เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 8264 เรียนถามเรื่องพระราชพงศาวดารไทยในอมตนิยาย "ผู้ชนะสิบทิศ" ครับ
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 19 พ.ค. 11, 14:36

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู และท่านผู้รู้ ณ เรือนไทยแห่งนี้ทุกท่านครับ

   เป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านยาขอบเขียนมหาอมตนวนิยาย”ผู้ชนะสิบทิศ” ขึ้นจากพงศาวดารพม่าเพียง ๘ บรรทัด (ตามคำแถลงของท่าน) ผมเองขณะฟังนวนิยายเรื่องนี้ก็ปล่อยใจให้เคลิ้มฝันไปกับอักขระลิขิตของท่านผู้นิพนธ์ กระทั่งมาถึงตอน ๒๕๑ อันมีชื่อว่า “ฟ้าคำรณจากกรุงสยาม” เรื่อยตลอดไปจนถึงตอน ๒๕๘ “พิษณุโลกพ่าย” จำนวนรวม ๘ ตอน ข้อสงสัยบางประการก็อุบัติขึ้นครับ เฉพาะ ๘ ตอนดังได้อ้างถึงนั้น ท่านยาขอบคงต้องใช้พระราชพงศาวดารมากกว่า ๘ บรรทัดเป็นแน่ สิ่งที่ผมยังมิรู้ก็คือ หากพิจารณาจากเนื้อหาในผู้ชนะสิบทิศทั้ง ๘ ตอนแล้ว ท่านยาขอบ(น่าจะ)ยึดพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับใดเป็นหลักในการดำเนินเรื่อง จึงมาขอความรู้ ความคิดเห็นจากความเมตตาของทุกๆท่านครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ


บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 20 พ.ค. 11, 05:33

กำเนิดของผู้ชนะสิบทิศจากข้อความ ๘ บันทัดจากพระราชพงศาวดารตามที่ยาขอบเอ่ยถึงนั้น ผมจำได้ว่าท่านมาจากหนังสือ "พระราชพงศาวดารพม่า" พระประพันธ์ของกรมพระนราธิปประพันธพงศ์ครับ
และแรกเริ่มนั้นไม่ได้ใช้ชื่อว่าผู้ชนะสิบทิศ แต่ใช้ชื่อเรื่องว่า "ยอดขุนพล" ซึ่งก็คือ ผู้ชนะสิบทิศ เล่มที่ ๑ ในจำนวน ๘ เล่ม นั่นแหละครับ ซึ่งมาเปลี่ยนชื่อเป็นผู้ชนะสิบทิศในภายหลัง ตามคำแนะนำของ ... (ผมจำไม่ได้ครับ)

ยาขอบได้กล่าวถึงเรื่องราวและเนื้อหาในเรื่องผู้ชนะสิบทิศไว้ในคำนำว่า ท่านลอกมาจากหนังสือวรรณคดีอื่นทั้งนั้น เช่น รามเกียรติ์ อิเหนา สามก๊ก ฯลฯ คำกล่าวอย่างถ่อมตนของท่าน ทำให้วงการวรรณกรรมไทย มีอมตะนิยายที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งถือกำเนิดมา
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 20 พ.ค. 11, 08:51

เรียนคุณลุงไก่ครับ

   เท่าที่ผมพอจำได้ รู้สึกว่า ชื่อ “ผู้ชนะสิบทิศ” นั้น ครูมาลัย ชูพินิจ เป็นผู้คิดขึ้น ท่านยาขอบเปิดฉากในชื่อใหม่นี้ในตอนที่มีชื่อว่า “คนโปรดของพระเจ้าแปร” ครับ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 20 พ.ค. 11, 09:56

ยาขอบเขียนไว้ว่า "เรื่อง 'ยอดขุนพล' นี้ ข้าพเจ้าเขียนจากข้อความซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารพม่าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ หน้า ๑๐๗ ระหว่างบรรทัดที่ ๔ ถึงบรรทัดที่ ๑๑..."

