เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4791 อยากทราบประวัติของ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีสุพจน์ปรีชา ครับ
samson
อสุรผัด
*
ตอบ: 18



 เมื่อ 23 มิ.ย. 11, 08:41

ทราบว่าท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นบรรณาธิการคนแรกของไทยครับ แต่หาประวัติแทบไม่มีเลย  เศร้า  ร้องไห้
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 23 มิ.ย. 11, 09:20

ในงานพระศพพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ซึ่งได้เคยทรงดำรงตำแหน่งเลขานุการของกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร
อันได้สถาปนาขึ้นเป็นราชบัณฑิตยสภา ณ บัดนี้ อยู่ช้านาน กรรมการและเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ผู้น้อยในราชบัณฑิตยสภา
ประสงค์จะแสดงอาลัยและความนับถือกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชาให้ปรากฏในอวสานโอกาส จึงพร้อมใจกันมอบฉันทะให้ข้าพเจ้า
จัดการพิมพ์หนังสือมิตรพลีช่วยเจ้าภาพ สำหรับจะได้แจกในวันพระราชทานเพลิงพระศพ และการอันนี้พ้องกับหน้าที่ในส่วนตัว
ข้าพเจ้าอีกสถานหนึ่ง ด้วยกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชาได้ทรงแต่งคำฉันท์เรื่องอลินจิตชาดกมอบข้าพเจ้าไว้สำหรับให้พิมพ์แจก
ในงานพระศพของเธอ เพราะกิจทั้งสองสถานประสานกันดังกล่าวมา ข้าพเจ้าจึงได้ให้พิมพ์คำฉันท์เรื่องอลินจิตต์เล่มนี้
เป็นมิตรพลีในงานพระศพกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา

เหตุใดกรมหมื่นกวีพจน์ฯ จึงได้ทรงแต่งคำฉันท์เรื่องอลินจิตต์ และเหตุใดเธอจึงมอบไว้ให้พิมพ์แจกในงานพระศพของเธอ
จะปรากฏในเรื่องพระประวัติต่อไปข้างหน้า

พระประวัติ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา
มหาอำมาตย์ตรี  พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  ป.ม, ท.จ.ว, ต.ช, ว.ป.ร ๓,  ร.ด.ม. (ศ)
ทรงพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ เป็นพระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ คุณเลี่ยมใหญ่เป็นจอมมารดา
ประสูติในพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ กันยา ยน ปีมะแมตรีศก พุทธศักราช ๒๔๑๔

เมื่อทรงพระเยาว์ได้ศึกษาอักขรสมัยเบื้องต้นที่ในพระราชวังบวรฯ มาจนโสกันต์และทรงผนวชสามเณรแล้ว
ถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘   กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จทิวงคต   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณารับทำนุบำรุงพระโอรสธิดาต่อมา เวลานั้นข้าพเจ้าได้เป็นผู้จัดการโรงเรียนทั้งปวง แต่ยังมิได้ตั้งเป็นกรมศึกษาธิการ
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชปรารภว่าพระองค์ชายในกรมพระราชวังบวรฯ ยังทรงพระเยาว์
พระชันษาอยู่ในเวลาควรเล่าเรียนโดยมาก  ดำรัสมอบให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ดูแลจัดการศึกษาของเธอ ๘ พระองค์ด้วยกัน
ข้าพเจ้าจึงส่งเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งตั้งขึ้นใหม่สำหรับเจ้านายและผู้ดีมีสกุล วิชาที่ฝึกสอนสูงกว่าโรงเรียนอื่นในสมัยนั้น
เมื่อมาคิดดูก็เห็นว่าน่าชมอย่างหนึ่ง ซึ่งบรรดาพระองค์เจ้าในกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญที่ได้เข้าโรงเรียน ๘ พระองค์ครั้งนั้น
ไม่มีพระองค์หนึ่งพระองค์ใดที่จะเสีย มักทรงศึกษาสอบวิชาได้ถึงชั้นสูงสุด และต่อมาได้มีตำแหน่งรับราชการด้วยความสามารถ
ทันได้สนองพระกรุณาคุณในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแทบทุกพระองค์ คือ
๑. พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ ได้รับราชการตำแหน่งใดๆ บ้างจะแจ้งอยู่ในเรื่องพระประวัตินี้
๒. พระองค์เจ้าสุทัศน์นิภาธร ได้เป็นตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลองในกระทรวงโยธาธิการ
๓. พระองค์เจ้าวรวุฒิอาภรณ์ ได้เป็นตำแหน่งผู้พิพากษาศาลโปริสภา
๔. พระองค์เจ้าโอภาสไพศาล ได้เป็นตำแหน่งเสมียนตรากระทรวงเกษตราธิการ แล้วประชวรสิ้นพระชนม์เสีย
๕. พระองค์เจ้ารุจาวรฉวี รับราชการกระทรวงวัง ได้เป็นตำแหน่งผู้ช่วยเจ้ากรมวังนอก
๖. พระองค์เจ้าวิบูลย์พรรณรังสี รับราชการกระทรวงทหารเรือ ได้เป็นตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ
๗. พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (คือกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) รับราชการในกระทรวงธรรมการก่อน แล้วย้ายมาอยู่ในกระทรวงพระคลังฯ
ได้เป็นตำแหน่งอธิบดีกรมกระสาปน์ กรมตรวจ และกรมสารบาญชีโดยลำดับ

