เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 17
  พิมพ์  
อ่าน: 83734 โปรตุเกสเข้าเมือง
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 11:48

ส่งแผนที่เกาะเมืองอยุธยา เพื่อให้ดูที่ตั้งชุมชนโปรตุเกส อยู่ด้านซ้ายภาพติดแม่น้ำเจ้าพระยา ( ลำดับที่ K และ I)


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 12:32

อ้างถึง
ปืนใหญ่แบบนี้หรือเปล่าคะ ที่ก่อนเสียกรุงครั้งที่ ๒ พระยาวชิรปราการหรือพระเจ้าตาก ยิงโดยพลการไม่ได้ขอพระราชานุญาต เลยโดนโทษหนักเพียงแต่ยกไว้ สาเหตุจริงๆไม่น่าจะเป็นเสียงปืนกึกก้องจนพระสนมแสบหูทนไม่ไหว น่าจะเป็นเพราะขาดแคลนดินปืนและกระสุนด้วยหรือเปล่า

ส่วนตัวผมคิดว่า ปืนใหญ่ประจำการที่ป้อมปืนบนเชิงเทินของพระนครนั้น คงจะมีขนาดใหญ่โตเหมือนบรรดาปืนใหญ่หน้ากระทรวงกลาโหม ซึ่งแม้จะหนักมาก แต่ตอนบ้านเมืองยังดีอยู่ก็มีเวลาชลอเอาขึ้นไปได้ ก็ถ้าไม่เอาไปตั้งบนนั้นแล้วปืนใหญ่ๆขนาดที่เห็น จะเอาไปตั้งยิงที่ไหน

ปืนดังกล่าวหล่อในประเทศ เมื่อกรุงแตก บอก(ภาษาโบราณใช้คำว่าบอก ไม่ใช่กระบอก)ไหนพม่าเอาไปได้ก็เอาไป เอาไปไม่ได้ก็เอาดินปืนยัดไปมากๆแล้วจุดระเบิดเสีย

มีบอกหนึ่ง ย่อมลงมาหน่อยแต่สวยงามเป็นพิเศษ พม่าลงแรงขนกลับไปแล้วจารึกว่าเป็นปืนเชลยของโยเดีย คนไทยไปพบโดยบังเอิญที่ Fort St.George, เมืองทมิฬนาดู ตอนใต้ของอินเดีย คืออังกฤษเมื่อเอาพม่าเป็นเมืองขึ้นได้แล้ว เห็นปืนบอกนี้สวย ก็ขมายต่อจากพม่าไปอีกทีเป็นของที่ระลึก
ดังนั้น ปืนที่พระยาวชิรปราการสั่งให้ยิง คงจะไม่ใช่ปืนใหญ่ขนาดย่อมลงมาที่เราซื้อจากฝรั่ง น่าจะเป็นปืนใหญ่ขนาดยักษ์ที่เวลายิงแล้ว เสียงจะกึกก้องกัมปนาทกว่าหลายเท่าตัว

ผมคิดว่าผู้ที่จะสั่งยิงปืนขนาดใหญ่มากๆจะต้องมีอำนาจหน้าที่ (authority)ด้วย ไม่ทราบว่าพระยาวชิรปราการท่านมีหรือเปล่า หรือเห็นจวนตัวจริงๆไม่ทันได้ขออนุญาตก็ยิงไป เมื่อเหตุการณ์บรรเทาลงแล้วก็มีการสอบสวน  เมื่อสอบสวนแล้วเห็นว่าสมควรแก่เหตุก็แค่เตือนไว้ ทหารปัจจุบันก็ยังคงต้องปฏิบัติเช่นนี้ ไม่ใช่นึกอยากยิงก็ยิงกันพร่ำเพรื่อในยามขาดแคลนดังที่ท่านอาจารย์เทาชมพูว่า ปืนใหญ่เล็กทุกกระบอก ยิงแต่ละตูมถ้าไม่เป็นผลก็น่าเสียดายกระสุนและดินดำด้วยกันทั้งนั้น

เรื่องที่ว่าท่านถูกคาดโทษเพราะสาวสรรกำนัลในตกใจวิ่งกระเจิดกระเจิง เป็นเหตุให้พระเจ้าเอกทัศน์ทรงเอาเรื่อง ผมว่าจะให้ร้ายพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้กันหนักไปหน่อย อะไรจะงี่เง่ากันถึงขนาดนั้น





บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 13:00

     ไปเจอที่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ในหนังสือ "สามนคร" ถึงโปรตุเกสกับอยุธยาเอาไว้        ก็เลยเอามาลงให้อ่านกันค่ะ

     "  ไทยเริ่มติดต่อกับตะวันตกอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในค.ศ. ๑๕๑๘     ในเมื่อพระมหากษัตริย์แห่งอยุธยาทรงรับคณะทูตของโปรตุเกสที่ส่งจากมะละกา     การต้อนรับทูตของโปรตุเกสนั้นเป็นไปฉันมิตร     และด้วยไมตรีจิตเป็นผลทำให้ไทยทำสนธิสัญญากับโปรตุเกส    ปล่อยให้โปรตุเกสมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ ที่จะค้าขายทั้งที่อยุธยาเอง   และตามเมืองท่าบนฝั่งทะเลอีกหลายแห่ง    คณะสงฆ์ชาวโปรตุเกสตามคณะทูตนั้นไป    และได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติศาสนกิจ และเผยแพร่ศาสนาคริสเตียนได้     วัดคริสเตียนแห่งแรกที่สร้างขึ้นในประเทศนั้น      พระมหากษัตริย์ไทยทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างด้วย...
      ....สำหรับชาวโปรตุเกสนั้น   มีวิธีการแปลกประหลาด  สามารถคลุกคลีปะปนกับประชาชนคนไทย    จนกระทั่งไม่มีใครถือว่าผลประโยชน์ของชาวโปรตุเกสเป็นผลประโยชน์ของคนต่างชาติต่อไปอีก" 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 13:56

