เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
อ่าน: 22006 พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 22 มิ.ย. 11, 23:33

ในขณะที่การใช้กำลังทหารเปิดฉากรุกใส่สยามของหมักเทียนตื๊อล้มเหลว สถานการณ์ทางการทูตก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันเลย ผลจากการที่พระเจ้าตากสามารถปราบชุมนุมต่างๆในไทยได้อย่างราบคาบทำให้ราชสำนักจีนเปลี่ยนท่าทีต่อพระเจ้าตาก เนื่องจากเห็นว่าพระองค์คือผู้ที่สามารถกุมอำนาจทางการเมืองในแผ่นดินสยามไว้ได้

ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากความเห็นของ "พระเจ้าเฉียนหลง" ด้วย  เพราะทรงมีพระราชสาส์นถึงผู้ว่าราชการกวางตุ้งมาก่อนหน้านั้นแล้วว่า "ทางไทยไม่อาจหาองค์รัชทายาทได้ และอำนาจที่แท้จริงก็ตกอยู่กับเจิ้งเจา..." เพราะฉะนั้นจึนก็ควรเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อชุมนุมของพระเจ้าตากสินเสีย  จีนก็ไม่ต้องการไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์วุ่นวายในไทย
(การเมืองไทยสมัยกรุงธนบุรี - นิธิ เอียวศรีวงศ์)


ด้วยเหตุนี้อุปราชเหลียงกว่างที่เคยสนับสนุนหมักเทียนตื๊อจึงต้องเปลี่ยนท่าทีตามไปด้วย
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 28 มิ.ย. 11, 12:54

เดือน ๑๑ พ.ศ.๒๓๑๔ เสร็จศึกภายใน พระเจ้าตากยกทัพตีเมืองพุทไธมาศและเมืองเขมร ทรงให้เจ้าพระยายมราช ยกทัพบกไปเมืองเขมร พระองค์นำทัพเรือไปตีพุทไธมาศ

บันทึกตระกูลหมักบอกว่า
เดือนแปด ปี Tan Mao (กันยายน-ตุลาคม พ.ศ.๒๓๑๔) ห่าเตียนได้ข่าวว่าพระยาตากกษัตริย์สยามเตรียมกำลังจะรุกรานห่าเตียน หมักเทียนตื๊อส่งข่าวด่วนไปยังยาดิ่งเพื่อขอกำลังเสริม แต่ Khoi Khoa Hau และ Mien Truong Hau แม่ทัพญวน ตอบมาว่า เมื่อพวกเขาส่งทหารมาในปีก่อนหน้านี้โดยข้อมูลผิดๆจากทางห่าเตียน ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย พวกเขาจึงต้องถอยทัพกลับไป ดังนั้นควรจะรอให้มีทัพสยามมาจริงๆก่อนจะดีกว่า


เป็นอันว่าทางยาดิ่ง (ไซ่ง่อน) ปฏิเสธที่จะยกทัพมาทันที เนื่องจากเกรงจะมาเสียเที่ยวอีกเหมือนคราวที่แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นคราวที่พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชายกมาตีเขมร แต่ต้องถอยทัพกลับก่อนเนื่องจากมีข่าวลือว่าพระเจ้าตากสวรรคตที่เมืองนคร

จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี ว่าพระยาพิชัยไอศวรรย์แม่ทัพหน้ามีจดหมายโต้ตอบกับพระยาราชาเศรษฐีความดังนี้

(ความขาด) ... มาบัดนี้จะส่งเจ้าองค์รามขึ้นไปราชาภิเษกณกรุงกัมพูชาธิบดี ... (ความขาด) ... ตัวเจ้าเสสังข์ เจ้าจุ้ย แลข้าหลวงชาวกรุง ฯ ซึ่งไปอยู่เมืองใดจะเอาให้สิ้น    ถ้าแลพระยาราชาเศรษฐีเห็นว่าจะต้านทานสู้รบได้ ให้แต่งป้อมต้ายค่ายคูไว้จงสรรพ ถ้าเห็นจะสู้มิได้ ยังทรงพระกรุณาโปรดพระยาราชาเศรษฐีอยู่ ให้ออกมาถวายบังคม     เราจะช่วย เถิงว่าแก่แล้วจะมามิได้ ก็ให้แต่งหุเอียบุตรออกมาโดยฉับพลัน ถ้าช้าจะทรงพระวิโรธให้ฆ่าเสียให้สิ้น

ครั้นญวนมีชื่อถือหนังสือเข้าไปเถิงแล้ว พระยาราชาเศรษฐีให้หนังสือตอบออกมา เป็นใจความว่า ซึ่งให้หนังสือมาเถิง ฯ ข้า ฯ ขอบใจนักหนา จะหามาปรึกษาให้พร้อมกันก่อน ถ้าปรึกษาประนอมพร้อมกันแล้ว จึงจะบอกมาให้แจ้งต่อเมื่อภายหลัง

จึงมีหนังสือตอบเข้าไปอีกครั้งหนึ่ง เล่าเป็นใจความว่า ถ้าพระยาราชาเศรษฐีจะปรึกษา ก็ให้เร่งปรึกษาแต่ในเพลาค่ำวันนี้ ถ้าช้าอยู่ทัพหลวงจะมาเถิงจะเกิดยุทธนาการมากไป พระยาราชาเศรษฐีก็ยังมิได้บอกหนังสืออกให้แจ้งมามิได้

ที่พระยาราชาเศรษฐีหมักเทียนตื๊อไม่ตอบ เห็นจะพยายามถ่วงเวลารอกำลังเสริมจากทางญวนครับ

เมื่อทัพไทยไปถึงพุทไธมาศจดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรีบันทึกไว้ดังนี้

ในวันนั้นสั่งให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ไป  ตั้งค่ายสะกัดอยู่ณเชิงเขาฝ่ายทิศตะวันออก  พระยาพิชัยไอศวรรย์   แลเรือรบอาษาหกเหล่า  กองหน้านั้นให้ดากันรบอยู่ท้ายกอะหน้าเมืองฝ่ายตะวันออก

วันเสาร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีเถาะตรีศก ( ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๑๔ ) เพลาเช้าโมงเศษ ทรงพระอุตสาหะเสด็จ ฯ ไปด้วยพระบาท ยืนอยู่ฟากตะวันออกตรงป้อมหน้าเมือง สั่งเจ้าพระยาจักรี พระยาทิพโกษาตรัสชี้พระหัตถ์ไปให้ทำค่ายน้ำ ๒ ฟากไว้ หว่างกลางกว้างประมาณ ๑๐ เส้น จะได้ให้เรือรบซึ่งปืนหน้าเรือกินดินชั่งหนึ่ง คอยรบจับเอาอ้ายเหล่าร้ายซึ่งจะหนีออกไปนั้น ในทันใดนั้น เจ้าพระยาจักรี พระยาทิพโกษา พาตัวอ้ายมา ญวน ซึ่งหนีออกมาสวามิภักดิ์ เข้ามาเป็นข้าใต้ละออง ฯ มีคำอ้ายมาญวนกราบทูลพระกรุณาว่า จีนบุนเส็งหนีไปแล้ว ราชาเศรษฐีก็คิดอ่านจะหนีไป ครั้นจะเชื่อถ้อยคำอ้ายมา ญวนนั้นยังมิได้ จึงทรงพระกรุณาให้จำไว้ จึงสั่งว่าถ้าอ้ายมาญวนจะเข้าไปรับครัวนั้น ให้ลงพระราชอาชญา แล้วมัดมือไพล่หลังเข้าไป ถ้าพาครัวมาได้ เห็นว่ามันสวามิภักดิ์จริง ตัวมันให้ทำราชการ ถ้าสัมฤทธิ์ราชการแล้ว เถิงจะเป็นใหญ่อยู่ในเมืองพุทไธมาศก็จะให้    

