เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 17
  พิมพ์  
อ่าน: 83485 โปรตุเกสเข้าเมือง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 180  เมื่อ 07 พ.ค. 11, 18:19

        ในประวัติศาสตร์ไทย   ชาวโปรตุเกสเป็นแค่ตัวละครประกอบตั้งแต่ต้นจนจบ     ไม่มีคนไหนโดดขึ้นมาเป็นตัวนำจนถึงขั้นกล่าวขวัญกันเป็นพิเศษ          แต่ว่าในประวัติศาสตร์เขมร ร่วมสมัยกับรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร   มีโปรตุเกสเล่นบทดารานำอยู่คนหนึ่ง   ชื่อนายดิโอกู  เวโลซู  (Diogo Veloso)  เป็นบทโลดโผนผจญภัยทำนองเดียวกับอินเดียน่า โจนส์       ต่างจากหนังตรงที่ว่านายคนนี้มีตัวจริง และเรื่องราวผจญภัยต่างๆก็เกิดขึ้นในชีวิตจริง

        ดิโอกู เวโลซูเป็นนักแสวงโชค   ร่อนเร่จากบ้านเกิดเมืองนอนมาถึงเอเชียอาคเนย์   ไปถึงเขมรราวๆ ค.ศ. 1558 หรือ 1559 (พ.ศ. 2101-2102)  เขาอยู่ในกลุ่มทหารรับจ้าง  พระเจ้าแผ่นดินเขมร ทรงพระนามว่านักพระสัตถาหรือที่คนไทยรู้จักกันในนามพระยาละแวก  ทรงเปิดประตูรับการค้าขายกับต่างชาติ  และจ้างทหารพวกนี้เอาไว้ เพื่อช่วยฝึกการรบด้วยปืนไฟ ในกองทัพเขมร

         ทหารโปรตุเกสเข้าเมืองละแวกไปด้วยกันหลายคน    แต่เวโลซูน่าจะเป็นคนเก่งสุด  จึงได้เลื่อนขึ้นไปเป็นนายทหารระดับสูงกว่าเพื่อนๆ       ตามประวัติบอกว่า นอกจากพูดภาษาเขมรได้คล่องแล้ว    ยังโชคดีส้มหล่นได้แต่งงานกับเจ้าหญิงเขมร พระญาติของนักพระสัตถา     พระเจ้าแผ่นดินเขมร ก็เลยทรงโปรดปรานไว้พระทัยเขยฝรั่งคนนี้เป็นพิเศษกว่าใคร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 181  เมื่อ 07 พ.ค. 11, 18:31

      ในค.ศ. 1592  มีนักแสวงโชคชาวสเปนกลุ่มหนึ่ง เดินทางมาจากมะนิลาที่สเปนครอบครองอยู่  มาถึงเขมร    ในจำนวนนี้มีอยู่คนหนึ่งชื่อรูอิซ เดอ เฮอร์มาร กอนซาเลซ   เป็นคนที่พระพรหมขีดชะตามาเป็นดารานำคนที่สอง     เมื่อรูอิซมาถึงก็พบว่ามีฝรั่งคนละชาติ แต่พอพูดกันรู้เรื่อง นั่งแท่นเป็นใหญ่เป็นโตอยู่ในเมืองหลวง ก็เลยทำความรู้จักด้วย
      ทั้งเวโลซูและรูอิซก็ได้คบค้าสมาคมเป็นมิตรกัน     จากนั้นก็มิตรภาพนี้ก็ยั่งยืนอยู่จนจบเรื่อง    เหมือนชอลิ้วเฮียงกับโอวทิฮวย  เป็นพระเอกและผู้ช่วยพระเอก ยังไงยังงั้น

      ชีวิตของเวโลซูและรูอิซที่จะเล่าต่อไปนี้ไปหามาจากเว็บโปรตุเกส  เพราะมีรายละเอียดมากกว่าในเว็บอังกฤษ     ใช้โปรแกรมแปลภาษาของกูเกิ้ลช่วยแปลจากโปรตุเกสมาเป็นอังกฤษอีกที       แต่ก็อย่างที่รู้ๆกัน คือโปรแกรมนี้ไว้ใจอะไรไม่ค่อยได้   บางครั้งแปลผิดแปลถูกให้ต้องมาเดากันต่อ     ดังนั้นถ้าเห็นอะไรผิดสังเกตหรือไม่ค่อยจะเป็นเหตุเป็นผลกัน  ก็อาจเป็นได้ว่าโปรแกรมแปลหักหลังดิฉันเข้าแล้ว

