ถูกต้องแล้วครับ ในความรับรู้ของฝั่งไทย มีพระยาราชาเศรษฐีสองคนในเวลานั้นจริง
พระยาราชาเศรษฐีคนแรก เราเรียกพระยาราชาเศรษฐีญวน ก็คือสมเด็จพระโสทัต หมักเทียนตื๊อ ผู้ครองเมืองเปียม เมื่อพระเจ้าตากทรงยึดเมืองพุทไธมาศได้ หมักเทียนตื๊อหนีไป พระองค์จึงทรงให้พระยาพิพิธเป็นพระยาราชาเศรษฐีแทน ทางเราเรียกว่าพระยาราชาเศรษฐีจีน
พระยาราชาเศรษฐีจีนครองเมืองอยู่ได้ไม่นานพระยาราชาเศรษฐีญวนก็กลับมายึดเมืองคืนไปได้ พระเจ้าตากทรงเห็นว่าเมืองนี้รักษาได้ยาก จึงให้พระยาราชาเศรษฐีจีนกลับคืนมา แต่ผมไม่เห็นว่าโปรดให้กลับเป็นพระยาพิพิธแต่อย่างใด ดังนั้นในเวลานั้นจึงมีพระยาราชาเศรษฐีสองคน จนกระทั่งปลายรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี หมักเทียนตื๊อหนีภัยพวกไตเซินมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แล้วถูกประหาร (หลักฐานต่างประเทศว่าถูกบังคับให้ฆ่าตัวตาย) ในเวลาต่อมา จึงมีพระยาราชาเศรษฐี 2 คนจริงๆครับ อย่างน้อยก็ในความรับรู้ของฝ่ายไทยนี่แหละ
แต่พระยาราชาเศรษฐีสองคนนี้จะเรียกว่าเป็นขุนนางเขมรขุนนางไทยอย่างไรผมว่ายังสับสนอยู่ครับ ถ้าง่ายขนาดนั้นคงไม่ต้องยกขึ้นมาคุยกันกระมัง โปรดติดตามต่อไป

อย่างที่ว่าไปแล้วว่า ช่วงนั้น เขมรเป็นประเทศราชสยาม
แต่มีอิสระในการปกครองในดินแดนตนเองอย่างรัฐปกติ
การติดต่อระหว่างกับเจ้าเมืองเขมรจึงต้องติดต่อในฐานะ
ผู้ปกครองประเทศราช จึงต้องใช้ว่า ศุภอักษร
เช่นเดียวกับเจ้าเชียงใหม่ เจ้าลำปาง เจ้าน่าน เจ้าเวียงจันทน์
เจ้าจำปาศักดิ์ เจ้าหลวงพระบาง เมื่อสยามจะติดต่อราชการอะไร
จะต้องแต่งศุภอักษรไปถึง และเขาจะแต่งศุภอักษรส่งมา
ถ้าเป็นหัวเมืองในปกครองสยามเอง หนังสือที่มีไปมาถึงเจ้าเมือง
เรียกว่าใบบอก ถ้าเป็นหนังสือที่มีไปมาถึงเจ้าที่เป็นรัฐอิสระเหมือนกัน
เรียกว่า พระราชสาส์น
เรื่องนั้นเข้าใจดีครับ แต่ประเด็นของผมอยู่ที่ว่า คนที่ติดต่อด้วยนั้นไม่ใช่เจ้าเขมรสิครับ แต่เป็น "พระยาราชาเศรษฐี" ซึ่งว่ากันตามทำเนียบขุนนางเขมร เป็นแค่เจ้ากรมลูกค้า ดังนั้นเมื่อหนังสือไปถึงพระยาราชาเศรษฐีเป็น "ศุภอักษร" ก็แสดงว่าพระยาราชาเศรษฐีคนนี้มีฐานะเป็นเจ้าประเทศราชครับ ไม่ใช่ขุนนางเขมร