เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 17697 ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 31 พ.ค. 11, 11:21

ฟังคำบ่นด้วยความยินดี และเห็นด้วยค่ะ      รัฐน่าจะลดภาษีกระดาษให้เรามีหนังสือดีๆราคาถูกอ่านมากกว่าเดี๋ยวนี้   
อย่างไรก็ตาม  ด้วยการสื่อสารอีเล็กโทรนิคส์   ทางออกใหม่จะมาถึง     ต่อไปสนพ.จะง้อกระดาษน้อยลงทุกที  เพราะ e-books จะเข้ามาแทนที่    ไม่ว่า ipad หรือ kindle จะเป็นคำตอบของนักอ่าน    คุณอาจจะหาผลงานของมาลัย ชูพินิจ   ดอกไม้สด ยาขอบ ศรีบูรพา ลาวคำหอม  ทั้งชุด อ่านทาง kindle ได้ในอนาคต   ไม่ต้องไปเดินหาหนังสือนานเป็นช.ม.ๆ ให้หน้ามืดตาลายในงานสัปดาห์หนังสือ

หนังสือเก่าที่คุณอยากอ่าน อาจจะลองค้นหาจาก amazon ดูก่อนก็ได้ค่ะ

กลับมาเรื่องยาหม้อใหญ่ ที่ปรุงรสเป็นน้ำใบบัวบกเย็นส่งให้คุณ POJA เมื่อวาน      ดิฉันขอยืนยันว่าการถอดคำประพันธ์ไม่ใช่การสอนวรรณคดี  แต่เป็นขั้นตอนแรกที่ครูควรจะทำให้ชัดเจนในห้องเรียนว่า ศัพท์ยากๆและความหมายในเนื้อหาคืออะไร   ครูเป็นคนทำ ไม่ใช่ให้การบ้านเด็กไปทำ
เมื่อเด็กผ่านกำแพงภาษา ข้ามไปได้แล้ว  จากนั้นก็ถึงตัววรรณคดี    ไม่ใช่มาติดตะเกียกตะกายปีนกำแพงอยู่ตรงนั้นจนจบเทอม 

เมื่อก่อนนี้อยากให้เด็กที่เข้ามาถามในเว็บบอร์ดลองทำการบ้านเองก่อนแล้วโพสให้อ่าน  เพื่อจะได้ดูว่าไม่เข้าใจตรงไหน   เขาและเธอถอดความผิดๆถูกๆก็ไม่เป็นไร   ผิดหมดก็ไม่เป็นไร  ไม่สำคัญ   เพราะอ่านแล้วจะดูออกว่าติดขัดตรงไหน  จะได้อธิบายให้ฟัง  แล้วเลยไปถึงอธิบายวรรณคดีตอนนั้นให้ฟังว่าน่าอ่านยังไง
น่าเสียดายว่าเด็กๆที่เข้ามาถาม ถ้าไม่ได้คำตอบกลับไปแบบสำเร็จรูป ก็หายไปเลย  ไม่มีใครพยายามตอบ     จึงรู้ว่าวรรณคดีเป็นวิชาไม่พึงประสงค์ของนักเรียนจำนวนมาก   นับว่าน่าเสียดาย  เพราะในบรรดามรดกของชาติ ที่เหลืออยู่ไม่กี่อย่าง  วรรณคดีเป็นหนึ่งในนั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 31 พ.ค. 11, 11:54

ถ้าหากว่าจัดหลักสูตรวรรณคดีใหม่ได้ ก็จะรื้อถอนประเพณีการถอดคำประพันธ์ยาวๆยากๆ ออกไปจากการบ้านเด็ก  แต่ให้ครูอธิบายให้ฟังให้หมด   จากนั้นก็เลือกวรรณคดีตอนที่สามารถสื่อสารความคิดกับเด็กรุ่นหนุ่มสาวปัจจุบันได้     ไม่ใช่วรรณคดีที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีอะไรก็ไม่รู้   เกิดมาอย่าว่าแต่นักเรียนไม่เคยเห็นเลย  ครูก็ไม่เคยเห็น  แล้วจะสอนให้มีรสชาติน่าสนุกน่าสนใจได้ยังไง
อย่างค.ห. 10 ในกระทู้นี้   เห็นการบ้านแล้วสงสารเด็ก

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2162.msg40504;topicseen#msg40504

ถ้าจะเอาของเก่ามาสอน ครูก็ต้องหาตัวอย่างมาให้ดูให้ได้ อย่างกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน   ล่าเตียงเป็นไง มัศกอดเป็นไง ต้องหาสูตรออกมาให้เห็นกันเลยว่าเขาทำกันอย่างไร   จะได้โยงไปสู่คำถามว่า มันมีส่วนคล้ายอาหารอะไรที่นักเรียนรู้จักบ้างไหม  อย่างน้อยมันก็ต้องมีส่วนผสมอะไร ที่เด็กรู้จักสักอย่างสองอย่างบ้างละ    เป็นการจุดประกายต่อไปให้นักเรียนคิด และสนใจใคร่รู้

ที่อดคิดไม่ได้อีกอย่างคือ การสอนวรรณคดีไทยในชั้นเรียน อย่าว่าแต่เด็กที่เบื่อแทบตาย    แม้ครูก็คงมีจำนวนหนึ่งที่เบื่อเหมือนกัน   จึงไม่สามารถสร้างสรรค์ความมีชีวิตชีวาให้ได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 31 พ.ค. 11, 13:27