      ข้างล่างนี้คือรูปปั้นของเวโลซู ประดับอยู่เป็นอนุสรณ์ ที่เมืองบาพนมซึ่งเขาเคยดำรงเจ้าเมือง  สร้างในค.ศ. 1934  ปัจจุบันจะยังอยู่หรือเปล่าไม่ทราบ  


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 182  เมื่อ 07 พ.ค. 11, 20:20

ขอแยกซอย เลี้ยวไปเล่าถึงนักพระสัตถาหรือพระยาละแวก สักเล็กน้อย
พงศาวดารอยุธยาที่บันทึกโดยคนไทย  และประวัติศาสตร์เขมรที่บันทึกโดยฝรั่ง ให้ภาพพระยาละแวกไว้แตกต่างกัน อาจเป็นการมองคนละมุมหรือไม่ก็ดูพระกรณียกิจกันคนละด้าน
ผู้บันทึกพงศาวดารไทย มีท่าทีว่าไม่ชอบหน้าพระยาละแวก  เพราะรู้สึกว่าทรงกระทำไม่ชอบมาพากล  ชอบถือโอกาสมาเบียดเบียนชายแดนด้านตะวันออกอยู่เรื่อย เวลาอยุธยามีศึก  กลายเป็นว่าสยามต้องพะวักพะวนกับศึกสองด้าน  ดังที่ทางฝ่ายเรามีบันทึกไว้ว่า

"เมื่อปีพศ.2075 ในรัชสมัยพระมหาจักรพรรดิ   กรุงหงสาวดีได้ยกทัพมาตีไทย ฝ่ายเขมรพระยาละแวกเห็นได้ทีจึงยกทัพเข้ามาทางปราจีนบุรี กวาดต้อนผู้คนกลับไปเขมรจำนวนมาก   หลังจากพม่ายกทัพกลับไปสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพิโรธมาก จึงทรงรับสั่งให้ยกทัพไปถึงเมืองพระตะบองและละแวก พระยาละแวก เห็นท่าจะแพ้ในการศึกจึงมีราชสาสน์มากราบทูลพระมหาจักรพรรดิ  ว่า

       “ ข้าพระองค์ผู้ปกครองกัมพูชา มิได้เกรงพระบรมเดชานุภาพที่ไปกวาดต้อน คนจากปราจีนบุรี ขออย่าทรงพิโรธยกทัพมาตีเมือง ข้าพเจ้าจะนำเครื่องราชบรรณา การมาถวาย และเป็นข้าพระบาทตราบชั่วกัลปวสาน ”

หลังจากนั้น ๓ วันพระยาละแวกได้นำเครื่องราชบรรณาการ พร้อมด้วยนักพระสุโทและนักพระสุทัน ราชบุตร มาเข้าเฝ้า ทางพระมหาจักรพรรดิก็ทรงคลายพิโรธและขอนำโอรสทั้งสองไปเลี้ยงดู    พระยาละแวกก็ยอม  จากนั้นก็กวาดต้อนคนชาวปราจีนบุรีกลับคืนมา
ฝั่งไทย    ต่อมาไม่นานญวณได้ยึดเมืองละแวก ไทยจึงส่งกองทัพไปช่วยเพื่อตีเมืองคืนแต่ทำไม่สำเร็จ"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 183  เมื่อ 07 พ.ค. 11, 20:41

  หลังเสียกรุงครั้งที่ 1  ในพ.ศ.2113 (ค.ศ. 1570) พระยาละแวกก็มาอีก  คราวนี้เข้ามาลึกถึงขั้นตีเมืองนครนายก   สมเด็จพระมหาธรรมราชายกทัพไปปราบ    ทหารอยุธยายิงปืนจ่ารงค์ไปถูกพระจำปาธิราช แม่ทัพเขมร ตายคาที่บนคอช้าง ทัพเขมรถอยกลับไปแต่ก็ย้อนกลับมาปล้นเมืองอีกหลายครั้ง แล้วยังกวาดต้อนผู้คนแถวจันทรบุรี ระยอง ฉะเชิง เทรากลับไปเขมรจำนวนมากด้วย
   แค่นี้ยังไม่เข็ด   พระยาละแวกยกทัพเรือมาถึงปากน้ำพระประแดง  โจมตีเมืองธนบุรีจับชาวเมืองธนบุรีและนนทบุรีเป็นเชลยจำนวนมาก เลยได้ใจรวบรวมคนหมายจะตีกรุงศรีอยุธยา แต่งทัพเรือ ๓๐ ลำเข้าปล้นบ้านนายก่าย แต่โชคไม่ดีถูกปืนใหญ่ของไทยยิงตายเป็นจำนวนมาก ฝ่ายเขมรแตกทัพหนีกลับไปทางพระประแดง  กวาดต้อนผู้คนแถวสาครบุรีกลับไปอีกด้วย
   พระยาละแวกก็ยังไม่ยอมเลิกวิธีการ     ในปีพศ. 2129 (ค.ศ. 1586)  พระยาละแวกเห็นว่าไทยกำลังสู้ศึกหงสาวดีอยู่ จึงฉวยโอกาสยกทัพเข้ามาตีเมืองปราจีน แต่ทัพอยุธยาก็ไล่ตีเขมรไปจนสุดชายแดน ทหารเขมรตายจำนวนมาก

