เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 21962 พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
 เมื่อ 09 มิ.ย. 11, 09:47

พงศาวดารไทยสมัยกรุงธนบุรีต่อเนื่องมาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเอ่ยถึงพระยาราชาเศรษฐีและเมืองพุทไธมาศอยู่หลายครั้ง โดยนัยยะนั้นดูเหมือนว่าราชาเศรษฐีจะเป็นราชทินนามสำหรับตัวเจ้าเมืองพุทไธมาศโดยเฉพาะเลยทีเดียว แต่ใช่เช่นนั้นจริงหรือ?
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 มิ.ย. 11, 09:57

พงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่เรียบเรียงในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเอ่ยถึงพระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศครั้งแรกดังนี้

อนึ่ง พะม่าตั้งอยู่ณเมืองธนบุรีแลล้อมกรุงเทพฯ ไว้นั้น ในกรุงก็ได้มีหนังสือไปถึงพระยาราชาเศรษฐี ๆ แต่งกองทัพลำเลียงอาหารเข้ามาช่วยถึงปากน้ำ พะม่าคอยสะกัดทางทำอันตรายอยู่ไปมิถึง พอสิ้นเสบียงอาหารแล้วก็กลับไป  เห็นว่าความชอบเมืองพุทไธมาศมีแก่กรุงอยู่ บัดนี้เราจะให้ศุภอักษรไป ให้พระยาราชาเศรษฐียกพลทหารเข้ามาช่วยกันรบพะม่าซึ่งตั้งอยู่ณเมืองธนบุรีจึงจะเป็นความชอบแก่พระยาราชาเศรษฐีสืบไป นายทัพนายกองทั้งปวงก็เห็นด้วย  จึงรับสั่งให้แต่งศุภอักษรออกไปเมืองพุทไธมาศ


เมื่อผมรวบรวมข้อมูลใส่กระทู้พระเจ้าญาลอง อ่านตอนนี้ผ่านไปโดยไม่ทันได้คิดว่าทำไมกรุงศรีอยุธยาต้องแต่งศุภอักษรไปถึงเมืองพุทไธมาศด้วย เมืองพุทไธมาศมีสถานะเช่นใดกันแน่?
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 09 มิ.ย. 11, 10:14

พงศาวดารเขมร (อ้างจากในประชุมพงศาวดารเป็นหลักนะครับ) เรียกเมืองพุทไธมาศว่าบันทายมาศ แต่เมื่อเทียบเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงกรุงธนบุรี กับพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศแล้วได้ความดังนี้

พงศาวดารเขมร
ลุศักราช ๑๑๓๒ ศกขาลนักษัตร สมเด็จพระโสทัตผู้เปนใหญ่ในเมืองเปียมคิดตามอำเภอใจด้วยความโลภเจตนาเหมือนตักกะแตนเข้าดับเพลิงละเลิงใจ เกณฑ์ไพร่พลในแขวงเมืองบันทายมาศ เมืองตรังยกเปนกองทัพไปจับคนเมืองทุ่งใหญ่เมืองจันทบุรี จึงพวกกองทัพไทยยกออกมาสู้รบชนะ แม่ทัพแม่กองสมเด็จพระโสทัตหนีกระจัดกระจายถอยทัพกลับมาเมืองเปียม เมื่อศักราช ๑๑๓๓ ศกเถาะนักษัตร พระเจ้าตากคิดจัดเกณฑ์ไพร่พลให้เจ้าพระยายมราชเปนแม่ทัพใหญ่ ยกมาถึงเมืองบางคางตามทางบก ถึงเมืองนครวัดปัตบองเข้ามาถึงเมืองโพธิสัตว

ฝ่ายพระเจ้าตากจึงจัดทัพเรือจัดเครื่องสำหรับศึก ใช้สำเภาเภตรานาวาใหญ่น้อย     นำสมเด็จพระรามมาถึงเมืองเปียม     มารบไล่พระโสทัตหนีกระจัดกระจายไปอยู่เมืองตึกเขมา