อนึ่งมีรับสั่งให้หมื่นฤทธิ์อาคเนไปดูคลื่นลมแลเรือรบญวนซึ่งอยู่หน้าเมืองนั้น จะระส่ำระสายอยู่เป็นประการใด แลหมื่นฤทธิ์อาคเนมิได้ไปโดยพระราชดำริ ไปเผาเรือนใกล้ค่ายอ้ายเหล่าร้าย แล้วยิงปืนหน้าเรือเข้าไปให้ผิดด้วยรับสั่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงวิโรธจึงตรัสปริภาษนาด่าหมื่นฤทธิ์อาคเนว่า อ้ายข้านอกเจ้า ถ้าอ้ายเหล่าร้ายมันตั้งค่ายสูงจะให้หักค่ายเข้าไป ถ้าเข้าไปมิได้ จะบั่นศีรษะเสีย

อนึ่งเพลาบ่าย ๓ โมงเศษ เสด็จอยู่ณพระตำหนักตึก ให้หาทหารแลกรมอาจารย์ขึ้นมาเฝ้า จึงตรัสถามว่า ใครอาจสามารถจะหักค่ายเข้าไปได้ในเพลาคืนวันนี้ ถ้าเห็นจะได้ก็ให้ว่าได้ ถ้ามิได้ก็ว่ามิได้ ถ้าเห็นจะได้ เข้าไปหักค่ายมิได้ กลับคืนออก จะตัดศีรษะเสีย ถ้าเข้าไปได้สัมฤทธิราชการจะปูนบำเหน็จให้ถึงขนาด เมื่อตรัสประภาษนั้นต่อหน้าข้าหลวงผู้ใหญ่น้อยเฝ้าอยู่พร้อมกัน ทหารกองใน นาย ๑๑ ไพร่ ๑๐๐ เป็น ๑๑๑ คน รับอาษาหักค่าย พระญาณประสิทธิ ๑ ไพร่ ๕ เป็น ๖ คน ขุนเอกประเสริฐ ๑ ไพร่ ๘ เป็น ๙ คน หมวดขุนณรงค์ ไพร่ ๑๐ คน พระสารสุธรรมแลหลวงชน ทั้งนายไพร่ ๑๐ คน อาจารย์จันทร์แลขุนวิชิตทั้งนายไพร่  ๒๕  คน นายโพแลขุนรามทั้งนายไพร่ ๑๓ คน หลวงเพ็ชรสงคราม ๑ ไพร่ ๙ คน พระสุธรรมา ๑ ไพร่  ๒๗ คน แลผู้มีชื่อ ๑๑๑ คน รับอาษาเข้าปล้นค่ายให้ได้ในเพลากลางคืน ถ้าแลหักเข้ามิได้ยอมถวายชีวิต จึงทรงพระกรุณาให้เกณฑ์กองทัพฝ่ายทหารฝ่ายพลเรือน ทัพบกทัพเรือ ให้ได้ ๒๔๐๐ พระราชทานสุราแล้วสั่งให้ยกเข้าไปสมทบกองอาทมาท ให้เข้าปล้นค่ายในเพลา ๒ ยาม

อนึ่งให้หาพระมหาเทพเข้ามาเฝ้าจึงตรัสถามว่าจะให้ถือดาบ ๒ มือ ว่ายน้ำเข้าหน้าค่าย ฟันเข้าไปจะได้หรือมิได้ จึงรับสั่งว่าสติปัญญาน้อย ถ้าทรงพระกรุณาเห็นว่าจะเข้าไปได้อยู่แล้ว ถวายบังคมลาเข้าไปตามรับสั่ง ถ้าแลเข้าไปแล้วมิได้กลับออกมา ก็หาชีวิตมิได้ ถ้าเข้าไปแล้วมีชัยชนะ ก็จะได้กลับออกมาทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบไป จึงตรัสประภาษสรรเสริญว่าน้ำใจองอาจมั่นคงนัก จึงทรงพระกรุณาพระราชทานพระแสงต้นองค์หนึ่ง แล้วสั่งให้อยู่รักษาพระองค์

อนึ่งเพลา ๒ ยามเศษ พวกอาทมาท ๑๑๑ คน แลข้าทูลละอองฯ ฝ่ายทหารพลเรือน ๒๔๐๐ เข้าหักค่าย ตามทรงพระกรุณาพระราชทานฤกษ์ให้ ครั้นหักค่ายเข้าไปได้แล้ว     จุดไฟเผาบ้านเรือนเป็นอันมาก แต่รบกันอยู่ในเมืองนั้นช้านาน ทหารซึ่งอยู่รักษาค่ายประชินั้นจะเข้าช่วยก็มิได้ ด้วยคนรักษาที่นั้นยังยิงรบกัน ... (ความขาด) ... โยธาทหารก็ยิ่งโรยลง เดชะด้วยอานุภาพพระบารมี ให้ดลจิตต์โยธาทหารทั้งปวง ทัพบกก็สำคัญว่าเสด็จ ฯ มาบก ทัพเรือก็สำคัญว่าเสด็จ ฯ มาทางชลมารค โยธาทหารทั้งปวงก็มีน้ำใจองอาจแกล้วหาญ ทัพเรือทัพบกนั้นก็ตีกระโจมหักค่ายเข้าไป

พอรุ่งขึ้นวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรีศก (๑๗ พฤศจิกายน) เพลาเช้ายังมิได้บาท หักค่ายเข้าไป ไพร่พลเมืองแตกกระจัดกระจายหนีไป พระยาราชาเศรษฐีหนีลงเรือไปได้ จึงทรงพระกรุณาหาเจ้าพระยาจักรีแม่ทัพเรือมาถามว่า ญวนลงเรือหนีไปได้มิยิงปืนด้วยอันใด จึงกราบทูลว่า เรือรบจมื่นไวยขวางหน้าอยู่ จึงมีรับสั่งโปรดเกล้าฯ สืบถาม จมื่นไวยรับสมคำเจ้าพระยาจักรี จึงให้ลงพระราชอาชญาคนละ ๓๐ จึงกราบทูลพระกรุณาขออาษาตีกรุงกัมพูชาธิบดีทูลเกล้า ฯ ถวายทำราชการแก้ตัว

วันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ครั้นถึงเพลาเช้าโมงเศษจึงเสด็จพระดำเนินเข้ามาอยู่วังราชาเศรษฐี


เหตุการณ์เมืองห่าเตียนแตกนั้นพงศาวดารยาดิ่งมีความว่า

วันที่ ๓ เดือน ๑๐ (เป็นวันจีน ตรงกับ ๙ พฤศจิกายน ๒๓๑๔) ทหารสยามรุกเข้ามาและปิดล้อมป้อมห่าเตียน (ซึ่งเป็นกำแพงไม้ล้อมไว้สามด้าน) ในเวลานั้น ในป้อมมีทหารเพียงเล็กน้อย พวกเขาป้องกันป้อมเอาไว้ และส่งข่าวด่วนไปยัง Long Ho Doanh เพื่อแจ้งสถานการณ์ฉุกเฉิน โชคร้ายที่ทหารสยามยึด To Chau และระดมยิงป้อมจากที่นั่น

