เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6]
  พิมพ์  
อ่าน: 48046 ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 19 ก.ค. 11, 11:54

คำถามหนึ่งที่ได้รับอยู่บ่อยๆ คือ ทำยังไงถึงจะเขียนหนังสือได้   คำตอบที่ให้ไปก็คือ ลงมือเขียน แล้วจะรู้เอง  อย่ามัวแต่ถาม  แล้วจดๆจ้องๆ อยู่นั่นเอง
แต่โดยส่วนตัวแล้ว เชื่อว่าคนที่เป็นนักประพันธ์ มี 2 ประเภท คือคนที่เกิดมาเป็น หรือ born to be   กับคนที่เรียนรู้เพื่อจะเป็น หรือ learn to be  

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ท่านทำบุญอันใดมาก็สุดจะรู้ได้  แต่ว่าท่ามกลางความสามารถอย่างอื่นอันเหลือคณานับ   ท่านเกิดมาเป็นนักประพันธ์   ถ้าหากว่าท่านเกิดก่อนหน้านี้สัก 200 ปี เมื่องานเขียนสร้างสรรค์ทั้งหลายของไทยยังเขียนกันด้วยร้อยกรอง  ท่านก็คงได้เป็นกวีเอกผู้หนึ่ง
ม.ร.ว. บุญรับ (ปราโมช)พินิจชนคดี พี่สาวของท่านเคยให้สัมภาษณ์ว่า

" เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนมาแต่เล็ก    เวลานอนไม่มีใครกล่อม ก็จะกล่อมตัวเองจนหลับ  เช่น "เจ้าช่ออัญชัน  ฉันรักทุกวัน  รู้ตัวบ้างไหม  เจ้าช่ออบเชย อย่ามารับฉันเลย  ฉันเป็นขงจง(คนจน)"  เพราะยังพูดไม่ชัด    บางวันก็ร้องว่า " นกน้อยเอย คาบฝอยมาทำรัง   ตัวผู้เขาทิ้งเสีย  ตัวเมียก็ไม่อีนัง   วิ่งกระเซอะกระซัง กลับมารังเก่าเอย-เก่าเอย"
 


น่าอัศจรรย์เมื่อคิดว่า เด็กน้อยที่ยังพูดไม่ชัด  อายุคงจะไม่เกิน 5-6  ขวบ  อยู่ในวัยที่มีแม่หรือพี่เลี้ยงกล่อมให้นอน  สามารถคิดคำร้อยกรองคล้องจองด้วยตัวเอง  ได้เนื้อถ้อยกระทงความ   สัมผัสเสียงสระได้ถูกต้องตามหลักฉันทลักษณ์เสียด้วย   เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองในวัยก่อนวัยเรียน  
แม้แต่คนเรียนหนังสือมาหลายๆปี ก็ยังแต่งไม่ได้ถูกต้อง ก็มีอยู่มากมาย  เด็กอย่างม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เห็นจะมีหนึ่งในล้าน
นึกถึงตำนานศรีปราชญ์ ที่ว่าศรีปราชญ์แต่งโคลงต่อจากโคลงของสมเด็จพระนารายณ์ได้  ถ้าศรีปราชญ์มีตัวจริงก็คงจะไอคิวใกล้เคียงกับคุณชาย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 ก.ค. 11, 17:09 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 22 ก.ค. 11, 17:08

หลายๆคนคงจะจำบทบรรยายท้ายนิยายเรื่องนี้ได้

“ ทุกคนมีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง และกรรมนั้นก็พามาถึงอวสานอันเดียวกัน แต่กรรมนั้นคือกรรมใดเล่า ที่พาเอาความตายมาถึงคนเป็นอันมากในเวลาเดียวกัน
สิ่งที่เราผู้มิใช่พรหมพอจะมองเห็นได้นั้นก็มีแต่อย่างเดียว คือมรณะซึ่งทุกคนกลัวเกรงนั้น ในบางกรณีก็เป็นการลงโทษอย่างแรงของกรรมอันชั่ว บางครั้งก็เป็นผลสนองตอบแทนกรรมอันดีบริสุทธิ์ บางคราวก็เป็นกุญแจไขปัญหา และบางโอกาสก็เป็นยาสมานแผล ในเมื่อยาอย่างอื่นไม่สามารถรักษาให้หายได้”