ไม่ได้มีตำแหน่งรับราชการแต่พระองค์เดียวแต่พระองค์เจ้าชัยรัตนวโรภาส ซึ่งเป็นพระน้องน้อยใน ๘ พระองค์นั้น
เพราะสิ้นพระชนม์เสียก่อนได้โอกาส แต่เมื่อคิดดูอีกทางหนึ่งก็น่าอนาถใจ ด้วยเจ้านายทั้ง ๘ พระองค์นั้นเดี๋ยวนี้สิ้นพระชนม์
เสียแล้วโดยมาก    ยังเหลืออยู่แต่ ๓ พระองค์ รวมทั้งพระองค์เจ้าวรวุฒิอาภรณ์ ซึ่งออกรับเบี้ยบำนาญ
และพระองค์เจ้ารุจาวรฉวีก็ประชวรพิการไปไหนไม่ได้ คงเหลือทำราชการอยู่แต่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์พระองค์เดียว

จะกล่าวถึงเรื่องพระประวัติของพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติต่อไป เมื่อเธอเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบนั้น
พระชันษาเจริญกว่าพระองค์อื่น และได้ทรงศึกษาอักขรสมัยชั้นประถมตามแบบเก่าสำเร็จมาแล้ว
มาอยู่ในโรงเรียนไม่ช้าก็สอบวิชาได้ตามหลักสูตรชั้นประโยค ๑  ครูบาอาจารย์สังเกตเห็นมาแต่แรกว่าจะเป็นนักเรียน
ที่วิชาดีต่อไปในภายหน้าพระองค์หนึ่ง ด้วยพระอุปนิสัยว่องไวในการทรงจำสำเหนียก และกอปรด้วยพระวิริยะอุตสาหะ
แต่เห็นจะเป็นด้วยได้ศึกษาอักษรศาสตร์ตามวิธีเก่ามาเสียจนทรงเจริญวัยอยู่ในพระราชวังบวรฯ
ความนิยมของเธอจึงอยู่ในการที่จะศึกษาวรรณคดีทางภาษาไทยอย่างเดียว วิชาอย่างอื่นเป็นแต่เรียนตามหลักสูตรเพื่อจะสอบวิชา
เรียนอยู่ ๓ ปีก็สอบได้ตลอดชั้นประโยค ๒  อันเป็นวิชาสูงสุดในโรงเรียนสมัยนั้น  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑
และได้รับพระราชทานรางวัลพิเศษเพราะสอบวิชาได้ดีกว่านักเรียนคนอื่นในปีเดียวกันนั้นด้วย
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 23 มิ.ย. 11, 09:24

เมื่อพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ สำเร็จการเล่าเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบนั้น ตัวข้าพเจ้ามีหน้าที่รับราชการอยู่เป็นสองฝ่าย
ฝ่ายพลเรือนเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ ฝ่ายทหารเป็นนายพลตรี ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกในกรมยุทธนาธิการ
พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติหารือว่าจะเข้ารับราชการกรมไหนดี ข้าพเจ้าแนะนำให้สมัครเข้ารับราชการในกรมยุทธนาธิการ
ด้วยในเวลานั้นผู้ซึ่งจะทำการในกระบวนหนังสือได้อย่างเธอยังมีน้อยตัว เธอจึงเข้ารับราชการในกรมยุทธนาธิการใน พ.ศ. ๒๔๓๑ นั้น
ได้มีตำแหน่งเป็นชั้นเสมียนฝึกหัดราชการในกรมปลัดทัพบกก่อน เมื่อชำนาญการในหน้าที่แล้ว ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรทหาร
มียศเป็นนายร้อยตรี ต่อมาได้เป็นตำแหน่งเลขานุการของข้าพเจ้าเมื่อเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
แต่อยู่ด้วยกันในกรมยุทธนาธิการเพียง ๒ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๓๓ ตัวข้าพเจ้าต้องย้ายตำแหน่งขาดจากราชการฝ่ายทหาร
มาเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการซึ่งเทียบที่ว่าจะเป็นกระทรวงเสนาบดีต่อไป ส่วนพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติคงรับราชการ
ในกรมยุทธนาธิการ ต่อมาเธอได้เลื่อนยศขึ้นเป็นนายร้อยเอก และได้เป็นตำแหน่งนายเวรใหญ่ในกรมปลัดทัพบก
รับราชการมาจน พ.ศ. ๒๔๓๔ พระชันษาครบอุปสมบท ทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วไปอยู่วัดบรมนิวาส
ศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักพระพรหมมุนี (เหมือน) พรรษา ๑ แล้วจึงลาผนวช

