เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 2904 ขออนุญาตเรียนถาม ว่าด้วย "พระราชพงศาวดารกับการประกอบสร้าง" ครับ
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 10 มิ.ย. 11, 14:04

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกเรือนไทยทุกท่านครับ

   ภายหลังตั้งกระทู้เรื่องเกี่ยวกับนวนิยาย “ขุนศึก” ของท่านไม้ เมืองเดิม แหละ “ผู้ชนะสิบทิศ” ของท่านยาขอบ จบลง ผมก็ท่องโลกไซเบอร์เพื่อสืบค้นด้นดั้นหาพระราชพงศาวดารอ่าน แล้วก็ไปพบมหาลาภเข้า นั่นคือ พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม ที่ลิงค์นี้ครับ
http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1_%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88_%E0%B9%91-%E0%B9%93%E0%B9%97%E0%B9%90

   อ่านไปอ่านไปก็เช่นเคยครับ เกิดข้อสงสัยขึ้นมาตามประสาคนจุ้นจ้านอยู่มิสุข ทว่า ก่อนจะถึงคำถาม ขออนุญาตคัดบางตอนที่ผมอ่านแล้วฮือฮามาลงไว้สักช่วงนะครับ

“ขณะเมื่อผู้ถือหนังสือกลับไปถึงเมืองตองอูนั้น พระมหา เถรเสียมเพรียม เจ้าอธิการรู้ จึงเข้าไปหาพระยาตองอู แล้วถาม ว่า มหาบพิตรจะเอามอญไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง กรุงศรีอยุธยาหรือพระยาตองอูได้ฟังพระมหาเถรว่าก็สงสัยจึงถามว่า ไยพระผู้เป็นเจ้าจึงว่าดังนี้ พระมหาเถรจึงว่า อาตมภาพแจ้งว่า มหาบพิตรมีหนังสือถวายเครื่องบรรณาการไปอ่อนน้อมว่า ถ้าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจะยกมาตีเมืองหงสาวดีเมื่อใด มหาบพิตรจะยกไปโดยเสด็จงานพระราชสงคราม เพราะเหตุฉะนี้อาตมาภาพจึงว่า พระยาตองอูจึงตอบว่า (พระ) ผู้เป็นเจ้าไม่รู้หรือ ว่าสมเด็จพระนเรศวรบรมบพิตรเป็นเจ้า และสมเด็จพระเอกาทศรถสองพระองค์นี้ทรง ศักดานุภาพมาก ดุจหนึ่งพระสุริยเทเวศส่องโลก เมื่อเพลามัชฌันติกสมัย ศึกหงสาลงไปทำครั้งใด มีแต่แตกฉานยับเยินขึ้นมาทุก ครั้ง บัดนี้พระเจ้าหงสาวดีก็สิ้นเขี้ยวศึกสงครามอยู่แล้ว ๆ ได้ข่าวมาว่า ปลายปีก็จะยกทัพมาเอาเมืองหงสา ๆ เห็นไม่พ้นเงื้อมมือพระหัตถ์ท่าน แล้วเมืองมอญทั้งปวงก็ไปอ่อนน้อมสิ้น โยมเห็น เหตุดังนี้ จึงหนังสือถวายเครื่องบรรณาการไปอ่อนน้อมบ้าง
พระมหาเถรได้ฟังดังนั้น หัวร่อแล้วว่า อันพระนเรศวร สองคนพี่น้อง มีศักดานุภาพเข้มแข็งศึกสงครามนั้น อาตมภาพก็ แจ้งอยู่สิ้น ถึงจะมีชัยแก่ชาวหงสาก็แต่ในแว่นแคว้นขัณฑเสมากรุงพระมหานครศรีอยุธยา จะได้ล่วงเกินถึงแดนนี้ก็หามิได้ และอาตมภาพพิเคราะห์ดูลักษณะราศีมหาบพิตร ก็เห็นจะได้เป็นใหญ่ในรามัญประเทศอยู่ ไฉนน้ำพระทัยมหาบพิตรกับลักษณะจึงผิดกันหนัก อันลักษณะอย่างมหา บพิตรนี้ ในตำราว่าองอาจดุจ นิทานพระบรมโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกระแตอาจสามารถจะวิดน้ำในพระมหาสมุทรให้แห้ง มิดังนั้นจะมีมานะเหมือนนกน้อยอันบินแข็งกว่าพระยาครุฑข้ามมหาสาครชเลหลวงอันใหญ่ และน้ำพระทัยมหาบพิตรมาอ่อนดุจสตรี อันกลัวปีศาจหลอกหลอนนั้น ตำราของอาตมภาพนี้ผิดเสียแล้ว เห็นจะเอาไว้มิได้ จำจะทิ้งน้ำเผาไฟเสีย ว่าแล้วพระมหาเถรอำลา ลุกจะไป
พระยาตองอูยิ้มแล้วยกมืออาราธนาว่า พระผู้เป็นเจ้าอย่าเพ่อไปก่อน พระมหาเถรก็ทรุดนั่งลงดังเก่า พระยาตองอูจึ่งว่าอันตำราของ (พระ) ผู้เป็นเจ้าเห็นก็จะไม่ผิดกับใจของโยม แต่บัดนี้โยมยังอ่อนปัญ ญาความคิดอยู่ อุปมาดังบุรุษหลงอยู่ในถ้ำอันมืด ถ้าพระผู้เป็นเจ้าช่วยเอาแก้วมาส่องให้สว่างเห็นหนทางแล้ว ก็จะ เดินโดยทางได้สะดวก
