เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4217 เลิกธรรมเนียมนางร้องไห้
นกข.
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 22 มี.ค. 01, 13:56

จากบทความของคุณเทาชมพู



ผมจำได้เช่นกันว่า
ธรรมเนียมนางร้องไห้นี้มาเลิกไปสมัย ร.6 เพราะไม่โปรด จำได้เลาๆ
ว่าอยู่ในพระราชพินัยกรรมด้วยซ้ำไป พระราชพินัยกรรมนั้นทรงสั่งเสียไว้หลายอย่าง
เช่นว่า มีพระราชประสงค์จะให้เอารถลากปืนใหญ่มาแต่งเป็นรถเชิญพระบรมศพ
"เพราะข้าพเจ้าเป็นทหาร จึงอยากเดินทางครั้งสุดท้ายนี้อย่างทหาร"  
และโปรดให้ทายาทของพระองค์ทำพิธีกงเต๊กถวายด้วย ตรงที่เกี่ยวกับนางร้องไห้
จำพระราชสำนวน (? - ราชาศัพท์แปลกๆ แฮะ เรียกว่าฝีพระโอษฐ์แล้วกัน)
ในพระราชพินัยกรรมได้เลาๆ ว่า " ถ้าใครรักใคร่อาลัยข้าพเจ้าจริง
ก็ขอให้ร้องไห้จริงๆ เถิด อย่าร้องละครเล่นเลย"
/>
มีใครมีสำเนาพระราชพินัยกรรมอยู่บ้างครับ



ร.6
ท่านทรงได้รับการศึกษาที่อังกฤษ ทรงนึกถึงสำนวนอังกฤษที่ว่า น้ำตาจระเข้ หรือ
crocodile's tear หรือเปล่าก็ไม่ทราบ -
อันนี้ไม่เกี่ยวกับลิเกเรื่องไกรทองกระทู้ล่างนะครับ
บันทึกการเข้า
เรไร
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 21 มี.ค. 01, 21:15

ปัจจุบัน ในงานศพคนมอญแถว ๆ พระประแดง หรือปากลัด ก็ยังมีธรรมเนียม มอญร้องไห้ อยู่บ้างเหมือนกันค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 21 มี.ค. 01, 21:30

รัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดวิถีชีวิตแบบอังกฤษหลายอย่างค่ะ เช่นการเล่นกีฬา   การแสดงละคร  การตั้งสโมสร  

ธรรมเนียมไทยเก่าๆบางอย่างที่ทรงเห็นว่าไม่จำเป็นอย่างนางร้องไห้ ก็ทรงเลิกไป  

หรือแม้แต่การมีฝ่ายในมากๆ ก็ไม่โปรดเช่นกัน

อีกอย่างคือไม่เสวยหมาก



Crocodile's tear  ถ้ามีในกระทู้ล่าง ก็ไม่รู้ว่าตัวไหนมีนะคะ
บันทึกการเข้า
เอก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 22 มี.ค. 01, 03:35

พระราชพินัยกรรม

   เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความห่วงใยในพระอนามัยของพระองค์ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทำพินัยกรรมขึ้นไว้ฉบับหนึ่ง เมื่อ วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 ( ก่อนเสด็จสวรรคต 5 ปี ) ในเวลานั้นพระองค์เสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังพญาไท ผู้ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ในขณะนั้นคือ
1. มหาเสวกเอก เจ้าพระยาธิกรณาธิบดี ( ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล ) เสนาบดีกระทรวงวัง
2. จางวางเอก และนายพลโทพระยาประสิทธิ์ศุภการ ( ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ ) ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กและสมุหราชองครักษ์ ( ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยารามราฆพ )
3. จางวางโท พระยาอนิรุทธเทวา ( ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ ) อธิบดีกรมมหาดเล็ก
4. จางวางโท พระยาสุจริตธำรง ( โถ สุจริตกุล ) อธิบดีกรมชาวที่ ( ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอุดมราชภักดี )
5. จางวางตรี พระยาราชสาส์นโสภณ ( สะอาด ชูโต ) ราชเลขานุการในพระองค์