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู และทุกๆท่าน ณ เรือนไทยแห่งนี้ครับ
   เมื่อไม่นานมานี้ google พาผมหลุดเข้าไปในเว็บไซต์เด็กดีดอดคอม แล้วก็ให้เผอิญเหลือเกินที่ไปเจอกระทู้อันเปิดประเด็นถึง
สาเหตุแห่งการไม่ชอบวรรณคดีไทยของเยาวชน ผมอ่านเหตุผลของคนที่ไม่ชอบแล้ว บ้างก็ว่า รับไม่ได้ที่พระเอกวรรณคดีไทยมีเมียมาก  (ทั้งๆยุคโน้น เสรีทางเพศ ความโสมมแห่งกามารมณ์ ชั้นเชิงโลกีย์ซับซ้อนยังมิเท่ายุคนี้) บ้างว่าเนื้อหาเชย บ้างว่าพระเอกเก่งเกินไป
       บ้างว่าเพราะถูกบังคับให้เรียนจึงต่อต้าน บ้างว่าโครงเรื่องซ้ำ แถมจบแบบไม่หักมุม บ้างว่าเบื่อแปลไทยเป็นไทย ฯลฯ
หลายปมปัญหาหลายเปลาะอันทำให้ยุวชนไม่ชอบ (บางคนถึงขั้นเกลียด) วรรณคดีไทยได้อย่างไรบ้าง ทุกท่านโปรดชี้หนทางด้วยเถิดครับ

      ขออธิบายก่อนว่า  วรรณคดีมีหลายประเภท  วรรณคดีหลายเรื่องไม่ได้มีเอาไว้สอนศีลธรรม   แต่ว่าด้วยความเป็นมนุษย์    มีผิดถูกชั่วดีให้เห็นกัน   วรรณคดีที่สอนศีลธรรมก็มี เช่นวรรณคดีทางศาสนา อย่างมหาเวสสันดรชาดก   เรื่องนี้สอนถึงการบำเพ็ญทานขั้นสูงสุด คือลูกเมียที่คนรักดังแก้วตาดวงใจก็สละให้ได้เพื่อหวังพระโพธิญาณ     แต่วรรณคดีเรื่องอื่นๆอย่างอิเหนา ขุนช้างขุนแผน ฯลฯ ไม่ใช่วรรณคดีศาสนา  กวีผูกเรื่องขึ้นจากชีวิตมนุษย์ปุถุชนที่เห็นกันอยู่รอบๆตัว           คนโบราณท่านรู้  จึงไม่มีใครสอนลูกสอนหลานให้ทำตัวอย่างขุนช้างหรือขุนแผน    ไม่มีใครเห็นว่านางวันทองทำถูกต้องแล้วที่ไม่รู้จะเลือกสามีคนไหนดี      
     ตรงกันข้าม  ถ้าพระเอกนางเอกในวรรณคดี อย่างเรื่องอิเหนาและขุนช้างขุนแผนทำตัวถูกต้องดีงามเคร่งครัด  เนื้อเรื่องก็ไม่เกิด   หรือเกิดก็จบแค่ตอนต้นๆ     ลองคิดดูว่าเมื่อพลายแก้วได้แต่งงานกับนางพิม  ขุนช้างอกหัก แต่ทำใจได้เพราะมีน้ำใจรู้แพ้รู้ชนะเป็นนักกีฬา  ขุนช้างก็ลากลับบ้านไม่กลับมายุ่งกับสองคนนี้อีก      ขุนช้างขุนแผนก็จบลงแค่นี้เอง  พลายแก้วกับนางพิมก็อยู่กันไปจนแก่เฒ่าตายไปตามอายุขัย   เรื่องทั้งเรื่อง กวีก็ไม่ต้องเขียนกันอีก   เพราะไม่รู้จะเอาอะไรมาเขียน
     หรือถ้าอิเหนาถอนหมั้นบุษบาไปแต่งงานกับจินตะหรา      กลับมาช่วยศึกเมืองดาหาเสร็จ  บุษบาจะงามกว่ายังไง อิเหนาก็มีศีลธรรมประจำใจ  รักใครรักจริง ก็ไม่แย่งชิงคู่หมั้นเก่ามาจากจรกา    แต่ลากลับไปอยู่กับจินตะหราเหมือนเดิมอย่างที่ควรทำ   เรื่องอิเหนาก็คงจบลงแค่นี้   ไม่มีบทบุษบาเสี่ยงเทียน  ไม่มีอิเหนาเผาเมือง  ไม่มีบทลมหอบและไม่มีอุณากรรณ    ไม่มีอะไรอีกตั้งครึ่งค่อนเรื่อง   ทำให้ผลพลอยได้จากบทเหล่านี้  เช่นนาฏศิลป์และเพลงไทยเดิมลาวเสี่ยงเทียน กับอะไรอื่นๆอีกมาก  พลอยหายไปจากวัฒนธรรมไทยด้วย
     คนที่ไม่ชอบวรรณคดีไทยเพราะไม่ถูกใจด้านศีลธรรม  ไม่ถือว่าคิดผิด   แต่เข้าใจผิด   เพราะตั้งสมมุติฐานผิดว่าวรรณคดีมีเอาไว้สอนศีลธรรม    ถ้าคุณชูพงศ์อ่านพบก็อย่าท้อใจ แต่ควรกระตุ้นให้คนคิดอย่างนี้ คิดต่อยอดไปว่า  ความเจ้าชู้หลายเมียของขุนแผน ก่อผลดีหรือผลเสียกับตัวเองและคนรอบตัวยังไงบ้าง     ทำให้เราได้ข้อคิดอะไรบ้างจากชีวิตของขุนแผน     ปัจจุบันความคิดนี้ยังใช้กันได้อยู่หรือไม่  ฯลฯ   นี่คือการเรียนวรรณคดีเพื่อสร้างสรรค์ความคิดให้ต่อยอดไป ไม่หยุดนิ่งแค่อ่านแล้วไม่ชอบพระเอก  ก็โยนหนังสือทิ้งไป    อย่างนั้นเป็นการอ่านวรรณคดีแบบสูญเปล่า ไม่ได้อะไรขึ้นมา    
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 31 พ.ค. 11, 16:12

"..ดิฉันขอยืนยันว่าการถอดคำประพันธ์ไม่ใช่การสอนวรรณคดี  แต่เป็นขั้นตอนแรกที่ครูควรจะทำให้ชัดเจนในห้องเรียนว่า ศัพท์ยากๆและความหมายในเนื้อหาคืออะไร   ครูเป็นคนทำ ไม่ใช่ให้การบ้านเด็กไปทำ เมื่อเด็กผ่านกำแพงภาษา ข้ามไปได้แล้ว  จากนั้นก็ถึงตัววรรณคดี    ไม่ใช่มาติดตะเกียกตะกายปีนกำแพงอยู่ตรงนั้นจนจบเทอม.."

