เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6
  พิมพ์  
อ่าน: 48117 ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 17 มิ.ย. 11, 22:16

พระกรณียกิจสำคัญของพระเจ้ามินดุงเรื่องหนึ่งคือสร้างราชธานีใหม่    พม่าตอนนั้นมีเมืองหลวงชื่ออมรปุระ  โดยตัวของเมืองหลวงเองไม่ได้มีปัญหาร้ายแรงถึงขั้นต้องย้ายเมือง  แต่เป็นเพราะว่าอังกฤษได้ยึดพม่าตอนใต้ไป  รวมทั้งเมืองย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ และเป็นที่ตั้งของเจดีย์ชเวดากอง ปูชนียสถานสำคัญของพม่า     
เมื่ออังกฤษได้ครอบครองดินแดนส่วนนี้ ก็ปกครองให้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว    จนแม้แต่ชาวพม่าเหนือที่อยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองแท้ๆ ก็นิยมอพยพกันไปทำมาหากินในพม่าใต้   พระเจ้ามินดุงจึงเกิดขัตติยะมานะว่าจะต้องสร้างเมืองหลวงใหม่ ให้รุ่งเรืองไม่น้อยหน้าอาณาเขตที่อังกฤษยึดไป
นี่คือสาเหตุที่ทรงสร้างราชธานีใหม่ คือเมืองมัณฑเล  ฝรั่งเรียกว่า Mandalay

ประเพณีการสร้างเมืองของพม่า มีสีสันเข้มข้นมาก เพราะประเพณีโบราณของพม่าต้องเอาชีวิตคนมาเซ่นสังเวยเมือง    เหมือนตำนานในละครทีวีเรื่องเจ้ากรรมนายเวรของไทย      แต่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มีวิธีเล่าที่ทำให้คนอ่านไม่สยดสยองจนเกินควร  คือท่านก็เล่าด้วยน้ำเสียงเรียบๆ  ไม่ใส่สีใส่ไข่เข้าไปมากนัก    เล่าเพียงแค่ ๑-๒ หน้าพอให้รู้เรื่องกัน   แล้วก็จบกันไป
ที่เป็นลีลาเฉพาะตัวของนักประพันธ์อย่างท่าน คือเล่าเรื่องพระราชวังพม่า ท่านก็ผสมด้วยความรู้เกี่ยวกับพระราชวังไทย  เทียบกันให้เข้าใจง่ายขึ้น
(ยังมีต่อ)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 21 มิ.ย. 11, 15:31

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ยกพระบรมมหาราชวังของไทยเป็นตัวเทียบ ให้เข้าใจและเห็นภาพพระราชวังพม่าง่ายขึ้น  เพราะในสมัยที่ท่านเขียน"พม่าเสียเมือง"   คนไทยไม่ได้เดินทางไปเที่ยวพม่าได้ง่ายดายเหมือนสมัยนี้      คำบรรยายของท่านก็นับว่าชัดเจน พอจะวาดภาพตามไปได้
ท่านบอกว่าพระราชวังพม่า แบ่งเป็นฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เหมือนพระบรมมหาราชวังของไทย   มีกำแพงชั้นนอก และกำแพงชั้นใน  ระหว่างกำแพงชั้นนอกกับชั้นในก็มีสนาม ศาลาลูกขุน  โรงช้าง โรงแสง และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ      ส่วนท้องพระโรงก็อยู่ในพระที่นั่ง  มียอดปราสาทแบบพม่าซ้อนขึ้นไปเจ็ดชั้น
ปราสาทท้องพระโรง ต่อเนื่องกับพระราชมณเฑียรชั้นใน เช่นเดียวกับพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย   ต่อเนื่องเข้าไปถึงพระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

ความช่างสังเกตและความรอบรู้ ในการยกสิ่งเกี่ยวข้องมาเทียบเคียงให้เห็น"ภาพ"ขึ้นมา นอกเหนือจากเห็น "เรื่อง" เช่นนี้ เป็นคุณสมบัติของนักประพันธ์
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 21 มิ.ย. 11, 15:45