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อโปรดฯ ให้แก้ไขระเบียบสภาเสนาบดี ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ข้าพเจ้าย้ายจากกระทรวงธรรมการ
ไปเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทางกรมยุทธนาธิการก็มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในคราวนั้น
พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติมาแจ้งแก่ข้าพเจ้าว่าเธอถูกย้ายไปเป็นตำแหน่งมีหน้าที่ทำการซึ่งเธอไม่ถนัด เกรงจะไม่พ้นความผิดในวันหน้า
ในเวลานั้นข้าพเจ้าก็กำลังหาคนรับราชการในกระทรวงมหาดไทย จึงได้กราบบงคมทูลขอพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติย้าย
จากกรมยุทธนาธิการมารับราชการในกระทรวงมหาดไทย มารับราชการอยู่ด้วยกันกับข้าพเจ้าในตอนนี้อีก ๑๗ ปี
เธอรับราชการในตำแหน่งต่างๆ และเลื่อนขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่เป็นปลัดกรม เป็นปลัดบัญชี จนถึงเป็นเจ้ากรม
ตำแหน่งเลขานุการของเสนาบดี และได้ทำความชอบถึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นบำเหน็จหลายครั้ง
ตั้งแต่ชั้นต่ำขึ้นมา คือได้รับพระราชทานเบญจมาภรณ์ช้างเผือก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ จตุรถาภรณ์มงกุฎสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐
จตุรถาภรณ์ช้างเผือก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓

พระอุปนิสัยของพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ ซึ่งทรงนิยมวิชาวรรณคดีมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนนั้น
ในเวลาเมื่อออกจากโรงเรียนมารับราชการอยู่ในกรมยุทธนาธิการก็ดี อยู่ในกระทรวง มหาดไทยก็ดี เธอไม่ทิ้ง
ยังพยายามศึกษาต่อมาเป็นนิจ มีความสามารถในทางวรรณคดีขึ้นมาโดยลำดับ  แต่พึ่งปรากฏแก่คนทั้งหลายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖
ด้วยในปีนั้น  กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณประกาศจะให้รางวัลการแต่งโคลงตามกระทู้ของหอพระสมุดฯ ประกวดกัน
พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติแต่งโคลงกระทู้ส่งเข้าประกวดชนะผู้อื่นเนืองๆ โคลงเหล่านี้ได้พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ
ใครอ่านก็ออกปากชมว่าสำนวนหลักแหลม
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 23 มิ.ย. 11, 09:27

ข้าพเจ้าได้คัดของกระทู้ของพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ มาพิมพ์ไว้ในนี้บางพอให้เห็นเป็นตัวอย่าง

ได้รางวัลที่ ๑
   ๏ ตู   ยลเต่าใหญ่ล้ำ   ริมหนอง
ตี   กระหน่ำซ้ำกระบอง      กดไว้
เต่า   กะเดือกเสือกกระดอง      กแค่วกแด่ว ดิ้นนา
ตาย   ฉิบตูฉวยได้         รีบด้นดลเรือน ฯ

ได้รางวัลที่ ๑
   ๏ โก   ธะผิวเกิดขึ้น      แก่คน ไข้นา
โร   คะอาจอวยผล      เพิ่มให้
โก   ธะเกิดโกมล         ติดมละ เสียแล
โส   มนัสเสพยาไว้      โรคนั้นพลันหาย ฯ

ได้รางวัลที่ ๑
   ๏ อิ   สตรีบุรุษแม้      ลุกลน
หลุก   หลิกกิริยาคน      อีกถ้อย
ขลุก   ขลักมักถูกคน      เขาค่อน ขอดนา
ขลุ่ย   ว่าดังยังน้อย      กว่าน้ำคำฉิน ฯ

ได้รางวัลที่ ๒
   ๏ อิ   ตอเหมาะอ้อจบแล้ว   มัทรี
หลุก   หลิกเหล่าสตรี      กราบไหว้
ขลุก   ขลักพวกดีดสี      ประสานเครื่อง ใหญ่นา
ขลุ่ย   ตอดสอดเสียงไห้      โอดแล้วเลยทยอย ฯ

ได้รางวัลที่ ๑
   ๏ พา    หนะพฤษภไส้   สยมทรง
โล   เกศครรไลหงส์      ระเห็จฟ้า
โส   ภิตกฤษณ์ธำรง      วรพ่าห์ สุบรรณเฮย
เก   วละเทพถ้วนหน้า      ห่อนล้ำสามเธอ ฯ

ได้รางวัลที่ ๒
   ๏ พา   ละถึงจะเลี้ยง   เพียงใด ก็ดี
โล   ภะทุจริตใจ         ไป่ร้าง
โส   นัขอดเสพไฉน      โสโครก
เก   จิอาจารย์จ้าง      เปรียบด้วยพาลชน ฯ

