เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 48090 ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 28 เม.ย. 11, 09:00


รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์
(ว.วินิจฉัยกุล)
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2547

   หมายเหตุ   รับเชิญจากมูลนิธิ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปบรรยาย ณ บ้านซอยสวนพลู ในวันพุธที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๔  กล่าวถึง ความเป็นนักประพันธ์จากผลงานวรรณกรรมของ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  เนื่องในงานเฉลิมฉลอง ครบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล    ในวาระที่ท่านได้รับการประกาศยกย่องจาก UNESCO (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔


    ผลงานเรื่องแรกของพลตรีม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชที่ดิฉันได้อ่านเมื่ออายุประมาณ ๑๐ ขวบ  คือรวมเรื่องสั้น เพื่อนนอน ฉบับแรก  ยังไม่มีฉบับสมบูรณ์ในตอนนั้น   ที่ได้อ่านเพราะคุณพ่อคุณแม่ดิฉันเป็นแฟนหนังสืออย่างเหนียวแน่นของพลตรีม.ร.ว.คึกฤทธิ์ด้วยกันทั้งคู่   ตู้หนังสือในบ้านจึงเปิดกว้างสำหรับลูก  พ่อแม่อ่านอะไร ลูกก็ได้อ่านอย่างนั้น   ดิฉันได้อ่านงานของท่านตั้งแต่ยังไม่รู้ประสีประสา   อ่านเรื่อง กบกายสิทธิ์ ในเพื่อนนอนก็เข้าใจว่าเป็นเทพนิยาย   อ่านเรื่องแผ่นดินมหัศจรรย์ และเกาะร้างทางรัก ก็นึกว่าเป็นนิทาน  อ่านเรื่องมอม ก็นึกว่าเรื่องจริง  ร้องไห้เป็นห่วงมอมเป็นวรรคเป็นเวร   อยากจะเอาข้าวไปให้มอมกินในตอนจบของเรื่อง เพราะนายตกงาน ไม่มีสตางค์ซื้อข้าวให้   สรุปว่าตัวหนังสือของท่านก็มีเสน่ห์ จับใจได้แม้แต่กับเด็กอายุ ๑๐ ขวบ     ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ยื่นหนังสือให้อ่าน  ถ้าเห็นชื่อ คึกฤทธิ์ ปราโมชอยู่บนปก   ดิฉันอ่านหมด ไม่เคยเกี่ยงงอนเลย 
   จากนั้นไม่นานนักก็ได้อ่าน “สี่แผ่นดิน” ในห้องสมุดโรงเรียน  ประทับใจในแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ ราวกับว่าหนังสือเล่มนี้คือหนังสือวิเศษ เป็นประตูเปิดเข้าไปสู่มิติในอดีตที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน  แต่สัมผัสได้ทุกย่างก้าวตั้งแต่ประตูวัง  แล้วติดตามแม่พลอยเข้าไปถึงตำหนักจนแม่พลอยทูลลาเสด็จออกมาสมรสกับคุณเปรม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 28 เม.ย. 11, 09:01

       พรสวรรค์ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่ยากจะหานักประพันธ์อื่นเปรียบได้ คือท่านสามารถพาคนอ่านเดินเข้าไปอยู่ในนวนิยายของท่านเหมือนมีโลกนั้นอยู่ในความเป็นจริง     ท่านสามารถปลุกเสกตัวละครขึ้นมาจากตัวอักษร   ให้หายใจ มีชีวิตและเลือดเนื้อได้อย่างคนจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงคำบรรยายในหน้ากระดาษ  จึงไม่แปลกที่คนอ่านต่างก็รู้สึกคุ้นเคยกับแม่พลอยผู้งามพร้อมทั้งกายและใจ    ช้อยสาวชาววังผู้ฉลาดเฉลียวเจ้าคารม    เสด็จเจ้านายผู้ทรงทั้งพระเดชและพระคุณ   คุณเปรมผู้ดำรงชีวิตแบบหนุ่มลูกผู้ดีชายไทยสมัยรัชกาลที่ ๕  และลูกๆทั้งสี่คน    แต่ตัวละครของพลตรีม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะชนชั้นสูงในสังคม    ชาวบ้านอย่างไอ้ลอย พระเสม  โนรี ทองโปรย เจ้าผลพระเอกและคนอื่นๆที่โดยสารเรือมาพบจุดจบพร้อมกันในเรื่อง “หลายชีวิต” ก็สะท้อนชีวิตชาวบ้านภาคกลางให้เห็นได้แจ่มแจ้ง  ราวกับพวกเขาเป็นเพื่อนฝูงคนรู้จักมาแต่เก่าก่อน   