คืนวันที่ ๑๐ เดือน ๑๐ (๑๖ พฤศจิกายน) คลังดินระเบิดที่เขา Ngo Ho เกิดระเบิดขึ้น ทำให้ในป้อมวุ่นวายเป็นอย่างมาก

คืนวันที่ ๑๓ (คือ ๑๙ พฤศจิกายน ในขณะที่จดหมายเหตุรายวันทัพของไทยบอกว่าเป็นวันที่ ๑๘ เหลื่อมกันอยู่วันหนึ่ง) ทหารสยามแทรกซึมเข้ามาในป้อมได้ทางประตูหลังซึ่งอยู่ใกล้กับปากแม่น้ำซึ่งเป็นด้านที่ไม่มีกำแพง และวางเพลิงเผาอาคารบ้านเรือน ทัพสยามหักเข้ามาในป้อมได้ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายไปทั่ว ถึงแม้ว่า Ton Duc Hau (หมักเทียนตื๊อ) ยังคงบัญชาการทหารและเร่งเร้าให้รุกรบอยู่ คนในป้อมโดน (สถานการณ์) บังคับให้ต้องหนี ในเวลาหนึ่งนาฬิกากลางดึกนั้น ป้อมก็แตก แม่ทัพ Doi Nghiep ช่วยพา (หมักเทียนตื๊อ) หนีลงเรือไปยังแม่น้ำ Giang Thanh (แม่น้ำขาม) Mac Tu Hoang, Mac Tu Thuong และ Mac Tu Lac นำทหารเรือฝ่าวงล้อมมุ่งหน้าไปยัง Kien Giang (Rach Gia)

ส่วนบันทึกตระกูลหมักมีความว่า

ในปี Tan Mao (พ.ศ. ๒๓๑๔) Trinh Tan (เป็นคำอ่านทับศัพท์ชื่อจีน เจิ้งซิน - คือพระเจ้าตาก) พิชิตนครศรีธรรมราชได้ เหล่าทหารของพระองค์มีจิตใจฮึกเหิมและแข็งแกร่งขึ้น พระองค์นำทัพมายังห่าเตียน ข่าวนี้ถูกส่งไปยัง Ngo Doanh (กองทัพกว๋างนาม) เพื่อขอกำลังเสริมมายังห่าเตียน แต่พวกเขาไม่ส่งกำลังเสริมมาให้ การศึกกับจันทบูรทำให้ชาวเมืองห่าเตียนล้มตายลงไปมาก จำนานทหารที่ป้องกันป้อมห่าเตียนก็ลดลงไปด้วย แต่หมักเทียนตื๊อก็ได้ตระเตรียมเสบียงอาหารและอาวุธไว้ในป้อม พร้อมทั้งกองทหารมากกว่าหนึ่งพันคน

กองทัพสยามล้อมป้อมเอาไว้เป็นสามแนว Cong (คือหมักเทียนตื๊อ) ให้เจ้าชาย Dung บัญชาการปีกซ้าย เจ้าชาย Thuong บัญชาการเรือรบเพื่อป้องกันป้อม เจ้าชาย Dung ระดมยิงปืนและปืนใหญ่ทเพื่อยันศัตรูให้ไม่สามารถเข้ามาในป้อมได้ พวกเขาผเชิญหน้ากันอยู่มากกว่าสิบวัน ถึงแม้ว่าทหารสยามจะมีมากกว่าทหารห่าเตียนถึงสิบเท่า แต่ก็ยังมีจำนวนน้อยเกินไป (ที่จะเอาชนะได้)

ทหารห่าเตือนอ่อนล้ามาก แต่พวกเขาก็ไม่ต้องการจะหนีออกไปจากป้อม และตกลงใจที่จะยอมตายในการศึก ทหารสยามแทรกซึมเข้ามาได้ในตอนกลางคืน คลังดินปืนของห่าเตียนเกิดระเบิดขึ้น ทหารสยามฉวยโอกาสนี้จู่โจมเข้ามาที่ป้อม Cong (หมักเทียนตื๊อ) นำทัพเข้าฆ่าฟันข้าศึกด้วยตัวเอง พวกเขายับยั้งข้าศึกได้เพียงเล็กน้อย เมื่อข้าศึกยิงปืนใหญ่แบบตะวันตกเข้ามา และทำให้ทหารห่าเตียนบาดเจ็บไปหลายคน

ในเวลานั้น Cong ได้ทราบว่าทหารข้าศึกสามารถเข้ามาในป้อมได้ทางด้านที่ไม่มีการป้องกัน ท่านจึงพยายามจะกลับไปยังป้อม เมื่อถึงรุ่งเช้า พวกเขาถูกล้อมอยู่ภายใต้การระดมยิงของศัตรู Cong สั่งการให้ลูกน้องปิดประตูและเตรียมตัวตาย

Huu Bo แม่ทัพที่บัญชาการปีกขวา ขอให้ Cong หนี แต่ Cong ไม่รับฟังคำแนะนำนี้ Huu Bo จึงลวงให้ Cong ขึ้นไปรอบนเรือรบระหว่างที่เขารวบรวมพลเพื่อเตรียมจะต่อสู้อีก Cong จึงขึ้นไปบนเรือ และ Huu Bo ก็สั่งให้ทหารเรือออกเรือหนีไป Chau Doc ทันที

เนื่องจากห่าเตียนอยู่ริมฝั่งทะเล ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถหนีรอดไปได้โดยไม่อาศัยเรือ สมาชิกในครอบครัวของ Cong มากกว่าสิบคนและประชาชนอีกจำนวนมากจึงต้องจมน้ำตาย โชคยังดีที่ เจ้าชาย Tu Hoang, Tu Thuong และ Tu Dungสมารถขึ้นไปบนเรือรบและต้องต่อสู้กับเรือรบของสยามมากกว่าสิบลำจึงหนีไปยังสถานที่ซึ่งทัพของกว๋างนามตั้งอยู่ได้


จากภาพข้างล่าง จะเห็นได้ว่าโตเจานั้นเป็นพื้นที่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำหน้าเมืองห่าเตียน ชื่อนี้ตรงกับชื่อจีนว่าซูโจวครับ ทัพสยามตั้งค่ายอยู่ที่นี่ และตรงนี้ก็คือที่ๆในจดหมายเหตุรายวันทัพฯบันทึกว่าพระเจ้าตากทรงออกไปตรวจการณ์วางแผนการรบด้วยพระองค์เอง

เป็นอันว่าหลังถูกล้อมอยู่หลายวัน หมักเทียนตื๊อก็เสียเมืองห่าเตียนให้แก่พระเจ้าตาก ตัวหมักเทียนตื๊อลงเรือหนีขึ้นไปตามลำแม่น้ำ มุ่งหน้าสู่โจดก ในขณะที่บุตรชายสามคนลงเรือหนีออกทะเลไปที่เมือง Rach Gia (แหร็กย้า) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของห่าเตียนซึ่งเป็นถิ่นของพวกก๊กเหงวียนกว๋างนามครับ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 28 มิ.ย. 11, 15:54