     คณะทูตกลับไปแล้ว แต่ทิ้งชาวโปรตุเกสไว้คนหนึ่งชื่อ Fragoso   (อ่านว่าฟรากูซู    เพิ่งเจอว่าตัว o ในภาษาโปรตุเกสออกเสียงเป็น อู)  นายคนนี้ไม่รีบกลับ แต่ปักหลักอยู่กรุงศรีอยุธยาประมาณ 2 ปี   เขียนบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยามากมาย  ทั้งพิกัดและที่ตั้ง   รวมทั้งเมืองท่าต่างๆ ในอาณาจักร   บอกรายละเอียดเรื่องสินค้า การแต่งกาย ขนบธรรมประเพณีของชาวสยามด้วย   แกคงจะทำหน้าที่คล้ายๆเจ้าหน้าที่กรมประมวลข่าวกลางละกระมัง

Manuel Fra  gozo มานูเอล ฟราโกซู (คุณกุ๊กอ่านว่า ฟราโกซู )  คนนี้เองที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นจารชนชาวยุโรปในสยามคนแรก

คุณภาสกร วงศ์ตาวันเขียนไว้ในบทความเรื่อง ชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา มีทั้งทหารรับจ้าง จารชน และโจรสลัด

นายฟรานโกซู  คนนี้มีหน้าที่โดยได้รับคำสั่งว่าให้อาศัยอยู่ในสยามเพื่อรวบรวมข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ให้แก่ฝ่ายโปรตุเกส ข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ที่ว่านี้ได้แก่  ชนิดของสินค้าที่สามารถ หาได้ในสยาม ขนบประเพณีและการแต่งกายของชาวสยาม ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ชัดเจนของเมืองอยุธยา ความลึกของท่าเรืออยุธยา

นอกจากนั้นยังต้องเสาะแสวงหา และรวบรวมข้อมูลด้านแสนยานุภาพทางทหารของสยามอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นอันที่จริงแล้วการสืบราชการลับเริ่มต้นมาตั้งแต่การเดินทางของทูตครั้งนี้แล้วคือ  เพื่อให้รู้จักเส้นทางของการเข้าสู่อยุธยา  ทูตชุดนี้จึงได้เลือกเดินทางสำรวจมาโดยช่วงแรกเดินทางทางเรือมาขึ้นฝั่งที่เมืองมะริดก่อน แล้วเดินทางบกสำรวจเส้นทางบกไปเรื่อยจนเข้าสู่เมืองอยุธยา

ด้วยภารกิจดังว่า และได้รับพระบรมราชานุญาตให้อาศัยอยู่ในสยามได้  นายฟราโกซูเลยอยู่อย่างสะดวกสบายในสยามถึง  ๒ ปี เป็นเวลา ๒  ปีที่สืบราชการลับโดยมีบรรดาขุนนางข้าราชการให้การต้อนรับ และพร้อมที่จะให้ข้อมูลที่อยากได้ทุกเรื่องหมดเวลา ๒ ปี นายฟราโกซูก็เดินทางออกนอกประเทศนำข้อมูลที่ตัวเองได้ไปรายงานกับผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสที่เมืองกัวได้อย่างพร้อมมูล

เรื่องราวของนายฟราโกซู ได้รับการบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ของโปรตุเกสอย่างชัดเจนเสียอย่างเดียวที่จนถึงวันนี้รายงานฉบับของเขานั้นได้หายสาบสูญไปเสียแล้ว  เลยไม่มีใครในปัจจุบันที่ได้อ่าน และได้รู้จนถึงผลงานที่เขาได้ทำเอาไว้ในฐานะจารชนคนแรกของชาวตะวันตกในสยามประเทศ

ในเวลาต่อมาไม่ปรากฏว่าโปรตุเกสคิดจะเข้ามายึดกรุงศรีอยุธยาเหมือนกับที่ทำกับหลายเมืองที่ผ่านมา กระนั้นเกมการเมืองครั้งนี้ของโปรตุเกสหากเรามาพิจารณากันในปัจจุบันแล้ว ก็ดูน่าหวาดเสียวอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญยังมีประเด็นพ่วงอีกเรื่องหนึ่ง คือ ช่วงเวลาดังกล่าวโปรตุเกสไม่แต่เพียงเข้ามาสืบราชการลับเท่านั้น  ยังส่งคนเข้ามาทำอะไรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นความลับทางราชการของชาติด้วย นั่นก็คือส่งนายเปรู เรยเนล (Pero Reinal) เข้ามาทำแผนที่เดินเรือของอ่าวสยาม  ซึ่งถือเป็นการทำแผนที่เดินเรือและการสำรวจน่านน้ำของสยามครั้งแรกโดยชาวตะวันตก

คิด ๆ ไปแล้วในแง่ประวัติศาสตร์  ข้อมูลของนายฟราโกซู ที่สูญหายไปนั้นน่าเสียดายอย่างยิ่ง ไม่รู้ว่าเขาบันทึกอะไรเอาไว้บ้าง ซึ่งหากมีอยู่ก็น่าจะสามารถเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอยุธยาที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากของยุโรปชาติอื่นที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องและยังมีหลงเหลือกลายเป็นหลักฐาน และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เช่น ของฮอลันดา ที่มีนาย โยสต์ เซาเต็น  และนายฟาน ฟลีต บันทึกหรือของฝรั่งเศสที่มีหลายคนหลายสำนวน  แต่ที่ได้รับการนับถืออย่างมากก็เช่นของลาลูแบร์  หรือของบาทหลวงตาชาร์ด เป็นต้น ซึ่งแท้จริงมันก็คือข้อมูลในเชิงของการสืบราชการลับ  หรือข้อมูลของจารชนทั้งสิ้นนั่นเอง

