เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 19670 อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
chatchawan
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


 เมื่อ 23 มิ.ย. 11, 20:36

เท่าที่ผมทราบผมเห็นแต่เพียงภาพท่าน ใต้ภาพเขียนว่านายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด ศิริสัมพันธ์) พ.ศ.2393-2469
ผมอยากทราบประวัติของท่านว่าเป็นมาอย่างไร เพราะว่าเท่าที่ค้นตามเวปต่างๆก็ไม่เจอ เจอแต่ข้อมูลเล็กๆน้อย มาประกอบกันก็ไม่ได้ใจความมากนักครับ ขอบพระคุณครับ
บันทึกการเข้า
chatchawan
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 23 มิ.ย. 11, 21:17

แล้วก็ผมอยากทราบว่า ยศนายพลโท  กับ พลโท ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร ปกติในปัจจุบันผมเห็นมียศแต่ พลโทไม่มีคำว่านายนำหน้า แต่ในรูปของเจ้าคุณสโมสรมีคำว่านายนำหน้าเพราะเหตุใดครับ???
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 23 มิ.ย. 11, 22:44

ยศนั้นเริ่มมีใช้ในรัชกาลที่ ๕  แต่ก่อนก็เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษ เช่น คอลอเนล คือ นายพันเอก  ลุตเตแนลคอลอเนล คือ นายพันโท  ซายันต์เมเยอรฺ คือ จ่านายสิบ


มาเริ่มบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยในราว พ.ศ. ๒๔๓๐  จัดเป็น

จอมพล

นายพลเอก  โท  ตรี

นายพันเอก  โท  ตรี

นายร้อยเอก  โท  ตรี

นายดาบ

จ่านายสิบ

นายสิบเอก  โท  ตรี

พลทหาร


ต่อมาได้ทรงกำหนดข้าราชการพลเรือนโดยเทียบกับยศทหารเป็น

ชั้นที่ ๑ เอก  โท  ตรี  เทียบ นายพลเอก  โท  ตรี

ชั้นที่ ๒ เอก  โท  ตรี  เทียบ นายพันเอก  โท  ตรี

ชั้นที่ ๓  เอก  โท  ตรี  เทียบ นายร้อยเอก  โท  ตรี


ในรัชกาลที่ ๖  ทรงเปลี่ยนชื่อยศข้าราชการพลเรือน เป็นดังนี้

ชั้นที่ ๑ เอก  โท  ตรี  เป็น มหาอำมาตย์เอก  โท  ตรี  เขียนตัวย่อว่า ม.ฮ.ฮ., ม.อ.ท., ม.อ.ต.

ชั้นที่ ๒ เอก  โท  ตรี  เป็น อำมาตย์เอก  โท  ตรี  เขียนตัวย่อว่า ฮ.ฮ.,.อ.ท.,.อ.ต.

ชั้นที่ ๓  เอก  โท  ตรี  เป็น รองอำมาตย์เอก  โท  ตรี  เขียนตัวย่อว่า ร.ฮ.ฮ., ร.อ.ท., ร.อ.ต.

ในรัชกาลนี้ทรงเพิ่มยศ มหาอำมาตย์นายก  เทียบเท่า จอมพล  มีผู้ที่ได้รับพระราชทานยศชั้นนี้เพียง ๒ ท่าน คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ  และเจ้าพระยายมราช  นอดจากนั้นยังได้ทรงเพิ่มยศ ว่าที่รองอำมาตย์ตรี เทียบเท่า ว่าที่นายร้อยตรี  และ ราชบุรุษ หรือ ร.บ. เทียบเท่านายดาบ


นอกจากนั้นยังทรงตั้งยศสำหรับข้าราชในพระราชสำนักเอีก ๓ เหล่า คือ

กระทรวงวัง  มียศเป็น เสวก  อ่านว่า เส-วก คือ

มหาเสวกเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า นายพลเอก  โท  ตรี  ใช้อะกษรย่อ ม.ส.อ., ม.ส.ท., ม.ส.ต.

เสวกเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า นายพันเอก  โท  ตรี

ใชอักษรย่อ ส.อ., ส.ท., ส.ต.

รองเสวกเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า นายร้อยเอก  โท  ตรี   ใช้อักษรย่อว่า ร.ส.อ., ร.ส.ท., ร.ส.ต.

จ่าพันทนาย  เทียบเท่า จ่านายสิบ

พันทนายเอก โท ตรี  เทียบเท่านายสิบเอก โท ตรี

พันทนาย  เทียบเท่า พลทหาร


ยศมหาดเล็ก แบ่งเป็น

จางวางเอก โท ตรี  เทียบเท่า นายพลเอก  โท  ตรี 

หัวหมื่น  เทียบเท่า  นายพันเอก

รองหัวหมื่น  เทียบเท่า  นายพันโท

จ่า  เทียบเท่า  นายพันตรี

หุ้มแพร  เทียบเท่า  นายร้อยเอก

รองหุ้มแพร  เทียบเท่า  นายร้อยโท

มหาดเล็กวิเศษ  เทียบเท่า  นายร้อยตรี

มหาดเล็กสำรอง  เทียบเท่า  ว่าที่นายร้อยตรี

พันจ่าเด็กชา  เทียบเท่า จ่านายสิบ

พันเด็กชาเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า  นายสิบเอก โท ตรี

เด็กชา  เทียบเท่า พลทหาร


ยศพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ ดังนี้

พระตำรวจเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า  นายพลเอก  โท  ตรี

ขุนตำรวจเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า  นายพันเอก  โท  ตรี

นายตำรวจเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า  นายร้อยเอก  โท  ตรี

จ่านายสิบตำรวจ

นายสิบตำรวจเอก  โท  ตรี

พลตำรวจ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 24 มิ.ย. 11, 06:57

ยศทหาร ตำรวจ แต่เดิมมีคำว่า "นาย" นำหน้า  มาตัดคำว่า "นาย" ทิ้งไปเมื่อเริ่มมีนายทหารหญิงในสมัยท่านผู้นำ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

พระยาสมโสรสรรพการ (ทัด  ศิริสัมพันธ์) นั้น  มีตำแหน่งครั้งสุดท้ายในรัชกาลที่ ๖ เป็น เกียกกายทัพบก  มีหน้าที่หลักเรื่องการเสบียงของกองทัพ  จำแหน่งนี้นับว่าสำคัญมากตำแหน่งหนึ่ง  เพราะ "กองทัพเดินด้วยท้อง"  หากส่งเสบียงไม่ดีมีหวังอดตายทั้งกองทัพ

นอกจากนั้นยังมีบันทึกในจดหมายเหตุงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๖ ความว่า  พระยาสโมสรฯ นั้นเป็นเสียง "โห่" คือ "โห่ " แล้วรับ "ฮิ้ว"ถวายชัยมงคลในการคราวสวนสนามเสือป่าที่สนามเสือป่า  วันที่  ๙  ธันวาคม  ๒๔๕๔
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 24 มิ.ย. 11, 08:50

อ้อ  ตามหาประวัติ นายทัด กุเรเตอร์  ที่แต่งโคลงรามเกียรติ์
ที่พระระเบียงวัดพระแก้วหรือครับ  ประวัติของท่านที่ท่านเขียนเล่าเองสนุกมาก
ถ้าเจอจะเอามาลงให้อ่านสักครึ่งหนึ่ง ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 24 มิ.ย. 11, 10:35

"นายทัด กุเรตอร์"

ผมเข้าไปเดินเล่นที่วิกิซอร์ซ http://th.wikisource.org/wiki ในเรื่องโคลงภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ห้อง ๒๙-๓๑ มีหมายเหตุไว้ว่า นายทัด กุเรเตอร์ แต่ง

ในหนังสือ "กลอนกล" ของ รศ. วันเนาว์ ยูเด็น ฉบับพิมพ์โดยองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ. ๒๕๔๔ ยกตัวอย่างของกลบทตอนหนึ่งในจารึกวัดพระเชตุพน หมายเหตุว่า นายทัดมหาดเล็ก แต่ง