เว็บ baidu.com ของจีนบรรยายภูมิสถานของเมืองห่าเตียนไว้ดังนี้

หลังเมืองอิงผิงซาน (平山 ญวนว่าเขา Binh San)
ตั้งประจัญหน้ากับซูโจว (苏州 To Chau โตเจา)
เบื้องใต้คือทะเล
เบื้องหน้ามีแม่น้ำ
กำแพงดินล้อมสามด้าน (เข้าใจว่าด้านหน้าที่ติดแม่น้ำไม่มีกำแพง เพราะเป็นท่าเรือ)
จากหาด 阳 (เข้าใจว่าหมายถึงหาดริมแม่น้ำหน้าเมือง) ถึงประตูหลังระยะทาง 152.5 จ้าง (จ้างหนึ่งเท่ากับสิบเชียะ หนึ่งเชียะราวหนึ่งฟุต 152.5 จ้างก็เกือบ 460 เมตร )
จากประตูซ้ายถึงประตูขวาระยะทาง 52 จ้าง (เกือบ 160 เมตร)
กำแพงเมืองสูง 4 เชียะ (แค่ 1.2 เมตร เตี้ยมาก กำแพงไม้น่าจะปักอยู่บนกำแพงดินนี้อีกที)
คูเมืองลึก 10 เชียะ (ราว 3 เมตร ไม่แน่ใจว่าหมายถึงความลึกของแม่น้ำหน้าเมือง หรือว่ามีคูเมืองอยู่นอกกำแพงทั้งสามด้านอีกชั้นหนึ่ง)
ตรงกลางเป็นป้อมปราการ
สี่ด้านแปดทิศตั้งค่ายล้อมไว้
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 28 มิ.ย. 11, 17:00

เมื่อเมืองห่าเตียนแตก จดหมายเหตุรายวันทัพฯ มีความน่าสนใจหลายประการ

อนึ่งจมื่นศรีเสารักษ์หลวงมหามนตรี ได้บุตรีพระยาราชาเศรษฐี ๒ คน นำมาทูลเกล้า ฯ ถวาย

อนึ่งมีรับสั่งโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า บันดาข้าทูลละอองฝ่ายทหารพลเรือนบันดาซึ่งได้ญวนผู้หญิงไว้ ให้เอามาทูลเกล้า ฯ ถวายให้สิ้น ถ้าเป็นลูกหลานวงศ์วานพระยาราชาเศรษฐีจะเอาไว้เป็นหลวง นอกนั้นจะพระราชทานให้แก่ผู้ได้   

อนึ่งเมื่อเพลาเพลิงสงบลง ไทยบ่าวพระยาพิพิธคนหนึ่งนำบุตรีพระยาราชาเศรษฐีผู้หนึ่งมาทูลเกล้า ฯ ถวาย สั่งถามว่าเป็นไฉนจึงเอาไว้เป็นเมีย จึงให้การว่าจีนมีชื่อมิได้รู้จักหน้าพาหนีไฟมา ชิงไว้ได้ จึงตรัสถามว่า จะนำจีนซึ่งพามาจะได้หรือมิได้ ให้การมิได้ จึงให้ลงพระราชอาชญาโบย ๑๐๐ แล้วให้ผูกคอพระยาพิพิธผู้นาย ให้นำตัวจีนซึ่งพามานั้นก็มิได้ จึงสั่งให้ลงพระราชอาชญาจำไว้ บันดานายทัพนายกองจีนทั้งปวงก็มิได้เนื้อความหามิได้

ครั้นรุ่งขึ้นวันอังคาร เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนถามยกหนึ่ง ก็ยังมิได้เนื้อความ จึงสั่งให้พระยาจันทบูร เป็นตระลาการถามให้ได้เนื้อความ ถ้ามิได้จะตัดศีรษะเสีย พระยาจันทบูรไปสืบได้จีนซึ่งพาไปไว้นั้นมาทูลเกล้า ฯ ถวายเป็นสัจแล้วให้ตัดศีรษะเสีย แลไทยบ่าวพระยาพิพิธนั้นทรงพระกรุณาให้ออกจากโทษ จึงตรัสประภาษว่า ถ้าจะมิเอาโทษบัดนี้จะเป็นเยี่ยงอย่างไป จะทำสงครามสืบไปเบื้องหน้า ได้บ้านเมืองแล้ว ลูกเจ้านายก็จะเอาไว้เป็นอาณาประโยชน์แก่ตัวเอง


เมื่อทรงจัดการบ้านเมืองห่าเตียนเสร็จ ยกทัพเสด็จตามตัวหมักเทียนตื๊อ

ครั้นรุ่งณวันศุกร เดือน ๑๒ แรม ๑ ค่ำ เสด็จ ฯ ไปถึงบ้านนักอาริมน้ำ เพลาบ่าย ๓ โมงเศษ ประทับเรือพระที่นั่งหน้าบ้านเขมรผู้ใหญ่นายบ้านลงมาเฝ้า จึงตรัสถามถึงเล่าเหียว่ายกหนีมาทางนี้หรือประการใด กราบทูลพระกรุณาว่า  เล่าเหียยกทัพไปจากนี้ได้ ๔ วันเห็นว่าทัพหน้าจะตามทัน เพลาวานนี้ได้ยินเสียงปืนมาถึงนี่ จึงทรงพระกรุณาพระราชทานธงพระราชโองการให้ แล้วเสด็จ ฯ ไปประทับแรมอยู่ณบ้านแหลมเวนหนึ่ง   

เล่าเหีย เห็นจะเป็นคำจีนแต้จิ๋วว่า เหล่าเฮีย คือ ผู้อาวุโสครับ

จนเมื่อเสร็จศึก เสด็จกลับกรุงธนบุรีแล้ว ยังทรงพระราชทาน "ญวนข้างใน" ให้ข้าราชการหลายท่าน ล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าพระยาทั้งสิ้น

วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีเถาะตรีศก พระราชทานญวนข้างในให้แก่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยามหาสมบัติ เจ้าพระยามหามนเทียร ให้โขลนนำไปพระราชทานถึงเรือน

แม้เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชำระจดหมายเหตุรายวันทัพนี้ ยังได้ทรงหมายเหตุไว้ตรงความที่เรียกที่อยู่ของหมักเทียนตื๊อในเมืองห่าเตียนว่า "พระราชวัง" ไว้ดังนี้

หมายเอาจวนพระยาราชาเศรษฐี ดูเหมือนจะยกเมืองพุทไธมาศเป็นชั้นเมืองพระยาสามนตราช
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 06 ก.ค. 11, 14:57

วันก่อนเปิดจดหมายเหตุกรมหลวงนรินเทวี เจอชื่อ เจ้านำก๊กเล่าเอี๋ย ทำให้นึกขึ้นได้ว่าฟังดูคล้ายกับเล่าเหีย เล่าเหียอาจจะมาจากคำนี้ได้อยู่เหมือนกันครับ

เล่าเอี๋ย ในจดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวีนั้น ไม่ต้องสงสัยว่าคือ 老爷 จีนกลางว่า เหล่าเอี๋ย (หรืเอเหล่าเหย หรือเหล่าเหยีย แล้วแต่หูจะฟัง) แต้จิ๋วว่า เหล่าเอี๊ย ที่โดยทั่วไปหมายถึงเทพเจ้า คือเทพเจ้าอย่างที่อยู่ในศาลเจ้านะครับ และก็เป็นคำเดียวกับคำว่า เหลาเหย่ ที่น่าจะเรีกยได้ว่าเป็นคำไทยที่มาจากภาษาจีนอีกคำหนึ่งด้วย