อยากกด like ให้อาจารย์สัก 10 หน

เห็นด้วยค่ะว่าหากนักเรียนอ่านพอเข้าใจแล้ว วรรณคดีเป็นเรื่องสนุก เพียงแต่บริบททางสังคมบางอย่างอาจจะไม่เหมือนปัจจุบัน (ซึ่งวรรณกรรมของน้องๆ วันนี้ถือไปอ่านอีก 50 ปีข้างหน้า หลานๆ ก็ร้องว่าโบราณ ไม่เข้าใจเหมือนกัน) แต่สุดท้ายแล้วมันก็สะท้อนเรื่องของปุถุชน รักโลภโกรธหลงวนเวียนอยู่อย่างนี้ 

ฉากต่อปากต่อคำกันแรงๆ ในรามเกียรติก็ด่ากันถึงอกถึงใจไม่แพ้เรยาหรอกค่ะ

ถ้าบอกว่าน้องอ่านภาษาอังกฤษไม่เก่ง จีนไม่ได้ ฝรั่งเศสไม่รู้เรื่อง หนังสือไทยดีๆ ก็ไม่น่าจะพลาดเลย เสียดายเหลือเกินที่ "กำแพงภาษา" อย่างที่อาจารย์เปรียบไว้มันทำให้เด็กๆ ผ่านไปไม่ได้
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 01 มิ.ย. 11, 13:14

กระผม นายชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ ขอใช้ตัวอักษรต่อไปนี้ต่างธูปเทียนและมาลีกราบบูชาท่านอาจารย์เทาชมพูครับ ผมตั้งกระทู้ขึ้นก็ด้วยความวิตก กลัดกลุ้ม ครั้นได้อ่านอนุศาสน์อันล้ำค่าจากอาจารย์ ก็ดั่งเมฆหมอกในใจถูกกวาดให้แผ้ว แม้ผมจะมิได้เป็นครูสอนภาษาไทยตามความฝัน แต่ก็จะนำคำแนะนำของอาจารย์ไปใช้ประโยชน์ในโอกาสภายหน้าอย่างแน่นอนครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 01 มิ.ย. 11, 20:08

ขอบคุณค่ะ คุณชูพงศ์   
ขอถือโอกาสนี้ เล่าถึงการเรียนการสอนวรรณคดีต่อไปนะคะ

วรรณคดีเป็นการเรียนสุนทรียะหรือความงามทางภาษา ส่วนหนึ่ง   อีกส่วนหนึ่งคือเรียนเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับมนุษย์ในวรรณคดีนั้น    วรรณคดีที่ดีทำให้เราเข้าใจโลก เข้าใจมนุษย์มากขึ้น      เข้าใจความรู้สึกนึกคิดอันละเอียดอ่อนที่กวีแฝงไว้ในภาษา    คนที่เป็นกวีคือคนที่สามารถเขียนอย่างที่คนทั่วไปรู้สึก แต่เขียนไม่ได้     งานที่เข้าขั้นคืองานที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่า..ใช่เลย   อยากพูดอย่างนี้แต่พูดไม่ถูก   เคยรู้สึกอย่างนี้แต่เรียงลำดับออกมาไม่เป็น    กวีเป็นคนที่ตีแผ่หัวใจของคนอ่านออกมาให้เห็น     เป็นคนที่ทำให้โลกในหนังสือเกิดมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ   ให้คนอ่านก้าวเข้าไปสัมผัสได้ บางครั้งก็อยู่ในนั้นได้อย่างเพลิดเพลินจนกระทั่งถึงหน้าสุดท้าย  จึงก้าวกลับออกมา

ความประทับใจในวรรณคดี บางครั้งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะติดอยู่ในใจคนอ่านต่อมาอีกนานแสนนาน  แม้พ้นวัยเรียนไปนานแล้วก็ตาม  เป็นแรงบันดาลใจ  ก่อผลงานอันวิเศษยิ่งในภายหลัง


ตำนานศรีปราชญ์ ที่เล่าถึงชีวิตศรีปราชญ์ตอนยังเด็ก  เห็นโคลงของสมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งค้างอยู่แค่บาทที่ ๒  ที่พระราชทานมาให้พระโหราธิบดีต่อให้จนจบ  แต่พระโหราฯวางไว้  ไม่ทันต่อ     ลูกชายมาเห็นก็เขียนต่อให้จนจบ ว่า
     อันใดย้ำแก้มแม่                 หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย                 ลอบกล้ำ
 
  ศรีปราชญ์ต่อให้ว่า
    ผิว(ะ)ชนแต่จะกราย             ยังยาก
    ใครจักอาจให้ช้ำ                 ชอกเนื้อเรียมสงวน
   
  นักเรียนชายร.ร.กรุงเทพคริสเตียนคนหนึ่ง ประทับใจกับโคลงบทนี้ และบทอื่นๆในตำนานศรีปราชญ์อย่างมาก     ต่อมาเมื่อเรียนจบถึงวัยทำงาน    ได้ร่วมงานกับศิลปินนักแต่งทำนองเพลงที่เก่งฉกาจอีกคนหนึ่ง      แรงบันดาลใจจากบทกวี ก็กลายมาเป็นเพลงไพเราะประดับวงการเพลงไทยสากลมาจนทุกวันนี้   คือเพลง นวลปรางนางหมอง ของครูแก้ว อัจฉริยะกุล