   พ.ศ.  2132  (ค.ศ.1589) แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรครองราชย์ ก็ืทรงยกทัพไปตีเขมร   แก้แค้นพระยาละแวก เอาโลหิตมาล้างพระบาท ทรงจัดกองทัพให้ไปตีเมืองปัตบอง   เมืองโพธิสัตว์ แล้วเข้าล้อมเมืองละแวกเอาไว้ ทรงล้อมเมืองนานถึง ๓ เดือนยังตีไม่ได้ เสบียงอาหารเริ่มลดน้อยลงจึงทรงรับสั่งให้ยก  ทัพกลับกรุงศรีอยุธยาไปก่อน แล้วจะเตรียมการมาตีในภายหน้า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 184  เมื่อ 07 พ.ค. 11, 20:49

อ่านมาถึงตอนนี้  ยังไม่ถึงตอนทัพอยุธยาบุกไปตีเมืองหลวงของเขมร    ก็มีข้อสงสัยเรื่องปีพ.ศ. อีกแล้ว
ความเป็นปรปักษ์ระหว่างสยามกับเขมร เริ่มต้นตั้งแต่พ.ศ. 2075 (ค.ศ. 1532)  จนกระทั่งสมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพไปเมืองละแวก ในพ.ศ. 2132  (ค.ศ.1589) กินเวลายาวนานถึง 57 ปี   เปลี่ยนแผ่นดินของอยุธยาไปแล้ว 3 แผ่นดิน   
พระยาละแวกที่ตั้งหน้าตั้งตากวาดต้อนผู้คนจากสยามไปอาณาจักรตัวเอง  คงไม่สามารถครองราชย์อยู่ได้ถึง 57 ปี  ต่อให้ครองราชย์ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ก็น่าจะทรงพระชราจนหง่อมมากแล้วในปลายรัชกาล   ไม่น่าจะทรงมีกำลังเข้มแข็งคิดตีบ้านตีเมืองเพื่อนบ้านอยู่ได้ไม่หยุด

จึงคิดว่า น่าจะมีพระยาละแวกมากกว่า 1 องค์ ที่มาราวีชายแดนและหัวเมืองของสยามอยู่หลายครั้ง  สืบเนื่องกันหลายรัชกาลเขมร

ขอถามคุณเพ็ญชมพูว่า นักพระสัตถาครองราชย์ตั้งแต่พ.ศ. อะไร  ก่อนหน้านั้นคือใครคะ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 185  เมื่อ 08 พ.ค. 11, 09:15

ขอถามคุณเพ็ญชมพูว่า นักพระสัตถาครองราชย์ตั้งแต่พ.ศ. อะไร  ก่อนหน้านั้นคือใครคะ

ถามคุณวิกกี้ ได้ความว่า

พระยาละแวกในพงศาวดารไทย หมายถึงกษัตริย์เขมร ๓ พระองค์ คือ

๑. พระบรมราชาที่ ๓ (พระจันทราชา หรือ นักองจันที่ ๑) ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๕๙ - ๒๑๐๙
๒. พระบรมราชาที่ ๔ (นักพระบรมราชา) ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๐๙ - ๒๑๑๙
๓. พระบรมราชาที่ ๕ (นักพระสัฏฐา, นักพระสัตถา) ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๑๙ - ๒๑๓๖

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 186  เมื่อ 08 พ.ค. 11, 10:25

เป็นอันว่าได้คำตอบจากคุณเพ็ญชมพูแล้วว่า   เขมรมีศึกยืดเยื้อกับสยามต่อกัน ๓ รัชกาลเหมือนกัน  แต่ครั้งปู่จนถึงหลาน  แต่พระเจ้าแผ่นดินเขมรที่งานเข้าอย่างจังคือองค์ที่ ๓  นักพระสัตถา
นับปีพ.ศ.  พบว่านักพระสัตถาเข้ามาตีปราจีณหนหนึ่งแต่ว่าไม่สำเร็จ  ต้องพ่ายแพ้กลับไป      แต่ข้อนี้ไม่อยู่ในบันทึกของฝรั่ง   ฝรั่งบอกแต่เพียงว่าสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรบุกเขมร   เหมือนจู่ๆก็ยกทัพมารบ  ไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุว่าเขมรไปทำเขาก่อนหรือไม่

