปีราชาภิเษก
 
แต่ถ้าปี 218 เป็นปีราชาภิเษก ก็แสดงว่า ปี 214 เป็นปีที่ครองราชย์
 
แต่ไม่ว่าความเป็นจริงจะเป็นเช่นไร สิ่งที่เราทราบแน่ๆก็คือว่าตัวเลข ‘218’ เป็นปีแรกของพระอำนาจในบัลลังก์
 
ทีนี้เราลองมาวิเคราะห์กันดูเล่นๆมั้ยครับว่าการที่ศักราชจะคลาดเคลื่อนไปประมาณ 50-60 ปีนั้น มันมีความเป็นไปได้มั้ย?
 
ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าการที่เรานับ พ.ศ.ในปัจจุบันนี้นั้น เอาอย่างมาจาก ‘ลังกา’
 
จริงอยู่พุทธนิกายเถรวาทล้วนแล้วแต่นับ พ.ศ. อย่างลังกากันหมด แต่ไทยเราทะลึ่งนับปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานปีแรกเป็น ‘พ.ศ.0’ ต่างจากเถรวาทประเทศอื่นที่เขาเริ่มนับกันที่ ‘พ.ศ. 1’
 
แต่ก็ใช่ว่าลังกาจะเริ่มนับกันทันทีทันใดที่พระพุทธองค์ปรินิพพาน เพราะเวลานั้นพระพุทธศาสนายังไม่ได้เข้าไปในลังกา กว่าพระพุทธศาสนาจะเข้าไปในลังกาก็ล่วงเลยมาถึงท้ายๆยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช
 
ซึ่งถ้าหากว่าพระเจ้าอโศกมหาราชขึ้นครองราชย์หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 218 ปี แน่นอนว่าพระศาสนาย่อมเข้าไปในลังกาหลังจากนั้นอีกหลายสิบปี ฉะนั้นแล้วโอกาสที่จะเกิด ‘ช่องว่างทางเวลา’ ขึ้นก่อนหน้าที่ชาวลังกาจะรู้จักพระพุทธศาสนานั้น ย่อมเป็นไปได้สูง
 
สื่อให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ลังกาเองก็เริ่มรู้จัก พ.ศ. กันตอนที่เป็น พ.ศ.200 กว่าๆแล้ว ไม่ใช่รู้จักหรือใช้กันตั้งแต่ พ.ศ. 1
 
ซ้ำยังไม่มีใครรู้ว่าลังกาเขาเริ่มใช้ พ.ศ.นั้นกันตอนไหน พระพุทธศาสนาเข้าสู่ลังกาแล้วใช้เลยทันที หรือว่าเริ่มใช้หลังจากนั้นกี่ร้อยกี่พันปี
 
แล้วไหนจะสงครามแย่งชิงพื้นที่บนเกาะลังกาในกาลต่อๆมา ระหว่างชาวสิงหลที่เชื่อว่าตนสืบเชื้อสายมาจากสิงโต(สัตว์ทวีปอะไร?)กับชาวทมิฬ ซึ่งฝ่ายแรกเป็นพุทธ ฝ่ายหลังเป็นฮินดู ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะมาเป็นพันๆปี ยามใดฝ่ายใดชนะก็เผาคัมภีร์อีกฝ่าย ยิ่งเมื่อต่อมาปรากฏว่ามีพวกอิสลามเข้ามามีอิทธิพลบนเกาะลังกาอีกก็ยิ่งไปกันใหญ่ …
 
เรียกว่ารบราฆ่าฟันกันเละตุ้มเป๊ะมาทุกยุคทุกสมัย บรรดาบันทึกทั้งหลายที่จารึกแล้วถูกทำลายก็ถูกจารึกขึ้นใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำอีก แน่นอนว่าย่อมอาจเกิดความคลาดเคลื่อนในข้อมูลส่วนหนึ่งส่วนใดได้เป็นธรรมดา
 
ถามว่าในช่วงสมัยพุทธกาลนั้นนิยมใช้ ‘ศักราช’  มากน้อยเพียงใด?
 