ผมเริ่มต้นที่คำว่า นายทัด กุเรเตอร์ โดยกูเกิ้ล มาพบในวรรคหนึ่งของเวปปัญญาไทย http://www.panyathai.or.th หัวข้อโบราณคดี ขออนุญาตคัดลอกข้อความตอนหนึ่งมาลงไว้ ดังนี้
 
   "ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อเกิดคดีนายรัสต์มานน์ ลักลอบตัดพระกรพระเศียรพระศิวะไปเยอรมัน เมื่อตามกลับมาได้ โปรดฯ ให้รวบรวมศิลปวัตถุหัวเมืองมาไว้ในกรุงเทพฯ ทรงจัดตั้งหอมิวเซียมขึ้นที่พระที่นั่งสหทัยสมาคม (หอคอเดเดีย) ตั้งภัณฑรักษ์ (ผู้ดูแลกิจการพิพิธภัณฑ์) คือนายทัด ศิริสัมพันธ์ (พลโท พระยาสโมสรสรรพการ) ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ จึงได้ตั้งกรมพิพิธภัณฑ์ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าไชยานุชิต ทรงเป็นอธิบดี ในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ โปรดฯให้ตั้งโบราณคดีสโมสร เพื่อศึกษาเรื่องราวเก่า ๆ และใช้เอกสารเป็นหลักในการค้นคว้า แต่ไม่มีการสืบทอดแนวการศึกษา โดยใช้หลักฐานโบราณวัตถุและโบราณสถานดังที่เคยทำกันมาในรัชกาลก่อน "

ติดตามเรื่องราวของนายทัด สิริสัมพันธ์ คือนายพลโทพระยาสโมสรสรรพการ จากบทความของคุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ เรื่องราชินิกูล-ราชินิกุล-ราชนิกุล
http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=2172&stissueid=2535&stcolcatid=2&stauthorid=13
ความตอนหนึ่งว่า   "ราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ หมายถึงพระญาติวงศ์ ของสมเด็จพระศรีสุลาลัยพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทรงเป็นพระสนมเอกในรัชกาลที่ ๒ มิใช่พระอัครมเหสี ราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ ที่มีผู้สืบสายสกุลเป็นที่รู้จักกันดี คือ สายพระยาพัทลุง (ทองขาว) สามีของท่านปล้อง น้านางของสมเด็จพระศรีสุลาลัย และสายสกุล ‘ศิริสัมพันธ์’ สืบมาจาก ท่านสาด น้านางของสมเด็จพระศรีสุลาลัยเช่นกัน หากแต่คนละมารดากับพระชนนีเพ็ง ผู้เป็นชนนีของสมเด็จพระศรีสุลาลัย  
นามสกุล ‘ศิริสัมพันธ์’ นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ พระราชทานแก่ผู้สืบสกุล โดยทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า เกี่ยวข้องเนื่องกับสมเด็จพระราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ซึ่งพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าศิริวงศ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ที่นับว่าเป็นราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ ก็ด้วยเจ้าจอมมารดาของสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ ท่านเป็นหลานสาวแท้ๆ ของสมเด็จพระศรีสุลาลัย"

และจากบทความของคุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์เรื่อง "ศิริ ใช้อย่างไทย"
http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stauthorid=13&stcolcatid=2&stcolumnid=3562&stissueid=2623
ความตอนหนึ่งว่า "ทีนี้ นามสกุล ‘ศิริสัมพันธ์’ ผู้ขอพระราชทานนามสกุล คือ พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด)
เมื่อสืบสาวขึ้นไปถึงบรรพบุรุษของพระยาสโมสรสรรพการ (ทัด) แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด) และบรรดาพี่น้องวงศาคณาญาติให้ใช้ร่วมกันว่า ‘ศิริสัมพันธ์"
เนื่องด้วยพระยาสโมสรฯ (ทัด) เป็นบุตรชายของพระยาไกรโกษา (สองเมือง),
พระยาไกรโกษา (สองเมือง) เป็นบุตรชายของพระนนทบุรี (ม่วง),
พระนนทบุรี (ม่วง) เป็นบุตรชายของท่านสาด,
ท่านสาด เป็นน้องนางของพระชนนีเพ็ง และพระชนนีเพ็ง คือ พระชนนีแห่งสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๓
และ เจ้าจอมมารดาทรัพย์ เจ้าจอมมารดาของสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอฯ (พระองค์เจ้าศิริวงศ์) นั้น ก็เป็นหลาน (ป้า) แท้ๆในสมเด็จพระศรีสุลาลัย และเป็นหลานยายน้อยของท่านสาด
ผู้สืบสกุลลงมาจาก ท่านสาด จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวดองด้วย  สมเด็จพระบรมราชมาตาฯ (พระองค์เจ้าศิริวงศ์) ถึงสองชั้น คือทางสมเด็จพระศรีสุลาลัย ๑ และทางเจ้าจอมมารดาทรัพย์ ๑
ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล อันมีความหมายถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในสมเด็จพระบรมราชมาตาฯ (พระองค์เจ้าศิริวงศ์) นั่นเอง