บันทึกของฝรั่งยังเล่าต่อไปอีกว่า เมื่อข่าวศึกมากระทบพระกรรณ    นักพระสัตถาทรงตกพระทัยมาก เห็นทีว่ากำลังของเขมรเห็นจะสู่สยามไม่ได้   จึงส่งฝรั่งทั้ง ๒ คนไปติดต่อขอกำลังทัพต่างชาติมาช่วย   พูดง่ายๆคือไปจ้างทหารต่างชาติมารบ     เวโลซูถูกส่งตัวไปจ้างทหารโปรตุเกสที่มะละกา  และรูอิซไปหากำลังจากสเปนที่มะนิลา

ถ้าตัดเอาก๊อสสิปเรื่องนักพระสัตถาพระทัยฝ่อออกไป  ก็จะเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินเขมรองค์นี้ ทรงเตรียมรับศึกอย่างเข้มแข็งพอใช้    ขนาดคำนวณดูว่ากำลังทหารเขมรยังไม่พอจะสู้กับกองทัพสยาม   ก็ต้องไปเอากองทหารต่างด้าวมาช่วยถึง ๒ ทัพ ทั้งโปรตุเกสและสเปน  ซึ่งย่อมจะเปลืองพระราชทรัพย์ไปอีกมาก     แต่ก็ฮึดสู้ ดีกว่าจะยอมจำนนเอาง่ายๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 187  เมื่อ 09 พ.ค. 11, 15:12

บันทึกหลักฐานในประวัติศาสตร์ตอนนี้  แบ่งเป็น ๓ กระแส  คือกระแสพงศาวดารไทย กระแสพงศาวดารเขมร และบันทึกของฝรั่งโปรตุเกส   ที่ไม่รวมกันเป็นแควเดียว    ทำให้ยุ่งยากอยู่บ้างว่าจะสรุปได้อย่างไร
มีอย่างเดียวที่ตรงกันก็คือทัพสยามของสมเด็จพระนเรศวรบุกเขมร  ก่อให้เกิดความปั่นป่วนอลวนในการเมืองเขมรยุคนั้นเป็นการใหญ่
ส่วนรายละเอียดผิดเพี้ยนกันไป

ทางฝ่ายพงศาวดารไทย เขียนไว้อย่างค.ห.ข้างบนนี้ว่าเขมรเป็นฝ่ายเข้ามารังควานอยุธยาหลายครั้ง   ไทยตีแตกพ่ายไป  ต่อมาไทยก็เอื้อเฟื้อยอมทำไมตรีกัน  แต่เขมรก็ไม่ยอมหยุด   มีโอกาสเมื่อไรเป็นยกทัพเข้ามากวาดต้อนผู้คนไปทีนั้น

"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสแก่มุขมนตรีแลอำมาตย์ว่า แผ่นดินกรุงกัมพูชากุรุราฐนั้น ผู้ใดครองสมบัติจิตมักเป็นสันดานพาลทุจริต เหมือนพระยาละแวด บิดานักพระสุโทนักพระสุทัน เมื่อศึกกรุงหงสาวดียกมาคราวแรก ครั้งสมเด็จพระอัยการธิราชเจ้าผ่านพิภพใหม่นั้น พระยาละแวกก็ยกทัพเข้ามาพลอยซ้ำตี กวาดเอาครัวอพยพชาวปราจีนบุรีไป   จนสมเด็จพระบรมราชอัยกาต้องเสด็จยกทัพออกไปปราบ จึ่งถวายพระสุโท นักพระสุทันราชบุตรเข้ามา
แล้วนักพระสัตถาไปเอาทัพเข้ามาตี ฆ่าบิดานักพระสุโทนักพระสุทันเสีย นักพระสัตถาได้สมบัติกรุงกัมพูชาธิบดี เป็นพระยา ยกทัพจู่มาถึงวัดสามพิหาร จนเสียพระจำปาธิราชลูกชาย ก็ยังหาเข็ดไม่ มีศึกหงสาวดีมาติดพระนครครั้งใดก็มีแต่ยกทัพมาพลอยซ้ำดี กวาดเอาประชาราษฎรข้าขอบขัณฑเสมาไปทุกครั้ง   แล้วแต่งทูตานุทูตมาขอเป็นทางพระราชมนตรี สมเด็จพระบรมราชบิดา เราก็มิได้มีพระทัยอาฆาต เพื่อมิให้เสียทางพระราชไมตรีจนปันเขตแดนปักเสาศิลาจารึก
ครั้นทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกมา   พระยาละแวด(หมายถึงละแวก) ให้น้องชายเข้ามาช่วยงานพระราชสงคราม น้องชายนั้นมิได้สติสัมปชัญญะดุจหนึ่ง สิงคาละชาติโปดก ฝ่ายพระยาละแวดก็ปราศจากวิจารณ์ปัญญา มีพาลทุจริตในสันดานสุจริตธรรมเสีย กลับยกทัพมาตีปัจจันตชนบทอีกเล่า
ความแค้นของเราดังว่าเสี้ยน ยอกอยู่ในอุระไม่รู้หาย ครั้งนี้แผ่นดินเป็นของเราแล้ว จะไปแก้แค้นเอาโลหิตพระยาละแวดล้างบาทเสียให้จงได้ ตรัสแล้ว สั่งให้เกณฑ์ทัพฉกรรจ์นำเครื่องเหยียบแสน ช้างเครื่องแปดร้อย ม้าพันห้าร้อย น้ำแห้งเท้าช้างเท้าม้าแล้วก็จะยกไป"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 188  เมื่อ 09 พ.ค. 11, 16:26