หลายชีวิต เป็นนิยายเล่าถึงชีวิตของตัวละครเอกๆในเรื่อง แต่ละชีวิตไม่เกี่ยวกัน  แต่ทุกคนมาเชื่อมโยงกันด้วยสิ่งเดียวคือโดยสารเรือลำเดียวกัน และเรือล่มลงเพราะพายุฝน  ทำให้ตัวละครเหล่านี้เสียชีวิตทั้งหมด
อะไรทำให้คนซึ่งแตกต่างกันทั้งเพศ วัย ฐานะ ประสบการณ์ ต้องมาพบจุดจบเดียวกัน  นี่คือคำถามต้นเรื่อง

ในตอนแรกก่อนจะเขียนเรื่องนี้  นักเขียนกลุ่มสยามรัฐตกลงกันว่าจะเขียนกันคนละตอน  ชีวิตตัวละครของใครก็ของคนนั้น  แต่พอม.ร.ว.คึกฤทธิ์เริ่มต้นเขียนถึงชีวิต "ไอ้ลอย" ตัวละครเอกในตอนแรกจบลง    ทุกคนที่เคยตกลงกันก็เลิกสัตยาบัน ไม่มีใครยอมเขียนอีก   ท่านจึงต้องเขียนไปคนเดียวจนจบเรื่อง

"ไอ้ลอย" เป็นการเปิดตัวละครที่แรงที่สุด เท่าที่นักประพันธ์คนหนึ่งจะสร้างได้    ถ้ามองในแง่การสร้างตัวละครแบบตะวันตก  ไอ้ลอยเป็นตัวละครที่เขาเรียกว่า flat  หรือแบน หรือด้านเดียว    เพราะมันมีนิสัยเดียวคือใจทมิฬหินชาติเท่าที่มนุษย์จะเป็นได้   ตัวละครแบบนี้จะว่าสร้างง่ายก็ง่าย เพราะมีด้านเดียวคือด้านเลว   ไม่ต้องไปพะวงว่าจะต้องสร้างด้านดีมาเพิ่มให้ซับซ้อน     แต่จะว่าสร้างยากก็ยาก  เพราะความด้านเดียวนั้นทำให้ยากที่จะสมจริง
นักประพันธ์เอกที่เลือกเขียนตัวละครด้านเดียว จึงเท่ากับพิสูจน์ฝีมือตัวเองอย่างแท้จริง    เปรียบเหมือนวาดรูปบนกระดาษแบนๆแผ่นเดียวยังไงให้ดูลึกสามมิติได้

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 25 ก.ค. 11, 09:34

เมื่อ " ไอ้ลอย" เป็นทารกแรกเกิด  ก็ถูกจับใส่หม้อลอยน้ำมาตามบุญตามกรรม  บังเอิญมีหญิงชราใจดีพบเข้า ก็เก็บเอาไปเลี้ยง ตั้งชื่อให้ตามที่มาว่า "ไอ้ลอย"
ไอ้ลอยเป็นเด็กหน้าตาน่ารัก  ช่างพูด  เฉลียวฉลาด เป็นที่รักของแม่บุญธรรมและหลานชายของแม่ซึ่งอยู่ในฐานะพี่ชายบุญธรรมของไอ้ลอย    โตขึ้นมาเป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดี  ช่างประจบเอาใจผู้ใหญ่  อายุครบเกณฑ์ ไอ้ลอยก็ไปเป็นทหารเกณฑ์  ฝึกได้ดีโดยเฉพาะเรื่องอาวุธจนครูฝึกออกปากชม     จะว่าไปถ้าเทียบกับเด็กหนุ่มอื่นๆในละแวกเดียวกัน ไอ้ลอยก็ดูไม่ได้แปลกแยกจากคนอื่นๆนัก   
ฝีมือทางการประพันธ์ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  คือ สร้างไอ้ลอยให้เป็นฆาตกรโดยจิตวิญญาณ    ด้วยวิธีเล่าเรื่องผ่านพฤติกรรมและความคิดของเจ้าลอย    เมื่ออ่าน เราจะพบน้ำเสียงการเล่านั้นเฉยเมย ไม่สะทกสะท้าน   เหมือนความรู้สึกของเจ้าลอยที่ฆ่าคนไปทีละคน ทีละคน โดยไม่สะดุ้งสะเทือน   ไม่มีความหวาดหวั่นสะเทือนใจ    อย่างวิญญูชนพึงรู้สึกกับการกระทำชั่ว
ไอ้ลอยมองโลกอย่างไร ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็สามารถสะท้อนผ่านน้ำเสียงการเล่าได้อย่างนั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 25 ก.ค. 11, 09:36