        พรสวรรค์อีกประการหนึ่งทางด้านวรรณกรรมของพลตรีม.ร.ว. คึกฤทธิ์ คือความสามารถด้านภาษา ในระดับที่เรียกว่า เป็น “นายของภาษา” ท่านสามารถหยิบยกคำในภาษาไทยมาใช้ให้เห็นเอกลักษณ์ของสังคมที่ท่านบรรยายถึง ได้อย่างถึงแก่น   เมื่อพูดถึงข้อนี้ก็ต้องบอกว่า มีใครอื่นที่ไหนสามารถดึงภาษาชาววังสมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นมาให้คนอ่านเห็นวัฒนธรรมทางภาษาอย่างแจ่มแจ้ง  แค่ประโยคสั้นๆว่า “เสด็จให้มาทูลเสด็จว่าจะเสด็จหรือไม่เสด็จ     ถ้าเสด็จจะเสด็จ  เสด็จจะเสด็จด้วย”
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 28 เม.ย. 11, 09:49

แค่ประโยคสั้นๆว่า “เสด็จให้มาทูลเสด็จว่าจะเสด็จหรือไม่เสด็จ     ถ้าเสด็จจะเสด็จ  เสด็จจะเสด็จด้วย”

เห็นด้วยครับ วรรณกรรมของหม่อมคึกฤทธิ์ที่ผมอ่านเรื่องแรกเห็นจะเป็น "ไผ่แดง" ออกไปทางการเมืองสักหน่อย อายุราว ๑๒-๑๓ ก็อ่านเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ตามด้วยเจ้ามอม ซึ่งบรรจุในวิชาภาษาไทย และตามด้วย ซูสีไทเฮา, สี่แผ่นดิน, โครงกระดูกในตู้ และพม่าเสียเมือง

สำหรับประโยคคลาสสิกในเรื่องสี่แผ่นดิน “เสด็จให้มาทูลเสด็จว่าจะเสด็จหรือไม่เสด็จ     ถ้าเสด็จจะเสด็จ  เสด็จจะเสด็จด้วย” นั้นเคยประสบเจอด้วยกันหลายครั้ง

๑. อ่านเจอในสี่แผ่นดิน
๒. เป็นข้อสอบเอ็นทราส์เลยครับ จำได้แม่น ถามว่าในประโยคนี้ มีคำว่า"เสด็จ" ที่แปลว่า "ไป" กี่คำ  ขยิบตา
๓. ในภาพยนต์จอแก้ว
๔. ในกระทู้เรือนไทย   ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 28 เม.ย. 11, 10:03

เรื่องแรกที่ผมอ่านคือ ฮวนนั้ง ตั้งแต่อยู่ชั้นประถม ต่อด้วย หลายชีวิต
มาอ่าน สี่แผ่นดิน ตอนอยู่มัธยม มาจนตอนนี้อายุ ๕๐ ปี ผมจำไม่ได้ว่าอ่านสี่แผ่นดินจบไปกี่รอบ
แต่ทุกครั้งที่อ่านจะเกิดอารมณ์ร่วม น้ำตาไหลเมื่อตอนล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ สวรรคต น้ำตาไหลเมื่อการเมืองเข้ามาเล่นงานครอบครัวแม่พลอย
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 28 เม.ย. 11, 11:34

ท่านเป็น ปราชญ์ จริงๆ เลยค่ะ  ยิงฟันยิ้ม
รอบรู้รอบด้านมากเลย ที่สำคัญท่านมีอารมณ์ขันค่ะ...