 ยิงฟันยิ้ม



บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 20 พ.ค. 11, 10:09

อ้างถึง
ยาขอบได้กล่าวถึงเรื่องราวและเนื้อหาในเรื่องผู้ชนะสิบทิศไว้ในคำนำว่า ท่านลอกมาจากหนังสือวรรณคดีอื่นทั้งนั้น เช่น รามเกียรติ์ อิเหนา สามก๊ก ฯลฯ คำกล่าวอย่างถ่อมตนของท่าน ทำให้วงการวรรณกรรมไทย มีอมตะนิยายที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งถือกำเนิดม

ท่านยาขอบ เขียน ผู้ชนะสิบทิศ ได้กลมกลืนกับประวัติศาสตร์อย่างแนบเนียน ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพียงน้อยนิด จนมีผู้กล่าวว่า เป็๋นนิยายปลอมประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ อิงประวัติศาสตร์ค่ะ คุณชูพงศ์ต้องแยกตรงนี้ให้ออกนะคะ เพราะจะได้ไม่เสียเวลาไปหาหลักฐานมากมายหลายแห่งแล้วไม่พบอะไรที่ตรงกันเลย

ดิฉันรักเรื่องนี้ไม่แพ้ สี่แผ่นดิน เพราะทำให้คน ติดภาพที่ผู้เขียนจินตนาการไว้อย่างแจ่มชัดจนนึกว่า จริงทั้ง 100 %

สี่แผ่นดินนั้น สมมติตัวบุคคล แต่เหตุการณ์เป็นจริงตามประวัติศาสตร์
ผู้ชนะนั้น ปลอม ทั้งเรื่อง เอาแต่ชื่อเมือง ชื่อคนบางคนเท่านั้นมาใส่ค่ะ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 20 พ.ค. 11, 12:38

เรียนคุณเพ็ญชมพูขอรับ

   ยอดขุนพล หรือผู้ชนะสิบทิศภาคต้นนั้น ผมฟังผ่านๆ จะฟังซ้ำเพียงบางฉากเท่านั้น เช่นฉากที่จะเด็ดพบสามเกลอในร้านอาหาร ฉากไขลูปะทะฝีมือทวนกับมังฉงาย เป็นต้น แต่พอขึ้นผู้ชนะสิบทิศแล้ว ผมฟังซ้ำนับรอบไม่ถ้วนเชียวครับ

   ขอบพระคุณคุณร่วมฤดีครับสำหรับข้อคิดอันมีค่ายิ่ง ผมรักผู้ชนะสิบทิศมากครับ โดยให้เหตุผลกับตนเองในใจว่า...

ประพันธกรผู้เขียนเรื่องรักได้หวานซึ้งตรึงใจคนนั้นมีมาก แต่ที่เขียนเรื่องรบได้อย่างเจนจัดทั้งการวางแผนแหละบรรยายวิธียุทธ์นั้นหาได้ไม่ง่ายนัก ทว่าผู้สามารถเขียนได้ทั้งเรื่องรักอย่างล้ำเลิศ แหละเรื่องรบได้ประเสริฐไม่แพ้กัน หาได้ค่อนข้างยาก ท่านยาขอบ เป็นหนึ่งในดิลกศิลปินที่หาได้ไม่ง่ายในบรรณพิภพนี้ครับ 
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 20 พ.ค. 11, 13:14


เรียนคุณชูพงค์  สหายนักอ่าน  สหายนักค้น และสหายที่ไม่ได้อ่านแต่เก่งภาษาไทย

       อิอิ  ชอบฉากมังฉงายก้าวเท้าข้ามไขลูซะด้วย

ยาขอบท่านอ่านตำราทหารของเวทางค์ค่ะ  ตอนนั้นเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน

ตำรารักนั้น  เวทางค์เห็นจะขอต่อวิชาจาก ยาขอบ
เป็นต้นว่า   ข้ารักนางหนึ่งด้วยใจภักดิ์ และรักนางหนึ่งด้วยใจบูชา 

ดิฉันไม่มีหนังสือในมือมาช้านานหลายสิบปีแล้ว 

ก่อนที่จะมีการเผาเมืองเมื่อหญิงคนรักโดนรังแกนั้น   หนังสือบรรยายว่า ตะละแม่ได้ปรนนิบัติสอพินยาด้วยใจสงสาร