     อยากให้ อ. เทาชมพู พูดถึง "ห้วงมหรรณพ" จังเลย  ตั้งแด่ผมเริ่มอ่านหนังสือเป็นจนถึงบัดนี้  ยังไม่เคยเห็นใครนำเรื่องพุทธศาสนา-วิทยาศาสตร์-การเมือง
มาผสมผสานจนชวนอ่านแทบวางไม่ลงอย่างท่านมาก่อนเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 21 มิ.ย. 11, 15:47

จากนั้นม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าต่อว่า พม่ามีเขตพระราชฐานชั้นในซึ่งมีแต่ผู้หญิงล้วนๆ  เป็นนางในทั้งสิ้น ตั้งแต่ระดับพระมเหสีลงมาถึงข้าราชบริพารหญิง   ข้อนี้ก็เหมือนกับฝ่ายในของไทยเราอีก
เมื่อเล่าบรรยายถึงวังพม่าแล้ว  ท่านก็เชื่อมส่วนบรรยายฝ่ายในของวัง ต่อเนื่องเข้ากับเรื่องพระมเหสี และบรรดาเจ้าจอมหม่อมห้ามของพระเจ้าแผ่นดินพม่า โดยไม่มีการสะดุดกันเลยว่าเป็นคนละเรื่อง   คนอ่านไม่รู้สึกงงว่า เมื่อครู่เพิ่งบรรยายวังมาหยกๆ ทำไมกลายเป็นเรื่องพระมเหสีเอกมเหสีรองไปได้ตั้งแต่ตอนไหน    
การ "เชื่อม" เรื่องไม่ให้เห็นตะเข็บรอยต่อนี้ก็เป็นฝีมือของนักประพันธ์เช่นกัน    เพราะคนที่เชื่อมเรื่องไม่เป็น  อาจไปผิดพลาดเชื่อมเรื่องพระมเหสีเข้าเมื่อบรรยายกำแพงวัง   แม้เป็นเรื่องบรรยายวังพม่าเหมือนกัน  แต่ถ้าไม่รู้จะเชื่อมตรงไหนให้เนียนแล้ว  ก็จะเห็นตะเข็บรอยต่อขวางขึ้นมา สะดุดความรู้สึกของคนอ่านได้ง่ายๆ

จากนั้นม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็มุ่งเข้าสู่ตัวนำฝ่ายหญิงในเรื่องนี้   คือหลังจากบรรยายบทบาทของพระมเหสีเอกมเหสีรองต่างๆว่าเป็นใครมาจากไหนแล้ว  ท่านก็ "ดึง" ตัวเอกขึ้นมาให้เห็นว่า คนนี้ละจะมีบทบาทสำคัญต่อไป  คือผู้ดำรงตำแหน่งพระอรรคมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน  เรียกว่า "นันมะดอ"    ตำแหน่งอันมีชื่อว่า "ตะบินแดง" นี้  สงวนไว้สำหรับพระราชธิดาอันประสูติจากพระมเหสี   ไม่ใช่จากเจ้าจอม      เป็นตำแหน่งตั้งไว้ล่วงหน้าเลย โดยไม่ต้องคำนึงว่าพระราชโอรสองค์ไหน จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลต่อไป     ไม่ต้องคำนึงด้วยว่าอายุอานามจะใกล้กัน หรือห่างกันแค่ไหน    
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าตามราชประเพณีของพม่า  พระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหสีย่อมจะเป็นพี่น้องพ่อเดียวกันเสมอไป   ต่างกันก็แต่แม่เท่านั้น  
ส่วนมเหสีรองลงไป เรียกตามตำแหน่งว่า พระนางอเลนันดอ

พระเจ้ามินดุงทรงมีทั้ง "พระนางนันมะดอ" มเหสีเอก และ พระนางอเลนันดอ" มเหสีรอง    แต่คนที่มีอำนาจอยู่ในมือ จนดูเหมือนจะเหนือกว่าพระเจ้าแผ่นดินเสียด้วยซ้ำคือพระนางอเลนันดอ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 21 มิ.ย. 11, 15:51

     อยากให้ อ. เทาชมพู พูดถึง "ห้วงมหรรณพ" จังเลย  ตั้งแด่ผมเริ่มอ่านหนังสือเป็นจนถึงบัดนี้  ยังไม่เคยเห็นใครนำเรื่องพุทธศาสนา-วิทยาศาสตร์-การเมือง
มาผสมผสานจนชวนอ่านแทบวางไม่ลงอย่างท่านมาก่อนเลย