เคยได้อ่านผลงานของท่าน หลายเรื่องค่ะ อ่านตั้งแต่เด็กรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง..แต่ก็ชอบอ่าน
(เป็นคนไม่ชอบอ่านเรื่องการเมืองค่ะ)
-เพื่อนนอน
-มอม
-หลายชีวิต
-น้ำพริก
-สรรพสัตว์
-สัพเพเหระ
-ฝรั่งศักดินา
-โครงกระดูกในตู้
-ไผ่แดง
-กาเหว่าที่บ้านเพลง
-สี่แผนดิน
-คนรักหมา
-เรื่องขำขัน
-.........ฯลฯ

เรื่องสุดท้ายที่อ่าน พม่าเสียเมือง ค่ะ

มารอฟัง อ.เทาชมพู เล่าเรื่อง ต่อค่ะ .... ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 เม.ย. 11, 12:06

(ต่อ)
         คำพูดแค่นี้แสดงถึงเอกลักษณ์ภาษาชาววังได้โดยไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาวกว่านี้  นอกจากนี้ ยังเป็นสำนวนเฉพาะตัวของคนไทยจริงๆ     จะแปลเป็นภาษาอื่นก็แปลไม่ได้กระชับรัดกุมและได้รสเท่านี้    เพราะจะต้องพ่วงด้วยคำอธิบายตามมาอีกยืดยาว
   
         ความเป็นนายของภาษาเห็นได้อีกหลายอย่าง   เช่น คารมในการเขียน     พลตรีม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นผู้มีอารมณ์ขันอันคมคาย     ไม่ว่าเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก  เรื่องตึงเครียดทางการเมืองอย่างใดก็ตาม  ท่านสื่อออกมาด้วยอารมณ์ขัน  ด้วยโวหารหยิกแกมหยอก ทีเล่นทีจริง  ยั่วเย้าอย่างสุภาพโดยไม่หยาบคายหรือล่วงละเมิดในเชิงดูถูกดูแคลนผู้ที่ท่านเอ่ยถึง      บทความของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ที่ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อคอลัมน์เป็นอะไรก็ตาม  จึงมีผู้ติดตามอ่านทุกมุมเมือง    ยิ่งถ้าสถานการณ์ทางการเมืองเข้มข้น หรือเกิดปัญหายุ่งยากอย่างใดก็ตาม   คนอ่านก็จะติดตามอ่านด้วยใจระทึกว่า เรื่องนี้ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีความเห็นอย่างไร ในทำนองไหน    มีนับครั้งไม่ถ้วนที่ท่านเป็นผู้ชี้ขาดปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่กำลังร้อนระอุคุกรุ่นอยู่ในช่วงนั้น     ผลก็คือ ความร้อนที่ทำท่าว่าจะลุกเป็นไฟขึ้นมา ก็สงบลงเหลือเพียงควันกรุ่นๆ ก่อนจะดับหายไปในเวลาไม่นานนัก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 เม.ย. 11, 17:20

        ความเป็นนายของภาษาประการสุดท้ายที่จะกล่าวถึงก็คือ  ท่านเป็นผู้เขียนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย  อ่านเข้าใจชัดเจน  ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ที่ชำนาญภาษาโดยแท้จริง  เพราะการเขียนเรื่องยากให้อ่านง่ายนั้น ทำได้ยากกว่าเขียนเรื่องง่ายให้อ่านยาก      เนื่องจากคนที่ไม่ชำนาญทางภาษา  จะทำได้เพียงเขียนให้ตัวเองเข้าใจอยู่ฝ่ายเดียว    ไม่สามารถดูออกว่าสิ่งที่เขาสื่อสารนั้นคนอ่านเข้าใจได้หรือไม่         
       ดังนั้นเมื่อพวกนี้เขียนเรื่องง่าย คนอ่านก็เข้าใจยาก  ยิ่งถ้าเขียนเรื่องยาก คนอ่านก็จะยิ่งเข้าใจยากหนักเข้าไปอีก  ผิดกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่สามารถสื่อเรื่องยากๆเช่นเรื่องประวัติศาสตร์และสังคมของต่างประเทศ   ไม่ว่า ถกเขมร   พม่าเสียเมือง  ฝรั่งศักดินา  ยิว หรือฉากญี่ปุ่น ได้ออกมาเป็นเรื่องสนุกด้วยภาษาที่อ่านง่ายชัดเจน โดยยังคงสาระไว้ครบถ้วย    เพราะท่านชำนาญภาษาพอจะดูออกว่าควรสื่อสารด้วยถ้อยคำอย่างใด  จึงจะสื่อความหมายที่ต้องการให้ผู้คนที่หลากหลายทั้งเพศ วัย และพื้นฐานการศึกษาได้เข้าใจกันทั่วหน้า
       วิธีของท่านคือเขียนด้วยภาษาที่ง่ายและชัดเจน   แต่ก็ไม่ใช่ง่ายอย่างภาษาของเด็ก   แต่มีความลึกอยู่ในความคิดและจินตนาการที่แฝงมาในภาษา   อย่างตอนหนึ่งจากเรื่อง ถกเขมร   ท่านพูดถึงนครวัด ว่า