มีพระราชดำรัสรับสั่งว่า
   " เวลานี้ ข้าพเจ้ากำลังมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์จึงขอสั่งข้อความไว้ดังต่อไปนี้ว่า
1. ถ้าข้าพเจ้าสวรรคตลง ณ แห่งใดแห่งหนึ่ง นอกจากในพระบรมมหาราชวัง ให้เชิญพระบรมศพโดยเงียบ ๆ เข้าไปยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ให้จัดการสรงน้ำพระบรมศพในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน แล้วจึงให้เชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
2. ในเวลาตั้งพระบรมศพที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและในเวลาอื่น ๆ ต่อไปนี้ตลอดห้ามมิให้มีนางร้องไห้ ถ้าผู้ใดรักใคร่ข้าพเจ้าจริงปรารถนาจะร้องไห้ก็ให้ร้องไห้จริง ๆ เถิด อย่าร้องอย่างเล่นลครเลย
3. ในงานทำบุญ 7 วัน ทุก 7 วัน ไปจนถึงงานพระเมรุ ขอให้นิมนต์พระที่ข้าพเจ้าชอบพอมาเทศน์ อย่าให้นิมนต์ยศ และนอกนั้นให้นิมนต์พระมหาเปรียญที่ท่าทางเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาต่อไป
4. งานพระเมรุให้กำหนดภายหลังวันสวรรคตโดยเร็ววันที่สุดที่จะทำได้ ถ้าจะทำในฤดูแล้งแห่งปีสวรรคตแล้วก็ยิ่งดี เพราะถ้าเก็บพระบรมศพไว้นานจะเป็นการสิ้นเปลืองเปล่า ๆ
5. ในการทำบุญ 7 วัน เมื่อไว้พระบรมศพก็ดี และในงานพระเมรุก็ดี ขอให้จัดการทำพิธีกงเต๊ก ถ้าไม่มีใครศรัทธาทำให้ข้าพเจ้า ขอให้ทายาทของข้าพเจ้าหานักพรตอานัมนิกาย จีนนิกายมาทำให้ข้าพเจ้า
6. ส่วนงานพระเมรุ ขอให้รวบรัดตัดกำหนดการลงให้น้อย คือตัวพระเมรุให้ปลูกตรงถาวรวัตถุ ใช้วัสดุนั้นเองเป็นพลับพลาทรงธรรม
7. ก่อนที่จะยกพระบรมศพไปสู่พระเมรุ ให้มีงานศราทธพรตที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทวันเดียว
8. ญาติวงศ์ของข้าพเจ้า และข้าราชการกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ถ้ามีความประสงค์จะทำบุญให้ข้าพเจ้าก็ทำเสียให้เสร็จ ในขณะที่ตั้งพระบรมศพอยู่ ก่อนงานพระเมรุ ส่วนงานพระเมรุขอให้เป็นงานหลวงอย่างเดียว
9. สังเค็ตขอให้จัดของที่จะเป็นประโยชน์ สำหรับพระสงฆ์ที่จะได้รับไป และให้เลือกพระสงฆ์ที่จะได้สังเค็ตนั้นว่าจะใช้สังเค็ตจริง จะไม่เอาไปขาย
10. ส่วนของแจกขอให้เลือกเป็นหนังสือ 2 อย่าง อย่างหนึ่งเนื่องด้วยกิจการที่ข้าพเจ้าได้ทำประโยชน์มาแล้วแก่แผ่นดิน อีกอย่างหนึ่งขอให้เป็นหนังสือที่จะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา
11. ในการแห่พระบรมศพ ตั้งแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปถึงวัดพระเชตุพน ให้ใช้พระยานมาศตามประเพณี จากวัดพระเชตุพนไปพระเมรุ ขอให้จัดแต่งรถปืนใหญ่เป็นรถพระบรมศพ เพราะข้าพเจ้าเป็นทหาร อยากจะใคร่เดินทางในระยะที่สุดนี้อย่างทหาร
12. ในกระบวนแห่นี้ นอกจากทหารขอให้จัดมีเสือป่าและลูกเสือเข้ามาสมทบกระบวนด้วย และขอให้นักเรียนในโรงเรียนพระบรมราชูปถัมภ์ได้เข้ากระบวนด้วย
13. การโยงโปรย ขอให้งดไม่ต้องมีทุกระยะ และประคองพระโกศ ขอให้งดด้วย
14. การอ่านพระอภิธรรมนำพระบรมศพ ถ้าสิ้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสและพระวรวงศ์เธอ หมื่นชินวรสิริวัฒน์ ( ต่อมาได้รับมหาสมณุตมาภิเษกเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า -ผู้พิมพ์ ) ขอให้นิมนต์พระญาณวราภรณ ( ม.ร.ว.ชื่น ) ( ต่อมาได้รับมหาสมณุตมาภิเษกเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์   สมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ท้ายสุดแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และน่าจะเป็นองค์สุดท้าย -ผู้พิมพ์ ) วัดบวรนิเวศ หรือพระราชสุธี ( อุปโม ) วัดราชาธิวาส แต่ถ้าแม้ท่านทั้ง 2 จะทำไม่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งแล้ว จึงให้นิมนต์พระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์สูงกว่ารูปใด ๆ ในคณะธรรมยุติกนิกาย
15. ในการถวายพระเพลิง เมื่อแตรทหารบกบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีจบแล้ว ขอให้รวมแตรสั้นเป่าเพลงสัญญานนอน
16. ส่วนงานพระบรมอัฐิ ขอให้ทำตามระเบียบที่เคยทำมาแล้ว เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
17. พระอังคาร ขอให้บรรจุใต้ฐานพระพุทธชินสีห์ในวัดบวรนิเวศวิหารส่วน 1 อีกส่วนหนึ่ง ขอให้กันเอาไว้ไปบรรจุใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ที่พระปฐมเจดีย์ ในโอกาศอันเหมาะซึ่งไม่ติดต่อกับงานพระเมรุ "
พระบรมราชโองการนี้ ได้กระทำไว้เป็น 3 ฉบับ ความต้องกัน พระราชทานให้เสนาบดีกระทรวงวังรักษาไว้ 1 ฉบับ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กรักษาไว้ฉบับ 1 ราชเลขาธิการรักษาไว้ฉบับ 1 และทรงกำชับเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 นี้ ให้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้เสวยราชย์สืบสันตติวงศ์ เพื่อให้ทรงทราบพระราชประสงค์นี้โดยตลอดถี่ถ้วน
( พระบรมนามาภิไธย )  ราม  วชิราวุธ   ป.ร.                                            
ได้ตรวจถูกต้องกับต้นฉบับเดิมแล้ว                                                              
( ลงชื่อ ) พระยาสาส์นโสภณ                                                                        

นอกจากพระราชพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 นี้แล้ว ในเวลาต่อมาเมื่อพระนางเจ้าสุวัฒนาพระวรราชเทวี ทรงมรพระครรภ์แก่แล้ว จึงได้ทรงเรียกพระราชพินัยกรรมมาทรงเพิ่มเติมต่อไปนี้คือ
" ถ้าพระองค์ได้พระราชโอรสให้ทรงได้รับพระราชทานวังพญาไท และพระราชวังสนามจันทร์ ที่จังหวัดนครปฐม เป็นพระราชมรดกและให้ทรงได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ในขณะที่ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะอยู่นั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาราชการแทนพระองค์ แต่ถ้าทรงได้พระราชธิดา ก็ได้ขอให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินที่ได้สืบสันตติวงศ์ ทรงพระมหากรุณาถวายการเลี้ยงดูตามพระเกียรติของสมเด็จเจ้าฟ้าต่อไป  "      

พระราชพินัยกรรมฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการตามรับสั่งทุกข้อ ยกเว้นเพียงข้อที่ 11 เท่านั้น ที่ทรงเปลี่ยนแปลงจากพระราชประสงค์เพียงเล็กน้อย โดยการเชิญพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปยังวัดพระเชตุพนคงใช้พระยานมาศสามลำคานตามพระราชประเพณีและตามพระราชพินัยกรรม แต่ระยะทางจากวัดพระเชตุพนไปยังพระเมรุมาศทรงให้ใช้พระมหาพิชัยราชรถตามพระราชประเพณีแทนรถปืนใหญ่ตามที่ระบุในพระราชพินัยกรรม เนื่องจากทรงเห็นเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่สำหรับพระมหากษัตริย์ และได้ทรงโปรดฯให้ใช้รถปืนใหญ่ทรงพระบรมศพเวียนรอบพระเมรุมาศแทน          
 อ่านแล้วใช่จะได้แต่ความรู้เท่านั้นยังได้ความคิดที่ดี  ๆ กลับไป ลองช่วยกันวิเคราะห์ในเรื่องต่าง ๆ กันต่อนะครับ  คัดมาจากหนังสือพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม 11 เรื่อง พระราชประเพณี ( ตอน 3 )  โดย จมื่นอมรดรุณารักษ์ ( แจ่ม  สุนทรเวช ) พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2514
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 22 มี.ค. 01, 09:52

ขอบคุณมากค่ะคุณเอก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 22 มี.ค. 01, 21:51

ข้อความในพระราชพินัยกรรมนี้ สังเกตว่ามีหลายข้อที่ไม่โปรดพิธีการเอิกเกริกใหญ่โต
ไม่โปรดให้สิ้นเปลืองเงินทองเกินจำเป็น
ประเพณีอะไรที่ทรงเห็นว่าสิ้นเปลืองเปล่าๆ ก็ทรงขอให้งดเสีย อย่างการโปรยทาน
และคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยคุ้มค่า อย่างสังเค็ต