ก็ตอบได้ว่าไม่ฮิต จะมีก็แต่ ‘มหาศักราช’ซึ่งก็เกิดหลังพุทธปรินิพพานไปถึง 500-600 ปี และก่อนหน้านั้นก็ไม่เคยมีการบันทึกศักราชไว้ทั้งในพระไตรปิฎกและเอกสารทางประวัติศาสตร์ แต่นิยมบันทึกว่าเป็นปีที่เท่าไหร่ของกษัตริย์พระองค์ใด
 
แล้วก็ด้วยความที่เป็นเช่นนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ว่าพอกษัตริย์พระองค์ใหม่ครองราชย์ก็นับเป็นปีเริ่มต้นของกษัตริย์องค์นั้นโดยไม่สนว่าองค์ก่อนหน้าครองราชย์มากี่เดือน กี่วัน ทำให้ศักราชในช่วงนั้นเกิดการนับต่อๆกันโดยไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาตามความเป็นจริง
 
แล้วถามว่ากษัตริย์ในช่วงที่เขานับศักราชกันมั่วๆแบบนั้นมีกี่พระองค์ … ฉะนั้นการที่นับศักราชคลาดเคลื่อนไป 50-60 ปีอันอาจเกิดจากการนับในลักษณะนี้ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา
 
 
 
หลักฐานที่บ่งชี้ว่าพุทธศักราชที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันกับระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้นคลาดเคลื่อนประมาณ 50-60 ปีจริงๆอีกอันหนึ่ง ก็คือ ‘สุริยุปราคา’ ครับ
 
เว็บไซต์ http://eclipse.gsfc.nasa.gov/eclipse.html ซึ่งรวบรวมข้อมูลสุริยุปราคาที่เคยเกิดขึ้นทั้งหมดบนโลกตั้งแต่สมัยโบราณ ระบุว่าเมื่อ 249 ปีก่อนคริสตศักราช ได้เกิดสุริยุปราคาขึ้นที่ตอนเหนือของอินเดีย
 
ซึ่งมันก็บังเอิญไปตรงกับบันทึกการเสด็จจาริกไปยังสวนลุมพินีวันของพระเจ้าอโศกมหาราชในปีที่ 21 ของรัชกาล
 
ก็ในเมื่อ ‘พระราหู’ มาบอกใบ้แบบนี้แล้ว สุริยุปราคาที่เกิดขึ้นเมื่อ 249 ปีก่อนคริสตศักราชนั้น ในบันทึกพระเจ้าอโศกบอกว่าเป็นปีที่ 21 ฉะนั้นแล้วถ้าเราเอา '20' ซึ่งเป็นจำนวนเต็มของปีที่ครองราชย์ไปลบกับ '249' เราก็จะได้ตัวที่แท้จริงของปีที่ 'เริ่มครองราชย์' ซึ่งก็คือ 269 ปีก่อนคริสตศักราช
 
ก็อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น ไม่ต้องไปสนใจเลยว่าคำว่า ‘ในปีที่ 218 ของพุทธปรินิพพาน’ นั้นหมายถึงอะไร ‘ครองราชย์’ หรือ ‘ราชาภิเษก’ เพราะจะหมายถึงอะไรก็ไม่มีความหมาย ... แต่เป็นอันว่ารู้กันทั่วอินเดียยุคนั้นว่าปีที่ 218 ของพุทธปรินิพพานคือ 'ปีแรกของรัชสมัย'
 
และเมื่อเอาไปเราเทียบเคียงกับคริสตศักราชก็ได้ความว่า ณ ปีที่ 218 หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วนั้นตรงกับ 269 ปีก่อนคริสตศักราชอย่างไม่ต้องสงสัย
 
ถามว่าไปเชื่ออะไรกับสุริยุปราคา ก็ต้องบอกว่า ของแบบนี้มันคำนวณกันได้ และก็แม่นยำ 100% 
 
ท่านผู้อ่านครับ ถ้าหากผมบอกว่าข้อมูลการเกิดสุริยุปราคาในครั้งนั้น อาจหาญถึงขนาดระบุไว้ชัดเจนว่าตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม ... แบบนี้น่าเชื่อพอรึยัง?
 