        "...คิดดูแล้วก็เห็นว่าเกินกำลังดันทางศิลปะ เกินศรัทธา และเกินความฝันของมนุษย์ที่จะสร้างสรรค์สิ่งก่อสร้างอันใหญ่หลวงนี้ขึ้นมา ได้ด้วยกำลังแขนกำลังขาและด้วยเครื่องมือเพียงง่ายๆตามแบบโบราณภายในเวลา เพียง 30 ปีเท่านั้น สิ่งเดียวที่ก่อกำเนิดและเร่งรัดการก่อสร้างนี้ไปจนสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง ขึ้นมาได้ ก็คือ อำนาจ อำนาจที่เห็นแก่ตัว จะเคลิ้มฝันเห็นตัวเองเป็นเทวราชผู้ครองโลก อำนาจที่กดขี่บังคับและทารุณแก่มนุษย์อื่นๆ โดยมิได้เห็นราคาและมิได้เห็นว่าเป็นมนุษย์ด้วยกัน ถ้าหากว่าเหงื่อและน้ำตาตลอดจนชีวิตของมนุษย์ที่ถูกเกณฑ์เอามาสร้างนครวัด นี้ สามารถจะตักตวงเอาไว้ได้ เหงื่อ น้ำตา และชีวิตนั้น ก็คงจะท่วมท้นคูที่ล้อมรอบนครวัดนั้นอยู่ เสียงลมที่พัดเข้ามาทางช่องทวารศิลาและแล่นไปตามระเบียงมืด ดังเหมือนเสียงสะท้อนของเสียงโหยหวนด้วยความเจ็บปวดเมื่อพันปีมาแล้ว และเสียงค้างคาวกระพือปีกและเสียงค้างคาวร้อง ฟังดูเหมือนเสียงคนกระซิบกระซาบ  ปรับทุกข์กันด้วยความเหนื่อยอ่อนและเมื่อยล้า..."
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 เม.ย. 11, 20:32

       ดิฉันเคยถามตัวเองว่า เสน่ห์ของวรรณกรรมของพลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นอกจากเนื้อเรื่อง ภาษา และตัวละครแล้ว ในข้อเขียนต่างๆ ซึ่งไม่มีการสร้างสรรค์เรื่องราวตัวละคร  ยังมีคุณสมบัติอย่างใดอีก ที่ทำให้เป็นที่ติดอกติดใจของคนอ่านไม่น้อยกว่ากัน    ในที่สุดก็ได้คำตอบว่า   เป็นวิธีเขียนโดยใช้ตรรกะ ซึ่งมีอยู่อย่างสม่ำเสมอในคอลัมน์หรือสารคดีของท่าน
        พลตรีม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ไม่กล่าวถึงสิ่งใดลอยๆ  โดยปราศจากเหตุผลที่มารองรับ     เรื่องของท่านตั้งแต่วิธีทำน้ำพริกไปจนเรื่องประวัติศาสตร์ยุโรป  ล้วนแล้วแต่มีคำอธิบายที่มาที่ไปรองรับความคิดเห็นของท่านทั้งสิ้น      โดยมากก็เป็นเกร็ดความรู้ต่างๆทั้งของไทยและตะวันตก ที่คนทั่วไปอาจไม่รู้ หรือรู้แต่มองข้ามไป   
       เมื่อท่านนำมาอธิบายร้อยเรียงเข้าด้วยกัน  ก็ทำให้ความคิดเห็นของท่านมีน้ำหนักควรแก่การเชื่อถือ      ถ้าหากว่าจะมีคนหักล้าง ก็ต้องไปหักล้างที่เกร็ดความรู้นั้น   ไม่ใช่แย้งความคิดเห็นของท่านขึ้นมาเฉยๆ    ในเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เท่าท่าน  หรืออาจรู้มากพอกัน แต่เขียนแบบท่านไม่เป็น ก็หักล้างไม่สำเร็จ   จึงทำให้ข้อเขียนของม.ร.ว.คึกฤทธิ์โดดเด่นเป็นที่น่าเชื่อถือมาโดยตลอด
     