พระมหาเถรจึ่งว่า การอันนี้ใช่กิจสมณะ แต่อาตมภาพเสียดายพระศาสนา กับเอ็นดูอาณาประชาราษฎรในรามัญประเทศทั้งปวง ก็จะช่วยทำนุบำรุงไปตามสติปัญญา และซึ่งมหาบพิตรว่า ยังอ่อนปัญญาความคิดอยู่นั้น จะคิดอย่างไรให้ว่าไปเถิด จะช่วยชี้แจงให้
พระยาตองอูได้ฟังดังนั้นดีใจ กราบนมัสการพระมหาเถรแล้วว่า โยมประมาณดูรี้พลเมืองหงสาวดี แต่ทว่ามากก็เหมือนน้อย ด้วยว่าไปเข้าอ่อนน้อมต่อกรุงพระนครศรีอยุธยามาก จะคิดอ่านให้กลับใจมาได้นั้นยากนัก
พระมหาเถรหัวร่อแล้วว่า การเพียงนี้จะยากอะไรมี แม้น จะแกงให้อร่อยหม้อหนึ่งเห็นจะยากกว่าอีก
พระยาตองอูจึ่งว่า ถ้าพระผู้เป็นเจ้าโปรดโยมให้ได้เป็นใหญ่ในรามัญประเทศสมคิดแล้วจะสนองพระคุณไปกว่าจะสิ้นชีวิต
พระมหาเถรยิ้มแล้วจึ่งว่า มหาบพิตรอย่าวิตกเลย อาตมภาพจะช่วย พระมหาเถรขยับมาให้ใกล้พระยาตองอูแล้วว่า มหาบพิตรก็เป็นพระราชนัดดาพระเจ้าหงสาวดี หัวเมืองทั้งปวงก็นับถือมากมายอยู่ จงมีหนังสือไปประกาศแก่หัวเมืองทั้งปวงว่า กรุง หงสาวดีเป็นราชธานีใหญ่แต่ครั้งพระเจ้าช้างเผือก มาตราบเท่าทุก วันนี้ ยังมิได้ไปเป็นเชลยแก่เมืองใด และครั้งนี้พระเจ้าแปรเสียที มา สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีเอาโทษ ถอดเสียจากที่ฐานาศักดิ์ เราได้ยินข่าวว่าหัวเมืองทั้งปวงพากันลอบใช้คนถือหนังสือ คุมเครื่อง ราชบรรณาการไปออกแก่กรุงพระมหานครศรีอยุธยา เราก็ยังไม่ เชื่อ จึ่งแสร้งแต่งคนถือหนังสือไปบ้าง หวังจะฟังกิจการให้แน่ก็ได้ความประจักษ์ว่า เมืองเมาะตะมะ และหัวเมืองทั้งปวงคิดกบฏ คนเหล่านี้หารักชีวิตและโคตรไม่หรือ ให้เร่งบอกมา เราจะเอาความกราบทูลสมเด็จพระเจ้าหงสา แล้วจะยกทัพไปจับฆ่าเสียให้ สิ้นโคตร ถ้าและหัวเมืองทั้งปวงรู้สึกว่าได้คิดผิดแล้ว จะคืนหาความชอบ ก็จะงดความไว้ครั้งหนึ่งก่อน แต่ทว่าให้คิดอ่านจับไทย กองทัพซึ่งมาตั้งอยู่เมืองเมาะลำเลิงส่งมาให้ได้บ้างจึ่งจะเห็นจริง ถ้ามหาบพิตรมีหนังสือไปดังนี้ ดีร้ายหัวเมืองทั้งปวงจะสะดุ้งตกใจกลัว ก็จะกลับใจคิดอ่านจับไทย ก็จะเกิดอริวิวาทกับไทย ทางไมตรีก็ จะขาดกัน เมื่อทัพพระเจ้ากรุงศรีอยุธยายกมา ก็จะได้เป็นรั้วขวากรั้วหนามกันให้ช้าลงไว้ ประการหนึ่งมหาบพิตรจะบำรุงช้างม้าเอาใจรี้พลไว้ให้รื่นเริง ถ้าได้ข่าวว่าทัพกรุงพระนครศรีอยุธยาล่วงแดนมาเมื่อใดแล้ว จงเร่งยกพลไปเมืองหงสาวดี ทำทีว่าจะช่วยงานพระราชสงครามให้ไว้ใจ แล้วเข้าปลอมปล้นเอาเมืองหงสาวดี เชิญสมเด็จพระเจ้าหงสาและกวาดครัวอพยพ ไพร่พลเมือง ข้าว ปลาอาหาร มาเมืองตองอูให้สิ้น ถึงมาตรว่าทัพพระนเรศวรจะยกติดตามมาถึงเมืองตองอูก็ดี เมื่อและเราตัดเสบียงอาหารเสียได้สิ้น แล้ว ก็จะเลิกทัพกลับไปเอง ถ้าศึกกลับไปแล้ว พระเจ้าหงสาวดี ก็จะอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ พระองค์ก็จะสิทธิ์ขาดขึ้นกว่าเก่าร้อยเท่าพันทวี จะคิดประการใดก็จะสำเร็จ และซึ่งอาตมภาพว่าทั้งนี้ มหาบพิตรจะเห็นผิดชอบประการใด
พระยาตองอูมีความยินดี กราบนมัสการแทบบาทพระมหาเถรแล้ว ๆ เล่า ๆ แล้วว่า พระผู้เป็นเจ้าคิดนี้ดังเทพยุดาเอาแหวนแก้วมาส่องให้สว่าง เห็นทั้งกลางวันกลางคืน พระคุณนั้นหาที่สุดมิได้
พระมหาเถรจึ่งว่า มหาบพิตรเร่งมีหนังสือไปเถิด ถ้าขัดสนไปภายหน้าจึ่งให้ไปบอก อาตมภาพจะช่วย แล้วพระมหาเถรก็ลาไปอาราม”

