เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 17
  พิมพ์  
อ่าน: 83640 โปรตุเกสเข้าเมือง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 20:57

พักเรื่องโปรตุเกสไว้ก่อน  เผื่อท่านอื่นๆจะช่วยกันเสริม   ขอเชิญค่ะ

ขอตัดเข้าเรื่องการค้าสมัยอยุธยา  เล่าเรื่องพระคลังสินค้าคั่นรายการก่อนนะคะ

     ระบบการคลังและเศรษฐกิจของอยุธยาขึ้นอยู่กับพระคลังสินค้า      พระคลังสินค้าทำงานในหน้าที่กึ่งราชการกึ่งบริษัท   คือมีหน้าที่เก็บส่วยสาอากรแบบเดียวกับกรมสรรพากร    แต่อีกด้าน ก็ทำในรูปแบบของบริษัท  คือเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าส่งออกและนำเข้า แต่ผู้เดียวในพระราชอาณาจักร      ประชาชนทั่วไปไม่ได้ขายอะไรต่อมิอะไรกับต่างชาติได้ตามใจชอบ   เพราะไม่ใช่การค้าเสรีอย่างสมัยนี้    แต่ว่าต้องส่งผ่านพระคลังสินค้าซึ่งทำหน้าที่ผูกขาด    ส่วนพระเจ้าแผ่นดินนั้นทำหน้าที่เหมือนกรรมการผู้จัดการใหญ่   ตัดสินพระทัยและกำหนดเงื่อนไขเองเรื่องการค้าขาย  โดยมีเจ้ากรมท่าซ้ายท่าขวาและขุนนางอื่นๆเป็นพนักงานใหญ่น้อยในบริษัท
    ด้วยระบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้า  ที่มีอำนาจในการควบคุมการผลิต   กำหนดปริมาณและเงื่อนไขราคาตามความต้องการซื้อขายในตลาด  ไม่มีคู่แข่งในอาณาจักร   ระบบนี้จึงนำความมั่งคั่งมาสู่อาณาจักรอย่างมหาศาล      พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าของพระคลังสินค้า    ดังนั้นก็ไม่น่าสงสัยว่าพระราชทรัพย์จะมีมากเพียงใด       การผลัดเปลี่ยนอำนาจในราชบัลลังก์มีผลแค่เปลี่ยนตัวบุคคล   แต่ไม่ได้เปลี่ยนระบบ  ใครขึ้นมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงบริหารระบบพระคลังสินค้าได้เหมือนเดิม     
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 21:15

มะละกาในพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา

เมืองมะละกาเป็นเมืองขึ้นสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (ค.ศ. 1350) เจ้าเมืองมะละกาแปลงศาสนาเป็นอิสลาม แล้วไปคบกับพวกแขกอาหรับ หรือแขกชาวอินเดียที่เข้ามาค้าขายและชอบพอกันจึงมีการเปลี่ยนศาสนากันขึ้น และต่อมาเกิดการแข็งเมือง โดยไปสวามิภักดิ์กับพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งได้เจริญความสัมพันธ์จากการค้าขายด้วยกัน

ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดเกล้าฯให้ยกทัพไปปราบใน ค.ศ. 1455 จึงทำให้มะละกาตกมาอยู่เป็นเมืองขึ้นของไทยอีกครั้ง

สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 มะละกาเกิดการแข็งเมืองขึ้นอีกใน ค.ศ. 1489 กองทัพไทยจึงยกทัพไปเรือไปปราบด้วยเรือ 100 ลำ ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างทรหดและตกเป็นเมืองขึ้นของไทยในที่สุด

ค.ศ. 1509 พระเจ้ามานูเอลที่ 1 แห่งโปรตุเกส ได้ให้ โลเปส เดอ เซเกอิรา คุมขบวนเรือ 4 ลำ มาเยือนเกาะมาดากัสการ์และเกาะลังกา และให้เดินทางมายังมะละกา เพื่อตั้งสถานีทางการค้า ซึ่งเจ้าเมืองก็ตอบรับเป็นอย่างดี ต่อมาชาวโปรตุเกสเกิดการวิวาทกับชาวมะละกา เซเกอิราสงสัยว่าเจ้าเมืองมะละกา คิดกลอุบายแสร้งเป็นไมตรี และอาจจะหักหลังไปคบกับชาวอิสลามและจะทำร้ายชาวโปรตุเกส

