เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 17696 ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 26 พ.ค. 11, 14:04

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู และทุกๆท่าน ณ เรือนไทยแห่งนี้ครับ

   เมื่อไม่นานมานี้ google พาผมหลุดเข้าไปในเว็บไซต์เด็กดีดอดคอม แล้วก็ให้เผอิญเหลือเกินที่ไปเจอกระทู้อันเปิดประเด็นถึงสาเหตุแห่งการไม่ชอบวรรณคดีไทยของเยาวชน ผมอ่านเหตุผลของคนที่ไม่ชอบแล้ว บ้างก็ว่า รับไม่ได้ที่พระเอกวรรณคดีไทยมีเมียมาก (ทั้งๆยุคโน้น เสรีทางเพศ ความโสมมแห่งกามารมณ์ ชั้นเชิงโลกีย์ซับซ้อนยังมิเท่ายุคนี้) บ้างว่าเนื้อหาเชย บ้างว่าพระเอกเก่งเกินไป บ้างว่าเพราะถูกบังคับให้เรียนจึงต่อต้าน บ้างว่าโครงเรื่องซ้ำ แถมจบแบบไม่หักมุม บ้างว่าเบื่อแปลไทยเป็นไทย ฯลฯ เอาหละครับ สำหรับตัวผม คิดว่าเยาวชนคือผืนผ้า เมื่อถูกสิ่งใดชุบย้อมก็ย่อมแปรสี แน่หละ ในยุคที่สายธารวัฒนธรรมเทศไหลเชี่ยวกรากรวดเร็ว รับง่าย เสพติดง่าย เปลี่ยนแปลงไว สร้างความเร้าใจตลอดเวลา ก็น่าเห็นใจพวกเขาอยู่หรอกที่จะเตลิดไปกับมัน ปัญหาคือ ในเมื่อเราปิดกั้นกระแสเทศไม่ได้ เราจะสร้างกระแสไทยอย่างไร ปลูกจิตสำนึกให้พวกเขาตระหนักรู้ถึงมรดกล้ำค่าของชาติด้วยวิธีใด จะสร้างสะพานเชื่อมให้พวกเขาเข้าใจถึงความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ความรู้สึกนึกคิดของบรรพบุรุษคนละยุคแบบไหนเล่า

ถ้าจะหวังให้สถาบันครอบครัวช่วย สมัยนี้คงมีน้อยเต็มทีแล้วกระมัง สำหรับครอบครัวที่พ่อแม่จะร้องเพลงกล่อมเด็กให้ลูกฟังก่อนนอน อ่านหนังสือโคลงฉันท์กาพย์กลอนดังๆให้ลูกได้ยิน หรือวานให้ลูกอ่านวรรณคดีให้ หรือซื้อหนังสือวรรณคดีเก็บไว้ที่บ้านสำหรับลูก (อย่าว่าแต่ลูกเลย พ่อแม่ยุคใหม่จะซื้อหนังสือวรรณคดีเก็บไว้อ่านเองก็คงหาไม่ง่าย) ครั้นหวังให้โรงเรียน/คุณครูช่วย ยุคแข่งกันเรียน แข่งกันสอบ เอาเร็วเข้าว่าเยี่ยงนี้ หวังได้หรือ พูดถึงคุณครู โดยเฉพาะครูรุ่นใหม่บางท่าน ผมมีเรื่องหนึ่งจะเล่าขยายความให้ฟังครับ เคยถามครูสอนภาษาไทยท่านหนึ่ง อายุท่านยังมิถึงสามสิบปีว่า ก่อนจะสอนวรรณคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่นักเรียน ครูจำเป็นจะต้องอ่านวรรณคดีเรื่องนั้นในรูปแบบดั้งเดิมจนเจนจบเสียก่อนหรือเปล่า คำตอบคือ “ไม่จำเป็น” เอาแค่รู้เรื่องโดยสรุปพออธิบายให้เด็กฟังได้ก็พอแล้ว ผมฟังจบ อึ้งครับ พูดไม่ออกจริงๆเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ ผมก็เคยคุยกับครูภาษาไทยอีกท่าน อายุราวๆห้าสิบกว่าๆ สอนนักเรียนชั้นมัธยมต้น คำถามของผมคือ
   “อาจารย์มีหนังสือราชาธิราช ของท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ฉบับสมบูรณ์ไหมครับ” (ตอนนั้น ผมตามหาหนังสือเล่มนี้อยู่ครับ ปัจจุบันได้มาครอบครองแล้ว) แหละนี่คือคำตอบ
   ”ไม่มีค่ะ มีเฉพาะในตำราที่ใช้สอนนักเรียน”

   สมัยผมศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาเอกภาษาไทย อาจารย์ผู้มีพระคุณท่านหนึ่งเคยปรารภว่า “เดี๋ยวนี้นักศึกษาลงเรียนเอกภาษาไทยน้อยลงทุกทีๆ” ทำเอาผมถอนใจยาวเมื่อได้ยินครับ

   ผมบ่นมาเสียนานหลายบรรทัด สืบไป ขอรับฟังทัศนะของท่านผู้อ่านกระทู้ครับ ว่า เราจะคลายปมปัญหาหลายเปลาะอันทำให้ยุวชนไม่ชอบ (บางคนถึงขั้นเกลียด) วรรณคดีไทยได้อย่างไรบ้าง ทุกท่านโปรดชี้หนทางด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 พ.ค. 11, 20:17

รอฟังความเห็นท่านอื่นๆ   
ส่วนตัวดิฉันรู้สึกว่า การศึกษาของเราก้าวไปถึงขั้นวรรณคดีถูกมองว่า เป็นวิชาไม่จำเป็นไปเสียแล้ว   ในสายตาครูและนักเรียนจำนวนมาก   เพราะเรียนไปแล้วก็เอาไปประกอบอาชีพไม่ได้
ครูเองก็ไม่รู้ว่าสอนไปทำไม   นักเรียนก็ไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม

การวางหลักสูตรวิชาอะไรก็ตาม    หลักเกณฑ์อย่างแรกที่ผู้วางหลักสูตรจะต้องตอบให้ได้คือ  วิชานี้ถูกบรรจุเข้ามาด้วยจุดมุ่งหมายอะไร
คุณชูพงศ์และท่านอื่นๆตอบได้ไหมว่า จุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนวรรณคดีทั้งในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย คืออะไรคะ
ถ้าตอบไม่ได้ หรือไม่แน่ใจในคำตอบ  ก็จะนำไปสู่ปัญหาอย่างที่ตั้งกระทู้นี้ละค่ะ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 พ.ค. 11, 09:02

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   อ่านความเห็นของอาจารย์แล้ว รู้สึกว่า สถานการณ์วิกฤตวรรณคดีจะรุนแรงขึ้นในอนาคตเป็นแน่ เราไม่มีแสงแห่งความหวังบ้างเลยหรือครับ สำหรับผมยังคิดว่าวรรณคดีเป็นวิชาสำคัญอยู่ เพราะเป็นการศึกษาอดีตเพื่อเก็บสิ่งสวยงาม เช่น ความพริ้งพรายของภาษา ซึมซับประเพณีไทยอันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ สิ่งใดปรับแปรให้เข้ากับยุคสมัยได้ก็น่าจะประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์  ข้อสำคัญคือแง่คิด คติสอนใจซึ่งเก็บเกี่ยวไปเป็นแนวทาง แนวธรรมในการดำเนินชีวิต เนื่องด้วย การเรียนวรรณคดี ก็คือการเรียนรู้ชีวิตนั่นเอง ดี เลว ถูก ผิด ฯลฯ ล้วนถูกสะท้อนถ่ายผ่านตัวอักษรทั้งสิ้น แต่ก็นั่นแหละครับ ถ้าคนลงไม่ชอบเสียอย่าง เขาก็จะเถียงทันควัน ฉันหาสิ่งเหล่านี้อ่านจากหนังสือประเภทอื่นก็ได้ ไม่เห็นจะต้องเฉพาะเจาะจงตรงวรรณคดีเลย เฮ่อ... หรือทุกอย่างจะต้องดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ครับอาจารย์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ท้ายสุด...ดับไป สารภาพกับอาจารย์ตรงๆว่า ผมทนรับความสูญสิ้นของวรรณคดีไม่ได้ครับ
 
บันทึกการเข้า
POJA
พาลี
****
ตอบ: 298


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 พ.ค. 11, 14:43

เรียนวรรณคดี เพื่อให้เกิดความซาบซึ้ง ก่อให้เกิดรสนิยมทางศิลปะ 
คล้ายกับการเรียนวิชาวาดเขียน  เราไม่ได้เรียนเพื่อเป็นจิตรกร แต่เรียนเพื่อให้ได้รู้จักงาน

การรู้จักศิลปะที่ดี  ก่อให้เกิดรสนิยมที่ดี  สิ่งใดๆในชาติก็จะสวยงามไม่รกรุงรังเช่นทุกวันนี้