ได้รางวัลที่ ๑
   ๏ อยู่    ถือไม้เท้ายอด   ทองเทียว นะพ่อ
มั่น   พละแข็งแรงเจียว      พ่อเจ้า
ขวัญ   พ่ออย่าพึงเปรียว      ปล่อยปละ พ่อนา
ยืน   ชีพยืนสุขเช้า      ค่ำยั้งยืนนาน ฯ

ได้รางวัลที่ ๒
   ๏ นะ   ฤมลนฤมิตห้าม   ทัพพระ ไวยแฮ
รก   แอบแยบคายอะ-      มนุษย์แกล้ว
จก   จกอัสสุปิยะ         บุตรหลั่ง ไหลเอย
เปรต   แม่แปรเพศแล้ว      หลบหน้าเลยหนี ฯ

ได้รางวัลที่ ๒
   ๏ ทึก   เอาเปล่าเปล่าแท้   ท่านยาย
ทัก   ว่าเขาคมคาย      ก็ขึ้ง
ตึง   ตังคลั่งใหญ่หมาย      มั่นว่า รักแล
ตัง   กระแทกตัวทิ้ง      หยอกข้าขาเขียว ฯ
บันทึกการเข้า
samson
อสุรผัด
*
ตอบ: 18



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 23 มิ.ย. 11, 09:54

ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลมากเลยครับ ไม่ทราบว่ามีประวัติของครอบครัวท่าน แล้วก็รูปภาพต่างๆของท่านหลงเหลืออยู่บ้างมั้ยครับ แล้วเรื่องที่ท่านทำงานด้านบรรณาธิการล่ะครับ จำได้ว่าเคยเห็นชื่อของท่านว่าเป็นบรรณาธิการพระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้าน (ถ้าจำไม่ผิดนะครับ)  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 23 มิ.ย. 11, 17:22

ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลมากเลยครับ ไม่ทราบว่ามีประวัติของครอบครัวท่าน แล้วก็รูปภาพต่างๆของท่านหลงเหลืออยู่บ้างมั้ยครับ แล้วเรื่องที่ท่านทำงานด้านบรรณาธิการล่ะครับ จำได้ว่าเคยเห็นชื่อของท่านว่าเป็นบรรณาธิการพระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้าน (ถ้าจำไม่ผิดนะครับ)  ยิงฟันยิ้ม

มิเป็นไรครับผม

มีข้อมูลที่ต้องการอยู่ในมือ ก็ย่อมแบ่งปันกันไป ยิงฟันยิ้ม


เรื่องรูปนั้น คุณ samson คงต้องวานให้คุณหนุ่มสยามช่วยเหลือแล้วกระมั้งครับ

รายนั้นเป็นนายพระคลังรูปภาพรูปถ่ายแห่งเรือนไทย  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 23 มิ.ย. 11, 17:26

การแต่งโคลงกระทู้เหล่านี้ เป็นมูลเหตุให้เปลี่ยนกระแสในเรื่องพระประวัติของพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติในสมัยต่อมา
เพราะเริ่มปรากฏว่าเธอทรงคุณวิเศษในทางวรรณคดีรู้กันแพร่หลาย ในไม่ช้าก็ได้รับเชิญให้เป็นกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ
ตำแหน่งผู้ช่วยสารานิยกร อันมีหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วชิรญาณ ส่วนทางมหาดไทยเมื่อเริ่มพิมพ์หนังสือเทศาภิบาล
ข้าพเจ้าก็ขอให้เธอเป็นบรรณาธิการ การเหล่านี้ถูกพระอัธยาศัยของเธอ ทำได้ดีด้วยความละเอียดลออ
และรู้จักทักท้วงที่ผิดพลาดจะหาตัวสู้เธอได้โดยยาก ต่อมามีการเกิดประกอบอุดหนุนคุณวิเศษของเธอเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙
ด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดฯ ให้ตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร  และทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อยังเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เป็นสภานายก และตัวข้าพเจ้าได้เป็นตำแหน่งกรรมการประจำหอพระสมุดฯ ด้วย
พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติช่วยข้าพเจ้าทำการหอพระสมุดฯ ได้โอกาสเฝ้าแหนคุ้นเคยจนเป็นที่ชอบพระราชอัธยาศัย
ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่ครั้งนั้น ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๕๐ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดหนังสือ
“จดหมายเหตุความทรงจำ” ซึ่งข้าพเจ้าได้มาทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงพระราชนิพนธ์พระราชวิจารณ์จดหมายเหตุนั้น
แล้วดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้าจัดการพิมพ์ ข้าพเจ้าให้พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติเป็นบรรณาธิการ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
ได้ทอดพระเนตรเห็นการที่เธอทำก็ทรงสรรเสริญความสามารถ แต่นั้นเธอจึงได้เป็นบรรณาธิการพระราชนิพนธ์ซึ่งโปรดฯ
ให้พิมพ์ต่อมา เช่นเรื่อง “ไกลบ้าน” เป็นต้น ถึงชั้นนี้มีพระราชดำรัสและพระราชัตถเลขาตรงถึงเธอเนืองๆ