ฝ่ายเจ้าเมืองมะละกาหาว่าโปรตุเกสก้าวร้าวเกินไป สั่งให้ไปล้อมจับชาวโปรตุเกส ฆ่าตายและคุมขังไว้จำนวน 27 คน ส่วนเซเกอิรามีกำลังน้อยไม่อาจจะยึกมะละกาได้ จึงเผาเรือของตนเอง 2 ลำ อีก 2 ลำแล่นกลับไปอินเดีย

เมื่อกษัตริย์โปรตุเกสทราบเรื่อง จงได้นำเรือจากเมืองกัว ไปปราบเมืองมะละกา ใน ค.ศ. 1509 โดยใช้เรือรบ 19 ลำ ทหาร 800 คน จนถึงมะละกาใน ค.ศ. 1511 ซึ่งขณะนั้นมะละกากำลังมีงานแต่งงสนบุตรีสุลต่านแห่งรัฐปาหัง กองเรือโปรตุเกสไปถึงตอนเย็น และได้ยิงปืนใหญ่เข้าเมือง จนมีการหยุดยิงเพื่อการเจรจา พอดีเรือจากเมืองจีน 5 ลำเข้ามาพอดี ได้ขอร้องให้ช่วยเหลือสุลต่าน แต่เรือจีนได้หนีไปยังเมืองไทย

ซึ่งตรงนี้เองทำให้ อัลบูเกอร์ได้ความรู้จากชาวจีนว่า เมืองมะละกาเดิมเป็นของกษัตริย์ไทย และพ่อค้าอินเดียและจีนเข้าไปค้าขายตามชายฝั่งทะเลและในราชธานีไทย ได้กำไรมาก จึงคิดที่จะทำการค้ากับไทยบ้าง ขึงได้จัดทูตมาไทยโดยอาศักเรือจีนเข้ามา

เมื่อสุลต่านไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายให้โปรตุเกสได้ อัลบูเกอร์จึงได้สั่งเรือรบเข้าตีมะละกาเป็นครั้งที่ 2 เหล่าราชวงศ์สุลต่านหนีไปยังแคว้นเปรัฐ และปาหัง ดังนั้นเมืองมะละกาจึงตกอยู่ใต้อิทธิพลตั้งแต่นั้นมา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 21:32

มาดูกันว่าสินค้าผูกขาดของพระคลังสินค้าคืออะไร

สินค้าต้องห้ามที่ปรากฏใน "คำให้การชาวกรุงเก่า"  ระบุว่าพระคลังสินค้าเป็นผู้ส่งออกแต่ เพียงผู้เดียว ได้แก่ งาช้าง ฝาง ตะกั่วนม ไม้ดำ ไม้แดง ชัน รัก ไม้จันทน์  ชะมดและครั่ง

ส่วนพระไอยการอาญาหลวง   บอกชื่อสินค้าผูกขาดไว้ว่า มีเครื่องศาสตราวุธ (ดินประสิว กำมะถัน ดินปืน) กฤษณา ไม้ฝาง ดีบุก นอระมาด ( คือ นอแรด) งาช้าง และไม้จันทน์
และมีบทลงโทษแก่ผู้ละเมิดอีกด้วย
“...อนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวห้ามมิให้ซื้อขายสิ่งของต้องห้ามแก่ผู้มาแต่ต่างเมือง แลมันขึ้นซื้อขายแลส่งออกไปนอกด่านต่างแดน แลขุนมุนนายอนาพยาบาล ผู้ใดได้ของมัน รู้เหนเปนใจด้วยมัน มิได้มาว่ากล่าวพิดทูล   ท่านให้ลงโทษขุนมุนนายอนาพยาบาลแลมันผู้ส่งสิ่งของ ต้องห้ามออกไปให้ซื้อขายนอกด่านต่างแดนนั้นมิโทษ 6 สถาน ถ้าทรงพระกรรุณาโปรดเกล้าฯ  บให้ฆ่าตีเสีย   ให้เอาสิ่งของนั้นตั้งไหมจัตุรคูณ...”