เสียดายที่การเรียนวรรณคดีในปัจจุบัน ละเลยบทกวีอันแสนไพเราะไปมาก นำมาเล่าเป็นร้อยกรองแบบใหม่ อ้างว่าทำให้เด็กไม่เบื่อ
เด็กไทยรุ่นใหม่เลยไม่ได้รับรู้ภาษาวรรณศิลป์ ขาดรากฐานทางวัฒนธรรม แล้วจะต่อยอดไปได้อย่างไร

ยังมีอีกเรื่องหนึ่งค่ะ  เด็กสมัยใหม่ ไม่ได้เรียนวิชาเรียงความ ย่อความกันแล้ว เลยเขียนหนังสือ สรุปความกันไม่ค่อยเป็นด้วย

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 28 พ.ค. 11, 09:35

เรียนคุณ POJA
 ครับ

   เดี๋ยวนี้ หนังสือประเภท “คุยเฟื่อง” หรือ “เล่าเรื่อง” วรรณคดีเรื่องต่างๆ มีมากเล่มครับ นำวรรณคดีมาเรียบเรียงเป็นร้อยแก้ว ผมเองไม่ได้มีปัญหากับหนังสือกลุ่มนี้หรอกครับ มีไว้ก็ดี แต่ ควรมีฉบับร้อยกรองดั้งเดิมวางอยู่บนแผงคู่กันด้วย นี่ร้อยกรองหายากขึ้นทุกทีแล้ว คนรักกลอนกานท์ต้องไปดั้นด้นค้นตามแผงหนังสือเก่า สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากรซึ่งรับผิดชอบอนุรักษ์ ตลอดจนพิมพ์วรรณคดีจำหน่ายเผยแพร่สู่สาธารณชนก็ออกหนังสือวรรณคดีกวีนิพนธ์น้อยลงอย่างน่าใจหาย ผมห่อเหี่ยวใจจริงๆครับ
 
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 พ.ค. 11, 12:28

ผมขออนุญาตเพิ่มเติมความเห็นสักหน่อยครับทุกๆท่าน เยาวชนที่รักวรรณคดีไทยนั้นยังมี แต่ เราเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงออกมากน้อยแค่ไหน สื่อสารมวลชนแขนงต่างๆมีรายการให้พวกเขาฉายความสามารถหรือไม่ ผมรู้จักน้องอยู่คนหนึ่ง เป็นคนจังหวัดน่าน น้องคนนี้แต่งฉันท์ได้ตั้งแต่อยู่ ม.๓ ครับ โทรศัพท์คุยกันทีไร เขาจะบ่นให้ฟังทุกทีว่าจังหวัดน่านหาวรรณคดีอ่านยากเหลือเกิน ร้านหนังสือที่นั่นไม่เห็นเอามาขายเลย ลงกรุงเทพฯ เมื่อไร น้องเขาต้องแวะศึกษาพัณฑ์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร ศูนย์หนังสือจุฬา ทุกครั้ง ได้หนังสืออะไรมาก็มาเล่าให้ผมฟัง ปะเหมาะผมเจอหนังสือกวีนิพนธ์ซึ่งเขาไม่มี ผมก็ซื้อส่งไปให้ นี่คือข้อยืนยันว่าวัยรุ่นรักวรรณคดียังมีอยู่ และผมเชื่อว่าหากจะรวมเป็นกลุ่มได้ก็จะเกิดพลัง (จะมากหรือน้อยนั้นอีกเรื่องหนึ่ง) นี่พวกเขากระจายกันตามแหล่งต่างๆ เว็บไซต์นานา ก็เลยต่างคนต่างชอบ ผมเคยฝันไว้ครับ ว่ารัฐบาล (สักชุด)   น่าจะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสักครั้งนะครับ ในหัวข้อ “การเรียนการสอนวรรณคดีไทย เราจะไปทางไหนกัน” อาจเลือกอิมแพคเมืองทองธานี หรือไบเทคบางนาเป็นสถานที่จัดงาน เชิญตัวแทนครูอาจารย์ รวมถึงตัวแทนนักเรียน นักศึกษาทั้ง ๗๗ จังหวัดมาหารือ อาจใช้เวลาหนึ่งถึงสองสัปดาห์ ฟังเสียงทุกฝ่าย พอประชุมเสร็จก็สรุปผล ปัญหามันอยู่ตรงไหน มีกี่ข้อ วิธีแก้ไขซึ่งที่ประชุมเสนอมีกี่ประการ แล้วปรับปรุงหลักสูตร นี่คือความฝันของคนตัวเล็กๆอย่างผมครับ
ขอทิ้งท้ายความเห็นที่ ๕ ด้วยประโยคในภาพยนตร์ “โหมโรง” ที่ผมยังจำฝังใจ เป็นบทรำพึงของพระประดิษฐ์ไพเราะ รู้สึกจะอยู่ท้ายๆเรื่องกระมังครับ