อีกคำหนึ่งในจดหมายเหตุรายวันทัพคือ หูเอีย ซึ่งก็อาจเป็น 护爷 ได้

คงต้องขอความอนุเคราะห์ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนด้วยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 06 ก.ค. 11, 15:09

เหตุการณ์หลังจากพระเจ้าตากตีได้เมืองพุทไธมาศแล้ว พงศาวดารฝั่งไทยบอกว่า พระเจ้าตากทรงนำทัพขึ้นไปพบกับทัพบกของเจ้าพระยาจักรีที่พนมเปญ สถาปนาพระรามราชาให้ปกครองเขมร ส่วนพระอุไทยราชานั้นหนีไปเมืองบาพนมแล้วหนีต่อไปอาศัยพวกญวน พระเจ้าตากทรงให้เคลื่อนทัพกลับมาที่พุทไธมาศ แล้วทรงยกทัพกลับกรุงธนบุรี

หลังจากนั้นพระยาราชาเศรษฐีญวนยกทัพมาชิงเมืองพุทไธมาศคืนไปได้ พระยาราชาเศรษฐีจีนหนีไปรวบรวมกำลังที่กำปอดแล้วยกไปตีเมืองพุทไธมาศคืนมาได้ แต่ในที่สุดแล้วพระเจ้าตากทรงให้พระยาราชาเศรษฐีจีนทิ้งเมืองพุทไธมาศเสียด้วยเหตุว่ารักษาไว้ได้ยาก

เรื่องของเมืองพุทไธมาศมาปรากฏอีกครั้งในเหตุการณ์ที่พวกไตเซินยกมาตีเมืองพุทไธมาศ พระยาราชาเศรษฐีญวนซึ่งตอนนั้นครองเมืองอยู่ต้องหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรี

ส่วนเรื่องเกี่ยวแก่กิจการฟากเขมรมาปรากฏอีกครั้งหลังจากนั้น คือในช่วงปลายรัชกาลเกิดความวุ่นวายในเขมร พระรามราชาถูกสำเร็จโทษ พระเจ้าตากจึงทรงให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ไปตีระงับความวุ่นวายในเมืองเขมร ทั้งให้สถาปนาเจ้าฟ้าจุ้ย กรมขุนอินทรพิทักษ์ขึ้นครองเขมรด้วย

แต่พงศาวดารทางเขมรและญวนให้ข้อมูลที่แตกต่างไปครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 07 ก.ค. 11, 14:37

การศึกษาเรื่องหมักเทียนตื๊อกับห่าเตียนนั้น โดยมากอ้างอิงอยู่กับงานสองชิ้นคือ

1. ผลงานทางวิชาการเรื่อง Mac Thien Tu and Phraya Taksin ที่ Chen Chingho นักวิลาการชาวไต้หวันเสนอในการประชุมทางวิชาการ IAHA ครั้งที่ ๗ ที่กรุงเทพฯ 1977 (หนังสือ การเมืองไทยสมัยกรุงธนบุรี ของอ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใช้อ้างถึงในเหรือเกี่ยวกับหมักเทียนตื๊ออยู่หลายส่วน แต่ถอดเสียงเป็น มักเทียนดู)

2. Ha Tien or Bantaey Meas in the Time of the Fall of Ayutthaya โดย Yumio Sakurai และ Takako Kitagawa เสนอใน IAHA ครั้งที่ ๑๔ ที่โตเกียว 1994 ตีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ From Japan to Arabia: Ayutthaya's Maritime Relations with Asia จัดพิมพ์โดย มูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย ครับ

ผมใช้ข้อมูลจากงานชิ้นหลังนี้เป็นหลักโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับทางจีนและเวียดนาม แต่บางส่วนอาจตีความต่างกันบ้างครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 07 ก.ค. 11, 16:06

เนื่องจากเอกสารฝั่งไทย มีจดหมายเหตุรายวันทัพในคราวไปตีเมืองพุทไธมาศและเมืองเขมรซึ่งเป็นหลักฐานที่หนักแน่นกว่าหลักฐานอื่นๆ หลักฐานฝั่งญวนและเขมรซึ่งมีเรื่องราวมากกว่า โดยเฉพาะหลักฐานฝ่ายญวนนั้นระบุวันเวลาคลาดเคลื่อนไปจากฝ่ายไทยมาก เรื่องราวก็เรียงลำดับเวลาสับสน ดังนั้นผมจึงเรียงลำดับเรื่องราวใหม่ตามความเข้าใจส่วนตัวนะครับ ผิดถูกอย่างไรขอให้อย่าลืมว่า ท่านไม่ได้กำลังอ่านงานวิชาการอยู่นะครับ

ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙ จดหมายมองซิเออร์คอร์ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ วันที่ ๒๖ เดือนมกราคม  ค.ศ. ๑๗๗๒ (พ.ศ. ๒๓๑๔) มีความว่า

เมื่อวันที่ ๓ เดือนพฤศจิกายน ปีกลายนี้ (๒๓๑๔) พระเจ้ากรุงสยามได้เสด็จยกทัพไปรบกับเจ้าเมืองคันเคา ทัพไทยและทัพญวนได้สู้รบกันสามวัน ทัพไทยก็ได้เข้าไปยึดเมืองค้นเคาได้ ไทยได้ฆ่าญวนเสียหมดสิ้น เว้นแต่พวกเข้ารีดมิได้ถูกฆ่า เพราะพวกนี้ได้เข้าไปแอบอยู่ในวัดเข้ารีด ไทยได้ฆ่าผู้คนทำลายบ้านเรือนทั่วไปหมด พระเจ้ากรุงสยามได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ทหารเข้าปล้นบ้านเมืองมีกำหนด ๓ วัน และพระเจ้ากรุงสยามจึงได้เก็บริบทรัพย์สมบัติในเมืองนั้นทั้งหมด สิ่งใดที่จะเอาไปไม่ได้ก็ได้รับสั่งที่จะเอาไฟเผาและทำลายเสีย แต่เผอิญผู้ที่จะเอาไฟไปเผาบ้านเรือนนั้นได้ตายในไฟนั้นเอง ไฟได้ไหม้บ้านเมืองแต่แถบเดียวเท่านั้นหาได้ไหม้ทั้งหมดไม่ ฝ่ายเจ้าเมืองกับบุตรนั้นหนีไปได้ คน ๑ หนีทางบก คน ๑ หนีทางน้ำ ภายหลังเจ้าเมืองคันเคาได้มีจดหมายมากราบทูลพระเจ้ากรุงสยาม ขอพระราชทานพระราชานุญาตกลับเข้ามาอยู่บ้านเมืองอย่างเดิม พระเจ้ากรุงสยามก็โปรดพระราชทานพระราชานุญาตให้เจ้าเมืองคันเคาได้กลับเข้ามาอยู่ตามเดิม


เมืองคันเคานี้มาจากชื่อจีนของห่าเตียนคือ กั๋งโข่ว ดังที่ผมเคยได้บอกไว้แล้วว่าแปลว่าปากน้ำ แต่เรื่องราวที่กล่าวถึงนี้น่าสงสัย หากตีความว่าหมักเทียนตื๊อส่งทูตมาเจรจาขอเมืองคืนก็น่าจะเป็นตอนที่พระเจ้าตากทรงโปรดให้พระยาราชาเศรษฐีจีนคืนกลับมายังกรุง แต่ผมสงสัยว่าน่าจะหมายถึงตอนที่หมักเทียนตื๊อกลับมายึดเมืองห่าเตียนคืนได้ในครั้งแรกเสียมากกว่า เพราะช่วงเวลาค่อนข้างจะใกล้กันมากเกินไป และยังขัดกับเหตุการณ์อื่นๆดังจะเอ่ยถึงต่อไป