พงศาวดารกรุงธนบุรี
วันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๓ ปีเถาะตรีศก ( พ.ศ. ๒๓๑๔ ) เพลาเช้าโมง ๕ บาทได้พิชัยฤกษ์ เสด็จลงพระที่นั่งสำเภาทอง ยกทัพหลวงออกจากเมืองธนบุรีไปทางปากน้ำเจ้าพระยาเรือรบ ๒๐๐ ลำ เรือสำเภา ๑๐๐ ลำ พลทหารไทยจีนฝรั่งเป็นคน ๑๕๐๐๐ เศษ สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธทั้งปวง เดชะพระบรมโพธิสมภารคลื่นลมร้ายในพระมหาสมุทรก็บันดาลสงบเป็นปกติ เสด็จไป ๕ เวนประทับปากน้ำจันทบูร จึงให้พระยาโกษาเป็นแม่ทัพยกไปตีตะโพงโสมและกองกุก แล้วเสด็จไป ๖ เวน วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ ขึ้น ๘ ค่ำ เถิงปากน้ำพุทไธมาศ สถิตณตึกจีนฟากตะวันตกเฉียงใต้ จึงได้มีหนังสือพระยาพิชัยไอศวรรย์กองทัพหน้า ให้ญวนมีชื่อซึ่งจับได้มานั้นถือเข้าไปเถิงพระยาราชาเศรษฐี ว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวยกกองทัพบกทัพเรือมานี้ พระราชประสงค์จะเศกพระองค์รามราชาให้ครองกรุงกัมพูชาธิบดี แล้วจะเอาตัวเจ้าจุ้ยเจ้าเสสังแลข้าหลวงชาวกรุงซึ่งไปอยู่เมืองใดๆ จงสิ้น  ถ้าและพระยาราชาเศรษฐีมิได้ภักดีด้วยเห็นว่าต้านทานได้ ก็ให้แต่งการป้องกันเมืองจงสรรพ ถ้าเห็นว่าจะสู้มิได้ ก็ยังทรงพระกรุณาโปรดอยู่ ให้ออกมากราบถวายบังคม เราจะช่วยทำนุบำรุง เถิงว่าแก่แล้วมามิได้ ก็ให้แต่งหุเอียบุตรออกมาถวายบังคมจงฉับพลัน ถ้าช้าอยู่จะทรงพระพิโรธฆ่าเสียให้สิ้น พระยาราชาเศรษฐีจึงให้หนังสือตอบออกมาว่า ซึ่งให้หนังสือมาเถิงข้าพเจ้า ๆ ขอบใจนัก จะหาขุนนางมาปฤกษาให้พร้อมกันก่อน ถ้าประนอมพร้อมกันแล้วจึงจะบอกไปให้แจ้ง และพระยาราชาเศรษฐีก็มิได้ให้ผู้ใดออกมาบอก จึงดำรัสสั่งกรมอาจารย์ให้จัดกันที่แกล้วหาญเข้าปล้นเมืองทั้งนายไพร่ ๑๑๑ คน จึงให้เกณฑ์ทหาร ๒๔๐๐ เข้าสมทบแล้วพระราชทานฤกษ์แลอุบายให้ปล้นในเพลา ๒ ยามนั้น ก็ปีนกำแพงเข้าไปได้ จุดเพลิงขึ้นสว่างรุ่งเรือง ได้ยุทธนาการรบกันกับญวนซึ่งอยู่ในเมืองนั้นช้านาน แลนายทัพนายกองรี้พลทั้งปวงซึ่งตั้งค่ายรายล้อมอยู่นั้น จะบุกรุกเข้าไปช่วยก็มิได้ ด้วยญวนยังรักษาหน้าที่ยิงรบ  อยู่ ไพร่พลทั้งปวงก็อิดโรยลง เดชะบรมโพธิสมภารบันดาลดลจิตต์ โยธาทหารทั้งปวงให้สำคัญว่าเสด็จไป ก็มีน้ำใจองอาจแกล้วหาญยิ่งนัก ตีกระโจมเข้าไปทั้งบกทั้งเรือ จีนญวนซึ่งรักษาหน้าที่ก็แตกหนีไป พอรุ่งขึ้นวันอาทิตย์    เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เพลาเช้าก็เข้าเมืองได้ และพระยาราชาเศรษฐีลงเรือหนีไปได้


เหตการณ์เดียวกัน เมืองพุทไธมาศเขมรเรียกเมืองเปียม พระยาราชาเศรษฐีเขมรว่าสมเด็จพระโสทัต ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน พงศาวดารเขมรยังมีการเอ่ยถึงเมืองบันทายมาศอยู่ด้วย สนุกล่ะสิครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 09 มิ.ย. 11, 10:15

