เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 17
  พิมพ์  
อ่าน: 83756 โปรตุเกสเข้าเมือง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 29 เม.ย. 11, 14:08

เนื่องจากกระแสโปรตุเกสในเรือนไทย กำลังมาแรง   ทั้งอาหารและขนมโปรตุเกสในไทย    ทั้งประวัติศาสตร์ ที่ดิฉันเอ่ยไว้นิดหน่อยในกระทู้ภาพพระราชพงศาวดาร
พูดถึงบทบาทของทหารโปรตุเกสในเขมร  และโปรตุเกสในพม่า
ก็เลยตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา  เพื่อขยายความถึงบทบาทโปรตุเกสให้ละเอียดขึ้น  ดีกว่าจะไปแทรกไว้ที่นั่นนิดที่นี่หน่อย  อ่านไม่ปะติดปะต่อกัน

ชื่อจริงๆของกระทู้ควรเป็น  "บทบาทของโปรตุเกสในเอเชียอาคเนย์"    แต่ฟังเคร่งเครียดเหมือนหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก    เกรงว่าผู้อ่านเรือนไทยจะหลับ
ก็เลยเรียกง่ายๆอย่างข้างบนนี้ละค่ะ

ถ้าท่านผู้อ่านเดินทางย้อนเวลาไปถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวร   ก็จะเห็นเรือสำเภาฝรั่งอย่างนี้ กางใบอยู่ในอ่าวไทย  นายเรือคือฝรั่งโปรตุเกส


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 14:53

อ.เทาชมพู ล่องเรือมา ต้องจัดหาแผนที่มาด้วย  ยิงฟันยิ้ม

แผนที่ระวางนี้พิมพ์ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1491 ก่อนที่เรือโปรตุเกส จะมายังมะละกา - สยาม - พม่า ในช่วง ค.ศ. 1511

รู้เพียงว่า เมืองกัว (Goa) เป็นเมืองที่สำคัญของอินเดีย โปรตุเกสได้ยึดไว้เป็นแหล่งสถานีการค้า เรือโปรตุเกสจึงอาศัยแผนที่เหล่านี้เดินเรืออ้อมเข้าช่องแคบมะละกาเดินทางไปยังประเทศจีน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 15:18

ได้กำลังมาเสริมแล้ว สงสัยกระทู้จะยาว  ยิงฟันยิ้ม

ย้อนหลังไปห้าหกร้อยปีก่อน    แสนยานุภาพของประเทศในยุโรปอยู่ในนาวานุภาพหรือกองทัพเรือ     ใครมีกองทัพเรือเข้มแข็งก็เป็นบิ๊กประเทศได้แล้ว     ส่วนกำลังทหารบกมีเอาไว้แค่รบกับเพื่อนบ้าน   เพราะทหารเดินเท้ากันได้ไม่ไกล   ผิดกับทัพเรือที่แล่นกันไปได้ครึ่งโลก    คือไปทั้งค้าขายเอาเงินทองมาเพิ่มพูนท้องพระคลัง  และปะเหมาะเคราะห์ดีก็ใช้ปืนใหญ่ปืนเล็กในเรือ ยึดบ้านเมืองที่เดินทางไปถึงเอาไว้ได้ง่ายๆ   อย่างหลังนี้  ขึ้นกับว่าคุ้มทุนหรือเปล่า
โปรตุเกสเป็นประเทศหนึ่งที่ชาวเรือของเขาแล่นเรือไปไกลๆครึ่งค่อนโลก   โดยเฉพาะมาทางตะวันออก     สินค้าสำคัญที่ต้องการมากได้แก่เครื่องเทศ     เครื่องเทศในสมัยนั้นมีค่าราวกับทองคำ   เพราะนอกจากปรุงรสอาหารแล้วยังใช้ถนอมอาหาร  เนื่องจากยังไม่มีตู้เย็นตู้แช่อย่างในปัจจุบัน    เอเชียเป็นแหล่งเครื่องเทศสำคัญของโลก  นอกจากนี้ยังมั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติอีกหลายอย่าง  ล้วนเป็นที่ต้องประสงค์ของฝรั่ง
ประเทศอีกแห่งที่มีเส้นทางเดินเรือมาถึงเอเชียอาคเนย์คู่คี่กับโปรตุเกส คือสเปน    แต่ขอเว้นไว้ก่อนเพราะเรื่องจะออกนอกทางมากไป