        ขอยกตัวอย่าง เกร็ดเล็กๆ ที่ท่านเปรียบเทียบดนตรีไทยเดิมกับดนตรีคลาสสิคของฝรั่ง สักเรื่องหนึ่ง
        แต่ดนตรีฝรั่งกับไทยมีแปลกกัน อย่างหน้ามือเป็นหลังมือในหลักการ เพราะดนตรีฝรั่งนั้นเป็นเครื่องปลุกให้ตื่น แต่ดนตรีไทยนั้นมีวัตถุประสงค์จะทำให้หลับ ฉะนั้นในดนตรีไทยจึงมีการเล่นตอนใดตอนหนึ่งซ้ำอยู่ในระดับเดียวกันเสมอ และใช้จังหวะเท่ากันหมด เกิดภวังค์หลับได้เป็นอย่างดี
         ในพระราชกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดินไทย ตามกฎมณเทียรบาลนั้นจะเห็นได้ว่า “เบิกเสภาดนตรี” เข้ามาเป็นสิ่งสุดท้ายของวัน คือตอนที่จะเข้าที่พระบรรทม เพราะดนตรีเป็นเครื่องทำให้หลับดังกล่าวแล้ว พระอภัยมณีผู้เป่าปี่ได้เป็นยอดเยี่ยมตามความคิดเห็นของคนไทยนั้น ก็เพราะว่าเป่าทีไร ผู้ได้ฟังเป็นต้องหลับ
        ถ้านักดนตรีฝรั่งคนใดมาเป่าปี่ให้เราฟังแล้วเราหลับไป แกเป็นโกรธขนาดไม่ดูผีกันเป็นแน่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 09:26

        นอกจากเขียนนวนิยาย สารคดี บทความ บทละคร  แล้ว พลตรีม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังเป็นกวีอีกด้วย    บทกวีของท่านแม้ว่ามีจำนวนน้อย   ออกมาในรูปของสักวาบ้าง กลอนตอบโต้กับคนอ่านบ้าง    แต่ก็เป็นบทกวีที่จับใจ   ดังบทที่ท่านพูดถึงตัวเองไว้ว่า

เมื่อโลกนี้ไม่มีคนชื่อคึกฤทธิ์                 มันจะผิดแปลกไปที่ไหนนั่น
ทิวาวารยังจะแจ้งแสงตะวัน               ยามราตรีมีพระจันทร์กระจ่างตา
ไก่ยังจะขานขับรับอุทัย                     ฝนจะพร่ำ ร่ำไปในพรรษา
คลื่นยังกระทบฝั่งไม่สร่างซา                   สกุณา ยังร้องระงมไพรฯ
ลมจะพัดชายเขาเหมือนเก่าก่อน                  เข้าหน้าร้อนไม้จะออกดอกไสว
ถึงหน้าหนาวหนุ่มสาวจะเร้าใจ                  ให้ฝันใฝ่ในสวาสดิ์ไม่คลาดคลา
ประเวณีจะคงอยู่คู่ฟ้าดิน                     ไม่สุดสิ้นในความเสน่หา
คนที่รักคึกฤทธิ์อย่าคิดระอา                           เพียงนึกถึงก็จะมาอยู่ข้างกาย
คอยเข้าปลอบประโลมในยามทุกข์                        เมื่อมีสุขก็จะร่วมอารมณ์หมาย
เมื่อรักแล้วไหนจะขาดสวาสดิ์วาย                        ถึงตัวตายใจยังชิดมวลมิตรเอย."


   นี่ก็คือวิธีเขียนตามแบบของท่าน     เมื่อรู้ว่าวันหนึ่ง วันเวลาของท่านในชีวิตย่อมจะสิ้นสุดลงตามวิถีของปุถุชน     ท่านก็ยังหาตรรกะมารองรับได้ ว่าเหตุใดผู้ที่รักท่านจึงไม่ควรเสียใจ     หากแต่ควรปล่อยวางและยอมรับการเกิดแก่เจ็บตายว่าเป็นของธรรมดามนุษย์   และทิ้งท้ายด้วยคำปลอบประโลมที่อ่อนหวานฉันมิตร   เพื่อมิให้เศร้าโศกจนเกินไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 09:28

          หากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์สามารถล่วงรู้ได้ด้วยญาณวิถีอย่างใดอย่างหนึ่ง ว่าบัดนี้ ผู้ที่รักท่านได้มาชุมนุมกันอีกครั้ง เพื่อเป็นการคารวะและฉลองเกียรติยศของท่านในวาระที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้ท่านเป็นบุคคลดีเด่นของโลก  ตามที่ท่านสมควรได้รับเป็นอย่างยิ่ง    ท่านก็คงจะยินดีในมุทิตาจิตที่ได้รับ
   ดิฉันขอส่งท้ายด้วยกลอน ที่ตอบกลอนของท่านข้างบนนี้    จากใจของผู้อ่านคนหนึ่งที่อ่านงานของท่านมายาวนานหลายสิบปี ด้วยความคารวะและชื่นชมในอัจฉริยภาพของท่านอย่างไม่เสื่อมคลาย

          เมื่อโลกนี้ไม่มีคนชื่อคึกฤทธิ์               มันก็ผิดแปลกไปไม่เหมือนก่อน
          แม้ตะวันร้อนแรงแสงไม่รอน              พระจันทรกระจ่างตายามราตรี
          แต่หลายอย่างต่างไปไม่แลเห็น      ขาดนักปราชญ์ดีเด่นเป็นศักดิ์ศรี
          ขาดเสาหลักประชาธิปไตยหาไม่มี      หนึ่งร้อยปีจะมีถึงเพียงหนึ่งคน
          ยามใดที่บ้านเมืองมีเรื่องร้อน      ประชากรทั่วถ้วนล้วนสับสน
          ท่านช่วยชี้หนทางหว่างสกล      ให้ดั้นด้นไปรอดจนปลอดภัย   
          คมปากกาคึกฤทธิ์คิดคำลึก         ปลุกสำนึกชอบผิดคิดกันได้
          ด้วยคารมคมคำล้ำกว่าใคร         ปัญหาใหญ่เท่าใดกลายเป็นเบา
          สิ้นท่าน สิ้นศิลปะโขนธรรมศาสตร์            สิ้นมโหรีปี่พาทย์แต่ก่อนเก่า
          มาล่วงลับดับสลายไม่เห็นเงา      วงวรรณกรรมเงียบเหงาให้เศร้าใจ
          จวบจนครบร้อยปีชาตกาล         ทิวาวารก็สว่างขึ้นครั้งใหม่
          นามคึกฤทธิ์เลื่องลือระบือไกล       เกียรติคุณสว่างไสวในโลกา
          ทุกทิศาคนมากมายจึงรายล้อม      มาชุมนุมแห่ห้อมอยู่หนักหนา
          วางมาลัยร้อยรักอักษรา           ตรงแทบเท้าบูชาท่านอาจารย์
          ดังอาจารย์คึกฤทธิ์ยังชิดใกล้      รับน้ำใจพร้อมพรักสมัครสมาน
           รับเกียติยศเลื่องลือระบือนาน      รับวันทาสาธุการวันนี้เอย

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 10:08

       เอกสารที่เตรียมไว้ขึ้นเวที จบแค่นี้   เพราะวันนั้นมีแขกรับเชิญ ๕ คน  อีก ๔ ท่านคือศ.กิตติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ    รศ.สุนีย์ สินธุเดชะ หรืออาจารย์แม่ ที่พวกเรารู้จักกันในนามนี้   คุณอัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติ  และคุณทองแถม นาถจำนง  แบ่งเวลาพูดกันคนละ ๒๐-๓๐ นาที
       ในกระทู้นี้มีเวลาพูดถึงงานวรรณกรรมของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้อีกยาว   ก็จะค่อยๆเล่าไป เท่าที่คิดออก