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 06 มิ.ย. 11, 18:31

(ต่อ)

การเรียนการสอน วรรณคดีนอกจากนำไปใช้เป็นแรงบันดาลใจในสาขาอื่นๆของศิลปะ และนอกเหนือจากศิลปะ  มีอีกหลายอย่าง   บางประเทศที่เป็นสังคมนิยมก็เคยเอาวรรณคดีมารับใช้สังคม   ประธานเหมายกเรื่องวีรบุรุษเขาเหลียงซาน มาอธิบายลัทธิยอมจำนนของการเมืองจีน     ของไทยเราก็เหมือนกัน ในยุคซ้ายขวาพิฆาตกันก็มีการหยิบยกวรรณกรรมบางเรื่อง ที่สอดคล้องกับอุดมการณ์มายกย่อง   หรือประณามวรรณคดีไทยที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ของตัวเอง    ถึงได้เกิดความคิดจะเผาวรรณคดีเก่ากันก็ในยุคนั้น    เคราะห์ดีที่ไม่มีการเผาหรือต้องห้ามวรรณคดีไทยกันจริงๆ  แต่เคราะห์ร้ายอีกอย่างคือ วรรณคดีกลายเป็นยาหม้อใหญ่ที่นักเรียนอยากเททิ้ง   เป็นเคราะห์ที่ไม่เบากว่าถูกเผา

ถ้าทำให้วรรณคดีเป็นที่อยากเรียน  ไม่ถูกหลงลืมทันทีที่สอบเสร็จ  คำตอบก็คือทำให้เป็นเรื่องสนุก   เป็นเรื่องที่กระตุ้นสมองให้ขบคิด ไม่ใช่ฝังลงในสมองให้จำ   
เด็กนักเรียนจะจดจำเรื่องที่เขาประทับใจ และลืมเรื่องที่เขาเบื่อ   ครูก็ต้องพยายามทำให้วรรณคดีสนุกขึ้นมา   ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับถอดคำประพันธ์แน่นอน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 07 มิ.ย. 11, 16:02

ที่จริง สอนวรรณคดีให้สนุกมีได้หลายแบบ   ขอยกมาสักแบบหนึ่ง คือการสอนแบบวิจารณ์

การเรียนการสอนของเรา มักจะออกมาในรูปของการให้คำถามและคำตอบที่ตายตัว   พลิกแพลงไม่ได้ เช่นสอนว่า 2+2 = 4   มันจะเป็น 1  2  หรือ 3  หรือ 5  6 อะไรไม่ได้  ต้องเท่ากับ 4  จึงจะถูกต้อง
วรรณคดีเป็นวิชาที่สอนว่า  2+2 = 4  ก็จริง แต่ไม่ใช่ว่า "ต้อง" มีคำตอบเดียว    2+2 = 1+3  ก็ได้    หรือจะเป็น 2+2= 5-1 ก็ได้     หรืออะไรอีกก็ได้ที่เท่ากับ 4  
ยิ่งหาตัวเลขมาได้หลากหลายเท่าไร ก่อนจะถึงคำตอบสุดท้ายคือ 4  ก็ยิ่งดีเท่านั้น

ดังนั้นวรรณคดีจึงไม่ใช่วิชาเอาไว้ท่องจำ  แต่เป็นวิชาเอาไว้เพิ่มปัญญา
ถ้าสอนเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม  (ดิฉันเรียนตอนอยู่ม.ปลาย   สมัยนี้ไม่รู้เอาออกจากหลักสูตรหรือยัง)  ขอยกมาเพื่อให้เห็นว่า ขุนช้างขุนแผนตอนนี้ไม่ได้ยากเกินสมองของเด็กม.ปลาย  
วรรณคดีไม่ใช่วิชาสอนให้ตอบว่าพลายงามอยู่บ้านที่จังหวัดไหน  และเดินทางไปหาย่าที่จังหวัดไหน   เจออะไรบ้างก่อนถึงบ้านย่า    แต่ควรสอนให้คิดว่า ถ้าเธอเป็นพลายงาม เจอพ่อเลี้ยงคิดร้ายแบบขุนช้าง  จะหาทางออกแบบเดียวกับพลายงาม คือหนีตายไปพึ่งย่า    หรือว่ามีทางออกอย่างอื่น  อะไรบ้าง ที่เด็กจะทำได้
เด็กแต่ละคนจะถูกกระตุ้นให้ใช้สมองคิดหาคำตอบ   คิดค้นหาเหตุผลมาตอบครู     เราอาจจะแปลกใจถ้าพบว่าเด็กมีความคิดบางอย่างเข้าท่า   อย่างที่ผู้ใหญ่เองไม่ได้คิดมาก่อน  

คำตอบที่ถูกต้องไม่มีชนิดตายตัว  ที่สำคัญคือกระตุ้นให้นักเรียนคิด  ไม่ใช่กระตุ้นให้จำรายละเอียดในหนังสือ
การกระตุ้นให้คิด จะทำให้เด็กโตขึ้นมีความคิดสร้างสรรค์    ถ้ากระตุ้นให้จำ โตขึ้นจะลอกเลียนแบบได้เก่ง  ถ้ามีคำตอบในตำราแล้วตอบได้เท่าไรเท่ากัน   แต่คิดอะไรใหม่ๆเอง จะทำได้ยากเย็น  ส่วนใหญ่จะเป็นคนไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ  เพราะกลัวผิด  
บันทึกการเข้า
POJA
พาลี
****
ตอบ: 298


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 08 มิ.ย. 11, 15:05

(ต่อ)