โปรตุเกสเดินทางมาถึงเอเชียอาคเนย์และจีนตั้งแต่ค.ศ. 1517     มาถึงไต้หวันและญี่ปุ่นในยุคนี้แหละค่ะ  

แผนที่ข้างล่างนี้แสดงถึงเส้นทางเดินเรือของโปรตุเกสและสเปน  เพิ่มเติมจากแผนที่ที่คุณ siamese หามาให้ดู
สีน้ำเงินคือเส้นทางเรือของโปรตุเกส  สีขาวคือเส้นทางเรือของสเปน


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 15:38


รู้เพียงว่า เมืองกัว (Goa) เป็นเมืองที่สำคัญของอินเดีย โปรตุเกสได้ยึดไว้เป็นแหล่งสถานีการค้า เรือโปรตุเกสจึงอาศัยแผนที่เหล่านี้เดินเรืออ้อมเข้าช่องแคบมะละกาเดินทางไปยังประเทศจีน

โปรตุเกสได้กัวเป็นเมืองท่าอยู่นานพอใช้  มากพอจะทำให้วัฒนธรรมโปรตุเกสทิ้งร่องรอยไว้ในเมืองนี้หลายอย่าง    อย่างหนึ่งคืออาหาร
ไหนๆคุณ siamese  ก็พาผู้อ่านเรือนไทยแวะเมืองกัว  จึงขอเสิฟอาหารกัวที่ได้อิทธิพลโปรตุเกส  คือไก่ทอด( หรือย่าง) สูตรโปรตุเกส เรียกว่า  Cafreal  กินกับมะเขือเทศและมันฝรั่งย่างไฟ     พร้อมกับซอสรสเดียวกับ  Peri-peri sauce ของโปรตุเกส


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 15:48

ส่วนของหวานของ Goa ที่ได้มาจากโปรตุเกส คือ bebinca  
ตอนแรกที่ค้นหาขนมบ้าบิ่น ก็มาเจอชื่อนี้เหมือนกัน  แต่ดูหน้าตามันไม่เหมือนขนมบ้าบิ่นเอาเลย  ก็เลยมองข้ามไป
ขนม bebinca ทำจากกระทิ ผสมกับแป้ง น้ำตาล จันทร์เทศ   กระวาน ไข่ขาว และน้ำมันเนย (ฆี)  ทำเป็นชั้นๆเหมือนขนมชั้น


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 15:49

ขอบคุณสำหรับไก่ย่างครับผม  อายจัง เห็นทีไรท้องร้องทุกที

เมืองกัว ดูจากแผนที่แล้วถือว่าเจริญมาก การจัดระบบผังเมืองออกไปทางวงกลม มีโบสถ์กลางเมือง มีที่พักสินค้า มีเรือหลายลำมาจอดเทียบท่า

เมืองกัวนี้คงเป็นจุดพักแรก ที่บรรดาพ่อค้าขนสินค้าออกจากเปอร์เซีย


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 16:09

ภาพขยายทัศนียภาพของเมืองกัว ครับมีการใช้ช้างเป็นแรงงาน มีโบสถ์คริสศาสนา เป็นที่พักสินค้า ก่อนนำเรืออ้อมไปถึงศรีลังกา และเข้าช่องแคบมะละกาในเวลาต่อไป


