‘โอ้เอ้วิหารราย’ (หรือ ‘โอ้เอ้พิหารราย’) เป็นสำนวนหมายถึง ยืดยาด อ้อยอิ่ง ล่าช้า
เรื่องนี้พบใน ‘สาส์นสมเด็จ’ ฉบับลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ ท่านว่า เค้ามูลการสวดโอ้เอ้วิหารรายนั้น มาจากเมืองนครศรีธรรมราช
การที่มีเด็กสวดตามศาลารายในวัดพระแก้วนั้น เพิ่งมีขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นเป็นปฐมที่โรงทานข้างประตูต้นสน ครั้นถึงเทศกาลที่ขุนทินขุนทานสวดมหาชาติคำหลวงในโบสถ์วัดพระแก้ว จึงโปรดฯให้จัดเด็กนักเรียนที่โรงทานมาสวด ‘โอ้เอ้วิหารราย’ อย่างโบราณที่ศาลาราย เลยเป็นธรรมเนียมมาจนในรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ จนกระทั่งเลิกโรงเรียนที่โรงทาน มีโรงเรียนชั้นประถมของหลวง จึงจัดเด็กตามชั้นประถมที่ต่างๆ มาสวดโอ้เอ้วิหารรายแทนเด็กโรงทานโรงเรียนละศาลา
เมื่อเปลี่ยนเป็นสวดตามศาลา มิได้สวดตามวิหารรายอย่างเดิม บางทีอาจมีผู้เรียกเพี้ยนไปเป็นอย่างอื่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงมีพระบรมราชาธิบายประกาศว่า
“สวดหนังสือสวดอย่างเช่นเด็ก ๆ สวดนั้น เรียกชื่อว่าสวดโอ้เอ้พิหารราย จะสวดที่พิหารรายก็ดี สวดที่พระระเบียงก็ดี สวดที่พิหารใหญ่ ที่ศาลา กุฎี ที่ใด ๆ ก็ดี ก็คงเรียกชื่อยืนอยู่อย่างเดียวว่า โอ้เอ้พิหารราย ไม่ยักย้ายไปตามที่สวดเลย”
ต่อมานำคำว่า ‘โอ้เอ้วิหารราย’ มาเป็นสำนวนหมายถึงช้าอ้อยอิ่ง เพราะการสวดแบบนี้สวดช้า ๆ มีเอื้อนมีสร้อยประกอบยืดยาว ยิ่งเด็ก ๆ สวดก็ยิ่งลากเสียงยานยาว

ขออนุญาตเพิ่มเติมจาก อ. เพ็ญชมพูครับ
การสวดมหาชาติสมัยโบราณ สวดเป็นภาษาบาลีล้วนๆ เรียกว่าสวด “คาถาพัน” เพราะมีประมาณ ๑๐๐๐ คาถา ถึอกันว่าถ้าได้ฟังครบ ๑๓ กัณฑ์ จะบังเกิดบุญกุศล
ยิ่งนัก ต่อมาเกิดความคิดขึ้นว่า การฟังสวดภาษาบาลีไม่ซาบซึ้งในอรรถรสพียงพอ จึงมีผู้แปลมหาชาติเป็นภาษาไทย ฉบับที่ปรากฏหลักฐานเรื่องแรกคือ “มหาชาติคำหลวง”
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๕ ใช้สำหรับสวดเป็นทำนองต่างๆ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “
สวดโอ้เอ้พิหารราย” รัชกาลที่ ๕ ทรง
สันนิษฐานว่าใช้ข้าราชการสวด และฝึกคนสวดไว้มาก ผู้ใดสวดได้ดีก็ได้สวดถวายทรงฟังในวิหารใหญ่ในวัดพระศรีสรรเพชญ บุคคลนอกจากนั้นไปสวดตามวิหารรายรอบ
เนื่องจากพวกนี้สวดดีบ้างไม่ดีบ้างจึงเรียกว่า “
โอ้เอ้พิหารราย” การสวดมหาชาติเป็นทำนองหรือสวดโอ้เอ้พิหารรายยังทำกันต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๔ มี
เปลี่ยนไปแต่เพียงสวดในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งเดียวตามศาลารายจัดนักเรียนไปสวดแทน
ต่อมาพระเจ้าทรงธรรมได้ราชสมบัติ ทรงพระราชนิพนธ์ “กาพย์มหาชาติ” เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๐ ใช้สำนวนโวหารราบเรียบเข้าใจได้ง่าย ภิกษุจึงนำไปเทศน์ แต่ยัง
เทศน์เป็นทำนองต่างๆ อนุโลมตามแบบสวดมหาชาติคำหลวง...................เสนีย์ วิลาวรรณ อ.บ.,ป.ม.,ศ.บ. จากหนังสือ "ประวัติวรรณคดีและการประพันธ์"