การเรียนการสอน วรรณคดีนอกจากนำไปใช้เป็นแรงบันดาลใจในสาขาอื่นๆของศิลปะ และนอกเหนือจากศิลปะ  มีอีกหลายอย่าง   บางประเทศที่เป็นสังคมนิยมก็เคยเอาวรรณคดีมารับใช้สังคม   ประธานเหมายกเรื่องวีรบุรุษเขาเหลียงซาน มาอธิบายลัทธิยอมจำนนของการเมืองจีน     ของไทยเราก็เหมือนกัน ในยุคซ้ายขวาพิฆาตกันก็มีการหยิบยกวรรณกรรมบางเรื่อง ที่สอดคล้องกับอุดมการณ์มายกย่อง   หรือประณามวรรณคดีไทยที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ของตัวเอง    ถึงได้เกิดความคิดจะเผาวรรณคดีเก่ากันก็ในยุคนั้น    เคราะห์ดีที่ไม่มีการเผาหรือต้องห้ามวรรณคดีไทยกันจริงๆ  แต่เคราะห์ร้ายอีกอย่างคือ วรรณคดีกลายเป็นยาหม้อใหญ่ที่นักเรียนอยากเททิ้ง   เป็นเคราะห์ที่ไม่เบากว่าถูกเผา

ถ้าทำให้วรรณคดีเป็นที่อยากเรียน  ไม่ถูกหลงลืมทันทีที่สอบเสร็จ  คำตอบก็คือทำให้เป็นเรื่องสนุก   เป็นเรื่องที่กระตุ้นสมองให้ขบคิด ไม่ใช่ฝังลงในสมองให้จำ   
เด็กนักเรียนจะจดจำเรื่องที่เขาประทับใจ และลืมเรื่องที่เขาเบื่อ   ครูก็ต้องพยายามทำให้วรรณคดีสนุกขึ้นมา   ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับถอดคำประพันธ์แน่นอน

โชคดี ที่ได้เรียนกับ อจ.สอนวรรณคดีเก่ง ๆ หลายคน
แต่ยังไม่เคยเรียนวิชาการถอดคำประพันธ์เลยค่ะ สมัยก่อนคงไม่มีเรียน เด็กสมัยนี้เรียนกันยาก ๆ ทุกวิชา เคมี ชีวะ เรียนตั้งแต่ชั้นประถม
จริง ๆ แล้ว วรรณคดีสนุกเหมือนดูละคร
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 11 มิ.ย. 11, 01:56

     เพิ่งกลับมาถึงบ้าน  ถึงแม้ยังเหนื่อยและง่วง  แต่ได้อ่านกระทู้ของคุณชูพงศ์กระทู้นี้แล้วตาสว่างทันทีเลย  ขอบคุณที่ตั้งกระทู้ดีๆ อย่างนี้มาให้ขบคิดกัน
     ถ้าเอ่ยถึงวิชาวรรณคดีแล้วละเว้นไม่กล่าวถึงวิชาการประพันธ์ควบคู่กันไป  ก็ดูจะขาดความสมบูรณ์เป็นแน่  คนที่จะรักการอ่านวรรณคดีจำเป็นจะต้องรู้
หลักวิชาการประพันธ์ไปด้วยจึงจะซาบซึ้ง
     ผมเคยเอื้อนบทอาขยานเป็นเพลงให้หลานตัวเล็กๆ ฟัง  เป็นบท "แมวเอ๋ยแมวเหมียว.....,  มดเอ๋ยมดแดง.... ฯลฯ"  พวกเด็กนั่งฟังตาแป๋วและดูจะไม่
ค่อยสนใจมากเท่าไหร่ เพราะครูไม่เคยสอนมาก่อน    แต่พอร้อง "ชูมือขึ้นแล้วหมุน หมุน...."  พวกเด็กๆ พร้อมใจกันออกลีลาท่าทางทันที  เราพวกผู้ใหญ่
เคยหวนคิดกันบ้างหรือไหมว่า  ทำไม?
     ผมโตมากับบทอาขยานเหล่านี้  ไล่มาจนถึง "บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว......" จนบัดนี้จะเข้าโลงอยู่รอมร่อแล้วก็ยังไม่เคยลืม  ทำไม?
     เมื่อยังเป็นนักเรียน  ผมเคยอ่าน "สามัคคีเภทคำฉันท์" ด้วยความเหนื่อยหน่าย  แต่พอครูแนะวิธีอ่านให้  ตัวอย่างเช่น เมื่อพบ วสันตดิลกฉันท์ หรือ
อินทรวิเชียรฉันท์ ให้ลองอ่านเป็นทำนองสรภัญญะดู โดยออกเสียงเบาๆ  ก็กลับกลายเป็นอ่านสนุกไปเลย  ทำไม?
     เมื่ออ่านวรรณคดีเรื่องใดไม่เข้าใจ  ติดขัด  ไม่แน่ใจ  ครูมีคำตอบให้เสมอ  ทำให้ผมมีใจชอบวิชาวรรณคดีและการประพันธ์  นี่เป็นเพราะครูผู้สอนมีส่วน
สำคัญใช่หรือไม่?
     ปัจจุบันนี้เด็กมาเรียนวิชาวรรณคดีกันตอนโตแล้ว   โดยไม่ได้ถูกปลูกฝังให้รักการอ่านบทประพันธ์ประเภทร้อยกรองกันมาตั้งแต่เล็กอย่างสมัยก่อน  แล้ว
จะให้เด็กเข้าใจและรักการอ่านวรรณคดีไปได้อย่างไร  แม้แต่การอ่านเบื้องต้นเด็กก็ถูกสอนให้เรียนแบบสำเร็จรูปโดยจำเป็นคำๆ ไปเลย  ไม่ต้องมาประสมคำ
แบบ กอ อะ กะ กอ อา กา กันอีกแล้ว   รากฐานของการเขียนเบื้องต้นเพื่อไต่ไปสู่การประพันธ์ถูกละเลยไปเสียสิ้น
     พวกเราเคยลองถามราชบัณฑิตยสภาดูหรือไม่ว่าให้ความสำคัญกับวรรณคดีเก่าๆ มากเพียงใด  คุณลองไปอ่านวรรณคดีหรือบทประพันธ์ในสมัยอยุธยา
แล้วเปิดดูคำศัพท์ที่คุณไม่เข้าใจในพจนานุกรมดูเอาเถิดว่ามีบรรจุเอาไว้สักกี่คำกัน   สิ่งนี้ต่อเนื่องมาถึงครูผู้สอนไปจนถึงนักเรียนเป็นลูกโซ่  ถ้าครูไม่เข้าใจ
และหาความหมายของคำศัพท์ไม่ได้เสียเองแล้ว  นักเรียนจะหวังพึ่งใครเล่าครับ
(ยังมีต่อ)
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 11 มิ.ย. 11, 07:37