ห้วงมหรรณพเป็นหนังสืออ่านยากมาก สำหรับคนเรียนมาทางสายศิลปะ   เคยอ่านตอนเด็ก จำได้ว่าไม่รู้เรื่องเอาเลย   มาอ่านอีกทีตอนเรียนมหาวิทยาลัยแล้วก็เข้าใจครึ่งๆกลางๆ   เรียนจบหลายปีแล้วกลับไปอ่านอีก ก็พอจะเข้าใจขึ้นบ้าง   แต่ไม่รับรองว่าเข้าใจหมด

กระทู้นี้ไม่ได้ตั้งใจจะเล่าเรื่องหนังสือ จะเล่าถึงฝีมือท่าน    เห็นจะต้องขอให้คุณช่วยเล่าเรื่องแทน   เพราะอ่านจากข้างบน แสดงว่าคุณน่าเข้าใจเนื้อหาดีกว่าดิฉัน
พร้อมเมื่อไรก็เชิญโพสต์ความเห็นได้เลยค่ะ
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 21 มิ.ย. 11, 18:10

ผมไม่มีความสามารถเรียบเรียงถ้อยคำให้ราบรื่นน่าอ่านได้อย่าง อ. เทาชมพู ครับ  ผมเห็นว่า อาจารย์หม่อม ท่านมีความสามารถพิเศษในการที่
เขียนเรื่องยากๆ ให้กลายเป็นเรื่องน่าอ่านได้อย่างน่าทึ่งดังที่อาจารย์ได้กล่าวไว้  โดยเฉพาะเรื่อง "ห้วงมหรรณพ" นี่  ถ้าไม่ใช่อัจฉริยะบุคคลอย่าง
อาจารย์หม่อม  ผมก็มองไม่เห็นใครอีกเลยที่จะมีความสามารถระดับนี้  ผมจึงอยากให้อาจารย์ใช้ความสามารถเฉพาะตัว  นำมาเขียนวิจารณ์ให้พวก
เราได้อ่านกัน  แต่ผมยอมรับว่าไม่มีความสามารถถึงระดับนั้นครับ  นอกจากจะลอกเอาจากหนังสือแล้วนำมาลงทื่อๆ อย่างนั้นเอง
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 22 มิ.ย. 11, 20:40

ผมขอเรียนถาม อ. เทาชมพูหน่อยครับ  ผมเคยมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อ "พิเคราะห์คึกฤทธิ์" แต่ค้นบนหิ้งเท่าไหร่ก็ไม่เจอ  หนังสือเล่มนี้จะวิจารณ์ผลงาน
ของคุณชายในเรื่อง สี่แผ่นดิน  และมีบทสัมภาษณ์คุณชายด้วย  ผมสงสัยว่าในหนังสือเล่มนี้มี อ. เทาชมพู เป็นส่วนร่วมด้วยใช่ไหมครับ  มันนานมาก
เกือบยี่สิบปีแล้วผมก็เลือนๆ ไป  มีนักวิจารณ์หลายคนล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลชั้นแนวหน้าในแวดวงวรรณกรรม  และผมสงสัยว่ามีอาจารย์เป็นหนึ่งในนั้น
ถูกต้องไหมครับ  ถ้ามีผมจะลองรื้อลังหนังสือดูเพื่อนำมาอ่านอีกครั้ง  ถ้าไม่มีผมจะได้เลิกล้มความคิดครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 22 มิ.ย. 11, 20:41