และจาก http://www.yimwhan.com/board ความตอนหนึ่งว่า ๒๖.วัดแจ้งศิริสัมพันธ์ ตั้งอยู่เลขที่ ๙๙ ถ.สนามบินน้ำ ม.๕ ต.บางกระสอ อ.เมือง นนทบุรี ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๐ เดิมชื่อ “วัดแจ้ง” ต่อมาพลโทพระยาสโมสรสรรพการ(ทัด) ศิริสัมพันธ์ ได้มาบูรณะใหม่หมด จึงไดชื่อว่า “วัดแจ้งศิริสัมพันธ์” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ เจ้าอาวาส พระครูสุนทรจริยาภิวัฒน์ (ฐิตญาโณ ประจวบ มุตตาฟา)

และจาก http://www.oocities.com/colosseum/bench/6511 เรื่องพลโท พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) "คูเรเตอร์" คนแรกของประเทศไทย

ผมย่อยเรื่องและนำมาปะติดปะต่อเป็นเรื่องเดียวกันไม่ค่อยจะได้ความนัก จึงนำเรียนด้วยข้อมูลดิบให้คุณวันดีพิจารณาและสรุปความครับ อย่าให้คะแนนรายงานของผมจนตกนะครับ หกเต็มสิบคะแนนก็ยังดี

ขอเพิ่มเติมอีกหน่อยเกี่ยวกับท่าน จาก http://www.engrdept.com/tahanchangling/tahanchang1.htm ข้อความตอนหนึ่งว่า  “ ครั้นถึงปี พ.ศ. 2418 โปรดเกล้าฯให้คัดเลือกบรรดาพลทหารมหาดเล็กที่เป็นช่าง จัดตั้งกองทหารอินยิเนีย โปรดเกล้าฯให้พระมหาโยธา(นกแก้ว คชเสนี)แต่เมื่อยังเป็นนายนกแก้ว ทหารมหาดเล็กนั้นเป็นหลวงสโมสรพลการ ผู้บังคับกอง มียศทหารเป็นนายร้อยโท....ทหารมหาดเล็กคือ นายพลโท พระสโมสรสรรพการ(ทัด ศิริสัมพันธุ์)เป็นนายสิบนำทางเรียกว่า ไปโอเนียร์ซายันต์ 1 ...พลทหาร 60 สำหรับกระทำการช่างในกรมนี้ ครั้นเมื่อโปรดเกล้าฯให้จัดหอคองคอเดีย(คือศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวังสมัยนี้ : ผู้เขียน)ทหารช่างพวกนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ทำการแต่เฉพาะวิชาการทหารในกระบวนยุทธวิธี สรรพการช่างเบ็ดเตล็ดสำหรับกรมก็ได้กระทำทั้งสิ้น เช่น เครื่องสาตราวุธยุทธภัณฑ์ และอาภรณ์เบ็ดเสร็จที่ควรกระทำได้ มีการแก้ไขอาวุธ และทำหมวก ทำเข็มขัด คันชีพ เป็นต้น... ”

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 25 มิ.ย. 11, 22:26

ประวัติ  นายพลโท  พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) อย่างสังเขป

เป็นบุตรพระยาไกรโกษา (สองเมือง) กับนางลำใย

เกิดที่เมืองจันทบุรี  เมื่อ วัน ๒ เดือน ๖ แรมค่ำ ๑ ปี ๑๒๑๒ (๒๓๙๓)