ได้คัดสำเนาพระราชหัตถเลขาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทาน พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติฉบับหนึ่ง ในเรื่องที่โปรดฯ
ให้เธอเป็นบรรณาธิการพระราชนิพนธ์เรื่องวัดราชาธิวาส ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ มาพิมพ์ไว้ในนี้พอให้เห็นว่าทรงพระเมตตากรุณาเธออย่างไร

 
                        สวนดุสิต
                  วันที่ ๗ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗
ถึงกัลยา

แกตกใจได้เป็นนักเป็นหนา อยู่ในยกที่ ๕ แก้นิดเดียว ข้อที่ทำให้ต้องแก้นั้น เพราะฉันไปดูพงศาวดารพิสดาร
ซึ่งผิดขาดแผ่นดินสมเด็จพระอินทราชาไปทั้งแผ่นดิน เขาเอาเข้าไปรวมไว้กับแผ่นดินพระบรมไตรโลกนารถ นึกไปนึกมาก็เฉลียวใจขึ้นมาเอง
เปิดพงศาวดารย่อดูจึงได้เห็น เห็นว่านิดหน่อยจึงบอกไปให้แก้เอง

บัดนี้ได้ตรวจแล้วเสร็จตลอด ขอชมว่าตรวจดีจริงๆ พิมพ์ก็เร็วเหลือเกิน
                        สยามินทร์
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 23 มิ.ย. 11, 17:28

พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติจึงได้เป็นผู้ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงชอบพระราชอัธยาศัย และเคยได้รับพระราชทานพระมหากรุณา
โดยเฉพาะพระองค์ จะยกอุทาหรณ์ดังเช่นทรงทราบว่าเธออัตคัดขัดสนก็ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานบ้านหลวงแห่งหนึ่ง
เรียกมีเหย้าเรือนพร้อมให้เป็นวังของเธอ ได้อยู่ในที่นั้นมาจนตลอดพระชนมายุ

เธอได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริยาภรณ์ช้างเผือก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ดูเหมือนจะเป็นบำเหน็จครั้งสุดท้าย
ที่ได้รับพระราชทานในรัชกาลที่ ๕

ถึงรัชกาลที่ ๖   เมื่อจะทำการพระราชพิธีฉัตรมงคลครั้งแรก   มีกิจที่จะต้องแต่งคำฉันท์ให้พราหมณ์อ่านสดุดีสังเวยสำหรับรัชกาลใหม่
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการเรื่องแต่งฉันท์นั้น  จึงได้เลือกกวีซึ่งมีชื่อเสียงปรากฏขึ้นชั้นหลัง ๔ คน
ให้แต่งถวายคนละลา  พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติได้รับเลือกให้แต่งลาที่ ๒ ว่าด้วยขอพรเทวดา  เธอแต่งดีปรากฏความสามารถ
ในการแต่งคำฉันท์ยังชมกันอยู่จนทุกวันนี้ ข้าพเจ้าได้คัดคำฉันท์สดุดีสังเวยลาที่ ๒ มาพิมพ์ไว้ด้วยในที่นี้