     ในฐานะผู้ผลิต   พระคลังสินค้ามีสินค้าพื้นเมืองที่เรียกเก็บจากราษฎร  ในรูปแบบของส่วย และภาษีโดยไม่ต้องลงทุน เว้นแต่เรียกซื้อเพิ่มเติมจากราษฎร ได้แก่ ฝาง หนังสัตว์และไม้จันทน์   นอกจากนี้    พระคลังสินค้าสามารถตั้งราคาหากำไรเท่าใดก็ได้ขึ้นกับความต้องการของตลาด    ไม่มีมาตรฐานตายตัว   อาทิ เกลือสินเธาว์ ปกติหาบละ 5 บาท พระคลังสินค้าขายให้แก่พ่อค้าต่างชาติหาบละ 17 บาท ฝางซื้อมาหาบละ 2 สลึง ขายหาบละ 6 สลึง เป็นต้น

     นอกจากนี้ พระคลังสินค้ายังเป็นพ่อค้าคนกลาง   ซื้อสินค้าจากอินเดีย จีนและญี่ปุ่น ซื้อกำยาน(Benzoin)และไม้สักจากพม่า และซื้อชะมดเช็ดจากเชียงใหม่  เพื่อขายแก่พ่อค้ายุโรป    แล้วก็ซื้อสินค้าจากพ่อค้าชาวยุโรป มาขายพ่อค้าจีน และญี่ปุน    กำหนดราคาได้ตามที่เห็นควร  เช่นซื้อทองแดงจากญี่ปุ่นมาในราคาหีบละ 15 เหรียญแล้วขายให้แก่พ่อค้ายุโรปหีบละ 20 เหรียญ หรือรับซื้อไหมดิบจาก“ เมืองน่ำเกี๋ย ” ในราคา 100 เหรียญ แล้วขายให้แก่พ่อค้าชาวยุโรปเป็นเงิน 300 เหรียญ เป็นต้น

     ถ้าพ่อค้าต่างชาติที่ลักลอบซื้อสินค้าต้องห้าม  พระไอยการอาชญาหลวงระบุให้ลงโทษ “ดั่งโจร” ส่วนผู้รู้เห็นเป็นใจ  พระไอยการอาญาหลวงให้ลงโทษถึงตาย  เรียกว่าการผูกขาดนี้ห้ามละเมิด  โทษแรงเอาการ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 21:40

จดหมายของอัลบูเกอร์

บันทึกว่า ได้ส่ง คูอาร์เต เฟอร์นันเดซ เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ใน ค.ศ. 1511 โดยเดินทางมากับสำเภาจีน ขึ้นบกที่อยุธยา ซึ่งประวัติของคูอาร์เต เฟอร์นันเดซ เคยเป็นทหารของเวเกอิรา แต่ถูกจำคุกที่มะละกาใน ค.ศ. 1509 ขณะอยู่ในคุกได้เรียนภาษาไทยพอใช้การได้ จึงได้ถูกนำตัวไปเป็นทูต

การมาครั้งนี้ได้นำเครื่องบรรณาการ พร้อมด้วยสาสน์จากอัลบูเกอร์ในพระนามาภิไธยแห่งพระเจ้ากรุงโปรตุเกสขอเจริญทางไมตรีทางการค้าด้วย และบอกว่า ได้ยึดมะละกา สร้างป้อมปราการและส่งทหารเข้ามายังมะละกา หากเป็นมิตรกัน สยามสามารถส่งสินค้าไปยังมะละกาได้ และสมเด็จพระรามธิบดีที่ 2 ได้ต้อนรับทูตอย่างดี พาไปดูช้างเผือก และได้พระราชทานสาส์นพร้อมพระธำมรงค์ประดับทับทิมและพลอย พระมงกุฎ พระแสงดาบคร่ำทอง เพื่อพระราชไมตรี