ทั้งนี้พอจะสรุปได้ว่า เมื่อถึงเดือนมกราคม พ.ศ.๒๓๑๔ นั้น กำลังเสริมจากญวนนั้นมาถึงเขมรและพุทไธมาศแล้ว

ข้อมูลทางญวนประกอบกับเขมรสรุปความได้ว่า ญวนส่งกำลังหนุนมาสามทาง ทัพหนึ่งมาตามลำแม่น้ำโขง ทัพหนึ่งมาทางทะเล อีกทัพหนึ่งเข้ามาทางปาสัก ทัพทางปาสักนั้นเหลวเพราะแม่ทัพเกิดป่วย ทัพที่มาทางทะเลว่าถูกไทยตีแตกไป ผมสงสัยว่าอาจเป็นทัพที่ยกมาตีเมืองห่าเตียนได้แต่ครองอยู่ได้ไม่กี่วันแล้วพระยาราชาเศรษฐีจีนรวบรวมกำลังจากกำปอดมาตีคืนไปได้ ในขณะที่ทัพที่มาตามลำน้ำโขงนั้นไปถึงออกญายมราชทอย(เขมร) มาตีทัพไทย ชิงพื้นที่แถบพนมเปญคืนกลับไปได้ ทำให้พระรามราชาต้องถอยลงมาตั้งที่กำปอด

เหตุการณ์เหล่านี้ทางญวนว่าเป็นเรื่องการตีทัพพระเจ้าตากจนต้องถอยลงมาที่ห่าเตียนและกลับไปยังกรุงธนบุรีในที่สุด แต่ผมอ่านจดหมายเหตุรายวันทัพฯแล้วไม่เห็นวี่แววของเหตุการณ์เหล่านี้เลย น่าจะเป็นเหตุการณ์หลังจากที่พระเจ้าตากกลับมาจากห่าเตียนแล้ว

เมื่อญวนช่วยเขมร (ก๊กพระอุไทยราชา) ยึดพนมเปญคืนได้แล้ว พระอุไทยราชาจึงได้กลับมาเป็นกษัตริย์เขมรอีกครั้ง แต่ครั้งนี้สถานการณ์ต่างจากเดิมสองประการ
1. ครัวเขมรถูกกวาดต้อนไปกรุงธนบุรีจำนวนมากราว 20,000 คน ยังมีที่เจ็บที่ตายในระหว่างสงครามอีก ทำให้ประชากรเขมรเบาบางลงไปมาก
2. พระรามราชายังตั้งเป็นกษัตริย์เขมรอีกพระองค์หนึ่งปกครองอยู่แถบกำปอด

กำลังที่ญวนส่งมานั้น ทางญวนอ้างว่ามีเป็นแสน แต่เห็นจะเป็นราคาคุยเสียมากกว่า เพราะถ้ามีมากขนาดนั้นอย่าว่าแต่จะตามมาถึงกรุงธนบุรีเลย อาจตีไปถึงอังวะด้วยซ้ำไป เชื่อว่ามีกำลังจำกัดมาก จึงทำให้ไม่สามารถจัดการกับพระรามราชาที่พงศาวดารเขมรว่ามีทหารไทยคุ้มกันอยู่เพียง 500 คนได้ สถานการณ์ในเขมรนั้นจึงยันกันอยู่ในสภาพที่มีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์แบ่งกันครองเหนือใต้ ฝ่ายหนึ่งมีไทยเป็นพี่เลี้ยง อีกฝ่ายนั้นก็มีญวนแบ็คอัพอยู่

เพียงหนึ่งปีผ่านไป เรื่องราวก็กลับพลิกผัน พระอุไทยราชาหันมาอ่อนน้อมข้างไทยโดยส่งนักองค์แก้วมาเป็นองค์ประกันในปี พ.ศ.๒๓๑๕ และยังส่งมารดาและบุตรภรรยาตามมาในปีถัดไป และในที่สุดก็ทรงสละราชบัลลังก์ให้พระรามราชา ลดพระองค์ลงมาเป็นเพียงพระมหาอุปโยราชใน พ.ศ.๒๓๑๘ เรื่องนี้น่าจะเกี่ยวพันกับสถานการณ์ในเวียดนาม เพราะพวกกบฏไตเซินเริ่มกล้าแข็ง สามารถตีเมืองสำคัญในกว๋างนามได้

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทางญวนก็ให้หมักเทียนตื๊อเดินนโยบายทางการทูต อ่อนน้อมต่อพระเจ้าตากเพื่อขอเมืองคืน

ในเดือนก.พ./มี.ค. 1773 (ยังเป็น พ.ศ.๒๓๑๕) พระเจ้ากว๋างนามทรงมีบัญชาให้หมักเทียนตื๊อส่งทูตไปยังสยามเพื่อเจรจาสงบศึกระหว่างสองประเทศ แต่จุดประสงค์หลักคือการเข้าไปสืบสถานการณ์ในสยาม หมักเทียนตื๊อส่ง Mac Tu ไปสยามพร้อมทั้งเครื่องบรรณาการและศุภอักษร พระเจ้าตากทรงต้อนรับคณะทูตเป็นอย่างดี และยังทรงส่งตัวภรรยาคนที่สี่และบุตรีวัยสีปีของหมักเทียนตื๊อคืนให้ด้วย พร้อมทั้งทรงพระราชทานเมืองห่าเตียนคืนให้ตระกูลหมัก และเรียกตัวพระยาราชาเศรษฐีกลับคืนมายังกรุงธนบุรี

หากประกอบกับเรื่องราวในเขมรแล้ว เป็นไปได้ว่าปัญหาจากกบฏไตเซินทำให้ญวนพยายามจะลดภาระทางเมืองเขมรและห่าเตียนลง โดยการเจรจาสงบศึก ซึ่งจบลงโดยการแบ่งเขมรเป็นสองส่วน แล้วขอเมืองห่าเตียนคืน เพื่อควบคุมเส้นทางที่ทางไทยสามารถใช้ส่งทัพเรือไปยังพนมเปญได้เร็วที่สุด

ข้อมูลจากทางญวนระบุว่าหมักเทียนตื๊อไม่ได้กลับมาครองเมืองห่าเตียน แต่ส่งบุตรชายมาครอง ในขณะที่ตัวเองตั้งอยู่ที่ Can Tho ช่วยพวกเหงวียนทำศึกกับพวกไตเซิน
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 07 ก.ค. 11, 16:27

การที่พระอุไทยราชาเวนพระราชสมบัติให้พระรามรามชานั้น พงศาวดารเขมรอ้างว่าทรงเห็นว่าบ้านเมืองไม่สงบเพราะพระรามราชาต้องการราชสมบัติ จึงทรงเวนให้ แต่ถ้าเรื่องนี้จริง คงไม่ต้องทรงทำศึกสายเลือดมาหลายยกในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เชื่อได้ว่าการที่ญวนอ่อนกำลัง ทำให้ไทยเดินเกมบีบให้พระอุไทยราชาจำยอม "ถอย" อีกก้าวหนึ่ง