       สิ่งที่ชอบอย่างหนึ่งเมื่ออ่านวรรณกรรมของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ก็คือ  มองเห็นตัวละครเอกของท่าน แต่มองไม่เห็นตัวผู้เขียน    เพราะท่านสามารถกลืนตัวเองเข้าเป็นตัวละครเอก   จนคนอ่านไม่เห็นร่องรอยให้จับได้      เขียนถีงแม่พลอยท่านก็เป็นแม่พลอย   เขียนถึงสมภารกร่าง ท่านก็เป็นสมภารกร่าง   เขียนถึงเจ้าลอยท่านก็เป็นเจ้าลอย   เขียนถึงพระเสมก็กลายเป็นพระเสม   
       ความสามารถข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญ     เพราะไม่ใช่ว่านักเขียนทุกคนจะสามารถ "ละลาย" ตัวเองเข้าไปเป็นตัวละครได้      ส่วนใหญ่  เวลาเขียน  ก็ยังเห็นตัวนักเขียนโดดขึ้นมาจากในเรื่องอยู่ดี      โดยเฉพาะนักเขียนที่ยังไม่ชำนาญ   ไม่ว่าเขียนอะไรจะเอาตัวตนของตัวเองลงใส่ในงานเขียน  ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว       กี่เรื่องๆก็ทำอยู่อย่างนั้น     จนกระทั่งคนอ่านจับได้ว่า พระเอกหรือไม่ก็นางเอก  นี่แหละตัวตนผู้เขียนตามที่วาดภาพตัวเองเอาไว้ชัดๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 14 พ.ค. 11, 09:54

กล่าวไว้ตอนต้นแล้วว่า ความสามารถของม.ร.ว.คึกฤทธิ์อยู่ที่เขียนเรื่องยากให้อ่านง่าย   แต่ในความอ่านง่ายนั้นมีสาระแฝงอยู่  ไม่ใช่ว่าง่ายจนกลายเป็นหนังสือหัดอ่านสำหรับเด็กเล็ก      นอกจากนี้ ในความง่าย มีความเพลิดเพลินด้วยความรุ่มรวยอารมณ์ขัน
ตัวอย่างที่ยกมาในกระทู้นี้ คือเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์   
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเมื่อปี พ.ศ. 2488 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 14 พรรษา สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 พระชนมายุ 86 พรรษา

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์คุ้นเคยกับสมเด็จฯดีเพราะทรงเป็นพระอุปัชฌาย์     

ปกติแล้ว  เมื่อนักเขียนคนไหนเขียนถึงพระสงฆ์  ร้อยทั้งร้อยจะเล่าถึงธรรมะที่พระสงฆ์รูปนั้นเผยแพร่      ยิ่งถ้าเป็นพระมีสมณศักดิ์สูงๆ หรือมีชื่อเสียงแพร่หลาย ก็มักจะเอ่ยอย่างนอบน้อมเคารพยำเกรง    น้ำเสียงก็ระมัดระวังเอางานเอาการ   เหมือนเตือนตัวเองว่ากำลังเขียนถึงเรื่องหนักสมอง    ส่วนใหญ่คนอ่านก็อ่านด้วยความรู้สึกอย่างเดียวกัน   จึงมักจะปรากฏผลว่า อ่านไม่จบ หรืออ่านไม่เท่าไรก็ลืม  เพราะแห้งแล้งเหลือเกิน

ส่วนม.ร.ว. คึกฤทธิ์เขียนถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ด้วยน้ำเสียงตรงกันข้าม    เล่าสนุก   มีชีวิตชีวา     อ่านแล้ว สาระก็ได้ และเห็นภาพสมเด็จฯ ด้วยความเคารพเลื่อมใส   แต่มิได้ยำเกรงจนรู้สึกห่างเหินจากท่าน เหมือนเรากับท่านอยู่กันคนละโลก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 14 พ.ค. 11, 14:59

เรื่องของสมเด็จฯ เป็นเกร็ดย่อยๆหลายตอนด้วยกัน   ขอเก็บความมาเล่า ๑ ตอน ก่อน

สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์  มีนามเดิมว่า ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์    ราชสกุลนี้   ชาวเรือนไทยคงจำได้ว่า สืบเนื้อสายมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประสูติตั้งแต่พระบรมชนกนาถยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎในรัชกาลที่ ๒
ตอนหนุ่มๆ  ในรัชกาลที่ ๕  ม.ร.ว. ชื่น บวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ     สอบได้เปรียญเป็นมหาชื่น   ในตอนนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรฯ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเข้มงวดกับพระมหาชื่นมาก     พระมหาชื่นทำผิดอะไรเล็กน้อย หรือสมเด็จพระสังฆราชไม่พอพระทัยขึ้นมาเมื่อไร ก็ทรงกริ้วกราดเอาแรงๆ
พระมหาชื่นเบื่อขึ้นมา  ก็เลยกราบทูลว่าจะลาสึก   สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงฟังแล้วก็นิ่ง   ไม่ได้ทรงอนุญาตหรือว่าคัดค้าน

