เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 37879 ภูตผีปีศาจ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 21 พ.ค. 11, 13:35

เล่าเรื่องเบาๆสักกระทู้   

ขอรวบรวมภูต+ผี+ปีศาจ  เท่าที่นึกออก  ทั้งไทยและเทศมาให้อ่านกัน     ถ้าเป็นยักษ์หรืออมนุษย์อย่างอื่นก็เอาไว้รอในกระทู้อื่นนะคะ

ทั่วโลกมีคำว่า ผี   ในความหมายของสภาพดำรงอยู่ของผู้ที่ตายไปแล้ว   แม้ในความเป็นจริง  ไม่มีใครชี้ลงไปได้แน่ๆว่าผีมีจริงหรือไม่    จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถเอาตัวตนออกมาพิสูจน์กันให้เห็นชัดๆ เหมือนหาสัตว์ประหลาดของคุณเพ็ญชมพู  แต่ความเชื่อเรื่องผีมีจริงก็แพร่หลายอยู่ทุกประเทศ  สามารถจะคว่ำความเชื่อด้านตรงข้าม คือความเชื่อว่าผีไม่มีจริง ได้สอบตกไปทุกยุคทุกสมัย

รอยอิน ก็ดูเหมือนจะยอมรับสถานภาพของผี ไม่มากก็น้อย  จึงให้คำอธิบายไว้ว่า

ผี   น. สิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัว แต่อาจจะปรากฏเหมือนมีตัวตนได้อาจให้คุณหรือโทษได้ มีทั้งดีและร้าย     เช่น ผีปู่ย่าตายาย ผีเรือน ผีห่า, เรียกคนที่ตายไปแล้ว;




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 21 พ.ค. 11, 13:59

ในหลักฐานเก่าแก่ของไทย  คือหลักศิลาจารึกกรุงสุโขทัยหลักที่ ๑  มีคำว่า ผี  อยู่ในจารึก

    “เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎี พิหาร ปู่ครู อยู่ มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี เทวดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ถูก พลีบ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้ม บ่เกรง เมืองนี้หาย”

    ความหมายของ"ผี" ในที่นี้ไม่ใช่ผีประเภทหลอกหลอนอย่างที่เข้าใจกัน  แต่หมายถึงเทวดา  พระขพุงผีเป็นเทวดาระดับประธาน  สิงสถิตอยู่ในเขาทิศหัวนอนเมืองสุโขทัย มีตำแหน่งเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมือง  ถ้าพระเจ้าแผ่นดินบวงสรวงสังเวย ให้ความเคารพอย่างถูกต้อง พระขพุงผีก็ปกปักคุ้มครองเมืองสุโขทัย   ทำนองเดียวกับพระสยามเทวาธิราชของกรุงรัตนโกสินทร์

    คำว่า ผี ที่ใช้ในความหมายของเทวดา   สุโขทัยใช้ตรงกับไทยอาหม    ส่วนไทยใหญ่อธิบายว่า ผีคือเทวดาชั้นระดับต่ำกว่าพรหม แต่สูงกว่ามนุษย์  อยู่ในสวรรค์ ๖ ชั้น ก็คงจะตรงกับสวรรค์ฉกามาพจรของไทย
  
   ภาพล่างนี้คือเทวรูปพระขพุงผี  ที่ค้นพบโดย   สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถได้เสด็จไปสำรวจเมืองสุโขทัย  ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455  ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “กำเนิดเมืองสวรรคโลก สุโขทัย” ว่า

    “มีพยานชัดที่กล่าวว่า เบื้องหัวนอนมีพระขพุงผี เทพยดาในเขาอันนั้น ทางเหนือเมืองสุโขทัยไม่มีภูเขาจนลูกเดียว ส่วนทางใต้มี ซ้ำไปหาเทวรูปได้ที่ในเพิงหินด้วย ดูจะเป็นพระขพุงผีแน่ ไม่มีปัญหาเลย”
    แต่ปัจจุบันนี้เรียกกันว่า "พระแม่ย่า" สันนิษฐานว่าเป็นนางเสือง พระชนนีของพ่อขุนรามคำแห่ง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 21 พ.ค. 11, 16:50

      ในยุคใดสมัยใดก่อนหน้านี้ ไม่แจ้ง  แต่พูดแบบเหวี่ยงแหคงไม่ผิดว่า พอมาถึงในสมัยอยุธยา  คำว่าผีที่แปลว่าเทวดาก็หายไป  กลายมาเป็นผีอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
     ในการละเล่นในเทศกาลบันเทิงๆต่าง มีการเล่นเข้าผี เช่นในสงกรานต์ของทุกภาค  เรียกว่า ฟ้อนผี ซึ่งมีผีหลายชนิด ภาคใต้ เรียกว่า การเล่นเชื้อ อุปกรณ์การเล่นขึ้นอยู่กับการเลือกเล่น เข้าผีชนิดใด เช่น ผีสุ่มก็ใช้สุ่ม ผีกะลาก็ใช้กะลา มีเครื่องประกอบการเล่น เช่น ธูป เทียน สำหรับจุดเชิญ และผ้าผูกตา เป็นต้น ส่วนที่สำคัญคือ คนรับอาสาให้ผีเข้า มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หญิงและชาย มักเล่นในเวลาเย็นหรือย่ำค่ำ ผีที่นิยมเล่นคือ
    ผีคน ได้แก่ เล่นแม่ศรี  ผีนางกวัก
    ผีสัตว์ ได้แก่ ผีลิงลม ผีควาย ผีช้าง ผีหงส์ ผีมดแดง ผีอึ่งอ่าง ผีปลา ฯลฯ
    ผีที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ ได้แก่ ผีกระด้ง ผีสุ่ม ผีกะลา ผีจวัก
วิธีเล่น เมื่อจุดธูปเชิญผีแล้ว ก็ผูกผ้าปิดตา ผู้อาสาเชิญผีเข้า ต่อมาจึงร้องเพลงเชิญผี เชิญผีชนิดใดก็ร้องเพลงของผีชนิดนั้นๆ เนื้อความของเพลงที่ร้องจะร้องกันมาแต่โบราณ ร้องซ้ำๆกัน หลายๆครั้ง จนอาสาให้ผีเข้าเริ่มโงนเงนแสดงว่าผีมาแล้ว ผู้ร่วมเล่นจะร้องเพลงเชิญชวนให้ร่ายรำ กระโดดโลดเต้น และวิ่งไปวิ่งมา หรือไล่จับกันไปตามอริยาบถของลักษณะผี เมื่อเล่นเป็นที่พอใจแล้วประสงค์จะให้ผีออก ก็ร้องตะโกนที่หูหรือผลักให้ล้ม กระโดดข้ามตัวผู้อาสาเชิญไปมา 3 เที่ยว ผู้อาสาเชิญผีเข้าก็จะรู้สึกตัวเป็นปกติ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 22 พ.ค. 11, 21:03