ไอ้ลอยฆ่าผู้หญิงที่เป็นเมียคนแรกของมัน   คือแม่ม่ายสาวใหญ่ชื่อเจ๊ทองคำ ผู้เมตตามันด้วยใจบริสุทธิ์แต่แรก แต่แล้วก็ตกเป็นเหยื่อราคะด้วยความอ่อนแอของเธอเอง      ไอ้ลอยฆ่าด้วยการไปหาซื้อยาขับเลือดมาให้เจ๊กิน เพราะเจ๊ไม่อาจท้องไม่มีพ่อได้    เธอก็กินเสียจนตกเลือดเสียชีวิต
คืนที่เธอตาย   ไอ้ลอยก็ข่มขืนนางสวน ลูกสาวเจ๊ผู้ที่มันหมายปองมานาน   จนนางสวนผูกคอตายในตอนเช้า   เจ๊ก็ตายอยู่ในห้อง   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าถึงความเหี้ยมโหดของไอ้ลอย ว่ามันมายืนรวมกลุ่มกับหนุ่มๆด้วยกัน  เป็นไทยมุงหน้าห้องแถวของผู้หญิงสองคนนี้  โดยไม่รู้สึกรู้สมอะไร

จากนั้นไอ้ลอยก็ฆ่าแม่บุญธรรมและพี่ชาย ด้วยการเป็นสายให้โจรเข้าปล้นบ้าน แล้วลงมือยิงทิ้งคนทั้งสองเอง     เพื่อครอบครองบ้านช่องไร่นาสาโทแต่คนเดียว 
ไอ้ลอยไปเป็นสมุนโจร ก็ลอบยิงหัวหน้าโจรเพื่อจะขึ้นเป็นใหญ่เสียเอง  ปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ทุกรายไป 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ทำให้เห็นชัดเจนว่าไอ้ลอยเกิดมาเพื่อฆ่า  และฆ่าโดยไม่สะทกสะท้าน ราวกับคนเป็นผักปลา     มันทำเหมือนชดเชยที่มีคนตั้งใจจะฆ่ามันเสียแต่แรกเกิด ด้วยการลอยน้ำมันไป

ท้ายสุด  สายน้ำที่ให้โอกาสมันรอดชีวิตตั้งแต่เกิด ก็กลับมาเอาชีวิตมันกลับไป   เพราะฟ้าดินให้โอกาสไอ้ลอยมาหนหนึ่งแล้วเมื่อมันเป็นทารก แล้วมันทำอย่างไรกับโอกาสที่ได้รับ   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ชี้ตรงนี้ให้เห็นในตอนท้ายเรื่อง
เป็นบทขมวดตอนจบอย่างมีศิลปะของนักประพันธ์    จบลงอย่างสมบูรณ์ไม่มีสิ่งใดค้างคาใจ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 25 ก.ค. 11, 09:42

การสร้างตัวละครที่ถือว่ามีศิลปะ คือต้องทำให้คนอ่านรู้จักตัวละครนั้นเหมือนมีลมหายใจ มีชีวิต มีเลือดเนื้อเป็นของตัวเอง   ไม่ใช่เห็นแต่ตัวหนังสือบรรยายถึงคนนั้น
และที่สำคัญคือ คนอ่านจะต้องไม่รู้สึกว่าผู้ประพันธ์กำลังเล่าถึงตัวเอง แต่สวมหน้ากากว่าเป็นตัวละคร   นักเขียนหัดใหม่หลายคนพลาดตรงนี้ คือเอาตัวเองเป็นตัวละครให้คนอ่านจับได้