       ส่วนทางพงศาวดารเขมรบันทึกไว้ว่า พระยาละแวกองค์ที่ 3   คือนักพระสัตถาเป็นฝ่ายยกทัพตีอยุธยา  จับเอาเชลยสยามกลับมาเป็นจำนวนมาก  ในตอนนั้นศรีอยุธยายังเป็นเมืองขึ้นของพม่า  อยู่ภายใต้การปกครองของบุเรงนอง    พระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา ตกไปเป็นตัวประกันอยู่ในเมืองหงสาวดี    
       ต่อมาพระนเรศวร พระราชโอรสหนีกลับมาสู่บ้านเมือง แล้วส่งสาส์นมาขอเป็นไมตรีและขอกำลังช่วยเหลือจากเขมร   นักพระสัตถาก็ส่งพระศรีสุริโยพรรณ มหาอุปราชยกทัพไปช่วยตามคำขอ   แต่เกิดการขัดแย้งกันขึ้นระหว่างพระนเรศวร กับพระศรีสุริโยพรรณ   พระองค์จึงทรงนำทัพกลับสู่ละแวก
       การขอกำลังช่วยเหลือจากเขมรในตอนนี้ มีอยู่แต่ในบันทึกของเขมร   ไม่มีอยู่ในพงศาวดารไทย    ถ้าหากว่าเป็นความจริงก็แสดงว่าเขมรในตอนนั้นมีอำนาจมาก   อยุธยาจึงขอเป็นไมตรีด้วย เพราะไม่อยากมีศึกกระหนาบสองข้างคือทั้งพม่าและเขมร   ส่วนเรื่องเขมรมาตีอยุธยาครั้งก่อนนั้น  อยุธยาก็คงกลืนเลือดไว้   ไม่เอามาเป็นเรื่องขัดเคืองกัน    แต่ถ้าไม่จริงก็คงต้องหากันต่อไปอีก ว่าเรื่องจริงๆเป็นอย่างไร
       ในพงศาวดารเขมรยังบันทึกต่อไปว่า ต่อมาเมื่ออยุธยาประกาศเป็นอิสรภาพไม่ขึ้นกับพม่าอีก   นักพระสัตถาเห็นว่ากำลังทัพของอยุธยาไม่น่าจะแข็งแกร่งเท่าไร   เดี๋ยวก็คงต้องกลับไปตกอยู่ในอำนาจพม่าอีก   จึงถือโอกาสซ้ำเติม ยกพลเข้ามาโจมตีเมืองปราจีนบุรี ตอนนี้พงศาวดารเขมรระบุเอาไว้ชัดเจนว่าทัพเขมรมาตีถึงปราจีนบุรี นครราชสีมา และนครนายก จนกระทั่งกองทัพอยุธยายกมาสู้  จึงได้ถอยทัพกลับสู่กัมพูชา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 189  เมื่อ 09 พ.ค. 11, 16:58


"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสแก่มุขมนตรีแลอำมาตย์ว่า แผ่นดินกรุงกัมพูชากุรุราฐนั้น ผู้ใดครองสมบัติจิตมักเป็นสันดานพาลทุจริต เหมือนพระยาละแวด บิดานักพระสุโทนักพระสุทัน เมื่อศึกกรุงหงสาวดียกมาคราวแรก ครั้งสมเด็จพระอัยการธิราชเจ้าผ่านพิภพใหม่นั้น พระยาละแวกก็ยกทัพเข้ามาพลอยซ้ำตี กวาดเอาครัวอพยพชาวปราจีนบุรีไป   จนสมเด็จพระบรมราชอัยกาต้องเสด็จยกทัพออกไปปราบ จึ่งถวายพระสุโท นักพระสุทันราชบุตรเข้ามา