เห็นว่าค่อนข้างสมถะ   สำหรับพระเจ้าแผ่นดินในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ทำให้นึกถึงเรื่องที่เคยได้ยินว่า  ระหว่างพระราชนิพนธ์เรื่องต่างๆ จะทรงพระภูษาผืนเดียว ประทับเงียบๆตามลำพัง  ไม่ให้ข้าราชบริพารเข้าเฝ้ากันมากมาย มีแต่มหาดเล็กอยู่เวรเท่านั้น  ไม่เสวยอะไรนอกจากน้ำดื่มใส่ยาอุทัยแก้วเดียว
โดยส่วนพระองค์ไม่โปรดการฟุ่มเฟือย
แต่จะมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานเงินทองให้แก่ข้าราชบริพารที่มาขอ   ทะนุบำรุงเรื่องบ้านช่องและการศึกษาแก่บุตรหลานข้าราชบริพาร  ไม่ค่อยจะทรงปฏิเสธผู้ใด
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 23 มี.ค. 01, 01:56

เรื่องพระราชอัธยาศัยในการใช้จ่ายพระราชทรัพย์ของในหลวง ร.6 คุยกันได้ยาว.... มากๆ ครับ เพราะมีความเห็นกันหลายฝ่าย บางทีบางท่านโยงไปถึงรัชกาลถัดไป โยงไปถึงปฏิวัติ 2475 ไปด้วยโน่น

แต่ผมขอไม่คุยละ เรื่องนี้ คุยเรื่องอื่นก่อน

ขอบคุณคุณเอกครับที่เอาสำเนาพระราชพินัยกรรมมาลงให้อ่าน ผมติดใจเรื่องพิธีกงเต๊ก ที่มีรับสั่งสั่งเสียไว้ ไม่ทราบว่าในรัชกาลอื่นๆ เคยมีพิธีกงเต๊กถวายในงานพระบรมศพหรือไม่ สมัย ร. 3 ที่ทรงค้ากับเมืองจีนจนได้พระราชสมัญญาว่าเจ้าสัวก็ไม่แน่ใจว่ามี สมัย ร.4 ก็คงจะไม่มี นึกไม่ออก สมัย ร.5 โดยที่ทรงเป็นที่รักของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า เมื่อสวรรคตนั้น งานพิธีหลวงอาจจะไม่มีกงเต๊ก แต่พสกนิกรชาวจีนที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารก็ได้แสดงความโศกเศร้าอาลัยปรากฏในหลักฐานร่วมสมัยมาก อาจจะมีกงเต๊กถวายเป็นส่วนเอกชนไม่เกี่ยวกับหลวงก็ได้

สมัยหลังจากงานพระบรมศพ ร.6 ลงมา ก็เข้าใจว่ามีผู้จงรักภักดีจัดพิธีกงเต๊กถวายเหมือนกัน แต่คงจะแยกจากพิธีหลวง ผมจำได้ว่างานพระบรมศพสมเด็จพระนางรำไพพรรณีและงานพระบรมศพสมเด็จย่า มีกงเต๊กถวายทั้ง 2 งาน

เรื่องนี้น่าสนใจเหมือนกัน เพราะพระบรมราชวงศ์จักรีนั้น นอกจากพระปฐมบรมราชชนกท่านจะมีเชื้อสายเป็นมอญ ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าแล้ว และสมัย ร.3 มีสมเด็จพระราชชนนีที่สืบมาจากมุสลิมแล้ว ชั้นบรรพชนของพระราชวงศ์จะมีเลือดจีนอยู่ด้วยหรือไม่ ไม่แน่ใจ จำประวัติศาสตร์ไม่ได้ (คุณเทาชมพูเคยเล่าว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สืบขึ้นไปแล้วทรงมีพระบรรพบุรุษเป็นจีนเหมือนกัน ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าเหมือนกัน) แต่ที่ผมเห็นร่องรอยอยู่ก็คือ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังมีธรรมเนียมบำเพ็ญพระราชกุศลเลี้ยงพระในวันตรุษจีนในวังหลวง (ที่มีการจัดให้พระรับพระราชทานฉันขนมจีนอยู่พักหนึ่ง ต่อมาเปลี่ยนรัชกาลใหม่จะเป็นสมัยไหนไม่รู้ ทรงพระดำริว่าขนมจีนนั้นเป็นจีนแต่ชื่อ จึงโปรดฯ ให้จัดเกี้ยมอี๋เลี้ยงพระแทน แล้วรัชกาลต่อมาก็กลับไปเลี้ยงพระด้วยขนมจีนอีก) ยังมีธรรมเนียมพิธีสังเวยพระป้าย (คือไหว้ป้ายชื่อบรรพบุรุษ อย่างจีน) แสดงว่า พระบรมราชจักรีวงศ์ต้องมีความเกี่ยวพันกับทางจีนอยู่บ้างละ อย่างน้อยที่สุดก็เชื้อสายพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เป็นหญิงที่มาเป็นชายาในฝ่ายกรุงเทพฯ ที่คุณเทาชมพูเคยเล่าไว้ในกระทู้ไหนข้างล่าง ก็ถือได้ว่าเป็นเชื้อสายจีน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 19 คำสั่ง