ปรนนิบัติในที่นี้หมายความว่า รินสุราให้  โบกวิชนีให้หรืออย่างไร

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 20 พ.ค. 11, 16:47

ก็ปรนนิบัติด้วยใจสงสารได้ไม่กี่ชั่วโมงกระมังครับคุณวันดี เพราะสอพินยาออดอ้อนเอาภายหลังจากได้รับสารพระอัครเทวีเมืองแปร ทราบเนื้อความว่าจะเด็ดเดินทางสู่เมาะตะมะแล้ว แต่ที่น้องเจ้าเมืองมอญหาแจ้งไม่ ก็คือ ขณะตัวกำลังอ่านสารนั้น บุเรงนองคู่ขัน/คู่แค้นพร้อมบริวารได้แฝงตัวอยู่ในกระบวนเรือทั้งสามชั้นเป็นที่เรียบร้อย พอสอพินยาตื่นจากฝันมิทันหายตระหนกเพลิงก็ฮือทั่วสารทิศ ตอนจะเด็ดชิงตะละแม่คืนนี่ ผมชอบชื่อตอนจังครับ ท่านยาขอบตั้งไว้เก๋จริงๆ ตรงประเด็น ไม่ต้องอ้อมค้อมกันหละ ตอนที่ ๘๐ “เผาเมืองจะเอาเมีย” ครับ
 
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 20 พ.ค. 11, 17:52

      

        ผู้หญิงนี่ถึงจะไม่ลืมรักแรก  แต่น่าจะมองว่าผู้ชายคนนี้มองว่าผู้หญิงคนนี้มีค่าและความหมาย

ปานใด



สหายที่วิ่งทำหนังสือสมัย ๑๔ ตุลาโน้น    ขำดิฉันว่าหลงวรรณกรรม  เล่าให้ฟังว่า

จิตร ภูมิศักดิ์  ไม่ชอบตอนเผาเมืองนี้เลย  ถึงกับตบโต๊ะว่า เพื่อผู้หญิงคนเดียวนะเนี่ย

เผาเมือง        แล้วลุกออกจากวง


        คุณเพ็ญ มีเพลงที่มีเนื้อว่า  รักเดียวข้ามอบมังฉงาย  ไหมคะ


        ปรนนิบัติกันเป็นชั่วโมงเชียวหรือคะ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 20 พ.ค. 11, 21:24

เพลงตามคำขอ



 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 20 พ.ค. 11, 22:52


ขอบคุณค่ะ       นึกถึงความใจดีของคุณเพ็ญเสมอ

คุณเพ็ญชมพูเสนอเพลงให้ใคร  พวกเราก็กรี๊ดกร๊าดกันทุกที
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 20 พ.ค. 11, 23:15

แถมให้คุณวันดีอีกเพลงหนึ่ง



คุณชรินทร์ นันทนาครเล่าถึงที่มาของเพลงนี้ว่า

..เล่าถึงครูไสล
ปกติครูเป็นคนแต่งเพลงไม่เป็นที่
ท่านจะนั่งรถเมล์สายถนนตกหลักเมือง หลักเมืองถนนตก ผมก็ต้องไปนั่งกะครู
ก็นั่งขึ้นไปขึ้นมา ท่านบอกว่า รถเมล์คือที่ชุมนุมของชีวิตทั้งหลาย
ท่านเห็นประสบการณ์ของผู้คนบนรถเมล์ มีรัก มีโศก มีโลภ มีโกรธ มีนักล้วง มีสารพัดอย่าง
ครูอาศัยรถเมล์เป็นที่เขียนบทเพลง

มีอยู่วันหนึ่ง
ครูพาผมลงที่เวิ้งนาครเขษม พอถึงเวิ้งนาครเขษมจะมีร้านขายหนังสือมากมาย
ครูก็ไปยืนอ่านนวนิยายเรื่องหนึ่ง
ชอบมาก จะซื้อก็ไม่มีสตางค์
แปดเล่ม รวมแล้วราคา ๒๐๐ กว่าบาท ในสมัยนั้น
ครูไม่มีเงิน ครูก็ไปยืนอ่าน
ครู่ใหญ่ อาแปะเจ้าของร้านก็ถือไม้ขนไก่มาทำทีเป็นปัดฝุ่น ไล่ไปเรื่อย
ครูเห็นก็สะกิด ๆ "มันมาไล่แล้ว ไปเถอะ"
ออกไปอีกร้านหนึ่ง ทำแบบเดียวกัน อ่านได้ประมาณ ๑๕ นาที มาไล่อีกแล้ว
ครูบอก "ไป ไปอีกร้านนึง"
จากเกษมบรรณกิจไปแพร่พิทยา จากแพร่พิทยาไปอุดมศึกษา วนอยู่ ๒๐ กว่าร้าน