ในเอกสารบางฉบับอ้างว่า "ของกำนัลทั้งหมด และจดหมายอย่างน้อย 5 ฉบับ หายไป เนื่องจากเรือเฟอร์ เดอ ลา มาร์ (Frol de la mar) เกิดอับปางขณะที่อัลบูเกอร์เดินทางไปอินเดีย จดหมายดังกล่าวที่หายไปคือ

1 พระราชสาส์นฉบับแรกที่พระเจ้าแผ่นดินสยาม ไปถึงพระเจ้ามานูเอลที่ 1 และถึงอุปราชโปรตุเกสที่อินเดีย
2 จดหมายอัลกูเบอร์ ถึงพระเจ้ามานูเอลที่ 1 รายงานเกี่ยวกับการปราบปรามที่มะละกา
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 21:48

สินค้าที่ผูกขาด อ่านเจอ "ตะกั่วน้ำนม" เป็นตะกั่วที่สามารถบิดงอได้โดยไม่หัก ตามภาพครับ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 21:53

กำไรจากการขาย

"เกลือสินเธาว์ ปกติหาบละ 5 บาท พระคลังสินค้าขายให้แก่พ่อค้าต่างชาติหาบละ 17 บาท".....หลวงรับซื้อจากชาวบ้านประมาณ 4-5 บาท ขาย 17 บาท กำไร 13 บาท

"ฝางซื้อมาหาบละ 2 สลึง ขายหาบละ 6 สลึง เป็นต้น".....หลวงรับซื้อจากชาวบ้านประมาณ 2 สลึง ขาย 6 สลึง กำไร 1 บาท

กำไรมากนะครับ
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 22:21

ในขณะที่ชาวโปรตุเกส ได้รับพระราชทานที่ดินด้านใต้กรุงศรีอยุธยา อีกสายหนึ่งทูตโปรตุเกสก็เดินทางเข้าไปยังพม่าใน ค.ศ. 1511 เช่นเดียวกันโดยปัจจุบันนี้คือ เมืองสิเรียม เป็นดินแดนแห่งโปรตุเกสครับ

เมื่อการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างโปรตุเกสกับพม่า ในช่วงพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เหล่าทหารโปรตุเกส และเหล่านักบวช ก็ดำเนินกิจกรรม การค้า ขายปืน ขายเครื่องรบ เพื่อรบกับไทย ในขณะเดียวกันฝ่ายไทย ก็เจริญด้วยการค้า ปืนไฟ เกราะ และเทคนิคการต่อสู้จากโปรตุเกสเช่นเดียวกัน

แทรกภาพชาวโปรตุเกสในเมืองสิเรียม



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 22:37


เมื่อการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างโปรตุเกสกับพม่า ในช่วงพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เหล่าทหารโปรตุเกส และเหล่านักบวช ก็ดำเนินกิจกรรม การค้า ขายปืน ขายเครื่องรบ เพื่อรบกับไทย ในขณะเดียวกันฝ่ายไทย ก็เจริญด้วยการค้า ปืนไฟ เกราะ และเทคนิคการต่อสู้จากโปรตุเกสเช่นเดียวกัน


เป็นพ่อค้าอาวุธสงครามเต็มตัวเชียวนะ  ตราบใดยังมีศึกระหว่างไทยกับพม่า  โปรตุเกสก็รวย
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 22:53


เมื่อการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างโปรตุเกสกับพม่า ในช่วงพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เหล่าทหารโปรตุเกส และเหล่านักบวช ก็ดำเนินกิจกรรม การค้า ขายปืน ขายเครื่องรบ เพื่อรบกับไทย ในขณะเดียวกันฝ่ายไทย ก็เจริญด้วยการค้า ปืนไฟ เกราะ และเทคนิคการต่อสู้จากโปรตุเกสเช่นเดียวกัน


เป็นพ่อค้าอาวุธสงครามเต็มตัวเชียวนะ  ตราบใดยังมีศึกระหว่างไทยกับพม่า  โปรตุเกสก็รวย

