ตามปกติแล้วราชบัณฑิตยสถานมีหลักเกณฑ์ในการบัญญัติศัพท์เชิงวิชาการใหม่ ๆ ที่เป็นภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยว่า
๑. ถ้าศัพท์ใดสามารถผูกคำขึ้นใหม่ได้ ก็พยายามใช้คำไทยก่อน
๒. ถ้าหาคำไทยที่เหมาะสมและตรงกับความหมายของศัพท์ไม่ได้แล้ว ให้หาคำบาลี-สันสกฤตที่มีใช้อยู่แล้วในภาษาไทย มาผูกเป็นศัพท์ขึ้น
๓. ถ้ายังหาคำเหมาะสมไม่ได้อีก จึงใช้วิธีบัญญัติแบบทับศัพท์
ขอยกตัวอย่างศัพท์ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี คำว่า “asynchronous” ซึ่งบัญญัติไว้ว่า -ไม่ประสานเวลา, -อสมวาร*, -อะซิงโครนัส ซึ่งเป็นคำพิเศษตรงที่มีศัพท์บัญญัติทั้งสามแบบ คือ แบบคำไทยพื้นๆ แบบคำบาลีสันสกฤต และแบบคำทับศัพท์ ในการนำไปใช้ ผู้ใช้ก็สามารถเลือกใช้ได้ตามบริบท ตามความชอบ ตามความเหมาะสม
และจาก “จุดยืน” ในการบัญญัติศัพท์ ๓ ประการข้างต้น จะเห็นว่าศัพท์ตลกขบขัน หรือศัพท์แปลก ๆ อย่างคำว่า
“เวทนารมณ์เชิงเพทนาการ” (sensory perception), “สดมภ์รงคเลข” (column chromatography), “ปรัศวภาควิโลม” (lateral inversion) หรือ “วงจรอเนกระรัว” (multivibrator circuit) ที่บางท่านอาจเคยเห็นผ่านตาหรือยังใช้กันอยู่บ้างนั้น
ราชบัณฑิตยสถานคงจะไม่บัญญัติขึ้นใช้เป็นแน่แท้บางส่วนจากบทความเรื่อง
ศัพท์บัญญัติ ตอนที่ ๑ โดย ดร. ชนินทร์ วิศวินธานนท์ กรรมการบัญญัติศัพท์วิศวกรรมไฟฟ้า ราชบัณฑิตยสถาน 