ครั้นทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกมา   พระยาละแวด(หมายถึงละแวก) ให้น้องชายเข้ามาช่วยงานพระราชสงคราม น้องชายนั้นมิได้สติสัมปชัญญะดุจหนึ่ง สิงคาละชาติโปดก ฝ่ายพระยาละแวดก็ปราศจากวิจารณ์ปัญญา มีพาลทุจริตในสันดานสุจริตธรรมเสีย กลับยกทัพมาตีปัจจันตชนบทอีกเล่า
 


พงศาวดารเขมรเรียกการกระทบกระทั่งระหว่างอยุธยากับเขมรว่า  เขมรมาทำศึกกับอยุธยา   ตีเมืองไหนก็ตาม เมื่อชนะเมืองนั้น  ขากลับก็จับเชลยศึกกลับไป  ฟังน้ำเสียงทางเขมรก็เห็นเป็นเรื่องธรรมดา ของการแผ่พระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน      ส่วนทางพงศาวดารอยุธยาน้ำเสียงโกรธเคืองว่า เขมรถือโอกาสผีซ้ำด้ำพลอย เข้ามากวาดต้อนราษฎรของอยุธยาไป

ส่วนเรื่องนักพระสัตถาส่งพระอนุชาเข้ามาช่วยทัพอยุธยา   ก็มีตรงกันทั้งพงศาวดารไทยและเขมร   แตกต่างกันในรายละเอียด   พงศาวดารเขมรบอกว่าพระนเรศวรขอความช่วยเหลือไป ตอนเสด็จหนีจากหงสาวดีกลับมาอยุธยาแล้ว    ส่วนทางไทยบอกว่าเมื่อเกิดศึกกับเชียงใหม่   พระเจ้าแผ่นดินเขมรส่งน้องชายยกทัพมาช่วยเหลือ   แต่น้องชายคือพระศรีสุริโยพรรณ  คงได้ทำอะไรไม่เหมาะสมในสายตาฝ่ายไทย   เป็นเหตุให้สมเด็จพระนเรศวรทรงพระพิโรธถึงกับประณามเอา

จากนั้น ทัพไทยก็ยกไปตีเขมร หลังเสร็จศึกพม่าแล้ว  ในพงศาวดารเขมรเล่าว่าเกิดการสู้รบกันอย่างหนักในเมืองพระตะบอง ที่ “กำพงปราก่” หรือกำปงปรัก   ฝ่ายเขมรต้านไม่ไหว จึงถอยกลับ สยามจึงตามตีมาถึงเมืองบันทายบริบูรณ์ พระศรีสุริโยพรรณแม่ทัพเขมรจึงได้นำทัพถอยเข้าสู่เมืองละแวก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 190  เมื่อ 10 พ.ค. 11, 13:05

   ทัพไทยล้อมเมืองละแวกอยู่ถึง ๓ เดือน ขาดแคลนเสบียงอาหาร ก็ต้องถอยกลับ    แต่ว่ายกกลับมาอีกครั้ง ครั้งนี้คือครั้งที่พระเอกโปรตุเกสของเรา ถูกส่งไปจ้างทหารฝรั่งที่มะละกามารับนั่นเอง
   พงศาวดารเขมรกับบันทึกของโปรตุเกสเล่าตรงกันว่า ในเมืองละแวกเกิดเหตุระส่ำระสายภายในราชสำนัก   คือราชบัลลังก์เปลี่ยนมือเป็นของพระราชโอรสของนักพระสัตถา    แตกต่างกันตรงที่ว่าพงศาวดารเขมรเล่าว่า นักพระสัตถาทรงตั้งพระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นครองบัลลังก์เอง    ส่วนโปรตุเกสเล่าว่านักพระสัตถาถูกแย่งราชบัลลังก์โดยพระราชโอรส  ส่วนพระญาติวงศ์เขมรต่างก็ไม่พอพระทัยนักพระสัตถา   จึงเกิดการรัฐประหารภายในขึ้น   พวกพระญาติก็ยอมอ่อนน้อมต่อกองทัพของอยุธยา