ใช่ครับ สิ่งนี้ทำให้เกิดกำไรอย่างงาม โดนขั้นต้นมีการพระราชทานแด่กษัตริย์ทั้งสองฝ่าย เป็นเครื่องบรรณาการก่อน ต่อมาจึงได้มีการสั่งอาวุธเข้ามาใช้ในราชสำนัก

ยกตัวอย่างรายการสิ่งของที่อาเซเวโด้นำมาถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการ (การทูตครั้งที่ 2 ของโปรตุเกส) นำมาถวายแก่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 คือ
- เสื้อกั๊กกำมะหยี่สีแดงเลือดนกหลายตัว
- เกราะพร้อมเครื่อง 1 สำรับ
- หมวกโล่ห์หนังติดแถบเป็นลวดลายงาม พร้อมสายสะพายบ่าปักดิ้น 1 โล่ห์
- เสื้อเกราะทำด้วยกำมะหยี่และต่วนสีต่างๆ
- กาน้ำทำด้วยฝีมือช่าง 1 กา
- ถ้วยหูเงิน 2 ถ้วย
- หน้าไม้พร้อมเครื่อง 1 อัน
- กัลปังหาอย่างดีเป็นของมีค่าในเมืองมะละกา 4 กิ่ง
- ผ้าสักหลาด 1 ผืน


"..ข้าพเจ้าเป็นทหารจึงให้อาวุธเป็นของขวัญ ซึ่งใช้ในการช่วยเหลือและปกป้องเพื่อน และข้าพเจ้าจะรับใช้พระเจ้าสยามด้วยตัวของเขาเอง เมื่อพระเจ้าสยามมีบัญชามา.."



ในทำนองเดียวกัน โปรตุเกสสายพม่า ในรัชกาลพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทรงขยายดินแดนไปยังตอนใต้ที่มีอาณาจักรมอญ พวกทหารโปรตุเกสก็พากันเข้าร่วมรบเป็นอันมาก (จึงได้มีการลำเลียงอาวุธแบบสมัยใหม่เข้ามาใช้เช่นกัน) เบื้องหลังกองทัพพม่ามีทหารอาสาโปรตุเกส ชื่อ ดิเอโก ซัวเร เดอ เมลโล ช่วยพม่าปราบกองทัพสมิงทอ ผู้นำมอญที่เมืองหงสาวดี ดังนั้นกองทัพจากโปรตุเกสจึงมีความมั่นคงและรับใช้ราชสำนักพม่าอย่างมั่นคง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 09:06


- เกราะพร้อมเครื่อง 1 สำรับ
- หมวกโล่ห์หนังติดแถบเป็นลวดลายงาม พร้อมสายสะพายบ่าปักดิ้น 1 โล่ห์
- เสื้อเกราะทำด้วยกำมะหยี่และต่วนสีต่างๆ
- หน้าไม้พร้อมเครื่อง 1 อัน


อยากเห็นเครื่องรบพวกนี้ว่าหน้าตาเป็นยังไง    เพราะเข้าใจว่า เกราะ กับ เสื้อเกราะ ไม่เหมือนกัน   
เกราะ น่าจะหมายถึง armor  เป็นเหล็กถัก  ส่วนเสื้อเกราะน่าจะเป็น gear coat  หรือเสื้อเกราะอ่อน  ข้างนอกเป็นกำมะหยี่ ข้างในมีซับในบุต่วน   หมวกโล่ห์นั้นไม่รู้จักค่ะ
ของถวายคราวนี้มีหน้าไม้  ไม่ยักมีปืน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 09:15

มีบันทึกของชาวโปรตุเกสคนหนึ่งชื่อ "บันทึกความทรงจำของแฟร์เนา เมนเดซ ปินโต( Fernão Mendez Pinto ค.ศ.1509-1583) ตกทอดมาถึงปัจจุบัน     เขาเป็นนักเผชิญโชคซึ่งเคยเข้ามาในอาณาจักรศรีอยุธยา   ในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1543-1546)
เมื่อเกิดศึกระหว่างสยามกับเชียงใหม่ขึ้นใน ค.ศ.1548 (พ.ศ.2091) ปินโต กล่าวว่า

“ชาวต่างประเทศทุกๆชาติที่ไปร่วมรบกับกษัตริย์สยามนั้นต่างก็ได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะได้รับบำเหน็จรางวัล การยกย่อง ผลประโยชน์ ความชื่นชมและเกียรติยศชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้รับอนุญาตให้สร้างโบสถ์เพื่อการปฏิบัติศาสนกิจในแผ่นดินสยามได้....”