ความคิดที่ว่าผีเป็นเทวดาชนิดหนึ่ง ตามแบบสุโขทัย  ยังสืบเนื่องมาถึงอยุธยาในวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ   

เรื่องพระลอ ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการผสมผสาน ระหว่างวัฒนธรรมถิ่นอื่นที่ไม่ใช่ภาคกลาง  กับราชสำนักอยุธยา    ภาษาที่ใช้มีภาษาเหนือปนอยู่ตลอดเรื่อง  ขนบการแต่งต่างๆก็มีกลิ่นอายแปลกแยกออกไปเห็นชัด    วรรณคดีอยุธยาส่วนใหญ่รับอิทธิพลมาจากอินเดีย  ไม่ว่าชาดก หรือมหากาพย์   แต่ลิลิตพระลอรับเรื่องมาจากท้องถิ่นในแหลมทองนี้เอง   
ตัวพระตัวนางก็แปลกแยกออกไปไม่ซ้ำแบบใคร   ขณะที่ตัวนางในวรรณคดีภาคกลางเป็นฝ่าย passive หรือเป็นฝ่ายถูกกระทำ จากเพศชาย  อันเป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง  แบบวัฒนธรรมอินเดีย  แต่ลิลิตพระลอ  ผู้หญิงเป็นนางพญาครองเมือง  ผู้หญิงเป็นฝ่ายรุกจู่โจมเอาตัวผู้ชายมาให้ได้    ผู้หญิงเป็นคนลงมือสั่งฆ่าอย่างโหดเหี้ยมไม่กลัวพระอาญา     ลักษณะแบบนี้ไม่มีในวรรณคดีอื่นของราชสำนัก

แต่จะพูดเรื่องนี้ก็จะออกนอกเรื่องไปไกล   ขอย้อนกลับมาถึงผีในพระลอดีกว่า
ตอนปู่เจ้าสมิงพรายทำเสน่ห์พระลอ   ขบวนการหรือขั้นตอนไม่ได้แค่อย่างเดียวหนเดียว  แต่ทำหลายขั้นหลายตอน  ขั้นตอนสำคัญคือระดมพลจากเทพและภูตผีปีศาจที่อยู่ในอำนาจของปู่เจ้า มาตั้งเป็นกองทัพ   ไปโจมตีผีบ้านผีเมืองของพระลอ    เพื่อจะจู่โจมเข้าเมือง ให้พระลอตกอยู่ในอาถรรพณ์ของปู่เจ้าได้สะดวก

ผี ในเรื่องนี้สืบทอดมาจากวัฒนธรรมพระขพุงผีของสุโขทัย    ผีเมืองก็คือเทพชั้นผู้น้อยที่รักษาเมือง  มีระดับทหารไพร่พลที่เรียกว่าผี รักษาอยู่ชั้นนอกเหมือนทหารลาดตระเวนชั้นประทวน      เมื่อข้าศึกผียกมา  ทหารพวกนี้แตกพ่าย ก็รีบถอยร่นเข้ามาแจ้งพระเสื้อเมืองพระทรงเมืองซึ่งเป็นเทพชั้นนายพล  ให้รู้ว่าศึกใหญ่มาตีเมืองแล้ว
ลิลิตพระลอ  ไม่ได้แยกผีจากเทพ  แต่ผีดูจะเป็นระดับเล็กกว่าเทพ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 23 พ.ค. 11, 18:25

เรื่องผีเทวดารักษาเมือง ยังมีให้เห็นในสมัยอยุธยา   ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร  แต่ไม่ได้เกิดที่สยาม   ไปเกิดที่เมืองละแวก  เมืองหลวงของกัมพูชา

เมื่อเกิดศึกครั้งสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปตีเมืองละแวก ในพ.ศ. 2137   ครั้งที่พงศาวดารไทยเมื่อก่อน เล่าว่าทรงจับพระยาละแวกมาทำพิธีปฐมกรรม ตัดหัวเอาเลือดล้างพระบาท    แล้วนักประวัติศาสตร์ไทยอย่างอ.ขจร สุขพานิชไปหาหลักฐานจากสเปนมาว่า พระยาละแวกหนีไปได้
มีรายละเอียดอยู่ในกระทู้โปรตุเกสเข้าเมือง   จึงไม่เอ่ยซ้ำ
แต่จะเล่าว่า พงศาวดารเขมรบันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า ทางเขมรก็เตรียมกำลังทัพพร้อมสู้ไว้เต็มพิกัดอัตราเหมือนกัน     พระยาละแวกมีใบบอกไปยังเจ้าเมืองกำปงเสียม สตึงเตรง บารายณ์ เชิงไพร อาสนฺจุก   เจ้าเมือง ตโบงฆมุม กระแจะ กุญชร ไพรแวง และททึงไถล คอยสกัดทัพไทยที่อาจจะยกกำลังเข้ามาทางน้ำ   ส่วนกำลังทัพที่เมืองบาพนม ศรีธันดร โรงฎำรี เชิงบาแฎง ไพรนคร สำโรงทง รลาบเอียน ไปตั้งรับที่เขตบริบูรณ์

เตรียมกันคึกคักขนาดนี้ แต่ปรากฏว่าทัพเขมรแตกพ่าย  พงศาวดารเขมรโทษเทวดาอารักษ์ผู้รักษาเมือง  ว่าไม่ยอมสู้รบกับทหารไทย   ทัพไทยก็ตีเมืองแตกไปเรื่อยจนถึงเมืองละแวกซึ่งเป็นเมืองหลวง
เมื่อทัพไทยตีเมืองละแวก    พงศาวดารเขมรมีข้อกล่าวหาใหม่ ว่าไทยส่งไส้ศึกไป ๒ คนไปทำพิธี ทำอาถรรพณ์ขับไล่เทวดาที่รักษาเมืองละแวก  เรียกชื่อว่าอ้ายติปัญโญและอ้ายสุปัญโญ     สองคนนี้ทำได้สำเร็จ  จนเมืองหลวง "บันทายลงแวก”แตกในที่สุด  เจ้านายเขมรถูกจับมาอยุธยาหลายองค์รวมทั้งมหาอุปราชเมืองเขมรด้วย แต่พระยาละแวกหนีไปได้ แล้วไปสิ้นพระชนม์ระหว่างทางลี้ภัยไปราชอาณาจักรลาว
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 พ.ค. 11, 20:02 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 25 พ.ค. 11, 20:17