 ยิงฟันยิ้ม



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 14:44

      ปลายสมัยสมเด็จพระไชยราชา    โปรตุเกสก็ตั้งเป็นชุมชนได้มั่นคงในอยุธยาแล้ว มีอยู่ราว 300 คน   ประชากรมีหลายอาชีพ  มาค้าขายบ้าง เป็นทหารบ้าง   ฝ่ายทหารก็ฝึกหัดทหารไทยให้รู้จักอาวุธปืนตลอดจนยุทธวิธีในการสงคราม  อีกพวกหนึ่งคือบาทหลวงชาวโปรตุเกส  มาเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก  พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงกีดกันการเผยแพร่ศาสนาแต่อย่างใด   
      สินค้าที่โปรตุเกสซื้อจากสยามที่อยุธยา และที่มะริด คือ  สินค้าของป่าจัดในหมู่เครื่องยา คือ ไม้ฝาง ครั่งดิบ กำยาน งาช้าง นอแรด ขี้ผึ้ง น้ำมันเลียงผา และสมุนไพรต่างๆ    ส่วนสินค้าที่นำมาขายอยุธยา คือ ผ้านานาชนิดจากคุชราต และโจฬมณฑล เครื่องเทศ น้ำดอกกุหลาบ ชาด ทองแดง และสินค้าแปลกจากยุโรป รวมทั้งเบี้ยหอยจากมัลทวีป ปืน และกระสุน
       อย่างหลังคือปืนและกระสุน ทำอาชีพเป็นล่ำเป็นสันแก่ชายฉกรรจฺ์คือทหารรับจ้าง  สอนวิชาใช้ปืน    หนึ่งในจำนวนนี้กลายมาเป็นขุนนางสยาม ชื่อโดมิงโกส เดอ ซีซาส    ชีวิตของชาวโปรตุเกสคนนี้ สะท้อนภาพฝรั่งในอยุธยาในยุคนั้นได้ชัด  จึงขอเล่ารายละเอียดให้ฟัง

      เดอซีซาสเกิดในตระกูลลูกผู้ดีโปรตุเกส   แต่สันนิษฐานว่าเป็นลูกคนรองจึงไม่ได้สมบัติตกทอดของตระกูล    มรดกทั้งหมดย่อมตกแก่บุตรชายคนโตเท่านั้น   เขาจึงเดินทางมาแสวงโชคในเอเชีย    ถูกจับพร้อมชาวโปรตุเกสอื่นๆโดยเจ้าเมืองตะนาวศรี    ตามบันทึกบอกว่าเป็นการจับแพะ     เหตุจากโจรสลัดโปรตุเกสปล้นเรือที่ตะนาวศรี   ชาวโปรตุเกสเคราะห์ร้ายแถวนั้นเลยถูกกวาดจับกราวรูด   แต่เจ้าเมืองไม่กล้าสั่งประหาร  เขากับชาวโปรตุเกสอื่นๆจึงถูกส่งตัวมากรุงศรีอยุธยา 
     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 14:45

 เมื่อมาเป็นนักโทษในอยุธยาแล้ว จะสืบสวนสอบสวนกันอย่างไรก็ไม่แน่   แต่ผลคือพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงทราบว่าฝรั่งพวกนี้มีความรู้และความเข้าใจในวิทยาการการสงครามรุ่นใหม่โดยเฉพาะมีความรู้ในวิชาการใช้ปืนไฟ    ก่อนหน้านี้  อยุธยามีใช้ก็แค่ปืนใหญ่ที่ใช้วิธีผลิตแบบจีนเท่า นั้น ต่อเมื่อโปรตุเกสเข้ามาแล้ว   เลยเริ่มเห็นประสิทธิภาพของปืนไฟ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ จึงทรงปลดปล่อยจากคุก ให้เข้าประจำในกองทัพเพื่อสอนวิชาการใช้ปืนแก่ไพร่พลสยาม ที่สำคัญมีเบี้ยหวัดและผลตอบแทนอย่างงามอีกด้วย โดยที่นายซีซาสนั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการเลยทีเดียว    ชะตาก็พลิกกลับกลายเป็นคนสำคัญ   เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดิน   จนเขาได้อยู่ในกองทัพสยามนานถึง 25 ปี (ค.ศ. 1523 - 1547)
       ต่อมา ในรัชสมัยพระไชยราชา  อยุธยายกกำลังไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต ในปี ค.ศ.1545  เดอซีซาสก็ไปร่วมรบพร้อมทหารรับจ้างโปรตุเกสด้วย     ต่อมาก็ไปรบกับเขียงใหม่ใน   ค.ศ. 1546   ได้รับความดีความชอบ พระราชทานพระราชานุญาตให้สร้างโบสถ์คาทอลิคได้   อีก 2 ปีต่อมาก็ไปช่วยรบกับพระเจ้าตเบงชเวตี้
      เดอซีซาสรับราชการในกรุงศรีอยุธยาจนสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระไชยราชา    พระองค์ถูกวางยาพิษโดยฝีมือพระสนมเอกท้าวศรีสุดาจันทร์  
หลังจากนั้นเดอซีซาสเดินทางกลับโปรตุเกส   ถึงแก่กรรมอย่างสงบในโรงพยาบาลของลิสบอน ก่อนถึงแก่กรรมเขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดในสยามให้แก่ โจเอา เดอ บาร์โรส นักพงศาวดารคนสำคัญบันทึกไว้    เราก็เลยรู้บทบาทของชาวโปรตุเกสในอยุธยาด้วยเหตุนี้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 15:03