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 17:03

      ดูจากรูปที่คุณ siamese นำมาให้ดูข้างบนนี้  จะเห็นว่า เมื่อโปรตุเกสไปถึงเมืองไหน ก็ต้องเอาคริสตศาสนาลงไปไว้ด้วยที่นั่น    ไม่ได้ไปค้าขายเฉยๆ      เรือสำเภาไม่ได้มีแค่กลาสีกับสินค้าเท่านั้น    แต่ว่าจะต้องพ่วงท้ายด้วยบาทหลวงหรือมิชชันนารีผู้เผยแพร่ศาสนาติดไปด้วยเสมอ     ไปปักหลักอยู่เมืองไหน   คนเหล่านี้ก็ไปสร้างโบสถ์เผยแพร่ศาสนาที่นั่น    มีอุดมการณ์มุ่งมั่นว่าถ้าชาวบ้านชาวเมืองหันมานับถือคริสต์ได้ ก็ถือว่าได้บุญทั้งผู้เผยแพร่และผู้หันมานับถือ   เพราะสำหรับชาวคริสต์  ผู้อยู่นอกศาสนา จะไม่มีโอกาสขึ้นสวรรค์เมื่อตายไปแล้ว
      จากกัว  นักเดินเรือโปรตุเกสค้นพบเส้นทางเดินเรือไปมะละกา    ซึ่งเป็นเมืองมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีเจ้าเมืองซึ่งเรียกว่าสุลต่านเป็นผู้ปกครอง    พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสก็พระกรรณผึ่งขึ้นมาทันทีด้วยความสนพระทัย     ถึงกับส่งแม่ทัพเรือชื่อนายพลดิโอโก โลเปซ เดอ เซคีร่า (Diogo Lopes de Sequeira - ถ้าออกเสียงผิดบอกด้วยนะคะ   ดิฉันไม่รู้ภาษาโปรตุเกส) มาเจริญสัมพันธไมตรีกับสุลต่านแห่งมะละกา   และเป็นตัวแทนผู้มีอำนาจเต็มทางอินเดียตะวันออก
       สุลต่านแห่งมะละกาในปี ค.ศ. 1509  ทรงพระนามว่ามาร์หมุด ชาห์ ทรงต้อนรับเซคีร่ากับลูกเรือด้วยดี ยินดีค้าขายด้วย  ไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์อะไรในตอนแรก    แต่ต่อมา ก็เกิดปัญหาระหว่างกันขึ้นมาจนได้    เพราะอย่างที่บอกแล้วว่าโปรตุเกสไปไหนก็เอาคริสตศาสนาไปด้วยที่นั่น     ส่วนมะลากานั้นชาวเมืองนับถือศาสนาอิสลาม  รวมทั้งองค์สุลต่านและขุนนางใหญ่น้อยด้วย   ความข้ดแย้งระหว่างผู้คนต่างศาสนาจึงปะทุขึ้นมา   โดยมีความรังเกียจเป็นเชื้อไฟ

      รูปข้างล่างนี้คือ Sequeira ค่ะ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 17:34

ตอนอยู่ชั้นมัธยม แบบเรียนภาษาอังกฤษของผมมีเรื่องของชาวปอร์ตุเกตคนหนึ่งภายใต้ชื่อว่า “Vasco da Gama, who discovered the sea way to India” อันเป็นเรื่องของนักเดินเรือที่ไม่เชื่อว่าโลกแบน
 
วาสโก ดา กามา ได้ตั้งต้นเดินทางจากลิสบอน และแล่นเรือไปยังหมู่เกาะเคปเวอร์ด แล้วแล่นไปทางใต้อ้อมแหลมกู้ดโฮป ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจุดอันตรายที่มีลมพายุพัดแรงตลอดเวลาวาสโก ดา กามาต้องใช้วิธีการให้เรือใบวิ่งซิกแซกทวนลมจึงหลุดพ้นไปได้ แล้วเลาะไปตามชายฝั่งอาฟริกาตะวันออกขึ้นไปทางเหนือจนมาถึงมาลีนดี (คีนยา) แล้วจึงได้ข้ามมหาสมุทรอินเดีย ถึงชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของชมพูทวีปในปีค.ศ.1498 อยู่ที่นั่นจนถึงปี ค.ศ.1499 จึงเดินทางกลับโปรตุเกส และได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่เยี่ยงวีรบุรุษของชาติ

หลังจากนั้นมาชาวปอร์ตุเกตก็เป็นจ้าวทะเลในโลกแถบนี้

อ่านกระทู้นี้แล้ว นึกถึงวาสโก ดา กามาขึ้นมาได้ เลยขอเข้ามาแจมเป็นการฟื้นความหลังนี้หน่อยครับ
เชิญท่านเจ้าของกระทู้ต่อ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 19:10

^
คงหนังสือเรียนเรื่องเดียวกันละค่ะ     จำได้แต่ชื่อวาสโก ดา กามา อ้อมแหลมกู๊ดโฮป  แต่จำไม่ได้แล้วว่าแกไปทำอะไรที่ไหนต่อจากนั้น
เชิญท่านนวรัตนร่วมวงได้ตามอัธยาศัย