          อ้าท้าวเถลิงบวรพา-      หะมหาพิหคหงส์
      ศักดิ์สิทธิ์มหิศรธำรง         วรเวทวิเศษชาญ
         ๏ เชิญองค์พระจงกรุณจิต   ทนุนิติศาสตร์สาร
      ทั้งราชธรรมอุปการ         จิรกาละถาวร
         ๏ อ้าไทผทมกษิรสิน      ธวถิ่นชโลทร
      เลี้ยงหล้าคณานรนิกร         สกลโลกธเอาธูร
         ๏ เชิญเทพพิทักษ์บรมนาถ   มกุฏราชนเรสูร
      พร้อมพงศ์พระขัตติยประยูร      สุขโสตถิสำราญ
         ๏ อ้าองค์พระทรงอุสุภราช   สุรกาจกำแหงหาญ
      เดโชชโยตมรำบาญ         ปรปักษ์ปราชัย
         ๏ สรวมเดชเผด็จคณอมิตร   ทุฐจิตจะจองภัย
      อัพภันตร์และพาหิรประลัย      พลพ่ายพระบารมี
         ๏ อนึ่งโสดคเณศรบพิตร      วรสิทธิศักดิ์ศรี
      เป็นมหาสวามิศบดี         ศรศิลปาคม
         ๏ ขอท้าวธดลจิตชนา      ธิอุสาหส่ำสม
      สิ่งสรรพวิทยนิยม         นิจยิ่งเจริญเรือง
         ๏ อ้าเทวรักษ์บุรฦา      ฤทธิคือพระเสื้อเมือง
      จงมีมนานุเคราะหเนือง         นิลเอื้ออำรุงพล
         ๏ เสนาพลากรทหาร      ณสถานสถลชล
      ให้เหิมกำแหงพหลรณ         อริพ่ายกระจายหนี
         ๏ อ้าองค์พระทรงนครขัณ-   ฑอนันต์อำนาจมี
      จงรักษ์ข้าบทธุลี         ธุระการกระทรวงปวง
         ๏ ให้ปองสนองพระคุณโดย   วิริเยศใหญ่หลวง
      มั่นมุ่งผดุงกิจทบวง         บริบูรณ์จรูญเรือง
         ๏ อ้าเทวก้องกิติระบือ      ยศคือพระหลักเมือง
      เชิญไทยธใฝ่มนะชำเลือง      ทิพเนตรเอาภาร
         ๏ ในบทและกฎพระธรรมนูญ   อนุกูลตุลาการ
      เที่ยงตรงธำรงยุติพิจารณ์         คดีต้องณคลองธรรม์
         ๏ อ้าองค์บพิตรอิศรนาม      พระสยามเทวัญ
      เดชานุภาพอภิมหัน-         ตมหิทธิเกรียงไกร
         ๏ สรวมทรงจำนงนมสรัก-   ษพิทักษ์ไผทไทย
      ให้พูนพิพัฒน์พิธีไพ-         บุลภาพภิญโญทวี
         ๏ ไพร่ฟ้าประชากรเกษม      สุขเปรมกมลปรีดิ์
      นาไร่เจริญอุดมดี         อดิเรกะธัญญา
         ๏ พูนสรรพโภคพิพิธภัณ-   ฑมหันต์มโหฬาร
      โสวรรณหิรัญญรตนา         ธิเอนกอนันต์นอง
         ๏ สรวมเดชสุโรรสประสิทธิ   พรสิทธิสมปอง
      สรวมทรงประสิทธิกิจผอง      ศุภสิทธิสมบูรณ์ ฯ
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 23 มิ.ย. 11, 17:32

ถึง พ.ศ. ๒๔๕๓ ตำแหน่งเลขานุการในกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครว่างลง กรมพระสมมตอมรพันธุ์
ซึ่งได้ทรงเป็นกรรมการมาพร้อมกับข้าพเจ้า และได้เลื่อนขึ้นเป็นสภานายกหอพระสมุดฯ แทนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงปรารภแก่ข้าพเจ้าว่า เมื่อแรกตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร กรรมการอนุโลมเอาบรรณารักษ์คนเก่าของหอพระสมุดวชิรญาณ
ตั้งเป็นเลขานุการ ทำการไม่เรียบร้อยจนต้องเปลี่ยน ผู้ซึ่งจะเป็นเลขานุการใหม่ ควรจะเลือกหาผู้ซึ่งคุณวิเศษให้สมกับตำแหน่งจริงๆ
ทรงพระดำริเห็นว่าถ้าได้พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติย้ายไปเป็นตำแหน่งเลขานุการจะเหมาะยิ่งกว่าผู้อื่น แต่เธอมีตำแหน่งรับราชการ
ในกระทรวงมหาดไทย ข้าพเจ้าจะยอมให้ย้ายมาได้หรือไม่ ข้าพเจ้าคิดใคร่ครวญดู เห็นว่าพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติรับราชการมหาดไทย
ขึ้นถึงชั้นสูงสุดความสามารถของเธออยู่แล้ว อยู่ในมหาดไทยต่อไปก็เห็นจะไม่ได้เลื่อนเป็นตำแหน่งสูงยิ่งขึ้นไปถึงเป็นสมุหเทศาภิบาล
หรือเป็นปลัดทูลฉลอง เพราะเธอไม่ได้ศึกษาภาษาต่างประเทศ และไม่มีอุปนิสัยในการเมือง คุณวิเศษของเธออยู่ในทางวรรณคดี
ดังกรมพระสมมตฯ ทรงพระดำริ ข้าพเจ้าจึงถวายอนุมัติ ท่านก็กราบบังคมทูลฯ ขอพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติมาเป็นตำแหน่ง
เลขานุการของกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครใน พ.ศ. ๒๔๕๓   นั้น ได้เป็นผู้ดูแลบังคับบัญชาการในหอพระสมุดสำหรับพระนคร
ตั้งแต่ยังตั้งอยู่ที่ตึกอันเป็นศาลาหทัยสมาคมบัดนี้ และย้ายออกมาอยู่ที่ตึกใหญ่หน้าวัดมหาธาตุต่อมา ตลอดเวลา ๑๔ ปี

พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติได้ทรงทำการหอพระสมุดฯ ให้เกิดประโยชน์หลายอย่าง ยกมากล่าวแต่ที่สำคัญ คือในการซึ่งหอพระสมุดฯ
พิมพ์หนังสือเรื่องต่างๆ ให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง เธอได้เป็นผู้ตรวจชำระต้นฉบับและจัดการพิมพ์ถึง ๕๐๙ เรื่อง
และได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยเนืองๆ ได้รับพระราชทานบำเหน็จ
รางวัลความชอบในรัชกาลที่ ๖ ก็หลายครั้ง   คือได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๓   แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานพระสุพรรณบัฎสถาปนาขึ้นเป็นต่างกรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ เนื้อความในประกาศพระบรมราชโองการฯ ทรงยกย่องความชอบความดี ดังนี้

“พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ มีความรู้ในวิชาสยามไวยากรณ์โดยชำนิชำนาญ ได้ทรงรับราชการมา..........ในกรมยุทธนาธิการ
เมื่อพระพุทธศักราช ๒๔๓๑............
ครั้นพระพุทธศักราช ๒๔๓๕ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมารับราชการกระทรวงมหาดไทย................จนถึงพระพุทธศักราช ๒๔๕๓
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมารับราชการในตำแหน่งเลขานุการหอพระสมุดวชิรญาณ คงรับราชการอยู่ในตำแหน่งจนทุกวันนี้
อนึ่ง ทรงรำพึงถึงกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ซึ่งเป็นพระบิดาแห่งพระองค์เจ้ากัลยาณประวัตินั้น เป็นผู้ที่ได้ซึ่งทรงคุ้นเคยมาแต่ทรงพระเยาว์
ก็ย่อมทำให้ทรงพระเมตตาแด่พระโอรสทรงกรมพระราชวังพระองค์นั้นอยู่ ทั้งมาทรงรำพึงดูถึงความชอบแห่งพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติเอง
ซึ่งได้รับราชการมาโดยเรียบร้อยเป็นหลายตำแหน่งดังแสดงมาแล้ว และในสมัยนี้ก็นับว่าเป็นจินตกวีผู้มีโวหารพิเศษ สมควรจะทรง
พระกรุณายกย่องขึ้นไว้ให้เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายพระราชวังบวรฯ เชิดชูพระเกียรติยศกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระองค์หนึ่งได้
จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณ-ประวัติ ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม
มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา พยัคฆนาม ทรงศักดินา ๑๑๐๐๐
ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระราชวังบวร.............”
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 23 มิ.ย. 11, 17:36

เนื่องในการตั้งกรมนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพานทองเครื่องยศกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าเจ้าวิเศษ
และพระราชทานเงินพระคลังข้างที่เป็นส่วนพระองค์ช่วยกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา สำหรับจะได้สร้างต้นไม้เงินทองของถวาย
และแจกจ่ายเจ้าพนักงานด้วยเป็นพิเศษ โดยทรงทราบว่าเธอขัดสน เมื่อเป็นกรมแล้วได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบในสมัยต่อมา
คือได้เป็นองคมนตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้เป็นมหาอำมาตย์ตรี และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎสยาม
กับเหรียญดุษฎีเข็มศิลปวิทยา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้วได้มียศเป็นนายกองตรีเสือป่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐

เรื่องพระประวัติของกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชาอันเป็นฝ่ายวัฒนะดูเหมือนจะถึงที่สุดใน พ.ศ. ๒๔๖๒ หรือ ๒๔๖๓ แต่นั้นมาก็เป็นฝ่ายหายนะ
ด้วยเธอเริ่มประชวรเป็นโรคเส้นประสาทพิการ ทำให้มักหลงลืมและมึนตึงไม่เฉียบแหลมในทางวรรณคดีเหมือนแต่ก่อน
แต่อาการโรคค่อยเป็นทีละน้อยค่อยทรุดโทรมลงโดยลำดับ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ อาการโรคของเธอหนักขึ้นพ้นวิสัยที่จะทำการงาน
หรือเยียวยาแก้ไขให้คืนดีได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา
ออกจากตำแหน่งเลขานุการหอพระสมุดฯ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยบำนาญต่อมาจนตลอดพระชนมายุ

กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชาได้ทรงรับราชการอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ๔ ปี อยู่ในกระทรวงมหาดไทย ๑๗ ปี และมารับราชการในหอพระสมุด
สำหรับพระนครอยู่อีก ๑๔ ปี รวมเวลาที่เธอได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณ ๓๕ ปี ใน ๓๕ ปีนี้เธอรับราชการอยู่ต่างห่างจากข้าพเจ้าเพียง ๒ ปี
นอกจากนั้นได้ร่วมราชการอยู่ด้วยกันมาถึง ๓๓ ปี จึงได้รักใคร่คุ้นเคยกันสนิทสนมทั้งสองฝ่าย เมื่อเธอออกจากตำแหน่งประจำการ
ไปแล้วเวลามีโอกาสที่เจ้านายเข้าเฝ้าแหน เธอก็อุตส่าห์เสด็จไปมิได้ขาด ด้วยถือคติความภักดีมั่นคง แม้นในเวลาเมื่ออาการโรคของเธอ
หนักขึ้นจนทุพลภาพมากแล้ว เจ้านายพี่น้องแม้จนตัวข้าพเจ้าเองได้วิงวอนห้ามปรามอย่าได้เข้าเฝ้าแหน เธอก็ไม่ยอมละกิจวัตร
จนใครเห็นก็ปรารภสงสาร แต่ก็ต้องชมความกตัญญูของเธอด้วยกันทุกคน เธอประชวรมาช้านาน ในชั้นหลังไม่สามารถไปไหนได้
อาการหนักลงโดยลำดับ ถึงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ สิ้นพระชนม์ คำนวณพระชันษาได้ ๕๖ ปี