แต่จริงๆแล้วปินโต(หรือออกเสียงแบบโปรตุเกสว่า ปินตู) บอกว่าทหารโปรตุเกสไม่ใช่ทหารอาสา แต่ถูกเกณฑ์ เพราะถ้าไม่ให้ความร่วมมือก็จะถูกเนรเทศจากอาณาจักรใน 3 วัน เหตุนี้จึงมีชาวโปรตุเกสถึง 120 คน จากจำนวน 130 คน เข้าร่วมรบ   เรื่องรบครั้งนี้มีอยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา   ว่า เป็นศึกเมืองเชียงกรานซึ่งเกิดขึ้นเมื่อค.ศ.1538 (พ.ศ.2081) คลาดเคลื่อนไปจากที่ระบุในหลักฐานของปินโต 10 ปี

อยุธยาก็เลยมีทหารโปรตุเกสร่วมในกองทัพด้วย  120 คน    สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงจ้างเป็นทหารรักษาพระองค์  (bodyguards)พวกนี้เองได้สอนให้ชาวสยามรู้จักใช้ปืนใหญ่     และอาจทำให้กองทัพอยุธยาเริ่มปรับปรุงตำราพิชัยสงครามก็เป็นได้      สันนิษฐานว่าทหารโปรตุเกสในกองทัพสมัยพระไชยราชาเป็นที่มาของการตั้ง “กรมทหารฝรั่งแม่นปืน” จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีจำนวน 170 คน   ใกล้เคียงกับจำนวนของทหารอาสาโปรตุเกส 120 คน ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 09:22

ภาพโบราณของพม่าครับ
เป็นภาพเรือใบของโปรตุเกส กับเรือรบของพม่า ที่พวกโปรตุเกสมาถ่ายทอดวิทยายุทธให้

การเดินทางมาเผชิญโชคในเอเซียของคนหนุ่มในโปรตุเกสสมัยนั้น เหมือนเป็นการมาตายเอาดาบหน้าของพวกที่คิดว่าตนไม่สามารถจะเอาดีในแผ่นดินแม่ได้แล้วเป็นส่วนใหญ่ หวังว่าถ้าโชคดี ร่ำรวยมีชื่อเสียงแล้วจึงจะกลับบ้าน
ทางทำมาหากินของฝรั่งพวกนี้ ดีกว่าพวกคนจีนอพยพ คือไม่ต้องมาเป็นจับกัง อาศัยที่คงจะเคยยิงปืนไฟมาก็ได้เป็นทหาร ใครจะจ้างถ้าให้เงินดี ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็เอาทั้งนั้น ไม่มีจรรยาบรรณอะไร บรรดากษัตริย์ในแถบอุษาคเนย์ก็นิยมจ้างฝรั่งเป็นทหารรักษาพระองค์ เพราะพวกนี้ไม่เล่นการเมือง ไม่เป็นหอกข้างแคร่เหมือนคนพื้นเมืองไว้ใจไม่ค่อยจะได้

ดังนั้นแม้จะมีทหารโปรตุเกสอยู่ในกองทัพทั้งไทย พม่า เขมร ญวนอะไรก็ตามแต่ ทหารฝรั่งพวกนี้คงไม่มีโอกาสฆ่ากันเอง เพราะต้องคอยคุ้มกันจอมทัพ ไม่ได้เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันออกแนวหน้า ใช้แต่อาวุธยาวเด็ดหัวฝ่ายตรงข้ามไปทีละคน เล็งลำกล้องไปเห็นหน้าขาวๆพวกเดียวกันก็เปลี่ยนเป้าไปยิงพวกหน้าดำๆที่มากำกับอยู่