ถ้าจะมองอย่างหาเรื่องว่า ตัวจริงของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็คงเป็นไอ้ลอยละกระมัง  ถึงเขียนได้สมจริงสมจังนัก   ก็ต้องดูการสร้างตัวละครต่อไป คือพระเสม   ผู้ซึ่งเดินขึ้นจนถึงเส้นทางพระอรหันต์
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็เข้าถึงจิตวิญญาณของตัวละครพระเสมได้ไม่น้อยไปกว่าเข้าถึงไอ้ลอย     ถ้าจะหาว่าท่านเป็นไอ้ลอย ก็ต้องหาความให้ครบถ้วนว่าท่านเป็นพระเสมด้วย ถึงจะสมบูรณ์

หมายเหตุ  โดยส่วนตัวคิดว่า พระเสม มีอะไรบางอย่างคล้ายๆกับพระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิตอยู่บ้าง    จนอาจเป็นแรงบันดาลใจของผู้ประพันธ์ก็เป็นได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 03 ส.ค. 11, 08:56

ขอกลับมาพูดถึง"ไอ้ลอย" อีกสักนิดค่ะ
ในเมื่อไอ้ลอยเป็นตัวละครแบบ flat มีด้านเดียวคือด้านชั่วร้ายเลวทราม จนอาจเรียกได้ว่าเป็นโรคจิตประเภท Psychopathy   คือไม่มีสามัญสำนึกอย่างมนุษย์ทั่วไป   ม.ร.ว. คึกฤทธิ์จึงแต่งเติมรายละเอียดลงไปให้เห็น  เพื่อเพิ่มความสมจริง     
ที่เห็นชัดคือท่านสร้างให้ไอ้ลอยเป็นหนุ่มรูปงาม  ช่างพูดช่างเล่นหัว เป็นมิตรกับชาวบ้าน     ข้อนี้เป็นความฉลาดของผู้เขียน   ที่สร้างความมีเสน่ห์ให้ไอ้ลอยเป็นหน้ากากอำพรางความเลวร้าย     ถ้าหากว่าไอ้ลอยเป็นผู้ชายขี้ริ้ว  หน้าตาโหด ไม่น่าไว้ใจสมกับนิสัย   ไอ้ลอยก็คงจะทำความเลวไม่ได้ง่ายถึงขนาดนี้  เพราะคนอื่นจะระแวงแต่แรก 
อย่างที่สองคือท่านสร้างให้ไอ้ลอยเป็นคนฉลาด   ข้อนี้ก็สำคัญ และสมเหตุผล    ถ้าหากว่าไอ้ลอยเป็นคนเลวแต่โง่  คงถูกจับได้เสียตั้งแต่ประกอบอาชญากรรมครั้งแรก     แต่นี่ไอ้ลอยก็ฉลาดพอจะอำพรางความเป็นมหาโจรไว้แนบเนียน   มันไปปล้นในถิ่นอื่นเพื่อไม่ให้เพื่อนบ้านระแคะระคาย  โดยอ้างว่าไปค้าขายต่างถิ่น  กลับมาบ้านทีไรมีเงินทองกลับมาเพิ่มขึ้น   ชาวบ้านก็นึกว่าไปค้าขายมีกำไร  เป็นเรื่องธรรมดาของพ่อค้า
นอกจากนี้  ไอ้ลอยวางตัวดี ไม่เคยก่อเรื่องวิวาททะเลาะเบาะแว้งกับใคร      ชาวบ้านที่ไหนจะเฉลียวใจสงสัยว่าชายนิสัยดี มีฐานะพอสมควร คือมีเรือกสวนไร่นาของตัวเอง  มีกินมีใช้ไม่เดือดร้อนมาแต่เกิด   ที่จริงคือมหาโจรที่ปล้นสะดมเป็นที่น่าหวาดกลัวในอีกหลายจังหวัด

รายละเอียดที่ใส่เข้าไปอย่างสมเหตุผล  คือน้ำหนักที่ทำให้ไอ้ลอยมีชีวิตจิตใจเป็นตัวตนเด่นชัด จนบรรดาเพื่อนร่วมงานของท่านเมื่ออ่านชีวิตของไอ้ลอยจบแล้ว  ก็ไม่มีใครอยากจะเขียนชีวิตอื่นๆด้วยตัวเองอีก   ยกหลายชีวิตใส่พานให้ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ด้วยความเต็มใจ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 18 ส.ค. 11, 14:44