 
 
ด้วยเหตุนี้แหล่ะครับ นักประวัตศาสตร์เขาจึงนำเอาตัวเลข 218 ไปบวกกับปีที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงครองราชย์คือ 269 ปีก่อนคริสตกาล แล้วได้ปี 'ค.ศ.' ที่แท้จริงที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ซึ่งนั่นก็คือตัวเลข 487 ปีก่อนคริสตกาล
 
ถ้าท่านผู้อ่านยังไม่ลืมสูตร 'พ.ศ. - 543 = ค.ศ.' ตอนเรียน ม.ต้น เราก็จะได้ความจริงที่น่าตกใจว่า
 
 487 ปีก่อนคริสตกาล ก็เท่ากับ พ.ศ.56 พอดี
 
แสดงว่าพุทธศักราชที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีความคลาดเคลื่อนหรือเร็วไปถึง 56 ปี
 
เขียนมาถึงตรงนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง พ.ศ.แต่อย่างใด เพราะถ้าจะทำกันจริงๆ ต้องบอกว่าเป็น 'งานช้าง' แต่ผมอยากให้ทุกท่านตระหนักถึงความจริงในข้อนี้แล้วระลึกถึงคำสั่งสอนของพระศาสดาที่ว่า 'ทุกสิ่งรอบตัวล้วนเป็นมายาและเป็นของสมมติทั้งสิ้น'
 
เป็นอันว่ารู้กันเฉพาะบรรดาเราๆท่านๆก็แล้วกันว่าความจริงมันเป็นเช่นไร
 
ท่านผู้อ่านลองนึกดูสิครับ ปีนี้ พ.ศ.2554 แต่ที่แท้จริง มันคือปี พ.ศ.2498 ... อีก 2 ปี จึงจะเป็น 'กึ่งพุทธกาล' ที่ใครๆก็รอลุ้นว่าจะเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆจริง ดังพุทธทำนายมั้ย
 
ไม่เป็นไรยังมีเวลาหายใจหายคอกันอีก 2 ปี
 
แต่! อย่าเพิ่งลืมไปนะครับว่า เถรวาทลังกาเขาเป็นปี พ.ศ. 2555 กันแล้ว
 
ถ้า พ.ศ.ของลังกาซึ่งอยู่ใกล้ต้นกำเนิดพระพุทธศาสนามากกว่าไทยทั้งในแง่ของกาลเวลาและที่ตั้ง แม่นยำว่า …
 
ฉะนั้นแล้วก็ต้องบอกว่า ปีนี้แหล่ะครับ คือปี พ.ศ.2499 ตัวจริงเสียงจริง
 
และ …
 
ปีหน้า พ.ศ. 2500 ก็คือ ‘กึ่งพุทธกาล’ ของจริง!
 
เหลือเชื่อมั้ยครับ…
 
ค.ศ.2012 ที่เชื่อถือและวิตกกังวลกันว่าจะเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ขึ้นบนโลกทั้งตามปฏิทินมายา และตามคำทำนายวันพิพากษาโลกของทั้งคริสต์และอิสลาม...
 
...มันดันบังเอิญตรงกับ พ.ศ.2500 หรือ กึ่งพุทธกาล ของชาวพุทธเราแบบ ‘พอดิบพอดี’ ...
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 30 มิ.ย. 11, 10:35

     ผมเพิ่งมีเวลาเข้ามาอ่านกระทู้ของคุณ benzcadet64 และพยายามทำความเข้าใจว่ากำลังจะสื่อถึงอะไร  แต่ยังงงๆ อยู่