ประทานโทษนะคะ  เมืองบันทัยมาศ  นี่อยู่ตรงไหนคะ

มีข้อมูลเรื่องพระยาราชาเศรษฐี(เจียม)  จากหนังสือพระราชประวัติ พระเจ้าตาก(สิน)  พิมพ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๘

ข้อมูลนี้ได้รับการคัดลอกต่อ ๆ มามาก    เช่นพระวรกายของพระเจ้าตากสินเป็นพุทธจัตุรัศกาย

ข้อมูลบอกว่า   พระยาราชาเศรษฐี ต่อมาได้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองบันทัยมาศ

พิจารณาอยู่ประมาณเจ็ดปีแล้วค่ะ   ไม่สามารถยืนยันความถูกต้องได้

โปรดถือว่าแวะมาคุยกัน

ถ้าสนใจจะคัดลอกมาให้เพื่อช่วยพิจารณาความเป็นไปได้
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 09 มิ.ย. 11, 10:16

ตามทำเนียบบรรดาศักดิ์กรุงกัมพูชาว่า

เมืองพุทไธมาศ เป็นเมืองที่ขึ้นแก่เมืองกรัง ซึ่งเป็นเมืองเอก
เจ้าเมืองเมืองกรัง มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาพิศณุโลก
เจ้าเมืองเมืองพุทไธมาศ  มีบรรดาศักดิ์เป็น  พระยาราชาเศรษฐี
ทั้งเมืองกรังและเมืองพุทไธมาศ  ต่างก็เป็นเมืองส่วยขึ้นแก่พระยายมราช

เมืองที่ขึ้นกับเมืองกรัง  มีดังนี้

๑.เมืองกำโปด หรือเมืองกำปอด พระยาเสนานุชิต เป็นเจ้าเมือง
๒.เมืองพุทไธมาศ
๓.เมืองกพงโสม หรือ กำปงโสม  พระยาธิเบศร์สงคราม เป็นเจ้าเมือง
๔.เมืองบาทีทางเรือ
๕.เมืองบาทีทางบก
๖.เมืองไพรกะบาด  พระยาไชยโยธา เป็นเจ้าเมือง
๗.เมืองคองบาศรี
๘.เมืองเปี่ยมสุทัศ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 09 มิ.ย. 11, 10:29

ข้อมูลเพิ่มเติมให้คุณม้าและสมาชิกท่านอื่นช่วยกันทราบว่า มีผู้วิจัยเอกสารที่รายงานถึงพระเจ้าเฉียนหลง จดหมายเหตุต้นฉบับเก็บไว้ที่พระราชวังหลวง กรุงปักกิ่ง ซึ่งมีผู้วิจัยได้ค้นคว้าเฉพาะช่วงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ดังนี้

เมืองพุทไธมาศ = เมืองบันทายมาศ = ฮาเตียน = เหอเซียน

ในสมัยเริ่มต้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น เมืองพุทไธมาศนั้นมีผู้ว่าราชการ ซึ่ง จีนเรียกว่า "โหม ซื่อหลิง" ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเชื้อสายกษัตริย์อยุธยาให้ทำการขึ้นครองราชย์ต่อหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา โดยคิดการใหญ่ต้องการยกพระนัดดาแห่งกษัตริย์อยุธยาที่หนีไปอาศัยที่เมืองพุทไธมาศขึ้นแทน มีพระนามเรียกอย่างจีนว่า "เจ้าจุ้ย"
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 09 มิ.ย. 11, 10:29

พงศาวดารเขมรในประชุมพงศาวดาร มีบัญชีการแต่งตั้งขุนนางตำแหน่งต่างๆ ในปี จศ. ๑๑๕๖ ด้วย

ปรากฏชื่อ พระยาราชาเศรษฐี เป็นเจ้ากรมลูกค้า ในขณะที่ เจ้าเมืองบันทายมาศ กลับเป็นพระยาโยธาธิบดี ครับ