     ตัวละครต่างๆในหลายชีวิต แม้ว่ามีที่แตกต่างกัน แต่ที่ไปเหมือนกันคือทุกคนมาจบชีวิตในอุบัติเหตุเรือล่ม      วิธีเขียนแบบนี้นับว่ายากเย็น    เพราะจะต้องกำหนดให้ตัวละครที่แตกต่างกันทั้งเพศ วัย ฐานะ  เหตุการณ์ในชีวิต มาพบจุดจบสำคัญ    จบแบบนี้ก็ไม่ใช่ว่าจบแบบลอยๆ  แบบออกจากบ้านไปจ่ายตลาด   แล้วเผอิญเรือล่มก็เลยตายไปง่ายๆ   แต่เป็นจุดจบที่มีความหมายอย่างยิ่งกับตัวละครทุกตัว
     เมื่ออ่านแล้ว อย่างหนึ่งที่เห็นก็คือมัจจุราชได้หยิบยื่นความตายให้ตัวละครทุกตัวอย่างมีเหตุผลทั้งสิ้น      สำหรับเจ้าลอย ความตายเป็นการลงโทษที่สมควร เมื่อกฎหมายบ้านเมืองเอื้อมไม่ถึงมัน     สำหรับพระเสม  ความตายได้ปลดเปลื้องโรคร้าย ให้พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้ล่วงพ้นจากกรรมในชาตินี้  ไปสู่ปลายทางแห่งการหลุดพ้น  ดีกว่าท่านจะต้องเจ็บป่วยทรมานทรกรรมไปอีกหลายปีโดยเปล่าประโยชน์   
     สำหรับตัวละครบางตัว  ความตายก็เป็นทางออก เมื่อการมีชีวิตมาถึงทางตันแล้ว  อย่างละม่อมหญิงสาวผู้กระทำมาตุฆาต ด้วยความคับแค้นในใจมายาวนาน    แต่เมื่อแม่ตายไป  ชีวิตละม่อมก็ว่างเปล่า  ไม่มีความหวัง ไม่มีอนาคต และไม่มีทางไป      เช่นเดียวกับทองโปรย  หญิงสาวผู้เหนื่อยหน่ายกับอยากได้อะไรก็ได้อย่างง่ายดาย    จนไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ในเมื่อไม่มีการดิ้นรน  ไม่ต้องมานะพยายาม  ไม่มีเป้าหมาย  ผิดกับมนุษย์อื่นทั้งหลาย     ความตายจึงเป็นสิ่งที่ทองโปรยตอบรับด้วยความพอใจ   

     ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์สร้างชีวิตที่ตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์   เจ้าลอยตรงข้ามกับพระเสม   ละม่อมตรงข้ามกับทองโปรย   ท่านชายเล็กผู้วิ่งหนีพระเกียรติของความเป็นเจ้า ตรงข้ามกับจั่นผู้ไขว่คว้าหาเกียรติยศเหนือชาวบ้านธรรมดา  แต่ทั้งท่านชายและจั่นก็ผิดหวังทั้งคู่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 22 ส.ค. 11, 21:00

ฝีมือของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ แสดงออกในงานเขียนประเภทสารคดีอีกด้วย    ความที่งานเขียนประเภทนี้ มุ่งสาระเป็นหลักโดยตัวของมันเอง   คนเขียนจำนวนมากจึงไม่ทันได้นึกว่า ในสาระ ก็สามารถจะใส่ความบันเทิงลงไปได้ด้วย     
ในเมื่อมองข้ามข้อนี้ไปเป็นส่วนมาก  สารคดีที่มีเนื้อหาดีๆหลายเรื่องจึงกลายเป็นเรื่องแห้งแล้งน่าเบื่อ      คนอ่านน้อยคนนักที่จะเสพกันได้เพลิดเพลิน  โดยไม่ง่วงหลับไปเสียก่อน    สารคดีจึงกลายเป็นยาหม้อใหญ่ไปโดยปริยาย 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก้าวข้ามเส้นแห่งความน่าเบื่อนี้ไปได้  โดยทำให้สารคดีไม่ว่ายาวหรือสั้น เป็นเรื่องสนุกสนานชวนอ่านได้ด้วยคารมโวหารอันคมคาย และแฝงอารมณ์ขัน       คอลัมน์ในสยามรัฐที่ท่านเขียนเป็นประจำทุกวันเป็นพยานยืนยันได้ว่า คนอ่านติดกันทั่วทุกมุมเมือง เป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี      ความจริงคอลัมน์ดีๆในหนังสือพิมพ์ก็มีอยู่ในหลายฉบับ   สารคดีของผู้ทรงภูมิรู้ก็มีให้อ่านกันมาก    แต่ก็ไม่มีผลงานเรื่องไหนเป็นที่นิยมเท่าของท่าน   