เพ็ญชมพู
อ้างถึง
คิด ๆ ไปแล้วในแง่ประวัติศาสตร์ ข้อมูลของนายฟราโกซู ที่สูญหายไปนั้นน่าเสียดายอย่างยิ่ง ไม่รู้ว่าเขาบันทึกอะไรเอาไว้บ้าง ซึ่งหากมีอยู่ก็น่าจะสามารถเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอยุธยาที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากของยุโรปชาติอื่นที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องและยังมีหลงเหลือกลายเป็นหลักฐาน และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เช่น ของฮอลันดา ที่มีนาย โยสต์ เซาเต็น และนายฟาน ฟลีต บันทึกหรือของฝรั่งเศสที่มีหลายคนหลายสำนวน แต่ที่ได้รับการนับถืออย่างมากก็เช่นของลาลูแบร์ หรือของบาทหลวงตาชาร์ด เป็นต้น ซึ่งแท้จริงมันก็คือข้อมูลในเชิงของการสืบราชการลับ หรือข้อมูลของจารชนทั้งสิ้นนั่นเอง

น่าสนใจมากเลยครับ ผมคิดอย่างเดียวกัน ฝรั่งที่เดินทางมาเผชิญโชคแถวนี้ มีความโลภเป็นตัวนำ ถ้าเป็นโจรสลัดได้ก็เป็น แต่ถ้าโชคดีคนท้องถิ่นรับเข้าไปไว้ในบ้านเมือง ก็ยังคิดอย่างโจรสลัดไปเรื่อยๆ สายตาที่สอดส่ายก็คอยพิเคราะห์ว่าจะเอาสิ่งที่เห็นเหล่านี้ไปเป็นของตัวได้อย่างไรบ้าง ที่มีความรู้ก็หวังสูงหน่อย สังเกตุไหมครับ พวกนี้มักจะเขียนว่าบนยอดเจดีย์ของเรา ล้วนหุ้มด้วยทองคำ พระพุทธรูปก็หุ้มด้วยทองคำ ประดับเพชรพลอยฯลฯ ทั้งๆที่เราก็รู้อยู่ว่าไม่จริง เขาเขียนโม้กันไปเพื่ออะไร

ผลงานเขียนที่เรียกว่าจารกรรมเหล่านี้ ถ้ามีโอกาสก็จะเอากลับไปขายกับผู้มีอำนาจในบ้านเมืองของตนว่าเมืองนี้มีดีอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้ายึดเอามาแล้วจะได้อะไร ถ้าจะเข้าไปยึดจะต้องทำอย่างไร เมืองมีจุดอ่อนที่ไหน ผู้มีอำนาจฟังแล้วก็กลั่นกรอง ทุกอย่างมันต้องลงทุนทั้งนั้น การสงครามไม่ได้มีใครจะอาสาออกรบให้ฟรีๆหรอก ทุกอย่างพอเชคบิลแล้วแพงหูฉี่ทั้งนั้น

โชคดี ฝรั่งคนโตตอนนั้นไม่ค่อยเห็นว่าถ้าลงทุนทำสงครามเข้ายึดอยุธยาแล้ว จะได้คุ้มกับเสีย เทียบกับเมืองท่าอื่นๆ อย่างโปรตุเกสที่ได้กัวประตูสู่อินเดียไปแล้ว ก็หันไปยึดโมลุกะในชวาที่รุ่มรวยเครื่องเทศ และมาเก๊าซึ่งเป็นประตูไปสู่แผ่นดินใหญ่จีนอันน่าตื่นเต้นกว่า อยุธยาก็เลยรอดจากการถูกยึดครอง เก็บไว้เป็นลูกค้าให้นายวานิชได้ทำมาหารับประทานไปเรื่อยๆตามเดิม

ทฤษฎีที่ผมว่านี้ ยังใช้กันมาถึงสมัยอังกฤษครอบครองพม่า กลุ่มพ่อค้าได้ตั้งเป็นนิติบุคคลชื่อบริษัทอินเดียตะวันออก ระดมทุนจากเอกชนเพื่อจ้างทหารของรัฐบาลอังกฤษทำสงครามกับพม่า เสร็จสงครามรวมทั้งหมดสามครั้ง ดีดยี่ต๊อกแล้วบริษัทนี้ไม่ได้กำไร และล้มละลายไปในที่สุด เพราะพม่าไม่มีอะไรให้ตักตวงมากคุ้มกับที่ลงทุนไป เรื่องนี้อังกฤษจึงถูกฝรั่งเศสหัวเราะเยาะว่าสู้ข้าไม่ได้ แค่ส่งเรือรบมา๓ลำไปลอยลำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้ค่าปรับมาตั้ง๔ล้านเหรียญทองคำ กำไรกว่าอังกฤษเยอะ แต่สุดท้ายฝรั่งเศสเองก็หนีขาดทุนในการลงทุนที่โคชินไชน่าไปเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะในเขมรที่แทบจะไม่มีทรัพยากรเลย นึกว่าจะมีไพลิน(Blue Sapphire) เหมือนกับที่อังกฤษได้ทับทิมจากพม่า แต่ก็มีน้อยเกิน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 15:15