ต่อเรื่องพม่าเสียเมือง

จะว่าไปเรื่องประวัติศาสตร์หรือพงศวดารไม่ว่าประเทศไหน เป็นเรื่องซับซ้อน  เพราะเต็มไปด้วยรายละเอียดในเหตุการณ์เล็กเหตุการณ์น้อยต่างๆ ร้อยเรียงเข้าด้วยกัน     ถ้าหากว่าไม่จัดลำดับให้ดีว่าอะไรควรกล่าวถึง อะไรควรข้ามไป  คนเขียนที่ไม่ชำนาญก็อาจจะหลงอยู่ในวังวนของข้อมูลมากมายเหล่านั้น   ทำให้เรื่องกลายเป็นเรื่องอ่านยาก
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ แก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการเปิดตัวเอกให้รู้จักแล้ว  ท่านก็โยงเรื่องเข้าสู่จุดหมาย ไม่อ้อมค้อมวกวนไปทางอื่น    เมื่อแนะนำนางพญาทั้งสององค์ให้คนอ่านรู้จักแล้ว  ก็ตรงเข้าสู่ประเด็นเลย  ปูเรื่องให้เห็นว่าพม่าเสียเมือง มีเหตุสำคัญจากภายนอกคืออังกฤษก็จริง  แต่เหตุภายในก็คือผู้หญิงสำคัญในราชสำนัก ผู้มีความทะยานอยากจะได้อำนาจ    
ผู้หญิงคนแรกคือพระนางอเลนันดอ  พระมเหสีรองผู้มีความทะเยอทะยานสูง   และถ่ายทอดนิสัยนี้ไปให้ลูกสาว คือเจ้าหญิงศุภยลัต    ในเมื่อพระเจ้ามินดุงผู้เป็นพระสวามี ไม่แข็งแกร่งพอจะจัดการให้พระมเหสีรองอยู่ในที่ในทางได้    บัลลังก์ก็เริ่มคลอนแคลนนับแต่ปลายรัชสมัย   จนเกิดกบฏขึ้นในพระราชอาณาจักร ครั้งแรก นำโดยพระราชโอรสสองพระองค์ของพระเจ้ามินดุงเอง    และครั้งที่สองเป็นเจ้าชายพระโอรสของพระมหาอุปราช     เคราะห์ดีที่กบฏพ่ายแพ้ไปทั้ง ๒ ครั้ง

บ้านเมืองคลอนแคลนหนักเข้า  พระเจ้ามินดุงก็หันเข้าใฝ่พระทัยทางธรรมะ  บำเพ็ญพระราชกุศลเป็นประจำ   กับทรงค้าขายส่วนพระองค์  ไม่ใคร่จะสนพระทัยราชการงานเมืองเท่าใดนัก    อำนาจก็ยิ่งตกอยู่ในมือพระนางอเลนันดอมากเข้า  จนคบคิดกับกินหวุ่นหมิ่นกี่ อัครมหาเสนาบดีพม่า ผลักดันเจ้าฟ้าชายสีป่อ ซึ่งเป็นพระราชโอรสอันประสูติแต่เจ้าฟ้าหญิงชาวไทยใหญ่เมืองสีป่อ   ให้อยู่ในลำดับจะขึ้นครองอำนาจเมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้ามินดุง

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เล่าต่อว่า  ความผิดพลาดอย่างหนึ่งของพระเจ้ามินดุงคือ มิได้ทรงตั้งพระราชโอรสซึ่งมีจำนวนมากมาย ให้องค์ใดองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท   จะเป็นเพราะไม่มีพระประสงค์จะให้องค์นั้นถูกอิจฉาริษยาจากองค์อื่นๆ หรืออะไรก็ตามแต่     แต่ก็ปล่อยให้ตำแหน่งรัชทายาทยังว่างอยู่    เป็นเหตุให้พระนางอเลนันดอยื่นมือเข้ามาจัดการเสียเอง  เพราะเจ้าฟ้าสีป่อเป็นที่เสน่หาของเจ้าหญิงศุภยลัต  อยู่ในตำแหน่งเขยพระนางอเลนันดออยู่แล้ว

เมื่อใกล้สวรรคต  พระเจ้ามินดุงก็ยังพะวงอยู่กับเรื่องทางธรรมมากกว่าทางโลก    นอกจากมิได้ตั้งใครเป็นรัชทายาทเสียให้ชัดเจนหมดเรื่องหมดราวไป    ก็ยังห่วงแต่เรื่องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ถึงกับทรงสั่งเสียบรรดาพระเจ้าลูกเธอที่มาเยี่ยมว่าอย่าได้ฆ่าโคเป็นอันขาด เพราะถือว่าเป็นบาปหนัก     ข้อนี้น่าจะเป็นอิทธิพลความคิดมาจากอินเดีย

