เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 41025 ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 13 พ.ค. 11, 17:31

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ณ เรือนไทยหลังนี้ทุกท่านขอรับ

   สองสัปดาห์กว่าๆมาแล้วที่ผมคร่ำเคร่งกับการฟังนวนิยาย “ขุนศึก” ซึ่งผลิตเป็นหนังสือแถบเสียงปริมาณมากถึง ๑๒๕ ม้วน เท่าที่เคยรู้ข้อมูลจากการค้นผ่านพ่อ google นวนิยายเรื่องนี้ ท่านไม้ เมืองเดิม ประพันธ์ไว้ไม่จบ ภายหลัง น้องชายแท้ๆของท่าน คือท่านสุมทุม บุญเกื้อ จึงนิพนธ์ต่อจนปริโยสาน อันเนื่องมาจากอาสาสมัครท่านอ่าน ขุนศึก ให้ฟังตั้งแต่ต้น อ่านไปเรื่อยๆกระทั่งจบเรื่อง ทั้งมิได้บอกว่าขึ้นเล่มที่เท่าไหร่ของหนังสือตาดี ผมจึงมิรู้ว่าสำนวนของท่านไม้ เมืองเดิม จบลงตรงไหน แหละสำนวนท่านสุมทุม บุญเกื้อ เริ่มแต่ตรงตำแหน่งใด ขอท่านผู้รู้โปรดเมตตาเอื้อวิทยาทานผมด้วยเถิดครับ ผมจะได้กลับไปฟังอย่างพินิจ เพื่อศึกษาแนวทางรจนาจากนักประพันธ์พี่น้องสองท่านว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ทั้งการใช้ถ้อยคำ สำนวน ตลอดจนองค์ประกอบอื่นๆครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 พ.ค. 11, 18:53

นวนิยายเรื่อง "ขุนศึก" เป็นบทประพันธ์อมตะชิ้นสุดท้ายของ "ไม้ เมืองเดิม" เขาใช้เวลาสองปีเศษ   สร้างสรรค์งานชิ้นนี้ ในขณะที่ร่างกายป่วยไข้อย่างหนัก เป็นอัมพาตและมือสั่นจนเขียนหนังสือไม่ได้   ต้องเอาด้ายดิบพันนิ้วมือทุกนิ้วให้แน่นเสียก่อนเขียนหนังสือ ตอนหลังอาการหนักนั่งเขียนเองไม่ไหว   มีเพื่อนฝูงที่รักใคร่สมัครมาเขียนให้ โดยเจ้าตัวนอนบอกเนื้อความให้จด บางครั้งเพื่อนติดธุระต้องให้ภรรยาเป็นผู้จดคำบอก ก้านมุ่งมั่นจะเขียนเรื่องขุนศึกให้จบก่อนเขาลาจากไปสู่ปรโลก โดยกล่าวว่า   "ขุนศึกเป็นบทประพันธ์ที่กันรักมาก"
   
 แต่ก้านก็ไม่สามารถทำได้ดังใจหวัง เขาสิ้นชีวิตก่อนเขียนนวนิยายเรื่องนี้จบเรื่อง โดยจบชีวิตในวันที่ 4 มีนาคม 2484 ด้วยวัยเพียง 37 ปี ตอนสุดท้ายของนวนิยายเรื่องขุนศึกที่ "ไม้ เมืองเดิม" เขียน  ลงตีพิมพ์เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2485

หลังจากสำนักพิมพ์เพลินจิตต์จัดพิมพ์นวนิยายเรื่องขุนศึกครั้งแรกวางตลาดสัปดาห์ละเล่ม แบ่งเป็นห้าภาค รวม 40 เล่มแล้ว ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2489 มีการจัดพิมพ์ครั้งที่สองและในการพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2484เป็นหนังสือปกแข็ง 18 เล่ม ภาพปกและภาพประกอบฝีมือ เหม เวชกร สำนักพิมพ์เพลินจิตต์และเหม เวชกร เกลี้ยกล่อมขอให้ กิ่ง พึ่งบุญ ณ อยุธยา  น้องชายของ "ไม้ เมืองเดิม"และเป็นนักเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ นามปากกา "สุมทุม บุญเกื้อ" แต่งเรื่อง ขุนศึก ต่อให้จบสมบูรณ์ กิ่งใช้เวลา 4 เดือน เขียนตอนจบของ ขุนศึก  ผลงานของ  "สุมทุม บุญเกื้อ"จะอยู่ตอนท้ายเล่มที่ 13 และเล่มที่ 14 ทั้งเล่ม โดยเขาเขียนไว้ในคำนำว่า