เมื่อกองทัพที่ตนมาด้วยเป็นฝ่ายชนะ เขาปล้นเมืองกันพวกนี้ก็ร่วมปล้นด้วยอย่างชอบธรรม อะไรที่เก็บเกี่ยวมาได้ ถือเป็นโบนัส


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 09:33

อ้างจาก: siamese ที่  29 เม.ย. 11, 22:53

อ้างถึง
อ้างถึง
- เกราะพร้อมเครื่อง 1 สำรับ
- หมวกโล่ห์หนังติดแถบเป็นลวดลายงาม พร้อมสายสะพายบ่าปักดิ้น 1 โล่ห์
- เสื้อเกราะทำด้วยกำมะหยี่และต่วนสีต่างๆ
- หน้าไม้พร้อมเครื่อง 1 อัน


อยากเห็นเครื่องรบพวกนี้ว่าหน้าตาเป็นยังไง    เพราะเข้าใจว่า เกราะ กับ เสื้อเกราะ ไม่เหมือนกัน   
เกราะ น่าจะหมายถึง armor  เป็นเหล็กถัก  ส่วนเสื้อเกราะน่าจะเป็น gear coat  หรือเสื้อเกราะอ่อน  ข้างนอกเป็นกำมะหยี่ ข้างในมีซับในบุต่วน   หมวกโล่ห์นั้นไม่รู้จักค่ะ
ของถวายคราวนี้มีหน้าไม้  ไม่ยักมีปืน

ยังไม่ทราบจะเอาสาระอะไรมาช่วยเสริมกระทู้นี้ได้ ค้นๆไปเจอบทความของท่านอาจารย์พิทยะ ศรีวัฒนสาร ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโปรตุเกส-สยามคดี เรื่อง “ฤาจับปิ้งเด็กไทยจะมาไกลจากโปรตุเกส” เลยขออนุญาตนำมาเล่าต่อ เป็นการสลับฉากแก้เหงาระหว่างคอยท่านอาจารย์เทาชมพูกับคุณหนุ่มสยามหาอะไรที่ถักๆตามที่ปรารภไว้ข้างต้นมานำเสนอต่อไป


“จับปิ้ง” คนสมัยนี้คงไม่รู้จักกันแล้ว แม้คนสมัยผมจะเคยเห็นตอนเด็กๆ ก็ไม่เคยเห็นชาวกรุงแท้จะใส่ให้ลูก นอกจากพวกที่ย้ายถิ่นฐานจากต่างจังหวัดเข้ามากลิ่นอายชาวกรุงยังไม่ติดตัวนัก จึงพอได้เห็นเด็กผู้หญิงสองสามขวบห้อยจับปิ้งไว้ที่เอวด้านหน้ากันโป๊ พ่อแม่ปล่อยให้วิ่งเล่นอยู่ในตรอกในซอย แต่เวลาไปทำบุญสงกรานต์ทุกปีที่วัดปรมัย ปากเกล็ดซึ่งเป็นถิ่นของชาวมอญ จะเห็นเด็กๆห้อยจะปิ้งกันแทบจะทุกบ้าน ก็หน้าร้อนสมัยก่อน เขาไม่นิยมนุ่งผ้ากัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 09:38

ท่านอาจารย์พิทยะเขียนไว้ว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ หน้า ๒๒๔ อธิบายว่า "จับปิ้ง" เป็นคำนาม แปลว่า "เครื่องปิดที่ลับของเด็กหญิง ทำด้วยเงิน ทอง หรือ นาก เป็นต้น, กระจับปิ้ง จะปิ้ง ตะปิ้ง หรือ ตับปิ้งก็เรียก (มอญเรียกว่า จะปิ้ง)" แต่หนังสืออักขราภิธานศรับท์หมอปรัดเลย์(น.๑๕๐, Dr. D. Bradley)ให้ "อาจาริย์ทัดคัดแปล" เมื่อค.ศ.๑๘๗๓ อธิบายว่า จับปิ้ง ใช้ได้ทั้งเด็กชายและเด็กหญิง กล่าวคือ " จับปิ้ง, เปนชื่อของสำรับผูกบั้นเอวเด็ก, ปิดบังที่ลับของเด็กผู้หญิง, ทำด้วยเงินบ้าง, ทองบ้าง, เหมือนเด็กไทยนั้น"