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ตบท้ายแบบนักประพันธ์  ว่า

"พระเจ้ามินดุงก็ถือว่าโคฆาฏนั้นเป็นบาปหนัก    แม้ใกล้สวรรคตก็ทรงกังวลอยู่กับเรื่องนี้   มิได้ทรงกังวลว่าพระเจ้าลูกเธอจะฆ่ากันเองเมื่อสวรรคตแล้วแม้แต่น้อย"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 22 มิ.ย. 11, 20:44

ผมขอเรียนถาม อ. เทาชมพูหน่อยครับ  ผมเคยมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อ "พิเคราะห์คึกฤทธิ์" แต่ค้นบนหิ้งเท่าไหร่ก็ไม่เจอ  หนังสือเล่มนี้จะวิจารณ์ผลงาน
ของคุณชายในเรื่อง สี่แผ่นดิน  และมีบทสัมภาษณ์คุณชายด้วย  ผมสงสัยว่าในหนังสือเล่มนี้มี อ. เทาชมพู เป็นส่วนร่วมด้วยใช่ไหมครับ  มันนานมาก
เกือบยี่สิบปีแล้วผมก็เลือนๆ ไป  มีนักวิจารณ์หลายคนล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลชั้นแนวหน้าในแวดวงวรรณกรรม  และผมสงสัยว่ามีอาจารย์เป็นหนึ่งในนั้น
ถูกต้องไหมครับ  ถ้ามีผมจะลองรื้อลังหนังสือดูเพื่อนำมาอ่านอีกครั้ง  ถ้าไม่มีผมจะได้เลิกล้มความคิดครับ
หนังสือเล่มนั้นชื่อ "พิเคราะห์คึกฤทธิ์ พินิจสี่แผ่นดิน"  มีบทความของดิฉันอยู่ในนั้น ๒ เรื่องคือแม่พลอยเป็นญาติทางไหนของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กับเรื่อง สี่แผ่นดินในสามวัย   ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ท่านกรุณาเขียนตอบบทความของดิฉันลงในคอลัมน์ซอยสวนพลูด้วย    เมื่อสนพ.รวมเล่ม  ดิฉันก็เอาบทความของท่านที่ตัดเก็บไว้ ส่งไปให้บก.  เขาก็เลยรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้เพื่อให้ได้ความที่สมบูรณ์

เข้าใจว่าไม่มีพิมพ์ใหม่  คงเป็นหนังสือหายากแล้วในปัจจุบันค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 23 มิ.ย. 11, 19:21

ฝีมือนักประพันธ์ที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์สร้างไว้เป็นเกร็ดในหนังสือเล่าพงศาวดารพม่าเล่มนี้อีกตอนก็คือ ท่านเขียนตามแบบสำนวนหนังสือราชาธิราชของเจ้าพระยาพระคลัง(หน)กึ่งสำนวนผู้ชนะสิบทิศ
ฝีมือเรียบเรียงเรื่องร้อยแก้วของเจ้าพระยาพระคลัง เป็นที่รู้กันว่ายอดเยี่ยมขนาดไหน     ว.ณ เมืองลุงเคยสารภาพว่าอ่านสามก๊กแล้ว ไม่กล้าเลียนสำนวนเจ้าพระยาพระคลัง จึงมาแปลเรื่องจีนกำลังภายในตามแนวภาษาของตนเอง   ส่วนผู้ชนะสิบทิศของยาขอบ เดินตามรอยเจ้าพระยาพระคลังอีกที  แต่ว่าลีลาผสมน้ำผึ้งนั้นเป็นโวหารเฉพาะตัวของยาขอบเอง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์สร้างบทสนทนาระหว่างพระนางอเลนันดอ กับกินหวุ่นหมิ่นกี้อัครมหาเสนาบดีออกมา เป็นบทยืดยาวสละสลวย อ่านสนุกจนลืมไปว่ากำลังอ่านพม่าเสียเมือง  นึกว่าอ่านราชาธิราชและผู้ชนะสิบทิศอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง
ขอยกมาสักตอนหนึ่ง  ยาวมากกว่านี้คงต้องขอให้ไปอ่านพม่าเสียเมืองเอง

