เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4685 อยากทราบประวัติของ พระเยาวราช ขุนพรมมนตรี ขุนกวีราช ขุนสารประเสริฐ
chatchawan
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


 เมื่อ 18 มิ.ย. 11, 18:19

ที่แต่งหนังสือ โคลงทวาทศมาส  ครับ
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 20 มิ.ย. 11, 11:29

พระเยาวราช ขุนพรมมนตรี ขุนกวีราช ขุนสารประเสริฐ น่าจะอยู่ร่วมสมัยอยุธยา เพราะว่าเป็นผู้ร่วมกันแต่ง โครงทวาทศมาส
ทวาทศมาส แปลว่า สิบสองเดือน เป็นวรรณกรรมไทยสมัยอยุธยา แต่งด้วยโคลงดั้นวิวิธมาลี ทำนองนิราศความพิศวาสเป็นอย่างเอกเรื่องหนึ่ง เข้าใจว่าจะมีหลายท่านนิพนธ์ อาทิ พระเยาวราช ขุนพรหมมนตรี ขุนศรีกวีราช ขุนสารประเสริฐ เป็นต้น (บางตำราว่ามีเท่านี้ บางตำราว่ามากกว่านี้ แต่ในนิราศนรินทร์กลับว่า "สามเทวษ ถวิลแฮ" ซึ่งแปลว่า "มีสามท่าน")

ที่ว่าประดิษฐการใหม่ของวงการ อยู่ที่โคลงพรรณนาความอาลัยรัก ซึ่งใช้ฤดูกาลเป็นพื้นฐานแห่งการพัฒนา เช่น เมื่อถึงเดือนแปดก็กล่าวถึงวันเข้าพรรษา กวีจะแต่งถึงการทำบุญ แต่มิวายจิตใจหวนระลึกถึงนางอันเป็นที่รัก

(ต่อจากนี้เป็นข้อความในหนังสือประวัติวรรณคดีไทย ของเปลื้อง ณ นคร)
๏ กรจบบทมาศไท้       ธาศรี ศากยแฮ
หัตถ์บังคมฟูมไนย       เลือดย้อย
บวงสรวงสุมาลี       นานไฝ่ สมแฮ
เดือนใฝ่หาละห้อย       ใฝ่หา ฯ
๏ รายนุชเป็นเนตรล้า       เป็นองค พี่แม่
จับจึงมาข่มเข็ญ       ขึ้นไส้
รลวงพิไลจง       จักแม่ ดยวแม่
เดือนแปดแปดยามไห้       ร่ำโหย ฯ

ในการนิพนธ์นั้น เริ่มด้วยการไหว้พระพรหม พระนารายณ์ เทพยดา พระมหากษัตริย์ แล้วเริ่มกล่าวถึงนางที่รัก อันต้องจากไกล แล้วพรรณนาอาลัย ตั้งแต่เดือน 5 เป็นลำดับไป การพรรณนารักนั้นเคล้าไปกับอากาศธาตุและเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเกิดขึ้นในเดือนนั้น ๆ เมื่อครบสิบสองเดือนแล้วจึงพรรณนาพระเกียรติยศ กล่าวถวายพระพรและแสดงความมุ่งหมายในการนิพนธ์

กระบวนการพรรณนาอาลัยรักนับว่าสูงทางกวีรส คือ กวีที่มีความนัยอันพิศวาศ ซึ่งเป็นแบบอย่างให้กวีรุ่นหลัง นำไปใช้

ด้านสำนวนโวหารมีความยอดเยี่ยม แม้จะมีถ้อยคำอันเป็นโบราณหลายคำ และ ภาษาอื่น เช่น เขมร บาลี สันสกฤต จึงยากที่จะเข้าใจได้อย่างถูกต้อง นอกจากจะสันนิษฐานเอา
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 21 มิ.ย. 11, 12:31

ถ้าเจ้าของกระทู้หมายความว่า ทั้งสี่ท่านนี้เป็นลูกเต้าเหล่าใคร   มีลูกหลานชื่ออะไร เกิดเมื่อใด  ตายเมื่อใด มีผลงานอะไรบ้างนอกเหนือจากทวาทศมาส   ก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่เคยเห็นข้อมูลเพิ่มจากในหนังสือทวาทศมาส
แต่มีบางท่านสันนิษฐานว่า พระเยาวราชในทวาทศมาสเป็นคนเดียวกับพระเยาวราชผู้แต่งลิลิตพระลอ   