   ผลของสงครามครั้งนี้  ไทยได้ชัยชนะ    พงศาวดารไทยเล่าว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำพิธี"ปฐมกรรม" คือตัดหัวพระยาละแวกเอาเลือดมาล้างพระบาท      แต่พงศาวดารเขมรและบันทึกของโปรตุเกสเล่าตรงกันว่า นักพระสัตถาหนีจากเมืองละแวก ลี้ภัยไปอยู่ในลาว     ส่วนเจ้าคุณทหารโปรตุเกสเวโลซูมัวไปจ้างทหารฝรั่งอยู่ที่มะละกา  กลับมาไม่ทันการณ์   ละแวกแตกไปแล้ว
   เพื่อนพระเอกคือนักรบสเปนชื่อรูอิซ  ไปจ้างทหารสเปนที่มะนิลา นั่งเรือกลับมาเขมร ก็สายเกินการณ์ไปเช่นกัน    เรือแล่นเข้ามาในเขตเขมร ที่ถูกไทยยึดเอาไว้ได้แล้ว   เรือของรูอิซก็เลยถูกยึด เจ้าตัวก็ถูกจับเป็นเชลยศึกในเรือนั่นเอง   
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 191  เมื่อ 11 พ.ค. 11, 00:10

เขมรในยุคนั้นเป็นยุคมืดก็จริงครับ แต่ช่วงนั้นเวียดนามยังไม่แผ่อำนาจลงมาถึงเขมร เขมรจึงมีศึกอยู่ข้างเดียวคือฝั่งไทย

เมื่ออยุธยาเสียแก่พม่า ถูกเทครัวไปมาก น่าจะเหลือคนเบาบาง จึงเป็นโอกาสที่เขมรจะยกมาตีบ้าง ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปได้มากว่าบุเรงนองเองก็คาดการณ์เอาไว้แล้วครับ และก็ต้องถือว่าคาดการณ์ได้แม่นยำ เพราะเขมรยกมาหลายครั้ง แต่ไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ ถึงกระนั้นก็สามารถเทครัวไทยไปได้บ่อยๆ เป็นการตัดกำลังไม่ให้อยุธยาโตได้เร็วไปในตัว

ที่น่าสนใจคือ พระนเรศนั้นไปครองเมืองเหนือ เท่ากับแบ่งกำลังเป็นสองส่วน นี่อาจเป็นสิ่งที่บุเรงนองกำหนดมาด้วยซ้ำ เป็นการแบ่งแยกเพื่อปกครองครับ

เมื่อพระนเรศฟื้น ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของพม่าต่อไป ได้ทรงเทครัวเมืองเหนือลงมารวมกันไว้ที่อยุธยาที่เดียว การกระทำดังนี้ นอกเหนือจะเป็นการรวมกำลังป้องกันศึกพม่าแล้ว ยังเป็นการรวมกำลังเพื่อให้อยู่ในสภาพที่พร้อมในการรุกด้วย กว่าจะตั้งเมืองเหนือกลับขึ้นมาใหม่ก็เมื่อทำศึกกวาดต้อนผู้คนจากเมืองเขมรและมอญพม่ามาได้มากแล้วครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 192  เมื่อ 11 พ.ค. 11, 08:26

มาต่อค่ะ

บันทึกของสเปนกับโปรตุเกสแตกต่างกันเล็กน้อย  สเปนบอกว่าเวโลซูถูกส่งไปจ้างกองกำลังทหารต่างด้าวเพียงคนเดียว  ส่วนรูอิซอยู่ในละแวก ช่วยรบกับทัพอยุธยา      แต่รายละเอียดของโปรตุเกสมีมากกว่าพอจะเชื่อได้ว่า รูอิซไปมะนิลาเหมือนกัน   เมื่อถูกจับตัว ความที่แกเป็น CIA สเปนมาแต่ก่อน ก็ทำให้ฮึดสู้ทหารไทย  สามารถจี้เรือ พาลูกเรือเขมรหนีออกทะเลกลับไปมะนิลาได้สำเร็จ

ส่วนเวโลซูถูกจับเป็นเชลยศึกมาอยุธยา    ในบันทึกของสเปนบอกว่านายคนนี้มีตำแหน่งสูงในละแวก เป็นถึงพระโอรสบุญธรรมของนักพระสัตถา     อาจจะเป็นการใส่สีใส่ไข่เพิ่มเติมขึ้นเล็กน้อยก็เป็นได้     แต่อย่างไรก็ตาม หลักฐานก็ตรงกันว่า เมื่ออยู่ในเมืองละแวก  เขามีตำแหน่งสำคัญกว่าทหารรับจ้างคนอื่นๆ และเป็นที่โปรดปรานของนักพระสัตถา     อาจจะด้วยเหตุนี้ เมื่อตกมาเป็นเชลยศึกอยุธยา อาจได้รับการปฏิบัติด้วยดีกว่าเชลยอื่นๆ  ไม่ต้องติดคุกตกอับอยู่ 14 ปี เหมือนขุนแผน
เวโลซูน่าจะเป็นคนมีไหวพริบดี   แล้วก็คงจะมีลิ้นการทูตด้วย   จึงสามารถเพ็ดทูลให้สมเด็จพระนเรศวรทรงเชื่อได้ว่า ควรส่งทูตไปจำเริญพระราชไมตรีกับสเปนที่มะนิลา    โดยมีตัวเขาเป็นผู้นำคณะทูตไปเอง

