ขอบพระคุณคุณวันดีที่กรุณาคิดถึง ซาบซึ้งเป็นยิ่งนัก

ขออนุญาตต่อบทความของอาจารย์จำนงค์ให้จบ
คำที่อยู่ในชุดเดียวกัน "ลูก - หลาน - เหลน - ลื่อ" ซึ่งถัดจาก "ลื่อ" ไปก็คือ "ลืบ" และ "ลืด" พจนานุกรมได้ให้ความหมายของคำทั้ง ๒ ไว้ดังนี้
"ลืบ น. ลูกของลื่อ, หลานของเหลน."
"ลืด น. ลูกของลืบ."
คำว่า "ลื่อ - ลืบ - ลืด" ทั้ง ๓ นี้ นักกฎหมายส่วนมากก็ไม่ทราบว่าหมายถึงใคร โดยเฉพาะคำว่า "ลื่อ" นั้น ในกฎหมายตราสามดวงก็มิใช้แล้ว แต่เขียนเป็น ๓ รูปด้วยกัน คือ "ลื่" (ไม่มี อ ตาม) "ลื่อ" (มี อ ตาม) และ "หลื้" (ห ล สระอือ ไม้โท) ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างมาประกอบคำอธิบายดังนี้
ที่เขียนเป็น "ลื่" (ไม่มี อ ตาม) ดังที่ปรากฏใน "พระไอยการลักษณะมรดก" หน้า ๓๗ ดังนี้
"๓๗ มาตราหนึ่ง ลูกหลานเหลนลื่ไดบวดเปนสามเณร แลบิดรมานดาปู่หญ้าตายายถึงแก่มรณภาพไซ้ ควรให้ได้ทรัพยส่วนแบ่งปัน ตามพระราชกฤษฎีกาให้เป็นจตุปใจยแก่สามเณรนั้น"
ที่เขียนเป็น "ลื่อ" (มี อ ตาม) ดังปรากฏใน "พระไอยการลักษณะมรดก" ข้อ ๑ ดังนี้
"๑ ถ้าแลผู้มีบันดาศักดิตั้งแต่นา ๔๐๐ ขึ้นไปถึงแก่มรณภาพและจะแบ่งปันทรัพยมรดกเป็นส่วน ซึ่งจะได้แก่บิดามานดาแลญาติพี่น้องบุตรภรรยาหลานเหลนลื่อนั้น โดยได้รับราชการแลมิได้รับราชการ แลมีบำเน็จบำนาญ แลหาบำเน็จบำนาญมิได้ ให้ทำเปนส่วนดั่งพระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้นี้"
ส่วนที่เขียนเป็น "หลื้" (ห นำ ล สระอือ ไม้โท) นั้น มีปรากฏอยู่ในข้อ ๒๘ วรรค ๒ และ ๓ ดังนี้
"อนึ่งถ้าพี่น้องลูกหลานเหลนหลื้สาขาญาติไปรับราชการอยู่ณะเมือง แล แขวงจังหวัดไซ้ ให้แบ่งทรัพยบันดาส่วนซึ่งจะได้นั้นไว้ ณะพระคลังก่อน ถ้าผู้นั้นมาแต่ราชการ แล้วจึ่งเอาทรัพยซึ่งไว้ ณะพระคลังนั้นให้"
ข้าพเจ้าจึงขอเสนอว่า คำว่า "ลื้อ" ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๙ นั้น ควรจะได้แก้ไขให้ถูกต้องเป็น "ลื่อ" เสียด้วย.