ถ้าต่อไปนี้เล่าไม่ค่อยได้เรื่องก็โปรดอภัย    มัวดูพิธีอภิเษกของเจ้าชายวิลเลียมกับเจ้าหญิงเคทหรือแคธเทอรีนอยู่ค่ะ

พวกข้าราชบริพารรวมทั้งพ่อค้าวาณิชชาวมะละกา ล้วนแต่ต่อต้านคนต่างชาติศาสนาจากยุโรป      พวกนี้เห็นว่าโปรตุเกสเข้าเมืองไหน ภัยก็มาถึงเมืองนั้น   ดูแต่กัวเป็นตัวอย่างเห็นๆ   อยู่มาดีๆ ก็หลุดไปอยู่ในเงื้อมมือฝรั่ง    สินค้าที่พ่อค้ามะละกาเคยค้าขายตามสบาย   ก็มีคู่แข่งรายใหญ่ขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน   รวมแล้วกลายเป็นว่าโปรตุเกสเป็นภัยคุกคามความมั่นคงมะละกา  อย่าเอาไว้เลยพระเจ้าข้า
ในเมื่อพวกนี้รวมหัวกันแอนตี้เป็นเสียงเดียวกัน  สุลต่านก็คล้อยตาม   ถึงกับตัดสินพระทัยจับกุมชาวโปรตุเกส  คนไหนขัดขืนต่อสู้ก็ถูกฆ่า  แล้วก็ทรงยกพลถล่มขบวนเรือ เพื่อจะปราบปรามเสียให้สิ้นซาก     แต่ไม่ทัน  เรือโปรตุเกสหนีรอดออกทะเลไปได้สำเร็จ
เมื่อหนีรอดไปได้   โปรตุเกสก็รู้ว่าหนทางรอดมีอยู่ทางเดียว  คือตีโต้กลับไป  เล่นงานมะละกาให้อยู่หมัด    มิฉะนั้นความหวังที่จะเปิดเส้นทางสู่เอเชียอาคเนย์ก็หมดไป

โปรตุเกสกลับมาอีกครั้งพร้อมด้วยทัพเรือมหึมา  ยกพลมาถึง ๑๒๐๐ คน เรือ ๑๗-๑๘ ลำในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๕๑๑  ศึกระหว่างมะละกากับโปรตุเกสเริ่มในเดือนกรกฎาคม  ทั้งๆที่ทางฝ่ายมะละกาต่อสู้อย่างทรหด    โปรตุเกสก็เข้ายึดเมืองได้ในเดือนสิงหาคม
มะละกาก็ตกอยู่ในเงื้อมมือโปรตุเกสนับแต่นั้น
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 20:09

มะละกา ดินแดนที่เต็มไปด้วยเครื่องเทศ เช่น อบเชย พริกไทย รังนก จึงขอนำภาพที่วาดไว้บรรยากาศสมัยนั้น


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 20:19

    โปรตุเกสพบว่าเหนือมะละกาขึ้นไป   มีอาณาจักรอยู่อีกแห่งชื่ออยุธยา  มั่งคั่งด้วยทรัพยากรไม่น้อยหน้ามะละกา     มีกษัตริย์แห่งอยุธยาเป็นผู้ค้าขายกับต่างชาติในเอเชีย    โดยมิได้รังเกียจความแตกต่างทางเชื้อชาติศาสนา     พูดถึงทางด้านศาสนา   อยุธยานับถือพุทธศาสนา  ซึ่งเป็นศาสนาที่สงบสันติ    ถือว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นบาป     ดังนั้นปัญหากระทบกระทั่งจนถึงขั้นรบราฆ่าฟันกับพ่อค้าวาณิชต่างชาติก็ไม่มี        ผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งมะละกาก็สนใจ  จึงดูลู่ทางการค้าด้วยการส่งทูตเข้ามาในปีเดียวกันกับยึดมะละกาได้นั่นเอง
    โปรตุเกสค้าขายกับไทยได้ราบรื่นไม่มีปัญหา  สมดังที่คาดไว้  ก็เพราะเหตุนี้  5 ปีต่อมา  จึงมีเกิดสัญญาทางพระราชไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2  ในค.ศ. 1516      จากนั้นชาวโปรตุเกสก็รวมกลุ่มกันได้เป็นหนาแน่น   จนตั้งถิ่นฐานหมู่บ้านโปรตุเกสขึ้นในกรุงศรีอยุธยา
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 20:20