ผีเมืองอีกแบบหนึ่งที่เป็นตำนานเล่าขานกันมา คือผีเฝ้าเมือง    เชื่อกันว่าเมื่อมีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาที่ใด จะต้องฝังคนเป็นๆลงในหลุมหลักเมือง หรือใต้ประตูเมือง   ให้เป็นผีเฝ้ารักษาเมืองอยู่ชั่วกัปป์ชั่วกัลป์     ความเชื่อเป็นตุเป็นตะนี้ ผูกเป็นเรื่องว่า   

"  มีเรื่องเล่าสืบกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ว่าในพิธีสร้างพระนคร ต้องทำพิธีฝังอาถรรพ์ ๔ ประตูเมือง และ พิธีฝังเสาหลักเมือง การฝังอาถรรพ์ กระทำด้วยการป่าวร้องเรียกผู้คนที่มีชื่อ อิน-จัน-มั่น-คง ไปทั่วเมือง เมื่อชาวเมืองผู้เคราะห์ร้ายขานรับ ก็จะถูกนำตัวมาสถานที่ทำพิธี และถูกจับฝังลงหลุมทั้งเป็น ทั้ง ๔ คน เพื่อให้วิญญาณของคนเหล่านั้นอยู่เฝ้าหลักเมือง เฝ้าประตูเมือง เฝ้าปราสาท คอยคุ้มครองบ้านเมือง ป้องกันอริราชศัตรูและปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บมิให้เกิดแก่คนในนคร เรื่องเล่านี้เป็นเพียงเรื่องเล่าสืบต่อกันมา ไม่มีบันทึกในพงศาวดาร"

ถ้ามองกันด้วยเหตุผล  จนบัดนี้คงไม่มีชาวบ้านคนไหนตั้งชื่อลูกว่า อิน จัน มั่น คง กันอีกต่อไป หลังจากชุดแรกถูกฝังลงหลุมไปแล้ว  แต่ก็อุตส่าห์มีคนเชื่อถึงขั้นเอาไปเขียนไว้ในหนังสือ "ประวัติจังหวัดภูเก็ตฉบับฉลอง 25 พุทธศตวรรษ" เมื่อพ.ศ.2500 โดยเล่าถึงการฝังหลักเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า

    "เมื่อท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทรได้ถึงอสัญกรรมแล้ว พระยาถลาง (ทองพูน) ได้เป็นเจ้าเมืองถลาง ได้จัดหาสถานที่เพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้น และได้ตกลงให้สร้างเมืองใหม่ขึ้น ที่ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลางในปัจจุบันนี้ โดยเรียกว่า "บ้านเมืองใหม่" เมื่อจัดหาที่ได้แล้ว จึงได้ประกอบพิธีกรรมขึ้นเพื่อฝังหลักเมืองโดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์รวม 32 รูป เจริญพระพุทธมนต์อยู่ 7 วัน 7 คืน แล้วจึงให้อำเภอทนายป่าวร้องหาตัวผู้ที่จะเป็นแม่หลักเมือง (ผู้ที่จะเป็นแม่หลักเมืองได้ต้องเป็นคนที่เรียกกันว่า สี่หูสี่ตา คือกำลังมีครรภ์นั่นเอง) การป่าวร้องหาตัวแม่หลักเมืองนี้ได้ประกาศป่าวร้องไปเรื่อย ๆ ไปตลอดทุกหมู่บ้านว่า โอ้เจ้ามั่น โอ้เจ้าคง อยู่ที่ไหนมาไปประจำที่ ในที่สุดจึงไปได้ผู้หญิงชื่อนางนาคท้องแก่ประมาณ 8 เดือนแล้ว นางนาคได้ขานตอบขึ้น 3 ครั้ง แล้วได้เดินตามผู้ประกาศไป ขณะนั้นเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว เมื่อไปถึงหลุมที่จะฝังหลักเมือง นางนาคก็กระโดดลงไปในหลุมนั้นทันที ฝากหลุมก็เลื่อนปิด เจ้าพนักงานก็กลบหลุมฝังหลักเมืองเป็นอันเสร็จพิธีการฝังหลักเมือง"
   
    เรื่องนี้เคยวิเคราะห์ไว้ในกระทู้เก่าของเรือนไทยว่า ฟังจากเรื่องเล่าก็รู้แล้วว่าเพี้ยน  เหลวไหล เชื่อไม่ได้    หนึ่งในหลายเหตุผลคือผู้หญิงท้องตั้ง ๘ เดือนสามารถกระโดดลงหลุมได้นี่แหละ

   ส.พลายน้อยได้วิจารณ์ไว้ว่า
   "ตามเรื่องข้างต้นนี้ไม่มีในพงศาวดาร คนเขียนขึ้นตามที่เคยฝังเขาเล่ากัน หรือจับเอาเรื่อง "ราชาธิราช" เมื่อพระเจ้าฟ้ารั่วสร้างปราสาทมาเป็นพิธีฝังหลักเมืองดังมีข้อความตอนหนึ่งว่า
    "ครั้นวันฤกษ์พร้อมกันคอยหาฤกษ์แล้วนิมิตกึ่งฤกษ์เวลากลางวัน พอหญิงมีครรภ์คนหนึ่งเดินมาริมหลุม คนทั้งปวงพร้อมกันว่าได้ฤกษ์ แล้วก็ผลักหญิงนั้นลงในหลุม จึงยกเสาปราสาทนั้นลงหลุม"
       บางทีจะเป็นเรื่องนี้เองก็ได้ ที่คนเอาไปโจษขานเล่าลือกัน แล้วเลยหลงเข้าใจผิดไปว่า การฝังหลักเมืองหรือประตูเมืองนั้นต้องฝังคนท้องทั้งเป็นหรือคนที่มีชื่อว่า อิน จัน มั่น คง จนพวกฝรั่งฟังไม่ได้ศัพท์จึงเอาไปเขียนอธิบายกันยืดยาว และที่น่าอัศจรรย์ใจก็คือ หนังสือประวัติจังหวัดภูเก็ตเล่มดังกล่าวได้ตีพิมพ์เรื่องตอนนี้ไปได้อย่างไร คนอ่านไม่ได้คิดก็จำเรื่องผิด ๆ ไป "
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 25 พ.ค. 11, 22:12