พอตกเย็น ครูก็พาผมไปที่ร้านอาหารครัววังหน้า สมัยก่อนเป็นสโมสรเทศบาลนครกรุงเทพ
เป็นที่ที่เห็นเวิ้งน้ำเจ้าพระยาสวยที่สุด
ดวงดาวในคืนนั้น..ท้องฟ้าก็งามประหลาด ส่องแสงระยิบระยับนับหมื่นนับแสน เป็นท้องฟ้าที่งดงามมาก
ครูฮัมเพลงขึ้นมาเพลงหนึ่ง
เป็นเพลงสำคัญในชีวิตของชรินทร์ นันทนาครอีกเพลง..
"ฟ้าลุ่ม อิระวดี คืนนี้มีแต่ดาว.."
อิระวดี ..อยู่ที่ครัววังหน้านี่ละ

เพลงนี้แต่งเสร็จ ครูบอกว่าให้ตั้งใจร้อง
ผมก็ไปร้องเพลงนี้ที่สถานีวิทยุ สมัยก่อนมีที่ระบายเพลง อย่างกรมประชาสัมพันธ์เราเข้าไม่ได้ เพราะว่าเป็นของคณะสุนทราภรณ์
เราก็ไปร้องเพลงกันที่วิทยุหนึ่งปณ. สถานีวิทยุรักษาดินแดน
ร้องไม่นาน ก็มีจดหมายซองสีชมพูมาถึงครูไสล ไกรเลิศ ให้ไปพบด่วน
ครูบอก " เฮ้ย ไปด้วยกันหน่อย เจ้าของเรื่องเค้าให้ไปพบ"
ตอนนั้นผมก็จำหนทางไม่ค่อยได้ว่าไปทางไหน เพราะเพิ่งมาจากเชียงใหม่
ก็เดินเข้าไป เลาะ ๆ เป็นซอกเล็กซอยน้อย ผ่านโรงพิมพ์
ก็เข้าไปเจอคนคนหนึ่ง รูปร่างเล็ก ๆ มีหนวด ท่าทางก็..ไม่ค่อยดุ
ท่านถามคำแรกว่า
"นึกยังไงถึงเอาเรื่องผู้ชนะสิบทิศไปแต่งเป็นเพลง! รู้หรือเปล่าว่าผิดกฏหมาย!!"
ครูละล่ำละลักบอก "รู้ครับ"
"อ้าว รู้แล้วทำไมทำ!"
"..เอ้อ ชอบจะเด็ด มันแหม.. มัน.. มันน่ารัก จะเด็ดเก่งมาก น่ารักเหลือเกิน"
ซักไซ้ไล่เรียงกันจนพอใจ
เจ้าของบทประพันธ์ตบโต๊ะ โป้ง!! ถาม"แล้วใครเป็นคนร้อง!!"
ครูเลยได้ที "นี่ไง นี่ ๆ ไอ้นี่ ไอ้นี่ร้อง"
ผมไปนั่งอยู่ด้วย ..ตายละวา
เจ้าของบทประพันธ์บอก "เอ้า! ลุกขึ้น! ยืนร้องหน่อย"
"เต็มที่เลยนะ .. จะไปร้องที่ไหนร้อยคนพันคนฟัง ไม่เท่าคนคนนี้ฟังนะ ติดคุกได้!! "
คืนนั้น ผมร้องเพลงนี้ ให้คนคนเดียวฟัง และต้องร้องให้ดีที่สุดในชีวิต