เรือใบขนาด ๗ ใบ ระวาง ๒,๓๐๐ ตัน บรรทุกคนได้ ๖๕๐ คน ในช่วงที่นำมาบุกยังมะละกา


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 20:35

ขอเสริม อ.เทาชมพูสักหน่อยเรื่องการเข้ามาของชาวโปรตุเกส ที่กรุงศรีอยุธยา

เมื่อโปรตุเกสได้ทำการยึดมะละกาแล้วเมื่อ ค.ศ. 1511 เพื่อใช้เป็นเมืองท่า ขณะนั้น อัลฟองโซ เดอ อัลคูเคิร์ก (Alfonso de Albuquerque) ผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสประจำภาคอินเดียตะวันออก ซึ่งพำนักที่เมืองกัว ทราบว่ามะละกาเคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของไทย จึงได้ส่ง มานูเอล ฟัลเกา (Manuel Falcao) มาเจรจากับไทย เมื่อ ค.ศ. 1511

ต่อมาจึงส่ง ดูอาร์เต้ เฟอร์นันเดส (Duarte Fernandes) เป็นทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบบดีที่ 2 ในปีเดียวกัน ซึ่งโปรตุเกสต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับไทย เพราะขณะนั้นโปรตุเกสยังติดพันกับการสู้รบกับสุลต่านแห่งเมืองทางตอนใต้ของแหลมมลายูและชายฝั่งตอนเหนือของสุมาตรา และยังต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีเพื่อเป็นแหล่งสถานีการค้า ให้เป็นที่พักเรือ ท่าจอดเรือ และยังสามารถเผยแพร่คริสต์ศาสนาอีด้วย

และในปี ค.ศ. 1512 โปรตุเกสจึงส่งทูตมายังพม่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 20:42

      มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า   โปรตุเกสเล็งอาณาจักศรีอยุธยาไว้ตั้งแต่ก่อนได้มะละกาแล้วด้วยซ้ำ   ทูตโปรตุเกสที่มาครั้งแรก   จึงมีข้อเสนอกับอยุธยา นอกจากเรื่องค้าขายแล้ว ก็ยังเสนอสิทธิพิเศษแก่กรุงศรีอยุธยา  หากโปรตุเกสสามารถยึดครองมะละกาได้ หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน โปรตุเกสก็ยึดมะละกาสำเร็จ
      ปีต่อมาคือ ค.ศ. 1512   ทูตโปรตุเกสก็มาอีก  อย่าไปจำชื่อเลยว่าชื่ออะไร เพราะกระทู้นี้ไม่ได้ออกเป็นข้อสอบ      คราวนี้มาเจรจาให้กรุงศรีอยุธยาส่งเรือไปค้าขายที่มะละกา   โดยมีโปรโมชั่นล่อใจว่าให้ความช่วยเหลือด้านการทหาร และมีกองเรือจากมะละกาไว้เป็นแบ๊คแก่กรุงศรีอยุธยา   หากว่าต้องทำศึกหรือเกิดสถานการณ์คับขันขึ้นมา
      คณะทูตกลับไปแล้ว แต่ทิ้งชาวโปรตุเกสไว้คนหนึ่งชื่อ Fragoso   (อ่านว่าฟรากูซู    เพิ่งเจอว่าตัว o ในภาษาโปรตุเกสออกเสียงเป็น อู)  นายคนนี้ไม่รีบกลับ แต่ปักหลักอยู่กรุงศรีอยุธยาประมาณ 2 ปี   เขียนบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยามากมาย  ทั้งพิกัดและที่ตั้ง   รวมทั้งเมืองท่าต่างๆ ในอาณาจักร   บอกรายละเอียดเรื่องสินค้า การแต่งกาย ขนบธรรมประเพณีของชาวสยามด้วย   แกคงจะทำหน้าที่คล้ายๆเจ้าหน้าที่กรมประมวลข่าวกลางละกระมัง

      แถมภาพโปรตุเกสยึดมะละกาค่ะ


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 17
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.059 วินาที กับ 19 คำสั่ง