                                                                                   ดำรงราชานุภาพ
                                                                 นายกราชบัณฑิตยสภา วันที่ ๒๘ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๗๑

(คัดจาก - อลินจิตคำฉันท์ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๗๑)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 23 มิ.ย. 11, 17:46

ขอบคุณคุณ arts47 ที่คัดพระประวัติซึ่งหาอ่านได้ยากมาให้เรือนไทย

อ้างถึง
ด้วยเธอเริ่มประชวรเป็นโรคเส้นประสาทพิการ ทำให้มักหลงลืมและมึนตึงไม่เฉียบแหลมในทางวรรณคดีเหมือนแต่ก่อน
แต่อาการโรคค่อยเป็นทีละน้อยค่อยทรุดโทรมลงโดยลำดับ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ อาการโรคของเธอหนักขึ้นพ้นวิสัยที่จะทำการงาน

สงสัยว่าโรคเส้นประสาทพิการตามอาการนี้คืออะไร อัลไซเมอร์หรือคะ
แต่สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาแค่ 56  ปี   แล้วประชวรมายาวนานด้วย   ไม่น่าจะใช่อัลไซเมอร์
บันทึกการเข้า
samson
อสุรผัด
*
ตอบ: 18



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 23 มิ.ย. 11, 18:27

ค้นเจอรูปท่านมาหนึ่งรูปครับ คิดว่าน่าจะใช่นะครับ
ยังไงต้องขอขอบคุณ คุณ art มาอีกครั้ง


บันทึกการเข้า
tongtham
มัจฉานุ
**
ตอบ: 50


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 25 มิ.ย. 11, 20:49

กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา
            บุคคลสำคัญผู้ชำระวรรณคดี
               งานด้านชำระหนังสือโบราณ แล้วจัดพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ห้านั้น    สังคมมักยกย่องสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ   ส่วนบุคคลสำคัญในการชำระ ตรวจสอบ เป็นบรรณาธิการอีกพระอิงค์หนึ่งนั้น  สังคมไทยยังไม่ค่อยทราบกัน                  บุคคลสำคัญท่านนั้นคือ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา   
               กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  พระนามเดิมว่า   พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายกัลยาณประวัติ (พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๗๐)  พระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ   ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเลี่ยมใหญ่ ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ในรัชกาลที่ ๖ ทรงเป็นต้นสกุล “กัลยาณะวงศ์” 
         พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  ทรงพระปรีชาด้านวรรณคดีเพราะทรงได้รับการศึกษาภาษาไทยตามแบบเก่า  ประกอบกับเคยทรงพระนิพนธ์โคลงกลอนอยู่เสมอ  เคยทรงได้รับรางวัลที่ ๑ ในการแต่งโคลงกระทู้ประกวดของหนังสือวชิรญาณหลายครั้ง  ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็ได้ทรงพระนิพนธ์คำฉํนท์สดุดีสังเวยในพระราชพิธีฉัตรมงคล ลาที่ ๒
          พระองค์ได้รับเลือกให้เป็น “เลขานุการหอพระสมุดวชิรญาณ    รัชกาลที่ ๖ มีพระราชประสงค์ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ หาคนมาเป็นเลขานุการคนใหม่ที่มีคุณสมบัติสมตำแหน่งจริงๆ   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  มาเป็นเลขานุการด้วยทรงรู้จักและเคยทรงใช้พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  เป็นเลขานุการในสมัยที่ทรงรับราชการที่กระทรวงมหาดไทยมาแต่ต้น  พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  ได้ทรงเป็นเลขานุการหอพระสมุดฯ เป็นเวลา ๑๔ ปี ได้ทรงตรวจชำระต้นฉบับและทรงจัดการพิมพ์หนังสือมากถึง ๕๐๙ เรื่อง   เรื่องสำคัญก็คือเสภาขุนช้างขุนแผน  รามเกียรติ์  เป็นต้น
         นอกจากตำแหน่งในหอพระสมุด    ทรงเป็นบรรณาธิการคนแรกของหนังสือเทศาภิบาล     บรรณาธิการหนังสือพิมพ์วชิรญาณ,หนังสือเทศาภิบาล,บรรณาธิการจดหมายเหตุความทรงจำ, ไกลบ้าน  และ วัดราชาธิวาส
    พระนิพนธ์ที่สำคัญคือหนังสืออลินจิตต์คำฉันท์,คำฉันท์สดุดีสังเวยพระราชพิธีฉัตรมงคล, มหาชาติคำฉันท์ และโคลงกระทู้ที่ได้รางวัล


 
 

 
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.047 วินาที กับ 19 คำสั่ง