แต่ผมร้องคืนนั้น ผมลืมทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะมีครูคอยให้กำลังใจอยู่ใกล้ ๆ
ร้องมาถึงท่อน เจ็บใจคนรักโดนรังแก
ผมสังเกต เห็นท่านเอามือตบโต๊ะ
ผมก็นึก ..เออ สงสัยจะสอบไล่ได้
พอจบเพลง ท่านบอก "รอเดี๋ยว!"
ท่านก็เข้าไปข้างใน เอาหนังสือผู้ชนะสิบทิศมาให้ครูหนึ่งชุด แปดเล่ม
แล้วเขียนที่หน้าปกว่า
'อนุญาตให้นายไสล ไกรเลิศ นำเรื่องราวทั้งหมดนี้ ไปแต่งเป็นเพลงได้แต่ผู้เดียว'
ลงชื่อ ยาขอบ

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไสล ไกรเลิศแต่งหมด ไขลูสู้ตาย อเทตยาพ้อรัก กุสุมาอธิษฐาน กุสุมาวอนสวาท จันทรางามพักตร์ จะเลงกะโบโศกา แต่งหมดทั้งเล่ม

http://www.charinshow.com/song/s133_bu-reng-nong-ram-lek.html

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 21 พ.ค. 11, 01:29


      ชื่นใจ

      มีลิเกเอาไปเล่นด้วยค่ะ     หนังสืองานศพบอกไว้
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 21 พ.ค. 11, 14:17

ผมว่า  จะเด็ดมิได้มุ่ง “เผาเมือง” นะครับ แต่เน้น “เผาเรือ” ส่วนบนบกนั้นจุดให้เพลิงคุพอให้เกิดความสับสน ถ้าเทียบพฤติกรรมเผากันแล้ว อย่างที่ระเด่นมนตรีโอรสท้าวกุเรปันกระทำเพื่อชิงนางบุษบานั่น น่าจะเรียก “เผาเมือง” อย่างเต็มปาก อาณาประชาราษฎร์เมืองดาหาได้รับความเดือดร้อนเป็นแถว ผมเคยนั่งถามตัวเองว่า ระหว่างจะเด็ดเผาเรือ กับอิเหนาเผาเมือง ใครผิดมากกว่ากัน สำหรับผม ทุ่มโทษไปให้อิเหนามากกว่าครับ เพราะถือตามอำเภอใจ ตัวสิบอกปัดนางนั้นก่อน พอหลงใหลจนหน้ามืดขึ้นมาก็ก่อความเดือดร้อนให้คนอื่น ส่วนเจ้าจะเด็ด ถึงจะผิดก็ผิดเพราะถูกกระทำก่อน (ตอนไขลูออกอุบายให้สอพินยาชิงตะละแม่กุสุมา ก็เล่นเอาเมืองแปรแทบแตกเพราะทหารโมนยิน) ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย มีหรือจะยอมทน ชิงดวงใจไปแล้วมิหนำขยี้เสียยับเยิน กุสุมาเสียตัวแก่สอพินยาขณะหลับสิ้นสมประดี ผมจึงเห็นใจจะเด็ด (เล็กน้อย) ครับ
 
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 21 พ.ค. 11, 19:34

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูและทุกๆท่านครับ

   ขณะนี้ ห้องสมุดคนตาบอดแห่งชาติและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งตั้งอยู่ที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยอันผมเป็นสมาชิกประจำนั้น ยังไม่มีซีดีหนังสือเสียงเรื่อง “ราชาธิราช” ของท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) จึงความตั้งใจที่จะฟังเรื่องดังกล่าวเพื่อเปรียบเทียบกับผู้ชนะสิบทิศก็เป็นหมันไปเสีย ผมเคยเรียนราชาธิราชสมัยเมื่ออยู่ชั้นมัธยมต้นครับ แต่ก็เรียนเพียงบางตอน พอมาฟังผู้ชนะสิบทิศ ก็คลับคล้ายคลับคลาว่าจะได้กลิ่นอายของราชาธิราชปนแปมแซมแทรกอยู่ ไม่รู้ผมรู้สึกเอาเองหรือเปล่า ดังนั้น ขออนุญาตเรียนถามครับ ท่านคิดว่า ชั้นเชิงการใช้ถ้อยคำ เค้าโครงของประโยค ท่วงทำนองโวหาร ใน “ผู้ชนะสิบทิศ” ได้อิทธิพลจาก “ราชาธิราช” มาบ้างหรือไม่และมากน้อยเพียงไรครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 20 คำสั่ง