ระหว่างรอคุณ han_bing กลับมาเล่าเรื่องต่อ ใคร่ขออนุญาตนำข้อมูลที่สืบค้นได้มาเสนอเป็นการคั่นเวลาซักเล็กน้อยครับ

โดยเริ่มต้นสืบค้นเรื่องที่มาของขนมจีบ ที่ว่ากันว่า..มีที่มาตั้งแต่ราชวงศ์หยวน
ด้วยความประหลาดใจ ว่า พวกมองโกลที่เข้ามาปกครองจีน
บรรพบุรุษมาจากที่แห้งแล้งกันดาร ไหงถึงได้มีเมนูขนมจีบในยุคนี้ได้?
ด้วยความที่ไม่ค่อยจะมีความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับประเทศจีนเท่าไรนัก ก็เลยแวะไปที่
วิกิพีเดียก่อนเป็นลำดับแรก
ได้ความว่า..
ราชวงศ์หยวน (พ.ศ. 1814 - 1911) คือหนึ่งในราชวงศ์ของจักรวรรดิจีน ก่อตั้งขึ้นเมื่อกุบไลข่านโค่นอำนาจราชวงศ์ซ้องลง แล้วเปิดศักราชชาวมองโกลครองประเทศจีน ตั้งกรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวง (สมัยนั้นชื่อว่า เมืองต้าตู) .....
ที่มา -
http://th.wikipedia.org/wiki/ราชวงศ์หยวน
เมื่อมีการปกครองต่อเนื่องยาวนานเกือบร้อยปี ก็คงมีการบันทึกอะไรเป็นหลักฐานเอาไว้จำนวนมากในยุคนี้
และค้นเพิ่มเติมอีกนิด ได้เจอข้อความสำคัญจากแหล่งที่พอจะอ้างอิงได้บ้าง
ก็คือ บทความอ่านออกอากาศจากสถานีวิทยุปักกิ่ง (China Radio International) เรื่อง
ขนมจีบร้านตูอีชู่ของปักกิ่งได้กล่าวถึงประวัติขนมจีบแบบสั้นๆ ว่ามีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ราว 700 ปี ในสมัยราชวงศ์หยวน
ถ้าหากเป็นความจริงดังว่า.. ขนมจีบมีประวัติยาวนานพอๆ กับลายสือไทยที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์เอาไว้ในปี พ.ศ.1826
เอ่อ.. หมายถึง หากพ่อขุนรามคำแหงได้เป็นผู้ประดิษฐ์ลายสือไทยจริงๆ นะครับ

ในบทความอ่านออกอากาศฯ ข้างต้น ก็ได้เล่าประวัติที่มาของร้านขนมจีบ "ตูอีชู่" เอาไว้น่าสนใจเช่นกัน
จะเล่าตัดตอนก็เกรงว่าจะไม่ได้อรรถรส เอาเป็นว่าขอยกมาให้อ่านทั้งบทความเลยก็แล้วกันครับ
...ผู้ก่อตั้งร้านอาหารตูอีชู่เป็นคนซันซี ตอนแรก ๆ ที่อพยพมายังปักกิ่ง เขาไปฝึกงานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง เนื่องจากเป็นคนขยันหมั่นเพียร ฝีมือทำอาหารของเขาดีขึ้นในเวลาไม่นาน จากนั้นเขาลาออกจากร้านอาหารแห่งนั้นและมาเปิดร้านอาหารเล็ก ๆ แห่งหนึ่งขึ้นเอง อาหารที่ขายนั้นส่วนใหญ่เป็นขนมต่าง ๆ เช่นขนมจีบ ซาลาเปาเนื้อวัวเป็นต้น ร้านอาหารของชาวซันซีคนนี้แม้แต่ชื่อร้านที่เป็นทางการก็ยังไม่มี เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เขาได้ดำเนินกิจการร้านอาหารมากว่า 10 ปีแล้ว แต่กิจการก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร คิดไปคิดมาจึงเข้าใจว่า แม้ว่าร้านอาหารของเขาจะตั้งอยู่ในสถานที่ที่เจริญมาก แต่แถวนี้มีร้านอาหารที่มีชื่อเสียงมากมาย ร้านเล็ก ๆ ของเขาจะไปแข่งกับร้านหรูหราได้อย่างไร แต่เขาก็ไม่ท้อถอย ทุกเช้า ร้านของเขาจะเปิดก่อนร้านอื่น จะปิดเป็นร้านสุดท้ายในตอนกลางคืนและต้อนรับลูกค้าด้วยความจริงใจ
ในวันสุกดิบของเทศกาลตรุษจีนในปีที่ 3 รัชสมัยเฉียนหลงราชวงศ์ชิง วันนั้นดึกมากแล้ว เจ้าของร้านชาวซันซีคนนั้นกำลังจะปิดร้าน มีลูกค้า 3 คนเดินเข้ามาในร้าน ดูท่าทางแล้ว 1 คนเป็นเจ้านาย อีก 2 คนเป็นผู้ติดตาม เจ้านายคนนั้นอายุประมาณ 30 แต่งตัวเรียบร้อยและมีบุคลิกที่สง่างาม เจ้าของร้านชาวซันซีจึงบริการลูกค้าอย่างระมัดระวัง เมื่อเจ้านายคนนี้รับประทานข้าวเสร็จแล้วก็ถามว่าร้านนี้ชื่ออะไร เจ้าของร้านตอบว่าร้านของตนเป็นร้านเล็ก ๆ จึงไม่ได้ตั้งชื่อ เจ้านายคนนั้นมองสภาพร้านแล้วกล่าวว่า ที่กรุงปักกิ่งก็มีร้านอาหารของเจ้าร้านเดียวที่ดึกมากแล้วยังเปืดอยู่ เรียกว่าร้านตูอีชู่แล้วกัน ท่านผู้ฟังครับ ตูหมายความว่ากรุง อีหมายความว่าหนึ่งเดียว ส่วนชู่แปลว่าแห่ง รวมความแล้วหมายความว่าร้านแห่งเดียวในกรุงปักกิ่ง เมื่อกล่าวเสร็จแล้วทั้ง 3 คนนั้นก็เดินออกจากร้านไป
ตอนแรก ๆ เจ้าของร้านคนนั้นไม่ได้สนใจเรื่องในคืนนั้น แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน มีขันทีกว่า 10 คนเข้ามาในร้านและได้มอบป้ายคำขวัญแก่เจ้าของร้าน ป้ายนั้นเขียนไว้ว่าตูอีชู่ เจ้าของร้านคนนั้นจึงเข้าใจทันทีว่า เจ้านายที่มารับประทานข้าวในตอนดึกนั้นคือจักรพรรดิเฉียนหลงนั่นเอง
เหตุการณ์นี้เป็นที่เล่าขานไปทั่วกรุงปักกิ่ง ผู้คนต่างเข้ามาชมป้ายคำขวัญที่จักรพรรดิทรงมอบให้ร้านอาหาร ธุรกิจของร้านอาหารตูอีชู่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เจ้าของร้านตูอีชู่ยังคลุมผ้าเหลืองซึ่งเป็นสีประจำจักรพรรดิให้กับเก้าอี้ที่พระองค์เคยประทับ...
ที่มา -
http://thai.cri.cn/1/2008/03/12/21@120325.htmมีรูปป้ายร้านและหน้าตาขนมจีบให้ชมด้วยครับ จีบได้งดงามดีแท้