   “หวังจะเป็นประเทศอารยะ แต่ลืมรากเหง้าตัวเองกระนั้นหรือ?”
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 พ.ค. 11, 19:44

คุณ POJA ตอบถูกแล้วค่ะ
แต่เดิมมา   วรรณคดีจัดเป็นหนึ่งในวิจิตรศิลป์  เรียกว่าวรรณศิลป์ (แปลว่าศิลปะอันเกิดจากตัวหนังสือ)   อย่างอื่นคือจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และดนตรี   ต่อมาก็แตกแขนงไป มีนาฏศิลป์และละครรวมด้วย   ต่อมาก็จัดกันใหม่ หนักไปทางเขียนวาดและปั้นล้วนๆ    แต่อย่างไรก็ตาม  ศิลปฺะทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อความจรรโลงใจ

ถ้าเอาภาษาวิชาการออกไป   ก็พูดง่ายๆ ว่าศิลปะสาขาต่างๆที่ว่ามานี้ เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นอาหารใจของมนุษย์    เพราะมนุษย์เติบโตและพัฒนาได้ ไม่เฉพาะแต่หาอาหารมาบำรุงบำเรอกายให้เติบโตเท่านั้น   ต้องการอาหารใจเพื่อช่วยให้ยกระดับจิตใจด้วย       วรรณคดีเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อบำรุงจิตใจ ผ่านทางตัวอักษร    เกิดจากความตั้งใจของกวีที่จะสร้างสรรค์ความงดงาม  ความดี ความรื่นรมย์  ออกมาประดับสังคม      สิ่งเหล่านี้เป็นคุณค่าที่เหนือกว่า และไม่อาจวัดได้ด้วยประโยชน์ใช้สอย หรือเงินตราค่าตอบแทน

ก็เพราะเหตุนี้  หนังสือที่เป็นวรรณคดีจึงไม่ใช่แค่บรรจุเนื้อเรื่องเอาไว้เต็มเล่ม  ก็นับเป็นวรรณคดีได้แล้ว     แต่ต้องมีความงามในหนังสือนั้นด้วย  มิฉะนั้น พระอภัยมณีฉบับเล่าเรื่อง  ก็คงได้ชื่อว่าเป็นวรรรณคดีพอๆกับพระอภัยมณีฉบับเต็มของสุนทรภู่       หนังสือคู่มือการอ่านลิลิตพระลอก็คงมีคุณสมบัติเป็นวรรณคดีพอๆกับลิลิตพระลอของเดิม       ความจริงไม่ใช่      เพราะหนังสือที่เล่าเรื่องวรรณคดี หรือคู่มืออธิบายวรรณคดีนั้น ไม่มีสุนทรียะหรือความงามที่เป็นหัวใจของวรรณคดี     ไม่เห็นฝีมือแต่งของกวี   ไม่เห็นความคิดที่กวีสอดแทรกไว้   มองไม่เห็นความคิดสร้างสรรค์บางอย่างของกวี  ที่ไม่ซ้ำแบบกับคนอื่นๆ  หรือกวีชาติอื่นๆ

จุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนวรรณคดี จึงควรจะมีข้อนี้เป็นอันดับแรก  คือทำให้นักเรียนเข้าถึงความดีเด่นของวรรณคดี    ทำให้รู้จักว่ากวีไทยมีฝีมือดีขนาดไหน จึงเรียกได้ว่าเป็นกวี     มีความโดดเด่นไม่ซ้ำแบบกับเกาหลี ญี่ปุ่น จีน อเมริกา ยุโรปฯลฯ ยังไงบ้าง ผ่านทางตัวหนังสือ    และทำให้นักเรียนภูมิใจที่เรามีหนังสือของเราเองที่น่ารู้จัก    ได้ไม่ไปภูมิใจกับหนังสือของชาติอื่น มากเสียจนเห็นเรื่องของไทยนั้นน่าเบื่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 30 พ.ค. 11, 10:29