     อาจารย์ท่านใดสอนอยู่ในมหาวิทยาลัย  ลองเอาคำศัพท์ ๑๒ คำนี้ไปถามนิสิตนักศึกษาของท่านดูหน่อยว่าจะแปลได้ไหม แปลได้กี่คำ
     มกร-กุมภ์-มีน-เมษ-พฤษภ-มิถุน-กรกฎ-สิงห-กันย์-ตุลา-พฤศจิก-ธนู
     หรือท่านที่กำลังอ่านอยู่จะลองแปลดูก็ได้  แล้วลองนึกย้อนไปถึงสมัยที่ท่านยังเป็นนักเรียน  ครูได้สอนท่านไว้หรือไม่  ทั้งๆ ที่ท่านต้องใช้อยู่
ทุกวี่วันในรูปของเดือนต่างๆ
     ใน คคห. 22 ของอาจารย์เทาชมพูย่อหน้าสุดท้าย  ผมทั้งเห็นคล้อยตามด้วย  และไม่สอดคล้องด้วยเช่นกัน  ที่คล้อยตามคือการกระตุ้นให้เด็ก
รู้จักคิดด้วยเหตุผลของตนเอง เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์  ที่ไม่สอดคล้องคือ ก่อนที่จะกระตุ้นให้เด็กรู้จักคิดหาเหตุผลด้วยตนเอง  น่าที่จะกระตุ้นให้เด็ก
รู้จักการท่องจำเสียก่อน  เพราะการท่องจำเป็นการเรียนรู้เบื้องต้นสำหรับเด็ก  เด็กควรที่จะถูกกระตุ้นให้ท่องจำ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ให้ได้เสียก่อน
ก่อนที่จะกระตุ้นให้เด็กคิดหาเหตุผลว่า ทำไมต้องเป็น ก ไก่ เป็น ก กุ้ง ไม่ได้หรือ  ทำไมต้องเป็น ข ไข่ เป็น ข ขา จะผิดไหม  อะไรทำนองนี้  พ่อแม่
ควรจะกระตุ้นให้เด็กท่องจำให้ได้เสียก่อนว่า ไม้ขีดไฟ มีคุณอย่างไร มีโทษอย่างไร  ไม่ใช่ยื่นกล่องไม้ขีดไฟไปให้แล้วกระตุ้นให้เด็กคิดหาเหตุผลเอาเอง
ว่าไม้ขีดไฟมีคุณอย่างไร มีโทษอย่างไร นั่นอาจจะสายเกินไป  ดูตัวอย่างกระทู้คดีน้ำอบ ของอาจารย์ก็ได้   บุคคลท่านนี้อาจไม่เคยถูกกระตุ้นให้ท่องจำ
ถึงคุณและโทษของไม้ขีดไฟมาก่อน   เลยลองไปเล่นกับไม้ขีดไฟด้วยตนเอง  ผลออกมาก็เป็นดังที่อาจารย์เขียนไว้ในกระทู้นั่นแหละครับ
     และระบบการท่องจำก็ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีก  เด็กที่สามารถท่องจำ "ใฝ่ใจให้ทานนี้ นอกในมีแลใหม่ใส..." จะสามารถใช้ไม้ม้วนไม้มลายได้ถูกต้อง
มากกว่าเด็กที่ไม่ท่องจำเอาไว้   คำอย่าง แมงป่อง  แมงมุม  บางครั้งก็จำเป็นต้องท่องจำเอาไว้เช่นกัน  จะหวังให้เด็กคิดแยกหาเหตุผลว่า  แมงมีแปดขา
ถ้ามีหกขาเรียกว่าแมลงคงจะยาก  เด็กยุคใหม่เห็นควายในท้องนาแล้วเรียกว่าวัวก็ยังมีให้เห็นอยู่
     น้อยคนนักที่ชอบวิชาวรรณคดีเพราะนอกจากอ่านเข้าใจยากแล้วคะแนนก็ยังน้อยกว่าวิชาอื่นๆ ส่วนใหญ่  แต่คนที่ชอบการประพันธ์มักจะอ่านวรรณคดี
รู้เรื่องและเข้าใจมากกว่าคนไม่ชอบ   คนที่เริ่มต้นแต่งร้อยกรอง  เมื่อแต่งไปเรื่อยๆ ก็อยากแสวงหาคำศัพท์แปลกใหม่ที่ไพเราะมากยิ่งขึ้น  คำศัพท์เหล่านี้
ก็อยู่ในบทวรรณคดีแทบทั้งนั้น  เป็นเหมือนการบังคับอยู่ในทีให้ต้องอ่านถ้าอยากแต่งเก่งๆ   เมื่ออ่านไปมากๆ ความชำนาญก็เกิดขึ้นเอง   ปัญหาก็อยู่ที่ว่า
ทำอย่างไรจึงจะสามารถชักจูงให้คนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจกับการแต่งบทประพันธ์ร้อยกรองกันให้มากขึ้น  เพื่อให้พวกเขาได้ไต่เต้าขึ้นไปสู่การรักการ
อ่านวรรณคดีไทยต่อไปในภายภาคหน้า  หรือมีมุมมองวรรณคดีไทยได้กว้างขวางขึ้น
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 13 มิ.ย. 11, 18:05