สิ่งที่สนับสนุนสมมติฐานนี้คือเมื่อพระรามราชาขึ้นเป็นเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีก็ตั้งแข็งเมืองแก่ญวนทันที โดยทรงปฏิเสธที่จะส่งไพร่พลและเสบียงไปช่วยญวนรบกับพวกไตเซิน พี่ใหญ่ญวนจึงต้องส่งทัพมากำหราบ แต่ญวนในวันที่ศึกไตเซินรุมเร้านั้นไม่มีกำลังพอที่จะเอาชนะเขมรได้ ต้องถอยทัพกลับไปในที่สุด

ถึงปี พ.ศ.๒๓๒๐ พงศาวดารเขมรว่าขุนนางยุให้พระมหาอุปราชเขมร (ซึ่งว่าเป็นพระอนุชาของพระอุไทยราชา) ลอบฆ่าสมเด็จพระรามราชา แต่ไม่ได้ลงมือพระรามราชาทรงจัดให้เสียก่อน ในขณะที่พระมหาอุปโยราชพระอุไทยราชาก็เหมือนนัดกันมาป่วยตายในปีเดียวกัน
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 07 ก.ค. 11, 17:10

ในเวลาเดียวกันนั้นหมักเทียนตื๊อตั้งอยู่ที่ Can Tho พยายามช่วยก๊กเหงวียนรบกับพวกไตเซิน แต่สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ ช่วงปลายปี พ.ศ.๒๓๒๐ หมักเทียนตื๊อพยายามจะช่วยเจ้ากว๋างนามหนีไปเมืองกวางตุ้ง โดยส่งเจ้ากว๋างนามไป Long Xuyen (แถบเมืองเขมา) ในขณะที่หมักเทียนตื๊อไปรอเรือที่จะมารับอยู่ที่ Kien Giang (Rach Gia) แต่ถึงเดือนตุลาคม พวกไตเซินเข้าตีเมือง Long Xuyen เจ้ากว๋างนามถูกพวกไตเซินจับไปยาดิ่ง และถูกสำเร็จโทษที่นั่น

หลังจาก Long Xuyen แตก พวกไตเซินส่งทูตมาเจรจาให้หมักเทียนตื๊อยอมแพ้ หมักเทียนตื๊อปฏิเสธและหนีไปยังเกาะฟู้ก๊วก หมักเทียนตื๊อได้ข่าวเมือง Long Xuyen แตกจากที่นี่ ดูเหมือนว่าอนาคตของก๊กเหงวียนกว๋างนามนั้นมืดมน ในขณะที่การรุกไล่ของพวกไตเซินนั้นใกล้ตัวเข้ามาเรื่อยๆ หมักเทียนตื๊อจึงตัดสินใจเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในราวเดือน ธ.ค. หรือ ม.ค. พ.ศ.๒๓๒๐

บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 07 ก.ค. 11, 17:59

ตัดกลับไปที่เขมร

พ.ศ.๒๓๒๑ พระเจ้าตากทรงให้เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ยกไปตีลาว ทรงให้สมเด็จพระรามราชาเกณฑ์คนเกณฑ์เสบียงจากกำพงธมและกำปงสวายไปสนับสนุน ชาวเขมรที่ถูกเกณฑ์ไปหนีทัพ ถูกตามจับ จนเกิดความวุ่นวาย ด้วยสาเหตุใดพงศาวดารเขมรฉบับประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑ ไม่ได้บอกไว้ แต่จบลงด้วยการที่พระยามนตรีเสนหาโสถูกประหาร พระยาแสนข้างฟ้าเปียงถูกเฆี่ยนแล้วถอดยศ พระยาเดโชแทนรอดคดีไปได้

หลังเกตุการณ์นี้ พระยาเดโชแทน และพระยาแสนข้างฟ้าเปียงกวาดครัวหนี สมเด็จพระรามราชาจึงให้ฟ้าทะละหะมูยกจากเมืองปาสักไปสกัดพระยาเดโชแทนและพระยาแสนข้างฟ้าเปียงที่กำพงสวาย แต่เจ้าฟ้าทะละหะมูกลับไปเข้าข้างพระยาเดโชแทนและพระยาแสนข้างฟ้าเปียง สมเด็จพระรามราชาจึงยกทัพตีไปถึงกำพงธม พระยาวิบุลซูที่บันทายเพชรจึงให้พระยาเทพอรชุนหลงไปขอความช่วยเหลือจากญวน ขอกำลังญวนกับทัพพระยาอธิกวงศาสวดเจ้าเมืองปาสักยกขึ้นมาพนมเปญ แล้วพระยาวิบุลซูก็ไปบันทายเพชรเชิญราชบุตรพระมหาอุปโยราชพระอุไทยราชาชื่อนักองค์เองชันษา ๗ ปี และฆ่าพระราชบุตรสมเด็จพระรามราชา ๔ พระองค์

พระรามราชาอยู่กำพงธม ทราบว่ามีทัพญวนมาจึงถอยกลับมาถึงกำพงชะนังเจอทัพญวนที่แพรกบาพัง(แพรกฝรั่ง) สู้แพ้ต้องหนีขึ้นบกไปอยู่พนมจำแรง

ถึงเดือนสิบ ปี พ.ศ. ๒๓๒๒ สมเด็จพระรามราชาถูกญวนจับได้ และสำเร็จโทษที่บึงขยอง

ฟ้าทะละหะมูตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าฟ้าทะละหะ ให้พระยาศรีอธิกอันษาปกพ่อเลี้ยงนักองค์เองเป็นพระยาวัง พระยาวิบุลซูเป็นกลาโหม พระยาแสนข้างฟ้าเปียงเป็นพระยาจักรี ยกนักองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์เขมร

พระเจ้าตากทรงให้นักองค์แก้วไปตามตัวพระยายมราชแบนซึ่งเป็นขุนนางเก่าของพระรามราชาที่ยังรอดอยู่เข้ามายังกรุงธนบุรี เจ้าฟ้าทะละหะมูกับพระยากลาโหมซูทราบเรื่องก็ส่งพระยายมราชแบนเข้ามา พระเจ้าตากทรงกริ้วพระยายมราชแบน ทรงให้จำคุกไว้

รุ่งปีถัดมา พ.ศ.๒๓๒๓ เจ้าฟ้าทะละหะมูกับพระยากลาโหมซู ถวายนักองค์เมนและนักองค์อี นัยว่าเพื่อแสดงความอ่อนน้อม

บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 07 ก.ค. 11, 18:25

ฝ่ายญวนว่า

เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๓๒๓ เหงวียนฟุกอ๊างที่จะเป็นพระเจ้ายาลองในอนาคตส่งทูตมาที่กรุงธนบุรี ในเวลาเดียวกันนั้น เรือสยามถูกปล้นโดยพวกญวนในน่านน้ำห่าเตียน พระเจ้าตากทรงกริ้วมาก ให้เอาทูตจำไว้ในคุก ในเวลาเดียวกัน นักองค์แก้วกลับจากเขมรพร้อมกับจดหมายลับจากเหงวียนฟุกอ๊างที่จะส่งไปยังเจ้า Tong That Xuan (เข้าใจว่าไทยคือองเชียงชุนในเอกสารไทย) เกี่ยวกับเรื่องแผนการทรยศพระเจ้าตากและยึดกรุงธนบุรี

๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๒๓ พระเจ้าตากทรงให้จับตัวหมักเทียนตื๊อและครอบครัว หมักเทียนตื๊อฆ่าตัวตาย
๒๐ พฤศจิกายน บุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ถูกประหาร ๓๕ คน รวมทั้งองเชียงชุน บุตรชาย และหลานชายของหมักเทียนตื๊ออีกหลายคน ทั้งนี้ทางญวนว่า ขุนนางกลาโหม (ไม่ทราบว่าใคร) สงสารบุตรชายและหลานชายของหมักเทียนตื๊อที่ยังเป็นเด็กอยู่ จึงส่งตัวออกไปนอกพระราชอาณาจักร

หลังเหตุการณ์นี้พระเจ้าตากจึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ และเจ้าฟ้าจุ้ย กรมขุนอินทรพิทักษ์ยกไปตีเขมรจนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของไทยเอง

ปฐมเหตุนั้น แน่นอนว่ามีมาตั้งแต่เรื่องฟ้าทะละหะมูสำเร็จโทษสมเด็จพระรามราชาซึ่งเป็นกษัตริย์เขมรที่ไทยหนุนหลังอยู่ โดยในการครั้งนั้น ฟ้าทะละหะมูได้กำลังสนับสนุนจากญวน (โดยโด๊ถ่างเญิน แม่ทัพคนเก่งของเหงวียนฟุกอ๊าง) เมื่อประกอบกับปัญหาซ้ำซ้อนอีกสองสามเรื่อง พวกเหงวียนตอนนั้นก็อยู่ในสภาพร่อแร่ ถอยมาตั้งอยู่แถบห่าเตียนซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นที่มั่นสุดท้ายในขณะนั้น เรือสยามที่โดนปล้นอาจเป็นเรื่องคุมกันไม่ติด พลาดพลั้งไปทำเข้า ทำให้ไม่รู้จะแก้ตัวอย่างไร ในขณะที่ บางกระแสว่าจดหมายลับที่นักองค์แก้วจับได้นั้นเป็นจดหมายปลอมจากพวกไตเซิน  ผลสุดท้าย เสือเฒ่าหมักเทียนตื๊อที่อยู่ในกรุงธนบุรีจึงต้องพบจุดจบอย่างน่าสังเวชเช่นนี้เองครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 07 ก.ค. 11, 22:34

หลังจาก ร.๑ ขึ้นครองราชย์ พระองค์ให้นำลูกหลานตระกูลหมักกลับมาที่กรุงเทพฯ หลักฐานญวนบางแหล่งบอกว่าพวกนี้กลายเป็นผู้ติดตามของเหงวียนฟุกอ๊าง (องเชียงสือ) ระหว่างที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ร.๑ ในกรุงเทพฯ

เมื่อเหงวียนฟุกอ๊างกลับไปที่เวียดนาม ลูกหลานหมักเทียนตื๊อได้กลับไปครองห่าเตียนดังเดิม ให้ห่าเตียนเป็นเมืองสองฝ่ายฟ้า ขึ้นแก่ญวนและสยามพร้อมๆกัน ดังข้อมูลจากเว็บ baidu.com ดังนี้

- Mac Tu Sinh (หมักตื๋อซิง 鄚子泩) บุตรคนที่ ๔ (จากทั้งหมด ๖ คน) ของหมักเทียนตื๊อ ได้ครองห่าเตียนอยู่ระหว่าง 1784-1788
- Mac Cong Binh (鄚公柄) เป็นบุตรของ Mac Tu Hoang บุตรชายคนโตของหมักเทียนตื๊อ ได้ครองห่าเตียนอยู่ระหว่าง 1789-1792
- Mac Tu Diem (鄚子添) บุตรชายคนที่ ๖ ของหมักเทียนตื๊อ ได้ครองห่าเตียนอยู่ระหว่าง 1800-1809
ในปี 1809 ห่าเตียนหมดสภาพรัฐอิสระ ราชวงศ์เหงวียนส่งขุนนางมาปกครองเป็นเจ้าเมืองห่าเตียนโดยตรง
- พระเจ้ายาลองให้ Mac Cong Du (鄚公榆) บุตรของ Mac Tu Hoang ได้ครองห่าเตียนอยู่ระหว่าง 1816-1829 แต่มีขุนนางจากส่วนกลางกำกับด้วย (น่าจะคล้ายกับล้านนาช่วง ร.๕ ปรับปรุงการปกครอง) ไม่ได้เป็นรัฐอิสระอยู่ดี
- Mac Cong Tai (鄚公材) บุตรของ Mac Tu Hoang ได้ครองห่าเตียนอยู่ระหว่าง 1830-1833

wiki บอกว่า Mac Tu Sinh ถูกเลี้ยงดูมาในสยาม และมีภรรยาเป็นชาวสยาม

Sakurai และ Kitagawa ให้ข้อมูลแตกต่างจาก baidu บางส่วนคือ
- Mac Tu Sinh ได้ตำแหน่ง "ว่าการ" เจ้าเมืองห่าเตียน
- Mac Cong Binh ได้ตำแหน่ง "ว่าการ" เจ้าเมือง Long Xuyen (น่าจะใหญ่กว่าห่าเตียน?)
- Mac Tu Diem ได้ตำแหน่ง "ว่าการ" เจ้าเมืองห่าเตียน เขาไปสยามเมื่อปี 1808 (เพื่ออะไร?)
- Mac Cong Du เป็นบุตร Mac Tu Hoang ได้ตำแหน่ง "ว่าการ" เจ้าเมืองห่าเตียนแทนบิดาในปี 1808 และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็น เจ้าเมืองห่าเตียนในปี 1816
- Mac Cong Tai เป็นน้องชายของ Mac Cong Du ได้เป็น เจ้าภาษีห่าเตียนในปี 1830
ทั้งนี้เมื่อเลแวนโคยก่อการกบฎต่อพระเจ้ามินมาง Cong Du และ Cong Tai สนับสนุนเลแวนโคย และในที่สุดเมื่อพระเจ้ามินมางปราบกบฎได้ ทั้งสองคนก็ถูกจับขังคุกไว้และตายในคุกทั้งคู่ บุตรของ Cong Tai คนหนึ่งหนีไปสยาม อีกคนหนึ่งหายสาปสูญไปในเทือกเขาแถบเหงะอาน

ปี 1808-1809 นี้น่าสนใจ ตรงกับเหตุการณ์ที่ ร.๑ เสด็จสวรรคต และพระเจ้ายาลองส่งทูตมาถวายบังคมพระบรมศพ และมีพระราชสาส์นอีกฉบับหนึ่งมาจากพระเจ้ายาลอง กล่าวโทษเจ้าเมืองบันทายมาศว่าเป็นคนไม่ดีหลายประการ พระเจ้ายาลองจึงตั้งคนใหม่แทน พร้อมทั้งขอเมืองบันทายมาศคืนจากสยาม เป็นไปได้ว่า Tu Diem คนนี้อาจจะเป็นฝ่ายนิยมสยามก็เป็นได้ครับ

ขอจบเรื่องราวของหมักเทียนตื๊อและห่าเตียนแต่เพียงเท่านี้

โดยระหว่างการอ่านเรื่องของหมักเทียนตื๊อและห่าเตียน มีเรื่องชวนคิดอยู่ 2 ประการคือ
1. เรื่องของเจ้าขรัวเหลียน
2. เรื่องพระนามจีนของพระเจ้ากรุงธนบุรี และ "ความเป็นจีน" ของพระองค์

อาจได้เปิดเป็นกระทู้สั้นๆเร็วๆนี้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.095 วินาที กับ 19 คำสั่ง