หากข้อมูลนี้ถูกต้อง ก็อยู่หลังเหตุการณ์สมัยกรุงธนบุรีเพียง ๒๐-๓๐ ปีเท่านั้นเอง ผมไม่แน่ใจว่าตำแหน่งเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเท่าใดครับ คุณหลวงเล็กพอจะบอกช่วงเวลาที่รวบรวมทำเนียบบรรดาศักดิ์กรุงกัมพูชาได้ไหมครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 09 มิ.ย. 11, 10:41

โดยความเข้าใจโดยทั่วไป เมืองพุทไธมาศหรือบันทายมาศคือเมืองเดียวกับเมืองห่าเตียนของเวียดนาม

เมืองห่าเตียน (Hà Tiên) นี้ หนังสือเก่าของไทยเห็นเรียกว่า ฮาเตียนบ้าง ฮ่าเตียนบ้าง เขียนอย่างจีนว่า 河仙 (จีนกลางว่า เหอเซียน) แปลว่าแม่น้ำเซียน คือเซียนแบบอมตะนะครับ น่าสังเกตว่าการเรียงคำเป็นอย่างในภาษาเวียดนาม ชื่อเป็นชื่อญวนครับ (ถ้าจีนต้องสลับคำกัน เป็นเซียนเหอ)

เมืองเดียวกันนี้ ยังมีชื่อจีนอีกชื่อหนึ่งคือ 港口 (กั๋งโข่ว) แปลว่าปากท่า (อ่าว) ในขณะที่ชื่อ เปียม ที่ปรากฏในพงศาวดารเขมรแปลว่า ปากน้ำ (หมายรวมถึงปากน้ำที่แม่น้ำสายหนึ่งไหลมาออกอีกสายหนึ่งได้ อย่างเช่นปากน้ำแม่เบี้ยของเรา)

แต่ถ้ารวบเปียมเข้าเป็นเมืองเดียวกับบันทายมาศ ก็จะไม่สามารถอธิบายว่าทำไมพงศาวดารเขมรถึงพูดถึงเปียมกับบันทายมาศเป็นคนละเมืองได้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 09 มิ.ย. 11, 11:00

ปัจจุบันเมืองห่าเตียนอยู่ในประเทศเวียดนาม เป็นเมืองปากแม่น้ำ อยู่ในอ่าวไทย ตรงริมพรมแดนเขมร ข้อมูลของคุณ Wandee สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่ผมเกรงว่าตัวพระยาราชาเศรษฐีจะยิ่งใหญ่กว่า "ผู้สำเร็จราชการ" มากนักครับ

พระยาราชาเศรษฐีที่มีบทบาทเกือบตลอดสมัยกรุงธนบุรี มีชื่อเป็นทางการ (字) ว่า 鄚士麟 (จีนกลางว่า ม่อซื่อหลิน คือ โหม ซื่อหลิง ที่คุณ siamese กล่าวถึงครับ) แต่มีชื่อตัวว่า 鄚天賜 (ม่อเทียนชื่อ) เรียกอย่างเวียดนามว่า Mạc Thiên Tứ (หมักเทียนตื๊อ) ซึ่งผมตั้งข้อสังเกตไว้ในกระทู้พระเจ้าญาลองว่าน่าจะเป็นที่มาของชื่อองเชียงสือที่พงศาวดารไทยจับเอามาสวมให้พระเจ้าญาลองแบบผิดฝาผิดตัว

และพระยาราชาเศรษฐีคนนี้แหละครับที่พงศาวดารเขมรเรียกว่าสมเด็จพระโสทัต ดูจากชื่อแล้วต้องใหญ่โตไม่น้อยกว่าสมเด็จฮุนเซ็นสักเท่าใด ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 09 มิ.ย. 11, 11:02