   หลายๆท่านคงพอจำได้นะครับ  ผมเคยตั้งคำถามไว้ในกระทู้ “ขุนศึก” ทำนองว่า บทสนทนาระหว่างพระมหาเถรเสียมเพรียมกับพระเจ้าตองอูนั้น ท่านไม้ เมืองเดิม ได้มาจากแหล่งใด บัดนี้ พอจะได้คำตอบด้วยตนเองแล้วครับ ว่าท่านผู้นิพนธ์อำมตะนิยายขุนศึกใช้พระราชพงศาวดารเป็นหลักในการดำเนินความ ประเด็นของผมก็คือ เรื่องราวทั้งชุดที่คัดมานี้เป็นเหตุการณ์ข้างพม่าเขา หากจะว่ากันตามความเป็นจริง ย่อมยากที่ชาวอโยธยาจะรู้ลึกถึงขนาด ใครพูดอะไรกับใคร อย่างไร กิริยาท่าทีเป็นไฉนบ้าง ถึงจะส่งอุปนิขิตเข้าไปสอดแนมถึงพระราชฐานชั้นในก็คงเก็บข้อมูลมาไม่ได้ชนิดละเอียดลออ ในเมื่อยุคนั้น ปราศจากเครื่องบันทึกเสียง ไร้อุปกรณ์บันทึกภาพ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์  ก็มิปรากฏกระบวนความชัดเจนอย่างนี้เลย พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเราต่อท้ายด้วยคำขยายว่า “ฉบับความพิสดาร” นั้น ชำระกันหลังเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้ว อนึ่ง พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมในส่วนที่เกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา ท่านคณาจารย์แห่งกรมศิลปากรตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่ามีเนื้อหาส่วนใหญ่ตรงกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน (เรียกพระราชพงศาวดารฉบับนี้ว่า “ฉบับพิมพ์สองเล่ม” ก็มี “ฉบับหมอบรัดเล” ก็มี) อันชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ก็แหละยุคดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้แปลแหละเรียบเรียงนิยายอิงพงศาวดารของจีน ของมอญ มีสามก๊ก ราชาธิราชเป็นอาทิ ลักษณะความเป็น “บันเทิงคดีร้อยแก้ว” ของหนังสือแปลทั้งสอง (รวมถึงเล่มอื่นๆ) เป็นไปได้ไหมครับที่จะส่งผล หรือมีอิทธิพลต่อการชำระพระราชพงศาวดารของไทยเราด้วย คือประสงค์ให้เป็น “วรรณคดีประยุกต์” จะอ่านเอาวิชา หรืออ่านเพื่อความหฤหรรษ์ก็ได้ทั้งสองสถาน ปุจฉาที่ผมตั้งขึ้นในใจตัวเองมีดังนี้ครับ แต่ตัวผมนั้นปัญญากระจิดริดนัก จะเปรียบกับเศษหนึ่งส่วนสี่ของปีกริ้นก็ยังเล็กกว่าเสียซ้ำ จึงมาขอวิทยาทานจากทุกๆท่านครับ ขอท่านผู้อ่าน โปรดส่องแสงสว่างทางความรู้เกื้อกูลผมด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 มิ.ย. 11, 14:14

เรื่องนี้ดิฉันไม่มีข้อมูลในมือมากพอจะไขข้อข้องใจของคุณชูพงศ์ได้   ขอเชิญนักประวัติศาสตร์มาตอบดีกว่า
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 19 คำสั่ง