มีคำถามอยู่ในใจเหมือนกันว่า อยุธยาไม่เคยถูกโปรตุเกสยึดครองอย่างมะละกาและกัวเจอเข้า  เพราะอะไร    ทั้งๆตอนนั้นอาวุธของไทยก็ยังล้าสมัย รบกันด้วยหอกดาบทวน  สู้ประชิดตัวกัน    การรบระยะไกลด้วยปืนไฟและปืนใหญ่อยู่ในมือโปรตุเกส   พอดีได้คำตอบจากท่าน NAVARAT เสียก่อน

มีเหตุผลประกอบอีกได้ไหมว่า นอกจากทำสงครามได้ไม่คุ้มทุนแล้ว     อยุธยายังไม่สร้างแรงกดดันให้โปรตุเกสมากพอจะเกิดเรื่องแตกหักกัน   โดยเฉพาะความแตกต่างทางศาสนา   เพราะพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาวางพระองค์เป็น ศาสนูปถัมภก  คือทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนา

ส่วนเรื่องโจรสลัดโปรตุเกส   ถ้าท่าน NAVARAT จะเล่าต่อ ดิฉันก็จะปูเสื่อ เอาขนมแม่เอ๊ยจากกระทู้โน้นมาวางเรียงใส่จาน รับแขกชาวเรือนไทยที่จะแวะเข้ามาฟัง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 15:36

^
อื้อฮือ หนักเลยอัตโน
บันทึกการเข้า
pathuma
ชมพูพาน
***
ตอบ: 110


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 16:24

เมื่อตอนเรียนประวัติศาสตร์หรือภาษาอังกฤษ ครูในจังหวัดอยุธยามักมีเกร็ดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มาเล่าให้ฟังเสมอ วันหนึ่งครู่เล่าว่า คำว่า สบู่ มาจากภาษา โปรตุเกส (ภาษาโปรตุเกสเรียกว่า sabaoซึ่งเป็นคำมาจากลาตินว่า sapo) ตอนที่โปรตุเกสเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา  แต่ไปพบใน Web บางแห่งว่า มาจากคำที่ญี่ปุ่นใช้เรียกสบู่ว่า โซปปุ (SOAPPU) ผมว่ามีความเป็นไปได้ทั้ง 2 คำ เพราะทั้งญี่ปุ่นและโปรตุเกสเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาทั้งคู่ ไม่แน่ใจว่าใครเข้ามาก่อนกัน   
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 16:38

บางแห่งว่า มาจากคำที่ญี่ปุ่นใช้เรียกสบู่ว่า โซปปุ (SOAPPU) ผมว่ามีความเป็นไปได้ทั้ง 2 คำ เพราะทั้งญี่ปุ่นและโปรตุเกสเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาทั้งคู่ ไม่แน่ใจว่าใครเข้ามาก่อนกัน  

ญี่่ปุ่นรับภาษาอังกฤษเข้าไปใช้หลายคำ

โซปปุ น่าจะมาจากภาษาอังกฤษ เหมือนอย่างคำว่า ซาต๊อปปุ (stoppu) นั่นแหละ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
pathuma
ชมพูพาน
***
ตอบ: 110


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 17:01

มีอีกคนที่น่ากล่าวถึงคือ  สามเณร อันโตนิโอ ปินโต หรือ อังตวน ปินโต ที่หนังสือประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มักพูดถึง ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นลูกครึ่ง สยาม กับแขกบังกล่า แต่ก็มีผู้แย้งว่า เป็นลูกครึ่งสยาม โปรตุเกส เพราะนามสกุล ปินโตนั้น เป็นภาษาโปรตุเกส หนังสือส่วนใหญ่บอกว่า สามเณร ปินโต ไปฝรั่งเศส เพื่อไปสอบ มหาปริญญา ที่ มหาวิทยาลัยซอร์บอน แต่ก็มีผู้แย้งว่า น่าจะไปเพื่อทดสอบความสามารถ เพื่อที่จะเรียนสูงขึ้น เก็บมาฝากตามนี้ครับ http://www.issara.com/article/letter.html
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 18:33

ท่านอาจารย์เทาชมพูท่านมีวิธีการสั่งการบ้านให้ผมอย่างแนบเนียนก่อนออกไปชอปปิ้งในวันหยุดสุดสัปดาห์

เรื่องราวต่อไปนี้ ผมย่อยความมาจากที่ท่านอาจารย์ไกรฤกษ์ นานาเขียนไว้ โดยท่านอาจารย์เทาชมพูเองก็ได้เปิดตัวนายปินตู (เฟอร์นาว เมนดืช ปินตูFernao Mendes Pinto) ไว้แล้วตั้งแต่กระทู้ต้นๆ
นายปินตูได้เขียนบันทึกรายงานเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่บนที่ราบต่ำ มีทุ่งนามาก และมีแม่น้ำไหลผ่าน แต่มีเขตภูเขาที่อุดมด้วยไม้เนื้อแข็งที่จะใช้ต่อเรือเดินทะเลได้เป็นอย่างดี มีการทำเหมืองแร่ชนิดต่างๆ และยังมีสิน ค้า เช่น ไหม ไม้จันทน์ กำยาน ครั่ง คราม ผ้าฝ้าย อัญมณี งาช้าง และทอง และมีป่าชายฝั่งที่เต็มไปด้วยไม้กฤษณาและไม้มะเกลือสีดำที่จะส่งออกไปยังจีน ไหหลำ ริวกิว กัมพูชา และจัมปา นอกจากนี้ยังมีขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง และน้ำตาล อาณาจักรประกอบด้วย ๒๖,๐๐๐ หมู่บ้าน กำแพงเมืองอยุธยาก่อด้วยอิฐ โคลน และดินทุบ มีประชากรราว ๔๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งในจำนวนนี้ราวแสนคนเป็นชาวต่างชาติ และในแต่ละปีจะมีเรือสินค้าจากต่างประเทศหลายสิบลำเดินทางเข้ามาค้าขายยังอยุธยา
จะดูว่าเป็นข้อมูลพื้นๆก็ได้ แต่ถ้านายใหญ่สนใจ นายปินตูอาจหยิบอีกเล่มหนึ่งขึ้นมาขยายความต่อก็ได้ว่ากำแพงเมืองนั้นมีจุดอ่อนที่ไหน ในบรรดาประชากรสี่แสนนั้น ทหารมีเท่าไร ฯลฯ ก็ได้