เมื่อได้อิสรภาพ   นำคณะทูตไทยนั่งเรือไปถึงมะนิลา     ลายเดิมของเวโลซูก็ออกมา   ตระบัดสัตย์ในทันทีทันควัน   กลับไปยืนข้างนักพระสัตถาอีกครั้ง   อ้างตัวเองเป็นผู้แทนพระเจ้าแผ่นดินเขมร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 193  เมื่อ 12 พ.ค. 11, 08:03

พงศาวดารไทยไม่ได้เอ่ยถึงชาวโปรตุเกสและสเปนทั้งสองคนนี้เลย    เอ่ยถึงแต่เขมร ตอนเมืองละแวกแตก

ในพงศาวดารเขมร (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑)  บันทึกไว้กว่า
“ลุ ศักราช ๙๕๕ ศกมะเส็ง นักษัตรได้ ๒ เดือน… จึงสมเด็จพระนเรศวรพระเจ้ากรุงไทยยกกองทัพไพร่พล ๕ หมื่นมารบกับพระองค์ (คือพระสัตถาหรือพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี) พาสมเด็จพระอัครมเหสีกับสมเด็จพระราชบุตรทั้ง ๒ หนีไปอยู่เมืองศรีส่อชอ ลุศักราช ๙๕๖ ศกมะเมียนักษัตร…พระองค์พาสมเด็จพระอัครมเหสีกับพระราชบุตรทั้งสองพระองค์ไป เมืองลาว ฝ่ายพระองค์บรมบพิตร เมื่อ ลุ ศักราช ๙๕๗ ศกมะแมนักษัตร พระชันษาได้ ๔๓ ปี พระไชยเชษฐาพระราชบุตรใหญ่ เมื่อ ลุ ศักราช ๙๕๘ ศกวอกนักษัตร พระชันษาได้ ๒๓ ปี นักองค์บรมบพิตรทั้งสองพระองค์สุรคตอยู่ที่เมืองลาว ยังแต่พระบรมราชาธิราชผู้เป็นพระอนุชา พระชันษาได้ ๑๘ ปี อยู่เมืองลาว…ฝ่ายสมเด็จพระศรีสุพรรณผู้เป็นพระอนุชา… ครั้งนั้นจึงพระนเรศวรเป็นเจ้าพระองค์กับพระราชบุตรแล้วกวาดต้อนตัวเขมรไป เป็นอันมาก

ลุ ศักราช ๙๕๖ ศกมะเมีย นักษัตรเดือน ๓ จึงพระนเรศวรเป็นเจ้านำพระองค์ไปกรุงศรีอยุธยา  ให้แต่พระมหามนตรีเป็นแม่ทัพใหญ่รั้งอยู่อุดงฦๅไชย…”

ราชวงศ์ของพระยาละแวกก็แตกฉานซ่านเซ็น   พระเจ้าแผ่นดินหนีไปลาว พร้อมด้วยพระราชบุตรองค์ใหญ่และองค์น้อย    เจ้านายเขมรอีกส่วนหนึ่งถูกนำตัวมาอยุธยา    มีแม่ทัพใหญ่ของไทยชื่อพระมหามนตรี ครองเมืองอยู่ที่อุดงฦๅไชย

เวโลซู หรือพงศาวดารเขมรเรียกชื่อว่า "ละวิศเวโล" ได้พบกับเพื่อนรักคือรูอิซที่มะนิลาอีกครั้ง   ทั้งสองก็ตั้งใจว่าจะกลับไปเขมร  เพื่อไปเชิญนักพระสัตถากลับมาครองราชย์ตามเดิม    แลกกับเงื่อนไขว่า พระเจ้าแผ่นดินเขมรจะต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์    ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คือ  เขมรเปิดประตูรับอิทธิพลของโปรตุเกสและสเปนเต็มๆตัว    แบบเดียวกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์เปิดประตูอยุธยารับฝรั่งเศส
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 194  เมื่อ 12 พ.ค. 11, 10:41

หลักฐานทางสเปนที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 17
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.238 วินาที กับ 20 คำสั่ง