 "โครงเรื่องส่วนใหญ่นั้น เป็นของ "ไม้ เมืองเดิม" โดยแม้จริง ข้าพเจ้ามีส่วนเพียงเป็นผู้บรรยายเรื่องราวโดยละเอียดสู่ท่านผู้อ่านอีกทอดหนึ่งเท่านั้น"

จากหนังสือ  สุนทรียรสแห่งวรรณคดี รศ. ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ หน้า 234-235  อ้างถึงในประยุกต์ บุญนาค  "นิยายอิงพงศาวดาร"ขุนศึก" ของ "ไม้ เมืองเดิม"พิมพ์มาแล้ว 10 ครั้ง จินตนาการของ"ไม้ เมืองเดิม"   ในนิยายอิงพระราชพงศาวดารเรื่องขุนศึก
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 14 พ.ค. 11, 09:41

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูอย่างยิ่งครับ สำหรับข้อมูล ถ้ากระนั้น ผมคงต้องใช้การสันนิษฐานเบื้องต้นก่อนว่า สำนวนท่านสุมทุม บุญเกื้อ น่าจะเลย “ศึกหงสาวดี” ไปแล้วกระมังครับ
 

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 พ.ค. 11, 09:59

จากข้อมูลซึ่งท่านอาจารย์เทาชมพูกรุณานำมาลงไว้ กระทู้ใหม่ก็เกิดขึ้นกับผมอีกแล้วครับ ถ้าในการพิมพ์ “ขุนศึก” ครั้งที่ท่านสุมทุม บุญเกื้อ เขียนเรื่องต่อจากพี่ชายท่านนั้น คือการพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็ง ๑๘ เล่มจบ แหละสำนวนท่านไม้ เมืองเดิม มาสิ้นสุดลงตรงท้ายๆเล่ม ๑๓ สำนวนท่านสุมทุม บุญเกื้อ ก็น่าจะอยู่ท้ายเล่ม ๑๓ ดังกล่าว เรื่อยมาตราบถึงเล่ม ๑๘ ไม่น่าจะสิ้นสุดแค่เล่ม ๑๔ เท่านั้น เอาหละครับ... หากข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า สำนวนท่านสุมทุม บุญเกื้อ จบลงตรงเล่ม ๑๔ แล้วอีกสี่เล่มที่เหลือ เป็นสำนวนผู้ใด ผมตั้งปรัศนี มิได้มีจุดประสงค์อื่นใดทั้งสิ้น นอกจาก สืบค้นเพื่อศึกษาประวัตินวนิยายอมตะเรื่องหนึ่ง เท่านั้นจริงๆครับ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 พ.ค. 11, 10:11

การพิมพ์แต่ละครั้ง จำนวนเล่มไม่เท่ากัน อาจเป็น ๑๔ หรือ ๑๘ เล่ม ก็ได้  ดิฉันก็ไม่ทราบว่าเรื่องขุนศึกที่คุณชูพงศ์ได้ฟัง อ่านจากขุนศึกพิมพ์ครั้งที่เท่าไร 
ยังหาไม่พบว่าไม้ เมืองเดิม เขียนค้างไว้ในตอนไหนค่ะ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 14 พ.ค. 11, 10:32

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   ขุนศึกที่ผมฟัง อาสาสมัครท่านอ่านฉบับสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร พิมพ์ ๑๐ เล่มจบ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ ครับ แต่เนื่องจากท่านอ่านรวดเดียวตลอด มิได้บอกขึ้นเล่มที่เท่าไร/ตอนไหน การฟังเพื่อประสงค์ค้นคว้าเปรียบเทียบสำนวนจึงทำให้ผมยุ่งยากใจเพราะหาจุดจบกับจุดเชื่อมต่อระหว่างนักประพันธ์ทั้งสองท่านด้วยตัวเองไม่พบครับผม