เย็นวันหนึ่งก่อนถึงฤกษ์สึก   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จมาทรงเยี่ยมสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ที่วัดบวรนิเวศ     พระมหาชื่นไม่ได้ไปเข้าเฝ้า   คงอยู่ที่กุฏิของท่าน

(ยังมีต่อ)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 14 พ.ค. 11, 16:24

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จลงจากตำหนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ แทนที่จะเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง  ก็กลับตรงมาที่กุฏิของพระมหาชื่น      พระมหาชื่นเห็นพระเจ้าแผ่นดินเสด็จมายืนอยู่หน้ากุฏิ ก็ตกใจแทบสิ้นสติ    เพราะไม่เคยเสด็จมาก่อน   
จะทูลเชิญให้เสด็จเข้ามาก็ตกประหม่าจนพูดไม่ถูก    ได้แต่นั่งรับเสด็จอยู่ในกุฏิ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รับสั่งว่า  "ได้ยินว่าคุณจะสึกหรือ?"
พระมหาชื่นก็ถวายพระพร  รับว่าเป็นความจริง
มีพระกระแสรับสั่งต่อไปว่า
"ฉันก็ไม่ว่าอะไรหรอก    แต่อยากจะบอกให้รู้ว่า คนอย่างคุณนั้น บวชเป็นพระแล้วหายาก    ถ้าสึกออกมาเป็นฆราวาสก็หาง่าย"

สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ก็เล่าให้ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฟังต่อว่า
" กันก็เลยไม่สึก     ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน   ท่านต้องรู้ดีกว่าเรา ว่าอะไรหายาก อะไรหาง่าย"
" แล้วยังไง" ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ทูลถาม
" กันอยากเป็นคนหายากว่ะ" สมเด็จทรงตอบ
" แล้วผ้านุ่งกับเสื้อราชปะแตนล่ะ"
" กันเลยให้พระยาสงครามน้องชายเขาไป"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 14 พ.ค. 11, 21:59

ขอแยกซอยหน่อยนะคะ

พลตรีพระยาเสนาสงคราม ( ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์  มีบทบาทในประวัติศาสตร์ไทย  ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475    สนใจหาอ่านได้ในกระทู้  ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์)
คำว่า "กัน" เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๑  เหมือนคำว่า "ฉัน"  ผู้ชายสมัยก่อนใช้คำนี้เรียกตัวเอง เวลาพูดอย่างเป็นกันเองกับคนเสมอกัน หรือว่าต่ำกว่าเล็กน้อย  ไม่ได้สูงต่ำห่างไกลอย่างนายกับบ่าว

เรื่องสมเด็จฯทรงเปลี่ยนพระทัยไม่สึก ทั้งๆเตรียมผ้าม่วงเสื้อราชปะแตนไว้แล้ว   เราคงดูกันออกว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเห็นแววปราดเปรื่องของพระมหาชื่น เหนือกว่าพระหนุ่มรูปอื่นๆในวัด     เพราะพระมหาชื่นนั้นประวัติท่านงดงามหาตัวเปรียบยาก   เมื่อครั้งยังเป็นสามเณร อายุ 18 ปี  เข้าสอบไล่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2433 ก็ได้เปรียญ 5 ประโยค เลยทีเดียว  ต่อมาอีก 2 ปี  คือ พ.ศ. 2435  อายุแค่ 20  ก็สอบได้เปรียญ 7 ประโยค  อายุ 22 ปีก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระสุคุณคณาภรณ์   
อย่างนี้ต้องถือว่าเป็นช้างเผือกของวัดบวรนิเวศ      สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงเข้มงวด ก็มิใช่อะไรอื่น  ก็เหมือนครูที่กวดขันลูกศิษย์หัวกะทิ  เพราะดูออกว่าจะมีอนาคตไกล     เมื่อพระมหาชื่นเกิดจะสึกขึ้นมากลางคัน   สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็คงเสียดายอยู่มาก      ถึงได้ทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ   จึงได้เสด็จมาทรงทัดทานไว้
เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงขอให้อยู่ในเพศบรรพชิตต่อไป   พระมหาชื่นก็ตัดสินใจตามพระกระแสรับสั่ง      จนภายหลังได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช     แสดงว่าทั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระวิสัยทัศน์ยาวไกล และถูกต้องแม่นยำอีกด้วย


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 20 คำสั่ง