ข้อนี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมตำราของกระทรวงศึกษาธิการจึงคัดเอาตอนเล็กตอนน้อยในวรรณคดีเรื่องนั้นเรื่องนี้มาลง  ก็เพราะอยากให้นักเรียนได้อ่านถึงความงามทางภาษาและสาระให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้    จะเอาลงหมดทุกเรื่องก็ไม่ไหว  จะเอามาเฉพาะแค่เรื่องเดียวสองเรื่อง  วรรณคดีใหญ่ๆของไทยก็มีมากกว่านั้น    ตำราจึงต้องใช้วิธีเก็บดอกไม้รายทางมาเรื่อยๆ    
ต่อจากนั้น ก็เป็นหน้าที่ของครูที่จะอธิบายให้นักเรียนมองเห็นความพิเศษของวรรณคดีในแต่ละตอน   ถ้าหากว่าครูสามารถอธิบายได้ว่าวรรณคดีตอนนี้ดีเด่นอย่างไร ทั้งภาษา ทั้งความหมาย ทั้งโวหารภาพพจน์ และสาระที่แฝงอยู่    นักเรียนก็จะได้ซึมซับคุณค่าติดตัวไปบ้างไม่มากก็น้อย เมื่อผ่านชั้นนี้ไปแล้ว

ดิฉันไม่ทราบว่าตำราปีล่าสุดของกระทรวงเป็นแบบไหน   แต่เคยเปิดตำราเรียนชั้นมัธยมของลูกมาอ่าน  พบว่าเนื้อที่ของวรรณคดีน้อยลงไปกว่าสมัยดิฉันเรียนม.ปลายมาก     อาจเป็นเพราะมีวิชาอื่นๆเพิ่มขึ้นมาเบียดเนื้อที่ในแต่ละสัปดาห์   อีกอย่างคือไม่รู้ว่าครูสอนอย่างไร    
เมื่อก่อนนี้  ตำราภาษาไทยจะมีคำอธิบายศัพท์อยู่ท้ายเรื่อง อย่างละเอียด   ถ้าอ่านไม่เข้าใจตรงคำไหนก็เปิดดูศัพท์ได้ทันที   ทำให้เข้าใจเรื่องได้ง่าย      ถ้าอ่านล่วงหน้ามาก่อนเข้าชั้นเรียนแล้วจะตามคำบรรยายได้ง่ายมาก   หรือถ้าไม่ได้อ่าน  ครูสอนไม่เข้าใจ ไปเปิดศัพท์ท้ายเรื่องก็เข้าใจขึ้นได้     สิ่งนี้เป็นการทลายกำแพงทางภาษาลงไป ทำให้เข้าถึงตัวเนื้อหาวรรณคดีได้ง่าย      
แต่เดี๋ยวนี้  เห็นการบ้านของนักเรียนที่เข้ามาถามในเว็บเรือนไทย    เหมือนยังปีนข้ามกำแพงภาษาไปไม่ได้เลยสักคน      เด็กๆจนมุม งงงันอยู่กับศัพท์ที่ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร    เมื่อไม่เข้าใจศัพท์ ก็ไม่เข้าใจเรื่อง    ยิ่งครูสอนแบบให้ไปทำรายงานกันเอง ก็ยิ่งจับทิศจับทางไม่ถูก

มีตัวอย่างจากกระทู้เก่าให้เข้าไปอ่าน   เป็นคำขอให้ช่วยถอดคำประพันธ์กาพย์เห่ชมปลา

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2237.0

คำตอบของเด็กนักเรียน เอามาอ่านให้สยองกันเล่น

ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 31 พ.ค. 07, 19:00
   
นี่ ถ้าไม่ช่วยก็อย่ามาว่า ถ้าแปลได้ก็แปลไปนานแล้ว มันเป็นงานกลุ่ม แล้วไม่มีเพื่อนคนไหนช่วยสักคน มีการบ้านอีกเป็นตั้ง ทำไม่ทันแล้ว
อีกอย่างนะ เราก็ไม่ได้อยากจะเลือกชมปลานักหรอก คนที่มันเลือกนั้นมันไม่ยอมทำ ใครจะไปตรัสรู้ น้ำเงินคือเงินยวง ก็รู้ว่า น้ำเงินคือปลาเนื้ออ่อนชนิดหนึ่ง เงินยวงก็คือ สีดังสีเงินที่อยู่ในเบ้า ใครมันจะไปแปลออก อีกอย่างนะ เราไม่เก่งไทย ถ้าเป็น จีนหรืออังกฤษนี่จะไม่ขอให้ช่วยเลย แล้วแมร่งแช่งคนอื่น  ถ้าไม่ช่วยก็กรุณาไปไกลๆ  ขอบคุณ จะไม่มาอีกแล้วเว็บบ้าๆ นี้ ขอให้ช่วยแล้วก็กรุณาช่วยหน่อยไม่ได้ มาแช่งมาด่ากันฉอดๆๆ งี่เง่าสิ้นดี
บันทึกการเข้า
POJA
พาลี
****
ตอบ: 298