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 พ.ค. 11, 10:53

ถ้าไม่พบก็อาจตีความได้ว่า คุณสุมทุม บุญเกื้อมีสำนวนภาษา กลมกลืนกับไม้ เมืองเดิม จนหารอยต่อไม่พบ ก็เป็นได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 14 พ.ค. 11, 14:02



     เป็นแฟนพี่เสมามานาน  ขืนไม่แวะกระทู้นี้  
อาจารย์ประยุกต์ บุนนาค ที่เคารพยิ่งของวันดี    ต้องกระแอมใส่เป็นแน่แท้


เรามาพูดกันเรื่อง บรรณาคาร ๒๕๒๓  สิบเล่มชุดนะคะ

สุมทุม บุญเกื้อเริ่มงานของท่านใน เล่ม ๘  ค่ะ  ประมาณหน้า สองร้อยกว่า

งานของท่านเนียนมากทีเดียว  เพราะท่านก็เป็นนักเขียนพงศาวดารมาไม่น้อย

นานมากมาแล้วที่ไม่ได้อ่านขุนศึก  เพราะอ่านแล้วรู้สึกว่า ต้องฝ่าพงหนามหลายครั้ง  เหนื่อยใจ

จำได้ลาง ๆ ว่า เมื่อขุนศึกจบลงอย่างกระทันหัน  เมื่อ แม่นางอำพัน มารดาของณรงค์วิชิต  พาลูกชายไปหามหาเสนาที่บ้าน
และแสดงความเป็นญาติ

มหาเสนาจางวางพระตำรวจรักษาพระองค์ฝ่ายพระราชวังจันทรเกษม  ได้ช่วยเหลือณรงค์วิชิตตามสมควร


       สำนวนของ สุมทุม บุญเกื้อ นั้น  ระวังที่จะยก การขัดเคืองใจของตัวละครเอก ๆ ในเรื่องขึ้นมาโดยสม่ำเสมอ
ไม่ใครก็ใครคนหนึ่งต้องหาเรื่องทะเลาะกัน  แล้วขอโทษซึ่งกันและกัน  เป็นจบเรื่องไป


       อาจารย์ประยุกต์นั้น  ยังศึกษา เรื่องศึกสงครามและดาบไทยอยู่เป็นนิจ

คำอธิบายของท่านเป็นวิทยาศาสตร์  มีอ้างอิง       และความจำยังดีเยี่ยม

ได้กราบขอความรู้จากท่านบ่อย ๆ            ท่านยังจำได้ว่าดิฉันเคยถามเรื่องจตุรังคบาทไว้

โดยไม่เสียเวลา  ท่านก็อธิบายต่อความรู้ให้ได้ในทันที


     เมื่อดิฉันตอบคำถามของท่านไม่ได้   ดิฉันก็จะเสคุยเรื่อง "ขุนศึก"
ท่านรู้ทันและหัวเราะเบา ๆ        เพราะท่าน รัก นวนิยายเรื่องขุนศึก มาก


     ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้  ได้ขอความรู้ท่านเรื่อง "ดาบตองสู่"  และ "พระแสงของ้าว"      
ท่านบอกว่า บางอย่างต้องมาดูเอง   จะได้เห็นว่าพู่ที่คอง้าวพริ้วอย่างไร



บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 14 พ.ค. 11, 17:18

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูตามตรงครับ ผมจับรอยต่อ ความแตกต่างไม่ได้จริงๆ ขอคารวะนักเขียนทั้งสองท่าน เพราะท่านสามารถบรรสมกลมกลืนลีลาประพันธ์ได้อย่างเนียนสนิท ถือเป็นความสามารถเอกอุจริงๆครับ