ถ้าถามว่าการฝังคนเป็นผีเฝ้าเมือง ถ้าไม่มีหลักฐานในประเทศไทย   ที่อื่นมีไหม ก็ขอตอบว่ามี    เมื่อพม่าสร้างเมืองหลวงมัณฑเล  ได้ทำพิธีสร้างผีเฝ้าเมืองแบบที่เราเชื่อว่าเป็นของไทย   
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าไว้ในพม่าเสียเมืองว่า  เมื่อพระเจ้ามินดุงทรงย้ายเมืองหลวงมาที่ตำบลมมัณฑเล    ผังเมืองก็เหมือนเมืองหลวงก่อนๆคือเป็นรูปสี่เหลี่ยม จึงมีกำแพงสี่ด้าน กำแพงแต่ละด้านมีประตูเมืองสามประตู รวมเป็นสิบสองประตูด้วยกัน   ที่เสาประตูเมืองและตามที่สำคัญอื่นๆนั้น ต้องฝังอาถรรพ์ และอาถรรพ์นั้นก็คือคนเป็นๆ

ในหนังสือพม่าเสียเมือง ระบุไว้ละเอียดลออในเรื่องนี้ ว่า

"เมื่อพระเจ้ามินดุงสร้างเมืองมัณฑเลนั้น ต้องเอาคนเป็นๆมาฝังถืง ๕๒ คน ฝังตามประตูเมืองประตูละ ๓ คน   ๑๒ ประตููู ก็เป็น ๓๖ คน  ตามมุมเมืองอีกมุมละคน  ประตูพระราชวังและสี่มุมกำแพงพระราชวังก็ต้องฝังคนอีก  และเฉพาะใต้พระที่นั่งสิงหาสน์อันเป็นพระที่นั่งในท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกขุนนางนั้น ต้องฝังถึง ๔ คน

คนที่ถูกฝังทั้งเป็นเพื่อให้เป็นผีคอยรักษาเมืองและพระราชวังนั้นต้องเลือกให้ได้ลักษณะตามที่โหรพราหมณ์กำหนด    ไม่ใช้คนโทษที่ต้องโทษประหาร แต่เป็นคนที่อยู่ในวัยต่างๆกัน ตั้งแต่ผู้มีอายุไปจนถึงเด็กๆ มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง  ทุกคนต้องมีฐานะดีเป็นที่ยกย่องในกลุ่มชน ต้องเป็นคนที่เกิดตามวันที่โหรกำหนด ถ้าเป็นเด็กผู้ชายต้องเป็นเด็กที่ยังไม่มีรอยสักตามตัว ถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องยังไม่เจาะหู ทหารมีหน้าที่จับคนเหล่านี้มาให้ได้จนครบ

พอมีข่าวออกไปว่าจะเอาคนมาฝังทั้งเป็น ผู้คนก็หลบไปจากเมืองมัณฑเลเกือบหมด ทางราชการสั่งให้มีละคร ให้คนดูทั้งกลางวันและกลางคืนหลายวัน  แต่ก็ไม่มีใครมาดู ในที่สุดก็ต้องเที่ยวซอกซอนค้นเอาตัวมาได้จนครบ  เมื่อได้ฤกษ์ก็เลี้ยงดูคนเหล่านั้นแล้วสั่งเสียให้คอยเฝ้าเมือง และรักษาพระราชวัง  แล้วก็เอาลงหลุม        เอาเสาประตูใส่หลุมตามลงไป ลูกเมียญาติพี่น้องซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลก็คงจะรับไปอย่างไม่สบายใจนัก..."
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 25 พ.ค. 11, 22:24

ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ ถ้าสนใจก็ลองเข้าไปดูได้ครับ


พม่าบูชายัญ ตอน2ของ “มาดูรูปพิธีกรรมสำเร็จโทษเจ้านายในพม่ากัน”  

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/10/K8404784/K8404784.html

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 26 พ.ค. 11, 08:38

ผี ในเรื่องนี้สืบทอดมาจากวัฒนธรรมพระขพุงผีของสุโขทัย    ผีเมืองก็คือเทพชั้นผู้น้อยที่รักษาเมือง  มีระดับทหารไพร่พลที่เรียกว่าผี รักษาอยู่ชั้นนอกเหมือนทหารลาดตระเวนชั้นประทวน      เมื่อข้าศึกผียกมา  ทหารพวกนี้แตกพ่าย ก็รีบถอยร่นเข้ามาแจ้งพระเสื้อเมืองพระทรงเมืองซึ่งเป็นเทพชั้นนายพล  ให้รู้ว่าศึกใหญ่มาตีเมืองแล้ว
ลิลิตพระลอ  ไม่ได้แยกผีจากเทพ  แต่ผีดูจะเป็นระดับเล็กกว่าเทพ

ประวัติที่มาของพระเสื้อเมืองและพระทรงเมือง นี้มีการพูดถึงอยู่เนือง ๆ แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ชัดแจ้ง

ครั้งหนึ่งได้เคยถกเรื่องนี้กันกับคุณโฮและคุณม้าในห้องสมุด พันทิป มีความเห็นต่อเทวดาทั้งสองนี้หลายหลาก
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/03/K7677216/K7677216.html

คุณเพ็ญเริ่มก่อน

พระเสื้อเมือง อาจจะมาจากคำว่า พระเชื้อเมืองอันหมายถึงว่าเป็นผีเชื้อสาย หรือเทวดาที่คุ้มครองรักษาเมืองตามลัทธิของไทยโบราณที่นับถือผีบรรพบุรุษปู่ย่าตายาย ตามความเห็นของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)

คุณโฮมีความเห็นกลับตรงกันข้ามคือ คำว่าพระเชื้อเมืองก็อาจมาจากพระเสื้อเมือง ก็ได้

"เสื้อ" น่าจะเป็นคำไทเดิม ที่ตรงกับคำว่า "เสื้อ (ผ้า)" คือ สวมใส่ หรือ สถิต หรือ สิง ปกป้องอะไรบางอย่าง เช่น เสื้อผ้า ก็ปกป้องร่างกาย เสื้อเมืองก็ปกป้องเมือง

ผีเสื้อเมือง พระทรงเมือง ก็คือ ดวงวิญญาณของผี ที่ปกป้องเมือง (สังเกตว่า พระเสื้อเมือง และ พระทรงเมือง น่าจะเป็นการเปลี่ยนคำให้ดูเป็นทางการมากขึ้น คือ เปลี่ยนจาก ผี เป็น พระ และ เปลี่ยนจาก เสื้อ เป็น ทรง)