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 30 พ.ค. 11, 12:00

อ่านจบแล้ว พยายามหาคำตอบ แต่มันอื้ออีงมึนงงไปหมดค่ะ

 ร้องไห้   ร้องไห้   ร้องไห้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 30 พ.ค. 11, 12:34

เด็กนักเรียนที่เบื่อวรรณคดีมีจุดเริ่มต้นมาจากไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ    พอไม่รู้เรื่องก็เบื่อ   พอเบื่อแล้วก็หลับ  พวกเราเองก็เหมือนกัน  ถ้าถูกบังคับให้ไปดูหนังอะไรที่มืดๆทึมๆ พูดภาษาประหลาดๆแล้วไม่มีบทบรรยาย   ไม่ถึงสิบนาทีก็คงหลับในโรงหนัง
นักเรียนคนที่โพสเข้ามาอาละวาดในกระทู้เก่านั้น  กำลังเบื่อสุดขีดกับวรรณคดีไทยที่เธอไม่รู้เรื่อง แต่หลับไม่ได้  เพราะถูกกำหนดให้ทำรายงานเอาคะแนน      เพื่อนๆก็ไม่ช่วย(เพราะคงไม่รู้เรื่องพอกัน)  เธอก็เลยมาขอให้ชาวเว็บนี้ทำการบ้านให้พอเอาตัวรอดไปได้  เมื่อไม่ได้   แล้วเจอคนตอบคนหนึ่งที่ตอบแบบไม่มีจิตวิทยา  ยั่วโทสะเข้าอีก   เธอก็เลยระเบิด

ดังนั้น  เมื่อสอนวรรณคดีไทย  ก็ต้องเริ่มจากทำให้เด็กเข้าใจเนื้อหาที่สอนให้กระจ่างที่สุดเท่าที่จะทำได้     ถ้าสอนว่าวรรณคดีไทยเป็นคำประพันธ์ที่ไพเราะ  ก็ต้องทำให้เด็กเข้าใจให้่ได้  ว่าภาษาอะไรที่เรียกว่าไพเราะ     อะไรที่เรียกว่าไม่ไพเราะ   
ภาษาไม่ใช่สักว่าเป็นแค่ภาษาแล้วก็จบกัน    ภาษามีระดับของมัน หลายชั้นและหลายเชิง       อย่างตอนขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา   ฝ่ายชายเกี้ยวพาราศี  แต่ฝ่ายหญิงปฏิเสธ     เมื่อได้ยินคำปฏิเสธ  แทนที่จะมีปฏิกิริยาโกรธ   ลุกขึ้นด่าสวนกลับไปว่าไม่ง้อ    ผู้ชายก็ตอบอย่างไพเราะอ่อนหวานว่า

น้อยหรือวาจาช่างน่ารัก    เสนาะนักน้ำคำร่ำเสียดสี
ปิ้มจะกลืนชื่นใจในวาที    เสียดายแต่ยังไม่มีคู่ภิรมย์
แม้นชายใดได้อยู่เป็นคู่ครอง    จะแนบน้องเชยชิดสนิทสนม
พี่จะอยู่สู้รักไม่แรมชม    มิใช่ลมลวงน้องอย่างหมองใจ

ส่วนข้างล่างนี้เป็นปฏิกิริยาจากคำปฏิเสธเหมือนกัน     แต่เป็นภาษาที่หาความไพเราะไม่ได้เอาเลยทีเดียว

ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 31 พ.ค. 07, 19:15
   
อ้างถึง
ภาษามันก็ใช้เซ็นส์น่ะค่ะ บทกลอนก็เหมือนๆกันในนิราศ เห็นสถานที่ เห็นปลา เห็นขนมเครื่องคาวหวาน ก็เตือนใจให้คิดไปถึงคนรัก
สังเกตดูสิคะ ว่าเป็นแบบนั้นหรือเปล่า เห็นปลาแล้วนึกถึงอะไร   -