   สวัสดีครับ คุณวันดี

   ผมขออนุญาตเปิดอภิปรายประเด็นหนึ่งซึ่งค้างคาใจมานานตรงนี้เสียเลยนะครับ นั่นคือเรื่อง “สามัคคีเภทของทหารไทยในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ครับ จริงหละ ในนวนิยาย “ขุนศึก” นั้น เสมา (แหละบรรดาศิษย์) กับกลุ่มของหมู่ขัน ขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกันตลอดเวลา ไอ้จะวิวาทกันตอนยังไม่โดยเสด็จฯ งานพระราชสงครามนั่นก็ตามประสานักเลงเถิด ผมยังทนฟังได้ แต่ถึงขนาดร่วมในยุทธภูมิอันมีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จฯ เป็นองค์จอมทัพ ผมฟังแล้วรู้สึกพิกลๆครับ เพราะมิใช่แต่จะชิงความดีความชอบกันธรรมดาเท่านั้น ทว่าถึงขนาด “ไทยฆ่าไทย” ให้ข้าศึกเห็นเลย ตัวอย่างที่ปรากฏชัดก็เช่น ศึกละแวกหนแรก ตอนรบกันตรงป่าระนาม กองทัพพระราชมนูถูกล้อม พลไพร่อันเสมาคุมถูกตีล่าถอย แล้วก็เกิดศึกไทยกันเองขึ้นเมื่อฝ่ายหมู่ขันกับพวกยกกันขึ้นมา โดยขุนรามเดชะนำพล ขนาดยินเสียงปี่กลองประโคมสำแดงว่าทัพพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ใกล้เข้ามาแล้วก็ยังคุมพลไทยหั่นกันต่อ จวบทัพหลวงใกล้จะถึงนั่นแหละจึงสำนึกเกรงพระราชอาชญาหย่าศึก เท่าที่ผมเคยฟังมา รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทแกล้วทหารรองพระบาทบงสุ์ทั้งปวงอาจองสามัคคีกลมเกลียวเหนียวแน่นนัก อีกองค์พระจอมมกุฎอยุธยาก็ทรงเด็ดขาดยิ่ง ฉะนั้น เป็นไปได้หรือที่จะเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น ทหารสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ลางผู้ลางเหล่า) เกิดมหาโมหันธ์ถึงกับแยกแยะมิออกว่าเมื่อไรควรหักล้างกัน เมื่อไรควรร่วมมือประจัญศัตรู อนาถหนอ! ผมขอความเห็นสักเล็กน้อยครับ
     

   
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 15 พ.ค. 11, 05:16



      เริ่มอ่าน"ขุนศึก"  เมื่อยังอายุน้อย    รู้สึกว่าเหนื่อย  กว่าพระเอกจะได้ดี

พระราชพงศาวดารไม่รู้จัก   มารู้จักในหนังสือชุดนี้ค่ะ

เมื่อเริ่มทำงาน  มีหนังสือ กฎหมายตราสามดวง   พิชัยสงคราม  รู้สึกว่าอ่านง่าย

จะเข้าใจอย่างตลอด ทะลุ ผ่าน หรือไม่   ไม่ใช่สิ่งสำคัญ

เริ่มจะจับทางได้ว่า "ไม้ เมืองเดิม"  อ่านหนังสือมามากเหลือเกิน

คำพูดจาของหลาย ๆ คน ประทับใจ       ชดเชยกับความอาฆาต ริษยาที่ผจญมา


จะขอยกบางตอนที่ชอบ  มาคุยกัน   ตอบอาจจะไม่ตรงประเด็น  ขออภัย


     "สองฝ่ายพลก็ประดังประดาเป็นตะลุมบอน   แต่สมิงนี้รุ่งเรืองด้วยฝีมือกรากเข้ามาด้วยกลพระรามข้ามสมุทร

ขุนศึกก็รับด้วยพระพุทธเจ้าห้ามมารกั้นแต่สองดาบชูยิ้มมิหวั่น  และคอยดูเชิงอยู่    ครั้นสมิงนั้นเปลี่ยนกลมาครุฑ

เฉี่ยวนาคได้จักร่อนขึ้นสู่นภากาศ      ขุนพลก็ร่ายเข้ารบด้วยหนุมานเผาลงกา       และทันใดนั้นสมิงก็รำล่อ

เป็นดาบศลีลาศคืนอาศรมหันหลังให้         และชม้ายดูผิว์หลงกลก็จักประหารเสีย   แต่ขุนพลก็แสร้งติดตาม

ด้วยนารายณ์น้าวศร  และกรากถึงตัวเข้ารบด้วยสันดาบ"