คุณม้าเห็นด้วยกับคุณโฮ

แต่คุณเพ็ญมีความเห็นแตกแขนงมาจากคุณโฮ

มีเรื่องล้อเล่นกันอยู่เสมอว่า เมื่อมีพระเสื้อเมืองแล้วจะมีพระกางเกงเมืองด้วยหรือเปล่า ถ้าหากคำว่า "เสื้อ" ใน พระเสื้อเมืองมาจาก "เสื้อผ้า" อย่างที่คุณโฮว่าแล้ว คำว่า "ทรง" ในคำว่า "พระทรงเมือง" ก็เป็นไปได้ว่ามาจากคำว่า "ซง หรือ ส่ง" (ในภาษาผู้ไทและไทยอีสาน) ซึ่งเป็นคำไทเก่า ที่แปลว่า กางเกง

คนไทยเรียกชาวไทดำว่า ลาวโซ่ง โซ่งนั้นมีการสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากคำว่า ซ่วง หรือ ซ่ง ซึ่งเป็นภาษาไทดำ แปลว่ากางเกง เพราะว่าชาวไทดำเหล่านี้สวมกางเกงสีดำ  ปัจจุบันเรียกคนเหล่านี้ว่า ชาวไทยโซ่ง หรือ "ไทยทรงดำ"


สรุปแล้ว พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เป็นใคร หรือ อะไร มาจากไหนกันแน่

รออ่านความเห็นของคุณเทาชมพู


 ฮืม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 26 พ.ค. 11, 08:56

ครั้งหนึ่งได้เคยถกเรื่องนี้กันกับคุณโฮและคุณม้าในห้องสมุด พันทิป มีความเห็นต่อเทวดาทั้งสองนี้หลายหลาก
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/03/K7677216/K7677216.html


ในกระทู้ที่อ้างถึงข้างบนมีความเห็นดี ๆ ของคุณโฮเกี่ยวกับ พระเสื้อเมือง และ พระทรงเมือง ต่อเนื่้องอยู่ ๓ ความคิดเห็น อดใจเอามาเผยแพร่ต่อไม่ได้

 ยิงฟันยิ้ม

ความคิดเห็นที่ 51 

ไม่ได้เข้ามาอ่านสามสี่วัน กระทู้ไปเร็วจริง อิอิ

ขอตอบคำถามก่อนนะครับ

คุณ jassb1 ถามว่า
อ้างถึงท่าน Hotacunus ... พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ทำไมปัจจุบันจึงยังมีทั้งสองชื่อล่ะครับ
ผมสงสัยว่า หากเราแปลง ผีเชื้อ ไปเป็น พระเสื้อ ... แล้ว"พระทรง" มาจากไหนอีกหรือครับ ...
เริ่มมึนกะผีกะสางเทวดาอารักษ์แล้วซี
ตอบ: ข้อนี้ เหมือนหลายท่านให้ความเห็นไปบ้างแล้ว
เรื่อง พระเสื้อเมือง - พระทรงเมือง ถ้าตามความเห็นผมนะครับ คำดั่งเดิมจริงๆ คือ ผีเสื้อเมือง มาจาก ผี (คือดวงวิญญาณ ไม่ใช่ผีที่น่ากลัวแบบหนังผีปัจจุบัน) + เสื้อ (คุ้มครอง, สิงสถิต) + เมือง

ดังนั้น จึงอาจรวมความได้ว่า ดวงวิญญาณที่คุ้มครองเมือง

ต่อมา คำว่า ผี น่าจะถูกแปลงความหมายไปเป็นผีที่น่ากลัว หรือ ดวงวิญญาณของคนตายทั่วๆ ไป ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่าง และให้ความเคารพกับดวงวิญญาณที่ปกป้องเมือง จึงให้เกียรติดวงวิญญาณเหล่านั้น ด้วยคำว่า "พระ"

ผีเสื้อเมือง จึงกลายเป็น พระเสื้อเมือง

ส่วนพระทรงเมือง จะมาจาก ที่คุณเพ็ญชมพูเล่าติดตลกว่า ทรง (ภาษาถิ่น) = กางกาง หรือไม่นั้น ไม่ทราบเหมือนกันครับ อิอิ

แต่ผมคิดว่า ก็คงเป็นการเล่นคำโดย แปลง "เสื้อ" เป็น "ทรง" แต่ก็ยังคงความหมายว่า (อยู่) คุ้มครอง หรือ สถิต (อยู่) พระทรงเมือง จึงน่าจะเป็นที่แปลงให้สุภาพ และให้เกียรติดวงวิญญาณครับ (เนื่องจาก ระดับภาษาพัฒนาขึ้นมากกว่าสมัยสุโขทัย ที่คำๆ เดียวมีความหมายกว้าง เช่น ผี หมายถึงดวงวิญญานกว้างๆ ทั้งของคน และ เทพ)

จากคุณ : -_- (Hotacunus)   - [ 5 เม.ย. 52 03:34:01 ]
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 26 พ.ค. 11, 08:58

ความคิดเห็นที่ 52

เห็นหลายท่านอ้างถึงจารึกหลักที่ ๑ (พ่อขุนรามคำแหง) ในจารึกนี้ มีทั้ง เสื้อ และ เชื้อ ครับ ดังความต่อไปนี้

ไพรฟ้าหน้าใสลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล้ ล้มตายหายกว่าเหย้าเรือน
พ่อเชื้อเสื้อคำมัน ช้างขอ ลูกเมียเยียข้าว ไพร่ฟ้าข้าไทย
ป่าหมากป่าพลู พ่อเชื้อมัน ไว้แก่ ลูกมันสิ้น

สรุปง่ายๆ เป็นกฎหมายมรดก ถ้าหัวหน้าครอบครัวตาย ให้ทรัพย์สินทั้งหมดของหัวหน้าครอบครัว ตกเป็นของบุตร

=============================
เนื้อหานี้ ได้ถูกสรุปไว้สองวรรคในจารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาไทย) หลักที่ ๑ ของพญาลิไท (หลานพ่อขุนรามคำแหง) ความดังนี้ครับ

พ่อตายไว้แก่ลูก พี่ตายไว้แก่น้อง

=============================

ประโยคปัญหาคือ "พ่อเชื้อเสื้อคำมัน" ของจารึกหลักที่ ๑

ศ. ยอร์ช เซเดส์ อธิบายว่า
"พ่อเชื้อ" = พ่อที่ล่วงลับไปแล้ว (ยังใช้อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
"เสื้อคำ" = เสื้อที่ปักเป็นลายด้วยดิ้นด้วยทองคำ หรือใช้คู่กับพ่อเชื้อและมีความหมายอย่างเดียวกันก็ได้