นอกจากอารมณ์ขัน   คุณค่าที่สำคัญของสารคดีของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ คือการแฝงข้อคิดคำคมเอาไว้สม่ำเสมอ    บางครั้งเนื้อหาของสารคดีอาจล้าสมัยลงไป เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี   สังคมเปลี่ยน  การเมืองเปลี่ยน  ปัญหาหรือประเด็นร้อนในสมัยหนึ่งก็จบสิ้นลง  กลายเป็นเรื่องใหม่    ดังนั้นสารคดีอาจกลายเป็นเรื่องไม่มีใครอ่านอีก         แต่ว่าคำคมและข้อคิดในหนังสือเล่มนั้น ถ้าเขียนดีๆ ก็จะไม่ล้าสมัย ยังเป็นข้อเตือนใจได้เสมอ

งานสารคดีของม.ร.ว. คึกฤทธิ์มีข้อคิดคำคมแบบนี้แฝงอยู่สม่ำเสมอในทุกเล่ม  ทำให้งานของท่านถูกหยิบขึ้นมาอ่านได้โดยไม่รู้สึกว่าตกสมัย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 27 ส.ค. 11, 21:24

ตัวอย่างคำคม

-  ของเก่านั้นมันเก็บได้   หากรักษาให้ดีๆ   อย่าให้ผุพังหรือแตกหัก   จะเก็บไว้นานเท่าไรก็ได้   แต่วัฒนธรรมนั้นมันเก็บกันไม่ได้   เพราะมันเอาใส่ตู้ไว้ไม่ได้   ต้องเอาไว้ในตัวคน     เมื่อชีวิตมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ    วัฒนธรรมไทยสมัยก่อนและวัฒนธรรมไทยสมัยนี้จึงแตกต่างกันมาก

-  ความจริงในวัดนั้นก็มีจิตใจไม่ว่างอยู่มากเหมือนกัน     แต่วัดก็ยังดีกว่าที่อื่น    เพราะมีวินัยของพระพุทธเจ้าบังคับไว้   ไม่ให้คนที่จิตใจยังไม่ว่างทำอันตรายแก่คนที่จิตว่างแล้ว

- สิ่งที่เกิดมาคู่กับคนแล้วไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลสมัย  ก็คือกิเลส ตัณหา   คนเกิดมาเมื่อไร   สองสิ่งนี้เกิดมากำกับคนไปตลอด   ไม่ว่าจะเป็นในสมัยไหน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 29 ส.ค. 11, 22:44

นักประพันธ์มีหลายระดับด้วยกัน   แต่ถ้าเป็นนักประพันธ์ฝีมือดีแล้ว เขาจะไม่ตามกระแส     คือไม่เขียนอะไรตามๆคนอื่นไปในยุคนั้นหรือประเด็นนั้น     เพราะเท่ากับขาดเอกลักษณ์ (หรืออัตลักษณ์?)เฉพาะตัว  เมื่อขาดข้อนี้เสียแล้ว จะแหวกขึ้นให้เหนือคนอื่น ก็ยากเย็น
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ท่านก็ไม่เขียนอะไรตามกระแส   แต่เขียนแบบเป็นตัวของตัวเอง    เห็นตัวอย่างได้จากสามก๊ก ที่ท่านหยิบโจโฉขึ้นมาเป็นพระเอก   แทนที่จะเป็นผู้ร้ายอย่างที่รู้สึกกันในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) หรือในสามก๊กฉบับวณิพกที่ยาขอบเก็บความมาจาก Romance of the Three Kingdoms ของบริวิทเทเลอร์
ด้วยเหตุนี้  เราจึงมี สามก๊กฉบับโจโฉ นายกตลอดกาล ขึ้นมาให้อ่าน ศึกษากัน  ถกเถียงกัน ประเทืองปัญญาว่าโจโฉเป็นผู้ร้าย หรือพระเอกที่หลอกว้านจงผู้เรียบเรียงสามก๊ก มีอคติด้วย กันแน่
บันทึกการเข้า
POJA
พาลี
****
ตอบ: 298