แหวะ รู้ตั้งนานแล้ว ไม่อยากจะsaid ช่างมันเถอะ เรามันโชคร้ายเองที่โดนให้อยู่กับบุคคลต่างๆ ที่ไม่เอาการเอางาน เราก็ต้องทำคนเดียว ครูว่าก็คงต้องว่าเราคนเดียวเพราะเราเป็นหัวหน้า ขอบคุณสำหรับคำแช่งคำด่า ถ้าเป็นชมไม้ เราก็จะไม่ถามเรย นี่เราไม่ได้เราเรยถาม มาว่ากันอย่างนี้ ทำให้ยิ่งเกลียด ภาษาไทย ขอบคุณที่ทำให้เรายิ่งเกลียดความเป็นไทย มีแต่คนไร้น้ำใจ มีแต่คนแช่ง  ขอบอกตรงๆว่า โคตรงี่เง่าของงี่เง่าเรย

ถ้าครูหาตัวอย่างมาเปรียบเทียบให้เห็นความไพเราะและไม่ไพเราะได้   นักเรียนก็จะแยกแยะภาษาของวรรณคดีได้ว่าเกิดจากการบรรจงขัดเกลาถ้อยคำให้รื่นหูได้อย่างไร   แตกต่างจากภาษาในชีวิตประจำวัน ที่แสดงออกแบบไม่ขัดเกลา อย่างไรบ้าง 
ครูอาจจะสอนต่อไปว่า ถ้าขุนแผนฉุนเฉียวปากไว สวนกลับแก้วกิริยากลับไปว่าไม่รับรักก็ไม่เห็นจะง้อ   แถมแช่งด่าส่งท้ายไปอีก  ก็คงไม่สามารถชนะใจผู้หญิงได้โดยดีอย่างที่เป็นอยู่     ข้อคิดจากวรรณคดีในตอนนี้ ทำให้พวกเธอได้คิดอะไรบ้างจากภาษาที่แตกต่างกัน และเอาไปใช้กับชีวิตประจำวันได้บ้างไหม
อย่างนี้เด็กอาจจะได้ใช้ความคิด  ไม่ใช่ท่องจำอย่างเดียว   และนำไปต่อยอดความคิดได้ด้วย

เรื่องต่อไปจะพูดถึงการถอดคำประพันธ์  ยาหม้อใหญ่ของการเรียนวรรณคดี
บันทึกการเข้า
POJA
พาลี
****
ตอบ: 298


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 30 พ.ค. 11, 13:30

ปูเสื่อรอค่ะ อาจารย์

เอาแบบยาเย็นนะคะ อากาศยิ่งร้อน ๆ อยู่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 30 พ.ค. 11, 13:42

ตอนค่ำๆจะมาตอบค่ะ  ระหว่างนี้อากาศร้อนจัด  เอาน้ำใบบัวบกเย็นเจี๊ยบไปดื่มพลางๆก่อนนะคะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 30 พ.ค. 11, 20:53

เมื่อก่อนนี้ เรือนไทยมีนักเรียนเข้ามาถามการบ้านอยู่หลายครั้ง ให้ถอดความกลอนจากวรรณคดี     เมื่อเจอครั้งแรกๆก็ไม่ชอบใจว่าทำไมเด็กพวกนี้ไม่ทำการบ้านเอง   เลยไม่ตอบ ให้กลับไปตอบเองแล้วกลับมาโพส จะแก้ไขให้   ส่วนใหญ่ก็หายหน้าไปเลย
หลายปีเข้า สังเกตว่า เรื่องที่เด็กไม่เข้าใจก็คือเรื่องอิเหนาตอนศึกกระหมังกุหนิง     

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2162.msg40504;topicseen#msg40504

เจ้าตัวสารภาพออกมาตามนี้ค่ะ

อยากได้คำแปลเหมือนกันอ่ะ
เอาทั้งตอน ศึกกะหมังกุหนิงเลย
เราปวดหัวกับอะไรที่เป็นกลอนอย่างแรงอ่ะ
อุส่าห์ฟังครูนะ แต่ไม่เข้าหัวเลย
ถ้าเรื่องที่เป้นร้อยแก้ว อ่านรอบเดียวก็จำได้หมดแล้วTT_TT

ใครมีคำแปลหรือถอดความได้ก็ช่วยเราหน่อยนะ
ใกล้จะสอบแล้ว...