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเกี่ยวกับลิลิตพระลอไว้ในหนังสือบันทึกสมาคมวรรณคดี ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2497 สรุปความดังนี้

"...ข้างท้ายลิลิตมีโคลงบอกชื่อผู้แต่งอยู่ 2 บท บทหนึ่งว่า "มหาราชเจ้านิพนธ์" หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่ง แต่อีกบทหนึ่งว่า "เยาวราชเจ้าบรรจง" หมายความว่าพระราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่ง ที่บอกแย้งกันดังนี้ ส่อให้เห็นว่าผู้ที่แต่งโคลง 2 บทนั้น เป็น 2 คน และไม่ใช่ตัวผู้แต่งลิลิตพระลอ โคลง 2 บท เป็นของแต่งเพิ่มขึ้นแต่ภายหลัง ส่วนผู้แต่งลิลิตเองได้กล่าวไว้ในโคลงบานแผนกข้างต้นเรื่องว่า "เกลากลอนกล่าวกลการ กลกล่อม ใจนา ถวายบำเรอท้าวไท้ ธิราชผู้มีบุญ" หมายความว่าผู้อื่นแต่งถวายพระเจ้าแผ่นดิน มิใช่พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งเอง

เหตุใดผู้แต่งโคลง 2 บทข้างท้ายลิลิตจึงอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินและพระเยาวราชทรงแต่ง จะลงเนื้อเห็นว่าอ้างโดยไม่มีมูล ก็กระไรอยู่ พิจารณาดูสำนวนที่แต่งก็เห็นได้ ผู้แต่งลิลิตพระลอเป็นผู้รู้ราชประเพณีและการเมือง ต้องเป็นบุคคลชั้นสูงอยู่ในราชสำนัก ประกอบทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญอักษรศาสตร์ ผู้ที่ทรงความสามารถถึงปานนั้นมักเป็นเจ้านาย จึงสันนิษฐานว่าผู้แต่งลิลิตพระลอนั้น เมื่อแต่งยังเป็นพระราชโอรส และต่อมาได้รับรัชทายาทเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

ปัญหาข้อที่ว่าหนังสือลิลิตพระลอแต่งเมื่อไร ข้อนี้ตัดสินได้ทันทีว่า แต่งก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะหนังสือจินดามณีที่พระโหราฯ แต่งในรัชกาลนั้น ได้คัดเอาโคลงลิลิตพระลอมาใช้เป็นแบบโคลง 4 เพราะเอกโทตรงตามตำราหมดทุกแห่ง ยังมีเค้าเงื่อนอย่างอื่นเป็นที่สังเกตอีกคือ หนังสือบทกลอนแต่งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนต้นนับแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมา ชอบแต่งลิลิตกันเป็นพื้น ในกรุงศรีอยุธยาตอนกลางและตอนปลายหาปรากฏว่าแต่งลิลิตเรื่องใดไม่

จึงเห็นว่าควรถือเป็นยุติได้ว่า ลิลิตเรื่องพระลอนั้นแต่งในกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวในระหว่าง พ.ศ.1991 จน พ.ศ.2026 ส่วนผู้แต่งนั้น จะว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดยากอยู่ ด้วยจะเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 หรือสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร พระองค์ใดพระองค์หนึ่งก็ได้ทั้งนั้น เป็นอันรู้ไม่ได้แน่"


แต่ถ้าจะถามว่าขุนนางทั้ง ๓ ท่านนี้สังกัดอยู่กรมกองอะไร   ดูจากราชทินนาม คุณ Art47 น่าจะเปิดทำเนียบพระไอยการนาพลเรือน ตรวจสอบดูได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
chatchawan
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 21 มิ.ย. 11, 17:41

ขอบคุณมากครับทุกท่านที่ให้คำตอบ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.046 วินาที กับ 19 คำสั่ง