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 28 ก.ย. 11, 17:58

เพิ่งได้อ่านกระทู้นี้เต็ม ๆ หลังจากเก็บไว้อยู่นาน
เพราะบังเอิญได้หนังสือ "เพื่อนนอน" ฉบับดอกหญ้ามาตอนนั้นพอดี
เลยคิดว่าจะอ่านให้จบเสียก่อน แล้วก็เพิ่งอ่านจบไม่กี่วันนี้เองค่ะ

ชอบบทประพันธ์ของท่านมากเลยค่ะ  ยิ่งอ่านเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง ยังเหมือนเขียนอยู่เมื่อวานนี้ การเมืองบ้านเรา กี่ปีก็ไม่มีเปลี่ยนแปลงเลย
ขอบคุณ อ.เทาชมพู ที่ได้ช่วยประมวลงานทั้งหมดให้ได้อ่านกัน ท่านเองก็เยี่ยมมาก สรุปความ ประมวลผล ได้ชัดเจนครบถ้วน
อยากจะกด like ให้ทุกตอนที่อ่านเลยค่ะ  ยิงฟันยิ้ม  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 29 ก.ย. 11, 13:07

เกือบลืมกระทู้นี้ไปแล้ว เพราะตกหน้าไปนาน  คุณ POJA ไปดึงขึ้นมาอีกครั้ง    ดิฉันก็เลยขอต่อกระทู้อีกครั้ง
เรื่อง "โจโฉ นายกตลอดกาล" ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนไว้ตอนท้ายเรื่องว่า
   "ผู้เล่าเรื่องนี้ได้เล่าถึงชีวิตคนคนหนึ่ง ซึ่งถูกประณามว่าเป็นคนใจร้ายอำมหิตมาเป็นเวลาพันกว่าปี ได้พยายามชี้ให้เห็นว่า คนที่ถูกกล่าวหาว่าร้ายนั้น  อาจพิจารณาให้เห็นเป็นคนดีด้วยเหตุผลก็ได้
    โจโฉนั้นเป็นคนธรรมดาสามัญ ย่อมประกอบไปด้วยความโกรธ โลภ หลงและความปรารถนาต่าง ๆ กิเลสต่าง ๆ เหล่านี้ได้ทำให้โจโฉปฏิบัติการผิดพลาดไปเป็นครั้งคราว แต่ความผิดพลาดก็ไม่มากหรือน้อยไปกว่าคนอื่น ๆ เหตุที่ความผิดของโจโฉมีผู้ถือมาเป็นเรื่องใหญ่ ก็เพราะโจโฉอยู่ในตำแหน่งใหญ่ เจตนาดีของโจโฉที่มีต่อบ้านเมืองนั้น ถูกบดบังไปด้วยข้อครหาของฝ่ายปรปักษ์
เจตนาของโจโฉนั้นมีอยู่อย่างเดียว คือจะรวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่นมิให้แตกแยก ฉะนั้น การกระทำของโจโฉจึงต้องขัดกับประโยชน์ของคนที่ได้ประโยชน์จากการแตกแยก ปรปักษ์ของโจโฉย่อมจะมีมากเป็นธรรมดา
     ชีวิตของโจโฉ เป็นตัวอย่างอันดีของความรับผิดชอบในการกระทำ และเป็นตัวอย่างอันดีของการกระทำตรงไปตรงมา เมื่อโจโฉคิดกำจัดรัฐบาลที่ทุจริตลงไปได้ โจโฉก็เข้ารับภาระแห่งการบริหารด้วยตนเอง มิได้บ่ายเบี่ยงภาระนั้นให้แก่คนอื่นด้วยการถ่อมตัวที่ไร้สาระ เมื่อโจโฉมีนโยบายที่รวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่น โจโฉก็มุ่งหน้าดำเนินนโยบายนั้นอย่างไม่ท้อถอย มิให้ความสุขหรือทุกข์หรือเหตุใดเข้ามาเป็นอุปสรรคกีดขวางได้ โจโฉถือว่าตนอยู่ในฐานะทำราชการให้แร่พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นหลักไปตลอดชีวิต ถวายการยกย่องและสักการะตามควรแก่ฐานะตลอดมา แม้ว่าพฤติการณ์และพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าเหี้ยนเต้บางกรณี น่าจะทำให้โจโฉเปลี่ยนความคิดได้ โจโฉก็ไม่ยอมเปลี่ยน ถ้าจะว่าโจโฉมีความผิด ความเมตตากรุณาอันฝังแน่นอยู่ในหัวใจนั้นเองพอจะเรียกได้ว่าเป็นความผิด ที่โจโฉไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์แห่งชีวิตของตนได้ ก็เพราะโจโฉให้โอกาสแก่ศัตรูบ่อยครั้งด้วยในสงสาร
      โจโฉเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้และผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของราษฎร ได้ถึงแก่ความตายลงขณะที่อยู่ในตำแหน่งโดยสมบูรณ์ จึงควรเรียกได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีตลอดกาลโดยแท้"


      นักประพันธ์ระดับม.ร.ว.คึกฤทธิ์ย่อมรู้ว่าการเขียนสวนกระแส อาจทำให้เกิดการคัดค้านในหมู่คนอ่านที่เคยชินกับแนวคิดดั้งเดิมได้   แต่ถึงกระนั้น  การร้อยเรียงถ้อยคำและการแสดงเหตุและผลที่แจ่มชัด มีที่มาที่ไป และมีน้ำหนัก  ก็จะทำให้เสียงคัดค้านนั้นเงียบหายไป  และเกิดการยอมรับนับถือในความคิดของนักประพันธ์ แม้ว่าแตกต่างกับความคิดของตนเอง
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 29 ก.ย. 11, 21:34

ข้าพเจ้าเคยอ่านหนังสือของมรว.คึกฤทธิ์ ตอนสมัยอยู่ประถมปีที่สี่ จำได้ว่าตัวเองร้องไห้ตอนวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร้องไห้ตอนตาอ๊อดตายแล้วแม่พลอยต้องอยู่โดยปราศจากคนที่เข้าใจ

ข้าพเจ้าคิดย้อนไปท่านช่างเก่งจริงๆ กระทั่งเด็กประถมสี่ท่านยังทำให้ร้องไห้ได้

ต่อมาเข้าธรรมศาสตร์อุตส่าห์เข้าไปเป็นโขนธรรมศาสตร์ เพราะได้รับแรงบรรดาลใจจากท่าน

ถือว่าเป็นบรมครูของทุกๆคน และทุกๆแขนงจริงๆ

ทั้งนี้ ข้าพเจ้าขอพูดเรื่อง "ซูซีไทเฮา" ของท่านบ้าง เพราะเกี่ยวข้องกับการเรียนของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอ่านแล้วพอเดาได้ว่าท่านคงอ่านข้อมูลจากฝรั่ง แต่ข้าพเจ้านึกชมจริงๆ ท่านบรรยายสภาพรั่ววังของจีนประหนึ่งท่านเคยเข้าไปใช้ชีวิตในวังของจีนมาแล้วถ่ายทอดเป็นภาษาไทยอย่างงดงาม ข้าพเจ้าไม่ได้หมายความว่าท่านพูดจีนได้แล้วแปลเก่ง แต่ท่านถ่ายทอดเรื่องได้อย่างจับใจ ถ้าข้าพเจ้าจำไม่ผิด (เพราะหนังสือไม่ได้อยู่ใกล้ๆตัว) ท่านเรียกสมเด็จพระจักรพรรดิ์ว่า "พระหมื่นปี" ข้าพเจ้าอ่านตรงนี้นึกชม เพราะว่าภาษาจีนใช้ว่า "หว่านโซว่เย่" (万岁爷: wan sui ye) ไม่ทราบว่าท่านอ่านมาจากภาษาฝรั่งหรือไร แต่ที่แน่ๆ แปลได้เพราะและตรงตัวมาก เพราะแปลตามความหมายคือ "พระบิดาหมื่นปี" หรือ "พระหมื่นปี"


อันนี้เป็นเรื่องเล็กๆน้อยเล่าสู่กันฟัง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.07 วินาที กับ 19 คำสั่ง