" ทุกวันนี้เราก็ได้แต่มีความวิตกมิได้เป็นอันกินอันนอน    มาตรว่าเรานี้เกิดมาเป็นชายชาติทหาร ก็จะมิพึงปรับทุกข์แก่ผู้ใดให้เปลืองปาก   เมื่อเห็นราชการกรุงมัณฑะเลนี้เริ่มจะรวนเรไป ก็จะคิดการแก้ไขเอาด้วยกำลังตน     เอาชีวิตเป็นเดิมพัน  ทำราชการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าช้างเผือกไปตามสติปัญญา     คิดแต่จะรักษาพระมหาเศวตฉัตรแห่งกรุงรัตนะอังวะเอาไว้ให้ได้     แต่ทุกวันนี้ก็จนใจอยู่เพราะเกิดมาเป็นสตรี   ถึงแม้ว่าพระเจ้าช้างเผือกจะได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเราให้มียศศักดิ์อันสูง      แต่เราก็เปรียบเหมือนลดาวัลย์อันประดับด้วยแก้วมณี   จะแข็งแรงเหมือนไม้แก่นนั้นก็หามิได้..."

คนเขียนหนังสือส่วนใหญ่เปลี่ยนสำนวนตัวเองไม่เป็น   เลียนแบบสำนวนคนอื่นก็ไม่เป็น เป็นแต่ลอก    มีแต่นักประพันธ์ที่เชี่ยวชาญด้านโวหารเท่านั้นจะสามารถปรับหรือเลียนสำนวนของวรรณคดีชั้นเยี่ยมได้      นี่คือฝีมืออีกด้านหนึ่งของม.ร.ว. คึกฤทธิ์
โดยเฉพาะสำนวนว่า "เราก็เปรียบเหมือนลดาวัลย์อันประดับด้วยแก้วมณี   จะแข็งแรงเหมือนไม้แก่นนั้นก็หามิได้" เป็นภาษาภาพ (figure of speech) ที่งดงามหาคนเขียนเช่นนี้ได้ยาก   ให้ภาพของพระนางอเลนันดอได้สวยงามและสูงค่าสมเป็นนางพญาของราชอาณาจักร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 24 มิ.ย. 11, 16:24

คุณสมบัติอย่างหนึ่งของนักประพันธ์ คือต้องรู้จักเขียนเรื่องน่าเบื่อให้สนุกน่าอ่าน   เขียนเรื่องหนักและเคร่งเครียดให้ออกมามีสีสันเป็นดราม่า โดยยังคงเนื้อหาเดิมเอาไว้ได้   ไม่ใช่มีสีสันแบบออกนอกเรื่องไปไกล      และเขียนเรื่องซับซ้อนให้อ่านเข้าใจง่าย

พม่าเสียเมือง มีเหตุการณ์ที่หนักและเคร่งเครียดอยู่เป็นระยะตลอดเรื่อง    ถ้าอ่านแบบพงศาวดารที่แจกแจงรายละเอียดตรงไปตรงมาแล้ว อาจจะรู้สึกหนักเหมือนหายใจไม่ออก     เช่นการชิงอำนาจในตอนปลายรัชกาลเมื่อพระเจ้ามินดุงประชวรหนักใกล้สวรรคต   พระนางอเลนันดอกับอัครมหาเสนาบดีก็รัฐประหารเงียบ    จัดการจับตัวพระราชโอรสองค์สำคัญๆไว้รอการประหารให้หมด   กินแถวไปถึงบรรดาพระมเหสีรองๆและเจ้าจอมหม่อมห้าม ไม่เว้นแม้แต่เจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่แก่เฒ่าลงไปถึงทารกแบเบาะ    องค์ไหนชะตายังไม่ขาดก็หนีรอดออกจากอาณาจักรไปได้   องค์ไหนหนีไม่ทันเพราะนึกไม่ถึงก็ถูกจับมาราวกับนักโทษประหาร 
 
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าเหตุการณ์ตอนนี้ อย่างมีสีสันมาก   สีสันที่ว่าคืออารมณ์ในของตัวละครในเรื่อง    ท่านบรรยายภาพพระเจ้ามินดุงประชวรหนัก   ทรงวาดภาพว่าพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์จะเสด็จออกจากเมืองไปโดยปลอดภัย ตามที่มีพระราชโองการไว้ว่าให้ไปกินเมืองที่นั่นที่นี่     หารู้ไม่ว่าทุกพระองค์ถูกจำจองใส่ตรุไว้     แต่คนอ่านรู้  เมื่อรู้จากผู้ประพันธ์ก็ได้แต่สะเทือนใจ ว่าพระเจ้ามินดุงมีพระราชอำนาจเสียเปล่า   แม้จะช่วยลูกอย่างพ่อชาวบ้านสักคนเขาทำกัน  ก็ยังทำไม่ได้   แรงสะเทือนใจของคนอ่านมีมากเท่าใด ก็วัดฝีมือนักประพันธ์ได้มากเท่านั้น