แปะแผนที่ให้คุณวันดี


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 09 มิ.ย. 11, 11:07

พงศาวดารเขมร เปิดตัวสมเด็จพระโสทัตไว้อย่างน่าตื่นใจดังนี้

ศักราช ๑๑๑๖ สัมฤทธิศกแล้วจึงตั้งพระนามอนักองค์ตนผู้เปนพระราชนัตโตเรียกว่าสมเด็จพระอุไทยราชาเหมือนพระนามสมเด็จพระบวรราชบิดา แล้วพระองค์ให้ตั้งสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์เปนพระมหาอุปราช ลุศักราช ๑๑๑๗  ศกกุนนักษัตร สมเด็จพระศรีไชยเชษฐาพระองค์ทรงราชย์ได้ ๗ ปี พระชัณษาได้ ๔๖ปี พระองค์ทรงพระประชวรสุรคตดับพระชนม์ ลุเลิกพระศพเสร็จแล้ว จึงพระมหาสังฆราชพระราชครูปุโรหิตกับบรรดามุขมนตรีคิดพร้อมกัน     ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระรามาธิบดี ๆ พระองค์ครองราชย์เมื่อศักราช ๑๑๑๘ ศกชวดนักษัตร ลุศักราช ๑๑๑๙ ศกฉลูนักษัตร จึงสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ผู้เปนพระมหาอุปราชให้มาลอบฆ่าสมเด็จพระอุไทยราชา

ฝ่ายพระวรอันษาทอย พระเสนหาอันชิตตน พาพระองค์หนีไปในเพลากลางคืน เดินทางบกไปเมืองเปียม

ฝ่ายพระสัตรีอันชิตอวง พาพระแม่นางกับหญิงพระสนมลงเรือหนีไปถึงเมืองตระนมเสก แปลว่าบ้านนกแก้วจับ ครั้งนั้นสมเด็จพระโสทัตอยู่เมืองเปียม มีความยินดีรับเอาสมเด็จพระอุไทยราชาไปถึงเมืองเปียม แล้วสมเด็จพระอุไทยราชาขอเอาสมเด็จพระโสทัตเปนพระบิดาเลี้ยง จึงสมเด็จพระโสทัตใช้พระยาโกษาลำ พระยาโนเศรษฐีดอกับพระยศ เปนแม่ทัพครองไพร่พลยกมาถึง รบได้เมืองตรัง เมืองบันทายมาศ เมืองไพรกะบาด เมืองนครสับติน เมืองบาที  เมืองสำโรงทอง ตลอดเข้าไปถึงสู้รบกับทัพสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ซึ่งเสด็จสถิตย์อยู่เมืองบันทายเพ็ชร์


สมเด็จนักพระโสทัตเป็นใคร? ถึงมีบุญคุณกับสมเด็จพระอุไทยราชา แต่ถึงกับยกเป็นบิดาเลี้ยงเชียวหรือ? และการที่สมเด็จพระอุไทยราชาไปขอความช่วยเหลือ และก็ได้ความช่วยเหลืออย่างท่วมท้นเช่นนี้ เห็นได้ว่าสมเด็จพระโสทัตนี่ไม่ใช่ขุนนางธรรมดาแน่ๆครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 09 มิ.ย. 11, 11:22

ผมเคยสงสัยว่าชื่อ สมเด็จพระโสทัต นี้อาจเป็นชื่อที่สมเด็จพระอุไทยราชาพระราชทานให้หมักเทียนตื๊อหลังจากทำความชอบครั้งนั้นแล้ว แต่ผิดถนัดครับ มีหลักฐานสำคัญคือหนังสือเจริญสัมพันธไมตรีที่หมักเทียนตื๊อส่งไปยังโชกุนโตคุกาวาในปี ค.ศ. ๑๗๔๒ (ราว จ.ศ.๑๑๐๔)  อ้างตนเป็นเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี มีพระนามว่านักสมเด็จพระโสทัต (Neak Somdec Preah Sotoat)

เรื่องอ้างตนว่าเป็นเจ้ากรุงกัมพูชานั้น เห็นได้ชัดว่าลักไก่ แต่ก็แสดงนัยยะว่าสมเด็จพระโสทัตผู้นี้มีอิสระที่จะดำเนินกิจกรรมทางการทูตได้ด้วยตนเอง เรียกโก้ๆว่าเป็นรัฐอิสระ เอกสารจีนในยุคนั้นเรียกว่าเป็น 港口国 (กั๋งโข่วกว๋อ) ถ้านับว่า 港口 มีความหมายตรงกับ เปียมแล้ว ก็เห็นจะแปลเป็นไทยได้อย่างโก้ๆว่า ราชอาณาจักรเปียม หรืออย่างขี้หมูขี้หมาก็ต้องเป็น รัฐเปียม ล่ะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 09 มิ.ย. 11, 11:47