     ผมขอเรียนคุณ benz อย่างนี้ว่า  ศักราชต่างๆ นั้นมีที่มาที่ไป  ไม่ใช่เป็นการคำนวณกันแบบสุ่มๆ ไม่มีหลักมีเกณฑ์  เพราะเกี่ยวข้องทั้งฤดูกาลและวันสำคัญต่างๆ
ก่อนหน้าที่จะมี "พระพุทธศักราช"  ก็มี "อัญชันศักราช" และเหนือขึ้นไปอีกก็มี "กลียุคศักราช" ซึ่งเป็นศักราชแรก  การเปลี่ยนศักราชต่างๆ นั้นไม่เป็นประเด็นสำคัญเลย
ตราบใดที่ยังมี "กลียุคศักราช" ยืนเป็นหลักอยู่  ที่ผมกล่าวดังนี้เพราะ เรามี "หรคุณ" และ "อุจจพล" เป็นแกนในการคำนวณอยู่
     ศักราชเปลี่ยนไปได้ตามพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แต่ละยุคสมัย  แต่ "หรคุณ" และ "อุจจพล" เปลี่ยนไม่ได้  ไม่ว่าจะเปลี่ยนศักราชไปอย่างไร  ไทยเราใช้
ปฏิทินระบบจันทรคติมาแต่ครั้งโบราณจนกระทั่งถึงปัจจุบัน  เราจึงมีการใช้ปฏิทินระบบสุริยคติควบคู่ไปด้วยซึ่งก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกนั่นแหละ  เพราะเรายึดหลัก พระ
อาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษทุกๆ 365.25875 วัน เป็นหลัก
     ส่วนที่ลังกา พ.ศ. ล่วงหน้าเราไปหนึ่งปีนั้นเพราะเขายังยึดถือแบบอายุโหราศาสตร์อยู่ซึ่งเช่นเดียวกับเราในอดีต  ต่อมาล้นเกล้า ร. ๕ ทรงยึดถือตามแนวสากลนิยมจึง
มีการลดศักราชลงมาหนึ่งปีดังที่เห็นกันในปัจจุบัน
     การผิดพลาดเป็น วัน/เดือน หรือ ปี (ซึ่งเกิดจากความสับสน) พอยอมรับได้  แต่ผิดพลาดถึง ๕๖ ปี ยอมรับไม่ลงจริงๆ  เมื่อคำนึงถึงความเป็นจริงว่า เมื่อราว พ.ศ.
๒๑๒๕  พระสันตะปาปา เกรกอรี่ ที่ ๑๓ ทรงเห็นฤดูกาลคลาดเคลื่อนกับปฏิทินไปเพียง ๑๐ วัน พระองค์ก็ทรงแก้ไขปฏิทินเสียใหม่ให้ถูกต้องและใช้กันมาจนทุกวันนี้
ก็ปฏิทินที่เราตั้งอยู่บนโต๊ะหรือห้อยไว้กับผนังทุกวันนี้  เรียกว่าปฏิทินแบบเกรกอรี่   นี่เพียงแค่สิบวันนะครับ  แล้วถ้าเป็น ๕๖ ปี บัณฑิต นักปราชญ์ ของไทยเราจะไม่ออก
มาทักท้วงกันบ้างหรือครับ  หรือประเทศไทยเราไร้แล้วซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิจนต้องให้ฝรั่งชี้นำ  น่าคิดครับ





บันทึกการเข้า
ภูมิ
แขกเรือน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 196


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 30 มิ.ย. 11, 15:44

กำลังไล่ตามคีย์เวิร์ดที่คุณwillyquiให้มา


พอดีเจอเสริชเจอเวบนี้เลยเอามาแปะแชร์กันครับ
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/สุริยยาตร
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 30 มิ.ย. 11, 15:48