เมื่อปินตูเข้ามายังอยุธยานั้น เป็นรัชสมัยของสมเด็จพระไชยราชา ซึ่งตรงกับ ค.ศ. ๑๕๔๕ พระองค์นี้ได้ยกกองทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุตใน ค.ศ. ๑๕๔๕ โดยมีทหารรับจ้างโปรตุเกสไปร่วมรบด้วย ๑๖๐ คน ซึ่งรวมถึงโดมิงกูช เดอ ไซซ่าส ต่อมาสมเด็จพระไชยราชาต้องการจะรบเชียงใหม่ จึงได้ส่งออกญากลาโหมมายังหมู่บ้านโปรตุเกสเพื่อหาอาสาสมัคร ไปรบในฐานะกองทหารองครักษ์ โดยสัญญาจะให้ผลตอบแทนอย่างงาม และจะอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสสร้างโบสถ์ได้ ชาวโปรตุเกสส่วนใหญ่ จึงตกลงรับงานสมเด็จพระไชยราชา และทำให้พระองค์รบชนะกษัตริย์เชียงใหม่

บทบาทของทหารโปรตุเกสในกองทัพอยุธยา ถูกกล่าวถึงอีกตอนหนึ่งคือเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๕๔๘ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ กษัตริย์แห่งตองอู ยกกองทัพใหญ่บุกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา พระองค์มีกองทหารรับจ้างโปรตุเกสมาด้วย ๑๘๐ คน นำโดย ดิโอโก้ โซอารืช เดอ เมลู (Diogo Soares de Melo) ทางฝ่ายกองทัพอยุธยาก็มีกองทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสนำโดยดิโอโก้ เปอ ไรร่า (Diogo Pereira) คอยช่วยเหลือ ปินตูเล่าว่า พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้พยายามติดสินบนดิโอโก้ เปอไรร่าให้หักหลังฝ่ายอยุธยา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และในที่สุดฝ่ายพม่าต้องถอนทัพ เพราะได้ทราบว่าเกิดกบฏในหัวเมืองมอญ

ปินตูยังได้เขียนเล่าถึงชาวโปรตุเกสที่กลายมาเป็นโจรสลัดในน่านน้ำสยามชื่อ ลานซาโรเต แกเรยโร (Lancarote Gurreiro) ชายผู้นี้ เดินทางจากโปรตุเกสมาเป็นทหารที่เมืองกัว แต่ต่อมาได้แยกกองเรือของตนออกมา แล้วกลายเป็นผู้นำโจรสลัดปล้นสะดมทั่วน่านน้ำเอเชีย ในราว ค.ศ. ๑๕๔๒ แกเรยโรปล้นสะดมอยู่แถวอ่าวเมาะตะมะ และก่ออาชญากรรมไว้มากมายสร้างความสยองขวัญและหวาดกลัวแก่พ่อค้าทั่วไป จนทำให้รายได้ของเมืองท่ามะริดตกต่ำลงมาก กษัตริย์อยุธยาจึงได้แต่ตั้งขุนนางไปปราบโจรสลัดผู้นี้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ปินตูไปตามหาโจรสลัดผู้นี้ เพราะต้องการให้เขาไปช่วยมะละกาที่กำลังถูกโจมตีจากสุลต่านอาเจะห์ ซึ่งแกเรยโรตกลงที่จะกลับไปช่วยเหลือ ในท้ายที่สุดโจรสลัดผู้ก็ได้รับการอภัยโทษ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งขุนนางที่เมืองมะละกา

นี่เป็นโจรสลัดโปรตุเกสคนแรกที่ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 18:43

คนที่๒ คือ นายฟิลิป เดอ บริโต ผู้มีบทบาทอันสำคัญต่อประวัติศาสตร์พม่า ร่วมรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต่อมาจนถึงพระเอกาทศรถ
ท่านน.พ.วิบูล วิจิตรวาทการได้ค้นคว้าเรื่องนี้มาเขียนไว้ว่านายโปรตุเกสคนนี้เป็นนักเดินเรือสำเภาขั้นเทพ มีความสามารถในการสู้รบ ชำนาญทั้งปืนใหญ่ที่ยิงต่อกรระหว่างเรือรบด้วยกัน และสามารถใช้หอกดาบอย่างชำนิชำนาญเสียด้วย

ก่อนหน้าที่นายฟิลิปจะเดินทางมายังแผ่นดินพม่า สมเด็จพระนเศวรยกทัพขึ้นไปตีกรุงหงสาวดีแล้วถึงสองครั้ง หลังจากนั้น พระเจ้าตองอูก็ตั้งตนเป็นใหญ่เหนือแผ่นดินพม่า จับมือกับพระเจ้ายะไข่มอบหมายให้รักษาเมืองสิเรียม ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ อยู่ตรงข้ามปากอ่าวกับเมืองเมาะตะมะ และเป็นเมืองที่ป้องกันยาก พระเจ้ายะไข่ไม่ไว้พระทัยข้าราชการของตนสักคนเดียว กลับไปแต่งตั้งให้นายฟิลิป นายสำเภาที่มีคุณสมบัติข้างต้น ซึ่งทำให้ผมต้องสันนิฐานว่าน่าเป็นโจรสลัดเอาไว้ก่อน โดยมอบอำนาจให้นายคนนี้คุมไพร่พลรักษาเมืองสิเรียมอันสำคัญนี้