     "พออุดมฤกษ์พระโหราธิบดีก็ลั่นฆ้องไชย    ราชครูวิทยาจารย์เป่ามหาสังข์ดุริยางค์ดนตรีฆ้องกลองก้องสนั่น

ทั่วท้องมหาอรรณพนที   พลพายส่งเสียงรับโห่กระหึ่มกังวาลนฤนาทไปสุดท้องน้ำ   เงื้อง่าปีกพายดั่งปีกฝูงผึ้ง

บังพระทินกร   แล้วเคลื่อนเรือพยุหยาตราโดยชลมารคหมายที่ประทับพลับพลาไชยปากโมก"


     "ช่างเหล็กก็ชักม้ากราดขึ้นหน้าปราดเข้าปะทะขุนพลพระยาตะเกิง"


      อ่านแล้วแทบไม่หายใจ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 15 พ.ค. 11, 05:55


       ตอนหมื่นคงคชบาลคิดจะถ่ายทอดวิชาให้เจ้าตะพุ่น

พี่เสมาพูดถูกใจ  ขอรับความรู้ไว้เมื่อพบผู้เหมาะสมจะสั่งสอนต่อให้เต็มฝีมือ

หมื่นคงคชบาลถูกใจมาก  เลยตกลงใจนะถ่ายทอดให้ทั้งหมด  โดยไม่ขยักไว้

อ่านตอนนี้ทีไร  อดขำไม่ได้ค่ะ


       ขนาดแม่หญิงดวงแขน้องสาวณรงค์วิชิตยังพูดว่า  "อันฝีมือและวิชารบนั้น

เป็นคุณวิเศษแลความดีของคนเราแต่ภายนอก     แต่อุตสาหะมานะและสัตย์ซื่อกตัญญู

เป็นคุณธรรมอันวิเศษอยู่ภายใน"


(สำนวนของ สุมทุม บุญเกื้อ   นำสุรา เข้ามาบ่อยครั้งค่ะ)



มหาเสนาได้สั่งสอนสินและสมบุญว่า(ตอนนี้ฝีมือ สุมทุม  บุญเกื้อนะคะ)

     "เออ....สินและสมบุญน้องกู   มึงจงจำเริญเถิด     ขอมึงจงชนะศึกศัตรูทุกสารทิศ"   แล้วขุนพล

ก็ยกมือไหว้ไปเบื้องวัดพระศรีสรรเพชญ์กล่าวแต่โดยควรด้วยสีหน้าอิ่มเอิบ   ดังเกิดปิติสุขขึ้นในหัวใจ

"ขออานุภาพและอิทธิปาฎิหาริย์แห่งคุณพระศรีรัตนไตร   จงยังให้บังเกิดเป็นประหนึ่งกำแพงแก้ว

และเกราะเพชร  คุ้มครองปกป้องน้องของข้าทั้งสองให้พ้นจากพยันตรายทั้งปวงด้วยเถิด"


     "พี่จักขอเจ้าเพียงจงทนุถนอมน้ำใจ  รักษาความสามัคคีในระหว่างพวกพ้องที่ร่วมงานกัน

ไม่เลือกนายเลือกบ่าว    อีกข้อหนึ่งจงอย่าประมาทไม่ว่าการใดทั้งสิ้น"


บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 15 พ.ค. 11, 11:30

ผมขออนุญาตใช้กระทู้นี้ประกาศหาหนังสือเล่มหนึ่งของท่านไม้ เมืองเดิม เลยนะครับ

   ขณะนี้ ผมกำลังตามหานวนิยายเรื่อง “ทหารเอกพระบัณฑูร” ครับ ตั้งใจไว้ว่า จะซื้อเก็บเป็นสมบัติส่วนตัวเล่มหนึ่ง กับบริจาคให้ห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติอีกเล่มหนึ่ง จึงอยากทราบว่า พอจะหาซื้อได้จากที่ไหนครับ
 
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 15 พ.ค. 11, 11:49

เรียนถามคุณวันดีขอรับ

   บทสนทนาระหว่างพระมหาเถรเสียมเพรียม กับพระเจ้าตองอูที่ปรากฏในนวนิยาย “ขุนศึก” นั้น มาจากพระราชพงศาวดารเล่มใดครับ แหละตอนนี้ ท่านไม้ เมืองเดิม หรือท่านสุมทุม บุญเกื้อ เป็นผู้ถ่ายทอดสู่ผู้อ่าน/ผู้ฟังครับ?
 