ถ้าตามความหมายนี้ "เชื้อ" น่าจะหมายถึง "ผีบรรพบุรษ"

แต่ถ้าเป็นความเห็นของผม ผมเห็นว่าน่าจะตัดคำดังนี้
พ่อเชื้อ เสื้อ คำ มัน คือ
(ให้) หัวหน้าครอบครัว (= พ่อ)
มอบมรดก (= เชื้อ เทียบ เชื้อสาย คือส่งต่อกันเป็นทอดๆ)
เสื้อ (= เสื้อผ้า หนึ่งในปัจจัยสี่ อิอิ)
คำ (= เงินทอง ปัจจัยที่ห้า อิอิ)
ของตน (มัน คือ ของมัน ของพ่อ ภาษาไทยนิยมละคำว่า "ของ" ซึ่งแน่นอนว่า "มัน" ในที่นี้คงไม่ใช่หัวเผือก หัวมัน อิอิ)

อาจไม่มีคำว่า ผีเสื้อ ผีเชื้อ ตรงๆ ในจารึกหลักนี้ แต่จากคำอธิบายของ ศ.เซเดส์ คำว่า ผีเชื้อ (เทียบ พ่อเชื้อ) จึงอาจหมายถึง ผีบรรพบุรุษ ก็คงได้มั้งครับ

พระเชื้อเมือง ก็อาจแปลว่า ผีบรรพบุรุษประจำเมือง
พระเสื้อเมือง ก็อาจแปลว่า ผีผู้สิงสถิตอยู่ในเมือง

===================================================

คำว่า "ผี" ในจารึกหลักที่ ๑ มีว่า
มีพระขพุงผีเทพดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้
ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูกเมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี 
ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอั้น บ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย

นี่คงเป็นประโยคขยายความของ ผีเสื้อเมืองครับ ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่า ผีเสื้อเมือง อาจไม่จำเป็นต้องสถิตอยู่ในเมือง แต่เป็นหลักชัยภูมิของเมืองก็ได้ ในกรณีของสุโขทัย ในจารึกบอกว่ามี "ผี" อยู่หลายตนในเมือง แต่ที่ใหญ่สุด เป็น ผีเทวดา ผู้ครองภูเขา นามว่า พระขพุง

=======================
จารึกที่น่าจะกล่าวถึง "ผีเสื้อ" มากที่สุดคือ จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด

แม้ผู้ใดบ่ซื่อไซร้ให้ --------- (ผี)มัน ทั้งเสื้อใหญ่
เขาพูคาเขาผาดาน ผาแ(ด)งแฝงแม่ พระศักดิ์พระสอ
เสื้อทานยอางพานสถาน ปู่ชระมื่น หมื่นห้วยแสนดง
ทั้งปู่เจ้าพระขพง เขายรรยง พระศรี ผีบางพระศักดิ์
อารักษ์ทุกแห่ง ....

... ใครบ่ซื่อ จุ่งผีฝูงนี้ หักก้าวน้าวคอ อย่าเป็นพระยา
เถิงเท่าเป็นเจ้าอยู่ยืน หืนตายดังวันทันดังเครียวเขียว
เห็นอเวจีนรกตกอบายเวทนา เสวยมหาวิบาก
อย่าได้คาดได้พบพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์สักคาบ ...

จากความในจารึกหลักนี้ ทำให้เห็นว่า สมัยสุโขทัยเรียก "เสื้อ" ครับ ไม่ได้เรียก "เชื้อ" ดูได้จากประโยคที่ "ทั้งเสื้อใหญ่ เขาพูคาเขาผาดาน" นั่นแสดงว่า "เสื้อ" ก็คือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ที่สิงสถิตอยู่ในเขาต่างๆ รอบเมือง นอกจากนี้ ยังมีผีบรรพบุรุษสถิตอยู่ในเมือง และสถานที่ต่างๆ อีกมากมาย แต่ "เสื้อ" ที่ใหญ่ที่สุดเป็น "เสื้อ" ที่สถิตตามขุนเขา

ดังนั้น "ผีเสื้อ" จึงน่าจะหมายถึง ผีที่สถิตอยู่ หรือ ผีที่สิงอยู่ ณ ที่ได้ที่หนึ่ง (เทียบ เสื้อที่สวมติดกับร่างกาย) แต่จะเป็นที่ไหนก็ระบุไป เช่น ในจารึกสุโขทัยระบุว่า สิงอยู่ตามขุนเขา ดังนั้น ผีเสื้อเมือง จึงแปลว่า ผีที่สถิตอยู่ในเมือง ก็คงพอได้ โดยอิงกับบริบทเกี่ยวกับ "เสื้อ" ที่ปรากฎในเนื้อความของจารึกสุโขทัย

ผมเองก็ไม่เคยค้นคำว่า "เสื้อ" มาก่อน ก็ขอบคุณเจ้าของกระทู้ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

ถึงตรงนี้ เลยทำให้นึกถึง "ผีเสื้อ" ที่เป็นแมลง ว่า เป็นได้หรือไม่ ที่คนภาคกลางเรียกชื่อนี้ในความหมายว่า "ดวงวิญญาณแห่งขุนเขา"
แก้ไขเมื่อ 05 เม.ย. 52 04:33:48

จากคุณ : -_- (Hotacunus)   - [ 5 เม.ย. 52 04:23:27 ]

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 26 พ.ค. 11, 08:59

ความคิดเห็นที่ 53

กลับมาที่คำถามในกระทู้ อิอิ
๑.คติ ผีเสื้อสมุทร มาจากไหน เสมือนคติ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ที่คอยปกปักรักษาเมือง หรือไม่ หรือผีเสื้อสมุทร จะเป็นพระเสื้อสมุทร ครับ?
ตอบ: คำว่า ผีเสื้อสมุทร ในวรรณคดีไทย น่าจะหมายถึง ดวงวิญญาณในท้องทะเลครับ คือ "สิงสถิต" อยู่ในห้วงน้ำเป็นแห่งๆ ไป อย่างในพระอภัยมณี นางผีเสื้อสมุทร จะสิงสถิต (สิงสถิต = เสื้อ) อยู่ในทะเลอันดามัน แถบหมู่เกาะนิโคบาร์-นาคาวารี (ชื่อตามเรื่องนั้น ผมจำไม่ได้แล้ว แต่ข้อมูลจากการตีความ บ่งว่าเป็นบริเวณดังกล่าวครับ)