http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/สุริยยาตร

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 30 มิ.ย. 11, 20:25

     ตอนนี้ผมมีเวลาเป็นอิสระแล้วจึงอยากมาต่อเรื่องนี้ให้จบ  และขอบพระคุณ อ. เพ็ญชมพู กับ คุณ ภูมิ ที่กรุณาค้นหาข้อมูลให้  ลำพังผมเองขอยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า
ไม่รู้เรื่องการค้นหาข้อมูลทาง internet เลย
     ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงให้ความสำคัญกับ ค.ศ. ๒๐๑๒ นัก  และตอนนี้ก็พยายามจะโยง พ.ศ. เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำนายครั้งนี้ด้วย  เมื่อมีการเอาฝรั่งมาเป็นข้ออ้างอิง
อย่างเช่น  "ท่านผู้อ่านครับ ถ้าหากผมบอกว่าข้อมูลการเกิดสุริยุปราคาในครั้งนั้น อาจหาญถึงขนาดระบุไว้ชัดเจนว่าตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม ... แบบนี้น่าเชื่อพอรึยัง?"
ผมก็จะเอาแบบไทยๆ มาอ้างอิงบ้างว่า  "สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติเมื่อ วันที่ ๑๕ เมษายน อัญชนศักราชที่ ๖๘  ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปืจอ  แบบนี้ล่ะ พอจะ
ใช้ได้ไหม?"
  เหล่านี้ก็แล้วแต่ความเชื่อของบุคคล  ถ้าอยากรู้จริงก็ต้องไปศึกษาแล้วคำนวณหาด้วยตนเองว่าสิ่งที่เขาบันทึกเอาไว้นั้นถูกต้องหรือไม่
     หากท่านใดที่เคยศึกษาเรื่องโหราศาสตร์/ดาราศาสตร์ แบบลงลึก ไม่ใช่ศึกษาแบบเพื่อเอาไว้เป็น "หมอดู"  ก็คงจะรู้จักชื่อของปราชญ์ชาวกรีกท่านหนึ่งที่ชื่อว่า ฮิพพาร์คัส (Hipparchus)
ท่านผู้นี้เป็นนักดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ.....อีกหลายศาสตร์  เป็นผู้วางรากฐานของวิชา "ตรีโกณมิติ" ที่ใช้กันมาจนถึงยุคปัจจุบัน  และเป็นผู้ค้นพบว่า  มีการถอยหลังของ
"วิษุวัต"  โดยเหตุจากการที่เขาวัดตำแหน่งดาวฤกษ์บนท้องฟ้าเพื่อทำการบันทึกตำแหน่งดาวต่างๆ ที่เมืองอเล็กซานเดรีย และเมื่อได้นำบันทึกที่ตนเองทำขึ้นไปเทียบกับ "ปูมโหร" โบราณ  จึง
พบว่ามีความแตกต่างกันในระยะห่างของจุดวิษุวัต
     ฮิพพาร์คัส มีชีวิตอยู่ในช่วง 160 B.C. คือ ร้อยหกสิบปีก่อนคริสต์ศักราช  ดังนั้นเมื่อมี "ปูมโหร" โบราณก่อนหน้านั้น  ย่อมแสดงว่ามีปฏิทินใช้มาก่อนหน้าฮิพพาร์คัสเสียอีก  เมื่อคำนึงถึงว่า
หากมีความคลาดเคลื่อนของปฏิทิน  บุคคลระดับฮิพพาร์คัสจะไม่พบเชียวหรือ?  ไฉนรอให้บุคคลรุ่นหลังไม่รู้ว่ากี่สิบรุ่นมาค้นพบ  ไม่ค่อยสมเหตุสมผล
     ส่วนที่อ้างว่า "กาลเวลาผ่านมา 2,000 กว่าปี มนุษย์ในยุคปัจจุบันก็ไม่มีใครเกิดทันพระพุทธเจ้า ไม่เคยเห็นแม้แต่พระเจ้าอโศกมหาราช อย่ากระนั้นเลย แค่พระเจ้าตากสิน
หน้าตาเป็นยังไงก็เถียงกันไปไม่มีข้อยุติแล้ว
 อย่างนั้นเราจะเชื่อได้ยังไงครับว่า 'ปี พ.ศ.' ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น เป็นปีที่บอกระยะเวลานับแต่พุทธปรินิพพานจริงๆ…?"

     ข้อนี้ไม่เห็นน่ามีปัญหาอะไร  ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ก่อนหน้า "พระพุทธศักราช" ก็มี "อัญชนศักราช" ก่อนขึ้นไปอีกก็เป็น "กลียุคศักราช" ถ้าไม่เลิกกลียุคศักราชเสีย ปีนี้ก็เป็นปีกลียุคศักราชที่
๕๑๑๒  (เมื่อกลียุคศักราช 0 อุจจพล อยู่ที่ 813)  เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ก็ตั้งเป็น พ.ศ. ขึ้นมา  ไม่ต้องมือชั้นอ๋องที่ไหนมาคำนวณหา "หรคุณ" หรอกครับ  มือขี้กะโล้โท้อย่างผมก็พอจะ
คำนวณหาได้  ผู้อ่านท่านไหนก็คำนวณหาได้ ถ้ารู้หลักวิธี  คุณก็เพียงนับหรคุณเริ่มจาก 0 ไปจนถึงวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน  ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น จะผิดพลาดไปได้อย่างไร   ดังนั้นผมจึงไม่
เข้าใจว่ามันคลาดเคลื่อนไปได้อย่างไรถึง ๕๖ ปี  เหตุผลต่างๆ ที่ยกมาดูไม่ค่อยสอดคล้องสักเท่าไหร่เลยครับ
     การคำนวณปฏิทินจันทรคติสุริยยาตร จะต้องประกอบด้วย หรคุณ มาสเกณฑ์ อุจจพล ดิถี ต้องรู้ อวมาน กัมมัชพล  และต้องคำนวณไปถึง อธิกมาส อธิกวาร ด้วย  ทุกอย่างมีหลักเกณฑ์
ประกอบ  ที่ผมยกมานี่เพียงแค่กระผีกเท่านั้น  การคำนวณจริงมีมากกว่านี้นัก  ดังนั้นประโยคที่อ้างว่า  "อย่างนั้นเราจะเชื่อได้ยังไงครับว่า 'ปี พ.ศ.' ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น เป็นปีที่บอก
ระยะเวลานับแต่พุทธปรินิพพานจริงๆ…?"
  จึงฟังไม่ขึ้นครับ
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 30 มิ.ย. 11, 21:42

