เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 23760 หลาน(ลูกของลูก)น้าเรา เป็นอะไรกับแม่เราครับ
ROME
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


 เมื่อ 19 พ.ค. 11, 10:35

รู้สึกงงมากครับ บางคนบอกว่าเป็นหลานของแม่เช่นกัน เพราะเป็นหลานของน้า แต่บางคนบอกว่าเป็นเหลนแม่เพราะเป็นลูกของหลานแม่
บันทึกการเข้า
ROME
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 19 พ.ค. 11, 10:55

ถามต่อเลยนะครับ สมมุติลูกของน้าชื่อ ก. ลูกของ ก. ชื่อ ข. โดยทั่วไป ก. มีศักดิ์เป็นน้องผม และ ข. มีศักดิ์เป็นหลานผม ถ้า ข. มีลูก ชื่อ ค. แล้ว ค. จะมีศักดิ์เป็นหลานหรือเหลนของผมครับ ทำไมต้องเป็นหลาน ทำไมต้องเป็นเหลน ช่ยอธิบายด้วยครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 19 พ.ค. 11, 11:04




ลูกของน้าคุณ ไม่ว่าน้่าชายหรือน้าสาว   เป็นญาติผู้น้องของคุณที่อาจจะแก่กว่าคุณได้  เรียกมารดาคุณว่าคุณป้า

ลูกของลูกพี่ลูกน้องคุณที่เป็นผู้ชาย  จะเรียกมารดาคุณว่าคุณย่า     และลูกของลูกพี่ลูกน้องฝ่ายหญิงจะเรียกมารดาคุณว่าคุณยาย


ลูกของคุณ และลูกของลูกพี่ลูกน้องของคุณ  อยู่ในระดับเดียวกัน  คือเป็นหลานของมารดาคุณทั้งสิ้น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 19 พ.ค. 11, 11:11

รอยอินท่านว่าอย่างนี้

หลาน น. ลูกของลูก; ลูกของพี่หรือของน้อง.
 
เหลน [เหฺลน] น. ลูกของหลานที่เป็นลูกของลูกเป็นต้น.

ดังนั้น ข. เป็นหลานคุณโรมเพราะเป็น ข. เป็นลูกของน้องคุณโรม

แต่ ค. ไม่ใช่เหลนคุณโรมเพราะไม่ใช่ลูกของหลานที่เป็นลูกของลูก  รอยอินท่านไม่ได้ว่าต่อไว้ซะด้วยว่าจะให้เรียกว่าอะไร

ไม่ใช่เหลน ก็น่าจะเรียกว่าหลาน

นะรอยอิน

 ยิงฟันยิ้ม
 
 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 19 พ.ค. 11, 11:24

คนไทยชอบนับญาติกันน่ะครับ

ไม่ใช่ญาติกันเลยก็ยังเรียกพี่เรียกน้องสนิทสนม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 19 พ.ค. 11, 11:40

ก  เป็นญาติผู้น้อง  อายุอ่อนกว่า
ข  เป็นลูกของ ก
ถ้า ก  เป็นผู้หญิง  คุณโรมก็เป็นคุณลุงของ ข        ถ้า ก  เป็นผู้ชาย  คุณโรมก็เป็นคุณลุงของ ข  เช่นกัน

ค. โผล่มา

ข. เป็นผู้หญิง  คุณเป็นตาของ ค. ค่ะ  จะเรียกว่าคุณตาใหญ่ก็ยังได้

ข. เป็นผู้ชาย    ญาติผู้ใหญ่ระดับลุง คือตัวคุณ ก็เป็นคุณ ปู่ หรือคุณปู่ใหญ่ ของ ค


นับกลับ   ข เป็นหลานลุง
ค เป็นหลาน ปู่ หรือ หลาน ตา

ลูกของคุณโรม  เป็น ญาติระดับเดียวหรือชั้นเดียวกับ  ข.     นับพี่น้องกันตามอายุค่ะ

ค  จะเรียก ลูกของคุณโรมว่า  น้า  อา  ป้า  หรือลุงได้


ต่อนะคะ     เมื่อ ค มีลูก      ข ก็เป็นคุณตา/คุณปู่ หรือคุณยาย/คุณย่า    ในเวลานี้ คุณเป็นคุณชวดแล้วค่ะ