ปี ๑๒๑๓  บิดาเดินทางกลับเข้ามารับราชการที่กรุงเทพฯ
จึงได้เดินทางพร้อมกับบิดามาอยู่ที่บ้านเมืองนนทบุรี

ปี ๑๒๑๕  บิดานำไปเข้าเฝ้าฯ ถวายตัวในการพระราชพิธี
ขึ้นพระอู่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
ที่เขตพระราชฐานผ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง

ปี ๑๒๒๑ เด็กชายทัด ได้กลับมาอยู่บ้านบ้าง อยู่ในวังบ้าง

ปี ๑๒๒๒ บิดาได้รับคำสั่งให้ไปทำราชการที่เมืองสระบุรี
แลได้พาเด็กชายทัดไปด้วย

ปี ๑๒๒๓  นางลำใย มารดาถึงแก่กรรม  บิดาได้เป็นที่พระยาไกรโกษา

ปี ๑๒๒๔  บิดาถึงแก่กรรม  เด็กชายทัดไปอยู่วัดเรียนหนังสือขอม

ปี ๑๒๒๕  เด็กชายทัดมาอยู่บ้านพระยาอภัยภักดีใกล้วัดระฆัง

ปี ๑๒๒๖  บวชเป็นสามเณรที่วัดบางไผ่ บางใหญ่

ปี ๑๒๒๗ เด็กชายทัดมาอยู่บ้านใกล้วัดระฆัง

ปี ๑๒๓๐  ท่านป้าที่เด็กชายทัดมาศัยอยู่บ้านด้วยนั้น ถึงแก่กรรม
จึงเด็กชายทัดย้ายมาอยู่ที่บ้านพี่ที่วังหลัง

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 25 มิ.ย. 11, 22:35

ปี  ๑๒๓๑  ได้ภรรยาแล้วพากันไปอยู่ที่ตรอกศาลเจ้าครุฑ 
ซึ่งเจ้าบ้านเป็นญาติภรรยา  แล้วออกจากบ้านไปอยู่ที่เมืองพังงา

ปี ๑๒๓๓  กลับจากเมืองพังงา  มาอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่บ้านใกล้วัดระฆัง

ปี ๑๒๓๔  เข้าเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 
ได้เงินเดือนเดือนละ ๒ ตำลึงกึ่ง

ปี ๑๒๓๖  รับยศประทวนเป็นเปซายัน  ทหารช่างมหาดเล็กรักษาพระองค์
(เทียบเท่านายสิบ)  ได้เงินเดือนเดือนละ ๕ ตำลึง 
แลปีนี้ได้กราบบังคมทูลลาอุปสมบทด้วย

ปี  ๑๒๔๐  รับยศประทวนเป็นไปโอเนียเมเยอร์ 
ทหารช่างทมหาดเล็กรักษาพระองค์  (เทียบเท่านายสิบโท)
ได้เงินเดือนเดือนละ ๖ ตำลึง

ปี ๑๒๔๓  รับยศประทวนเป็นกุเรเตอร์หอมิวเซียม 
ในกรมทหารช่างมหาดเล็กรักษาพระองค์  (เทียบเท่านายสิบเอก)
ได้เงินเดือนเดือนละ  ๗ ตำลึงกึ่ง



บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 25 มิ.ย. 11, 22:44

ปี  ๑๒๔๔  ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่หลววงสโมสรสรรพการ
ทหารช่างมหาดเล็กรักษาพระองค์  รับเงินเดือนเดือนละ  ๑๕ ตำลึง

ปี ๑๒๕๐ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายร้อยเอกทหารบก  
รับเงินเดือนเดือนละ  ๑๐๐ บาท

ปี ๑๒๕๑  ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายพันตรีทหารบก  
และได้เป็นเจ้ากรมโยธา  กระทรวงโยธิการ  รับเงินเดือน
เดือนละ ๒๔๐ บาท

ปี  ๑๒๕๕  ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยาสโมสรสรรพการ
รับราชการในตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงโยธาธิการ
รับเงินเดือนเดือนละ ๔๐๐ บาท