เวบบล็อกwriter.dek-d.com อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า

"จับปิ้ง ...แผ่นโลหะ หรือ แผ่นไม้ที่ใช้ปิดบังอวัยวะเพศของเด็กผู้หญิง เพื่อไม่ให้โจ่งแจ้ง เปิดเผยจนเกินไป (หากเป็นเด็กชาย จะห้อย พริกเทศ ซึ่งพัฒนามาเป็นปลัดขิก ) เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่เด็กผู้หญิงต้องใส่จับปิ้ง ก็เนื่องจากว่า เป็นการสอนกิริยามารยาทของเด็กให้สุภาพ เรียบร้อย หากเด็กคนไหนซนมากๆ พ่อแม่ก็จะใช้จับปิ้งที่มีขนาดหนาและใหญ่เป็นพิเศษ เพื่อที่เวลาเด็กวิ่งเล่นซน ตัวจับปิ้งก็จะตีของลับเด็ก ทำให้ซนมากไม่ค่อยได้ ต้องเดินเรียบร้อย เวลาจะนั่งก็จะเรียบร้อย มิฉะนั้น จับปิ้งก็จะทิ่มที่ลับได้ ลักษณะของจับปิ้งจะมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งทำจากทองคำฝังเพชร ถมยา ลงรัก เงินและทำจากไม้ ขึ้นอยู่กับชั้นวรรณะของผู้ใช้ หากเป็นลูกเจ้าฟ้าพระมหากษัตริย์ ก็จะใช้ทองคำฝังเพชร ถมยา ลงรัก ลดลั่นลงมาก็จะเป็นเงิน หากเป็นลูก ชาวบ้านชาวไร่ชาวนาก็จะเป็น ไม้ หรือจากกะลามะพร้าว เด็กผู้หญิงในปัจจุบันไม่นิยมใส่จับปิ้ง แต่เราจะเห็นว่ามีชาวต่างชาติบางคนนำจับปิ้งมาเป็นจี้ หรือสร้อย ห้อยคอ แสดงให้เห็นถึงยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไป"


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 09:39

ผู้เขียน(ท่านอาจารย์พิทยะ)พบว่าเนื้อหาตอนหนึ่งของหนังสือเรื่อง The Portuguese Missions in Malacca and Singapore(1511-1958) Volme III-Singapore(1987 p.485-486)เรียบเรียงโดย Mons. Manuel Teixeira กล่าวถึง "คำ"โปรตุเกส อย่างน้อย ๖ คำตกค้างอยู่ในภาษาเขมร(Cambodia Language)ได้แก่ คำว่า กระดาษ จะปึง(จับปิ้ง) กระสา(นก) ลายลอง(เลหลัง) เหรียญและสบู่ ซึ่งบางคำก็มีเสียงและความหมายคล้ายกับภาษาไทย ดังนี้

กระดาษ ภาษาเขมรออกเสียงว่า kradas ตรงกับ ภาษา โปรตุเกสว่า "carta หรือ cartaz" ภาษาสยามออกเสียงว่า Kradat ภาษามาเลย์ ออกเสียงว่า Kertas

จะปึง(chapung) ตรงกับภาษาโปรตุเกสว่า chapinha(จาปินญา)มาเลย์และสยามออกเสียงคล้ายกันว่า จะปิ้ง จับปิ้ง

กระสา(นก)โปรตุเกสเรียกว่า garça(การ์ซา)

ลายลอง(lay long) โปรตุเกสออกเสียงว่า "leilão-ไลเลา" ไทยออกเสียงว่า เลหลัง

เหรียญ เขมรเรียกว่า "riel" โปรตุเกสเรียกว่า "real"มาเลย์ เรียกว่า "rial" สยามเรียกว่า "rien"

สบู่ เขมรเรียกว่า "sabu" สยามเรียกว่า "sabu" โปรตุเกสเรียกว่า "sabão-ซาเบา หรือ ซาเบิว"
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 17
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.078 วินาที กับ 20 คำสั่ง