ถามว่า คติผีเสื้อสมุทร มาจากไหน ? ผมคิดว่า ก็คือจินตนาการครับ คือ ผีที่สิงตามที่ต่างๆ พอดีท้องเรื่องเกี่ยวกับทะเล ก็สร้างผีเสื้อสมุทรขึ้นมา ซึ่งก็คือ วิญญาณที่สิงอยู่ในทะเล แต่หน้าที่นั้น คงเป็นความเหมือนที่แตกต่างกับ ผีเสื้อเมือง เพราะผีเสื้อเมือง ปกป้องคน และราชา (ตีความจากจารึก) ส่วนผีเสื้อสมุทรสิงอยู่ในทะเล ครองอำนาจในห้วงน้ำตัวเอง คนผ่านมาก็จับกิน

=======================
๒.ถ้าไม่ใช่ พระเสื้อ แผลงเป็น ผีเสื้อ ... ทำไม จึงถือเอา "ผี" มาปกปักรักษาทะเล (ทั้งที่ "อากาศตะไล" ผู้รักษาเมืองลงกา ซึ่งโดนหนุมานฆ่าทิ้ง อีกเช่นกัน ยังดำรงตำแหน่ง "พระเสื้อเมืองลงกา")
ตอบ: ผี ในคำว่า ผีเสื้อ ก็คือ วิญญาณที่สิงสู่อยู่ในทะเลครับ ก็มีหน้าที่ ดูแลรักษาทะเล ซึ่งอาจให้คุณ ให้โทษ แก่พ่อค้าเรือสำเภาที่หลงทางเข้ามา

================================

๓.ผีเสื้อสมุทรที่โดนหนุมานแหก อก กับผีเสื้อสมุทรที่โดนพระอภัยมณีตีจาก (น่าสงสารนะ) มีความเกี่ยวพันกันมากน้อยแค่ไหน ในแง่ประวัติวรรณคดี
ใครมาก่อนกัน และจริงๆแล้ว ทั้งสองตนนี้ รุปลักษณ์ "น่า" จะคล้ายกันไหม
ตอบ: ผมไม่ทราบว่า "รามายณะ" (ฉบับเต็ม) มีผีเสื้อสมุทร หรือไม่ (อ่านไม่จบเสียที อิอิ) ถ้าไม่ ผีเสื้อสมุทร คงเป็นการสอดแทรกของไทย ให้เรื่องสนุกขึ้น
ผีเสื้อสมุทรของรามเกียรติ์ อาจเป็นแรงบันดาลให้สุนทรภู่สร้างนางผีเสื้อสมุทร ให้มีรูปลักษณ์ดังนั้นครับ เพราะเรื่องรามเกียรติ์มีมาก่อนสุนทรภู่เกิด เข้าใจว่า สุนทรภู่เองก็น่าจะเคยเห็นภาพจิตรกรรมที่วัดพระแก้วครับ

====================
๔.มีนางผีเสื้อสมุทร ตนอื่น ในวรรณคดีไทยอีกหรือไม่ครับ
ตอบ: วรรณคดีไทย เท่าที่ผมนึกออก ไม่ค่อยมีท้องเรื่องเกี่ยวกับทะเลครับ พระอภัยมณีเป็นเรื่องที่แหวกแนวจารีตมาก (ในหลายๆ ประเด็น) ที่เห็นชัดๆ คือ ท้องเรื่องเกี่ยวกับมหาสมุทร

ถ้าเป็นวรรณคดีไทย น่าจะเป็นผีเสื้อน้ำมากกว่าครับ ผีเสื้อน้ำ ก็คือ ดวงวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ตามแหล่งน้ำต่างๆ

====================
ในพระไตรปิฎก ก็มีกล่าวถึงเกี่ยว "ผีเสื้อน้ำ" ครับ (ผมไม่ทราบว่า บาลี ท่านเรียกอะไร เข้าใจว่า อาจใช้คำว่า รากษส) แต่ก็ขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางข้ามมหาสมุทร ผีเสื้อน้ำ ในเรื่อง ก็ตรงกับคำว่า "ผีเสื้อสมุทร" ครับ
เช่น
สมุททวรรคที่ ๓
สมุทรสูตรที่ ๑
บุคคลใดข้ามสมุทรนี้ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้ง
สัตว์ร้าย มีทั้ง "ผีเสื้อน้ำ" น่าหวาดกลัว ข้ามได้แสนยากได้
แล้ว บุคคลนั้นเราเรียกว่า เป็นผู้เรียนจบเวท อยู่จบ
พรหมจรรย์ ถึงที่สุดแห่งโลก ข้ามถึงฝั่งแล้ว ฯ

ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายคำว่า "รากษส" ว่า
รากษส [รากสด] น. ยักษ์ร้าย, ผีเสื้อนํ้า, ชื่อพวกอสูรชั้นต่ำ มีนิสัยดุร้าย ในคัมภีร์
โลกทีปกสารว่า เป็นบริวารของพญายม, ในคัมภีร์โลกบัญญัติว่า เป็น
บริวารของพระวรุณ, ใช้ รากโษส ก็มี. (ส.; ป. รกฺขส).
แก้ไขเมื่อ 05 เม.ย. 52 05:19:52

จากคุณ : -_- (Hotacunus)   - [ 5 เม.ย. 52 05:15:40 ]

 
   
 
 
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 26 พ.ค. 11, 09:10

อ้างถึง
สรุปแล้ว พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เป็นใคร หรือ อะไร มาจากไหนกันแน่
รออ่านความเห็นของคุณเทาชมพู

ยังเช็คทะเบียนบ้านของท่านไม่เจอ  ว่าพ่อแม่ชื่ออะไร  สัญชาติไหน  เชื้อชาติไหน
รอคุณเพ็นโนเช็คเองดีกว่า


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 26 พ.ค. 11, 10:58

ผีของไทยมีที่มาหลายแห่ง   ไม่ได้มาจากเชื้อสายตระกูลเดียวกัน จะได้สืบสาวที่มากันง่าย   