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 15 พ.ค. 11, 12:33

               เข้ามาแจมเรื่อง ขุนศึก ภาคละครโด่งดังของสถานีโทรทัศน์ช่องสี่ บางขุนพรหม ครับ

คุณ  บูรพา อารัมภีร เขียนเล่าไว้ใน เพลงของพ่อ เพลงละคร (เก่า) ว่า

                 ละครทีวีสมัยโน้นเขาแสดงกันสดๆ ร้องกันจริงๆ ไม่มีอัดเสียงหรือบันทึกเทปหรือ
ทำเป็นหนังเหมือนสมัยนี้ นักแสดงดาราทีวีที่เล่นต้องใช้ความสามารถของตนเองล้วนๆ
คือต้องซ้อมต้องท่องบทต้องจำคิว เล่นให้แม่นยำรวมถึงต้องร้องเพลงได้ด้วย เพราะเวลาแสดงจริง
ตอนออกอากาศให้คนดู แล้วเล่นผิดพูดผิดก็ผิดไปเลยไม่มีการเทคใหม่แต่อย่างใด

                 ละครที่ผมชอบมากติดตามดูตอนเด็กแทบจะไม่พลาดเลยคือเรื่อง ขุนศึก ของ ไม้เมืองเดิม
แสดงทางสถานีทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ตอนนั้นยังเป็นสีขาวดำ ดารานำชายคือ กำธร สุวรรณปียะศิริ
เล่นเป็น เสมา นางเอกคือ อารีย์ นักดนตรี รับบท แม่หญิงเรไร
                 ละครเรื่องนี้เล่นติดต่อกันเป็นปีๆ ใครพลาดดูตอนไหนก็ต้องให้คนที่เขาดูเล่าให้ฟัง
เพราะสมัยโน้นอดแล้วอดเลย


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 15 พ.ค. 11, 12:35

             ในละครขุนศึกมีเพลงเพราะหลายเพลง ที่ผมชอบก็เป็นเพลงเอกของเรื่อง
ชื่อเพลง ฟ้ารักดิน ครูชาลี อินทรวิจิตร แต่งเนื้อร้อง ทำนองเป็นของพ่อผม ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร
                เป็นเพลงร้องคู่ของพระเอกนางเอกในเรื่อง เนื้อเพลงเป็นอย่างนี้

(ญ) อุ่นอารมณ์สมสุขอย่างนี้มีแต่เราสอง

(ช) อกดินถวิลลำพองคิดปองฟ้าไกลพาให้ตรม ชวดชมแล้วซมซานเศร้า

(ญ) หวั่นกระไรฟ้าดินใจตรงกัน

(ช) แต่กระนั้นยังพรั่นมิเบา ไม่ทำให้เจ้าเฉา ไม่ให้เจ้าช้ำ อกดินถวิลครวญคร่ำ

(ญ) อกฟ้าระกำยิ่งกว่า

(ช) ไหว้วอนขอพรเทวา ให้ดินเสมอฟ้าที

(ญ) ถึงยามราตรี

(ช) ฟ้ามีแสงจันทร์

(ญ) ขอปันแสงจ้า

(ช) เมตตาให้ฟ้าโลมดิน แอบจูบลูบไล้ยุพิน จูบดินด้วยแสงจันทร์ส่อง

(ญ) เชื่อใจเพียงใคร่จะลอง ก็กลัวจะหมองมิวาย

(ช) ทุกทิวา

(ญ) ทุกราตรี

(ช) สองชีวี

(คู่) มิมีหน่าย ไม่สลายคลายรักเอย

                  เพลงฟ้ารักดินก็โด่งดังจากตอนโน้นเป็นต้นมา แม้ปัจจุบันในรายการคอนเสิร์ตตามเวทีต่างๆ
ก็ยังได้ยินเพลงนี้อยู่เสมอ


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.053 วินาที กับ 19 คำสั่ง