"ถ้าเห็นแตกต่างก็เขียนอีกได้เลย ไม่ต้องเกรงใจ      ตราบใดที่เรายังจำกัดความแตกต่างไว้ที่ประเด็นของเรื่อง  ไม่เปลี่ยนจากเรื่องมาเป็นตัวบุคคล    ความแตกต่างนั้น
ก็ไม่นำไปสู่ความเป็นปรปักษ์หรอกค่ะ

เรื่องขนมแชงม้านั้นดิฉันไม่เข้าใจประเด็นค่ะ ว่าจะถามว่าอะไร    แต่จะเป็นอะไรก็ตาม    มันก็มองได้ทั้ง ๒ ทางละค่ะ ทั้งความรู้เรื่องขนมแชงม้า กับความสามัคคี   
ถ้านักเรียนเห็นทั้ง ๒ ทางได้ก็ดี คือรู้ว่าขนมแชงม้าคืออะไร  หรือคิดว่าคืออะไร  กับรู้ว่าทะเลาะกันเมื่อไรก็เกิดความเสียหาย
ดีกว่าเห็นทางเดียว หรือไม่เห็นเลยสักทาง"

ขอบพระคุณ อ.เทาชมพู มากเลยครับที่เปิดโอกาสให้ได้แสดงความเห็นที่แตกต่าง  ผมขอชื่นชมด้วยใจจริง  ผมคิดว่าความเห็นที่แตกต่างมีคุณมากกว่ามีโทษ  เพราะจะขยาย
ความคิดให้กว้างขึ้น   แต่ผมขอติดค้างไว้ก่อน  ผมจำเป็นต้องห่างหายไปอีกสักพักยังไม่รู้ว่าจะกลับมาเมื่อใด  เมื่อกลับมาผมจะอธิบายความคิดที่แตกต่างของผมให้ทราบครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 13 มิ.ย. 11, 19:01

คุณชูพงศ์กับดิฉันจะรออ่านความเห็นของคุณ willyquiz ค่ะ     เสร็จงานเมื่อไรก็เชิญกลับมาต่อกระทู้นี้ด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
Miss Candela
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 13 มิ.ย. 11, 21:59

เข้ามาอ่านกระทู้นี้แล้ว รู้สึกว่ามีความคิดเห็นที่หลากหลายและมีประโยชน์ ตัวดิฉันเป็นอีกคนที่หลงใหลในวรรณคดีไทย เพราะความไพเราะ สละสลวยของการเรียงร้อยถ้อยคำให้คล้องจองกันได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ก่อเกิดเป็นเรื่องราวอันหลากหลาย มีครบทุกรสชาติ น่าจะส่งเสริมให้เด็กสมัยใหม่หันมาสนใจวรรณคดีไทยกันเยอะๆ แต่ดิฉันไม่อยากให้มันเป็นแค่กระแส แปบเดียวก็หายไป แล้วก็มีกระแสใหม่ๆขึ้นมา อย่างตอนหนังเรื่อง โหมโรงออกฉาย เด็กๆ ก็พากันไปเรียนดนตรีไทยกันอยู่พักหนึ่ง เพราะเห็นตัวอย่างจากในหนัง แต่พอหนังจบกระแสเรื่องดนตรีไทยก็จางหายไป

สมัยก่อนตอนดิฉันอยู่มัธยมปลาย ดิฉันเป็นคนที่เรียนภาษาไทยได้ดีในระดับหนึ่ง ทั้งๆที่เรียนทางด้านสายวิทย์ - คณิต ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยชอบวิทยาศาสตร์lydเท่าไหร่ ดิฉันชอบทางด้านภาษามากกว่า เพราะดิฉันชอบอ่านหนังสือ ตอนเด็กๆ จำได้ว่าอ่านหนังสือเป็นเร็วจนแม่ยังแปลกใจ เพราะท่านไม่เคยสอนดิฉันอ่านหนังสือเลย ดิฉันอยากอ่านก็หัดอ่านเอง ติดหนังสือมาก นอนอ่านได้ทั้งวัน  ด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงชอบเรียนภาษาไทย เพราะว่าจะได้อ่านหนังสือ อ่านบทความ นิทาน นวนิยาย ร้อยกรอง ร้อยแก้ว สนุกๆเยอะแยะมากมาย

ดิฉันไม่แปลกใจหรอกค่ะ ว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่สมัยนี้ไม่ค่อยชอบวรรณคดีไทย เพื่อนๆดิฉันเอง(ตอนเรียนมัธยมปลาย) ก็ไม่ค่อยชอบและไม่ค่อยใส่ใจวิชานี้เท่าไหร่ กลับไปให้ความสนใจวิชาคณิตศาสตร์ - วิทยาศาสตร์มากกว่า เพราะเรียนจบแล้วก็สามารถนำไปใช้สอบเข้าคณะที่ตัวเองอยากเข้าได้ อย่างเช่น แพทย์ศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เภสัชศาสตร์ฯลฯ พ่อแม่เองก็สนับสนุนให้เด็กเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ มากกว่าจะบอกให้เด็กสนใจเรียนวิชาภาษาไทย ส่วนใหญ่ก็บอกว่า สอบแค่พอผ่าน แค่นั้นพอ