ถ้าอ่านประวัติขุนนางแล้วจะไม่งงค่ะ   คือนับกันว่าเจ้าของเรื่องเป็นชั้นที่ ๓  บิดาและญาติพี่น้อง เป็นชั้นที่ ๒    ปูย่าตายายเป็นชั้นที่ ๑

หลานนั้นมีหลานป้า/อา/น้า/ลุง  และ  หลานปู่/ตา/ย่า/ยาย

ชวดนั้นอยู่ระดับสูงกว่าปู่กับย่าหรือ ตากับยาย  ขึ้นไป ๑ ขั้นค่ะ

หลายคนก็เรียกชวด หรือ ทวด ก็ได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 19 พ.ค. 11, 11:54

คุณวันดีอธิบายได้ชัดเจนดีมาก

ทีนี้หากนับลงมาจาก เหลน

ลูกของเหลนเราคุ้นเคยกันว่าคือ "โหลน" แต่ "โหลน" ไม่มีในพจนานุกรม

รอยอินท่านใช้ว่าอย่างไร

ทิ้งไว้ให้ผู้รู้อธิบายต่อ

 ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
ROME
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 19 พ.ค. 11, 12:05

ขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยเข้ามาตอบให้ความกระจ่างนะครับ ผมโล่งอกมากที่ผมไม่ต้องเป็นทวด เจ้า ค. แล้ว  ผมอายุแค่ 40 เป็นน้าเจ้า ข. ก็เต็มกลืน ถ้าจะให้เป็น ทวด เจ้า ค. ตามความเข้าใจผิดของพี่ ก. อีก(แกยืนยันตลอดเวลาว่าเจ้า ค. ต้องเป็นเหลนผมสถานเดียว)ผมรับไม่ได้จริง ๆ
ขอบคุณอีกครั้งนะครับ
บันทึกการเข้า
ROME
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 19 พ.ค. 11, 12:26

ขอบคุณคุณวันดีเพิ่มอีกด้วยนะครับ ที่ช่วยให้ผมเป็นน้องพี่ ก. เพราะน้าผม ยืนยันกับผมว่า พี่ ก. ต้องเป็นน้องผม ต้องเรียกผมว่าพี่ เพราะพี่ ก. มีศักดิ์เป็นน้อง (จากการที่เป็นลูกของน้าผม ซึ่งเป็นน้องสาวของแม่ผม) แต่ผมไม่ยอม เพราะพี่ ก. อายุมากกว่าผม ผมต้องเป็นน้อง ไม่ใช่พี่ตามที่น้าให้เรียกตามศักดิ์ ผมเคยเถียงกับน้าว่าให้พี่ ก. ที่มีอายุมากกว่าผมเกือบ 10 ปี เรียกผมว่าพี่ได้อย่างไร แต่น้ายืนยันว่าต้องเรียก เพราะพี่ ก. มีศักดิ์เป็นน้อง งานนี้ พี่ ก. ไม่เล่นด้วย ผมเลยไม่ต้องเป็นพี่ พี่ ก. เฮอ โล่งอกไปที
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 19 พ.ค. 11, 13:55

ตามขั้นตอนของแต่ละชั้นลงไป  มี  ลูก  หลาน  เหลน  ลื่อ  ลืบ  ลืด ค่ะ

ที่คนโบราณท่านเรียก ลูก หลาน เหลน โหลน  ก็ไม่ถือว่าผิดค่ะ      ภาษาในสมัยนั้นก็ยังไม่มีกฎตายตัว

คนเราเกิดมาได้เห็นญาติขึ้นไปสามชั่วคน  และ ลงมาอีกสามชั่วคน    นับเป็นความปึกแผ่นของครอบครัว

สมัยก่อนโรคภัยไข้เจ็บก็ไม่มียาทันสมัยจะรักษา   การตายของทารกก็สูง     อ่านประวัติครอบครัวขุนนางก็

อดเศร้าสลดใจไม่ได้  เพราะความตายนั้นไม่เว้นให้กับผู้ใด   รายชื่อของบุตรที่เสียชีวิตมีไม่น้อยเลย