มีสมาชิกเรือนไทยใจดีเข้าไปทำการบ้านให้   ซึ่งดิฉันเองก็ไม่เห็นด้วย   แต่ก็ดูออกอีกอย่างว่านักเรียนคนนี้เป็นโรค"แพ้กลอน"  อ่านกลอนไม่รู้เรื่อง แต่อ่านร้อยแก้วรู้เรื่อง     อย่างน้อยก็ดีตรงที่อ่านหนังสือวรรณคดีฉบับถอดความได้
แต่พร้อมกันนั้นก็สงสัยว่าในตำราเรียน ไม่ได้แปลศัพท์ไว้ให้ทั้งหมดหรอกหรือ 
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 31 พ.ค. 11, 10:44

ขอออกความเห็นในฐานะที่เคยเป็นนักเรียนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วค่ะ

ส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก ได้หนังสือเรียนภาษาไทยมาจะอ่านจบเล่มตั้งแต่ยังไม่เปิดเทอม และเอามาอ่านซ้ำบ่อยๆ น่ากลุ้มใจตรงที่ว่า บางตอนที่แทรกเรื่องวรรณคดี เช่น เมขลาล่อแก้ว โสนน้อยเรือนงาม พระร่วงสวรรคโลก ฯลฯ นั้น รู้เรื่องได้เพราะสนใจ จึงอ่านจนเข้าใจและท่องจำได้ ในขณะที่ในห้องเรียน คุณครูจะให้ยืนขึ้นอ่านทีละย่อหน้า ทีละคน และให้สอบเขียนตามคำบอก

สมัยเรียนกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ตอน ม.3 สารภาพเลยว่ามึนมาก เพราะสุดปัญญาที่จะทราบว่า ล่าเตียงหรือมัสกอดเป็นอย่างไร ทั้งห้องไม่รู้ซักคน อาจารย์ไม่ได้อธิบาย ถามพ่อแม่ๆ ก็ว่าไม่เคยได้ยิน กูเกิ้ลก็ไม่มี แถมมีสอบให้อ่านกาพย์เป็นทำนองเสนาะ ถูกอาจารย์บ่นว่าอ่านไม่ได้อารมณ์... หนูไม่รู้ว่ามันคืออะไร หนูจะมีอารมณ์ร่วมได้อย่างไรคะ...

กฎหมายมีหลักอยู่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิเหนือผู้โอน ฉันใดก็ฉันนั้นค่ะ ถ้าผู้ถ่ายทอดเองยังไม่เข้าใจ ไม่ซาบซึ้ง ไม่เห็นค่า การถ่ายทอดก็เป็นไปอย่างแกนๆ และแห้งแล้ง
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 31 พ.ค. 11, 10:58

เพิ่มเติมค่ะ

ใช่แล้วค่ะ เด็กๆ ปัจจุบันไม่ชอบวรรณคดีหรือวรรณกรรมที่มีคุณค่า แต่ไพล่ไปอ่านนิยายเรทต่างๆ เพราะว่า “หาง่าย + ราคาไม่แพง” ค่ะ

สิ่งหนึ่งที่ไม่เข้าใจในบ้านนี้เมืองนี้คือ ทำไมไม่พิมพ์หนังสือดีๆ ออกมาขายให้มากๆ แต่กลับกลายเป็นของหายาก กลายเป็นของสะสมเล่มละเป็นพันเป็นหมื่น อยากอ่านจัดๆ ก็ต้องไปหาตามห้องสมุดมหาวิทยาลัย กระดาษเหลืองกรอบ ใจอยากขโมยเป็นที่สุด แต่ก็ละอายใจ เราอยากได้ คนอื่นก็คงอยากได้ (เราเองก็กลายเป็นคนงก หนังสือที่มีก็ไม่อยากให้ใครยืม เพราะกลัวไม่ได้คืน)

ร้านหนังสือในต่างประเทศเขามีวรรณกรรมดีๆ ขายเต็มไปหมด ฉบับนักเรียน ฉบับปกอ่อนปกแข็งปกหนังเดินทองมีขายอยู่ตลอดเวลา เด็กๆ ก็อ่านฉบับเด็กไป พอเข้าใจเนื้อหาแล้วสนใจก็ไปซื้อฉบับสมบูรณ์มาศึกษา มาเก็บไว้ ทำไมบ้านเราจึงทำไม่ได้ นักเขียนดีๆ เรามีมากมาย แต่ชื่อของท่านกลายเป็นคลาสสิคค่ะ เพราะหาซื้อหนังสือท่านไม่ได้

(ขออภัยที่บ่นค่ะ)
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 19 คำสั่ง