ผีของสุโขทัยที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทวดา เรียกชื่อว่าพระขพุงผีหรือขพุงเฉยๆ  ฟังจากชื่อแล้วไม่คิดว่าท่านเดินทางมาจากอินเดีย  แต่น่าจะมาจากที่ใดที่หนึ่งในเอเชียอาคเนย์ของเรานี่เอง   จะมาจากไทยใหญ่หรือว่าไทยใหญ่รับไปสุโขทัยอีกที  ข้อนี้ไม่รู้เหมือนกัน 
แต่พอแกะรอยได้ว่า คำว่า ผี ในสมัยสุโขทัยมีฐานะระดับในสังคมอีกมิติหนึ่งค่อนข้างสูง   เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทวดา   ต่อมาพอมาถึงอยุธยา   เทวดากับผีก็ยังรวมกลุ่มกันอยู่  แต่เทวดาอยู่ในฐานะสูงกว่าผี    พระเสื้อเมืองพระทรงเมืองพวกนี้มีหน้าที่รักษาเมือง แต่ได้รับการเคารพยกย่องมากกว่าคำว่าผีบ้านผีเมืองธรรมดา  พวกนั้นดูจะลดชั้นลงไปเป็นบริวารของพระฯเหล่านี้

การอัญเชิญเทวดามารักษาเมือง เพราะเชื่อว่ามีเทวดาคุ้มบ้านคุ้มเมืองอยู่    เป็นพิธีแบบไสยซึ่งคนไทยชาวพุทธรับมาง่าย  เพราะไม่ขัดกับหลักของพุทธ     เนื่องจากพระไตรปิฎกก็กล่าวถึงเทวดาอยู่บ่อยๆ  ส่วนใหญ่เป็นเทวดาฝ่ายดี ที่ดึกๆก็ลงจากสวรรค์มาเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อสดับตรับฟังธรรมะ      แต่พิธีไสยแบบฝังคนเป็นๆลงเฝ้าเมืองนั้นกล่าวกันแบบกระมิดกระเมี้ยน เป็นพงศาวดารกระซิบ   ไม่มีหลักฐานใดยืนยันออกมาโต้งๆ ว่าเคยทำ     หลักฐานที่ว่าเคยทำในเมืองถลางก็ฟังไม่เป็นเรื่องเป็นราว เหมือนนิทานพื้นบ้านเสียมากกว่าข้อเท็จจริง      แต่ว่าเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างมอญและพม่าเคยทำกันมา  มีหนังสือให้อ้างอิงได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 26 พ.ค. 11, 11:30

      ถ้าดูตามเหตุผลความเป็นไปได้   คนไทยถือสาเรื่องสาเหตุการตายจนจำแนกเอาไว้หลายชนิด   ถ้าตายแบบหลังอยู่บนที่นอน(อนุโลมว่าบนเสื่อ บนพื้นกระดานด้วยก็ได้ ) ถือว่าเป็นการตายแบบธรรมดา โดยมากป่วยตายหรือแก่ตายไปเอง  ไม่เสียหายอะไร   ส่วนตายแบบกะทันหันด้วยอุบัติเหตุหรือถูกฆ่า เรียกว่าตายโหง      ตายด้วยโรคระบาดเรียกว่าตายห่า    ถือเป็นรูปแบบการตายที่น่าเกลียดน่ากลัว   ไม่น่าประสบ  ใครเจอเข้าถือว่าทำกรรมไม่ดีเอาไว้   จึงเป็นที่มาของคำสบถสาบานว่า "ถ้าไม่จริงขอให้ตายโหงตายห่าซิเอ้า"     แปลว่าขอยืนยันความสัตย์จริงๆ  จึงไม่กลัวว่าจะต้องตายแบบเลวร้าย

     ดังนั้นการฆ่าคนอย่างเลือดเย็น เอาลงหลุมทั้งเป็นๆ นอกจากกระทำฆาตกรรมให้เกิดผีตายโหง ซึ่งผิดกฎหมายบ้านเมืองแล้ว  ยัง นับเป็นเรื่องอัปมงคล    ถ้าทำเพื่อให้คนเหล่านั้นเป็นวิญญาณฝ่ายดีช่วยเหลือปกป้องบ้านเมือง ก็เป็นไปไม่ได้     เพราะผีตายโหงเป็นผีที่คนไทยถือว่าเฮี้ยน  น่าจะก่อความเดือดร้อนให้บ้านเมืองมากกว่าปกป้องบ้านเมือง        ตัวอย่างการสร้างเมืองมัณฑเลก็มองเห็นข้อนี้ว่าผีตายโหง ๕๒ ตนนั้นไม่ยักช่วยเมืองตอนอังกฤษรุกมาถึง  กลับทำให้พม่าเสียเมืองอย่างง่ายดาย    ส่วนราชบัลลังก์พม่าที่มีผีตายโหงถูกฝังไว้ข้างใต้ถึง ๔ ตน  แทนที่จะคุ้มครองเจ้านาย  ก็อาจมองได้ว่า ทำให้พระเจ้าสีป่อกษัตริย์องค์สุดท้ายถูกเนรเทศไปอินเดียจนสิ้นพระชนม์  ไม่มีโอกาสกลับมาบ้านเมืองอีก

     แต่ถ้าถามว่ามีไหมที่ฝังศพไว้เป็นวิญญาณรักษาเมือง   ก็ตอบว่ามี  แต่ไม่ได้อยู่ในเอเชียอาคเนย์  แต่อยู่ในประเทศจีนเรื่องสามก๊ก    เมื่อขงเบ้งตายลง  ก็สั่งเสียให้ฝังศพตนไว้บนยอดเขาเตงกุนสานในที่กลางแจ้ง   ห้ามทำสุสานทำศาลาทับศพของตัว   ทั้งนี้ก็ไม่มีใครเข้าใจว่าทำไม  แต่จุดมุ่งหมายของขงเบ้งมาเป็นที่ประจักษ์ ก็เมื่อมีข้าศึกบุกมาถึงบริเวณนี้   แม่ทัพจงโฮยและไพร่พลถูกปีศาจหลอกหลอนจนไม่เป็นอันได้นอน     ต้องทำพิธีบวงสรวง วิญญาณขงเบ้งจึงมาให้เห็น และขอร้องมิให้ทำร้ายราษฎรเมื่อเข้าถึงเมืองได้   จงโฮยก็รับคำ  จึงเข้าเมืองเสฉวนได้
     เรื่องขงเบ้งกลายเป็นผีเทพารักษ์รักษาเมือง เกิดจากความสมัครใจ   ตัวเองก็ตายไปก่อนด้วยเหตุธรรมชาติ  ไม่ได้ถูกบังคับให้ลงหลุมทั้งเป็นๆ จะกลายเป็นเทพไปก็พอจะฟังขึ้น มากกว่าผีตายโหงเฝ้าเมือง   
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 19 คำสั่ง