หลายรายก็ไม่มีแม้แต่ชื่อ



       ขอยกตัวอย่างการนับญาติแบบคลาสสิคมาเล่าเป็นการรับขวัญ คุณโรม  ดังต่อไปนี้  กะจังหวะมานานแล้ว

เรื่องนี้นำมาจาก  หนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงพระศพ  พลตรี  พระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร

ณ เมรุหลวง หน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์   วัดเทพศิรินทราวาส  กรุงเทพมหานคร

เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๕๓๕

เป็นคอลัมน์  ซอยสวนพลู  ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ประจำวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๓๔

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  เขียนไว้น่าอ่านมาก   ดังนั้นก็จะพยายามคัดลอกมาให้ตรงที่สุด

      
      " วันนี้  ถ้าผมไม่เขียนถึงเสด็จพระองค์ชายกลาง  หรือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร  

ซึ่งพึ่งสิ้นพระชนม์ไปเมื่อวานนี้แล้ว   ผมก็เห็นจะดูหน้าตนเองไม่ได้

เพราะความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ชายกลางนั้น  มีมากมาย  ซึ่งเมื่อท่านสิ้นพระชนม์ลงแล้ว

ถ้าไม่เอ่ยถึงเลย  ก็เห็นจะผิดวิสัยมนุษย์  เพราะฉะนั้น  ในบทความวันนี้  จึงต้องกล่าวถึง

พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร  ไว้ในตอนแรก


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 19 พ.ค. 11, 14:15

       
        ท่านพระองค์ชายกลาง  มีพระชนมายุอ่อนกว่าผม ๒ ปี  คือประสูติใน พ.ศ. ๒๔๕๖

แต่ผมนั้นเกิดมาใน พ.ศ. ๒๔๕๔    ผมเกิดเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน  ๒๔๕๔  แล้วต่อมาอีก

๒ ปี  พระองค์ชายกลาางก็ประสูติ  เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน  ๒๔๕๖


        ทั้งที่อายุแก่อ่อนกว่ากันถึง ๒ ปี  ซึ่งถ้าจะพูดไปก็น่าจะห่างกันตามสมควรนั้น

ผมเองกลับมีความรู้สึกว่า   ผมได้เคยเป็นเด็กมาพร้อมกับท่านพระองค์ชายกลาง

และยังคงมีความรู้สึกอยู่เช่นนั้นตลอดมา


       ทั้งนี้  เมื่อผมไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ    พอไปถึงอังกฤษเขาก็จับผมไปไว้ที่

สถานทูตไทยในประเทศอังกฤษ   ขณะนั้นเป็นตอนเย็นแล้ว  ไม่ได้พบผู้คนแต่อย่างใด

ได้แต่นอนไปคืนหนึ่ง   พอรุ่งเช้าล้างหน้าล้างตา  แต่งเนื้อแต่งตัวเสร็จแล้ว

ก็มีเด็กอีกคนหนึ่งวิ่งเข้ามาหา    เด็กคนนั้นก็คือท่านพระองค์ชายกลาง  ซึ่งเสด็จมาอังกฤษ

ไม่กี่วันก่อนหน้าผม   และยังประทับอยู่ที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน


        ท่านพระองค์ชายกลางท่านไปทรงทราบมาจากไหนก็ไม่ทราบ  ว่าผมเป็นใคร  ลูกใคร 

ชื่อเสียงเรียงนามว่าอย่างไร  เพราะฉะนั้น   ท่านจึงทรงทักทายผมได้โดยปราศจากความ

เก้อเขิน  มิหนำซ้ำ   ท่านยังนับญาติกับผมเสียด้วย   โดยเรียกผมว่าคุณน้าตั้งแต่แรกมา

จนสิ้นพระชนม์ไม่เคยเรียกเป็นอย่างอื่น

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 19 พ.ค. 11, 14:33


        เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ออกจะลึกลับ   เรื่องที่ผมเป็นน้าของพระเจ้าวรวงศ์เธอ

พระองค์เจ้าเข้าไปได้อย่างไรทั้งองค์     เห็นจะต้องเล่ากันไว้เพื่อป้องกันความสงสัยที่จะมีต่อไป