บันทึกการเข้า
chatchawan
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 26 มิ.ย. 11, 13:55

ละเอียดมากครับ ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
chatchawan
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 27 มิ.ย. 11, 16:18

ขอถึงตอนท่านถึงแก่อสัญกรรมได้ไหมครับ อยากอ่านอ่าครับ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 27 มิ.ย. 11, 17:13

ปี ๑๒๕๗  ออกจากกระทรวงโยธาธิการมาก่อสร้างมหาจูฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
(ตึกแดงหรือตึกถาวรวัตถุ) ต่อมาได้เป็นหอพระสมุด  คงได้เงินเดือนเท่าเดิม

ปี ๑๒๖๔  ย้ายมาเป็นเจ้ากรมแสงสรรพาวุธ  และได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันเอก
รับเงินเดือนเพิ่มอีก เดือนละ  ๑๐๐  บาท

ปี ๑๒๖๖  เป็นเจ้ากรมยุทธโยธา  กระทรวงกลาโหม  และดำรงตำแหน่งผู้รั้งเจ้ากรมแสงสรรพาวุธด้วย
ได้รับเงินเดือนพิเศาชั้นหัวหน้ากรมอีก  ๒๐๐  บาท รวมเป็นเงินเดือนละ ๗๐๐ บาท

ปี ๑๒๗๐  ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตรี  รับเงินเดือนเพิ่มอีกเดือนละ  ๑๐๐ บาท
รวมเป็นเงินเดือนละ  ๘๐๐  บาท

ปี ๑๒๗๓  รับเงินเดือนนายพลตรีชั้น ๑  เดือนละ ๙๐๐ บาท  ดำรงตำแหน่งเกียกกายทัพบก

ปี ๑๒๗๘  รับพระราชทานยศเป็นนายพลโท  กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ 
รับพระราชทานเบี้ยบำนาญ  เดือนละ  ๗๒๐ บาท

นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญตราต่างๆ มากมาย
วึ่งไม่จำเป็นต้องนำมากล่าว

และยังได้เคยรับราชการพิเศษ  เมื่อ  ปี ๒๔๓๖  แก๊บชนวนปืนใหญ่เกิดขาดแคลน
ท่านได้คิดทำแก๊บชนวนปืนใหย่ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๕  ทำให้มีแก๊บชนวน
ปืนใหญ่เพียงพอใช้ในราชการและทันตามพระราชประสงค์รัชกาลที่ ๕ ในกาลนั้น


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 27 มิ.ย. 11, 18:26

ปีที่คุณหลวงเล็กให้ไว้เป็นปีจุลศักราช  เมื่อจะคำนวณเป็นพุทธศักราชต้องบวกด้วย ๑๑๘๑
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 27 มิ.ย. 11, 20:58



คุณหลวงคะ  เอกสารที่ใช้กินตัวพุทธศักราชทั้งหมดเลยหรือคะ

กรุณาคัดลอกให้ครบถ้วนด้วยเทอญ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 28 มิ.ย. 11, 08:50

คุณหลวงคะ  เอกสารที่ใช้กินตัวพุทธศักราชทั้งหมดเลยหรือคะ

กรุณาคัดลอกให้ครบถ้วนด้วยเทอญ

เอกสารที่ผมใช้ครบถ้วนสมบูรณ์ดี  ไม่มีแมงมากัดกินเป็นรูเป็นรอย
แต่อยากคัดลอกมาเท่านี้  คิดว่าคนอ่านคงไม่มีปัญหากับเลขปีที่ลงไว้
เพราะเรื่องการคำนวณปีจุลศักศักราชเป็นพุทธศักราชนั้น
เป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องรู้กันแล้ว   เขียนอ่านง่ายก้ไม่ได้อรรถรสในการอ่านสิครับ
ต้องว่อนต้องพรางกันบ้าง  อ่านแล้วจะร่าเริง  และเจ้าของคำถามก็อ่านรู้เรื่องนี่

จากนี้   ผมจะเล่าประวัติการนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ
ตามที่ท่านได้เขียนเอาไว้ก่อนถึงแก่อนิจกรรม  สนุกดีทีเดียว
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.1 วินาที กับ 20 คำสั่ง