ถ้าอ่านเหตุการณ์ตอนนี้แล้ว คนอ่านไม่ว่าหน้าไหนก็พากันเปิดข้ามไปไม่อยากอ่าน เพราะสะอิดสะเอียนเกินกว่าจะอ่านได้    ก็คือนักประพันธ์สอบตก

บางครั้ง  นักประพันธ์ก็ไม่มีสิทธิ์จะหลีกเลี่ยงเนื้อหาเรื่องหยาบช้าทารุณ   เรื่องน่าสะอิดสะเอียนขยะแขยง  หรือเรื่องทุเรศทุรัง   แล้วเขียนแต่เรื่องสวยงามเรียบร้อย ธรรมะธัมโม    ถ้าจำเป็นต้องเขียนก็ต้องเขียน  อย่างการเขียนพงศาวดารเรื่องนี้
ฝีมือของนักประพันธ์แต่ละคนวัดได้จากทำให้เนื้อเรื่องอันไม่น่าเสพนั้น  ถูกขัดเกลาจนคนอ่านสามารถเสพได้โดยไม่รู้สึกว่าจิตใจตัวเองตกต่ำลง จากการอ่านเรื่องเหล่านี้   แต่ทำให้จิตใจได้ยกระดับขึ้น   อย่างน้อยอ่านพม่าเสียเมืองตอนนี้แล้ว ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็เขียนในทางทำให้คนอ่านได้ปลงต่อความเป็นอนิจจังคือเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์   ไม่ว่าเป็นคนระดับพระเจ้ามินดุงหรือพระราชโอรสพระราชธิดา ก็ไม่ได้ทุกข์น้อยไปกว่าชาวบ้านร้านถิ่นธรรมดา
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 27 มิ.ย. 11, 00:08

กระทู้นี้กำลังจะตกขอบ  ผมขออนุญาตดึงกลับขึ้นมาใหม่  เพราะผมไม่อยากให้กระทู้นี้หายไป  อยากให้ อ. เทาชมพู เขียนเพิ่มเติมอีก
เรื่องราวของคุณชายมีให้เขียนถึงมากมาย  แต่บุคคลที่จะเขียนถึงผลงานของท่านให้น่าอ่านอย่างอาจารย์หาค่อนข้างยากครับ

และบทความของอาจารย์ใน "พิเคราะห์คึกฤทธิ์ พินิจสี่แผ่นดิน" มีอยู่สามชิ้นครับ มิใช่สองชิ้นดังอาจารย์บอก  นอกจากสองชิ้นที่อาจารย์
กล่าวถึงแล้ว  ยังมีอีกชิ้นหนึ่งชื่อว่า "ชีวิตคืออะไร ใน สี่แผ่นดิน" อีกด้วย  น่าอ่านทั้งหมดเลยครับ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 27 มิ.ย. 11, 10:15

ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับนักประพันธ์ ว่าเขียนเรื่องเครียดยังไงให้สนุก   (สนุกในที่นี้ตรงกับคำว่า fun)เพราะประชาชนแต่ละชาตินั้นมีนิยามของความสนุกไม่เหมือนกัน      ยิ่งคนไทยด้วยแล้ว   สนุกแบบไทยเป็นคนละอย่างกับฝรั่ง    คนไทยเราไปดูหนังดูละครก็สนุก อย่างนี้ฝรั่งพอเข้าใจเพราะเขาก็สนุกกับดูหนังดูละครเหมือนกัน     แต่คนไทยเราสนุกกับอะไรอีกหลายอย่างที่ฝรั่งนึกไม่ออกว่าสนุกยังไง   เช่น ศรีธนนไชยผ่าท้องน้องเอาไส้ออกมาล้าง เพราะแม่สั่งให้อาบน้ำน้องให้สะอาดหมดจดทั้งตัว  เราก็ว่าเรื่องศรีธนนไชยสนุก  สามีกะล่อนนอกใจเมีย   หลอกล่อไม่ให้เมียจับได้ ก็สนุก    เมียหลวงเมียน้อยมาเจอกันก็ยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่    
สนุกทั้งหมดนี้ ฝรั่งไม่เห็นว่าเป็นเรื่อง fun ไปได้  เขาเห็นเป็นปัญหาของสังคม ที่ควรถูกแก้ไข