     การที่ผมบอกว่าฟังไม่ขึ้น  เพราะในการเปลี่ยนศักราชแต่ละครั้ง  ก็จะมีการลงบันทึกไว้  เช่น
อัญชนศักราช ตั้งหลัง กลียุคศักราช 2411 ปี
พระพุทธศักราช ตั้งหลัง อัญชนศักราช 147 ปี  ดังนี้เป็นต้น

ในการตั้ง จุลศักราช ที่เราใช้ในทุกวันนี้ก็เช่นกัน  ไม่ใช่นึกจะตั้งก็ตั้งได้เลย  จะต้องนำกลียุคศักราช และ อุจจพล เป็นตัวตั้งเสียก่อน  แล้วจึงค่อยคำนวณต่อไป เช่น
เมื่อได้กำหนดวันที่จะเปลี่ยนเป็นจุลศักราชไว้แล้วก็คำนวณว่า

จากกลียุคศักราช ถึง อัญชันศักราช            2411  ปี
จากอัญชันศักราช ถึง พระพุทธศักราช           147  ปี
จากพระพุทธศักราช ถึง วันที่จะตั้งจุลศักราช   1181   ปี
                                   รวม          3739  ปี

เมื่อได้ตัวเลขนี้แล้วก็เท่ากับได้ หรคุณ  เมื่อได้ หรคุณ ก็เท่ากับได้ อุจจพล  หลังจากนั้นก็ตัดศักราช ตัด หรคุณ ตัด มาสเกณฑ์ ให้เป็น 0 (ซึ่งจะผ่านการคำนวณอย่างละเอียดแล้ว)
เท่ากับเป็นการเริ่มศักราชใหม่ คือ จุลศักราช  เพราะฉะนั้น จุลศักราช จะต้องคู่ไปกับ พุทธศักราช สำหรับชาวไทย  (ผมกล่าวย่อๆ นะครับ ไม่ได้ลงรายละเอียด)
ส่วนกลียุคศักราชถึงแม้จะถูกยกเลิกไปแล้ว  แต่ก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะอุจจพล 813 ก็ยังติดอยู่กับกลียุคศักราชนั่นเอง
ส่วนอุจจพล ของจุลศักราช หลังจากผ่านการคำนวณแล้วอยู่ที่ -621 (คือเดินขาดรอบไป 621 อุจจพล    1 รอบอุจจพล = 3232)  และตัวเลข -621 นี่เองที่ใช้คำนวณปฏิทิน
จันทรคติสุริยยาตร ทุกวันนี้

     จากที่ผมบรรยายมาก็เชื่อได้ว่าคุณ benz คงจะพอมองเห็นว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะมีการคลาดเคลื่อนถึง ๕๖ ปี ตามที่คุณไปเอาฝรั่งมาอ้าง  ดังนั้น กึ่งพุทธกาล เลยมาแล้ว
อย่างแน่นอน  ส่วนที่ฝรั่งหวาดวิตกเรื่องหายนะของโลกในปี ค.ศ. ๒๐๑๒ นั้นก็ปล่อยเขาไปเถอะครับ  เราเป็นชาวไทยควรมีสติ  อย่าไปพยายามโยงอะไรต่อมิอะไรให้มาเป็นทุกข์
เลย  มันก็เหมือนภาพยนตร์ เรื่อง Davinci Code ละครับ  ขืนเชื่อว่าพระเยซูมีทายาทตามที่ผู้สร้างหลอกผู้ดู ชาวคริสต์ก็คงปั่นป่วนเป็นแน่
     
 
บันทึกการเข้า
pathuma
ชมพูพาน
***
ตอบ: 110


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 01 ก.ค. 11, 14:44

ในโลก Internet นั้น เราจะพบข้อมูลมากมายที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองหรือรับรอง เรื่องตามที่ผู้เขียนได้เล่ามาและเอามาเผยแพร่นั้นผมเห็นว่าเป็นเพียงความแค่ความเห็นของผู้เขียนคนหนึ่งซึ่งผมยังไม่เห็นหนังสืออ้างอิงใดๆหรือมีสถาบันใดรับรอง อ่านกันเล่นๆคงพอได้แต่จะถือเป็นข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนักมากจนทำให้เรื่องราวที่บันทึกมานานขาดความเชื่อถือไปคงจะไม่ได้ครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 19 คำสั่ง