อาจารย์ที่สอนดิฉันบางท่านสั่งให้ดิฉันและเพื่อนๆแปลกลอน แปลโคลง แต่ว่าท่านให้ไปแปลเอง อธิบายคำศัพท์ให้เล็กน้อย เพราะมีเวลาสอนน้อย คาบเรียนภาษาไทย อาทิตย์หนึ่งมีแค่ไม่กี่คาบ ไม่ได้เรียนแทบทุกวันเหมือนวิทยาศาสตร์  เพื่อนบางคนที่แปลไม่ได้ ก็มาขอร้องให้ดิฉันแปลให้ ดิฉันเองก็ยอมตามใจเพื่อน ช่วยถอดกลอนให้ แปลให้ ส่วนหนึ่งก็เพราะความชอบส่วนตัวด้วย แล้วอาจารย์ก็มักจะให้เด็กไปสอบท่องอาขยาน เด็กบางคนก็เบื่อไม่อยากจะท่อง เพราะว่ายาก ต้องท่องเป็นกลอนใส่ทำนอง ครูสั่งให้ไปท่อง ก็ไม่ไปท่องจนใกล้จะหมดเทอม ครูถึงต้องบังคับให้ไปท่อง เด็กก็ท่องๆไปสอบพอให้ผ่านแค่นั้น ไม่ได้ซึมซับรสชาติของวรรณคดีแต่อย่างใด

บันทึกการเข้า
Miss Candela
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 13 มิ.ย. 11, 22:08

ต่อค่ะ (ขอโทษคะ ยาวไปหน่อย)

คนที่จะซื้อหนังสือวรรณคดีไทยอ่านก็มีน้อยลงทุกที เพราะอ่านไม่รู้เรื่อง อ่านแล้วไม่เข้าใจ ซื้อไปก็เสียดายเงิน สู้ไปซื้อหนังสือนิยายที่อ่านง่ายๆ หรืออ่านการ์ตูนไปเลยไม่ดีกว่าหรือ  ดิฉันคิดว่าเด็กยุคใหม่ชอบอะไรที่ไม่ยุ่งยาก สะดวกสบาย เนื่องจากการรูปแบบการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน  ดิฉันตอนเด็กๆชอบอ่านการ์ตูน ติดมาก โดยเฉพาะหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น อ่านได้เป็นวรรคเป็นเวร อ่านจนสายตาสั้น ยอมเสียเงินเสียทองทั้งเช่าอ่าน และซื้ออ่าน เหตุผลที่เด็กๆชอบอ่านการ์ตูนมากกว่าหนังสือที่มีแต่ตัวอักษร ก็เพราะว่ามันสนุกกว่า และจินตนาการได้ง่ายกว่า มีภาพประกอบคำพูด อธิบายอากัปกิริยาของตัวละครชัดเจน แต่พออ่านหนังสือที่มีแต่ตัวอักษร ก็จะบ่นว่าอ่านยาก ตาลาย และก็เลยไม่ค่อยชอบอ่าน อ่านได้แต่เล่นบางๆ เล่มหนาๆอ่านแล้วก็หลับคาหนังสือ

ตัวดิฉันเองก็ยอมรับว่าแรกๆไม่ชอบอ่านหนังสือที่มีแต่ตัวอักษร ยกเว้นตำราเรียน ตอนมัธยมปลายไปยืมหนังสือในห้องสมุดมาอ่าน เจอแต่นวนิยายไทย ดิฉันก็เปิดดูแค่ผ่านๆ เพราะอ่านไม่รู้เรื่อง และคิดว่าคงไม่สนุกเท่าอ่านการ์ตูน ยอมไปเสียเงินเช่าการ์ตูนอ่านดีกว่า แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติของดิฉัน อาจารย์ของดิฉันท่านหนึ่ง บังคับให้นักเรียนทุกคนอ่านนวนิยายเรื่อง จดหมายจากเมืองไทยของ โบตั๋น เพื่อสอบปลายภาค ดิฉันถึงจำใจต้องอ่านนิยายเล่มหนาๆเป็นครั้งแรก  แต่พอได้อ่านแล้วก็ติดใจ ชอบมาก เพราะว่าหนังสือที่มีแต่ตัวอักษรมันกระตุ้นให้เราเกิดจินตนาการ ค่อยๆอ่าน ค่อยๆคิด และซึมซับถึงคุณค่าที่นักเขียนพยายามถ่ายทอดให้แก่ผู้อ่าน ตั้งแต่นั้นมา ดิฉันก็อ่านหนังสือได้หลากหลาย แทบจะทุกประเภท ไม่เลือกที่รักมักที่ชังเหมือนแต่ก่อนอีก

ดิฉันคิดว่าอย่างที่อาจารย์เทาชมพูพูดนั้นถูกต้อง การสอนภาษาไทยต้องสอนให้เด็กคิดด้วย ดีกว่าท่องจำเพียงอย่างเดียว ก็เหมือนกับวิชาวิทยาศาสตร์ ต้องสอนให้เด็กตั้งคำถามและลองหาคำตอบด้วยตนเอง เด็กจึงจะเข้าใจและเรียนรู้ได้ถึงคุณค่าของสิ่งนั้นๆ สามารถต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้อีกเยอะ แต่ที่คุณ willyquiz อธิบายแย้งมา ก็ไม่ผิด การท่องจำจะช่วยให้เด็กรู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร ใช้อย่างไร ไม่นำไปใช้อย่างผิดๆ แต่การสอนให้เด็กคิดจะช่วยให้เด็กเข้าใจว่า ทำไมจึงต้องเป็นเช่นนี้ ทำไมถึงไม่เป็นอย่างนั้น สามารถพลิกแพลงเป็นอย่างอื่นที่ดีกว่าได้ไหม ทั้งการท่องจำและการคิดหาเหตุผลต้องใช้ควบคู่กันไป จึงจะได้ผลที่ดี เปรียบได้กับวิทยาศาสตร์และศาสนา วิทยาศาสตร์ที่ปราศจากศีลธรรมก็อาจจะก่อให้เกิดเรื่องเลวร้ายได้ แต่ศาสนาที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ก็จะกลายเป็นเรื่องที่งมงาย

อันนี้เป็นความคิดเห็นของตัวดิฉันเองนะคะ ไม่ทราบว่าผิดถูกประการใด
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.052 วินาที กับ 20 คำสั่ง