นายฟิลิป เดอ บริโตมีไพร่พลทั้งฝรั่งทั้งเอเซียนจำนวนสามพันคน พร้อมกับเรือกำปั่นอีกสามลำมารักษาเมือง เขาแสดงอำนาจด้วยการเกณฑ์ชาวบ้านชาวเมืองมาสร้างป้อมปราการอย่างแข็งแรงจนเป็นที่ครั่นคร้ามต่อชาวพม่าและมอญที่อาศัยอยู่เมืองนั้น ครั้นแล้วก็ชักชวนชาวโปรตุเกสในพม่าให้เข้ามาตั้งหลักรวมกันในเมืองสิเรียมจำนวนมาก ตั้งเป็นด่านเก็บภาษีเรือสินค้าชาติต่างๆ ที่มาค้าขายกับเมืองพม่าต่างๆที่ต้องผ่านปากน้ำหงสาวดี

นักแสวงโชคชาวโปรตุเกสผู้นี้นำเงินทองจากภาษีไปส่งส่วยให้กับพระเจ้ายะไข่มิได้ขาด แต่ขณะเดียวกัน ตนเองก็หาผลประโยชน์ส่วนตัวไปด้วย จนมีฐานะร่ำรวยมหาศาล
แต่แล้ววันหนึ่งไปทำอะไรเข้าก็ไม่แจ้ง พระเจ้ายะไข่เกิดระแวงนายฟิลิปถึงกับจะถอดออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองสิเรียม นายฟิลิปจึงเป็นกบฏต่อพระเจ้ายะไข่เสียเลย แถมยังส่งกองทหารไปยึดหัวเมืองใกล้เคียงไว้อีกด้วย พระเจ้ายะไข่จึงให้มังคะมองราชบุตรยกทัพเรือมาตีเมืองสิเรียม ส่วนพระเจ้าตองอูก็แต่งตั้งนัดจินหน่อง ผู้เป็นราชบุตรยกทัพบกมาสมทบด้วย

ทัพเรือจากเมืองยะไข่ยกมาถึงเมืองสิเรียมก่อน นายฟิลิปเห็นว่าจำนวนเรือของทัพยะไข่เหลือกำลังมิอาจต่อกรได้แน่ จึงรีบรวบรวมทรัพย์สมบัติ พาครอบครัวลงเรือสำเภาของตนแล่นหนีออกทางทะเล มังคะมองเห็นเข้าก็มุ่งสะกัด สั่งให้กองเรือยะไข่พยายามล้อมเรือของนายฟิลิป ซึ่งใช้เรือรบแบบโปรตุเกสเพียงลำเดียวสู้แบบสุนัขจนตรอก ยิงปืนใหญ่จากรอบด้าน จนเรือของยะไข่จมลงทะเลไปหลายลำ
ระหว่างนั้น นายฟิลิปส่องกล้องมองหาเรือของอุปราชเมืองยะไข่จนพบ แล้วก็สั่งระดมยิงไปที่เรือลำนั้นจนโดนเข้าเต็มใบ มังคะมองต้องกระโดดลงน้ำ นายฟิลิปก็สั่งให้เข้าไปใกล้แล้วให้ทหารลงเรือเล็กไปหิ้วตัวอุปราชเมืองยะไข่ขึ้นมาได้ จึงแล่นเรือกลับเมืองสิเรียม ด้านเรือยะไข่ลำอื่นๆเมื่อเห็นเรือธงล่มลงคาดว่าแม่ทัพคงจมน้ำตายไปแล้ว จึงยกทัพกลับตามธรรมเนียม ส่วนทัพบกจากตองอูที่กำลังเดินทัพมาสมทบนั้นเล่า พอทราบข่าวทัพเรือพ่ายต่อข้าศึกเปิดหนีกลับยะไข่ไปหมดแล้ว ก็ให้ตกใจหยุดทัพไว้เช่นเดียวกัน

พระเจ้ายะไข่ทราบข่าวพระมหาอุปราชเสียทีแก่นายฟิลิปก็แทบลมจับ จัดแจงแต่งทัพเรืออีกกองไปสมทบกับทัพบกของตองอู ยกทัพล้อมเมืองสิเรียมไว้อย่างหนาแน่น ขณะที่นายฟิลิปมีมังคะมองเป็นตัวประกันจึงถือความได้เปรียบ ส่งทูตไปเจรจาขอทำสัญญาไมตรี พระเจ้ายะไข่และพระเจ้าตองอูก็ต้องยอมปฎิบัติตามแต่โดยดี ยอมยกเมืองให้นายฟิลิป เดอ บริโต ในปีเถาะ พ.ศ.2146 ก่อนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวรรคตเพียงสองปี

ต่อมานายฟิลิปไม่ไว้ใจ เกรงว่าพระเจ้ายะไข่และพระเจ้าตองอูจะผูกพยาบาท และเห็นไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น ประเทศราชใกล้เคียงล้วนยำเกรง จึงขอสวามิภักดิ์กับกรุงศรีอยุธยา เมื่อสำเร็จแล้วนายฟิลิปก็ถือโอกาสแผ่ขยายอำนาจในพม่า บุกเข้าครอบครองกรุงหงสาวดีซี่งถูกทิ้งร้างตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเศวรยกทัพมาตี เมืองต่างๆแถบนั้นที่อยู่ปากแม่น้ำอิราวดี ตั้งแต่เมืองพะสิมเรื่อยมาจนถึงเมืองสิเรียมก็อยู่ในอำนาจหมดสิ้น นายฟิลิป เดอ บริโตจึงกลายเป็นพระเจ้าหงสาวดีของพม่าไปในบัดดล