เมื่อพ่อผมยังเป็น ทส.ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธวงศ์  สมเด็จพระราชปิตุลา

บรมพงศาภิมุขอยู่นั้น   หม่อมแม้น  ผู้เป็นเอกชาชาของสมเด็จเจ้าฟ้าเกิดถึงแก่กรรมลง

คุณแม้นมีธิดาอยู่คนเดียว  คือ พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตร  ซึ่งยังทรงพระเยาว์มาก

เมื่อหม่อมแม่ถึงแก่กรรมไปแล้ว  ก็ออกจะขาดคนเลี้ยงดูที่เป็นหลักเป็นฐาน   พ่อผมใน

ฐานะที่เป็น ทส.ด้วย  และเป็นเจ้าด้วย   จึงได้รับพระองค์หญิงเฉลิมเขตรมาเลี้ยงดู

ประดุจว่าเป็นลูกของท่าน           ซึ่งพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตร  ท่านก็สนองด้วย

การเรียกพ่อผมว่า  ท่านแม่   มาจนสิ้นพระชนม์เช่นเดียวกัน


        เพราะฉะนั้น  เมื่อผมเป็นแม่ของพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรมงคล  พระมารดา

ของท่านพระองค์ชายกลาง   ผมก็อยู่ในฐานะ เป็นน้า  เพราะเป็นลูกพ่อ  แต่อายุน้อยกว่า

เสด็จพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตร    จึงอยู่ในฐานะน้องแม่เดียวกัน


       เรื่องมันวุ่นวายอยู่อย่างนี้แหละครับ"

(ขอตัดตอนมาลงเพียงนี้นะคะ          ยังมีบทความสุดหายากของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมชอีกหนึ่งบทค่ะ
พบในหนังสือ  ประมวลมารค  ชุดสมบูรณ์  จะนำมาฝากในโอกาสต่อไป  เขียนตอนคุณคึกฤทธิ์เป็นหนุ่มฟ้อ)
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 19 พ.ค. 11, 14:44

ตามขั้นตอนของแต่ละชั้นลงไป  มี  ลูก  หลาน  เหลน  ลื่อ  ลืบ  ลืด ค่ะ

ที่คนโบราณท่านเรียก ลูก หลาน เหลน โหลน  ก็ไม่ถือว่าผิดค่ะ      ภาษาในสมัยนั้นก็ยังไม่มีกฎตายตัว


ก.ศ.ร. กุหลาบนับแปลกไปกว่านั้นอีก

หลวง นนทเกตุ(ฉ่ำ)(แขกเจ้าเซ็น)   มีคำถามดั่งนี้


     ข้าพเจ้าจักขอถามท่านอาจารย์กุหลาบ  ๓ ข้อว่า

๑.  พวกสมเด็จเจ้าพระยากรุงเทพฯ นี้     ที่เรียกว่าพวกราชนิกูลนั้น ด้วยเหตุอันใด?


ตอบ     เหตุด้วยย่าของสมเด็จเจ้าพระยา(ช่วง)นั้น      เขาสมมุติเรียกชื่อว่า เจ้าคุณโต   แต่ท่านไม่ได้ชื่อโตหามิได้
แท้จริงท่านชื่อ เจ้าคุณนวล    เป็นราชนิกูลบางช้าง  

ท่านเจ้าคุณนวลเป็นพระบรมญาติอันสนิท กับ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเป็น ราชนิกูลเชื้อพระญาติวงศ์ในพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๔ รัชกาล

เมื่อเจ้าคุณนวลเป็นราชนิกูลแล้วและเป็นย่าสมเด็จเจ้าพระยา(ช่วง)    บุตรหลานเหลนโหลนหลินหลือ(ในเวลานั้น ก.ศ.ร. กุหลาบ นับ แบบนี้) ของท่าน   นับเป็นราชนิกูลทั้งสิ้น  ตลอดจนมาถึงทุกวันนี้ด้วย

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 19 พ.ค. 11, 14:54

อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐเขียนไว้ใน บทความเรื่อง "ลื่อ-ลื้อ" สำหรับรายการภาษาไทย ๕ นาที วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕

ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นกรรมการทำพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ของราชบัณฑิตยสถานด้วยผู้หนึ่ง ได้มีโอกาสศึกษาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ จากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายหลายท่านด้วยกัน บางทีก็พบว่าคำบางคำที่ใช้อยู่ในกฎหมายนั้นก็ผิดไปจากที่มีอยู่ในพจนานุกรม ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นความจงใจ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความพลั้งเผลอในเวลาพิสูจน์อักษร

เมื่อวันพุธที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ขณะที่กำลังพิจารณาเรื่อง "ผู้เยาว์" อยู่นั้น ข้าพเจ้าได้เปิดหนังสือ "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" บรรพ ๑ ดู ก็พบว่าในมาตรา ๒๙ มีข้อความดังนี้

"บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าภริยาสามีก็ดี ผู้บุรพการี กล่าวคือ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด ก็ดี ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื้อ ก็ดี ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคลผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

"คำสั่งอันนี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา"


คำที่ข้าพเจ้าข้องใจ ก็คือคำว่า "ลื้อ" ซึ่งอยู่ถัดจาก "เหลน" ออกไป ถ้าพิจารณาข้อความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๒๙ นี้ ก็จะเห็นว่า "ผู้สืบสันดาน" นั้นท่านเรียงลำดับไว้ดังนี้ "ลูก-หลาน-เหลน-ลื้อ" เมื่อ "หลาน" คือ "ลูกของลูก" "เหลน" ก็คือ "ลูกของหลาน หรือ หลานของลูก" แล้ว คำว่า "ลื้อ" ก็ควรจะเป็น "ลูกของเหลน" หรือ "หลานของหลาน" หรือ "เหลนของลูก" แต่เมื่อเปิดดูในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ แล้ว ไม่ปรากฏว่าคำว่า "ลื้อ" ในความหมายที่ว่า "ลูกของเหลน" เลย พจนานุกรม ได้ให้บทนิยามของคำว่า "ลื้อ" ไว้ดังนี้ "น. ไทยพวกหนึ่ง อยู่ในแคว้นสิบสองปันนา." ซึ่งบางทีเราก็เรียกว่า "ไทยลื้อ" หรือมิฉะนั้น ก็เป็นคำสรรพนามในภาษาจีน อันหมายถึงบุคคลที่เราพูดด้วย ตรงกับคำว่า "ท่าน, เอ็ง, มึง" ใน ภาษาไทย หรือ You ในภาษาอังกฤษนั่นเอง คำว่า "ลื้อ" ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คงมิได้หมายถึงคนไทยพวกหนึ่งในแคว้นสิบสองปันนาเป็นแน่ เพราะคนไทยพวกนั้นจะมาเป็น "ผู้สืบสันดาน" ในกฎหมายดังกล่าวนี้ไม่ได้ คำนี้ที่ถูกต้องควรจะเป็น "ลื่อ" มากกว่า ทั้งนี้เพราะคำว่า "ลื่อ" พจนานุกรม ได้ให้บทนิยามไว้ว่า "น. ลูกของเหลน." แต่คำนี้ เราไม่ค่อยได้ใช้กัน เรามักจะเรียกลูกของเหลนว่า "โหลน" ดังเพลงในพระราชนิพนธ์ว่า "ลูกหลานเหลนโหลน ภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย" แต่คำว่า "โหลน" พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ยังมิได้เก็บไว้
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 19 พ.ค. 11, 14:56

คุณเพ็ญที่รักและคิดถึง

       หมู่นี้ดิฉันงานชุกมากค่ะ    นักสะสมที่มีบุญคุณวานให้เขียนบทความ    สหาย
เจ้าของโรงพิมพ์วานให้ตรวจงานแปลโบราณของ "อรวรรณ"  โอ..ท่านแปลนุ่มมาก
ได้ ไทยเขษมรวมเล่มมา สิบกว่าเล่ม   อ่านทุกวัน     เห็นสยามประเภทเล่ม ๖ แล้วนิดหนึ่ง
สหายเล่าเรื่องสยามประเภทเล่ม ๗ ให้ฟังแล้วด้วย  แต่ยังไม่มีโอกาสเห็น     อีกพักหนึ่ง
คงมีเรื่องสนุก ๆ มาคุยกัน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 20 คำสั่ง