บริเวณดินแดนในประเวียดนามปัจจุบัน  ตรงปากแม่น้ำโขงนั้น  แต่เดิมเป็นเขตรเขมรปกครอง
เรียกกันว่า แขมร์โกรม  หรือเขตรเขมรนอก  นัยว่าเป็นเมืองท่าที่อุดมสมบูรณ์มาก
ชาวจีนไปตั้งถิ่นฐานทำการค้าขายตรงนี้มาก  เพราะอยู่ในเส้นทางการค้าจากจีนญี่ปุ่นมาอุษาคเนย์
และบริเวณนั้นก็ทำนาได้ข้าวดีเสียด้วย  เพราะมีดินดีจากแม่น้ำโขง 
แต่ว่าน้ำท่วมบ่อย และเป็นเขตที่มักจะโดนพายุเข้าประจำ

บริเวณดังกล่าว  เคยเป็นพื้นที่ปัญหาพิพาทกันระหว่างสยามและญวนในสมัยรัชกาลที่ ๓
เรื่องนี้ ไปอ่านอานามสยามยุทธ ของ ก.ศ.ร.รวบรวมพิมพ์ จะได้ดีกว่า
เนื่องจากเจ้าเขมรแบ่งฝักฝ่ายไปขึ้นกับญวนบ้าง กับสยามบ้าง  ทำให้มีปัญหา
เรื่องดินแดน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาเรื่องการแย่งราชสมบัติของเจ้าในเมืองเขมรเองด้วย


ต่อมาบริเวณดังกล่าว  ก็ตกเป็นของเวียดนาม  และได้มีการเปลี่ยนชื่อเมืองที่ภาษาเขมร
ให้เป็นภาษาเวียดนาม   คนจีนที่อยู่แถบนั้น ได้อพยพย้ายเข้ามากับกองทัพ
เจ้าคุณบดินทรเดชาสมัยรัชกาลที่ ๓  มาอยู่เมืองสยาม  และเป็นต้นสกุลหลายๆ สกุล
เช่นเวชชาชีวะ  เป็นต้น  นอกจากนี้ก็พวกญวนที่นับถือคริสต์ซึ่งได้มาอยู่ในกรมทหารปืนใหญ่
กับพวกสยามเชื้อสายโปรตุเกส  พวกญวนพุทธที่เข้ามาก็มีมากที่เข้ามาตั้งรกรากในสยามคราวนั้น

ในรายละเอียด  ขอไปหาข้อมูลก่อน  พูดไปเรื่อยเดี๋ยวผิด
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 09 มิ.ย. 11, 11:52

หมักเทียนตื๊อ (ที่พงศาวดารไทยเรียกว่าพระยาราชาเศรษฐีญวน) ผู้นี้ มีบิดาเป็นชาวจีนชื่อ 鄚玖 (ม่อจิ่ว) เป็นชาว 雷州 (เหลยโจว) มณฑลกวางตุ้ง เรียกชื่ออย่างเวียดนามว่า Mạc Cửu (ออกเสียงอย่างยากส์ส์ส์ว่า หมักกื๋ว)

ตามประวัติ ม่อจิ่วเป็นพวกต่อต้านราชวงศ์ชิง เมื่อพวกแมนจูแผ่อำนาจลงมาปราบปรามกองกำลังสุดท้ายของชาวฮั่นที่เกาะไต้หวันได้สำหรับ แม่ทัพฝ่ายฮั่นหลายคนยกกองกำลังเข้าสวามิภักดิ์ราชสำนักเหงวียนที่กว๋างนาม และเป็นกำลังสำคัญในการแผ่อำนาจลงใต้ของพวกก๊กเหงวียน แต่เมื่อพิจารณาว่าม่อจิ่วเกิดในปี ค.ศ.1655 และอ้างเหตุเกาะกระแสต่อต้านราชวงศ์ชิงอพยพมาที่เขมรในปี 1671 ถ้าไม่ใช่เป็นผู้รักชาติที่หัวก้าวหน้าเกินวัยไปมากแล้วก็เห็นจะเป็นราคาคุยเสียมากกว่าล่ะครับ

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หลังจากเดินทางแสวงโชคไปในหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ม่อจิ่วตั้งตัวได้ที่เขมร โดยเฉพาะเป็นผู้ก่อตั้งเมืองห่าเตียน โดยมีจุดแข็งที่เป็นเมืองท่าปลอดภาษี และยังเปิดบ่อนการพนันให้พวกชาวเรือได้มาสนุกกัน ทำให้เมืองนี้รุ่งเรืองขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ว่ากันว่าม่อจิ่วได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ "ออกญา" จากกษัตริย์เขมร ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสงสัยกันอยู่ว่าม่อจิ่วได้เป็นออกญาจริงหรือไม่