สังเกตว่า ในเรื่องหนักสมอง แต่เดิมมาคนไทยใช้วิธีปนตลกแทรกเข้าไปในเรื่อง   อย่างเรื่องชิงรักหักสวาทระหว่างขุนช้างขุนแผน  โดยเนื้อหาตรงนี้ไม่ใช่เรื่องเบาสมอง  เป็นเรื่องเข้มข้นทีเดียว เพราะเป็นการชิงชัยระหว่างผู้ชายสองคนที่มีดีคนละด้าน เสียคนละด้านคนหนึ่งรวย ซื่อสัตย์กับผู้หญิง แต่รูปชั่ว  อีกคนรูปหล่อแต่ไม่รวยและเจ้าชู้  
กวีท่านบรรเทาความเคร่งเครียดในเรื่องชิงรักหักสวาท  ด้วยการกำหนดบทบาทขุนช้างให้เป็นตัวตลก  มากกว่าจะเป็นผู้ร้าย    ขอให้นึกดูว่าถ้าขุนช้างเป็นคนเอาจริง มีฝีมือรบและคาถาอาคมไล่เลี่ยกับขุนแผน    เวลาสู้รบชิงนางวันทองก็ทำแบบนักเลงลูกทุ่ง   น้ำหนักของเรื่องจะเปลี่ยนเป็นหนักหนาเอาทีเดียว    และคงจะสนุกน้อยลง  เพราะคนไทยไม่ชอบอะไรที่เครียดต่อเนื่องอย่างยืดยาวนัก
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 07 ก.ค. 11, 15:46

อาจารย์ลาวัณย์ โชตามระ เล่าเรื่องของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ไว้ในหนังสือ "เล่าเรื่องของไทย" (พ.ศ. ๒๕๐๙) ตอนหนึ่งว่า

... เมื่อเกือบสามสิบปีมาแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เขาเคยได้รับเชิญจากประธานแผนกชุมนุมปาฐกถาและโต้คารมของสโมสรจุฬาลงกรณมหาวืทยาลัยให้ไปโต้วาทีกับอาจารย์เสนาะ ตันบุญยืน จะเป็นในหัวข้อชื่ออะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว สมัยั้นหอประชุมของมหาวิทยาลัยไม่มี ก็ใช้ห้องประชุมชั้นบนตึกอักษรศาสตร์นั่นแหละเป็นสถานที่โต้วาที วันนั้นอาจารย์เสนาะขึ้นมา "โหมโรง" ด้วยคำว่า "คึกคัก-มีฤทธิ์-มีเดช" อันหมายถึงชื่อของเขา เมื่อถึงคราวที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก็กล่าวว่า "ข้าพเจ้าเคยได้ยินนามอัน เสนาะ ของท่านมานานแล้ว ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกตื้น ตัน เป็นอย่างยิ่ง แต่ก็รู้สึกว่ามี บุญ เหลือเกินที่ได้มา ยืน พูดกับท่านในวันนี้"

...

เมื่อคราวไปปราศรัยหาเสียงให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ที่ท้องสนามหลวง มีคนกล่าวว่า ม.ร.ว. เสนีย์ นั้นเป็นเสมือนมือขวาของพรรค และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เป็นมือซ้าย เมื่อคราวเขาขึ้นปราศรัย เขาก็กล่าวว่า มือขวานั้นสำหรับตักข้าวปลาอาหารใส่ปากก็ถูกแล้ว ส่วนเขานั้นเป็นมือซ้าย ก็ต้องทำหน้าที่เช็ดล้างไปตามเรื่อง ผู้ฟังรอบสนามได้ยินแล้วก็ปรบมือเกรียวฮาครืน

...

บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 08 ก.ค. 11, 10:33

กับคอลัมน์สุดฮิตหน้าในของหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.186 วินาที กับ 19 คำสั่ง