หลายปีต่อมา พระเจ้าอังวะ ทำนุบำรุงรี้พลสร้างกองทัพพม่าขึ้นใหม่ แผ่อาณาเขตตีได้เมืองแปร และแผ่ขยายมายังเมืองตองอู ซึ่งกำลังผลัดแผ่นดิน นัดจินหน่องราชบุตรขึ้นครองเมืองแทนพระบิดา เห็นว่ากองทัพพระเจ้าอังวะแข็งแกร่งนัก จึงส่งเครื่องบรรณาการมาถวายสมเด็จพระเอกาทศรถ ยอมอ่อนน้อมเป็นข้าขัณฑสีมาของกรุงศรีอยุธยาเมื่อปีระกา พ.ศ.2152

แต่พระเจ้าอังวะก็หาสนพระทัยไม่ สั่งเกณฑ์ทัพมาตีเมืองตองอู พระเจ้าตองอูรีบขอให้กรุงศรีอยุธยาช่วยเหลือ สมเด็จพระเอกาทศรถรับสั่งให้พระยาทะละ เจ้าเมืองเมาะตะมะ และ พระเจ้าหงสาวดี ฟิลิป เดอ บริโต เกณฑ์กองทัพขึ้นไปช่วยตองอู แต่ทั้งสองเจ้าเมืองกลับเตรียมทัพล่าช้า พระเจ้าตองอูต้องยอมแพ้ต่อพระเจ้าอังวะไปเสียแล้ว

แต่กระนั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาก็เอาเรื่องกับเจ้าเมืองทั้งสองไม่ได้ นายฟิลิป เดอ บริโตก็ยังคงมีอำนาจในพม่า พงศาวดารของพม่ากล่าวว่า นักแสวงโชคชาวโปรตุเกสผู้นี้เป็นมิจฉาทิฐิ และเต็มไปด้วยความโลภอย่างหาที่เปรียบมิได้ ไม่รู้จักความเพียงพอ มักเที่ยวค้นหาทรัพย์สมบัติเข้าใส่คลังของตนเองอยู่เสมอ ถึงขนาดให้รื้อพระพุทธรูปและสถูปเจดีย์ค้นหาสิ่งของที่บรรจุไว้ จนทำให้ชาวมอญและชาวพม่าที่อยู่ใต้การปกครอง พาเกลียดชังยิ่งนัก

ที่สุดพระเจ้าอังวะก็ถือเป็นโอกาสยกทัพตีเมืองหงสาวดี เมื่อปีชวด พ.ศ. 2155 นายฟิลิป เดอ บริโต รีบส่งราชทูตขอกำลังจากกรุงศรีอยุธยาไปช่วยเหลือ คราวนี้สมเด็จพระเอกาทศรถทรงปฎิเสธ นายฟิลิป เดอ บริโตจึงหันไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลโปรตุเกสที่กัว โดยมีข้อแลกเปลี่ยนจะยกเมืองหงสาวดีให้เป็นการตอบแทน ขณะเดียวกันก็เกลี้ยกล่อมพระเจ้าตองอู ยกเรือกำปั่นพม่ามาช่วยป้องกันเมืองสิเรียมหลายลำ
แต่แล้ว เรือรบของรัฐบาลโปรตุเกสก็ไม่มาตามนัด พระเจ้าอังวะตีเมืองหงสาวดีแตกในเดือน5 ขึ้น 7 ค่ำ ปีฉลู พ.ศ.2156 และสามารถจับกุมตัวนายฟิลิป เดอ บริโต กับ พระเจ้าตองอูนัดจินหน่องได้ ทั้งสองถูกพระเจ้าอังวะตัดสินประหารชีวิต นัดจินหน่องถูกยัดใส่ถุงแดงเอาท่อนจันทน์ทุบในฐานะเป็นเจ้า ส่วนนายฟิลิป เดอ บริโต ในฐานะเป็นโจร ถูกนำขึ้นขาหย่างตากแดดตากลมอย่างรูปข้างล่างที่อังกฤษจับกบฏพม่ามาสาธิตให้ท่านดู อยู่ได้สามวันก็ตาย ทรัพย์สมบัติถูกริบ ชาวโปรตุเกสชายหญิง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่กว่าสี่ร้อยคนถูกนำไปเป็นเชลยที่เมืองอังวะ
เรือกำปั่นรบของรัฐบาลโปรตุเกสที่เซ่อช่ามาเทียบท่าตอนเขาเลิกรบกันแล้วก็ถูกกองทัพพระเจ้าอังวะยึดไปเป็นสมบัติส่วนพระองค์อีกด้วย

นายฟิลิป เดอ บริโต นักแสวงโชคชาวโปรตุเกส  แม้โชคชะตาจะส่งให้สามารถขึ้นไปมีอำนาจเหนือแผ่นดินพม่าได้ แต่กลับเป็นทาสของความโลภ กระทำการเยี่ยงโจรสลัดปล้นสะดมภ์ชาวบ้านชาวเมือง จึงเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้เขาพบความย่อยยับอัปราชัยในท้ายที่สุด



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 30 เม.ย. 11, 20:24

^
ยอดเยี่ยมค่ะ   ทำการบ้านเร็วมาก
แบบนี้น่าให้อีก  ยิงฟันยิ้ม



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 17
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.094 วินาที กับ 19 คำสั่ง