ผมสงสัยว่าม่อจิ่วน่าจะได้เป็นออกญาราชาเศรษฐี หรือพระยาราชาเศรษฐีในพงศาวดารไทย
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 09 มิ.ย. 11, 12:54

มีบางคนสงสัยว่า  ก็ในสมัยธนบุรี  พระยาราชาเศรษฐีคนหนึ่งก็ตั้งบ้านเรือน
เป็นหัวหน้าในชุมชนชาวจีน  ตรงบริเวณที่ที่ตั้งพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน
(ในสมัยรัชกาลที่ ๑  โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายชุมชนชาวจีนไปตั้งที่สำเพ็ง)

แล้วทำไมจึงได้มีพระยาราชาเศรษฐีไปเป็นเจ้าเมืองพุทไธมาศที่เมืองเขมรได้
หรือจะมีพระยาราชาเศรษฐีสองคน

พระยาราชาเศรษฐีที่อยู่กรุงเทพฯ ฝั่งพระนครนั้น  
เป็นขุนนางที่พระเจ้าแผ่นดินไทยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

ส่วนพระยาราชาเศรษฐีที่เป็นเจ้าเมืองพุทไธมาศ
เป็นขุนนางที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
ถึงแม้ว่าในช่วงนั้น  เขมรจะอยู่ในฐานะประเทศราชของสยาม
แต่ก็มีอำนาจในการบริหารราชการบ้านเมืองดุจอาณาจักรอิสระ
คือ สามารถแต่งตั้งข้าราชการของตนให้มีบรรดาศักดิ์ได้
สามารถเก็บภาษีในแผ่นดินของตนได้  ออกกฎหมายต่างๆ
เพื่อใช้บังคับคนในแผ่นดินตนได้

และถ้าสังเกตให้ดี  บรรดาศักดิ์ข้าราชการเขมร
มีหลายบรรดาศักดิ์ที่ตรงกับบรรดาศักดิ์ข้าราชการไทย
ฉะนั้นบางทีอ่านเอกสารเก่าแล้สวอาจจะงงว่า
ข้าราชการบรรดาศักดิ์เดียวกันทำไมเดี๋ยวอยู่เมืองไทย
เดี๋ยวไปอยู่เมืองเขมร  ก็ขอให้เข้าใจว่า
ข้าราชการสยามกับเขมรมีบรรดาศักดิ์เหมือนกันนั่นเอง

อ้างถึง
เมื่อผมรวบรวมข้อมูลใส่กระทู้พระเจ้าญาลอง
อ่านตอนนี้ผ่านไปโดยไม่ทันได้คิดว่าทำไมกรุงศรีอยุธยา
ต้องแต่งศุภอักษรไปถึงเมืองพุทไธมาศด้วย
เมืองพุทไธมาศมีสถานะเช่นใดกันแน่?

อย่างที่ว่าไปแล้วว่า  ช่วงนั้น เขมรเป็นประเทศราชสยาม
แต่มีอิสระในการปกครองในดินแดนตนเองอย่างรัฐปกติ
การติดต่อระหว่างกับเจ้าเมืองเขมรจึงต้องติดต่อในฐานะ
ผู้ปกครองประเทศราช   จึงต้องใช้ว่า  ศุภอักษร  
เช่นเดียวกับเจ้าเชียงใหม่  เจ้าลำปาง  เจ้าน่าน  เจ้าเวียงจันทน์
เจ้าจำปาศักดิ์   เจ้าหลวงพระบาง  เมื่อสยามจะติดต่อราชการอะไร
จะต้องแต่งศุภอักษรไปถึง  และเขาจะแต่งศุภอักษรส่งมา
ถ้าเป็นหัวเมืองในปกครองสยามเอง  หนังสือที่มีไปมาถึงเจ้าเมือง
เรียกว่าใบบอก   ถ้าเป็นหนังสือที่มีไปมาถึงเจ้าที่เป็นรัฐอิสระเหมือนกัน
เรียกว่า พระราชสาส์น
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 19 คำสั่ง